ท่านอ๋องบ้ากาม ข้าไม่ใช่เมียท่าน! ออกอีบุ๊กแล้ว
รักวุ่นๆ ของชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์กับหญิงสาวผู้มาจากดิน เขาเป็นถึงอ๋องครองแคว้นแล้วอย่างไร จะมาเห็นนางเป็นแค่ดอกไม้ริมทาง มีค่าเพียงแค่เอาไว้ระบายอารมณ์ใคร่ได้หรือ?
ผู้เข้าชมรวม
24,049
ผู้เข้าชมเดือนนี้
25
ผู้เข้าชมรวม
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
คำนำ
เรื่องนี้ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติของฉู่จวงหวาง ผู้เป็น 1 ใน 5 อ๋องผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิว ฉู่จวงหวางขึ้นครองราชย์เป็นหวางแห่งแคว้นฉู่เมื่อ 613 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวจีนในยุคนั้นไม่เหมือนกับความเป็นจีนที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องชื่อแซ่
ในความเข้าใจของคนทั่วไป คนจีนทุกคนย่อมมีชื่อและแซ่ แต่ชื่อและแซ่เริ่มเป็นที่แพร่หลายใช้กันถ้วนหน้าในยุคราชวงศ์ฮั่นตอนต้นเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ในนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนยุคการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นถึงสี่ร้อยปี ดังนั้น ระบบการเรียกชื่อของนางเอกนิยายเรื่องนี้ จึงจำต้องยึดตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคนั้น
นางเอกเรื่องนี้คือนางสนมของฉู่จวงหวาง ในประวัติศาสตร์เรียกนางว่า 许姬 xǔ jī อ่านออกเสียงว่า สวี่จี ข้าพเจ้าที่สนใจประวัติศาสตร์จีนด้วยความรู้น้อย ก็มาตั้งข้อสังเกตทีหลังว่า ทำไมผู้หญิงก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น ทำไมมีชื่อตัวว่า จี เยอะเหลือเกิน อาทิ นางเซี่ยจี 夏姬 xià jī ที่เป็นกระดังงาลนไฟและหญิงกินผัวชื่อดังร่วมยุคของฉู่จวงหวาง หรือนางหยูจี 虞姬 yú jī ที่เป็นสนมรักของฉู่ป้าหวาง ศัตรูคู่อาฆาตของหลิวปัง สตรีเหล่านี้ ล้วนถูกเรียกว่า 姬 jī จี กันทั้งสิ้น ซึ่งคำนี้ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า woman; concubine; female entertainer (archaic) คือ ผู้หญิง; นางสนม; นางคณิกา (ความหมายโบราณ) ส่วนคำที่อยู่ข้างหน้าคำเรียกของพวกนาง ไม่ว่าจะเป็น สวี่ เซี่ย หยู่ ก็อาจจะเป็นได้ทั้งแซ่ หรือชื่อชนเผ่า หรือชื่อหมู่บ้านที่เป็นถิ่นกำเนิด
ดังนั้น นางสวี่จีที่จะเป็นนางเอกเรื่องนี้นางไม่น่ามีชื่อจริงว่า “姬 jī จี” และผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า 许 xǔ สวี่ คือแซ่นางหรือเปล่า เพราะกำเนิดนางนั้นข้าพเจ้าก็หาทราบได้ ค้นประวัติดูก็แค่รู้ว่านางเป็นหนึ่งในสนมเอกของฉู่จวงหวาง ในนิยายเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้สมมติว่านางเป็นลูกชาวบ้านในยุคนั้น ดังนั้นนางก็ไม่น่ามีแซ่ด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ ผู้หญิงในยุคนี้ เกิดมาบิดามารดาก็ไม่ได้ตั้งชื่อให้ ขนาดนางเซี่ยจีซึ่งเป็นบุตรสาวของเจิ้งมู่กง เจ้าครองแคว้นเจิ้ง ซึ่งนับว่าเกิดในตระกูลผู้ดีตระกูลหนึ่ง ก็ยังถูกเรียกว่า 姬 jī จี ด้วยเช่นกัน
ตำแหน่งเจ้าครองแคว้นในยุควสันตสารท ไม่ใช่ทุกคนนะครับที่ได้มีตำแหน่งอ๋องหรือหวาง คนที่ถูกเรียกเป็นหวางในยุคนั้น คือกษัตริย์หรือเจ้าแคว้นใหญ่ทรงอำนาจเท่านั้น ส่วนแคว้น เล็กๆ ก็ลดหลั่นกันไป บางคนถูกเรียกเป็นกงบ้าง เป็นโหวบ้าง ระบบยศศักดิ์ในยุคนั้นก็คนละแบบกับระบบยศศักดิ์ในยุคหลังๆ โดยสิ้นเชิง ดังนั้นท่านผู้อ่านอย่าเอามาผสมกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ การแต่งงานของผู้ชายจีนสมัยโบราณ โดยเฉพาะคนที่ทรงอำนาจมากๆ ไม่ใช่คิดจะแต่งตั้งใครเป็นเมียเอกก็ทำได้ตามใจชอบ ยิ่งเป็นคนมีอำนาจมากเท่าไหร่ การเลือกสตรีที่จะมาเป็นเมียเอกก็ยิ่งมีเรื่องของอำนาจและการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ยกตัวอย่าง ฉู่ป้าหวางที่เป็นขุนศึกชื่อดังขับเคี่ยวกับหลิวปังหลังการโค่นล้มของราชวงศ์ฉิน ชายผู้นี้รักนางหยูจีมาก ไม่ปรากฏว่ามีผู้หญิงอื่นที่เป็นเมียเอกของฉู่ป้าหวางเลย มีแต่เพียงนางหยูจีที่เป็นนางสนมแต่เพียงผู้เดียว ผู้เขียนคาดว่านางหยูจีคงไม่ได้เกิดมาในตระกูลสูงส่ง ดังนั้นฉู่ป้าหวางจึงไม่สามารถยกนางเป็นเมียเอกได้ ตามประวัติศาสตร์จึงบันทึกว่านางหยูจีที่เป็นผู้หญิงผู้เดียวที่ฉู่ป้าหวางรักนั้น มีศักดิ์เป็นเพียงนางสนมเท่านั้น
สำหรับนางสวี่จีนั้น คำนี้น่าจะเป็นคำเรียกที่คนเขาเรียกนางตามบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ได้แปลว่าเป็นชื่อตั้ง คำเรียกก็คือคำเรียกซึ่งแยกมาต่างหาก คำเรียกคนไม่ได้แปลว่าชื่อคนผู้นั้นเสมอไป ในนิยายของผม ฉู่จวงหวางอาจจะเรียกนางด้วยชื่อที่เขาตั้งให้นางโดยเฉพาะก็ได้
แม้กระทั่งฉู่จวงหวาง ก็ไม่ใช่ชื่อจริงๆ แต่มันคืออารามนามเมื่อถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าครองแคว้นฉู่ ในส่วนของคนชนชั้นปกครองในยุควสันตสารท เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจนิยายเรื่องนี้ให้มากขึ้น จะขออธิบายระบบ แซ่ – สื้อ ดังนี้
จากหนังสือ “ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่” โดย ถาวร สิกขโกศล หน้าที่ 8 ได้อธิบายไว้ดังนี้
..หนังสือทงจื้อของเจิ้งเฉียว (พ.ศ. 1647 – 1705) คนยุคราชวงศ์ซ่งใต้ บรรพสื้อจู่ (โคตรตระกูล) อธิบายความแตกต่างของคำทั้งสอง (แซ่ – สื้อ) นี้ไว้ว่า “ในยุคราชวงศ์โบราณทั้งสาม (เซี่ย ซาง โจว) แซ่และสื้อแยกเป็นสอง ชายใช้สื้อ หญิงใข้แซ่ สื้อจำแนกความเป็นไพร่-ผู้ดี, ผู้ดีมีสื้อใช้, ไพร่ไม่มีสื้อมีแต่ชื่อ. ...พวกราชตระกูลมีแซ่, ไพร่ไม่มีแซ่... แซ่กำหนดจำแนกการสมรส, ฉะนั้นจึงแยกเป็นแซ่เดียวกัน แซ่เกี่ยวดอง (แซ่ต่าง) แซ่ (คน) อื่น. สื้อเดียวกันแต่คนละแซ่สมรสกันได้ แซ่เดียวกันแต่คนละสื้อสมรสกันไม่ได้ หลังจากราชวงศ์โบราณทั้งสาม แซ่กับสื้อรวมกันเป็นหนึ่งเดียว”
แซ่ – สื้อ เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงเท่านั้น ชาวบ้านบางคนไม่มีทั้งแซ่ทั้งสื้อ ในนิยายเรื่องนี้ ฉู่จวงหวางคืออารามนามที่ถูกถวายพระนามเมื่อครองราชย์เป็นหวาง ส่วนชื่อจริงเขาชื่อว่า 侣 lǚ หลี่ว์ มีสื้อว่า 熊 xióng สวุง มีแซ่ว่า 芈 mǐ หมี่ เพราะฉะนั้น ถ้าเรียก แซ่สื้อชื่อให้ครบ จะต้องเรียกว่า หมี่สวุงหลี่ว์ แต่เวลาข้าพเจ้าอ่านประวัติศาสตร์ ก็ไม่มีใครเขาเรียกคนในยุคนี้ครบทั้งแซ่สื้อชื่อกัน ส่วนใหญ่เขาก็จะเรียกแค่ สื้อและชื่อเท่านั้น เช่น คนก่อตั้งรัฐฉู่ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของฉู่จวงหวาง ในตำราประวัติศาสตร์ก็เรียกแค่ว่า สวุงตั๋ว เท่านั้น
ดังนั้น เวลาเรียกว่าบุรุษจากสกุลไหน ให้ระลึกเอาไว้ว่าสกุลนั้นไม่ใช่แซ่ แต่เป็นสื้อ เวลาเรียกสกุลก็ต้องเรียกว่า สื้อ ไม่ใช่ แซ่ แต่ถ้าเรียกผู้หญิงให้เรียกจากแซ่ ไม่ใช่สื้อ เช่น นางหมี่เจียง ผู้เป็นน้องสาวของฉู่เฉิงอ๋องสวุงยวิ่น ก็ต้องเรียกนำหน้าด้วยแซ่หมี่มิใช่สื้อสวุง ส่วนเจียงนั้นไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นเมืองของสามีนาง อย่าลืมว่าผู้หญิงยุคนี้ไม่มีชื่อกัน
นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในนิยายเรื่องนี้หาใช่ตรงตามประวัติศาสตร์ทุกประการ ข้าพเจ้าเพียงแต่บอกว่า บุคคลในนิยายของข้าพเจ้าที่มีตัวตนจริงนั้นมีสองคน คือ ฉู่จวงหวาง กับ สวี่จี สองคนนี้เท่านั้น ส่วนตัวละครอื่นในนิยายเรื่องนี้ อาจจะเป็นคนที่มีตัวตนจริงก็ได้ หรือ อาจจะเป็นตัวละครที่ข้าพเจ้าสมมติขึ้นก็ได้ เหตุการณ์ที่เล่าในนิยายเรื่องนี้ของข้าพเจ้า จึงมีทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าสมมติขึ้นมาเพื่อให้นิยายสนุกขึ้นเท่านั้น
ก็ขอให้ทุกท่านสนุกกับการอ่านนิยายเล่มนี้
ผลงานอื่นๆ ของ เหมยล้อลม ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ เหมยล้อลม
ความคิดเห็น