รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล - รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล นิยาย รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล : Dek-D.com - Writer

    รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล

    กลอนนี้หมายถึงอะไร ?

    ผู้เข้าชมรวม

    2,629

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    10

    ผู้เข้าชมรวม


    2.62K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    3
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  12 ก.ค. 46 / 14:37 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      แนวทางในการศึกษาของคนไทยแต่ไหนแต่ไรมา เป็นการศึกษาเรียนรู้แบบ “สังเคราะห์” นั่นคือคนไทยจะต้องมีความรู้ที่หลากหลาย ยามรบก็รบเป็น มีความรู้ทางพิชัยสงครามเป็นอย่างดี ยามสงบก็รู้จักทำไร่ไถนา ว่างจากทำไร่ไถนาให้มาตีเหล็กตีดาบ คนไทยก็ทำเป็นกันอีก

      ในพระราชสำนัก เสนาบดีแต่ละคนเมื่อถึงคราวสงครามก็สามารถออกบัญชาการรบได้ทุกคน ถึงคราวสงบก็ช่วยกันบริหารบ้านเมืองไปตามหน้าที่ เวลาพักผ่อนก็สามารถร่วมกันแต่งโคลงกลอนเพื่อความสนุกสนานกันได้ ว่าง ๆ พระมหากษัตริย์ก็มีพระบรมราชโองการให้แต่งหนังสือถวาย ก็แต่งกันได้อีก (คนแต่งกับคนบัญชาการรบ ก็คนเดียวกันนั่นเอง) เรียกได้ว่าทำหน้าที่ได้ดีทุกอย่าง ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย หากมีการพระราชกุศลนิมนต์พระเข้าวัง เสนาบดีก็สามารถตั้งกระทู้ปัญหาธรรมถามพระมหาเถระผู้นั้นได้ บางทีก็แต่งหนังสือธรรมะถวายพระมหากษัตริย์เสียเลย โดยแต่งในรูปแบบของวรรณคดีพระพุทธศาสนาซึ่งมีมากมายเหลือเกิน

      ถึงคราวสร้างวัดสร้างอาราม เสนาบดีและไพร่พลทั้งหลายก็มีความสามารถด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งทำงานแทนกันได้เมื่องานไหนขาดกำลังคน

      แหม… อย่างนี้เรียกได้ว่าระบบการศึกษาของไทยแต่เดิมนั้น คนไทยทำอะไรได้คุ้มค่าทีเดียว หากเราเอาถ้อยคำที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” มาเป็นมาตรฐาน ย่อมสามารถเรียกได้ว่าคนไทยแต่ก่อนเป็นคนที่มีค่ามาก เพราะคนคนเดียวสามารถมีผลงานดี ๆ ออกมามากมายหลายแขนง

      ปัจจุบันการศึกษาของไทยเป็นการศึกษาแบบ “ลืมตัว” คือ เราลืมไปว่าเรามีของดีอะไร เรามีแนวคิดอะไร เรามีความสามารถอะไร ตอนนี้แนวทางการศึกษาของไทยเป็นแบบฝรั่ง คือ เปลี่ยนแนวคิดการศึกษาเป็นแบบ “วิเคราะห์”

      การศึกษาแบบวิเคราะห์ คือ การศึกษาที่ “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว” จะไม่รู้เรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสายงานหรือแนวทางการศึกษาของตนเลย สมมติว่างาน ๑ ชิ้น มีกิจทั้งสิ้น ๑๐ อย่าง ฝรั่งก็จะใช้คน ๑๐ คนในการทำงาน ทุกคนมีความเชี่ยวชาญในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเป็นอย่างมาก แต่ทำงานในหน้าที่ของคนอื่นไม่เป็นเลย หากคนใดคนหนึ่งตายไป รับรองได้เลยว่างานนั้นต้องล่มทันที

      ตอนนี้ในเมืองไทยก็กำลังประสบปัญหาเดียวกัน ขอยกตัวอย่างวงการแพทย์ ปัจจุบันแพทย์ชอบเรียนต่อเฉพาะทางกันมากขึ้น มากจนกระทั่งรักษาโรคทั่วไปกันแทบไม่เป็น หมอกระดูกก็แทบจะรักษาเป็นแต่กระดูก หมอตาก็แทบจะรักษาเป็นแต่ตา ฯลฯ จนมีแพทย์บางคนต้องเปรย ๆ ว่าเราน่าจะปรับเปลี่ยนความคิดในการเรียนเฉพาะทางกันใหม่ ให้ทุกคนยินดีรักษาโรคทั่วไปกันด้วย

      ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีแต่วงการแพทย์ ผู้เขียนกลัวแพทย์จะน้อยใจก็ขอยกตัวอย่างวงการอักษรศาสตร์ด้วยก็แล้วกัน (เอาสาขาภาษาไทยดีกว่า) หากเรียนแค่ระดับปริญญาตรีรับรองว่าสอนได้ทุกวิชาที่เป็นหมวดภาษาไทย แต่ถ้าเรียนถึงระดับปริญญาโทก็จะสอนได้แค่สายภาษาศาสตร์ หรือวรรณคดี อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรียนถึงระดับปริญญาเอกก็จะยิ่งรู้ “เฉพาะ” เข้าไปอีก เช่น วรรณคดียุคใดยุคหนึ่ง หรือรู้เฉพาะโครงสร้างประโยค โครงสร้างคำกันไปเลย ถ้าอาจารย์ประจำวิชาไหนตายไป บางทีรหัสวิชานั้นถึงกับต้องปิดกันไปเลยก็มี

      ผู้เขียนหวนนึกถึงวิถีการศึกษาของไทยในอดีตที่เน้นการรู้กว้างมากกว่ารู้ลึก ด้วยแนวคิดของคนไทยแต่เดิมเป็นแบบนี้แหละ สุนทรภู่ถึงกล่าวว่า “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” อันหมายถึง “ถ้าหนู ๆ ทั้งหลายมีความรู้น้อย คือ รู้เพียงอย่างเดียวแล้วไซร้ ก็ขอให้รู้จริง ๆ จัง ๆ ไปเลยก็แล้วกัน เพราะยังช่วยให้เราทำมาหาเลี้ยงชีพได้”

      กลอนบาทนี้สะท้อนความคิด “ความรู้หลากหลาย” ของคนไทย ไม่ได้หมายถึงให้คนไทยรู้อะไรแค่อย่างเดียว เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะยังต้องประสบปัญหาอย่างปัจจุบันอยู่ร่ำไป





      สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
      ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×