ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พัฒนาการของยุโรปสมัยใหม่

    ลำดับตอนที่ #6 : ยุคภูมิธรรมและแนวคิดประชาธิปไตย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 953
      18
      3 พ.ย. 55

    การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ยังนำมาซึ่งการปฏิวัติทางภูมิปัญญา (Intellectual Revolution) วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนเราเลิกงมงาย และเริ่มที่จะกล้าใช้เหตุผลเพื่อแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าความมีเหตุผลสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นได้ ตลอดจนมีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในการปกครอง จึงเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 18 การพัฒนาด้านต่าง ๆ ในช่วงนี้จึงเปรียบเหมือนยุคทองที่ทำให้เกิดความรุ่งโรจน์ทั้งด้านความคิด วิชาการ และก่อให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้นยุคนี้จึงได้รับสมญานามว่าเป็น ยุคภูมิธรรม (The Age of Enlightenment)

    6.1 นักปราชญ์การเมืองแนวประชาธิปไตย
    1. ทอมัส ฮอบส์  แนวคิดด้านการเมืองของฮอบส์  ฮอบส์กล่าวว่าก่อนหน้าที่มนุษย์จะมาอยู่รวมกันเป็นสังคมการเมือง มนุษย์มีอิสระและเสรีภาพในการกระทำใดๆ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวาย มนุษย์จึงตกลงกันที่จะหาคนกลางมาทำหน้าที่เพื่อให้เกิดสังคมการเมืองที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีข้อผูกมัดว่าทุกคนจะต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นผู้ออกกฎหมายมาบังคับประชาชนต่อไป จะเห็นว่าแม้ฮอบส์จะนิยมระบอบกษัตริย์ แต่ก็มีแนวความคิดว่าอำนาจของกษัตริย์ไม่ใช่อำนาจของเทวสิทธิ์หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ฮอบส์ ยังโจมตีความเชื่อทางศาสนาของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องไร้เหตุผลมนุษย์ควรมีชีวิตอยู่ด้วยเหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์

     

    2. จอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Two Treatises of Government แนวคิดหลักของหนังสือ คือ การเสนอทฤษฎีที่ว่ารัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยความยินยอมของประชาชน และต้องรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

    แนวคิดทางการเมืองของล็อกอาจสรุปได้ว่าประชาชนเป็นที่มาของอำนาจทางการเมืองและมีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้ รัฐและรัฐบาลจึงมีหน้าที่ปกครองโดยคำนึงถึงประโยชน์และสิทธิธรรมชาติของประชาชนอันได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน รัฐบาลมีอำนาจภายในขอบเขตที่ประชาชนมอบให้ และจะใช้เฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เท่านั้น รัฐต้องไม่เข้าแทรกแซงในกิจการของปัจเจกชน

    3. บารอน เดอ มองเตสกิเออร์ (Baron de Montesquieu ค.ศ. 1689-1755) หรือ ชาร์ลส์ หลุยส์ เดอ เซ็กกองดาต์ (Charies Louis de Secondat) ขุนนางฝรั่งเศส เป็นผู้เขียนหนังสือ เรื่อง วิญญาณแห่งกฎหมาย (The Spirit of Laws)

    แนวคิดหลักของหนังสือเรื่อง วิญญาณแห่งกฎหมายสรุปได้ว่ากฎหมายที่รัฐบาลแต่ละสังคมบัญญัติขึ้นต้องสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและเงื่อนไขทางนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม แต่การปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด นอกจากนี้อำนาจการปกครองควรแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ การแบ่งอำนาจดังกล่าวเป็นเสมือนการสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงอำนาจ (check and balance system) จะช่วยไม่ให้ผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองหรือรัฐบาลใช้อำนาจแบบเผด็จการได้

    หนังสือเล่มนี้ มีอิทธิพลต่อสังคมตะวันตก รัฐธรรมนูญการปกครองประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นแม่แบบของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

     

    4. วอลแตร์ (Voltaire ค.ศ. 1694-1778) มีชื่อจริงว่า ฟรองซัว-มารี อารูเอ (Francois – Marie Arouet) เป็นนักคิดและนักเขียน ที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสความคิดดังกล่าวของวอลแตร์ สะท้อนออกในหนังสือเรื่องจดหมายปรัชญา (The Philo – sophical Letters) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า จดหมายเรื่องเมืองอังกฤษ (Letter on the English) เนื้อหาของหนังสือโจมตีสถาบันและกฎระเบียบต่างๆ ที่หล้าหลังของฝรั่งเศส วอลแตร์ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศฝรั่งเศสให้ทันสมัยเหมือนอังกฤษ แม้วอลแตร์จะต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมและความไร้ขันติธรรมทางศาสนาตลอดจนระบบอภิสิทธิ์ต่าง ๆ แต่ในด้านการเมืองเขาก็ไม่เคยแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนต่อรูปแบบการปกครองที่เขาพึงพอใจ หรือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองอย่างถอนรากถอนโคนด้วยการปฏิวัติอันรุนแรง

    5. ซอง-ชาคส์ รูโซ (Jean-Jacques Rousseau ค.ศ. 1712-1778) เชื้อสายฝรั่งเศส เขาเขียนหนังสือ หลายเล่ม โจมตีฟอนเฟะของสังคม และการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล นอกจากนี้เขายังแสดงทัศนะเกี่ยวกับระบบการศึกษา ปัญหาความไม่เสมอภาคทางสังคมอันเป็นผลจากสภาวะแวดล้อม เรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และแนวทางการปกครอง และอื่น ๆ งานเขียนชิ้นเอกของเขาซึ่งเป็นตำราทางการเมืองที่สำคัญและมีอิทธิพลมาก คือ สัญญาประชาคม (The Social Contract)

     

    6.2 การปฏิวัติทางการเมืองการปกครองของอังกฤษ
    หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบทที่ 1 สิ้นพระชนม์ กษัตริย์อังกฤษองค์ต่อๆ มามักจะมีความขัดแย้งกับรัฐสภาอยู่เสมอ เนื่องจากการใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขต ใช้เงินแผ่นดินไปในทางที่ฟุ่มเฟือยและก่อสงคราม ความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับกษัตริย์รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. 1642-1649 และรัฐสภาได้จับพระเจ้าชาร์ลที่ 1 ประหารชีวิต จากนั้นกษัตริย์อังกฤษถูกลดอำนาจลงเรื่อย ๆ จนถึง ค.ศ. 1688 ในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 (James II) ที่ทรงพยายามใช้อำนาจอย่างสูงสุดอีก จึงก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นโดยรัฐสภาอังกฤษได้อันเชิญพระเจ้าวิลเลียม (William) พระราชบตรเขตของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์บัลลังก์โดยพระองค์ทรงสัญญาว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) ที่รัฐสภาเป็นผู้จัดร่างถวายซึ่งให้อำนาจรัฐสภาและให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวอังกฤษเหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (The Glorious Revolution) เป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และได้รับการสนับสนุนจากชนทุกชั้น นับแต่นั้นมารัฐสภาอังกฤษได้ออกกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวอังกฤษ ปฏิรูปสังคมและการเมืองของอังกฤษ ก้าวหน้าไปตามลำดับจนถึงปัจจุบันอังกฤษได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศแม่แบบของการปกครองแบบประชาธิปไตย อังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนประเทศอื่น ๆ ดังนั้นการปกครองของอังกฤษจึงยึดหลักการขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยปกครองกันมา และยึดกฎหมายเป็นหลักรัฐสภา
    การปฏิวัติใน ค.ศ. 1688 ทำให้ระบอบราชาธิปไตยแบบเทวสิทธิ์ของอังกฤษสิ้นสุดลง และได้ยุติปัญหาขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบกระเทือนอังกฤษมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

    6.3 การปฏิวัติของชาวอเมริกัน ค.ศ. 1776
    ชาวอังกฤษที่อพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาในระยะแรกมีความผูกพันกับเมืองแม่ของตนด้วยการยอมรับนับถือกษัตริย์อังกฤษเป็นกษัตริย์ของตน และรวมตัวกันปกครองตนเองในรูปแบบอาณานิคมขึ้นตรงต่ออังกฤษ แต่เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษเก็บภาษีชาวอาณานิคมอย่างรุนแรง และเอาเปรียบทางการค้า เช่น อังกฤษบังคับให้อาณานิคมขายวัตถุดิบและซื้อสิ้นค้าสำเร็จรูปจากอังกฤษในราคาที่อังกฤษกำหนด ทั้งยังห้ามผลิตสินค้าสำเร็จรูปด้วยตนเอง สร้างความไม่พอใจแก่ชาวอาณานิคมเป็นอย่างมาก ใน ค.ศ. 1776 ชาวอาณานิคมจึงพร้อมใจกันประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ อังกฤษส่งทหารมาปราบกลายเป็นสงคราม เรียกว่าสงครามประกาศอิสรภาพ ในที่สุดชาวอาณานิคมได้รับชัยชนะได้ตั้งเป็นประเทศใหม่ คือ สหรัฐอเมริกา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

    เนื่องจากชาวอเมริกันเป็นชาวยุโรป มีการศึกษาดีและมีจิตใจยึดมั่นในเรื่องของสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่อพยพมาอยู่ทวีปอเมริกาก็เพื่อแสวงหาความเป็นอิสรภาพ เพราะไม่สามารถทนต่อการบีบคั้น และการปกครองอย่างกดขี่ของรัฐบาลในทวีปยุโรป จน สามารถวางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง ประธานาธิบดีอเมริกันผู้มีชื่อเสียงในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและความเสมอภาคในหมู่ประชาชนคือ ประธานาธิบดีเอบราแฮม ลิงคอล์น (Abraham Lincon ค.ศ. 1861-1865) ได้ประกาศยกเลิกระบบทาสและให้ความเสมอภาคแก่ชาวผิวดำ
    การปฏิวัติของชาวอเมริกัน ค.ศ. 1776 มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นอย่างมาก ฝรั่งเศสได้ตัวอย่างการให้สิทธิประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นและศาสนา ไม่เข้ามามีบทบาททางการเมือง

    6.4 การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789
    การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส เริ่มประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส สาเหตุมาจากพระมหากษัตริย์อ่อนแอไม่ทรงพระปรีชาสามารถ ในการบริหารบ้านเมือง ขณะที่พวกพระและขุนนางชั้นสูงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV ค.ศ. 1649-1715) ทรงใช้พระราชทรัพย์ไปในการทำสงครามและเพื่อความหรูหราของราชสำนักแวร์ซาย ถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV ค.ศ. 1715-1774) ก็มิได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในทางที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ทั้งยังเสียดินแดนอาณานิคมเกือบทั้งหมดให้อังกฤษ เนื่องจากเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เจ็ดปี (ค.ศ. 1745-1763) ต่อมาในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI ค.ศ. 1774-1792) เศรษฐกิจของฝรั่งเศสยิ่งมีปัญหามากขึ้นเพราะความฟุ่มเฟือยของราชสำนักแวร์ซาย ประกอบกับต้องใช้จ่ายในการช่วยเหลือชาวอเมริกันในสงครามประกาศอิสรภาพ  ปัญญาชนฝรั่งเศสพยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ต่างๆภายในประเทศให้ดีขึ้น อังกฤษซึ่งปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกำลังเจริญรุ่งเรืองจึงกลายเป็นแม่แบบและแรงบันดาลใจให้กลุ่มปัญญาชนหาหนทางให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ชื่นชมกับเสรีภาพอย่างชาวอังกฤษ นอกจากนี้ ชาวฝรั่งเศสยังมีความเชื่อว่าการปกครองแบบมีรัฐสภา (parliamentary government) หรือรัฐบาลประชาธิปไตยจะนำความมั่นคั่งมาสู่ประเทศได้ ในที่สุดชาวฝรั่งเศสหมดความอดทนที่จะยอมอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบบสังคมเก่าที่กีดกั้นเสรีภาพและการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

      การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนได้เรียกร้องเสรีภาพ(liberty) เสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity) ตามแนวทางของรักปราชญ์การเมืองของคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวความคิดดังกล่าวก็ยังสะท้อนออกเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสอีก
                  นอกจากนี้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (La Declaration des droits de I’homme et du citoyen) ซึ่งคณะปฏิวัติได้แถลงต่อประชาชนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1789 ก็เป็นการนำเอาความคิดหลักของล็อก มองเตสกิเออร์ วอลแตร์ และรูโซ ย้อนกลับมาใช้ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้ง
    การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ได้ส่งผลกระทบให้แนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ แพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรป โดยผ่านการที่ฝรั่งเศสทำสงครามยึดครองประเทศต่างๆในยุโรปในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary War ค.ศ. 1792-1802) และสงครามนโปเลียน (Napoleonic War ค.ศ. 1803-1815) แม้ว่าในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้สงครามก็ตาม แต่ประชาชนในประเทศต่างๆ ก็ตื่นตัวต่อแนวคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศส นำไปสู่การต่อต้านผู้ปกครองตลอดช่วงเวลาคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชน
                 กล่าวได้ว่า แนวความคิดประชาธิปไตยของล็อก สองเตสกิเออร์ วอลแตร์ และรูโซ มีผลในการปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมืองของชาวตะวันตกเป็นอันมาก และก่อให้เกิดการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่ของระบบการเมืองที่ประชาชนถือว่าตนเป็นเจ้าของประเทศ และต้องการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เหตุการณ์ปฏิวัติทางการเมืองโดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 เป็นแม่แบบให้ชาวตะวันตกร่วมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×