ภาษาอังกฤษกับภาษาไทยมีข้อแตกต่างกันหลายประการ ประการที่อยากจะกล่าวถึงในที่นี้คือการใช้คำเรียก สัตว์ สิ่งของ ภาษาไทยเมื่อกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้จะใช้คำว่า “มัน” ไปแทบทั้งสิ้น แต่ภาษาอังกฤษจะใช้คำระบุเพศ เช่น him,her เมื่อกล่าวถึงสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นแมว หมา (พูดให้ไพเราะสักนิดได้ว่า วิฬาร สุนัข) ขอยกตัวอย่างเมื่อ Anna พบกับ Mike แล้วพูดคุยกันเรื่องหมาของ Mike
Anna :  This food for your dog ?
Mike : Yes, this food for him, Nikky, he enjoy eatting soooooooo much.
เราจะเห็นว่าเมื่อ Mike พูดถึง Nikky หมาตัวผู้ของเขา เขาใช้คำว่า him และ he ซึ่งเมื่อแปลตรงตัวจะได้เป็น “เขา” นี่เพราะภาษาอังกฤษมีธรรมชาติใช้คำระบุเพศเป็นปกติ และความคิดของ “ฝรั่ง” มีอยู่ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นมิตรของมนุษย์
หากแต่ธรรมเนียมวิถีไทยนั้น เราจะใช้คำว่า “มัน” เมื่อพูดถึง สัตว์ สิ่งของ ถ้าจะระบุเพศก็ใช้คำว่า “ตัวผู้” หรือ “ตัวเมีย” ตามลักษณะที่ปรากฏ ดังนั้น หากชูใจพบวีระแล้วพูดกันเรื่อง “เจ้าแก่” ประโยคและคำที่ใช้พูดต้องเปลี่ยนเป็น..
ชูใจ : นี่อาหารของเจ้าแก่หรือจ๊ะ ?
วีระ : ใช่จ้ะ นี่เป็นอาหารเสริมของมันจ้ะ เดี๋ยวนี้เจ้าแก่มันตะกละมากเลยนะ กินทั้งวันเลย
นี่เพราะคนไทยเห็นสัตว์เลี้ยงเป็น “สัตว์” เลี้ยง
ไม่ใช่เพื่อนเล่น
(แต่ส่วนใหญ่คนไทยเมตตาสัตว์มากกว่าฝรั่ง หมาจรจัดเราก็ไม่ยิงทิ้งแม้มีโรคพิษสุนัขบ้า ในขณะที่เมืองฝรั่งเขายิงทิ้งทันที)
เดี๋ยวนี้คนไทยไปเรียนเมืองนอกเมืองนากันมากขึ้น เวลาจะพูดจะจาอะไรก็ต้องภาษาไทย (ไม่ชัด) ๑ คำ แล้วมีภาษาอังกฤษ (ชัดมากกกกกกกกกกกกกกก) แทรกราว ๆ ๑๐ คำ แม้กระทั่งคำเรียกหรือ “วัฒนธรรมการใช้ภาษา” เป็นอันลอกเลียนฝรั่งมาทั้งนั้น ลองสังเกตจากรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ ดูก็ได้ ไม่ว่าพูดถึงช้าง ม้า วัว ควาย แมว หมา ปลาดาว แม้กระทั่งของไม่มีชีวิตเช่น ไฟ หรือพืชผักสวนครัวต่าง ๆ
ผู้เขียนเคยดูรายการเกมโชว์ทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง รายการนั้นได้เชิญเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้มาแสดงวิธีการดับเพลิง และแนะนำประชาชนเรื่องการปฏิบัติตนหากเกิดไฟไหม้ รวมไปถึงได้นำชุดผจญเพลิงมาแสดงด้วย เจ้าหน้าที่คนนั้นอะไรก็ดีไปเสียทุกอย่าง แต่มีสิ่งน่ารำคาญอยู่อย่างหนึ่งคือทุกครั้งที่พูดถึงไฟ จะต้องกล่าวว่า “เค้า” ทุกครั้งไป เช่น “ไม่ใส่ชุดนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะเค้าร้อนมาก” หรือ “เวลาเค้าไหม้ขึ้นมา ก็แล้วแต่เชื้อเพลิงว่าเป็นเชื้อให้เค้าได้ดีแค่ไหน” แหม
มีความรักใคร่เอ็นดูกระทั่งไฟที่ลุกโหมขึ้นมาก่อความเสียหาย
บางรายการที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เกี่ยวกับสัตว์ ขอยกตัวอย่างสัก ๒-๓ รายการ (ไม่ต้องเอ่ยชื่อรายการกันหรอก เพราะยังออกอากาศกันทั้งนั้น)
รายการ ๑ พิธีกรสาวสวมชุดประดาน้ำลงไปดูปลาดาว แล้วพูดว่า “ดูเค้าซิคะ เค้าน่ารักมากเลยค่ะ สีสันเค้าสดสวยมากเลยค่ะ”
รายการที่ ๒ “วาฬตัวนั้นโกรธเป็นอย่างมาก เมื่อลูกสาวของเค้าถูกทำร้าย” (รายการที่ ๒ นี่ฟังเผิน ๆ คิดว่าพูดถึงคนกันเลย เรียก “ตัวเมีย” ว่า “ลูกสาว” อีกต่างหาก แล้วคนไทยต้องเรียกปลาวาฬ ไม่ใช่ “วาฬ” เฉย ๆ) รายการที่ ๓ โฆษณาอาหารสัตว์ “
เห็นไหมครับ เมื่อเค้าทานอาหารของเรา เค้าแข็งแรงและมีสุขภาพดีขึ้นมาก
”
อะไรมันจะขนาดนั้นนนนนนนน เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งขณะเข้าไปร้านหนังสือกับผู้เขียน มีหมาตัวเล็ก ๆ มาเห่าผู้เขียน ผู้เขียนก็ไม่คิดอะไรมาก จนเพื่อนผู้หญิงเดินตามออกมาแล้วบอกว่า “เมื่อกี๊ผู้ชายเค้าหวงผู้หญิง
” ผู้เขียนก็สงสัยว่าผู้หญิงผู้ชายที่ไหนหว่า กว่าจะรู้เรื่องว่าพูดถึงหมา ผู้เขียนได้แต่ส่ายหัวด็อกแด็กเพราะรำคาญ “เค้า” เต็มที
ย้อนกลับมาละครโทรทัศน์กันอีกที เคยสังเกตไหมว่าเวลาพูดถึงคน บ่อยมากที่ใช้คำว่า “มัน” ในขณะที่เรียกสัตว์ว่า “เค้า” นี่แสดงว่ากำลังยกฐานะของสัตว์ให้เท่ากับคน (หรือดีกว่าคนด้วยซ้ำ) เลยต้องย้อนไปหาคำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งกล่าวว่า “
ฝรั่งเลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อนคนแก่เพื่อคลายเหงา แต่คนไทยเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน เอาง่าย ๆ ว่าเลี้ยงให้เป็นขี้ข้า ฐานะย่อมไม่เท่าคน ถ้าใครเรียกให้หมามีฐานะเท่าคนแล้ว เวลาโดนด่าว่า ‘ไอ้ชาติหมา’ ก็ไม่ควรโกรธ เพราะศักดิ์ศรีของหมาเท่ากับคน
”
เออ
เลยเดือดร้อนต้องหาคำด่าใหม่ ๆ เพราะคนสมัยนี้ด่าว่าไอ้ชาติหมาเขาไม่เจ็บกันแล้ว
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น