คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : การเมือง
จากทัศนะของโลกตะวันตกอารยธรรมยุคแรกของโลกสมัยโบราณได้พัฒนาถึงขีดสูงสุดด้วยการรวมตัวของดินแดนทังหมดในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าเป็นหน่วยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทางการเมือง เรียกว่า จักรวรรดิโรมัน อารยธรรมของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้รับอิทธิพลหลายสิ่งหลายอย่างมาจากความเจริญของกรีก และนำมาปรับให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตแบบโรมันและส่งต่ออารยธรรมดังกล่าวสู่โลกตะวันตก
การปกครองของโรมแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 เรียกว่า สมัยสาธารณรัฐ เริ่มตั้งแต่ปี 509 ก่อน ค.ศ. คือ เมื่อโรมสามารถขจัดกษัตริย์ต่างชาติองค์สุดท้ายที่ปกครองตนเป็นผลสำเร็จ และ สถาปนา การปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น ระบอบสาธรณรัฐสิ้นสุดลงในปี 27 ก่อนคริสต์ศักราช
ระยะที่ 2 เรียกว่า สมัยจักรวรรดิ เริ่มตั้งแต่เมื่อจักรพรรดิออกัสตัส ได้สถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกในปี 27 ก่อนคริสต์ศักราช และสิ้นสุดลงเมื่อจักรวรรดิโรมันทางภาคตะวันตกถึงแก่ความพินาศใน ค.ศ. 476
1.ระบอบสาธารณรัฐโรมัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวโรมันรับเอารูปแบบการปกครองในระบอบสาธารณรัฐมาใช้ คือ ความบีบบังคับที่เคยได้รับเมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติชาวอีทรัสกันในครั้งนั้นโรมอยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ซึ่งเรียกว่า Rex กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดในทางการทหาร การปกครองและการศาสนา มีอำนาจสูงสุดในการตรากฎหมาย ตัดสินคดีพิพาทต่างๆ การปกครองดังกล่าวเป็นการปกครองโดยบุคคลเดียวที่ได้รับมอบอำนาจสิทธิ์ขาด เมื่อเป็นอิสระ โรมจึงสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นปกครอง
คำว่า สาธารณรัฐ ในภาษาอังกฤษคือ Republic มาจากคำภาษละตินอันเป็นภาษาของชาวโรมัน 2 คำ คือ Res+publica มีความหมายว่า ของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากระบอบกษัตริย์ที่อำนาจการปกครองอยู่ที่กษัตริย์ อย่างไรก็ตาม การปกครองสาธารณรัฐ โรมันสมัยต้นๆอำนาจการปกครองยังไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะอำนาจการปกครองยังคงอยู่กับสภาเซเนท ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสมาชิกซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ต่อมาเมื่อมีการขยายสิทธิพลเมืองโรมันกว้างขวางขึ้น ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่มีสิทธิ์มีเสียงในการปกครอง รูปแบบการปกครองของสาธารณรัฐโรมันจึงกับความหมายดังกล่าว
องค์กรทางการปกครองของสาธารณรัฐโรมันมีดังต่อไปนี้
กงสุล เป็นประมุขในทางการบริหาร มีจำนวน 2 คน มีอำนาจเท่าเทียมกัน มีอำนาจเต็มที่ทั้งในยามสงครามและสันติ มีอำนาจสูงสุดในด้านการทหาร ด้านนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ เลือกมาจากกลุ่มชนชั้นสูงของสังคมโรมันที่เรียกว่า พวกแพทริเชียน โดยสภาราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกอยู่ในตำแหน่งคราวละปี มีอำนาจยับยั้งซึ่งกันและกันได้ ในยามสงครามหรือยามฉุกเฉิน กงสุลอาจมอบอำนาจให้แก่บุคคลเดียวเรียกว่า ผู้เผด็จการ หรือ ผู้บังคับบัญชาการทัพ โดยคำแนะนำยินยอมของสภาเซเนท ผู้เผด็จการอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 6 เดือน ในระหว่างอยู่ในตำแหน่งผู้เผด็จการมีอำนาจเด็ดขาดในทางการทหาร มีสิทธิ์เรียกระดมพล และ ลงโทษผู้ประพฤติผิดวินัยได้เต็มที่ในการปฏิบัติงานโดยทั่วไป กงสุลบริหารงานการปกครองด้วยความช่วยเหลือของสภาเซเนท
สภาเซเนท ประกอบด้วยสมาชิก 300 คน เรียกว่า เซเนเตอร์ หรือ สมาชิกสภาเซเนท ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ สมาชิกเหล่านี้เลือกจากพวก แพทริเชียนโดยกงสุลเป็นผุ้แต่งตั้ง กงสุลที่ปฏิบัติหน้าที่ครบตามวาระหลังจะได้เป็นสมาชิกสภาเซเนทโดยอัตโนมัติ สภาเซเนทควบคุมเกี่ยวกับการคลัง การต่างประเทศ การประกาศสงคราม ทำหน้า
ที่ตัดสินคดี และมีสิทธิยับยั้งของสภาราษฎร ในสมัยต้นๆของระบอบสาธารณรัฐสภาเซเนทคุมอำนาจการปกครอง ทั้งนี้เพราะกงสุลมักขอความเห็นและคำแนะนำจากสภาเซเนทซึ่งนโยบายส่วนใหญ่มักดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของพวกแพทริเซียนทั้งสิ้น
สภาราษฎร ประกอบขึ้นด้วยราษฎรโรมันทั้งพวกแพทริเซียนและเพลเบียน เรียกว่า
โคมิตาคิวริเอตา มีหน้าที่แต่งตั้งกงสุลและเจ้าหน้าที่บริหารอื่นๆให้ความเห็นยินยอมหรือปฏิเสธกฎหมายที่กงสุลและสภาเซเนทนำเสนอ ทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทที่สำคัญๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า องค์กรทั้ง 3 เป็นองค์กรที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการปกครองแต่ละองค์กรต่างระแวดระวังและคอนอำนาจซึ่งกันและกันมิให้องค์กรหนึ่งองค์กรใดมีอำนาจอย่างมากมายสูงสุดแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันก็มีการทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
เราทราบแล้วว่า กงสุลมีอำนาจเต็มที่ในด้านการทหาร และดูเหมือนว่ามีอำนาจที่จะ
บันดาลให้นโยบายต่างๆที่วางไว้ดำเนินไปได้ตามความประสงค์ แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว การดำเนินนโยบายต่างๆจะต้องได้รับความสนับสนุนจากทั้งสภาเซเนทและสภาราษฎร ตัวอย่างเช่นกงสุลมีอำนาจเด็ดขาดในกองทัพ แต่กองทัพก็จำต้องมีเสบียงยุทธสัมภาระและยุทธปัจจัย ซึ่งจะจัดหามาได้ก็โดยได้รับความยินยอมจากสภาเซเนท ดังนั้นหากสภาเซเนทไม่ให้การสนับสนุน แผนการก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น เมื่อวาระสมัยของการบัญชาการทัพหมดลง สภาเซเนทเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ต่อหรือให้พ้นวาระ
ส่วนสภาราษฎรมีหน้าที่ให้สัตยาบัน หรือเพิกถอนเงื่อนไขของสันติภาพและข้อตกลงในสัญญาต่างๆและที่สำคัญที่สุดคือเมื่อวาระของกงสุลสิ้นสุดลง กงสุลมีพันธะที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ในภารกิจที่ปฏิบัติต่อสภาราษฎร ดังนั้นกงสุลที่ฉลาดมักจะประนีประนอมกับทับทั้งสภาเซเนทและสภาราษฎร
ในเวลาเดียวกัน สภาเซเนทก็ต้องให้ความเคารพต่อสภาราษฎร เพราะในกรณีที่ทีการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายโทษถึงตาย สภาเซเนทไม่มีอำนาจที่จะจัดดำเนินการไต่สวนใดๆเลย ถ้าไม่ได้รับการยืนยันจากสภาราษฎรหรือในกรณีที่จะตัดสินลงโทษในเรื่องใดก็ตาม ถ้าทรีบูนเพียงคนเดียวขัดขวางการตัดสินนั้นก็ไม่อาจจะกระทำได้ ด้วยเหตุนี้สภาเซเนทจึงต้องเคารพต่อเสียงของประชาชนด้วย
ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเคารพสมาชิกสภาเซเนท เพราะผู้พิพากษาในคดีแพ่งแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเซเนท ความเมตตาปรานีจากผู้พิพากษาเหล่านี้ย่อมมีผลต่อประชาชนเมื่อเกิดคดี และโดยทั่วไปแล้วประชาชนชนก็มักจะไม่ขัดขวางโครงการต่างๆของกงสุล เพราะในสนามรบประชาชนทุกคนขึ้นตรงต่ออำนาจเด็ดขาดของกงสุล
นอกจากองค์กรทั้ง 3 แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่บริหารที่ปฏิบัติงานต่างๆรองลงมาจากกงสุลในฐานะประมุขสูงสุดในด้านการบริหาร คือ
เพรเตอร์ เป็นตำแหน่งสำคัญรองจากกงสุล มักจะทำงานแทนกงสุลในยามที่กงสุลมีธุรกิจในต่างเมืองและจำต้องออกไปจากโรมมีจำนวนเพิ่มตั้งแต่ 1 ถึง 8 คน ตามปริมาณหน้าที่การงานที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นผู้นำทัพในยามสงคราม เป็นข้าหลวงหรือผู้ว่าการมณฑลในดินแดนที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของโรมและบางครั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา
สภาราษฎรเป็นผู้แต่งตั้งเพรเตอร์ ซึ่งอยู่ในหน้าที่ชั่วระยะเวลาจำกัด ผู้สมัครรับเลือกเป็นเพรเตอร์มักจะสวมเสื้อคุมทาด้วยผงชอล์ก เรียกว่า Toga candida ต่อมามักจะเรียกผู้สมัครแข่งขันประเภทต่างๆว่า Cadidate
เซนเซอร์ เป็นผู้สำรวจสำมะโนประชากร และพิจารณาผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการยกย่องเป็นพลเมืองโรมัน และดูแลตรวจตราการเรียกเก็บภาษีและการเกณฑ์ทหาร มีจำนวน 2 คนอยู่ในตำแหน่งคราวละ 18 เดือน
เกสเตอร์ เป็นเจ้าหน้าที่การคลัง ดูแลเกี่ยวกับการใช้จ่าย มีจำนวน4 คน
อิไดล์ เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจดูแลถนนหนทางและตลาด มีจำนวน 4 คน
การปกครองโดยวิธีดังกล่าวไม่เป็นที่พอใจของพวกเพลเบียน เพราะพวกเพลเบียนถูกกีดกันจากตำแหน่งหน้าที่การงานในองค์กรที่เป็นหัวใจของการปกครอง คือ กงสุลและสภาเซเนท ในปี 449 ก่อนคริสต์กาลมีการร่างกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็นครั้งแรกเรียกว่า Law of the Twelve Tables ระบุถึงสิทธิ์และหน้าที่ของพวกแพทริเชียนเพลเบียน
กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิ์เพลเบียนอออกกฎหมายร่วมกับพวกแพทริเชียนโดยมีสภาของตนเองเรียกว่า ไทรเบิล ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และแต่งตั้งผู้แทนของตนเรียกว่า ทรีบูน จำนวน 10 คน เป็นประจำทุกปี ทรีบูนทั้ง 10 เป็นผู้นำในสภาและเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของพวกเพลเบียนจากการเอารัดเอาเปรียบของพวกแพทริเชียน เมื่อมีข้อข้องใจใดๆ พวกเพลเบียนก็จะร่างข้อข้องใจของตนออกมาในรูปของมติเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรียกว่า เพบลิไซท์ (ต่อมาใช้ในความหมายว่าประชามติ) ในระยะศตวรรษที่ 5 และ 4 ก่อนคริสต์กาล พวกเพลเบียนได้รับอนุญาตให้สมรสกับพวกแพทริเชียนได้และได้รับสิทธิเข้านั่งสภาเซเนท และมีสิทธิ์ในตำแหน่งกงสุล การปกครองในระบอบสาธารณรัฐซึ่งแต่เดิมเป็นลักษณะการปกครองแบบที่อำนาจปกครองอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมีรูปลักษณ์เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
การปกครองในรูปแบบของสาธารณรัฐของโรมมีความเหมาะสมกับสภาแวดล้อมในทางดินแดนของโรมในขณะนั้น คือ เป็นรัฐเล็กๆ มีอาณาบริเวณที่ไม่กว้างใหญ่นักประชากรมีอยู่ไม่มาก แต่เมื่อโรมแผ่ขยายแสนยานุภาพรวมดินแดนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างขนบธรรมเนียมประเพณี กระจายกันอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาล รูปการปกครองซึ่งจัดเตรียมไว้ใช้กับนครรัฐเล็กๆแบบสาธารณรัฐโรมันจึงไม่เหมาะสมอีกต่อไป รูปการปกครองที่นำมาใช้ใหม่ คือ รูปแบบการปกครองแบบจักรวรรดิมีพระจักรวรรดิเป็นองค์พระประมุขสูงสุด อำนาจการปกครองจะมารวมอยู่ที่พระองค์แต่ผู้เดียว สภาเซเนท สภาราษฎร และสถาบันอื่นๆ คงอยู่แต่พียงในนาม
2. ระบอบจักรวรรดิ
ระบอบจักรวรรดิโรมันเริ่มอย่างเป็นทางการในสมัยของ ออกัสตัส ซีซาร์ในปี 27 ก่อนคริสต์กาล ความจริงระบอบนี้เริ่มมองเห็นได้แล้วตั้งแต่สมัยของจูเลียส ซีซาร์ผู้ยกเลิกการปกครองตามระบอบสาธารณรัฐและการปกครองโรมโดยตนเองเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจทั้งปวง ถือว่าเป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียวอย่างแท้จริง เขาได้รวบอำนาจของกงสุล ทรีบูน ผู้เผด็จการ และอำนาจสูงสุดในทางศาสนา บังคับสภาเซเนทให้ยอมรับข้อเสนอต่างๆโดยไม่ต้องออกความเห็น
เมื่อออกัสตัสขึ้นปกครองได้สถาปนาตนเอขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกและดำเนินรอยตาม
จูเลียส ซีซาร์ คือ ได้รวบอำนาจทั้งหมดมาอยู่ที่พระองค์แต่ผู้เดียว องค์กรทางการปกครองที่เคยมีอยู่ในสมัยสาธารณรัฐมีอยู่แต่ในนามเท่านั้น จักพรรดิมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และข้าราชการประจำส่วนราชการต่างๆ และควบคุมอำนาจการเก็บภาษีอากร ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของสภาเซเนท
การบริหารการปกครองภายในจักรวรรดิโรมได้ใช้วิธีการอะลุ้มอล่วย ทั้งนี้เพราะการปกครองจักรวรรดิที่กว้างใหญ่ไพศาลที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากมาย อีกทั้งยังต่างกันในระดับความเจริญ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะหารูปการปกครองใดโดยเฉพาะที่จะเหมาะสมกับดินแดนทุกๆแห่งในจักรวรรดิย่อมเป็นไปไม่ได้ โรมจึงดัดแปลงการปกครองให้เข้ากับความจำเป็นและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น ดินแดนที่อยู่ติดกับพรมแดนทางแถบแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ ซึ่งมีชนเผ่าเยอรมันคุกคามอยู่เนืองๆโรมเลือกใช้การปกครองแบบทหาร บริเวณที่ตั้งค่ายทหารโรมันภายหลังได้เจริญกลายเป็นเมืองยั่งยืนถาวรต่อมา หลังจากจักรวรรดิโรมันถึงแก่ความพินาศแล้ว เมืองเหล่านี้มีอาทิ เช่นโคโลญ และเวียนนา
ดินแดนทางภาคตะวันออกของจักรวรรดิ เช่นดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อารยธรรมกรีก จักรพรรดิปล่อยให้การปกครองคงรูปอยู่ตามเดิม แต่ในบางแห่ง เช่น อียิปต์ และบางที่ที่คุ้นเคยกับการปกครองแบบเอกาธิปไตย จักรพรรดิจัดส่งข้าหลวงออกไปปกครองอย่างมีอำนาจเต็มที่ ส่วนในดินแดนทางภาคตะวันตก เช่น ในสเปน และฝรั่งเศส โรมจัดการปกครองเองเป็นส่วนใหญ่ มีการแบ่งมณฑลออกเป็นหน่วยเล็ก ให้จัดการเกี่ยวกับกิจการท้องถิ่นด้วยตนเอง หน่วยเล็กนี้เรียกว่า civitas มีลักษณะคล้ายกับนครรัฐกรีกโบราณหรือโรมในสมัยสาธารณรัฐ แต่ละcivitas ปกครองโดยหน่วยงานคล้ายกับสภาเซเนท และสภาราษฎรของท้องถิ่นนั้น civitas หลายแห่งได้เจริญขึ้นเป็นเมืองใหญ่โตมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น บอร์โต ลียอง ในประเทศฝรั่งเศสและ ทรีเอ ในเยอรมันตะวันตก
โดยนัยกว้าง ส่วนใหญ่ของจักรวรรดิโรมันโดยเฉพาะภาคตะวันตกและในบริเวณทะเลเอเจียนรวมกันเป็นสหพันธรัฐ มีอำนาจปกครองตนเองเป็นอิสระพอสมควรโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลในกรุงโรม มีสิทธิในการปกครองตนเองตราบที่รัฐเหล่านั้นยอมเสียภาษี จัดหากำลังบำรุงรักษากองทัพและจัดพิธีบูชาจักรพรรดิให้ถูกต้อง เมื่อใด civitasไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกลางจากโรมวางไว้ ข้าหลวงซึ่งเป็นตัวแทนของจักรพรรดิหรือบางครั้งจักรพรรดิเองจะเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขในการปฏิบัติให้ถูกต้อง
ถึงแม้ว่าโรมให้สิทธิการปกครองตนเองอย่างกว้างขวาง แต่ยังถือว่าอธิปไตยสูงสุดอยู่กับโรม
แต่โรมก็ใช้อำนาจดังกล่าวอย่างระมัดระวังยิ่ง เพราะเป็นการยากที่รัฐบาลกลางแต่เพียงผู้เดียวจะเป็นผู้หาทางออกให้กับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในดินแดนของจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ไพศาล โรมใช้นโยบายให้ข้าราชการเป็นผู้ช่วยในการบริหาร โดยเลือกเฟ้นเอาเฉพาะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากดินแดนทั่วจักรวรรดิ องค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยบริหารงานการปกครองจึงเป็นหน่วยที่มีประสอทธิภาพอย่างแท้จริง
อาจกล่าวได้ว่าลักษณะการปกครองของโรมในระบอบจักรวรรดิเป็นการปกครองที่รักษาดุลระหว่างการกระจายอำนาจระหว่างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความแตกแยก จักรวรรดิในส่วนรวมเรียกได้ว่าเป็นแบบโรมันอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียน วัฒนธรรม ก็มองเห็นได้อย่างแจ่มชัด ถึงแม้โรมจะดัดแปลงการปกครองให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่แตกต่างกันออกไป แต่ผู้อยู่ใต้การปกครองที่มีความหลากหลายเหล่านั้นก็ยังไม่พอใจ เพราะภาวการณ์เสียภาษีและข้อผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติในด้านการทหารนั้นยังมีอยู่ บางครั้งชนบางกลุ่มจึงคิดก่อการจลาจลวุ่นวาย แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเป็นระเบียบร้อยของการปกครองในส่วนรวม
พลังยึดเหนี่ยวจักรวรรดิให้คงอยู่ได้อย่างเป็นระเบียบและมีเสถียรภาพ มั่นคงมาได้ยาวนานที่สุดคือ พลังแสนยานุภาพ โรมมีกำลังทัพที่ขึ้นชื่อในความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ และคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ทั้งนี้โดยอาศัยระบบโรมันที่ขึ้นชื่อพอๆกันในด้านประสิทธิภาพและตอบสนองความรวดเร็วในการสื่อสารคมนาคม พลังยึดเหนี่ยวที่มีความสำคัญอื่นๆ ได้แก่ หน่วยราชการที่มีภารกิจทางด้านการบริหารที่มีประสิทธิภาพ การใช้เงินเหรียญประเภทเดียวกัน การใช้ภาษาร่วมกัน(ทางตะวันตกใช้ภาษาลาติน ทางตะวันออกใช้ภาษากรีก) สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องผูกพันคนในจักรวรรดิให้มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสุดท้ายการให้สิทธิความเป็นพลเมืองธรมันแก่ประชาชน ทำให้คนในจักรวรรดิได้รับความคุ้มครองอยู่ภายใต้กฎหมายโรมันทั่วหน้ากัน ความภาคภูมิใจและเสถียรภาพส่วนบุคคลดังกล่าว คือพลังสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้จักรวรรดิมั่นคงและยืนยงมาได้ถึง 5 ศตวรรษ (500ปี)
ความคิดเห็น