ดาวหาง1 - ดาวหาง1 นิยาย ดาวหาง1 : Dek-D.com - Writer

    ดาวหาง1

    ความรู้ที่หาอ่านย่กน่ะค่ะ

    ผู้เข้าชมรวม

    830

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    830

    ความคิดเห็น


    5

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  28 ส.ค. 48 / 13:41 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ดาวหางลีเนียร์ (C/2002 T7 LINEAR)

      ดาวหางลีเนียร์ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ในโครงการลีเนียร์ (Lincoln Laboratory Near Earth Asteroid Research) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 มีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา (ภาคตัดกรวยชนิดหนึ่ง คล้ายวงรีที่มีความรีมากๆ) ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาดาวหางส่องสว่างด้วยโชติมาตร 6.5 (เกือบจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า) หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ดาวหางลีเนียร์มีตำแหน่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์จึงถูกบดบังโดยแสงสว่างจ้าของดวงอาทิตย์ แต่คาดว่าความสว่างของมันจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
      จากข้อมูลวงโคจรของดาวหาง คาดว่าคนในประเทศไทยจะมีโอกาสมองเห็นดาวหางลีเนียร์ทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ในช่วงตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์ ดาวหางลีเนียร์จะมีตำแหน่งอยู่ไม่สูงจากขอบฟ้ามากนัก ขณะเริ่มมองเห็นได้ในราวกลางเดือนเมษายน อาจมีโชติมาตรประมาณ 4-5 ซึ่งยังมองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า แต่สามารถมองเห็นได้ดีด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ หากรู้ตำแหน่งที่ดาวหางปรากฏ หลังจากนั้นความสว่างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 23 เมษายน ด้วยระยะห่าง 0.61 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 92 ล้านกิโลเมตร)
      นับจากกลางเดือนเมษายน เราจะเห็นดาวหางดวงนี้ในเวลาเช้ามืดต่อไปทุกวันจนถึงประมาณวันที่ 14 พฤษภาคม (วันนั้นดาวหางจะมีโชติมาตร 2-3) ตลอดระยะเวลาที่เห็นดาวหางลีเนียร์ปรากฏในเวลาเช้ามืดนี้ ดาวหางลีเนียร์จะอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มาก มองเห็นได้ลำบากสำหรับคนในเมืองใหญ่ หรือในสถานที่ๆ ท้องฟ้าด้านตะวันออกไม่เปิดโล่ง และควรส่องดูด้วยกล้องสองตา
      ดาวหางลีเนียร์จะเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 19 พฤษภาคม ด้วยระยะห่าง 0.266 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 40 ล้านกิโลเมตร) แต่เป็นเวลาที่ดาวหางมีตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์จึงมองไม่เห็น จากนั้นดาวหางลีเนียร์จะกลับมาปรากฏทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลาหัวค่ำตั้งแต่ประมาณวันที่ 21 พฤษภาคม เป็นต้นไป โดยจะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเข้าสู่กลุ่มดาวหมาใหญ่ ผ่านใกล้ดาวซีริอัสในวันที่ 22-23 พฤษภาคม ด้วยระยะห่างประมาณ 4-5o จึงมองเห็นได้พร้อมกันในกล้องสองตา (ดาวหางยังคงส่องสว่างด้วยโชติมาตรประมาณ 3) แล้วเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวท้ายเรือและกลุ่มดาวงูไฮดรา วันที่ 1 มิถุนายน ดาวหางจะมีโชติมาตรประมาณ 5 แล้วลดลงไปอยู่ที่ 7 ในวันที่ 10 มิถุนายน ขณะเข้าสู่เขตของกลุ่มดาวเซกซ์แทนต์ กล้องสองตาอาจสามารถติดตามดาวหางลีเนียร์ได้ต่อไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายน

      ตำแหน่งดาวหางลีเนียร์ (เทียบกับกลุ่มดาว) ระหว่างวันที่ 27 เม.ย - 14 พ.ค. 2547 เวลา 05.00 น. - ไฟล์ pdf สำหรับพิมพ์ คลิกที่นี่ (80 KB)


      ดาวหางลีเนียร์ (C/2002 T7 LINEAR) ในเวลาเช้ามืด (ทางทิศตะวันออก)
      วันที่ โชติมาตร* เวลาขึ้น มุมเงย
      ณ เวลา 5.00 น. กลุ่มดาว หมายเหตุ
      14 เม.ย. 4.7 4.32 น. 6o ปลา -
      16 เม.ย. 4.6 4.25 น. 8o ปลา -
      17 เม.ย. 4.5 4.21 น. 9o ปลา จันทร์เสี้ยว
      ผ่านมาทางขวามือ
      18 เม.ย. 4.4 4.17 น. 10o ปลา -
      22 เม.ย. 4.2 4.04 น. 13o ปลา เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
      ในวันที่ 23 เม.ย.
      26 เม.ย. 4.1 3.53 น. 16o ปลา -
      30 เม.ย. 3.9 3.45 น. 18o ปลา -
      5 พ.ค. 3.6 3.45 น. 18o ปลา ก่อนเช้ามืดวันนี้
      เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
      ทำให้สามารถมองเห็นดาวหาง
      และจันทรุปราคาได้พร้อมกัน
      10 พ.ค. 3.1 4.04 น. 13o ซีตัส -
      12 พ.ค. 3.0 4.22 น. 9o ซีตัส ดาวพุธอยู่ห่างมาทางซ้ายมือ
      13 พ.ค. 2.9 4.35 น. 5o ซีตัส -
      14 พ.ค. 2.7 4.51 น. 2o ซีตัส -


      ดาวหางลีเนียร์ (C/2002 T7 LINEAR) ในเวลาหัวค่ำ (ทางทิศตะวันตก)
      วันที่ โชติมาตร* เวลาตก มุมเงย
      ณ เวลา 19.30 น. กลุ่มดาว หมายเหตุ
      21 พ.ค. 2.8 20.01 น. 6o กระต่ายป่า วันนี้จะเห็นจันทร์เสี้ยว
      ใกล้ดาวศุกร์
      22 พ.ค. 3.0 20.30 น. 13o หมาใหญ่ ใกล้ดาวซีริอัส, ค่ำวันนี้
      ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวเสาร์
      และดาวอังคาร
      23 พ.ค. 3.2 20.56 น. 18o หมาใหญ่ ใกล้ดาวซีริอัส
      24 พ.ค. 3.4 21.17 น. 23o หมาใหญ่ -
      25 พ.ค. 3.7 21.35 น. 27o ท้ายเรือ ใกล้กระจุกดาวเปิดเอ็ม 46 และเอ็ม 47
      26 พ.ค. 3.9 21.49 น. 30o ท้ายเรือ -
      28 พ.ค. 4.4 22.10 น. 35o งูไฮดรา -
      1 มิ.ย. 5.2 22.31 น. 41o งูไฮดรา -
      5 มิ.ย. 5.9 22.38 น. 43o งูไฮดรา ใกล้ดาวฤกษ์โชติมาตร 2
      9 มิ.ย. 6.6 22.38 น. 43o งูไฮดรา -

      * ประมาณจากความสว่างของดาวหางที่วัดได้ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - ปลายเดือนเมษายน 2547 (จากข้อมูลของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล) ค่านี้จากต่างจากค่าที่แสดงในวารสารทางช้างเผือกฉบับมีนาคม 2547

      ดาวหางนีต (C/2001 Q4 NEAT)

      ดาวหางนีตถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยหอดูดาวพาโลมาร์ในสหรัฐฯ ภายใต้โครงการนีต (Near-Earth Asteroid Tracking) ของนาซา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ขณะค้นพบดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 10.1 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 1,510 ล้านกิโลเมตร) มีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลาเช่นเดียวกับดาวหางลีเนียร์ ข้อมูลความสว่างและวงโคจรแสดงว่าคนในซีกโลกใต้จะเริ่มเห็นดาวหางนีตด้วยตาเปล่าก่อนคนในซีกโลกเหนือ โดยดาวหางนีตจะเริ่มสว่างกว่าโชติมาตร 5 ในช่วงกลางเดือนเมษายน
      ประเทศไทยจะเริ่มเห็นดาวหางนีตได้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลาหัวค่ำตั้งแต่ประมาณวันที่ 27 เมษายน เป็นต้นไป โดยมีจุดสังเกตที่ดาวคาโนปัส ดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ดาวหางนีตจะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วผ่านกลุ่มดาวนกเขาและเข้าสู่กลุ่มดาวหมาใหญ่ ขณะผ่านกลุ่มดาวหมาใหญ่นี้ ดาวหางนีตจะมีโชติมาตรประมาณ 3 และผ่านใกล้ดาวซีริอัสมากที่สุดในวันที่ 6 พฤษภาคม ด้วยระยะห่างประมาณ 9o นอกจากนี้ดาวหางนีตยังใกล้โลกมากที่สุดในคืนวันนี้ด้วยระยะห่าง 0.321 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 48 ล้านกิโลเมตร) หลังจากนั้นดาวหางนีตจะเข้าสู่กลุ่มดาวยูนิคอร์น กลุ่มดาวหมาเล็ก ผ่านใกล้ดาวโปรซิออนมากที่สุดในวันที่ 10 พฤษภาคม ด้วยระยะห่างประมาณ 7o
      ดาวหางนีตยังคงเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเข้าสู่กลุ่มดาวปู ผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดาวหางนีตใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดด้วยระยะห่าง 0.96 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 144 ล้านกิโลเมตร) ดาวหางดวงนี้จะเริ่มเคลื่อนที่ช้าลงเมื่อเข้าสู่กลุ่มดาวแมวป่า และจะมีความสว่างลดลงไปอยู่ที่โชติมาตร 4-5 ขณะเข้าสู่เขตของกลุ่มดาวหมีใหญ่ในวันที่ 28 พฤษภาคม หลังจากนั้นดาวหางนีตจะมีความสว่างลดลงอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (แต่อาจติดตามดูด้วยกล้องสองตา) นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน

      ตำแหน่งดาวหางนีตและดาวหางลีเนียร์ (เทียบกับกลุ่มดาว) ระหว่างวันที่ 27 เม.ย - 30 พ.ค. 2547 เวลา 19.30 น. - ไฟล์ pdf สำหรับพิมพ์ คลิกที่นี่ (89 KB)


      ดาวหางนีต (C/2001 Q4 NEAT) ในเวลาหัวค่ำ (ทางทิศตะวันตก)
      วันที่ โชติมาตร* เวลาตก มุมเงย
      ณ เวลา 19.30 น. กลุ่มดาว หมายเหตุ
      27 เม.ย. 3.7 20.01 น. 4o ขาตั้งภาพ -
      28 เม.ย. 3.6 20.20 น. 6o ขาตั้งภาพ -
      29 เม.ย. 3.4 20.38 น. 9o ขาตั้งภาพ ใกล้ดาวคาโนปัส
      30 เม.ย. 3.3 20.56 น. 12o ท้ายเรือ -
      2 พ.ค. 3.1 21.29 น. 20o นกเขา -
      4 พ.ค. 3.0 22.00 น. 28o หมาใหญ่ ใกล้ดาวฤกษ์โชติมาตร 1.5
      คืนนี้เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
      6 พ.ค. 3.0 22.26 น. 37o หมาใหญ่ ใกล้ดาวซีริอัส
      และเข้าใกล้โลกที่สุด
      7 พ.ค. 3.0 22.38 น. 41o ท้ายเรือ ใกล้กระจุกดาวเปิด
      เอ็ม 46 และเอ็ม 47
      8 พ.ค. 3.0 22.49 น. 45o ยูนิคอร์น -
      10 พ.ค. 3.1 23.08 น. 52o หมาเล็ก ใกล้ดาวโปรซิออน
      12 พ.ค. 3.2 23.24 น. 56o ปู ใกล้ดาวฤกษ์โชติมาตร 3.5
      14 พ.ค. 3.4 23.37 น. 58o ปู -
      15 พ.ค. 3.5 23.42 น. 58o ปู ใกล้กระจุกดาวรังผึ้ง
      และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
      16 พ.ค. 3.6 23.48 น. 58o ปู -
      18 พ.ค. 3.9 23.56 น. 57o ปู -
      22 พ.ค. 4.3 00.05 น. 55o แมวป่า -
      26 พ.ค. 4.7 00.13 น. 52o แมวป่า -
      30 พ.ค. 5.1 00.16 น. 49o หมีใหญ่ -
      3 มิ.ย. 5.5 00.16 น. 47o หมีใหญ่ -
      7 มิ.ย. 5.8 00.14 น. 44o หมีใหญ่ -
      11 มิ.ย. 6.1 00.10 น. 42o หมีใหญ่ -

      * ประมาณจากความสว่างของดาวหางที่วัดได้ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - ปลายเดือนเมษายน 2547 (จากข้อมูลของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล) ค่านี้จากต่างจากค่าที่แสดงในวารสารทางช้างเผือกฉบับมีนาคม 2547

      ความสว่างของดาวหาง

      ดาวหางลีเนียร์ - ข้อมูลความสว่างของดาวหางลีเนียร์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการชะลอความสว่างลงอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการมองเห็นดาวหางลีเนียร์ในเวลาเช้ามืดที่มีขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายน-กลางเดือนพฤษภาคม ปัจจัยร่วมในเรื่องของมุมเงยของดาวหางจากขอบฟ้าที่ต่ำกว่า 20o ทำให้การมองเห็นดาวหางลีเนียร์ในช่วงเวลานั้นทำได้ยากขึ้น เราอาจสามารถมองเห็นดาวหางลีเนียร์ในเวลาเช้ามืดได้ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว และควรสังเกตด้วยกล้องสองตา นอกจากนี้ช่วงเวลาดังกล่าว ดาวหางลีเนียร์อาจไม่มีหางให้เห็นชัดเจนนัก ส่วนในช่วงที่ดาวหางลีเนียร์มาปรากฏในเวลาหัวค่ำ มันอาจมีความสว่างลดลงค่อนข้างเร็ว แต่ยังคงสว่างกว่าดาวหางนีตอยู่เล็กน้อยในวันที่ปรากฏในท้องฟ้าพร้อมๆ กัน และน่าจะเห็นหางได้ชัดเจนกว่าที่เห็นในเวลาเช้ามืด
      แอนดรีแอส แคมเมอเรอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวหาง พยากรณ์ว่าดาวหางลีเนียร์อาจส่องสว่างสูงสุดที่โชติมาตร 1.5 ในวันที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด (19 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากประเทศไทยแต่เห็นได้ในซีกโลกใต้ หัวดาวหางหรือโคมาอาจมีขนาดราว 0.9o และมีหางยาวประมาณ 18o ส่วน จอห์น บอร์เทิล นักดาราศาสตร์ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับดาวหางอีกท่านหนึ่งซึ่งเขียนเรื่องดาวหางให้กับนิตยสาร Sky & Telescope คาดว่าดาวหางลีเนียร์อาจสว่างสูงสุดที่โชติมาตร 2.3 ในส่วนของผู้เขียนใช้สมการที่สร้างจากข้อมูลความสว่างของดาวหางในช่วงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ - 9 เมษายน 2547 ที่เผยแพร่โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล แล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (พัฒนาโดยเซะอิชิ โยชิดะ) ประกอบกับการคาดหมายสัมประสิทธิ์ของสมการที่ใช้กับดาวหางที่เพิ่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ได้ความสว่างสูงสุดที่โชติมาตร 1.9 (ตัวเลขที่ใช้ในวารสารฉบับมีนาคมได้ค่า 1.0) ผลการวิเคราะห์ความสว่างนี้ ทำให้โชติมาตรคาดหมายของดาวหางลีเนียร์จางลงประมาณ 1 เมื่อเทียบกับตัวเลขในตารางแสดงโชติมาตรที่ตีพิมพ์ในวารสารทางช้างเผือกฉบับมีนาคม
      ดาวหางนีต ปลายเดือนกุมภาพันธ์ แอนดรีแอส แคมเมอเรอร์ พยากรณ์ว่าดาวหางนีตอาจส่องสว่างสูงสุดที่โชติมาตร 1.2 ในต้นเดือนพฤษภาคม โคมาอาจมีขนาดราว 1o และมีหางยาวประมาณ 20o อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มถึงปลายเดือนมีนาคมเขาคาดว่าดาวหางนีตจะสว่างน้อยกว่านี้ แต่ผลการวิเคราะห์ล่าสุดยังไม่เสร็จสิ้น ส่วน จอห์น บอร์เทิล คาดว่าดาวหางนีตอาจสว่างสูงสุดที่โชติมาตร 2.5 ในส่วนของผู้เขียนใช้สมการที่สร้างจากข้อมูลดาวหางในช่วงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ - 9 เมษายน 2547 ได้ความสว่างสูงสุดที่โชติมาตร 2.6 ซึ่งใกล้เคียงกับของจอห์น บอร์เทิล ผลการวิเคราะห์ความสว่างล่าสุดนี้ ทำให้โชติมาตรคาดหมายของดาวหางนีตจางลงประมาณ 0.5 จากตัวเลขในวารสารฉบับมีนาคม
      แม้มีแนวโน้มว่าดาวหางลีเนียร์และดาวหางนีตจะมีความสว่างลดลงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่ต้องนึกถึงเสมอคือดาวหางมีความไม่แน่นอนอยู่ในตัวสูง มันอาจเกิดปะทุความสว่างขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล หรืออาจลดความสว่างลงไปอีกได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับดาวหางทุกดวง
      28 เม.ย. - ล่าสุด แอนดรีแอส แคมเมอเรอร์ คาดหมายว่าดาวหางลีเนียร์จะสว่างสูงสุดด้วยโชติมาตร 1.5-2.0 หัวดาวหางมีขนาดเชิงมุม 0.8-0.9 องศา หางยาว 10-20 องศา ในส่วนผู้เขียน ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าความสว่างของดาวหางลีเนียร์ดูจะน้อยกว่าที่คาดไว้อีก ดาวหางลีเนียร์มีแนวโน้มจะสว่างที่สุดในวันที่ 19 พฤษภาคม ด้วยโชติมาตร 2.5
      สำหรับดาวหางนีต แอนดรีแอส แคมเมอเรอร์ คาดว่าจะสว่างที่สุดด้วยโชติมาตร 2.7 หัวดาวหางมีขนาดเชิงมุม 0.7 องศา หางยาว 10 องศา ในส่วนของผ้เขียน ข้อมูลการสังเกตการณ์ดาวหางนีตจากทั่วโลกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แสดงการชะลอความสว่างลงอีก คาดว่าดาวหางนีตจะสว่างที่สุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมด้วยโชติมาตร 3.0 ซึ่งยังสามารถมองเห็นได้ดีในกล้องสองตา  


      คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับดาวหางลีเนียร์และดาวหางนีต

      1. ดาวหางคืออะไร

      ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ดาวหางมี \"นิวเคลียส\" หรือใจกลางที่มีขนาดเพียง 1-10 กิโลเมตรเท่านั้น รู้จักกันว่าเป็น \"ก้อนหิมะสกปรก\" จากการที่ดาวหางมีองค์ประกอบของน้ำแข็ง ฝุ่น และก้อนหิน ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ที่รอบนอกของระบบสุริยะ ดาวหางจะมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางอุ่นขึ้น น้ำแข็งที่ปกคลุมดาวหางจะระเหิดนำพาฝุ่น ก๊าซ และโมเลกุลต่างๆ พุ่งออกมารอบๆ เกิดเป็นหัวดาวหาง (coma) หรือบรรยากาศของดาวหาง หัวดาวหางอาจมีขนาดนับพันหรือนับล้านกิโลเมตร นอกจากนี้ยังเกิดหางที่เป็นกระแสของฝุ่นและก๊าซทอดออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์
      2. ดาวหางกับดาวตกเหมือนกันหรือไม่

      ดาวหางกับดาวตกไม่ใช่วัตถุอย่างเดียวกัน ดาวตกเกิดจากการที่สะเก็ดดาวพุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกมองเห็นได้เป็นเวลา 1-2 วินาทีต่อครั้ง แต่ดาวหางอยู่ห่างออกไปนับล้านกิโลเมตร มีการขึ้น-ตกคล้ายกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์
      3. ดาวหางลีเนียร์และดาวหางนีตมีชื่อสามัญว่าอะไร

      นักดาราศาสตร์กล่าวถึงดาวหางลีเนียร์และดาวหางนีตในภาษาอังกฤษว่า \"C/2002 T7 (LINEAR)\" และ \"C/2001 Q4 (NEAT)\" ตามลำดับ ชื่อดาวหางจะตั้งตามผู้ค้นพบ ส่วน \"C/2002 T7\" หมายถึง ดาวหางดวงที่ 7 ที่ค้นพบในปักษ์แรกของเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2002 ตัวอักษรตามหลังปีจะบอกว่าดาวหางถูกค้นพบในปักษ์ใด เช่น \"A\" หมายถึงวันที่ 1-15 มกราคม \"B\" หมายถึงวันที่ 16-31 มกราคม เรื่อยไป (ข้ามตัว \"I\") ส่วน \"C/\" หมายถึงดาวหางคาบยาว (มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์มากกว่า 200 ปี)
      4. ดาวหางอยู่ห่างไกลแค่ไหน

      กรณีของดาวหางลีเนียร์ ขณะที่ค้นพบดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 6.9 หน่วยดาราศาสตร์ (1,030 ล้านกิโลเมตร) ห่างจากโลก 6.5 หน่วยดาราศาสตร์ (973 ล้านกิโลเมตร) ดาวหางลีเนียร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 23 เมษายน ด้วยระยะห่าง 0.61 หน่วยดาราศาสตร์ (92 ล้านกิโลเมตร) และจะเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 19 พฤษภาคม ด้วยระยะห่าง 0.266 หน่วยดาราศาสตร์ (ประมาณ 40 ล้านกิโลเมตร) กรณีของดาวหางนีต ขณะที่ค้นพบดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 10.1 หน่วยดาราศาสตร์ (1,510 ล้านกิโลเมตร) ห่างจากโลก 9.7 หน่วยดาราศาสตร์ (1,440 ล้านกิโลเมตร) ดาวหางนีตจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 16 พฤษภาคม ด้วยระยะห่าง 0.96 หน่วยดาราศาสตร์ (144 ล้านกิโลเมตร) ใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 6 พฤษภาคม ด้วยระยะห่าง 0.321 หน่วยดาราศาสตร์ (48 ล้านกิโลเมตร)
      5. เราทราบระยะห่างและการเคลื่อนที่ของดาวหางได้อย่างไร

      นักดาราศาสตร์ทราบระยะห่างของดาวหางจากการคำนวณหาตำแหน่งโลกและดาวหางในอวกาศ เมื่อมีการวัดตำแหน่งดาวหางที่เวลาต่างๆ กัน เขาจะสามารถคำนวณได้ว่าดาวหางมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นอย่างไร
      6. ดาวหางจะมีหางยาวหรือไม่

      ดาวหางมีหางอยู่ 2 ประเภท คือ หางก๊าซและหางฝุ่น หางก๊าซเกิดจากการเรืองแสงของไอออน พบได้ในดาวหางส่วนใหญ่ก็จริงแต่มักไม่ค่อยสว่าง และมีสีน้ำเงินหรือเขียวซึ่งดวงตามนุษย์เห็นสีเหล่านี้ได้ไม่ดีนัก เราสามารถมองเห็นหางฝุ่นได้ชัดเจนกว่าเพราะมันเกิดจากการสะท้อนแสงกับแสงอาทิตย์ ดาวหางมักปรากฏหางฝุ่นยืดยาวและสว่างเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ภายในระยะ 1 หน่วยดาราศาสตร์ หากเป็นไปตามนี้ ดาวหางทั้งสองดวงน่าจะเริ่มมีหางฝุ่นให้เห็นชัดเจนได้นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงตลอดเดือนพฤษภาคม ส่วนความยาวของหางนั้น หากดาวหางทั้ง 2 ดวง มีความสว่างและพฤติกรรมคล้ายกับดาวหางดวงที่สว่างๆ โดยทั่วไป หางก๊าซของมันอาจยืดยาวได้หลายองศาในช่วงที่ใกล้โลกที่สุด
      7. คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องดาราศาสตร์จะมองเห็นดาวหางได้หรือไม่

      หากดาวหางลีเนียร์ และ/หรือ ดาวหางนีต มีความสว่างเป็นไปตามที่คาดไว้ คนทั่วไปอาจประสบปัญหาในการค้นหาดาวหางลีเนียร์ในเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น (ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน-กลางเดือนพฤษภาคม) เพราะดาวหางลีเนียร์อยู่ใกล้ขอบฟ้า แสงไฟจากบ้านเรือนและภูมิประเทศมีส่วนทำให้มองเห็นดาวหางได้ยากขึ้น ส่วนในช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุดขณะปรากฏในเวลาหัวค่ำของเดือนพฤษภาคม ให้มองไปในท้องฟ้าทิศตะวันตก ดาวหางจะต่างจากดาวฤกษ์ตรงที่มันจะมีลักษณะเป็นดวงขมุกขมัว มีขนาดใหญ่กว่าดาวฤกษ์ที่เป็นจุดแสงและน่าจะมีหางให้เห็นได้จางๆ โดยจะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นหากดูด้วยกล้องสองตา คนในใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่จะมองเห็นดาวหางทั้งสองดวงได้ลำบากหรืออาจมองไม่เห็น เนื่องจากฝุ่นควันและแสงสว่างจากตัวเมือง
      ศัพท์ควรรู้

      ระยะเชิงมุม: นักดาราศาสตร์ใช้หน่วยของมุมสำหรับบอกระยะห่างระหว่างวัตถุท้องฟ้า ระยะทางระหว่างขอบฟ้าถึงจุดเหนือศีรษะมีค่า 90o ดวงจันทร์มีขนาดเชิงมุมประมาณครึ่งองศา
      มุมเงย: มุมที่วัดจากขอบฟ้าตั้งฉากขึ้นไปถึงวัตถุท้องฟ้าที่เราสนใจ
      หน่วยดาราศาสตร์: ระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ มีค่าประมาณ 149.6 ล้านกิโลเมตร
      โชติมาตร หรือ อันดับความสว่าง: มาตราที่นักดาราศาสตร์ใช้บอกความสว่างของวัตถุต่างๆ ในท้องฟ้า ค่ายิ่งน้อยแสดงว่ายิ่งสว่างมาก ดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุดที่ตาคนเราจะมองเห็นภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิทและแจ่มใสมีค่าประมาณ 6.5 ส่วนในเมืองใหญ่อาจมองเห็นดาวฤกษ์ที่มีโชติมาตรเพียง 2-3 ดาวซีริอัส ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในท้องฟ้ามีโชติมาตร -1.5 ดาวศุกร์มีโชติมาตรประมาณ -4 ดวงจันทร์เต็มดวงมีโชติมาตร -13 และดวงอาทิตย์มีโชติมาตร -26 วัตถุที่มีโชติมาตรต่างกัน 1 โชติมาตรจะมีความสว่างต่างกัน 2.5 เท่า ในกรณีของดาวหางจะหมายถึงความสว่างของทุกๆ ส่วนของดาวหางรวมกัน ดังนั้นดาวหางที่ส่องสว่างที่โชติมาตร 6 จะมองเห็นได้ยากกว่าดาวฤกษ์ที่มีโชติมาตรเท่ากัน (เพราะเราเห็นดาวฤกษ์เป็นจุดของแสง)
      วงโคจร: เส้นทางการเคลื่อนที่ของวัตถุหนึ่งรอบอีกวัตถุหนึ่ง ในกรณีนี้คือเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวหางรอบดวงอาทิตย์

      การถ่ายภาพดาวหาง

      เราสามารถใช้กล้องถ่ายภาพชนิดเลนส์เดี่ยว (SLR) ถ่ายภาพดาวหางโดยตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง จัดดาวหางให้อยู่ในกรอบของภาพ และใช้สายลั่นชัตเตอร์กดชัตเตอร์เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่นไหว การปรับโฟกัสให้ปรับไปที่ระยะอนันต์ เปิดหน้ากล้องให้กว้างที่สุด และพยายามใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงสูง กล้องถ่ายภาพที่ใช้ถ่ายควรมีปุ่ม \"B\" หรือ \"T\" เพื่อสามารถกดชัตเตอร์ค้างไว้ให้เปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน เช่น 10 วินาทีขึ้นไป แต่ไม่ควรเปิดนานเกิน 20 วินาที เพราะภาพดาวหางที่ได้จะเบลอเนื่องจากดาวหางมีตำแหน่งเปลี่ยนไปตามการหมุนรอบตัวเองของโลก

      วันที่ เวลา ตำแหน่งดาวหางกับวัตถุที่น่าสนใจ
      28-30 เม.ย. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางขวามือของดาวคาโนปัส 6o-7o (ใกล้ขอบฟ้า)
      5-6 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางซ้ายมือของดาวซีริอัส 9o
      7 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางขวามือของกระจุกดาวเปิดเอ็ม 46 และเอ็ม 47 ระยะ 1o
      8-14 พ.ค. เช้ามืด ดาวหางลีเนียร์อยู่ทางขวามือของดาวพุธ 16o-19o (ใกล้ขอบฟ้า)
      9 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางขวามือของกระจุกดาวเปิดเอ็ม 48 ระยะ 6o
      10-11 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางซ้ายมือของดาวโปรซิออน 7o
      15 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางซ้ายมือของกระจุกดาวรังผึ้ง 1o
      22-23 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางลีเนียร์ ดาวซีริอัส และกระจุกดาวเปิดเอ็ม 41 มีตำแหน่งทำมุมกันเป็นรูป 3 เหลี่ยม ห่างกัน 4o
      24-25 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางนีตอยู่ทางขวามือของดวงจันทร์ 18o
      25 พ.ค. หัวค่ำ ดาวหางลีเนียร์อยู่ทางซ้ายมือของกระจุกดาวเปิดเอ็ม 46 และเอ็ม 47 ระยะ 3o

      จันทรุปราคากับดาวหาง

      ขณะที่เกิดจันทรุปราคาในคืนวันที่ 4 ถึงเช้ามืดวันที่ 5 พ.ค. ดาวหางลีเนียร์จะขึ้นทางทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 4.00 น. นั่นหมายความว่าหากดาวหางสว่างอย่างที่คาดไว้ เราจะมีโอกาสเห็นดาวหางและจันทรุปราคาด้วยตาเปล่าในเวลาเดียวกัน! (รายละเอียดของจันทรุปราคาเต็มดวงจะนำเสนอในเร็วๆ นี้)

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×