เทศกาลตรุษจีน
      ขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวจีนในประเทศจีน เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่สุดเทศกาลหนึ่ง เทศกาลตรุษจีน หรือชุนเจี๋ย (Chunjie) ยังเรียกว่า กั้วเหนียน (Guonian) หรือ เหนียนเจี๋ย (Nianjie) สมัยก่อนผู้คนยังเรียกว่า เจิ้งต้าน (Zhengdan) เจิ้งจาว (Zhengzhao) ซินเจิ้ง (Xinzheng)หยวนฉวน(Yuanchuan) หยวนยื่อ (Yuanri) หยวนซั่ว (Yuanshuo) และซั่วยื่อ (Shuori) เป็นต้น หลังการปฏิวัติ รัฐบาลจีนจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติ ให้เรียกเป็น วันตรุษจีน (Chunjie) อย่างเป็นทางการคำว่า เหนียน (Nian) ในระยะแรกหมายถึงความเจริญงอกงามของพืชพันธ์ธัญญาหาร ในหนังสือซัวเหวิน หมวดเหอ ( Shuowen hebu) กล่าวว่า : “เหนียน ,กู่สูเหย่” (Nian : gushuye แปลว่า เหนียน, ข้าวที่สุกแล้ว) ตัวอักษรที่แกะสลักบนกระดูกสัตว์และ กระ ดองเต่า    “เหนียน” คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมา “เหนียน” ก็คือ วันที่เตรียมฉลองความอุดมสมบูรณ์ล่วงหน้า นานวันเข้าวันตรุษจีนก็กลายเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่ง ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีนมาก ประวัติการฉลองเทศกาลตรุษจีนมีมานานแล้ว รูปแบบมีมากมาย และยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ ในหนังสือ ซือจิง (Shijing) บันทึกเอาไว้ว่า การฉลองปีใหม่ในสมัยโบราณ ชาวนาจะดื่มเหล้า “ชุนจิ่ว” (Chunjiu) อวยพร “ก่ายซุ่ย” (Gaisui) สนุกสนานกันอย่างเต็มที่ ในสมัยราชวงศ์จิ้น (Jin)ได้เพิ่มเติมการจุดประทัดเข้ามาด้วยโดยการนำไม่ไผ่ใส่ในกองไฟที่ลุกโชน ก็จะเกิดเสียงระเบิดเปรี๊ยะปละขึ้นมา เป็นการแต่งแต้มสีสันให้กับเทศกาลอีกชนิดหนึ่ง บรรยากาศการเฉลิมฉลองรูปแบบประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายพันปีแล้ว
การทำความสะอาด
      “วันที่ 24 เดือนสิบสอง ปัดฝุ่นเช็ดถูบ้านเรือน”นี่คือสุภาษิตประโยคหนึ่งที่ทำสืบทอดกันมา ในคืนก่อนวันส่งท้ายปีเก่า ทุกบ้านจะต้องทำความสะอาดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ทาสีฝาผนังบ้าน พับเก็บและซักที่หลับที่นอนเพื่อการฉลองที่สะอาดสดใส ทำไมต้อง “ปัดฝุ่นเช็ดถูบ้านเรือน” มีเทพนิยายที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เง็กเซียนฮ่องเต้ได้ส่งเทพสามองค์ลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อสังเกตการณ์ พอถึงปลายปีเทพทั้งสามองค์นี้ก็จะไปรายงานต่อเง็กเซียนฮ่องเต้เพื่อจะเอาความดีความชอบ เทพทั้งสามองค์นี้ก็รายงานว่า “มนุษย์ชั่วช้าหยาบคาย และพาล ชอบพูดเสียดแทงคนอื่น แม้แต่ตัวเง็กเซียนเองก็ไม่อยู่ในสายตา” เง็กเซียนฮ่องเต้ได้ฟังดังนั้นก็โกรธมาก สั่งให้เทพทั้งสามเขียนชื่อแซ่ของคนที่ด่าว่าพระองค์ลงบนฝาผนังของบ้าน รอจนถึงวันที่ 30 ของเดือนสิบสองเง็กเซียนฮ่องเต้ก็ให้องครักษ์สวรรค์ ลงมาจุติบนโลกเพื่อจับผู้ที่ด่าว่าพระองค์ไปลงโทษ และให้เทพทั้งสามองค์นั้นอยู่สังเกตการณ์ต่อไป หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ให้รายงานทันที ทั้งยังได้ยกย่องชมเชยเทพทั้งสามองค์ว่าทำได้ดีมาก เทพเจ้าแห่งเตาไฟผู้มีจิตใจดีงามพอรู้เรื่องนี้เข้าก็รู้สึกกระวนกระวายและพยายามหาวิธีช่วยคนไม่มีความผิดเหล่านี้ แต่ก็ไม่อาจกระทำการใดล่วงเกินต่อองค์เง็กเซียนได้ คิดอยู่นานหลายวันจึงได้วิธีโดยการสั่งให้มนุษย์ เมื่อถึงวันที่ 24 เดือนสิบสองให้ทุกบ้านทาสีผนังบ้านเสียใหม่ให้สะอาด และบอกกับผู้คนว่ามีเพียงวิธีนี้เท่านั้นที่จะหลบหลีกภัยพิบัตอันใหญ่หลวงนี้ได้ ดังนั้นผู้คนก็ทำตาม ในวันที่ 30 เดือนสิบสององครักษ์สวรรค์ ก็ลงมาจุติบนโลกมนุษย์สำรวจรายชื่อบนฝาผนังทุกบ้าน แต่ก็หาไม่พบร่องรอยอะไรเลยซักนิด ดังนั้นจึงกลับไปด้วยความโกรธแค้น แล้วรายงานต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ตามความเป็นจริง เง็กเซียนฮ่องเต้ว่าเทพทั้งสามหลอกลวงพระองค์ ความผิดของเทพทั้งสามนี้คือ ถูกจับขังในนรกขุมที่สิบแปดสาปให้เทพเหล่านี้ไม่มีอิสระตลอดไป ตั้งแต่นั้นมาทุกวันที่ 24 เดือนสิบสองจึงกลายเป็นประเพณีของการทำความสะอาด
การติดภาพวาด (Nianhua)
        ภาพวาดนี้คือศิลปะการวาดภาพอย่างหนึ่งที่ผู้คนชื่นชอบและนิยมที่จะนำไปติดที่บ้านในเทศกาลตรุษจีน มีรูปแบบมากมาย หัวข้อหลากหลายพอถึงเทศกาลตรุษจีนทุกๆบ้านทั้งในและนอกก็จะประดับประดาไปด้วยภาฑวาดนี้ มีคำส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ความหมายคือกำจัดสิ่งอัปมงคลหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย ภาพวาดนี้มีแหล่งกำเนิดมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณกาลมีวิวัฒนาการมาจากภาพวาดเทพเฝ้าประตู , ในสมัยราชวงศ์ใต้(Nanchao)  ผู้คนนำเอารูป เสินทู๋ (Shentu) และ ยวี้เหล่ย (Yulei) 2 พี่น้องนำมาติดที่ประตูเพื่อกำจัดภัยและให้มีความโชคดี พอถึง สมัยถัง(Tang) ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นรูป ฉินซูป่าว (Qinshubao) และยวี้ชือ (Yuchi) สองนายทัพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนิทานเรื่อง “จงขุยจับผี” (Zhongkuidagui) ดังนั้นหลายท้องถิ่นก็มีการนำเอารูปจงขุย มาติดไว้ที่ประตู เพื่อรักษาประตูบ้าน เล่ากันมาว่า จงขุย (Zhongkui) เป็นบุคคลที่กล้าหาญซื่อตรงมีคุณธรรม มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาดื่มเหล้าจนเมามายเดินโซเซเข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง เขาเห็นบรรดาพระภิกษุกำลังสวดมนต์ให้แก่วิญญาณ ตู้พิง(Duping) เพื่อนของเขา จงขุยรู้สึกโกรธมาก จงขุยเลยขึ้นไปทุบตีบรรดาพระทั้งหลาย และพูดด้วยความเดือดดาลว่า” มนุษย์มีชีวิตในโลก สุขทุกข์อยู่ที่สวรรค์ ทำไมต้องมาอ้อนวอนให้ภูติผีมาปกป้องรักษา?  ถ้าหากว่าทั้งเทพทั้งผีเข้ามาครอบเงาชะตาชีวิตของเราแล้วนั้นนั่นก็คือสิ่งที่ให้ภัยมนุษย์ ควรที่จะฆ่าและนำมาเป็นอาหารซะ” เมื่อภูติผีได้ฟังดังนั้นแล้วก็โกรธมาก  คิดที่จะขึ้นไปทำร้ายจงขุย  แต่จงขุยมีพลังมาก ผีจึงไม่สามารถเข้าใกล้ได้ ก็ได้แต่ไปหา  เจ้าแม่กวนอิม(Guanyindashi) เพื่อฟ้องร้องเรื่องของจงขุย เจ้าแม่กวนอิม ได้ฟังคำพูดโกหกของผีแล้วก็ตัดสินโดยให้จงขุยอายุขัยสั้นลง ในระหว่างทางที่จงขุยไปงานที่ ฉางอัน (Chang’an) ได้พบกับผีที่ดุร้ายรุมล้อมทรมาณจนใบหน้าของเขาเสียโฉมน่าเกลียด ต่อมาจงขุยสอบได้ที่ 1 ของตำแหน่งบัณฑิต ในเมือง  เป็นเพราะหน้าตาของเขาอัปลักษณ์ จงขุยจึงไม่ได้รับการแต่งตั้ง จงขุยคับแค้นใจจนตายไปในที่สุด หลังจากที่เขาตายไปแล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้ก็เห็นใจเขา ก็เลยให้จงขุยจอมทัพปราบมาร นำทหาร 3,000 คน  ปราบผีมารร้ายในมวลมนุษย์ ได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากปวงชน
อยู่ส่งท้ายปีเก่า
        ในคืนวันที่ 30 สมัยก่อนเรียกว่า วันส่งท้ายปีเก่า ในคืนวันส่งท้ายปีเก่านั้นผู้คนต่างก็กลับมาบ้าน “คนในบ้านจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ไม่หลับไม่นอนเพื่อรอรับวันใหม่” จากหนังสือตงจิงเมิ่งฮวาลู่ (Dongjingmenghualu) ตามชนบทจะมีการต้อนรับปีใหม่กันอย่างคึกคักผู้ใหญ่จะเล่านิทานให้เด็กๆฟัง บ้างก็เล่าเรื่องขำขันให้ฟัง คนในรุ่นราวคราวเดียวกันก็จะคุยกันในเรื่องอดีตที่ผ่านมา และคิดเตรียมโครงการใหม่ในอนาคต ทุกคนก็สรวลเสเฮฮากันจนกระทั่งรุ่งเช้า วันเก่าผ่านไป วันใหม่เข้ามา ในคืนวันส่งท้ายปีเก่านี้ กวีก็แต่งกลอนให้เห็นภาพที่เกิดภาพอารมณ์จินตนาการเขียนเป็นนโคลงกลอนจำนวนมาก
การจุดประทัด
        การจุดประทัดเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความยิ่งใหญ่ของเทศกาลตรุษจีน การจุดประทัดจะเริ่มตั้งแต่วันส่งท้ายปีเก่าเป็นต้นไป เสียงประทัดจะดังอย่างยาวเหยียดไม่มีหยุดสะเทือนหูจนแทบจะหูหนวก ที่นี่ดังที่โน่นหยุด  ทุกบ้านจุด ทุกคนจุด ไม่ได้พักหู เป็นการเพิ่มความเข้มข้นความสนุกสนานและสีสันของเทศกาล ประทัดยังมีชื่อเรียกว่า “ป้าวจู๋”(Baozhu) และ “ป้าวจ้าง”(baozhang) การจุดประทัดเพื่อฉลองปีใหม่ ในประวัติศาสตร์มีมากกว่า 2,000 ปี คนที่เดินทางมักจะใช้ไม่ไผ่จุดเป็นไต้ เพื่อให้แสงสว่าง หลังจากจุดจะเกิดเสียงดังเพราะไม้ไผ่แตกก็คือที่มาของชื่อเรียก”ประทัด” แต่ทำไมต้องจุดประทัดล่ะ ในหนังสือ จิ่งฉู่ซุ่ยสือจี้ (Jingchusuishiji) กล่าวกันว่าวันที่ 1 เดือนหนึ่งคือวันปีใหม่ พอสว่างขึ้นมา บ้านที่ไม่มีชายฉกรรจ์ ใช้ไม้ไผ่ในการปกป้องครอบครัวจากปีศาจร้ายเรื่องเล่านี้มีมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ถัง มีบางท้องถิ่นแห้งแล้งติดต่อกันทั้งปี เกิดอหิวาตกโรคขึ้น มีคนคนหนึ่งชื่อ หลีเถียน (Litian) นำไม้ไผ่ลำเล็กๆมาบรรจุสารบางชนิด เข้าไปข้างในแล้วเผาทำให้เกิดเสียงดัง ควันที่เกิดจากการระเบิดนี้ขึ้นไปขับไล่ไอน้ำพิษบนภูเขา ทำให้โรคอหิวาตกโรคลดลง นี่ก็คือ ประทัดสมัยแรกๆ พอมาถึงสมัยราชวงศ์ ซ่ง (Song) ประทัดก็ทำมาจากดินปืนปล้องไม้ไผ่ก็เปลี่ยนมาใช้กระดาษทำขึ้นแทน ทั้งยังมีประทัดชนิดพวงติดกัน
การอวยพรปีใหม่
เทศกาลที่สนุกสนาน ผู้คนจะพากันอวยพรแด่อาวุโสก่อน หลังจากนั้นก็อวยพรปีใหม่ญาติมิตรเพื่อนฝูงในหนังสือ หลานเทียนหลูฉงลู๋(Lantianluchonglu) ที่ ฉายเอ้อเป็นผู้แต่ง(Cai’e) กล่าวไว้ว่า”ชายหญิงอาศัยโอกาสนี้อวยพรซึ่งกันและกัน ผู้ปกครองจูงเด็กไปพบญาติพี่น้อง หรือไม่ก็ส่งให้ลูกหลานไปอวยพรแทน”  การอวยพรปีใหม่ที่กล่าวถึงมาสามารถพบได้ในประเทศจีน ปัจจุบันยังทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีอวยพรปีใหม่ มีการเล่าสืบต่อกันมาดังนี้ ในสมัยโบราณนานมาแล้ว มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง หัวแหลมเป็นมุม ปากเหมือนอ่างที่เต็มไปด้วยเลือด คนเรียกมันว่า “เหนียน”(Nian) ทุกครั้งมันจะมาในคืนวันส่งท้ายปีเก่า มันจะวิ่งพล่านออกมาจากป่าลึก สังหารสิ่งมีชีวิต ถ้าหากมันยังกินไม่อิ่มมันจะร้องเสียงแหลมเย็นยะเยือกเป็นเวลานาน ไม่ยอมไปไหน ดังนั้นผู้คนจึงเตรียมอาหารประเภทเนื้อวางไว้ที่หน้าประตู หลังจากนั้นก็ปิดประตูใหญ่นอนอยู่ในบ้าน พอถึงวันที่ 1 ตอนเช้าตัวเหนียนกินอาหารอิ่มและกลับไปแล้ว ผู้คนเปิดประตูมาพบกันต่างก็แสดงความยินดี อวยพรซึ่งกันและกันที่ปลอดภัยจากตัวเหนียน กระแสของการอวยพรปีใหม่มาจากตรงนี้นี่เอง การอวยพรปีใหม่ เป็นการแสดงความยินดีอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการสืบทอดความคิดของผู้คนและเป็นวิธีการเชื่อมสัมพันธไมตรีอย่างหนึ่ง เนื่องจากการเคาะประตูเพื่ออวยพรปีใหม่เป็นการสิ้นเปลืองทั้งกำลังและเวลา ในยุคสังคมศักดินา บรรดาชนชั้นปกครองใช้สมุดเซ็นชื่อด้วยภู่กันอวยพรแก่กัน ตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ชิง ก็ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ วันปีใหม่ตาม คริสตศักราชก็คือวันคริสต์มาส ก็มีการส่งบัตรอวยพรแก่กันบัตรอวยพรสมัยนี้มีมากมายหลายประเภท การพิมพ์ การออกแบบ เทคนิคต่างๆก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื้อหาก็มีการพัฒนาทั้งแบบเรียบง่ายและแบบใช้ศิลปะในการพิมพ์อักษรและการวาดภาพคำกลอนที่ไพเราะงดงาม ตลอดจนของขวัญเล็กๆน้อยๆ ปัจจุบันรูปแบบของบัตรอวยพรยิ่งเพิ่มมากขึ้น การพิมพ์ก็ยิ่งงดงามประณีต วิธีการทำก็มีการพัฒนายิ่งขึ้น  นอกจากการอวยพรปีใหม่แล้วยังมีการบันทึกชื่อบุคคล กลอนปรัชญา เพื่อใช้ประโยชน์ด้านเผยแพร่ความรู้อีกด้วย
ระบำสิงโต
        หรือที่เรียกว่า เชิดสิงโต ก็เป็นกิจกรรมในเทศกาลตรุษจีนอีกอย่างหนึ่ง สามารถถือได้ว่า เป็นการละเล่นของชาวจีนอีกอย่างหนึ่ง  รูปแบบของการเชิดสิงโตมีมากมาย ในประเทศจีนมี การเชิดสิงโตแบบภาคเหนือ  และ การเชิดสิงโตแบบภาคใต้  การเชิดสิงโตภาคเหนือ  มีการเล่ากันว่า ในสมัยราชวงศ์เว่ย ชาวเผ่า หู (Hu) ได้นำมาเผยแพร่ในจีนแผ่นดินใหญ่ จักรพรรดิเว่ยอู่ตี้ (Wei wudi) นำมาเผยแพร่เปลี่ยนแปลงแล้วเรียกชื่อใหม่ว่า สิงโตศิริมงคลเว่ยเหนือ  สิงโตภาคเหนือตลอดทั้งตัวจะคลุมด้วยหนังสิงโต ยกเว้นขาทั้งสองข้างของคนเชิดสิงโตเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสิงโตจริงแล้วมีส่วนคล้ายกันอยู่ ได้แก่ทีการแบ่งตัวผู้ ตัวเมีย สิงโตที่โตเต็มที่  การล่อสิงโตขณะเชิดจะมีทหารองครักษ์หนึ่งคน มือถือลูกกลมๆที่ถักขึ้น ล่อสิงโตให้เต้นตาม สิงโตของทางใต้มีขึ้นเมื่อสมัยราชวงศ์เหนือใต้(Nanbei chao) แพร่หลายที่ มณฑลกว่างตง(Guangdong) หรือ กวางต้ง สมัยก่อนเรียกว่า  สิงโตกวางต้ง สิงโตกวางตุ้งมีคนเชิดหัว 1 คน เชิดหาง 1 คน คนเชิดสวมกางเกงทรงโคมไฟ ส่วนบนสวมชุดซ่อนกระดุม ในสมัยราชวงศ์ถัง จะสวมเสื้อกล้าม เพราะเหตุใดคนถึงชอบการเชิดสิงโตมีหลักฐานอ้างว่าในสมัยต้นราชวงศ์หมิง ที่เขตภูเขาฟ๋อซาน มณฑลกวางต้ง ปรากฏมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ทุกครั้งเมื่อปีเก่าจะสิ้นสุด ก็จะออกจากฟ๋อซานมาแย่งชิงอาหารและกัดกินผู้คนจนผู้คนไม่สามารถทนต่อไปได้ ประกอบกับรู้สึกว่า สิงโตเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย เลยนำเอาไม้ไผ่มาถักเลียนแบบตัวสิงโต จำนวนพอสมควร แล้วนำสีมาทาให้คล้ายสิงโตจริง การทำสิงโตนี้เสร็จก่อนที่สัตว์ร้ายจะออกมา เมื่อเสียงฆ้องกลองประโคมขึ้น สิงโตก็จะเต้นอย่างฮึกเหิม แล้วเข้าล้อมเจ้าสัตว์ร้าย มันตกใจจนรนราน วิ่งหนีอุตลุด หลังจากนั้นมา  ผู้คนก็รับเอาสิงโตเป็นสิ่งไล่เสนียดจัญไร ทั้งยังเป็นสิ่งสิริมงคลอีกด้วย เทศกาลปีใหม่ทุกปีก็มีการเชิดสิงโตอวยพรปีใหม่ กลายเป็นประเพณีการเชิดสิงโตในเทศกาลตรุษจีน ปัจจุบันการเชิดสิงโตในเทศกาลตรุษจีนไม่เพียงแต่มี  ศิริมงคล เจริญรุ่งเรืองเท่านั้น  แทนความแข็งแกร่งขององค์จักรพรรดิ  แต่ยังพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของสาธารณประชาชนจีนอีกด้วย
การเล่นมังกรไฟ
        อาจเรียกว่า “ระบำมังกรไฟ” หรือ “การเล่นมังกร” ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งมีการแสดงที่เห็นได้บ่อย ๆได้แก่ ”มังกรตัวเดียวล่อแก้ว” และ “มังกรล่อแก้ว” สองประเภท ตัวมังกรจะมีปล้อง แต่ละปล้องห่างกันประมาณ 5 นิ้ว ในการสร้างตัวมังกรมักจะให้จำนวนปล้องเป็นเลขคี่ นัย ตามังกรมีไฟจุดอยู่เรียกว่า “มังกรไฟ” ถ้าไม่จุดไฟเรียกว่า “มังกรผ้า” วิธีการเล่นมังกรของแต่ละท้องทีไม่เหมือนกันต่างก็มีวิธีการเล่นของตัวเอง แต่จะมีจุดหนึ่งที่จะต้องทำตามข้อกำหนด คือการแสดงจะต้องก้าวเท้าสั้นและเร็ว การเล่นมังกรไฟในประเทศจีนมีประวัติมาช้านาน ในสมัยก่อนประชาชนนำเอามังกรมาแทนความเป็นสิริมงคล  และยอมรับว่ามังกรมีความเกี่ยวข้องกับฝนฟ้า  ก็เลยใช้การเล่นมังกรมาปกป้องคุ้มครองให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญพืชอุดมสมบูรณ์ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการปล่อยน้ำของมังกร ในยุคจ้านกั๋ว(Zhanguo) เป็นยุคที่แย่งกันเป็นใหญ่ใช้วิธีการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับศัตรูมีแม่โพสพ ตนหนึ่ง วันหนึ่งพบพญามังกรจึงพูดกับพญามังกรว่า “ ตามที่ข้าคำนวณดู  เร็ววันนี้ฝนตกในเมือง 36 ห่า นอกเมือง 48 ห่า “ พญามังกรต้องการแสดงความสามารถให้แม่โพสพเห็นและต้องการทำลายสิ่งที่แม่โพสพคำนวณไว้ขณะที่กำลังเรียกฝน  ก็ทำตามใจตนเองต้องการทำให้ฝนตกในเมือง 48ห่า  นอกเมือง 36 ห่า ทำให้ในเมืองเกิดน้ำท่วม มีคนจมน้ำตายเป็นอันมาก เรื่องนี้ทำให้เง็กเซียนโกรธมาก จึงตำหนิพญามังกร พญามังกรรู้สึกเสียใจอย่างมาก เพื่อที่จะไถ่ถอนความผิดของตน ในช่วงวันตรุษจีนพญามังกรก็จะไปเคาะประตูกล่าวขอโทษทีละบ้านเพื่อขออภัยพร้อมกับรับปากว่าในปีหน้าฝนจะตกต้องตามฤดูกาล จะเก็บเกี่ยวได้อย่างอุดมสมบูรณ์หลังจากนั้นผู้คนก็สร้างมังกรขึ้นมาเพื่อแสดงความมีน้ำใจของพญามังกรนานวันเข้าก็เลยกลายเป็นประเพณีเล่นมังกรไฟ
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น