ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องเล่าในคืนไร้ดาว

    ลำดับตอนที่ #20 : สังคมในอุดมคติ

    • อัปเดตล่าสุด 4 พ.ย. 52


    สังคมแห่งความกลมกลืนของความแตกต่าง

     

                    ชายหนุ่มสัมผัสได้ถึงเสียงฝีเท้าของฤดูหนาว ในขณะที่เขาวางหนังสือลงกับโต๊ะ แล้วรับแก้วกาแฟจากหญิงสาว ลมเย็นพัดที่ลงมาจากทางเหนือพัดหน้าหนังสือพลิกปิดลง ชายหนุ่มพยายามคว้าหนังสือไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง จนกาแฟกระฉ่อน ลวกมืออีกข้างที่ถือแก้วอยู่จนชายหนุ่มเผลอปล่อยมันหล่นลงพื้น ถ้วยเซรามิคแตกกระจายลงบนพื้นดิน กาแฟไหลนองพื้น

                    หญิงสาวบ่นขึ้น ก่อนจะเดินกลับเข้าไปหลังร้าน เธอโยนถังให้ชายหนุ่มเก็บเศษแก้ว แล้วลงมือเช็ดโต๊ะ

                    ในขณะที่หญิงสาวเดินหายเข้าไปหลังร้านอีกครั้ง ชายหนุ่มก็สังเกตเห็นนักเดินทาง

                    นักเดินทางดูมีอายุ ผมของเขากลายเป็นสีขาวเกือบหมดแล้ว แต่กลับดูอ่อนเยาว์ เขาสะพายเป้โทรมๆ ไว้บนหลัง เป้แฟบจนดูราวกับไม่มีสิ่งของอยู่ภายใน เขาสวมชุดที่ทะมัดทะแมงและดูสมบุกสมบัน

                    นักเดินทางเอ่ยถามชายหนุ่มว่าเขาจะขอพักเหนื่อยสักครู่ได้หรือไม่

                    “แน่นอนครับ” ชายหนุ่มเอ่ยตอบ แม้ว่าตัวเองจะไม่ใช่เจ้าของร้านก็ตาม “ท่านมาจากที่ไหนครับ?” เขาเอ่ยถาม ก่อนจะตะโกนสั่งกาแฟเพิ่มให้นักเดินทางด้วย

                    นักเดินทางยิ้มให้ชายหนุ่ม “ข้าเดินทางไปตามที่เท้าจะพาไป ข้ามผืนน้ำ ผ่านทวีป เมื่อรู้สึกตัวอีกที่ข้าก็ลืมไปแล้วว่าตัวเอง มาจากที่ไหน”

                    ชายหนุ่มไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่นักเดินทางพูดเท่าใดนัก แต่เขาก็เอ่ยคำถามต่อไป “ท่านเดินทางมาไกลขนานนั้นเชียวเหรอ? ท่านเห็นเมืองทุกเมืองในโลกหรือยัง?

              นักเดินทางส่ายหัว “ยัง ข้าไม่มีทางเห็นเมืองทุกเมืองบนโลกได้หรอก”

                    “ทำไมล่ะครับ?

                    “หากข้าเดินทางย้อนกลับไปยังที่ตั้งของภูเขาเดิมที่ข้าเคยเดินทางผ่านมา เจ้าจะบอกได้อย่างไรว่าเมืองที่อยู่ข้างๆ ภูเขาลูกนั้นจะเป็นเมืองเมืองเดิม?

                    ชายหนุ่มครุ่นคิด “อืม จริงของท่าน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนตายจากไป และเกิดขึ้นใหม่ ต้นไม้ สิ่งปลุกสร้าง กฎระเบียบ บริบทล้วนเปลี่ยนไป”

                    “ถูกแล้ว ยิ่งกว่านั้นเมืองเมืองเดียวกันในเวลาเดียวกัน ที่เห็นจากคนสองคนจะเหมือนกันหรือไม่?

                    ชายหนุ่มไม่อาจหาคำตอบได้

                    นักเดินทางยิ้ม “ด้วยเหตุนี้ถึงแม้จะมีเวลาชั่วนิรันดร์ข้าก็ไม่อาจมองเห็นเมืองทุกเมืองบนโลกใบนี้”

                    ชายหนุ่มปิดหนังสือของตัวเองลง และเอามันลงจากโต๊ะ “อืม อย่างไรก็ตาม ท่านต้องเคยเห็นโลกมามากกว่าที่ผมเห็นจากหนังสือแน่นอน ท่านจะบอกได้ไหมว่าสังคมที่ดีที่สุดเป็นสังคมแบบไหน”

                    “เจ้าจะตัดสินยังไงเล่าว่าสังคมหนึ่งดีกว่าอีกสังคม?

                    ชายหนุ่มไม่อาจหาคำตอบได้อีกครั้ง “ตกลง เอาแบบนี้ เราเปลี่ยนคำถามเป็น ในความคิดของท่านสังคมในอุดมคติควรเป็นเช่นไร”

                    “เป็นคำถามที่ดี ก่อนที่เราจะคุยกันในเรื่องนั้น ข้าขอให้เราตกลงกันก่อนว่าการอธิบาย และนิยามที่ข้าจะให้ในที่นี้เป็นการอธิบายจากมุมของข้า และนิยามที่เราตั้งขึ้นมาใช้เฉพาะในทีนี้ ได้หรือไม่?

                    “อืม อย่างที่ต้าวเต๋อจิงกล่าวว่า “วิธีอันอาจเต้าตามได้ มิใช่วิธีอันจีรัง นามอันอาจขนานเรียกได้ มิใช่นามอันยั่งยืน”[1] ตกลงตามนั้นครับ”

    “โลกมีทางนับล้าน นี่เป็นเพียงทางของข้า” นักเดินทางหลับตาลงครู่หนึ่ง “ข้าชอบสังคมทุกสังคมอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่ถ้าหากเจ้าอยากจะให้ข้าตอบให้เจาะจงลงไปอีก ข้าคงต้องการ สังคมที่ทุกคนชอบสังคมอื่นและสังคมของคนอย่างที่มันเป็นอยู่ สังคมที่ไม่มีการตัดสิน สังคมที่ตามแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ สังคมที่ไม่มีการแยกความดีและความเลว สังคมที่มนุษย์เป็นอย่างที่มนุษย์เป็น ยอมรับในสิ่งที่มันเป็น”

    ขณะที่นักเดินทางกำลังกล่าวอยู่นั้น หญิงสาวก็ถ้วยกาแฟออกมาจากหลังร้าน เธอวางมันลงบนโต๊ะ และฟังนักเดินทางกล่าวจนจบ ก่อนจะเอ่ยถามขึ้น “พวกนายคุยเรื่องอะไรอยู่?

    ชายหนุ่มรู้สึกกะอักกระอวนเล็กน้อยกับการที่หญิงสาวแทรกขึ้น เขาเอ่ยกับนักเดินทาง “เธอเป็นลูกสาวร้านกาแฟนี้ เป็นเพื่อนของผมเอง รังเกียจไหมครับถ้าจะให้เธอร่วมการสนทนาด้วย?

                    “ไม่ ไม่รังเกียจอย่างแน่นอน”

                     “เรากำลังพูดถึงสังคมที่ดีที่สุด ท่านนักเดินทางเสนอว่าสังคมที่ดีควรเป็นสังคมที่ไม่มีการตัดสิน” ชายหนุ่มหันไปอธิบายให้หญิงสาวฟัง

                    “จะเป็นเช่นนั้นได้ยังไง? สังคมที่ไม่มีดี ไม่มีเลว จะเป็นสังคมที่ดีที่สุดได้ยังไง”

                    “เธอก็อย่าพึงขัดสิ”

                    “เชิญเถอะๆ ให้เธอกล่าวต่อไปเถิด”

                    “หากไม่มีการกำหนดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี สิ่งใดเลว คนในสังคมก็จะทำในสิ่งที่อยาก คนจะไม่ต่างจากสัตว์ เขาจะกินเมื่อหิว ฆ่าเมื่ออยาก ข่มขืนเมื่อต้องการ ผู้เข้มแข็งจะได้ทุกอย่าง ส่วนผู้อ่อนแอจะสูญเสียทุกสิ่ง”

                    นักเดินทางพยักหน้าช้าๆ

                    “หมายความว่าเธอเห็นด้วยกับในสภาวะธรรมชาติของโทมัส ฮอป[2] เหรอ?

    “ไม่ขนาดนั้นหรอก เราว่าอันที่จริงแล้วสภาวะธรรมชาติของทั้งสำนักสัญญาประชาคม[3]นั้นเขาก็เพ้อทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะฮอปน่ะนะ”

    “ทำไมล่ะ” ชายหนุ่มถาม

    “นายคิดว่าในสภาวะธรรมชาติถ้านายกับเรามาเจอกันจะทำสงครามกันไหมล่ะ?

    “ก็... นะ”

    “นั่นแหละ เพราะว่ามนุษย์ไม่มีทางจะอยู่คนเดียวตามธรรมชาติได้ นายจำเป็นต้องเกิดมาจาก พ่อ-แม่ เมื่อมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นเขาก็เห็นพ่อแม่ของเขาแล้ว ดังนั้นมันไม่มีสภาวะธรรมชาติแต่แรกแล้ว สังคมเริ่มแรกของมนุษย์คือครอบครัว”

    “อย่างนั้นที่เธอพูดมาตอนแรกก็ไม่ถูกนะเพราะรุสโซ่ก็บอกว่า “สังคมเก่าแก่และเกิดมีเองโดยธรรมชาติแท้ๆ ก็คือครอบครัว”[4] เหมือนกัน”

    “จริงเหรอ?

    “จริงสิ”

    “แต่รุสโซ่ก็บอกว่าบุตรจะผูกพันกับบิดาเฉพาะเมื่อเขาจำเป็นต้องให้บิดาดูแลนี่นา”

    “ใช่แต่เขาก็บอกว่าครอบครัวจะคงสภาพอยู่ได้ด้วยการตกลงของคนในครอบครัวต่อไป”

    “แบบนั่นก็ได้ เราเห็นด้วยกับรุสโซ่ในเรื่องสังคมเก่าแก่ที่สุดคือครอบครัว แต่ว่ารุสโซ่ออกจะมองค่าของครอบครัวน้อยเกินไปหน่อย”

    “หมายความว่าเธอจะบอกว่าสภาวะธรรมชาติของมนุษย์คือครอบครัว”

    “ก็ไม่ค่อยใช่นัก เพราะสภาวะครอบครัวนั้นมันมีระเบียบของมันแล้ว เรียกกว่ามันกระโดดข้ามสภาวะธรรมชาติและเขาไปยังครอบครัวเลยจะดีกว่า”

    “อืม แล้วระเบียบของครอบครัวนี้เป็นอย่างไร” นักเดินทางเอ่ยถาม

    “หนูไม่แน่ใจว่าเราจะตีความระเบียบของครอบครัวนี้ว่าเกิดจากการตกลงทำสัญญาประชาคมได้ไหม ถ้าตีความตามรุสโซ่ก็อาจจะเป็นแบบนั้น แต่ในความคิดของหนู หนูคิดว่าไม่ เพราะเมื่อลูกเกิดขึ้น ลูกจะตกอยู่ในระเบียบนี้โดยที่ไม่มีสิทธิ์เลือกเลย เขาเป็น “ลูก” ตั้งแต่วินาทีแรกที่เขาหายใจและตกอยู่ใต้ระเบียบนี้ตั้งแต่ตอนนั้น และมันมีสิ่งที่เป็นความผูกพันอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ ถึงแม้ว่าลูกจะขาดจากพ่อแม่เมื่อโตขึ้นแต่ ลูกก็ยังได้รับอิทธิพลจากครอบครัวมาก่อนอยู่ดี หากพ่อแม่ต้องการให้เขาขึ้นอยู่กับครอบครัวอยู่ พ่อแม่ก็ทำได้จากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเราไม่ได้ตัดสินใจเลือกด้วยความคิดของเรา แต่เราถูกอิทธิพลบางอย่างกำหนดไว้ตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว”

    “หมายความว่าระเบียบนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดของพ่อแม่เหรอ” นักเดินทางถาม

    “ไม่ ไม่ใช่ทั้งหมด” หญิงสาวส่ายหน้า “จริงอยู่ว่าพ่อแม่จะถ่ายทอดระเบียบนั้นให้ลูก ทว่าสิ่งที่พ่อแม่ถ่ายทอดนั้นก็รับมาอีกต่อหนึ่ง”

    “แล้วระเบียบหรืออิทธิพลที่ว่านี้เกิดจากอะไร” ชายหนุ่มถาม

    “เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ของมนุษย์ มนุษย์เมื่อเกิดขึ้นจะได้รับการถ่ายทอดมันมาจากพ่อแม่ หรือผู้ที่อยู่มาก่อน และเรียนรู้เพิ่มจากโลก เมื่อเขาเติบโตขึ้นแยกจากพี่น้อง และพาครอบครัวของเขาแยกออกไป เขาก็เรียนรู้ และถ่ายทอดมันต่อไป ด้วยประสบการณ์เหล่านั้นมนุษย์จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ที่ควรทำ อะไรคือสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรทำ เกิดการแบ่งหน้าที่และการจัดลำดับสังคมในครอบครัว มันถ่ายทอดและพัฒนาช้าๆ จากรุ่นสู่รุ่น”

    “แล้วมันต่างจากการตั้งสัญญาประชาคมยังไง”

    “เพราะว่าเรารับการถ่ายทอดนี้เราได้รับมาโดยไม่รู้ตัว เราไม่สามารถตัดสินใจเลือกที่จะยอมรับ หรือไม่ยอมรับมัน เราเรียนรู้มันเข้ามาก่อนที่เราจะรู้ว่าเรากำลังเรียนรู้มันอยู่เสียอีก ไม่สิ เรามีมันอยู่โดยไม่รู้ว่าตัวเองมีมันอยู่ด้วยซ้ำ ดังนั้นการรับการถ่ายทอดของสังคมนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เลือกว่าจะทำสัญญาอะไรเลย”

    ชายหนุ่มและนักเดินทางพยักหน้า

    หญิงสาวกล่าวต่อ “มนุษย์สร้างมนุษยธรรม ธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม จารีต ขึ้นมาด้วยกระบวนการนี้ เกิดเป็นสังคมที่มีความผูกพันกันแบบพี่น้องขึ้น มนุษย์อยู่ได้อย่างเรียบร้อยโดยอาศัยมนุษยธรรม บรรทัดฐาน จารีต ประเพณี วัฒนธรรม พวกเขาทำตามความดีและพยายามหลีกเลี่ยงการทำความเลว ที่ได้รับนิยามจากการถ่ายทอดของสังคม ด้วยเหตุนี้จึงอยู่กันมาได้อย่างมาความสุข เราจะมองเห็นสภาพของสังคมแบบครอบครัวนี้ได้เด่นชัดจากทัศนของขงจื่อ หรือไม่ก็สังคมที่มีลักษณะเป็นชนบท”

    “อธิบายเรื่อง มนุษยธรรม ธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม จารีต เพิ่มเติมได้ไหม?

    “อืม” หญิงสาวเอียงคอคิด

    ชายหนุ่มอธิบายช่วย “ฉางต่วนจิงบทกำหนดนาม อธิบายไว้ว่า “ธรรมวิธี หมายถึงสิ่งที่คนเราเดิน อยู่นอกบ้านควรทำอะไร ออกนอกบ้านต้องไปไหน ทำงานรู้ว่าควรทำอย่างไร รู้ว่าควรหยุดเมื่อไหร่ ธรรมคุณ หมายถึงใครควรได้อะไร ทำให้ทุกคนได้สิ่งที่ควรได้ มนุษยธรรม หมายถึงความรัก การให้ประโยชน์และขจัดภัยให้คนทั้งหลายโดยไม่เห็นแก่ตัว จรรยาธรรม หมายถึงความเหมาะสมรู้ถูกรู้ผิด รู้สมควรไม่สมควร จารีตธรรม หมายถึงการก้าวเดิน จะก้าวหรือถอยต้องมีบรรทัดฐาน รู้สูงรู้ต่ำ รู้ฐานะ[5]

    “เดี๋ยวก่อน” นักเดินทางกล่าวห้าม “ถ้าเป็นแบบนี้เราจะกลับเข้าไปอยู่ที่การเถียงกันเรื่องนิยามของนาม และความคลาดเคลื่อนของภาษา เราจะต้องมาอธิบายกันวุ่นวายไปใหญ่ว่าคำไหนหมายถึงอะไร แปลมาจากอะไร”

    “อือ ถ้าเป็นแบบนั้นวันนี้คงไม่จบแน่ๆ” หญิงสาวกล่าว

    ชายหนุ่มเกาหัวแกรกๆ “ตกลง เราจะไม่แบ่งแยกมันเป็นส่วนๆ ตั้งชื่อให้ แล้ววิเคราะห์ แต่จะมองในภาพรวมทั้งหมด ว่าแต่เธอจะอธิบายยังไงล่ะ”

    “เรากำลังเรียบเรียงอยู่” หญิงสาวเท้าศอกกับโต๊ะ กดปลายนิ้วที่ขมับทั้งสองข้าง “เอาแบบนี้ มันมีกระดานอยู่ในในทุกๆ หมู่บ้าน กระดานมีอยู่ในทุกที่ เป็นกระดานที่ไม่มีใครมองเห็น ทว่าทุกคนอ่านมันโดยไม่รู้ตัว ทุกครั้งที่เขามีประสบการณ์อะไร กระดานนั้นจะบันทึกเรื่องราวของเขาลงไป ทุกครั้งที่คนสองคนหรือหลายคนมาคุยกันแล้วมีความเห็นเช่นไร กระดานนี้ก็จะบันทึกความเห็นนั้นลงไป คนที่ได้อ่านกระดานก็จะได้รับประสบการณ์ ได้รับความคิดเห็นนั้นๆ มา พวกเราก็จะเริ่มรับอิทธิพลมาจากมัน เริ่มทำตามความดีนั้น เวลาผ่านไปตัวอักษรใหม่ก็จะเขียนทับลงไปยังกระดานเรื่อยๆ

    เช่น... สมมตินะ สมมติมีคนกระโดด แล้วคว้าเก็บผลไม้จากที่สูงๆ ได้ กระดาษก็จะเขียนเรื่องนี้ไว้ พอทุกคนอ่านแล้วก็คิดว่าควรจะกระโดด กระดานก็จะบันทึกไว้ จากนั้นพวกเขาก็จะกระโดด กระดานก็จะบันทึกไว้ ในที่สุดประสบการณ์อื่นๆ และคำว่า กระโดดที่เป็นผลตอนท้าย และทุกคนทำกันอยู่เรื่อยๆ ก็จะทับตัวอักษรเก่า จนอ่านเรื่องของคนคนแรกที่เริ่มการกระโดดไม่ได้แล้ว พวกเขาก็จะรู้เพียงว่าต้องกระโดด โดยไม่รู้แล้วว่าทำไม พวกเขาไม่ต้องคำถามถึงมันด้วยซ้ำ การจัดระบบของสังคมก็เกิดขึ้นจากกระบวนการเช่นนี้ ท้ายสุดแล้วมันจะกลายเป็น ธรรมวิธี ธรรมคุณ มนุษยธรรม คลองธรรม จารีต ค่านิยม ธรรมเนียม วัฒนธรรม อะไรก็แล้วแต่”

    นักเดินทางพยักหน้า “ที่เจ้ากล่าวมานั้นน่าสนใจมาก ทว่าขอบเขตของกระดานนั้นๆ มันกว้างแค่ไหน ทั่วโลกเลยหรือไม่”

    “ไม่ ในสมัยก่อน ขอบเขตของกระดานคงกว้างเท่าที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ ความกว้างของมันขึ้นอยู่กับว่าจะถ่ายทอดประสบการณ์ออกไปได้กว้างแค่ไหน”

     “แสดงว่าผู้คนที่อยู่นอกเขตกระดานจะมีกระดานอีกแผ่นที่ไม่เหมือนกันเลยใช่ไหม”

    “ใช่ เพราะเขาเองก็สร้างประสบการณ์ของเขา”

    “ตกลง แสดงว่าเราได้ขอบเขตของกระดาน คนในขอบเขตของกระดานนี้ใช้กระดานเดียวกันทุกคนไหม เพราะเขาอาจจะ มีประสบการณ์ที่รู้แล้วเก็บไว้คนเดียวไม่ได้เขียนลงไป”

    “ถ้าจะพูดแบบนั้น แต่ละคนมีกระดานภายในตัวเอง ซึ่งมันจะบันทึกประสบการณ์ของเขาไว้และลอกข้อความจากกระดานที่เขามองเห็น”

    “แล้วมันแบ่งขอบเขตของกระดานอย่างไร แบ่งเขตว่ากระดานหนึ่งจะทับอีกกระดานได้ไหม”

    “ได้”

    “ดังนั้นคนที่เกิดในเขตกระดานหนึ่ง ก็สามารถถูกเขียนสิ่งที่อยู่ในกระดานอื่นใส่เมื่อเขาเดินทางไปอยู่ในเขตอื่นได้ใช่หรือไม่”

    “แน่นอน แต่เขาก็จะติดการมองมันจากมุมข้อมูลในกระดานของตัวเองอยู่ก่อน แต่ถ้าเขาอยู่นานๆ จนอักษรของอีกกระดานชัดเจนแล้วเขาก็เข้าใจมันได้ และอาจนำกลับไปเขียนลงกระดานของเขาได้ด้วยเช่นกัน”

    “นี่เรากำลังพูดเรื่องขอบเขตของวัฒนธรรม กับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอยู่ใช่ไหม” ชายหนุ่มถาม

    หญิงสาวเอียงคอ “ถ้านายอยากจะหาคำมาสรุป ก็คงจะประมาณนั้น”

    “เอาล่ะ เมื่อเราพอจะเข้าใจสภาพของสังคมที่ว่าแล้ว ข้าจะขอถามคำถามสำคัญสักหน่อย” นักเดินทางเอ่ย

    หญิงสาวพยักหน้า

    “จากที่เจ้ากล่าวมา แต่ละกระดานล้วนต่างกันตามประสบการณ์จริงไหม เช่นนี้อะไรคือสิ่งที่ถูกจริงๆ ล่ะ ในเมื่อความถูกผิดของแต่ละกระดานมันไม่เหมือนกัน”

    “นั่นสิ” ชายหนุ่มเอ่ย “หากครอบครัวหนึ่งเจอโรคระบาดในหมู ครอบครัวนั้นก็จะกำหนดให้หมูเป็นสัตว์สกปรกห้ามกิน ส่วนครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมจากการถ่ายทอดประสบการณ์อาจจะทำให้วัวที่ใช้ทำนาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์”

    “ถูกแล้ว แต่ละสังคมต่างมีการตัดสินถูกผิดด้วยวิธีของตนเอง ต่างมีเหตุผลของตนเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าสิ่งที่ถูกของกลุ่มหนึ่งอาจจะผิดของกลุ่มหนึ่ง เช่นนี้เมื่อมันผ่านเวลาไปจนความแตกต่างที่เขียนในกระดานชัดเจนมากๆ เมื่อเป็นเช่นนี้สองกลุ่มก็จะเริ่มทะเลาะกัน พอคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะการตัดสินถูกผิดแตกต่างกันก็จะเริ่มทำร้ายและเข่นฆ่ากัน เราจะทำอย่างไร”

    หญิงสาวไม่อาจตอบ

    นักเดินทางกล่าวต่อไป “หากเป็นเช่นนี้หากทุกกลุ่มคิดว่าการตัดสินของตนนั้นถูกต้องและพยายามบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนกัน เขาจำเป็นจะต้องทำสงครามเพื่อให้สังคมอื่นๆ ทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อำนาจของเขาและใช้อำนาจเหล่านั้นบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกัน แต่จะมีสังคมที่เข้มแข็งเช่นนั้นหรือไม่? เท่านั้นยังไม่พอ ถึงเราจะมีอำนาจแล้วบังคับใช้ได้แล้ว แต่ละครอบครัวย่อยก็จะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปอีก ในระยะยาวก็จะเกิดความแตกต่างขึ้นมาอีก แล้วก็เกิดกระดานหลายกระดานที่ไม่เหมือนกันอีก”

                    “หมายความว่าท่านไม่เชื่อในความคิดของเพลโตงั้นเหรอ? ชายหนุ่มถาม

                    “ยังไงเล่า?

                    “ท่านไม่เชื่อว่าจะมีความถูกต้องที่เป็นหนึ่งเดียว ความถูกต้องที่เป็นนิรันดร์ ความถูกต้องที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความถูกต้องที่ท่านไม่อาจฝืนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ความถูกต้องได้เมื่อท่านมีมันงั้นเหรอ”

                    “ข้าเคยได้ยินข้อความที่โสเครติสในงานของเพลโตกล่าวไว้ว่า “นักปรัชญาได้แก่ผู้ที่สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นนิรันดร์”[6] ข้ามิใช่นักปรัชญาในทรรศนะของเพลโตหรอก ไม่อาจเทียบใกล้ด้วย ดวงตาของข้าเห็นแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเท่านั้น สำหรับข้าความเป็นนิรันดร์ก็เป็นดังเม็ดฝนที่ร่วงลงมาจากฟากฟ้า ทันทีที่เรายื่นมือไปสัมผัส มันก็แตกสลาย ไหลร่วงหล่นจากมือและเปลี่ยนรูปร่างไป กลายเป็นหนองน้ำ กลายเป็นลำธาร กลายเป็นต้นไม้ กลายเป็นผู้คน กลายเป็นไอน้ำ ก่อนจะกลับมาเป็นเม็ดฝน

    แม้แต่สังคมในอุดมคติของเพลโตเองเมื่อมองจากผู้คนในตอนนี้มันก็มิใช่สังคมในอุดมคติอีกต่อไปแล้ว ศาสดาหลายองค์ก็มีธรรมอันเที่ยงแท้หลายธรรม เจ้าตัดสินได้หรือไม่ว่าธรรมใดคือธรรมอันเที่ยงแท้ระหว่างธรรมทั้งสอง เจ้าบอกได้หรือไม่ว่าธรรมอันเที่ยงแท้ที่เจ้ารับฟังมานั้นไม่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลง”

                    ชายหนุ่มและหญิงสาวต่างส่ายหน้า

                    “ใช่แล้ว สิ่งเดียวที่ข้าต่างจากโซฟิสต์อาจจะเป็นการไม่ด่วนสรุปในสิ่งที่ตนเห็นว่านั่นคือสิ่งถูก ส่วนสิ่งเดียวที่ข้าเหมือนโสเครติสอาจจะเป็นเรื่องที่ข้าคิดว่าตนเองนั้นไม่รู้อะไรเลย แม้แต่ทัศนะนี้ของข้าสักวันหนึ่งก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ หากความถูกต้องอันเป็นนิรันดร์มีอยู่ก็คงจะไม่อาจมองเห็นได้จากดวงตาอันต้อยต่ำของข้า”

                    หนุ่มสาวทั้งสองได้แต่มองนักเดินทางเงียบๆ เขายกกาแฟขึ้นจิบช้าๆ

                    “เอาล่ะ เรากลับมาที่สังคมที่เราค้างไว้ดีกว่า มีวิธีใดที่จะแก้ความขัดแย้งระหว่างสังคมเหล่านั้นได้บ้าง”

                    “ผมคิดว่าควรจะใช้กฎหมาย”

                    “อย่างไรเล่า” นักเดินทางถาม

                    “เมื่อสังคมเหล่านั้นมาอยู่ด้วยกัน หลังจากพวกเขาทะเลาะกัน พวกเราจะใช้บรรทัดฐานของเขาทำในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกและเข่นฆ่าคนที่เห็นต่าง บังคับให้พวกเขาคิกเหมือนกัน ทุกคนสังคมจะสู้กันจนเหนื่อยล้า การต่อสู้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันบ้างแล้ว พวกเขาเริ่มมองเห็นว่าพวกเขาต้องสูญเสียกำลังมหาศาลในการเข่นฆ่าผู้ที่เห็นต่างและดูแลบังคับให้ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจคิดแบบตน ในที่สุดพวกเขาจะเริ่มเห็นว่าการทะเลาะกันนั้นไม่เกิดประโยชน์ใด มีแต่ความพินาศและความเหน็ดเหนื่อยเท่านั้น ด้วยความต้องการหยุดความไม่มั่นคงของการทะเลาะเบาะแว้งนั้นพวกเขาก็จะมาตกลงกัน”

                    “หมายความว่าเรากลับมาที่การทำสัญญาประชาคมงั้นเหรอ” หญิงสาวถาม

                    “คล้ายๆ อย่างนั้น ในที่สุดเมื่อมีการตกลงกัน พวกเขาก็จะออกกฎขึ้นมาจากความถูกต้องที่ตรงกันของแต่ละสังคม เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความเรียบร้อยพื้นฐานและหยุดความขัดแย้ง เราเรียกสิ่งนั้นว่ากฎหมาย”

                    “อธิบายเรื่องของกฎหมายของเราเพิ่มอีกหน่อย”

                    “ผมไม่ขอว่าไปง่ายๆ ว่า กฎหมายคือ กฎที่บอกว่าอะไรที่ต้องทำ หรือห้ามกระทำ โดยที่มีบทลงโทษของผู้กระทำผิดบัญญัติไว้ด้วย สรุปง่ายๆ คือเราพูดถึงกฎหมายมหาชนที่เป็นข้อบังคับพื้นฐานของรัฐ ไม่ใช่กฎหมายเอกชนที่ไม่มีบทบังคับ ซึ่งอาจเกิดจากการตกลงกันระหว่างการทำธุรกรรมของพ่อค้า หรือเกิดจากแบบแผนที่นิยมปฏิบัติ”

                    “กฎหมายนั้นควรจะกำหนดจากอะไร” นักเดินทางถาม

                    “อย่างที่กล่าวไปแล้ว กฎหมายเกิดจากความถูกต้องที่ตรงกันของแต่ละสังคม เช่นสังคม ก. ห้ามฆ่าคน ไม่กินหมู กินวัว สังคม ข. ห้ามฆ่าคน ห้ามฆ่าวัว สังคม ค. ห้ามฆ่าคน เพียงอย่างเดียว กฎหมายที่เกิดขึ้นคือห้ามฆ่าคน สังคม ก. กับ ค. จะรวมหัวกันออกกฎหมายว่าห้ามกินหมู หรือสังคม ข. กับ ค. จะมารวมหัวกันออกกฎหมายบังคับให้ต้องกินหมูไม่ได้ หากทำเช่นนั้นนั่นก็เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ทุกคนจะยอมรับแต่กฎหมายที่เป็นธรรมเพราะมันเกิดจากธรรมที่คนในทุกสังคมเห็นพ้องกัน กฎหมายจะคุ้มครองในสิ่งที่คนในทุกสังคมเห็นว่าควรจะคุ้มครอง”

                    “ก็จะคล้ายๆ เจตนารมณ์สากลของรุสโซ่[7] ผสมกับแนวคิดของล็อก” หญิงสาวแทรก

                    “ประมาณนั้น ความจริงพวกเราก็ต่างยืนอยู่บนแนวคิดของคนรุ่นก่อนทั้งนั้นแหละ มันก็คล้ายๆ กับเรื่องสังคมของเธอนั้นแหละ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะมีความต้องการร่วมกันคือการไม่อยากตาย การอยากได้สิทธิ์ในทรัพย์สิน การอยากทำตามธรรมคุณ ทำตามความถูกต้องในสังคมตัวเอง เมื่อมีกฎหมายแล้วคนก็ไม่อาจทำร้ายกัน และละเมิดสิทธิ์พื้นฐานโดยเหตุจากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ลุกลามใหญ่โต คนต่างสังคมก็ระแวงกันน้อยลง และเริ่มคุยกันได้มากขึ้น ด้วยเหตุที่สภาพสันตินี้จะเกิดในขอบเขตที่กฎหมายบังคับได้ มันจึงเกิดกรอบของพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กฎหมายขึ้น นี่เป็นต้นกำเนิดของรัฐ”

              “แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากกฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม” นักเดินทางถาม

                    “หากกฎหมายไม่เป็นธรรม สังคมที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากกฎหมายนั้นก็จะไม่ยอมรับกฎหมายอีกต่อไป เมื่อกฎหมายไม่อาจใช้ได้ในขอบเขตของสังคมนั้นก็เท่ากับว่าสังคมและพื้นที่ที่สังคมนั้นตั้งอยู่จะหลุดออกจากรัฐเดิม และหากสังคมอื่นๆ ที่ยังอยู่ในรัฐนั้นพยายามใช้กำลังในการบังคับสังคมที่แยกออกมาให้อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ สังคมที่แยกตัวออกไปก็ย่อมจะต่อสู้ด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี จนกว่าสังคมนั้นจะสูญสลายไป เรากลับไปอยู่ในสภาพก่อนการตกลงกันและกำหนดกฎหมายขึ้น นี่เท่ากับรัฐนั้นได้ล่มสลายลงแล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงสรุปได้ว่า กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมนั้นเป็นเหตุให้รัฐล่มสลายลง”

              “อืมม” นักเดินทางพยักหน้า “ด้วยเหตุที่ต้องมีบทลงโทษกำหนดไว้ หมายความว่ากฎหมายทำงานได้ด้วยความกลัวของผู้ที่อยู่ใต้กฎหมายใช่ไหม”

                    “ใช่บางส่วน เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับทัศนะของหานเฟยจื่อบางส่วน มงเตสกิเออร์ให้เสนอข้อคิดเห็นของเขาว่าในรัฐที่มีคุณธรรม[8]สูงส่งเพียงแค่แนะแนวทางว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำเขาก็ทำตามแล้วโดยไม่ต้องมีบทลงโทษเลย แต่ก็อย่างที่หานเฟยจื่อเสนอไว้ว่าคนเช่นนั้นอาจะมีอยู่จริง แต่น้อย เราจะคาดหวังให้ทุกคนเป็นเช่นนั้นคงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีความกลัวในกฎหมายมาช่วยด้วย กฎหมายควรจะประกาศใช้อย่างชัดเจน โทษทัณฑ์ควรจะแน่นอน เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่กล้าทำผิดเพราะกลัวถูกลงโทษ”

    ชายหนุ่มจิบกาแฟก่อนจะกล่าวต่อ “แต่เรื่องของความรุนแรงในการลงโทษนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กฎหมายจะบังคับใช้และยังดำรงอยู่ได้ด้วยความเห็นชอบของทุกคน และการลงโทษอย่างรุนแรงก็ไม่ได้ช่วยให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น จริงอยู่ว่ามันทำให้กฎหมายน่ากลัวขึ้น แต่ก็ทำให้กฎหมายน่ารังเกียจด้วยเช่นกัน คนย่อมไม่อยากให้สิ่งที่ตนคิดว่าน่ารังเกียจดำรงอยู่ กฎหมายที่น่ารังเกียจย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน

    อีกเหตุผลหนึ่ง อย่างที่มงเตสกิเออร์เสนอในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าความสะเทือนใจต่อการลงโทษเบาๆ ในประเทศที่มีบทลงโทษเบา สะเทือนใจเท่าๆ กับการลงโทษหนักๆ ประเทศที่มีบทลงโทษหนัก การลงโทษหนักทำให้คนเคยชินกับโทษหนักๆ และไม่กลัวโทษเบา

    ดังนั้นการกำหนดโทษควรขึ้นอยู่กับแต่ล่ะสังคมจะยอมรับร่วมกัน ควรกำหนดความรุนแรงที่แรงในระดับที่ทำให้คนเกรงความผิดนั้น จนไม่เกิดความผิดนั้นขึ้นบ่อยๆ แต่เมื่อต้องลงโทษจริงๆ แล้วคนในสังคมทุกสังคมในรัฐยังยอมรับการลงโทษนั้นได้ โดยคิดว่าการลงโทษเป็นธรรมไม่น่ารังเกียจ”

    “แล้วการตัดสินล่ะ” หญิงสาวถาม

    “การพิจารณาตัดสินก็เหมือนกัน ต้องเป็นวิธีที่คนในทุกสังคมเห็นตรงกันมิใช่วิธีรุนแรงที่ทำให้ผู้คนขยาดและรังเกียจ”

    “เราหมายความว่าใครจะเป็นผู้ตัดสิน”

    “ก็นั่นแหละ ผู้ตัดสินนั้นจะใช้ระบบที่คนในทุกสังคมของรัฐเห็นว่าเป็นธรรม และใช้การเลือกผู้ตัดสินแบบที่พวกเขาเห็นพ้องกัน”

                    “แล้วเรื่องการปกครองของรัฐล่ะ” หญิงสาวถาม

                    “ก็เหมือนกัน การปกครองของรัฐจะเป็นในรูปแบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความถูกต้องที่ยอมรับได้ของทุกสังคม แต่อำนาจนั่นต้องยังเป็นของสังคมต่างๆ ในรัฐ การปกครองควรจะเป็นธรรมในรูปแบบเดียวกับกฎหมาย ระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมก็จะทำให้รัฐล่มสลายเช่นเดียวกับกฎหมายที่ไม่เห็นธรรม”

              “แล้วแบบนี้การตัดสินใจทำเรื่องเร่งด่วนของรัฐเราจะตัดสินใจโดยคนของสังคมทั้งหมดในรัฐเห็นพ้องกันได้เหรอ”

                     “ไม่ใช่แบบนั้น” ชายหนุ่มเกาหัว “เราอาจจะพูดเร็วเกินไป... เอาล่ะ เราหมายถึงว่าเราเลือกระบบการปกครองของรัฐโดยการเห็นชอบของคนในสังคมทั้งหมดของรัฐ ปกครองภายใต้กฎที่เกิดจากการเห็นชอบของคนในสังคมทั้งหมดของรัฐ พวกเขาจะเลือกปกครองทั้งรัฐผ่านคนทั้งหมดโดยตรงแบบนั้นเลยก็ได้ ถ้าเขาคิดว่ามันสะดวก และรวดเร็วพอ ทว่าคงจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นพวกเขาอาจจะตกลงให้คนหนึ่งคนเป็นองค์รัฐาธิปัตย์ขึ้นมาปกครอง พวกเขาอาจจะกำหนดหลักการของเสียงข้างมากขึ้นมา เพื่อใช้ในการตัดสินใจ อาจจะใช้รัฐสภา ใช้ระบบขุนนาง ให้ประชาธิปไตยตัวแทน ประชาธิปไตยทางตรง หรืออะไรก็แล้วแต่”

                    “งั้นถ้าพวกเขาตกลงเลือกการตั้งรัฐสภาและใช้หลักเสียงข้างมากในตอนแรก หรือตั้งองค์รัฐาธิปัตย์ผู้เผด็จการขึ้นมา แล้วเขาอยู่ฝั่งเสียข้างน้อยผู้เสียประโยชน์ หรือได้รับผลเสียจากการทำงานขององค์รัฐาธิปัตย์ล่ะ”

                    “ตราบเท่าที่มันอยู่ในขอบเขตของอำนาจที่เขาได้รับจากที่คนในสังคมทั้งหมดเห็นพ้องกัน และไม่ผิดกฎหมาย ผู้เสียประโยชน์จากการกระทำของผู้ปกครองจะต้องยอมรับผลนั้น เพราะมันเป็นผลต่อเนื่องจากที่เขายอมรับไปแล้ว จนกว่าจะครบวาระตำแหน่งของผู้ปกครองที่เขากำหนดไว้ในตอนแรก อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองรุกล้ำเข้ามามากกว่าอำนาจที่เขาได้รับไปเขาก็จะกลายเป็นผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมจะต้องถูกปลด ไม่เช่นนั้นรัฐก็จะแตกสลายในรูปแบบเดียวกันกับการมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม”

                    “เช่นนั้นอันตรายมาก” นักเดินทางกล่าว “จะทำเช่นไรเพื่อไม่ให้เกิดการล่มสลายของรัฐในรูปแบบนั้น”

                    “ต้องมีกลไกตรวจสอบ กระบวนการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม และเมื่อเกิดผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมขึ้นจริงๆ กลไกนี้ต้องปลดผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมออกไปก่อนที่เขาจะทำให้รัฐล่มสลาย”

                    “ถ้าให้เดา นายคงจะกำหนดรูปแบบกลไกตรวจสอบจากสิ่งที่เห็นพ้องกันของคนในทุกสังคมอีกล่ะสิ” หญิงสาวกล่าว

                    “ใช่ เรื่องนี้สำคัญมาก หากกระบวนการไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตรวจสอบอย่างยุติธรรมแต่เป็นไปเพื่อให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้ขัดขวางกลุ่มอื่น การปกครองจะล่มสลายหรือไม่ก็ไม่อาจปลดผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมได้ สุดท้ายแล้วรัฐก็จะล่มสลาย ดังนั้นผู้คนในทุกสังคมจึงควรกำหนดมันอย่างระมัดระวัง ไม่ควรมอบไปให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเก็บมันไว้ใกล้มือของตน”

              “ขณะนี้เราจึงได้เขตแดนของรัฐที่เป็นส่วนรวมของสังคมแต่ละสังคม จำเป็นไหมว่าสังคมนั้นต้องเล็กกว่ารัฐ และแต่ละรัฐมีหลายสังคม แต่สังคมหนึ่งๆ ไม่สามารถอยู่ในหลายรัฐได้” นักเดินทางถาม

              “ไม่จำเป็น” ชายหนุ่มตอบ “เราคุยกันไปแล้วว่าวัฒนธรรมของสังคมนั้นกระจายกันออกไปตามการติดต่อแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดระหว่างกันและกัน ดังนั้นวงของมันจึงซ้อนทับกัน และไม่อาจหาขอบเขตที่แน่นอนได้ ในรัฐอาจจะมีสังคมหลายสังคมอยู่ร่วมกัน เขตแดนของรัฐอาจจะแบ่งสังคมออกเป็นหลายสังคมก็ได้”

                    “หมายความว่ารัฐในฐานะรัฐชาติก็สมควรถูกปฏิเสธงั้นเหรอ” หญิงสาวถาม

                    “รัฐไม่ควรที่จะเป็นชาตินิยมสุดโต่ง การบังคับให้ทุกคนในรัฐคิดแบบวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งนั้นเป็นการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อย่างที่เรากล่าวไปแล้ว เขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อเขามีกำลังมากพอที่จะทำให้สังคมอื่นๆ หายไปหมดเหลือเพียงสังคมของเขา หากรัฐคิดเช่นนี้ สงครามก็จะไม่มีทางจบสิ้น”

                    “แล้วแบบนี้นายจะใช้อะไรเป็นแกนเพื่อยึดรัฐไว้ไม่ให้แตกออกจากกันล่ะ”

                    “จากที่เราคุยกันแต่แรกแต่ละสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยความต้องการความปลอดภัย และเพื่อรักษาเสรีภาพในทรัพย์สินและการทำตามครรลอง ตามธรรมคุณ ตามจรรยาธรรมของตัวเอง ด้วยสิ่งนี้จะทำให้รัฐเหนียวแน่นในระดับหนึ่ง อีกเรื่องคือทรัพยากรซึ่งเราสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรในแต่ละพื้นที่มาใช้ร่วมกันได้โดยไม่ต้องแย่งชิงจากการรวมเข้าด้วยกัน และถ้าเธอต้องการความเป็นอัตลักษณ์ก็คงจะหาจุดร่วมของทุกสังคมแล้วนำมันมาเป็นอัตลักษณ์ของรัฐ หรือไม่ก็สร้างสิ่งอื่นขึ้นมา”

                    “อืม”

                    “จริงๆ พอมาถึงตรงนี้ เราต้องย้อนกลับไปย้ำจุดประสงค์ของรัฐใหม่อีกครั้ง ในตอนแรกเราคุยกันว่ารัฐเกิดมาจากการตกลงของสังคมเพื่อระงับความขัดแย้งของคนในแต่ละสังคม เพื่อให้แต่ละสังคมใช้กันได้ รัฐไม่ได้ตั้งอยู่เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าให้เร็วกว่ารัฐอื่น เข้มแข็งมั่นคงกว่ารัฐอื่น รัฐควรจะเป็นเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในทุกๆ สังคม ไม่ใช่ว่าคนเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐ

    รัฐในสมัยใหม่เปลี่ยนตัวเองเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ และทำให้คนเป็นเพียงฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรนั้น นั่นไม่ใช่รัฐอย่างที่ควรจะเป็น หากผู้คนในรัฐจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่สงคราม หากเขาต้องเอาชีวิตของตัวเองไปต่อสู้ ก็ควรจะเป็นไปเพื่อรักษาความเป็นเสรีที่จะทำตามธรรมคุณหรือจรรยาธรรมที่ได้รับมาจากสังคมของเขา เขาจะต่อสู้เพื่อคนเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสังคม เพื่อกฎหมายที่ปกป้องสิ่งเหล่านั้น มิใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของรัฐ... เนื่องด้วยรัฐทำให้เขาปลอดภัย ทำให้เขาสามารถทำตามธรรมคุณของตน เนื่องด้วยรัฐมีกฎหมายที่เป็นธรรม มีผู้ปกครองเป็นธรรม มีการตัดสินตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยที่ผู้ในสังคมทีสิทธิ์ตรวจสอบระบบทั้งมวลของรัฐ ผู้คนในทุกสังคมจึงรักในรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องมีความเป็นชาตินิยม โฆษณาชวนเชื่อ หรือล้างสมองเลย”

                    เจ้าพูดได้ดี!” นักเดินทางเอ่ยขึ้น “ข้าขอสรุปเพิ่มเติมคำพูดของเจ้า ข้าคิดว่าในโลกนั้นมีแนวโน้มของการเกิดรัฐอยู่สองลักษณะหนึ่งคือรัฐที่ขยายตัวเองออกไป สองคือรูปแบบของรัฐที่กระจายตัวเองออก

    รูปแบบแรกคือรัฐที่พยายามขยายอิธิพลความยิ่งใหญ่ของตนออกไป กลืนกินรัฐอื่น ลบล้างความแตกต่างและครอบงำให้สังคมอื่นคิดเหมือนตน ใช้ความพยายามไปกับการกลืนรัฐอื่น และควบคุมไม่ให้เกิดความแตกต่าง การขยายของรูปแบบนี้เป็นเหมือนฟองสบู่ที่พยายามขยายขนาดของตัวเองให้ใหญ่ขึ้น ในที่สุดแล้วรัฐจะพบกับความขลุกขลักของขนาดของมัน ผู้ปกครองที่ส่วนกลางจะพบกับความไม่แน่นอนที่ไม่อาจคาดเดา เขาไม่อาจทำนายผลที่เกิดการเคลื่อนไหวที่ไหลออกไปได้ เมื่อใดที่เขาคิดว่าระบบมีระเบียบเสร็จ มันก็จะเริ่มไร้ระเบียบทันที กระแสภายนอก และการแตกสลายที่เกิดจากขนาดของมันเอง

    แบบที่สองเป็นเหมือนฟองสบู่ขนาดเล็กที่มาเกาะกลุ่มอยู่ร่วมกัน ดูแลได้ทั่วถึง มันสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว และสามารถเคลื่อนไปตามวิถีของการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะทำนายได้ ทว่าขาดความยิ่งใหญ่ในการพัฒนา ไม่อาจระดมทรัพยากรจากรัฐอื่นในกลุ่มเพื่อพัฒนาเร่งขึ้นเฉพาะจุดได้ และยากที่จะตัดสินใจทำอะไรใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากฟองอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน

    อย่างไรก็ตามการพัฒนาของกระบวนการสารสนเทศช่วยแก้ไขปัญหาของรัฐทั้งสองแบบได้ มันลดความอุ้ยอ้ายของระบบรัฐแบบแรก แต่ก็ทำให้การแยกฟองใหญ่เป็นส่วนย่อยและเชื่อมกลับระหว่างฟองเล็กๆ ง่ายขึ้น

    รัฐชาติของโลกเรานั้นพัฒนารัฐไปในรูปแบบที่หนึ่ง ส่วนรัฐในรูปแบบที่เจ้าเสนอนั้นเป็นแบบที่สอง”

    นักเดินทางจิบกาแฟและกล่าวต่อไป

    “ตอนนี้เราก็จะได้รัฐสำหรับให้สังคมที่แตกต่างกันอยู่รวมกันแล้ว จริงอยู่ว่าสังคมภายในรัฐได้กำหนดรัฐขึ้นมาและมีกฎหมายร่วมกันของรัฐ จึงลดความขัดแย้งระหว่างสังคมภายในรัฐและทำให้พวกเขาสามารถคุยกันโดยไม่ต้องระแวงกันได้แล้ว แต่เราก็ต้องยอมรับว่ากำแพงที่อิงอยู่ในเขตแดนของรัฐที่ขึ้นอยู่กับเขตแดนอย่างชัดเจนนั้นแข็งมากเมื่อเทียบกับขอบวงอ่อนๆ ของเขตวัฒนธรรมของสังคม”

                    ครับ

                    เมื่อเรามองในมุมที่สูงขึ้นไป เราจะพบว่าโลกนี้มีรัฐเป็นร้อยรัฐ และสังคมเป็นร้อยเป็นพันสังคม เราคงจะไม่ประหลาดใจเลยถ้ารัฐเหล่านั้นจะมีธรรมคุณ จรรยาธรรมที่ไม่ตรงกัน หากแต่ละรัฐมีความขัดแย้งกันอีกเราจะทำอย่างไร เจ้าจะตัดสินยังไงว่าความถูกต้องของรัฐไหนเป็นความถูกต้องที่ถูกกว่ากัน

                    อยู่วิธีหนึ่งคือการสร้างกฎหมายรวมของแต่ละรัฐ และสร้างรัฐบาลโลกขึ้นมาด้วยวิธีเดียวกับการตกลงของสังคม นักศึกษาตอบ

                    ทว่าในการสร้างรัฐจากสังคมนั้น เมื่อสังคมปฏิเสธกฎหมายเพราะเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม สังคมยังมีสิทธิ์แยกออกเป็นรัฐใหม่ แต่รัฐบาลโลกนั้นจำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว กฎหมายแบบไหนกันที่จะเป็นธรรมกับทุกรัฐบนโลก ผู้ปกครองเช่นไรกันถึงจะเป็นธรรมกับทุกรัฐ การตัดสินรูปแบบไหนถึงจะเป็นที่พอใจแก่ทุกคน การตรวจสอบเช่นไรถึงจะไม่ทำให้ระบบโลกล่มสลาย อำนาจในรูปแบบไหนที่จะแผ่ขยายเขตการบังคับกฎหมายไปทุกหนทุกแห่งของโลก

              ไม่มีใครตอบได้

                    อาจจะมีกฎพื้นฐานเช่นเรื่องของการฆ่าคน ข้าจะยินดีถ้ามีกฎหมายเช่นนั้นขึ้น แต่ฟังข้าก่อน ในทัศนของข้านั้น ยังมีการปกครองวิธีหนึ่ง นั่นคือการใช้กฎหมายที่มิได้ร่าง ใช้ผู้ปกครองที่ไม่มีอยู่ ใช้ระบบการปกครองไม่ปกครอง และอำนาจที่ไม่แสดงอำนาจเท่านั้น จึงจะเป็นธรรมและดำเนินอยู่ในโลกได้

              หมายความว่ายังไงคะ หญิงสาวถาม

                    พอเรามองออกมากว้างขนาดนี้แล้ว เมื่อเรามองย้อนกลับไปยังมุมมองของมนุษย์ตัวเล็กๆ เมื่อเรามองจากจุดจุดหนึ่งที่เรายืนอยู่แล้ว เราย่อมมองเห็นว่าผู้อื่นนั้นผิดจากเรา ทว่าเมื่อเราสามารถเข้าใจและมองจากจุดของเขาได้เราจะไม่โทษว่าเขาเป็นฝ่ายผิดอีกต่อไปแล้ว

                    หมายความว่าเมื่อปัญหาเกิดจากความถูกผิดที่ไม่เหมือนกัน เมื่อเราทำความเข้าใจความถูกผิดของคนอื่นได้จะไม่เกิดความขัดแย้งงั้นเหรอ”

    “ความขัดแย้งอาจจะมีอยู่ แต่ทุกคนจะเข้าใจและยอมรับมันได้”

    “แล้วความเข้าใจนี้จะเกิดขึ้นได้ยังไงครับ”

                    ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่องกระดานใช่ไหม วิธีที่ง่ายมากคือการเข้าไปยืนในกระดานของเขา แล้วคิดจากสิ่งที่เขียนอยู่ในกระดานของเขา มนุษย์จะต้องเข้าใจว่าตนเองนั้นกำลังมองกระดานของตนเองอยู่ และเขาก็จะรู้ว่ายังมีกระดานอื่นๆ อยู่อีก เมื่อใดที่เขาเริ่มมองออกจากวงวัฒนธรรมของตน และเริ่มจดสิ่งที่อยู่ในกระดานของวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามา และทำความเข้าใจมัน”

                    “จะทำแบบนั้นได้ยังไง”

                    “เรื่องนี้ย่อมเกิดจากการพัฒนาช้าๆ เราพูดถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในสังคมเริ่มแรกไปแล้ว เราอาจพบกว่าขีดจำกัดมันขึ้นอยู่กับขอบเขตที่การเล่าเรื่องไปถึง อาจจะขึ้นอยู่กับการเดินทาง หรือภาษา ทว่าปรากฎการที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์กำลังทำให้เกิดเรื่องมหัศจรรย์”

              “ยังไงครับ”

    “โลกาภิวัตน์ทำให้วงกลมของทุกสังคมสัมผัสกันโดยไม่ขึ้นอยู่กับพื้นที่และการเดินทาง วัฒนธรรมเกิดการถ่ายโอนกันตลอดเวลาทุกมุมโลก เส้นวงของวัฒนธรรมก็จะจางลง เส้นแบ่งของรัฐก็จะอ่อนลง ในที่สุดแล้วมันก็จะทลายกำแพงของภาษา เมื่อนั้นมนุษย์จะสามารถมองไปยังกระดานแผ่นไหนก็ได้ และสามารถอ่านข้อความในนั้นเข้าใจทั้งหมด เมื่อนั้นเขาจะประหลาดใจในความหลากหลายของโลก เขาจะสัมผัสได้ถึงความเปราะบางของจารีตธรรมของตน เขาจะมองย้อนกลับขึ้นไปยัง จรรยาธรรม มนุษยธรรม และธรรมคุณ และเมื่อนั้นเขาจะสัมผัสถึงกระแสของโลกทั้งหมด เขาจะเข้าในว่าสิ่งที่เขาคิดมันผิดเท่าๆ กับสิ่งที่ผู้อื่นคิด เขาจะเห็นความแตกต่างของรัฐ ความต่างกันของสังคมและความแตกต่างของมนุษย์ เขาจะสัมผัสได้ว่าตนเองเป็นหนึ่งให้มนุษย์ทั้งมวล เป็นแค่หนึ่งในความแตกต่างทั้งมวลแต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ไม่เหมือนใครดังนั้นเขาจะเข้าใจว่ามนุษย์นั้นเหมือนกันด้วยเหตุที่ทุกคนต่างแตกต่างกันหมด พวกเราล้วนต่างกันเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครโดดเดี่ยวหรือขาดความเป็นหนึ่งเดียว ความหลากหลายและแตกต่างนี้จึงกลืนกันเป็นหนึ่งเดียว มันปะทะ ประสาน ทำลาย ก่อกำเนิด ทั้งหมดนี้ทำให้โลกเคลื่อนไปตามทาง โดยที่มีเราเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโลกทั้งใบ เมื่อเขาเห็นดังนี้แล้ว มนุษย์จะมองมนุษย์โดยความเข้าใจและไม่อาจบอกได้ว่าเขาเป็นคนถูก ส่วนอีกคนผิด ด้วยเหตุนี้โลกแห่งความแตกต่างที่ไม่มีการตัดสินซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น โลกจะเคลื่อนไปตามธรรมวิธี โดยยอมรับรัฐที่เป็นรัฐ สังคมที่เป็นสังคม และมนุษย์ที่เป็นมนุษย์”

              นักเดินทางยกแก้วกาแฟขึ้นดื่ม ไม่มีใครเอ่ยอะไร นักศึกษาและหญิงสาวไม่ทราบว่าควรจะเอ่ยอะไรดี

                    พวกเขาเหม่อมองออกไปยังทิวทัศน์รอบๆ ลมหนาวโบกกิ่งไม้ไหวไปมา ใบไม้สองสามใบร่วงจากต้น แมวตัวหนึ่งนอนหมอบอยู่ บ้านเรือนถูกสร้างขึ้นแทนหลังเดิมที่ผุพังไป พระอาทิตย์ค่อยๆ คล้อยต่ำลงช้าๆ

                    นักเดินทางยิ้มให้ทั้งสองคน “ข้าต้องไปแล้ว ขอบคุณสำหรับกาแฟแก้วนี้”

                    หญิงสาวส่ายหัว “ไม่หรอกค่ะ หนูเลี้ยงเอง นายไม่ต้องจ่ายนะ” เธอหันไปบอกชายหนุ่ม

              นักเดินทางสะพายเป้ขึ้นหลัง เป้บางเหมือนไม่มีอะไรใส่อยู่ภายใน

                    “ท่านจะไปที่ไหนต่อครับ”

                    นักเดินทางไม่ตอบ เขายิ้มให้จางๆ ใบมือให้ แล้วเดินจากไป

                    ทั้งสองมองตามเขาจนหายไปลับตา ชายหนุ่มจึงเริ่มอ่านหนังสืออีกครั้ง หญิงสาวเก็บแก้วกาแฟ

                    “นายคิดว่าหากโลกแบบนั้นเกิดขึ้นจริงมันจะจบลงตรงไหน” จู่ๆ หญิงสาวก็ถามขึ้น

                    ชายหนุ่มเงยหน้าขึ้นจากหนังสือ ครุ่นคิด “ไม่รู้สิ”

                    “เมื่อที่มนุษย์ต่างดาวมาไง”

                    “หา?

                    หญิงสาวหัวเราะ “นายคิดว่ามนุษย์ต่างดาวจะยอมตกลงสร้างรัฐกับเราอีกไหม”

                    “ไม่รู้สิ”

                    “นั่นสิเนอะ”

                    “อืมม นั่นสิ” ชายหนุ่มก้มลงอ่านหนังสือ

                    “ถ้ามนุษย์ต่างดาวโผล่มาหนังสือที่นายอ่านก็ไม่จำเป็นแล้วล่ะ”

                    “ใครจะไปรู้เขาอาจจะสนใจสิ่งที่เขียนอยู่ในกระดานของเราก็ได้”

                    หญิงสาวหัวเราะ เธอมองไปยังทางที่นักเดินทางเดินจากไปเมื่อครู่ ปลายฟ้าตรงนั้นตะวันกำลังจะลับไป

                    “มีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกเยอะเลยเนอะ”

                    “ใช่ เวลาชั่วนิรันดร์ก็ไม่พอหรอก”

                    “แต่เขาก็ยังชอบที่จะเดินทางใช่ไหมล่ะ”

                    “อืมม”

                    “นายอยากเห็นไหม กระดานที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลกน่ะ”

                    “อืมม เธอล่ะ”

                    หญิงสาวยิ้ม “คงไม่ได้คิดจะชวนว่าไปด้วยกันเถอะใช่ไหม”

                    ชายหนุ่มยิ้มแหยงๆ

                    หญิงสาวยกถ้วยกาแฟทั้งหมดเก็บเข้าไปหลังร้าน

                    พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว

     

                                    หย่งเล่อ

    23 ตุลาคม 2552

    บรรณานุกรม

    จินดา จินตนเสรี (แปล). สัญญาประชาคม. ชมรมแสงธรรม. ศิริพรการพิมพ์. กรุงเทพฯ : 2522

    เชษฐบุรุษ (แปลและเรียบเรียง). เอกลักษณ์ของสุภาพบุรุษจากคำสอนของของเมธีของจื๊อและเม่งจื๊อ. สำนักพิมพ์บัตเตอร์ฟราย. กรุงเทพ: 2531

    ทองกร โภคธรรม (แปล).  ร่างกายใต้บงการ ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. กรุงเทพฯ : 2547

    ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ (แปลและเรียบเรียง). กลยุทธ์หานเฟย. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา. โสภณการพิมพ์. นนทบุรี : 2551

    ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ (แปล). คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ. สร้างสรรค์บุ๊คส์. อุสาการพิมพ์. กรุงเทพฯ : 2547

    ปรีชา ช้างขวัญยืน (แปล). อุดมรัฐ. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : 2523

    มานพ อุดมเดช (แปล). มรรควิธีจางจื๊อ : ก้าวผ่านบนทางคู่. (พิมพ์ครั้งที่2). สำนักพิมพ์แสงแดด. บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด. กรุงเทพฯ : 2530

    รอฮีม ปรามาส. The World Is Flat: ใครว่าโลกกลม. สำนักพิมพ์วีเลิร์น. กรุงเทพ : 2549

    ละเอียด ศิลาน้อย (แปลและเรียบเรียง). สร้างชีวิตและสังคมตามหลักคำสอนของขงจื้อ. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์. กรุงเทพฯ : ม.ป.ป.

    วิภาวรรณ ตุวยานนท์ (แปล). เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : 2528

    ศักดิ์รวี (แปลและเรียบเรียง). คัมภีร์จอมคนหานเฟยจื่อ. ประดู่ลาย. เจริญวิทย์การพิมพ์. กรุงเทพฯ : 2536

    โทมุที ปวัตนา (แปล). วิถีแห่งประมุขของหานเฟยจื่อ. สำนักพิมพ์สมิต. บริสัท เอดิสัน เพรส โปรดักส์ จำกัด. นนทบุรี : 2537

    ศัลก์ ศาลยาชีวิน (แปลและเรียบเรียง). อิกิงสังสารคัมภีร์. ประพันธ์สาส์น. บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจำกัด. กรุงเทพฯ : 2540

    สัญญา เจริญวีรกุล (แปล). นิเวศรัฐ นิยายที่เสนอสังคมใหม่ที่เป็นไปได้ในปี 1999. สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง. มปพ. : 1987

    สุวรรณา สถาอานันท์ (แปล). ขงจื่อสนทนา. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : 2551

    เสนห์ จามริก (แปล). ความคิดทางการเมือง จากเปลโต้ถึงปัจจุบัน. (พิมพ์ครั้งที่4). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : 2522

    อธิคม สวัสดีญาณ (แปลและเรียบเรียง). ฉางต่วนจิง คำภีร์แห่งการยืดหยุ่นพลิกแพลงประยุกต์.สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. กรุงเทพฯ : 2540

    John Locke. The Second Treatise of Civil Government. 1690. http://www.constitution.org/jl/2ndtreat.txt
    Thomas Hobbes. LEVIATHAN. 1651. http://www.constitution.org/th/leviatha.txt
    老子. 道德經. http://www.sanching.org.tw/book/book1.htm


    [1] (ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ แปล.2547) 

    [2] มนุษย์นั้นเลวร้าย อ่อนแอ มีสิทธิ์ในทุกสิ่งรวมทั้งสิทธิ์ที่จะฆ่าผู้อื่น ทุกคนจึงอยู่ในสภาวะสงครามระหว่างกันและกัน

    [3] หมายถึงสำนักความคิดของ โทมัส ฮอป, จอห์น ล็อก, มงเตสกิเออ, ฌ็อง-ฌ้ากส์, รุสโซ ข้าพเจ้าคิดว่าเหล่านักคิดคงจะใช้ สภาวธรรมชาติเป็นการอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น เพื่อให้เห็นเหตุผลของการมีสัญญาประชาคมเท่านั้น มิได้จงใจทำนายถึงสภาพก่อนสังคมบุพกาลแต่อย่างใด ขอผู้อ่านโปรดพิจารณา

    [4] (จินดา จินตนเสรี แปล).2522

    [5] ข้าพเจ้าอ้างจาก ฉางต่วนจิน เจ้าหยุ่นเขียน ฉบับที่ อธิคม สวัสดิญาณแปล ทว่าเปลี่ยนการแปลคำ  ต้าว () เป็น ธรรมวิธี เต๋อ () เป็น ธรรมคุณ เหยิน ()เป็น มนุษยธรรม อี้ () เป็นจรรยาธรรม หลี่ () เป็นจารีตธรรม  ตามการแปลต้าวเต๋อจิงของปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ซึ่งผู้เขียนเปรียบเทียบกับการแปลของท่านอื่นๆ เช่น สุวรรณา สถาอานันท์ หรือ ส. ศิวรักษ์ แล้วเห็นว่าใกล้เคียงกัน และชัดเจนที่สุด เพื่อให้เป็นคำไทยคำเดียวกันตลอดทั้งงาน “นามอันอาจขนานเรียกได้ มิใช่นามอันยั่งยืน” ขอผู้อ่านโปรดพิจารณา

    [6] (ปรีชา ช้างขวัญยืน แปล. 2523)

    [7] General will ในที่นี้ข้าพเจ้าใช้คำว่า “เจตนารมณ์สากล” แทน “เจตนารมณ์ทั่วไป”

    [8] คุณธรรม virtue ตามความหมายของสำนักเพลโต ข้าพเจ้าใช้ให้ต่างจาก ธรรมคุณ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×