ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~+...เทพนิยาย...ประวัติศาสตร์...+~

    ลำดับตอนที่ #41 : Elizabeth I อลิสาเบธ1(เยอะมาก น่าสนใจด้วย)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.96K
      5
      23 ก.ย. 50

    เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์สวรรคตในปีค.ศ.1547 พระองค์ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมอย่างชัดเจนว่า ทรงโปรดฯ ให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสพระองค์เดียว ซึ่งถือกำเนิดจากพระนางเจน ซีมอร์ สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระองค์ ส่วนพระราชธิดาแมรี่ และ อลิซาเบธ ถึงแม้จะเจริญพระชันษาว่าพระอนุชา แต่จะมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ก็ต่อเมื่อ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดไม่มีทายาทสายตรงมาสืบต่อเท่านั้น แต่แล้วพระราชธิดาพระองค์หนึ่งในสององค์ ซึ่งไม่ค่อยได้รับความเหลียวแลจากพระบิดานัก คือ เจ้าหญิงอลิซาเบธ หรือ พระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 กลับทรงพระปรีชาสามารถ ทรงนำพระราชอาณาจักรของพระองค์ ก้าวไปสู่ยุคทองอันรุ่งเรืองที่สุดสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ ทรงได้รับการยกย่องว่า เป็นจักรพรรดินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก

    เจ้าหญิงอลิซาเบธ ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับพระนางแอนน์ โบลีน พระมเหสีองค์ที่ 2 ประสูติเมื่อปี ค.ศ.1533 ที่กรีนวิช เมื่อแรกประสูติทรงทำความผิดหวังให้กับพระราชบิดาที่ไม่ได้ทรงประสูติมาเป็นชาย และเมื่อพระมารดาต้องราชทัณฑ์ถูกบั่นพระเศียรในโทษฐานคบชู้ ในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา ก็ถูกตราหน้าว่าเป็น "ลูกนอกสมรส"

    เป็นธรรมเนียมของราชสำนักอังกฤษที่พระราชโอรสและธิดาของกษัตริย์ จะถูกแยกออกมาเลี้ยงดูนอกราชสำนัก เจ้าหญิงแมรี่ (พระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับพระนางแคเธอรีนแห่งอารากอน) เจ้าหญิงอลิซาเบธ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด จึงถูกส่งมาประทับที่พระราชวังแฮธฟิลด์ ในมณฑลเฮียร์ฟอร์ดเชียร์

    ในปี ค.ศ.1543 เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางแคเธอรีน พาร์ พระมเหสีองค์ที่ 6 พระโอรส-ธิดาทั้ง 3 ก็ทรงถูกนำกลับเข้ามาประทับในราชสำนักตามพระประสงค์ของพระราชินีองค์ใหม่ ผู้ซึ่งมีพระเมตตา และทรงสรรหาอาจารย์ผู้ทรงความรู้ในแขนงต่างๆ มาสั่งสอนอบรมพระโอรส-ธิดาเลี้ยงอย่างเต็มที่ เจ้าหญิงอลิซาเบธทรงมีความสนใจในการศึกษาหาความรู้ต่างๆ ทรงโปรดการอ่านหนังสือมาก และทรงมีความสามารถในการพูดภาษาต่างประเทศหลายภาษา

    เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 สวรรคตลงในปี ค.ศ.1547 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษา การบริหารประเทศและอำนาจที่แท้จริงจึงตกอยู่กับสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ เอ็ดเวิร์ด ซีมอร์ ดยุคแห่งซอมเมอร์เซ็ต ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของพระองค์

    เมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่ เจ้าหญิงอลิซาเบธจึงต้องทรงย้ายไปประทับอยู่กับพระนางแคเธอรีน พาร์ พระมารดาเลี้ยง ณ พระราชวังที่เชลซี พระนางแคเธอรีน พาร์ ได้สมรสใหม่กับ ลอร์ดโทมัส ซีมอร์ สมุหราชนาวี น้องชายของดยุคแห่งซอมเมอร์เซ็ต ซึ่งมีความทะเยอทะยานหาโอกาสจะช่วงชิงราชบัลลังก์มาเป็นของตน โดยหันเหความสนใจมายังรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ลำดับที่ 2 คือเจ้าหญิงอลิซาเบธ จนเป็นที่ครหาอื้อฉาวในราชสำนัก และเมื่อพระนางแคเธอรีน พาร์ สิ้นพระชนม์ลงระหว่างการให้กำเนิดบุตรของลอร์ดโทมัส เขาถึงกับขอแต่งงานกับเจ้าหญิงอลิซาเบธทันที แต่เจ้าหญิงทรงปฏิเสธ ต่อมาไม่นานลอร์ดโทมัสก็ถูกจับและถูกประหารชีวิต ที่หอคอยกรุงลอนดอนในข้อหาขบถต่อแผ่นดิน

    ต่อมาดยุคแห่งซอมเมอร์เซ็ต ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ถูก เอ็ดมันด์ ดัดลีย์ ดยุคแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ผู้มีความใฝ่สูงทางการเมืองกำจัดพ้นจากตำแหน่ง เพราะปรารถนาจะสถาปนาตระกูลของตนให้ขึ้นมาทัดเทียมกับราชวงศ์ทิวดอร์แห่งอังกฤษ โดยจัดการให้กิลฟอร์ด ดัดลีย์ บุตรชายของตน สมรสกับ เลดี้เจน เกรย์ พระญาติสนิทของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ซึ่งมีสิทธิในราชบัลลังก์เหมือนกัน แต่อยู่ในลำดับที่ห่างออกไป

    และเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ซึ่งมีพระสุขภาพอ่อนแอก็เสด็จสวรรคตลงเมื่อมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา ดยุคแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ก็จัดการสั่งทหารในบังคับบัญชาของตนทำการล้อมวัง และสถาปนาเลดี้เจน เกรย์ ขึ้นเป็นราชินีแห่งอังกฤษในทันที โดยอ้างพินัยกรรมที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ทรงเขียนไว้ แต่เลดี้เจน เกรย์ ถูกอุปโลกน์ให้เป็นราชินีอยู่ได้เพียง 11 วัน ก็ถูกฝ่ายผู้สนับสนุนเจ้าหญิงแมรี่ พระราชธิดาองค์โตของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 องค์รัชทายาทที่มีสิทธิที่จะครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ในลำดับถัดไป แย่งชิงราชบัลลังก์กลับคืนมาได้ ดยุคแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ เลดี้เจน เกรย์ พร้อมกับพระสวามี ก็ถูกจับส่งไปคุมขัง ณ หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)

    เจ้าหญิงแมรี่เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็น พระราชินีแมรี่ที่ 1 ได้ไม่นาน ก็ทรงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเลดี้เจน เกรย์ ราชินีผู้ไร้บัลลังก์ ซึ่งขณะนั้นเลดี้เจน เกรย์ มีพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น การกระทำที่เหี้ยมโหดของพระราชินีแมรี่ เป็นที่เลื่องลือต่อมาอีกหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 4 ปีแห่งการครองราชย์ ผู้คนกว่า 300 คนทั้งหญิงและชาย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต จะถูกเผาทั้งเป็นตามคำสั่งของพระนาง จนทรงได้รับสมญานามว่า "แมรี่ผู้กระหายเลือด" (Bloody Mary)

    เนื่องจากพระราชินีแมรี่ทรงมีสายเลือดสเปนอยู่ครึ่งหนึ่ง (ทรงเป็นหลานยายของพระนางอิซาเบลลาแห่งสเปน) และทรงนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอย่างเคร่งครัด (ในขณะที่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์) และมีพระประสงค์จะนำประเทศอังกฤษ ไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระสันตะปาปาที่กรุงโรมอีกครั้ง ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่พอใจ และยิ่งทรงประกาศพระราชประสงค์จะอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 กษัตริย์สเปนอันเป็นพระญาติข้างพระราชมารดาของพระนาง ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนชาวอังกฤษซึ่งเวลานั้นมีความรู้สึกชาตินิยมอย่างสูง พวกเขาไม่ต้องการเห็นเจ้าต่างเมืองมาเป็นใหญ่ในราชบัลลังก์อังกฤษ

    บรรดาประชาชนชาวอังกฤษ รวมถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากจึงหันคาวมจงรักภักดีมายังเจ้าหญิงอลิซาเบธ ซึ่งบัดนี้คือองค์รัชทายาทอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากจะทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดแล้ว ยังทรงมีสายเลือดเป็นอังกฤษเต็มพระองค์ และเมื่อพระราชินีแมรี่ทรงเสกสมรสกับพระเจ้าฟิลิปโดยไม่ฟังคำทักท้วงของผู้ใด การต่อต้านพระนางจึงเกิดลุกฮือขึ้นในมณฑลเคนท์ โดยผู้ทำการก่อกบฏและผู้สนับสนุนปรารถนาจะให้เจ้าหญิงอลิซาเบธขึ้นครองราชย์แทน แต่การก่อกบฏล้มเหลว หัวหน้ากบฏคือ โทมัส ไวแอตต์ และผู้สนับสนุนทั้งหมดถูกจับ เจ้าหญิงอลิซาเบธถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการลุกฮือครั้งนี้ด้วย ทรงถูกส่งไปกักตัวไว้ ณ หอคอยแห่งลอนดอน

    การสืบสวนหาสาเหตุไม่ปรากฏว่าเจ้าหญิงอลิซาเบธมีส่วนรู้เห็นด้วย พระราชินีแมรี่จึงทรงมีพระบัญชาให้ปล่อยตัวจากที่คุมขัง และส่งเจ้าหญิงอลิซาเบธไปประทับที่วังวู๊ดสต็อก ในมณฑลออกซ์ฟอร์ดเชียร์ ซึ่งตลอดระยะทางที่เจ้าหญิงทรงเสด็จไปยังวังในชนบท บรรดาประชาชนต่างพากันเฝ้าแหนรับเสด็จอยู่ตลอดทาง ทำให้เจ้าหญิงทรงปลาบปลื้มยิ่งนัก

    นับวันการปฏิบัติพระองค์ในฐานะพระราชินีแห่งอังกฤษของพระราชินีแมรี่ยิ่งสร้างความคับแค้นใจให้กับชาวอังกฤษ นับตั้งแต่ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 และนำเอาราชอาณาจักรอังกฤษไปไว้ใต้อิทธิพลแห่งสเปน ในรัชสมัยของพระองค์อังกฤษต้องเข้าร่วมในการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสเพื่อผลประโยชน์ของสเปน การค้ากับต่างประเทศของอังกฤษก็ต้องถูกระงับไปหากไปขัดกับนโยบายของสเปน แม้กระทั่งการแสวงหาอาณานิคมหรือการสร้างอำนาจทางกองทัพเรือก็ต้องแล้วแต่ความเหน็ชอบของพระราชาสเปน ทำให้บรรดาขุนนางและคนอังกฤษทุกคนต่างคับแค้นใจที่พวกเขามีความรู้สึกว่า ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนไปเสียแล้ว

    และหลังจากที่ทรงครองราชสมบัติมานาน 4 ปี ท่ามกลางความยุ่งเหยิงและตกต่ำของประเทศอังกฤษ พระราชินีแมรี่ที่ 1 ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ในปี ค.ศ.1558 โดยไม่ทรงมีรัชทายาทสายตรง ราชบัลลังก์จึงตกอยู่กับเจ้าหญิงอลิซาเบธ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 25 พรรษา

    พระราชภารกิจแรกที่พระราชินีอลิซาเบธทรงกระทำคือ การตั้งคณะเสนาบดีซึ่งจะทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาในด้านต่างๆ ทางด้านศาสนาทรงให้ประชาชนมีอิสระในการนับถือศาสนา ส่วนพระองค์เองทรงดำรงตำแหน่งเป็น "ประมุขทางฝ่ายศาสนา" โดยมิได้ระบุว่าเป็นนิกายใด ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ดำเนินการทางด้านต่างประเทศด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเชี่ยวชาญหลายภาษา นอกจากนั้นยังทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาชน มักจะทรงเสด็จออกตรวจแถวทหารก่อนออกรบ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งมีว่า

    "เราตัดสินใจมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกท่าน ยอมหมอบราบลงคลุกฝุ่นในสนามรบเพื่อพระเป็นเจ้า เพื่อราชอาณาจักร เพื่อประชาชน เพื่อเกียรติยศ เพื่อราชสกุลของเรา เราสำนึกตัวดีว่าเรามีร่างกายอ่อนแอตามวิสัยสตรี แต่เราก็มีหัวใจของพระมหากษัตริย์ และเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษอีกด้วย"

    "เราเป็นราชินีไม่ใช่กษัตริย์ที่ลุ่มหลงแต่ในอิสริยยศที่จะได้มาจากการชนะสงคราม เราเป็นแม่ของประชาชนพลเมือง เราก็หวังอย่างที่แม่จะพึงหวังให้ลูก นั่นคือการอยู่ดีมีความสุขตามอัตภาพ"

    พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ได้ทรงพิสูจน์ให้ประชาชนของพระองค์ได้เห็นแล้วว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ รัชสมัยของพระองค์คือยุคทองอันรุ่งโรจน์สมัยหนึ่งของอังกฤษ ทรงสร้างให้อังกฤษเป็นมหาอำนาจทางทะเล โดยสามารถเอาชนะกองทัพเรืออาร์มาดาแห่งสเปน ซึ่งเป็นเจ้าแห่งมหาสมุทรในขณะนั้นลงได้ในปี ค.ศ.1588 โดยการนำทัพของ เซอร์ ฟรานซิส เดรค

    จากชัยชนะเหนือสเปน มหาอำนาจทางทะเลเดิม ทำให้อังกฤษสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล และกลายมาเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในเวลาต่อมา ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่มาจากการวางรากฐากของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ราชินีผู้ซึ่งแม้ราชาในสมัยเดียวกันยังต้องก้มศีรษะให้ในพระปรีชาสามารถ

    แต่การครองราชย์ของพระองค์นั้นใช่ว่าจะราบรื่น เพราะในปี ค.ศ.1586 แผนการลอบปลงพระชนม์พระราชินีอลิซาเบธก็ถูกเปิดเผยขึ้น โดยพัวพันไปถึงพระนางแมรี่ สจ๊วต ซึ่งทรงเป็นหลานของพระนางมาการ์เร็ต พระพี่นางของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระบิดาของพระราชินีอลิซาเบธ ซึ่งทรงลี้ภัยทางการเมืองจากสก๊อตแลนด์มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 พระญาติที่ทรงคิดลอบปลงพระชนม์ พระนางแมรี่แห่งสก๊อตแลนด์ จึงถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการตัดพระเศียร ณ ปราสาทโฟเธอริงเกย์ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1587

    พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ.1603 ในขณะที่มีพระชนมายุ 70 พรรษา โดยทรงรักษาความเป็นโสดไว้จนถึงบั้นปลายของชีวิต

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×