ตอนที่ 38 : สงครามเมืองนาย(ปรับปรุง)
ในความมืดยามราตรี ลมเย็นยะเยือกพัดจากทิวเขาสูงตระหง่าน เงาตะคุ่มของชายฉกรรจ์หลายพันเคลื่อนกายเงียบเชียบ ผ่านโขดหินใหญ่ที่ขนาบปากทางช่องเขา หอกดาบถูกพันห่อด้วยใบไม้และเถาวัลย์ เพื่อไม่ให้เกิดเสียงกระทบ
พญาติโลกราชประทับบนหลังม้า ทอดพระเนตรกองทหารเชียงใหม่ ได้ผ่านช่องเขาและขึ้นไปตามทางคดเคี้ยวสูงชันอันเป็นทางขึ้นทางเดียวของปราการเมืองนายที่อยู่บนภูเขา หลังการโจมตีครั้งแรก ในตอนกลางวัน กองทหารเชียงใหม่ถูกพวกเงี้ยวทุ่มหินใส่ไพร่พลบาดเจ็บล้มตายจนต้องถอยกลับมา จอมคนจึงมีรับสั่งให้โจมตีอีกครั้งในยามดึก คืนเดือนมืด หมายใช้ความมืดกำบังไพร่พล โดยทรงกำชับนายทัพนายกองห้ามเหล่าทหารใช้คบไฟและให้เคลื่อนขบวนอย่างเงียบที่สุด เพื่อไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว ก่อนจะเข้าประชิดกำแพงเมือง
พ่ออยู่หัวนครพิงค์ทรงจับจ้องกองทัพที่ยามนี้ออกจากซอกเขาเคลื่อนขึ้นไปตามทางเดินที่ทอดยาวผ่านระหว่างหุบเหวและหน้าผา แลเห็นเป็นเงาดำดุจงูเลื้อย เนื่องด้วยการเดินทัพในความมืดทำได้เชื่องช้า พระองค์จึงคะเนว่าทัพเชียงใหม่คงจะประชิดกำแพงเมืองนายในยามค่อนรุ่ง
ทันใดนั้น คบไฟนับร้อยก็ถูกโยนลงมาจากแนวผาเหนือทางเดิน เข้าใส่กองทัพเชียงใหม่ที่กำลังเคลื่อนขบวน พร้อมกับเสียงโห่ร้องของทหารเมืองนายที่ดังก้อง ไม่นาน ก็มีเสียงครืนครันของก้อนหินน้อยใหญ่ที่ร่วงตกใส่กองทัพเชียงใหม่ดุจฝนศิลา เสียงร้องโหวกเหวกด้วยความตื่นตระหนกของไพร่พลดังแว่วมาตามลม
พญาติโลกราชทรงกำพระหัตถ์แน่น ขณะทอดพระเนตรสิ่งที่เกิดขึ้น จากเปลวไฟที่ลุกโชน พระองค์ทรงเห็นไพร่พลเชียงใหม่กำลังหนีตาย จากก้อนหินที่ตกลงมาและธนูหน้าไม้ที่ทหารเงี้ยวระดมยิงใส่ เสียงร้องของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บดังปะปนมากับเสียงของความโกลาหล ไพร่พลจำนวนมากผลัดร่วงตกลงไปในหุบเหว
ในที่สุดเมื่อทรงเห็นว่า การบุกต่อไป มีแต่จะทำให้รี้พลต้องล้มตายโดยเปล่าประโยชน์ จอมคนจึงทรงมีพระบัญชาให้จุดไฟเป็นสัญญาณเรียกกองทหารทั้งหมดให้ล่าถอยออกมาจากภูเขามรณะนั้น
*******************
วันรุ่งขึ้น ภายในพลับพลาหลังใหญ่กลางค่ายทัพเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงเชิงเขาอันเป็นที่ตั้งของเมืองนาย พญาติโลกราชทรงประชุมกับท้าวศรีบุญเรืองและเหล่าขุนทัพอย่างเคร่งเครียดเพื่อวางแผนเอาชนะข้าศึก
ขณะที่การประชุมดำเนินไปอยู่นั้นเอง หมื่นหางช้างซึ่งได้รับพระบัญชาจากจอมคนให้นำนักรบสมิงดำออกไปลาดตระเวนหาข่าวก็เข้ามาในพลับพลาและกราบทูลรายงานว่า กองทัพไทใหญ่จากเมืองยองห้วย เมืองไลข่า เมืองลอกจอก เมืองเชียงทอง และเมืองสีป้อรวมห้าหัวเมือง มีไพร่พลทั้งสิ้นหนึ่งหมื่นสองพันกำลังมุ่งตรงมายังเมืองนาย
“ดูท่า เจ้าฟ้าเมืองนายคงขอให้ทัพเงี้ยวทั้งห้ายกมากระหนาบทัพเราเที่ยงมั่น” พญาติโลกราชทรงมีรับสั่งด้วยสุรเสียงเคร่งเครียด หลังจากทรงสดับรายงานแล้ว
“ไหว้สา เจ้าพ่อ” ท้าวศรีบุญเรืองกราบทูลขึ้น “ข้าเจ้าขออาสานำคนรบไปตีปราบทัพเงี้ยว ก่อนฝูงเขามาถึงนี่”
จอมคนทรงนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนตรัสว่า “แม้เราจักตีปราบทัพเงี้ยวทั้งห้าได้ แต่ก็ใช่ว่าจักทำให้เรายึดเวียงนายได้”
“ไหว้สา มหาราช” หมื่นม้าแก้วกราบทูลขึ้นบ้าง “แต่หากปล่อยฝูงเขามาถึงนี่ ฝ่ายเราคงมิพ้นต้องกลศึกกระหนาบ ด้วยว่าเมืองนายย่อมเทคนออกมาช่วยทัพเงี้ยวทั้งห้าโจมตีค่ายเราเที่ยงมั่น”
“ลางที นั่นอาจดีต่อฝ่ายเรา” พญาติโลกราชตรัสช้าๆ “ทัพเราล้อมเวียงมาสิบห้าวันแล้ว เข้าทุบเวียงถึงสองหน แต่ก็ยังหักเอามิได้ เนื่องด้วยเมืองนายอยู่บนเขาสูง ยากแก่การเข้าตี หากง่ายต่อฝ่ายเขาที่ป้องกัน แม้นเราล่อให้ฝูงเงี้ยวลงมาจากเขาได้ ทัพเราก็อาจมีทางตีปราบฝูงเขา”
“แต่เราเอาคนมาสองหมื่นสามพันเท่านั้น ทั้งยามนี้ก็ตายไปแล้วกว่าพันเศษ หากถูกทัพเวียงนายแลเวียงทั้งห้าตีกระหนาบพร้อมกัน จักสู้เขาไหวหรือ” ท้าวศรีบุญเรืองทรงกังวล
“แต่ก็อาจเป็นหนทางเดียวที่เราจักเสร็จศึกในครานี้ลงได้” พญาติโลกราชตรัสสุรเสียงเครียด
**********************
สามวันต่อมา กองทัพเมืองยองห้วยพร้อมกับพันธมิตรอีกสี่หัวเมืองก็ยกพลมาถึงเชิงเขา โดยรวมพลอยู่ห่างจากค่ายเชียง ใหม่ไปสามสิบเส้น จากนั้นในยามบ่าย ก็ปรากฏควันไฟสามสายขึ้นบนภูเขาอันเป็นที่ตั้งของเมืองนาย
“พวกเงี้ยวคงส่งสัญญาณ เตรียมกระหนาบทัพเราเที่ยงมั่น” ท้าวศรีบุญเรืองกราบทูลพระบิดา หลังทอดพระเนตรควันไฟจากบนภูเขา
“ให้คนหอกคนเครื่องเตรียมพร้อมไว้ มิเกินคืนนี้ คงได้รบแตกหักแน่แท้” พญาติโลกราชตรัส
“ข้าเจ้ารับบัญชา”
.... ตกค่ำ ทัพไทใหญ่ทั้งห้าหัวเมืองก็เข้าตีค่ายเชียงใหม่ พร้อมกับที่เมืองนายได้ส่งนักรบแปดพันคนบุกลงมาจากบนเขาเพื่อช่วยพันธมิตรของตนเข้าตีกระหนาบ
กองทัพเชียงใหม่ตั้งรับศึกทั้งสองทางได้เพียงชั่วหม้อข้าวเดือด ก็แตกพ่าย ออกจากแนวป้องกันและตัวค่าย ต่างพากันหนีกระจัดกระจายเอาตัวรอด ทิ้งเสบียงอาหารและศาสตราวุธจำนวนมากไว้กลาดเกลื่อน
กองทัพเมืองนายกับทัพพันธมิตรบุกเข้าไปในค่าย ขณะที่ทหารเชียงใหม่ต่างหนีเอาตัวรอด พวกไทใหญ่แยกย้ายกันรื้อค้นกระโจมและเรือนพัก เพื่อไล่จับเชลยและเก็บกวาดเสบียงอาหาร ศาสตราวุธกับทรัพย์สิน ทว่าบรรดานักรบไทใหญ่ต่างก็ประหลาดใจ เมื่อพบว่าในกระโจมและโรงเรือนทุกหลังเต็มไปด้วยฟ่อนหญ้าแห้งราดน้ำมันยาง
ทันใดนั้น ธนูเพลิงนับพันก็ถูกยิงเข้ามาในค่าย ไฟไหม้ลามอย่างรวดเร็วเนื่องจากได้เชื้อเพลิงที่กระจายอยู่ทั่วค่าย บรรดาทหารไทใหญ่ต่างตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและก่อนที่พวกไทใหญ่จะทันตั้งตัว ท้าวศรีบุญเรืองก็ทรงนำกองทหารที่ซุ่มในป่าด้านนอกบุกเข้าทางประตูหน้าค่ายและฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามล้มตายดุจใบไม้ร่วง ทหารไทใหญ่ที่เสียขวัญต่างหนีออกประตูหลังค่าย แต่ก็ถูกทหารเชียงใหม่อีกกองที่นำโดยหมื่นม้าแก้ว ซึ่งดักรออยู่ ระดมยิงด้วยธนูหน้าไม้ล้มตายลงเป็นอันมาก จนกองทัพไทใหญ่ต้องพังกำแพงค่ายลงด้านหนึ่ง เพื่อหนีเอาตัวรอด แต่ก็ต้องเสียไพร่พลไปกว่าครึ่งทั้งที่ถูกสังหารและถูกจับเป็นเชลย จากนั้นพญาติโลกราชก็ทรงให้กองทหารเชียงใหม่จำนวนหนึ่งแต่งกายเป็นทหารไทใหญ่ยกพลขึ้นเขาเพื่อหลอกทหารรักษาเมือง ก่อนจะยึดเมืองนายได้โดยง่าย ในยามเช้ามืด
ที่ลานหน้าคุ้มหลวงเมืองนาย คบไฟนับร้อยส่องสว่าง ทหารองครักษ์เชียงใหม่หลายร้อยคนกระจายกำลังรอบบริเวณอย่างแน่นหนา ขณะที่เจ้าฟ้าเมืองนายพร้อมกับเหล่าเชื้อพระวงศ์ทั้งชายหญิงถูกควบคุมตัวไว้ภายในคุ้ม ส่วนบรรดาพลเมืองนั้นถูกทหารเชียงใหม่กวาดต้อนไปรวมกันยังบริเวณลานกว้างใจกลางเมือง
“แผนของเจ้าพ่อหลักแหลมแท้ นอกจากปราบทัพเงี้ยวทั้งห้าได้แล้ว ยังหักเอาเวียงนายได้พร้อมกันด้วย” ท้าวศรีบุญเรืองตรัสด้วยความชื่นชมพลางทอดพระเนตรไปโดยรอบ
หลังทรงทราบว่า ข้าศึกกำลังจะตีกระหนาบค่ายของพระองค์ พญาติโลกราชก็ทรงให้ทหารนำเชื้อเพลิงเป็นอันมากมาไว้ยังที่ต่างๆทั่วค่าย จากนั้นจึงทรงให้ท้าวศรีบุญเรืองกับหมื่นม้าแก้วลอบนำทหารส่วนใหญ่ไปซุ่มรออยู่ในป่าทึบนอกค่าย ครั้นเมื่อกองทัพไทใหญ่บุกเข้าไป พญาติโลกราชจึงทรงให้ทหารระดมยิงธนูเพลิงเผาค่าย จากนั้นจึงทรงให้กองทัพที่ซุ่มรออยู่บุกเข้าโจมตีจนพวกไทใหญ่แตกพ่ายยับเยิน
จอมคนเชียงใหม่ทรงพระสรวลอย่างพอพระทัย ก่อนจะรับสั่งว่า “ที่จริงการอันเรารบชำนะครานี้ ส่วนหนึ่งต้องขอบน้ำใจความห้าวหาญของชาวเงี้ยวที่กล้าเทคนเข้าทุบค่าย จนต้องกลศึกฝ่ายเราเยี่ยงนี้”
“ทัพเราหักเวียงนายได้แล้วฉะนี้ เจ้าพ่อจักให้ยอคนศึกกลับนครพิงค์เลยหรือไม่”
“ยังก่อน” พญาติโลกราชตรัส “ทัพเงี้ยวพ่ายไปฉะนี้ ควรเราส่งทัพตามไปหักเอาเวียงทั้งห้าให้อยู่ใต้อำนาจนครพิงค์”
“ข้าเจ้าเห็นต้องด้วย” พระพักตร์ของมหาอุปราชเชียงใหม่เต็มไปด้วยความฮึกเหิม “เช่นนั้นข้าเจ้าขออาสานำทัพไปหักเอาเวียงทั้งห้ามาแทบบาทเจ้าพ่อ”
“พ่อให้ตามนั้น” องค์เหนือหัวแห่งนครพิงค์ทรงแย้มสรวล “อีกสองขวบวัน สูแลหมื่นม้าแก้วจงนำคนรบหนึ่งหมื่นไปตีปราบเวียงทั้งห้าให้สิ้น”
สองวันต่อมา หลังจากทัพเชียงใหม่ยึดเมืองนายได้ พญาติโลกราชก็ทรงให้ท้าวศรีบุญเรืองกับหมื่นม้าแก้วนำทัพไปตีเมืองยองห้วย ลอกจอก ไลข่า เชียงทองและสีป้อ โดยภายในเวลาเพียงเดือนเศษ กองทัพเชียงใหม่ก็สามารถตียองห้วย ไลข่าและเชียงทองได้ ส่วนเมืองลอกจอกและสีป้อนั้นได้ส่งทูตมายอมจำนนก่อนที่ทัพเชียงใหม่จะยกไปถึง นอกจากนี้ชัยชนะดังกล่าว ยังส่งผลให้หัวเมืองไทใหญ่อีกห้าเมืองเกิดความครั่นคร้ามจนพากันส่งทูตมาขออ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้นของนครพิงค์ ทำให้ดินแดนทางฝั่งตะวันออกของแคว้นไทใหญ่ตกเป็นของอาณาจักรล้านนาโดยสิ้นเชิง
ขณะที่เชียงใหม่ขยายอำนาจเข้าสู่แดนไทใหญ่ ทางอโยธยาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารของหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงเสียใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงต่อราชอาณาจักร โดยให้หัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด เปลี่ยนจากเมืองประเทศราชเป็นเมืองพระยามหานครเช่นเดียวกับเมืองไชยนาทสองแคว โดยกำหนดให้เจ้าเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงต้องลงมาเข้าพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา เช่นเดียวกับขุนนางอื่นๆ ทั้งยังส่งขุนนางจากพระนครจำนวนหนึ่งไปช่วยกำกับดูแลหัวเมืองเหล่านั้น นอกจากนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังทรงโปรดฯให้เร่งสร้างป้อมปราการของหัวเมืองฝ่ายเหนือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นสำหรับการทำศึกกับอาณาจักรล้านนาในวันหน้า
******************
ยามเช้า สินเมืองนั่งอยู่คนเดียวที่ศาลาตรงหัวสะพานท่าน้ำหน้าบ้าน สายตาของเด็กหนุ่มทอดไปยังลำคลองที่มีเรือพายผ่านไปมา ให้เห็นเป็นระยะ ขณะสายลมอ่อนพัดมาปะทะผิวหน้า
หลังกองทัพของออกญาสีหราชเดโชกลับมา พ่ออยู่หัวได้ทรงโปรดฯให้พระราชทานรางวัลแก่เหล่าแม่ทัพนายกองที่ไปทำศึกชิงเมืองสุโขทัยกลับคืนมาจากล้านนา โดย สินเมืองได้รับพระราชทานบำเหน็จเลื่อนยศ พร้อมราชทินนามว่า พันเพชรยอดศึก เนื่องจากความดีความชอบที่เปิดประตูเมืองรับกองทัพอโยธยา ส่วนหลวงอินทรัตน์ บิดาของเขา และหลวงฤทธิ์โยธา บิดาของทองได้เลื่อนยศขึ้นเป็นออกพระ โดยบิดาของแสนได้ราชทินนามใหม่ว่า พระคำแหงรณฤทธิ์ ขณะที่บิดาของทองได้เป็น พระพิชิตรณรงค์
อันที่จริงการได้เลื่อนตำแหน่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยเฉพาะสำหรับเขาที่ได้เลื่อนจากหัวหมู่ขึ้นกินยศชั้นพันทั้งที่เพิ่งอายุเพียงสิบหก หากมิใช่ด้วยฝีมือแลโชคช่วยแล้ว ก็คงไม่รู้จะเรียกว่าอันใดได้อีก
แต่หลังเวลาแห่งความยินดีผ่านไป สินเมืองก็กลับมาเบื่ออีก เนื่องด้วยหลังเสร็จศึก เขาก็ไม่มีหน้าที่อันใด นอกจากตามพ่อไปประชุมยังเรือนออกญามหาเสนาหรือไม่ก็ศาลาลูกขุน ซึ่งตำแหน่งอย่างเขา เมื่อไปถึงแล้วก็มีหน้าที่เพียงนั่งฟังเงียบๆอยู่แถวหลังสุด ยามที่เหล่าขุนนางผู้ใหญ่คุยกัน ซึ่งมันทำให้เด็กหนุ่มอย่างเขาเบื่อหน่ายอย่างที่สุด
แต่จะว่าไปแล้ว ลำพังเรื่องชีวิตที่จำเจก็ยังพอทน แต่ที่ทำให้สินเมืองทุรนทุราย คือการรอคอยที่จะได้เจอดอกแก้วอีกครั้ง ด้วยนับแต่สงกรานต์ผ่านไป จนเวลานี้ก็สามเดือนแล้ว เขายังไม่ได้เจอนางอีกเลย ครั้นจะเข้าไปหาในวังก็ไม่อาจทำได้ เพราะในเขตพระราชฐานชั้นในห้ามคนนอกเข้าไป ไม่เช่นนั้น อาจต้องโทษถึงขั้น ถูกฟันคอริบเรือน
เด็กหนุ่มวัยสิบห้าปีเศษเดินเข้ามาหยุดยืนใกล้สินเมืองพลางเอ่ยทักขึ้นว่า “มานั่งทำอันใดอยู่นี่หรือพี่”
“อ้าว เจ้าทอง มานานแล้วรึ”นายทหารหนุ่มหันกลับไปทักตอบ
“ก็นานพอ เห็นพี่ท่านนั่งถอนหายใจมิรู้กี่สิบหนนั่นแล” อีกฝ่ายพูด “เป็นอันใดไป”
“เบื่อน่ะ” สินเมืองเอนหลังพิงเสาศาลาท่าน้ำ “วันๆ คอยแต่ตามพ่อ ไปหมอบกราบฟังพวกผู้ใหญ่สนทนาข้อราชการ ครานึงตั้งครึ่งค่อนวัน จนแข้งขาเหน็บชากินไปสิ้นแล้ว”
คนฟังทำหน้ายิ้มๆ “ก็พี่เป็นนายทหารใหญ่แล้วนี่หนา ย่อมต้องเข้าฟังหารือข้อราชการบ้างสิ”
“ถ้ารู้ว่าเลื่อนยศแล้ว ต้องเอาแต่หมอบคลาน พี่ขอไปเป็นหัวหมู่เยี่ยงเดิมดีกว่า” สินเมืองพูด “ว่าแต่วันนี้ มาแต่เช้า มีธุระอันใดหรือ”
“ข้าจักชวนพี่ไปทำบุญแลฟังธรรมเทศนาที่วัดพลับพลาไชย”
“ไว้วันหลังเถิด เช้านี้ขอพี่เอนหลังสักหน่อย ประเดี๋ยวบ่ายก็ต้องไปนั่งหมอบที่ศาลาลูกขุนอีก”
“ไปเป็นเพื่อนข้าหน่อยเถิดน่า” ทองชวนแกมขอร้อง “รับรองว่า หากพี่ท่านไปทำบุญครานี้แล้ว เป็นต้องได้กุศลสนองตอบโดยพลันเป็นแน่”
“ไม่ไป”
“ไปเถิด”
“เซ้าซี้จริงหนา ออเจ้า” สินเมืองว่าอย่างรำคาญก่อนกล่าวอย่างเสียไม่ได้ “เช่นนั้นพี่ไปก็ได้”
เมื่อเห็น อีกฝ่ายตอบตกลง คนชวนก็ซ่อนยิ้มในหน้าอย่างสมคะเน
***************************
นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ

ถือดาบสองมือ
จำนวนชายฉกรรจ์ที่ต่อสู้กับสิงห์เมืองเท่าไหร่แน่ครับ
ตอนแรกว่า 10 คน
บรรทัดต่อมา กลายเป็น 6 คน รวมสิงห์เมือง