ตอนที่ 4 : สามภูติดำ(ปรับปรุง)
ตกดึก ค่ายหลวง อโยธยา อยู่ในความเงียบสงบ ลมหนาวจากขุนเขา ทำให้ไพร่พลที่มิใช่เวรยามต่างซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มในกระโจม แม้พวกที่เป็นยาม ก็ยังหลบไปผิงไฟคลายหนาว เป็นระยะ
ท่ามกลางความมืด ร่างสันทัดสามร่างแต่งกายรัดกุมด้วยชุดดำกลมกลืน ได้เข้าประชิดกำแพงค่ายอย่างเงียบกริบ ก่อนทะยานกายขึ้นมาบนเชิงเทินด้วยการกระโจนตัวจากพื้นดินเพียงครั้งเดียว
ขณะทั้งสามขึ้นมาบนเชิงเทิน ทหารยามสองคนผ่านมาเห็นเข้า ทั้งคู่เบิกตากว้างด้วยความตกใจ แต่ยังไม่ทันร้อง ดาบของผู้บุกรุกก็ปาดลำคอจนเลือดพุ่ง ก่อนร่างไร้ชีวิตของทหารเคราะห์ร้ายทั้งสองจะล้มลงกับพื้น จากนั้นผู้บุกรุกก็ไปยังที่คุมขังเหล่าเชลย และอีกครู่ใหญ่ ทั้งสามก็ออกจากคอกขังเชลยมุ่งหน้าไปยังโรงช้างที่อยู่กลางค่าย
ข้างโรงช้าง ทหารยามหกคนกำลังนั่งจับกลุ่มผิงไฟแก้หนาว โดยไม่สังเกตเห็นผู้บุกรุกทั้งสามที่เข้ามาอย่างเงียบกริบ และก่อนที่ทหารเหล่านั้นจะขยับตัว คมดาบในมือผู้บุกรุกยามวิกาลก็ปลิดชีพคนทั้งหกจนหมด
หลังจากสังหารยามแล้ว ทั้งสามก็หยิบคบไฟและแอบเข้าไปในโรงช้าง ใช้ดาบตัดปลอกที่คล้องขาช้างหลายเชือก ออก ก่อนแยกกันจ่อคบเข้ากับกองฟางในโรงช้าง จากนั้นคนหนึ่ง ก็ใช้ดาบฟันหางช้างศึกเชือกใหญ่ที่สุด
“แปร๋น!” ช้างเชือกนั้นแผดเสียงร้องอย่างเจ็บปวด ทำให้ช้างเชือกอื่นแตกตื่นไปตามกัน ส่วนพวกควาญที่หลับอยู่ต่างพากันตกใจตื่น ขณะไฟเริ่มลาม ชายชุดดำทั้งสามเข้าสังหารเหล่าควาญ พร้อมฟันหางช้างอีกหลายเชือก ก่อนหลบออกจากโรงช้างและแยกย้ายไปวางเพลิงทั่วค่าย ยามเดียวกับที่โขลงช้างได้ทลายโรงออกมาอาละวาดอย่างบ้าคลั่ง
ความโกลาหล พลันบังเกิดขึ้นทันที เหล่าไพร่พลทั้งอยโธยาและสุโขทัย ที่ไม่รู้เหนือใต้ ต่างแตกตื่นตกใจหนีเอาตัวรอด จากฝ่าเท้าของคชสารนับร้อย ที่กำลังบ้าคลั่ง ยามเดียวกัน เหล่าเชลยที่ชายชุดดำทั้งสามช่วยลอบสังหารผู้คุมและเปิดที่คุมขังไว้ให้ ก็แยกย้ายกันออกมาก่อความวุ่นวายตามที่นัดหมาย จนเกิดโกลาหลไปทั่ว
บนกำแพงเมืองลำพูน เจ้าหลวงหมื่นด้งทอดพระเนตรภาพความปั่นป่วนในค่ายข้าศึกอย่างพอพระทัย ก่อนหันมาตรัสกับ เจ้าหาญแต่ท้องแลหมื่นคำหยาดที่ยืนอยู่ด้วยว่า
“ชาวใต้โกลาหลฉะนี้ ดูทีอ้ายสามภูติดำคงทำการสำเร็จเที่ยงมั่น ควรกาลอันเราเข้าตีปราบชาวใต้แล้ว”
“ทัพใต้วุ่นวายแล้ว เราคงปราบเขาได้คืนนี้ แน่แท้” เจ้าหาญแต่ท้องทูล “ยามนี้ ข้าเตรียมทัพไว้แล้ว รอเจ้าพ่อสั่งสิ่งเดียว”
“แจ้งอาณัติสัญญาณพลธนูที่อยู่นอกเวียง ให้ระดมยิงค่ายไทใต้” เจ้าหมื่นด้งทรงมีบัญชา “หมื่นคำหยาด สูกับหมื่นมอกลอง จงคุมทัพเชียงแสนแลเวียงพร้าวเข้าตีค่ายปีกขวา”
“น้อมรับบัญชา” หมื่นคำหยาดพนมมือยกขึ้นจรดหน้าผาก
“หาญแต่ท้อง สูกับหมื่นค้อมแลหมื่นยี่หลอ คุมทัพลำปาง เชียงรายแลเวียงฝางเข้าตีทางปีกซ้าย ส่วนตัวข้าจักขับพลเข้าผ่าค่ายหลวงทัพใต้” แม่ทัพใหญ่ตรัสสั่ง พระโอรส ผู้เป็นเจ้าเมืองลำปาง
“น้อมรับบัญชา!” อีกฝ่ายรับคำสั่ง
ครู่ต่อมา ประตูเมืองก็เปิดออก ทัพเชียงใหม่แยกเป็นสามสาย ขยายแนวเข้าหาข้าศึก ในยามนั้น หลังเห็นสัญญาณไฟ พลธนูเชียงใหม่สองพันนาย ที่แยกกันซุ่มอยู่ใกล้ค่ายปีกซ้ายและขวาของอโยธยา ก็ระดมยิงธนูเพลิงใส่ค่าย เพื่อสร้างความโกลาหล ก่อนทัพจากหัวเมืองทั้งห้าจะเข้าประชิดและปีนปล้นค่าย จนเกิดการรบทั่วแนวเชิงเทิน แม้อโยธยาจะมีรี้พลมากกว่า หากแต่กำลังโกลาหลเสียขวัญ จึงตกเป็นรองและถูกสังหารล้มตายเกลื่อน
ขณะทัพห้าหัวเมือง กำลังตีค่ายปีกซ้ายขวาของอโยธยาและตรึงกำลังทัพทั้งสองปีกไว้ ทัพหลวงของหมื่นด้งก็บุกตีค่ายใหญ่ จนในที่สุด แนวป้องกันฝ่ายอโยธยาก็แตก ทหารเชียงใหม่เข้าฆ่าฟันฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ยั้งมือ เสียงอาวุธปะทะกันดังปนกับเสียงช้างม้าและเสียงของผู้ที่กำลังจะตาย แสงเพลิงโหมไหม้ จนทั้งค่ายไม่ต่างกับขุมนรก
แสนกับเทพหันหลังชนกัน กลางวงล้อมของทหารเชียงใหม่ร่วมร้อย แม้ศัตรูจะมีมากกว่า แต่ก็ไม่อาจทำอะไรสองหัวหมู่ได้ หากกลับต้องเอาชีวิตมาสังเวยคมดาบของทั้งคู่ จนซากศพก่ายเกลื่อน
“เอาเยี่ยงไรดีพี่เทพ ยิ่งฆ่า พวกมันก็ยิ่งหนุนเนื่องกันมามิหยุด” แสนถาม
“เช่นนั้น พวกเราก็ตีฝ่าออกไปด้วยกันเถิด” อีกฝ่ายตอบ “ผู้ใดขวางก็ฆ่าเสียให้สิ้น”
แสนพยักหน้ารับ จากนั้น ทั้งคู่ก็บุกไปข้างหน้า จนออกจากวงล้อมข้าศึกได้ ยามนั้น แสนมองไปยังพลับพลาและเห็นขุนราชเสนากับนายทัพสามคนพร้อมทหารรักษาพระองค์จำนวนหนึ่ง กำลังต่อสู้กับข้าศึกจำนวนมาก เขาจึงชวนสหายบุกไปช่วยในทันที ทั้งสองเข้าฟาดฟัน จนพวกนักรบเชียงใหม่ที่ล้อมพลับพลาอยู่ แตกพ่ายออกไป
“พระคุณท่านเป็นเยี่ยงไรบ้าง” แสนรีบถามผู้เป็นนาย
“มิเป็นไร” แม่ทัพใหญ่ ตอบก่อนสั่งว่า “พวกเจ้าอย่าช้าที จงเร่งถวายอารักขา นำเสด็จพ่ออยู่หัวไปจากที่นี่ บัดเดี๋ยวนี้”
“ขอรับ” ทั้งสองรับคำสั่ง ก่อนสมทบกับทหารรักษาพระองค์ เป็นกองหน้าเข้าฟาดฟันกับข้าศึก จนสามารถเปิดทางให้องค์พ่ออยู่หัวเสด็จออกจากค่ายไปได้
การสู้รบยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด จนถึงรุ่งสาง ทัพอโยธยาทั้งหมดก็ถอยออกจากค่าย...
********************
“ฝูงไทใต้พ่ายหนีฉะนี้ ควรเราเร่งตามตีให้พวกมันฉิบหายสิ้นทั้งทัพ” หมื่นมอกลอง ที่นั่งบนหลังช้างศึกหันมากล่าวกับหมื่นคำหยาด ที่อยู่บนหลังช้างอีกเชือก หลังจากที่ไล่ติดตามทัพข้าศึกมาได้ระยะหนึ่ง
“เรามาไกลนักแล้ว ข้าเกรงว่าหากตามต่อไป ชาวใต้อาจแต่งกลไว้” อีกฝ่ายท้วง “ควรเรายั้งพล รอทัพใหญ่ ที่นี่เถิด”
“สูระแวงไปแล้ว” เจ้าเมืองพร้าวหัวเราะ “ชาวใต้พ่ายยับย่อย ไหนเลยจักหันมาต่อตีได้อีก”
“มิใช่ข้าระแวง หากเพียงมิใคร่ เห็นสูชะล่าใจจนเกินควร”
“หากทัพเชียงแสนมิไป ข้าก็ขอนำพลเวียงพร้าว ไล่ตามทัพใต้เอง” หมื่นมอกลองว่าก่อนยื่นคำขาด “สูจักไปหรือไม่”
หมื่นคำหยาดถอนหายใจหนัก ก่อนจะยอมตามสหาย….
ทัพเชียงแสนและเมืองพร้าวไล่ตามข้าศึกมาถึงป่าทึบปลายแดนเมืองลำพูน หมอกยังคงหนาแม้จะเป็นยามสาย
“หมอกหนามิเห็นหนเยี่ยงนี้ ข้าว่าเรายั้งมือแต่เพียงนี้เถิด” หมื่นคำหยาดกล่าว "หากตามต่อไป อาจเสียทีเขาได้”
“ทัพเราไล่ฆ่าฟันชาวใต้แต่คืนยันย่ำรุ่ง ก็ยังมิเห็นว่าจักเกิดอันใด สูยังคิดว่า ฝูงเขาจักมีกลอันใดอีกหรือ” หมื่นมอกลองว่าพลางหัวเราะ
ทันใดนั้นเอง เสียงโห่ร้องก็ดังมาจากกำแพงหมอกที่อยู่รอบทิศ ตามมาด้วยลูกธนูนับร้อยที่พุ่งออกจากป่าสองข้าง สังหารพลรบชาวยวนล้มตายเกลื่อน
สองแม่ทัพเชียงใหม่ตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเมื่อตั้งสติได้ ก็ร้องสั่งให้ไพร่พลล่าถอยออกจากบริเวณนั้น ทว่ายังไม่ทันที่ทัพเชียงใหม่จะถอยออกมา ทัพอโยธยาที่ซุ่มอยู่ ก็เข้าโจมตีอย่างดุเดือด
“เราต้องกลทัพใต้แล้ว!” หมื่นคำหยาดร้องขึ้น
หมื่นมอกลองขบกรามแน่นที่เสียรู้ข้าศึก ก่อนจะร้องบอกสหายว่า “จักอย่างไร ก็ต้องฝ่าออกไปให้ได้!”
ขณะนั้นเอง พญาเชลียงและพญาสุโขทัยก็นำทหาร เข้าปิดทางถอยฝ่ายตรงข้าม เมื่อแม่ทัพเชียงใหม่ทั้งสองเห็นเช่นนั้นจึงไสช้างเข้าหาสองพญา ก่อนที่แม่ทัพทั้งสี่จะกระทำยุทธหัตถีกันอย่างดุเดือด โดยหมื่นมอกลองจับคู่ต่อรบกับพญาเชลียง ส่วนหมื่นคำหยาดสู้กับพญาสุโขทัย
หลังผลัดรุกผลัดรับ หมื่นมอกลองก็ได้จังหวะเหวี่ยงของ้าวใส่ หมายตัดศีรษะคู่ต่อสู้ ทว่าอีกฝ่ายเบี่ยงหลบทัน จนทำให้ขุนทัพยวนเสียหลัก เป็นโอกาสให้พญาเชลียงใช้ง้าวฟันกลับ ตัดศีรษะหมื่นมอกลองขาดกระเด็น หมื่นคำหยาดเห็นดังนั้น ก็ใจเสีย จึงพลาดท่าถูกง้าวของพญาสุโขทัย ฟันเฉี่ยวไหล่ซ้าย เลือดไหลโชก เจ้าเมืองเชียงแสนแข็งใจใช้ง้าวปัดอาวุธอีกฝ่ายออก ก่อนสั่งควาญท้าย บังคับช้างหนีออกมา จากนั้นหมื่นคำหยาดก็รีบนำไพร่พลที่เหลือ ล่าถอยไป
เมื่อหมื่นด้งนคร ทรงทราบว่า ทัพเชียงแสนและเมืองพร้าว ถูกซุ่มโจมตีแตกพ่าย จึงมีบัญชาให้ทัพอื่นๆหยุดไล่ตาม ด้วยเกรงจะถูกซุ่มโจมตีอีก
แม้กองหลังของอโยธยาจะได้รับชัยชนะ เหนือกองทัพเชียงใหม่ที่ตามมา ทว่าความปราชัยที่เมืองลำพูน ก็ทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชจำต้องเสด็จนำทัพกลับคืนพระนคร ด้วยแม้จะสูญเสียไพร่พลไปไม่มาก หากแต่ช้างม้าและศาสตราวุธพร้อมเสบียงอาหารได้สูญเสียไปแทบหมด จนมิอาจทำการรบได้อีกต่อไป
****************
ภายในหอคำหลวงแห่งนครพิงค์ พญาติโลกราชประทับนั่งบนบัลลังก์ โดยมีเหล่าขุนนางเข้าเฝ้าพร้อมหน้า บรรยากาศในท้องพระโรง เต็มไปด้วยความยินดี ที่ทัพเชียงใหม่ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่เหนืออโยธยา
“ที่สุด ทัพใต้ก็ต้องพ่ายไปมิเป็นขบวน” พญาติโลกราชตรัสด้วยพระสุรเสียงพอพระทัย “ศึกนี้ นับเป็นชัยชำนะยิ่งใหญ่ของนครพิงค์โดยแท้”
“เสียดายก็แต่ ศึกนี้ ฝ่ายเราต้องเสียหมื่นมอกลองไป” เจ้าหลวงหมื่นด้งนครกราบทูลด้วยสุรเสียงเคร่งขรึม
“การศึกกับการสูญเสีย เป็นของคู่กัน เจ้าอาอย่าได้คิดมากเลย” องค์เหนือหัวแห่งเชียงใหม่ตรัสพลางแย้มพระสรวล “อย่างไรก็แล้วแต่ ศึกครานี้ นับเป็นความชอบของสูโดยแท้”
“หามิได้” อีกฝ่ายกราบทูล “การอันทัพเราชำนะได้ในครานี้ ผู้มีความชอบสำคัญ คือสามพี่น้องภูตดำ ด้วยว่า มันทั้งสามอาจหาญลอบเข้าไปเผาค่ายชาวใต้ ทัพเราจึงตีข้าศึกแตกพ่ายไปเร็วเยี่ยงนี้”
เจ้าเหนือหัวทรงแย้มสรวลอีกครั้ง ก่อนจะหันมายังผู้ที่ถูกกล่าวถึง ซึ่งบัดนี้กำลังคุกเข่าอยู่ยังเบื้องพระพักตร์
“สูทั้งสามทำการครานี้ได้เก่งกล้ายิ่งนัก มิเสียแรงที่ข้าส่งไปช่วยการศึกในหนนี้” พญาติโลกราชตรัสชม
“ข้าเจ้าทั้งสาม พร้อมถวายชีวิตเพื่อมหาราชแลโยนกนครพิงค์” ฟ้าฮ่าม หนึ่งในสามภูตดำกราบทูล
“เอาล่ะ ข้าจักตอบแทนความชอบของสูทั้งสาม ในครานี้” เจ้าเหนือแห่งเชียงใหม่ตรัส “ให้อ้ายฟ้าฮ่ามกินยศหมื่นหางช้าง ส่วนน้องสองคือ อ้ายเวียงลือ กินยศพันคำ แลอ้ายแสนคำ ผู้เน้องเล็ก กินยศพันเงิน แต่นี้ ข้าจักให้สูทั้งสามคุมกองรบ อันข้าตั้งขึ้นใหม่ นามว่า สมิงดำ แลให้ขึ้นแก่ข้าผู้เดียวเท่านั้น”
ขุนทหารใหม่ทั้งสาม ก้มกราบพร้อมกัน “ข้าเจ้า ขอเอาชีวิตแลฝีมือ ทำการสนองคุณมหาราชสืบไป”
พญาติโลกราชทรงทอดพระเนตรทั้งสามอย่างพอพระทัย
“ข้าแต่มหาราช” เจ้าหลวงหมื่นด้งกราบทูล “แม้หนนี้ ชาวใต้พ่ายไป หากเขาย่อมเจ็บแค้นแลหวนมาต่อตีเราอีกเที่ยงมั่น ข้าเจ้าเห็นควรเร่ง บำรุงคนรบทั้ง ช้าง ม้า แลเครื่องศึกให้แข็งกล้า เพื่อเตรียมไว้แต่เนิ่น”
“ข้าเห็นต้องด้วย” เจ้าเหนือหัวรับสั่ง “อันการบำรุงคนรบนั้น ข้าให้เจ้าอาเป็นหัวแรง กำกับเหล่าขุนทัพทั้งหลาย ส่วนหมื่นหางช้าง จงเร่งฝึกปรือเหล่านักรบสมิงดำ ให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นบ่าเป็นแรงแก่เวียงพิงค์ในภายหน้า”
“ข้าเจ้าน้อมรับบัญชา” เหล่าแม่ทัพทุกคนในที่นั้นยอมือใส่เกล้า กราบทูลขึ้นพร้อมกัน
*********************
ที่ซุ้มประตูเมืองอโยธยา กองทัพที่ยกไปตีเชียงใหม่ ได้กลับมาถึงพระนคร ด้วยสภาพที่ผิดจากเมื่อขาไป ไพร่พลทั้งหลายล้วนอิดโรย บาดเจ็บและเหนื่อยล้า หลังรอนแรมผ่านป่าเขา นานนับเดือน
หลังขบวนเสด็จ ผ่านไป บรรดาราษฏรที่หมอบเฝ้าอยู่สองข้างทาง ก็ลุกขึ้นและวิ่งเข้าไปหาญาติพี่น้องของตนที่อยู่ในกองทัพ เสียงร้องเรียกหากัน ดังแทบฟังไม่ได้ศัพท์
แสนบังคับม้าเดินพลางกวาดตามองผู้คนที่อยู่รายรอบ ทันใดนั้น เขาก็เห็นหญิงสาวผู้หนึ่งยืนชะเง้ออยู่ ท่ามกลางผู้คน ชายหนุ่มเบิกตากว้างด้วยความยินดี ก่อนโดดจากหลังม้า วิ่งฝ่าฝูงชนเข้าไปหา พร้อมตะโกนเรียก
“จันทน์หอม! จันทน์หอม !”
หญิงสาว หันมา ก่อนอุทานด้วยความดีใจ เมื่อได้เห็นชายหนุ่มมายืนอยู่เบื้องหน้า
”พี่แสน! พี่แสนจริงๆด้วย” น้ำเสียงของนางเต็มไปด้วยความตื่นเต้นยินดี “ข้าดีใจเหลือเกิน ที่เห็นพี่กลับมา”
หากไม่ติดว่า จะเป็นที่ครหาแก่ผู้พบเห็นแล้ว แสนก็คงจะกอดร่างบอบบางตรงหน้า ให้สมความคิดถึง แต่เนื่องด้วยทั้งสองยังมิได้เข้าพิธีวิวาห์กัน เขาจึงต้องยั้งใจไว้และทำได้เพียงยิ้มให้นางอย่างอ่อนโยน
”พี่เองก็ดีใจยิ่งนัก ที่ได้กลับมาพบเจ้าอีกครั้ง” ชายหนุ่มกล่าวก่อนจะถามอีกฝ่าย “นี่เจ้ามารอนานแล้วหรือ”
“พอรู้ข่าวว่า ทัพหลวงจักมาถึง ในวันนี้ ข้าก็มารอแต่เช้ามืด” จันทน์หอมตอบก่อนถามอีกฝ่าย ด้วยน้ำเสียงเป็นห่วง “พี่แสนไปศึกกลับมา ได้รับบาดเจ็บอันใดบ้างหรือไม่”
“พี่ปลอดภัยดี” แสนตอบก่อนถามกลับ “แล้วตัวเจ้าเองเล่า เป็นเยี่ยงไรบ้าง”
“ข้าสบายดี มิเจ็บมิไข้แต่อย่างใด” อีกฝ่ายตอบ
“รู้ว่าเจ้าสบายดี พี่ให้โล่งใจนัก” ชายหนุ่มพูด “เจ้ารู้หรือไม่ ว่าทุกค่ำคืนที่ผ่านมา ใจพี่เฝ้าแต่คิดถึงเจ้าเท่านั้น”
คนฟังซ่อนยิ้มในหน้า“จริงหรือ”
“หากมิเชื่อ จักให้สาบานก็ได้”
“มิต้อง” หญิงสาวรีบห้าม “ข้าเชื่อ”
“ว่าแต่เจ้า อยู่ทางนี้ คิดถึงพี่บ้างหรือไม่” คนพูดสบตา
จันทน์หอมยิ้มอายๆ ก่อนจะตอบว่า “หากมิคิดถึง มีหรือ ที่ข้าจักมารอพี่ ตั้งแต่ฟ้ายังมิทันสาง”
“ได้ฟังเช่นนี้แล้ว พี่ชื่นใจแท้” ชายหนุ่มกล่าวโดยมิได้ละสายตาไปจากดวงหน้าของสาวคนรัก
***************
ก่อนเพล หลังจากไปส่งจันทน์หอมกลับเรือน แสนก็รีบกลับบ้าน เพื่อไปหามารดา..
ที่เรือนใต้ถุนสูง หลังใหญ่ มุงกระเบื้องไม้ กลางดงไม้ใกล้กับริมน้ำ หญิงวัยกลางคนผู้หนึ่ง หน้าตาท่าทางมีสง่า แต่งกายด้วยผ้าเนื้อดี นั่งบนตั่งเตี้ยๆ บนยกพื้นของห้องโถงใหญ่กลางเรือน โดยมีแสนนั่งพับเพียบอยู่ใกล้ๆขณะที่ห่างออกไปไม่ไกลนัก มีทาสหญิงวัยรุ่นสามสี่คนหมอบคอยรับใช้อยู่
“แม่เป็นเยี่ยงไรบ้าง” แสนถามมารดาด้วยน้ำเสียงเป็นห่วง “คราวนี้ลูกต้องไปศึกเสียนานนับเดือน จนมิได้อยู่ดูแล”
“แม่สบายดี มิเจ็บไข้อันใด” นางสายพิณ ผู้เป็นมารดาของชายหนุ่มตอบพร้อมกับยิ้มบางๆ ก่อนถามกลับ “ว่าแต่เจ้าเถิด ไปรบมาครานี้ เป็นเยี่ยงไร”
“ลูกปลอดภัย” แสนตอบ “เสียดายก็แต่ ทัพอโยธยาเรามิอาจตีเชียงใหม่ได้ดังหมาย”
“แพ้ชนะ เป็นของคู่กับการศึกมาแต่โบราณ หาใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด”ผู้เป็นมารดาพูด “เพียงได้เห็นเจ้าปลอดภัยกลับมา แม่ก็พอใจแล้ว”
“แต่ใจลูกใคร่เห็นทัพเรามีชัยเหนือพวกยวน”
“อโยธยาชำนะมาหลายครา แม้จักแพ้บ้าง ก็คงมิทำให้แสนยานุภาพเสื่อมถอยลงดอก”นางสายพิณกล่าวเสียงเรียบ
แม้จะไม่เห็นด้วย แต่แสนก็นิ่งฟังโดยมิได้กล่าวแย้ง ด้วยว่านับแต่หมื่นกำแหง บิดาของเขาเสียชีวิตไป ตั้งแต่เขายังเด็ก ชายหนุ่มก็มีเพียงมารดาที่อบรมเลี้ยงดูเขามาจนเติบใหญ่ จึงทำให้แสนทั้งเคารพรักและเชื่อฟังผู้เป็นมารดายิ่งนัก
***************************
แม้สงครามครั้งนี้ อโยธยาจะเป็นฝ่ายปราชัย แต่แสนและเทพ ก็ได้สร้างความชอบ จากการอารักขาองค์เหนือหัวฝ่าวงล้อมข้าศึก จึงทำให้ทั้งคู่ได้เลื่อนยศ โดยแสนได้เป็น พันอินทรัตน์ ส่วนเทพเป็น พันฤทธิ์โยธา
“มิน่าเชื่อเลยว่า เราสองคนเพิ่งทำศึกคราแรก ก็ได้เลื่อนยศแล้ว” เทพกล่าวกับสหายรุ่นน้องหลังจากที่ทั้งคู่ได้รับพระราชทานเครื่องยศใหม่แล้ว “นี่หากมิใช่เพราะฝีมือ ก็คงเป็นด้วยเทพยดาทรงมีเมตตาต่อพวกเราเป็นแน่”
“นั่นสิ” พันอินทรัตน์ หรือ แสนพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนกล่าวต่ออย่างเสียดายว่า “หากแต่ถึงยามนี้ ข้าก็ยังอดเจ็บใจมิได้ ที่ทัพเราพ่ายศึก อ้ายพวกยวน”
“เชื่อพี่เถิด” นายทหารรุ่นพี่ยิ้มเล็กน้อย “ศึกระหว่างอโยธยากับเชียงใหม่หาได้จบเพียงเท่านี้ดอก สักวันหนึ่ง ทัพเราต้องยกทัพขึ้นไปแก้มือกับพวกยวนอีกคราเป็นแม่นมั่น”
“ข้าใคร่ให้ถึงวันนั้นโดยเร็ว” แสนกล่าวอย่างฮึกเหิม “จักได้ประดาบกับไอ้พวกยวนให้รู้ดีชั่วกันอีกสักหน”
“แต่พี่ว่ายามนี้ เจ้าพักเรื่องรบไว้ก่อนจะดีกว่ากระมัง” อีกฝ่ายปรายตามองพลางยิ้ม “ได้ยศใหม่แล้วฉะนี้ เจ้าควรหาแม่ศรีเรือนได้แล้ว” สหายรุ่นพี่แกล้งพูดแหย่ “มัวล่าช้า จักมีลูกมิทันใช้”
“พี่เทพเอง ก็ยังโสดมิใช่หรือ แล้วเหตุใดต้องเร่งข้าด้วยเล่า” ชายหนุ่มว่า
อีกฝ่ายยิ้มพราย “มิเหมือนกัน ด้วยว่าพี่นั้นยังไม่มีนางใด อยู่ในดวงใจเหมือนดังเช่นเจ้า”
“เอ่อ…อันที่จริง ข้าเองก็หมายใจไว้ว่าปลายปีนี้พอได้บวชเรียนแล้ว สึกออกมาเมื่อใด ก็จักให้แม่ไปสู่ขอจันทน์หอมมาเป็นศรีเรือน” นายทหารรุ่นน้องบอกด้วยท่าทางเขินๆ
“ต้องเยี่ยงนี้สิ” เทพว่าอย่างถูกใจ “วันใดแต่งเมีย ก็อย่าลืมบอกด้วยหนา พี่จักไปร่วมฉลองให้เต็มที่”
“ได้สิ พี่ท่าน” แสนยิ้มรับ”ถึงวันนั้น ข้ามิลืมเชิญพี่แน่”
**********************
นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ

เนื้อหาสอดคล้องกันดีทีเดียว
อาจเป็นเพราะมาจากประวัติศาสตร์เดียวกัน
แต่ก็ขอบอกตรงๆอีกว่า น่าติดตามมากค่ะ
เราชอบบทบรรยายของเธอจังค่ะ
อ่านแล้วเห็นภาพเลย
แต่ตอนนี้เรายังอ่านไม่จบนะคะ เดี๋ยวจะตามอ่านต่อไปเรื่อยๆค่ะ ^^
ตกลง เรื่องนี้ อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือเปล่าครับ แปลกดีครับ ปกติ เห็นแต่สงคราม ไทยกับพม่า มาคราวนี้ มีอยุธยา กับเชียงใหม่ น่าสนใจมากๆ
มาตามอ่านช้าไปหน่อยครับ สนุกดีครับ เรื่องน่าติดตามมากเลย