รถไฟไทยเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน กิจการรถไฟมีประวัติเบื้องต้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นผ่านพิภพพื้นไผทสยาม สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้ถวายรถไฟจำลองเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นัยว่าเพื่อกระตุ้นให้พระองค์เริ่มต้นกิจการรถไฟในสยามประเทศ ทว่ากิจการรถไฟไทยเพิ่งเริ่มต้นเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจริญก้าวหน้ามานับแต่นั้น
          รถไฟไทยถือเป็นวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง การเดินทางด้วยรถไฟไทยแต่ละครั้งไม่ได้มีความหมายเพียงการเดินทางให้ถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่เรายังได้พบกับวิถีชีวิตริมทางที่หลากหลาย ทั้งเรือกสวนไร่นา การออกหาปลาตามคูคลองหรือคันนาที่ทางรถไฟทอดผ่าน ควา.ย เล็มหญ้าในนาข้าว กลิ่นเค็มของนาเกลือ กลิ่นปลาเค็มจากหมู่บ้านชาวประมง แม้กระทั่งผ่านภูมิประเทศที่ร้อนระอุแตกระแหงซึ่งเราไม่มีทางเห็นได้จากการเดินทางโดยเครื่องบิน ทางเรือ หรือทางหลวงแผ่นดิน
          รถไฟไทยเมื่อจอดแต่ละสถานี ผู้โดยสารจะได้ยินเสียงร้องเรียกให้ซื้อหาสินค้านานาชนิด ทั้งของกินทั่วไปประเภทไก่ทอด ไก่ย่าง หมูปิ้ง ข้าวราดแกง หรือขนมชนิดต่าง ๆ เช่น ซาลาเปา ขนมจีบ ขนมหวานไทย ๆ รวมไปถึงสินค้าพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้น ๆ แม้ราคาสูงไปบ้างแต่เป็นอัตราเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับการเดินทางไปซื้อเองถึงแหล่งผลิต
          การซื้อหาสินค้าจากผู้ขายที่สถานีรถไฟ ใช่ว่าสินค้านั้นจะด้อยคุณภาพเสมอไป โดยเฉพาะอาหารการกิน บ่อยครั้งอาหารที่ขายริมทางรถไฟมีรสชาติอร่อยและราคาถูกกว่าอาหารใน  ตู้เสบียง หากใครเดินทางด้วยรถไฟสายใต้บ่อย ๆ อาจรู้สึกว่าข้าวต้มริมทางจากสถานีหัวหิน อร่อยได้รสชาติกว่าอาหารในตู้เสบียง
          เรื่องอาหารในตู้เสบียงนี้ ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ลองลิ้มรสดูบ้าง ได้ข้าวผัดที่มาจากข้าวตังแข็ง ๆ ก้นหม้อ ๑ จาน แกงจืด ๑ ถ้วย (มีเนื้อหมู ๒ ชิ้น เศษผักเหลืออีก ๑ ช้อนโต๊ะ) น้ำเปล่า ๑ ขวดเล็ก เบ็ดเสร็จราคาอาหารมื้อนั้น ๙๗ บาท ผู้เขียนมีเงินติดตัวแค่ร้อยเดียว จึงเหลือเงินกลับบ้านเพียง ๓ บาท คิดเบ็ดเสร็จสะระตี่ต้นทุนอาหารมื้อนั้นไม่น่าจะเกิน ๑๐ บาท ทำให้นึกเสียดายที่ไม่ซื้อข้าวผัดกระเพราริมสถานีกล่องละ ๑๐ บาท
          ช่วงหนึ่งเคยมีกระแสข่าวเปรย ๆ มาว่าจะจัดระเบียบสินค้าสถานีรถไฟเสียใหม่ โดยไม่ให้เดินเร่ขายตามหน้าต่างรถไฟ หรือขึ้นไปเร่ขายบนรถไฟอีก นัยว่าอับอายขายขี้หน้าชาวต่างประเทศ แต่จะให้คนขายนั่งนิ่ง ๆ รอให้ผู้ซื้อกระวีกระวาดตาลีตาเหลือกวิ่งลงมาซื้อเอง หากท่านผู้มีปัญญาลองตรองดูจะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโดยมากถ้าไม่ใช่สถานีชุมทางใหญ่ ๆ รถไฟมักจอดแค่นาทีสองนาที ใครที่ไหนจะซื้อทัน พ่อค้าแม่ขายไม่มีวันขายได้
แต่การปล่อยให้ขายอย่างเดิม ถึงขนาดรถไฟกำลังเคลื่อนขบวนออกไป พ่อค้าแก่ ๆ คนหนึ่งยังอุตส่าห์วิ่งตามรถไฟเพื่อทอนเงินให้ลูกค้า ผมยังจำภาพนั้นได้ติดตา
          การค้าริมทางรถไฟจึงเป็นวิถีชีวิตและทางเลือกหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนดี เลือดลมเดินสะดวก ไม่เป็นตะคริวเหมือนให้พ่อค้าแม่ขายนั่งเป็นตุ๊กตาอยู่ที่แผง
          รถไฟไทยยังมีเรื่องเล่าน่ารักน่าเอ็นดูอยู่เรื่องหนึ่ง เหตุเกิดที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี เนื่องจากจังหวัดนี้มีอาณาเขตกว้างขวาง เป็นจังหวัดฝั่งตะวันออกติดอ่าวไทยก็จริงแหล่ แต่ทว่าเบื้องตะวันตกสุดของจังหวัดนี้เกือบจะถึงทะเลอันดามันอยู่แล้ว การเดินทางข้ามอำเภออาจใช้เวลากว่าชั่วโมง ดังนั้น การรถไฟจึงจัดขบวนรถไฟสายคีรีรัฐนิคม-สุราษฎร์ธานี-คีรีรัฐนิคม (วิ่งระหว่างสถานีสุราษฎร์ธานีและอำเภอคีรีรัฐนิคม) รถไฟสายนี้เป็นขบวนรถไฟธรรมดา (เก้าอี้ไม้ Sexy ไปอีกแบบ) จอดทุกสถานี ความพิเศษไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่อยู่ที่..
         
รถไฟขบวนนี้โบกขึ้นเอาได้ตามรายทาง
          ริมทางรถไฟนี่แหละ ใครใคร่ขึ้นที่ไหน โบกเอาได้เลย พนักงานขับรถไฟท่านก็ใจดีจอดให้เหมือนกัน เป็นความน่ารักน่าเอ็นดู และแสดงอัธยาศัยไมตรีระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ    นัยว่าเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์ครองเมือง ท่านชอบโบกเพื่อปล้นรถไฟเป็นงานอดิเรก
         
ถ้าไม่จอด
ถูกยิง !!!
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย