ตอนที่ 20 : สองแควแปรพักตร์(ปรับปรุง)
..หนึ่งสัปดาห์ต่อมา โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ก็ถูกร่างขึ้นและถูกนำเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงออกกฎหมายศักดินาพลเรือนและศักดินาทหารหัวเมืองเพื่อกำหนดระดับหน้าที่และความรับผิดชอบของเหล่าขุนนางรวมทั้งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยใช้จำนวนศักดินาเป็นตัวกำหนด นอกจากนี้ยังมีการลำดับชั้นยศของขุนนางใหม่ โดยให้เพิ่มเป็น ออกขุน ออกหลวง ออกพระ และ ออกญา ส่วนการบริหารราชการนั้น ให้แยกทหารและพลเรือนออกจากกัน โดยให้ สมุหพระกลาโหมดูแลฝ่ายทหาร มีออกญามหาเสนาบดีรั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้รับผิดชอบและให้สมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน มีออกญาจักรีศรีองครักษ์รั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี โดยงานฝ่ายพลเรือนที่เรียกว่าจตุสดมภ์ ที่เดิมประกอบด้วย เวียง วัง คลัง นา ได้ทรงโปรดให้เปลี่ยนตำแหน่งผู้รับผิดชอบจาก ขุนเวียง ขุนวัง ขุนคลัง ขุนนา เป็น ออกญานครบาล ออกญาธรรมาธิกรณ์ ออกญาเกษตราและออกญาโกษาธิบดี
สำหรับหัวเมืองต่างๆ ได้เปลี่ยนเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอกและเมืองพระยามหานครแทนที่เมืองลูกหลวง หลานหลวง ที่มีมาแต่เดิม ทั้งนี้หัวเมืองชั้นในและชั้นนอกจะขึ้นตรงกับเมืองหลวงโดยมีขุนนางเป็นผู้ดูแล ส่วนบรรดาประเทศราชทั้งหลายนั้นยังคงให้เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ดูแลดังเดิม
“ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่จักถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ นับแต่ต้นเดือนหน้าเป็นต้นไป” สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงรับสั่งในที่ประชุมเหล่าขุนนาง “พวกท่านทั้งหลายยังมีความเห็นอันใดอีกหรือไม่”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระพุทธเจ้ายังมีข้อสงสัยบางประการ พระพุทธเจ้าข้า” ขุนราชเสนาซึ่งได้รับตำแหน่งใหม่เป็น ออกญามหาเสนา ผู้ว่าการทหารแห่งอโยธยากราบทูลขึ้น
“จงว่ามา ท่านออกญามหาเสนา”
“เรื่องของหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ควรปรับเปลี่ยนให้เป็นเมืองพระยามหานคร แทนการเป็นประเทศราชเช่นดังที่เป็นอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
พ่ออยู่หัวทรงขมวดพระขนง “ท่านมีเหตุผลอันใด จึงเสนอเช่นนั้น”
“อันหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้น มีความสำคัญต่อความมั่นคงของอโยธยาเป็นอันมาก หากให้คงสภาพประเทศราชไว้ดังเดิม อาจยังผลให้การดูแลไม่รัดกุมเท่าที่ควร ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่า สมควรดึงอำนาจปกครองเข้าสู่อโยธยาให้มากที่สุด จักเป็นผลดีต่อราชอาณาจักรมากกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงนิ่งไปครู่ใหญ่เมื่อได้ทรงสดับคำกราบทูลของสมุหพระกลาโหม ก่อนจะทรงหันไปยังเหล่าขุนนางและรับสั่งขึ้นว่า “แล้วคนอื่นๆ มีความเห็นในเรื่องนี้เช่นไรบ้าง”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า” ออกญาจักรีผู้เป็นสมุหนายก กราบทูลขึ้น “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า คำกราบทูลของท่านออกญามหาเสนามีเหตุผลพระพุทธเจ้าข้า ด้วยว่า ที่ผ่านมา หัวเมืองฝ่ายเหนือมีอิสระค่อนข้างมาก จนมีหลายครั้งที่เกิดขัดแย้งกันขึ้นในกลุ่มเจ้าเมืองเหล่านั้น ดังเช่นในสมัยพ่ออยู่หัวนครอินทร์ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้านครฝ่ายเหนือ จนพ่ออยู่หัวต้องเสด็จขึ้นไประงับเหตุด้วยพระองค์เอง แม้กระนั้นก็ยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเวลาต่อมาอีกหลายครา หากเราสามารถดึงอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางได้แล้วไซร้ ก็น่าจักลดปัญหานี้ลงได้มาก พระพุทธเจ้าข้า”
“ที่ออกญามหาเสนาแลออกญาจักรีกล่าวมา ก็นับว่ามีเหตุผล หากแต่ข้ายังเกรงว่าการรวมอำนาจจากหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดในคราเดียว อาจทำให้เชื้อพระวงศ์แลเจ้าเมืองฝ่ายเหนือทั้งหลายมิพอใจแลต่อต้านเอาได้” พ่ออยู่หัวทรงรับสั่ง
“ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า หากใต้ฝ่าพระบาททรงเกรงเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า พระองค์ควรดำเนินการนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป พระพุทธเจ้าข้า” ออกญามหาเสนากราบทูลเสนอ
“อย่างค่อยเป็นค่อยไปรึ” พ่ออยู่หัวตรัสทวนคำกราบทูลของอีกฝ่าย “ไหนท่านจงขยายความให้ข้าฟังทีสิ”
“ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า ควรเริ่มจากการเปลี่ยนนครสองแควให้กลายเป็นเมืองพระยามหานคร จากนั้นจึงปรับการบริหารราชการใหม่ให้เป็นแบบเดียวกับอโยธยา เพื่อเป็นต้นแบบแก่หัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง”
พ่ออยู่หัวทรงชะงักเล็กน้อย เมื่อทรงสดับคำกราบทูลของสมุหกลาโหม “เหตุใดจึงต้องเป็นสองแคว”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ด้วยว่านครสองแควนั้นเป็นหัวเมืองเอกของฝ่ายเหนือ แลเป็นเมืองลูกหลวงของอโยธยามาเก่าก่อน จึงมีความใกล้ชิดกับอโยธยามากกว่าหัวเมืองอื่นๆในแคว้นสุโขทัย ทำให้เหมาะที่จักใช้เป็นต้นแบบในการปรับปรุงการปกครอง พระพุทธเจ้าข้า” ออกญามหาเสนากราบทูลอธิบาย
คำกราบทูลของผู้ว่าการทหาร ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงนิ่งไป ชั่วขณะหนึ่งนั้น พระองค์ทรงนึกไปถึงพญายุทธิษเฐียร พระสหายเก่าของพระองค์ที่ยามนี้ปกครองนครสองแควอยู่ ในพระทัยของจอมคนยังอดกังวลมิได้ว่า การกระทำดังนี้ อาจกระทบต่อความรู้สึกของพระสหายเก่าไม่น้อย ทว่า เมื่อทรงไตร่ตรองแล้ว พ่ออยู่หัวก็ต้องทรงยอมรับว่า ข้อเสนอของออกญามหาเสนาแลออกญาจักรีนั้นยังประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อราชอาณาจักรอโยธยาและในฐานะของผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น ผลประโยชน์ของแผ่นดินย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรับสีพระพักตร์ให้เป็นปกติ ก่อนจะทรงมีรับสั่งว่า “เอาล่ะ ในเมื่อสิ่งนี้จักเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงแลเอกราชของอโยธยาแล้วไซร้ ข้าก็จักให้ดำเนินการตามที่พวกท่านว่ามา”
********************
ไม่นาน พระบรมราชโองการเปลี่ยนสถานภาพของนครสองแควก็ถูกส่งไปยังพญายุทธิษเฐียร ซึ่งการครั้งนี้ยังความขุ่นเคืองแก่เจ้าชายหนุ่มแห่งราชวงศ์พระร่วงเป็นอันมาก ด้วยว่าการเปลี่ยนนครสองแควจากเมืองลูกหลวงเป็นเมืองพระยามหานครนั้น ทำให้เจ้าครองนครถูกลดศักดิ์จากเจ้าประเทศราชเหลือเพียงเทียบเท่าขุนนางชั้นออกญาที่จะต้องเข้าพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาด้วยเท่านั้น
“พ่ออยู่หัวกระทำดังนี้ เท่ากับหยามเกียรติแลศักดิ์ศรีของข้ายิ่งนัก” เจ้านครสองแควตรัสอย่างไม่พอพระทัย “นอกจากมิทรงแต่งตั้งข้าเป็นมหาอุปราชดังที่เคยสัญญาแล้ว มาครานี้ ยังลดฐานะข้าให้เป็นเพียงขุนนางสามัญ เช่นนี้แล้ว ข้าจักมีหน้าไปมองผู้ใดได้ ในเมื่อข้าซึ่งสืบสายราชวงศ์พระร่วง ต้องตกต่ำจนกลายเป็นเพียงขุนนางของอโยธยาเยี่ยงนี้”
“ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่า เดือนหน้า ทางอโยธยาจักส่งขุนนางจำนวนหนึ่งมาช่วยราชการยังนครสองแคว”
“ช่วยราชการกระนั้นรึ” ผู้เป็นนายแค่นเสียง “ข้าว่าพวกมันถูกส่งมาให้คอยควบคุมข้าเสียมากกว่า”
“เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว พระองค์จะทรงทำเช่นใดต่อไปฤา พระเจ้าข้า” ขุนศรีรักษาทูลถามต่อ
พระพักตร์ของพญายุทธิษเฐียรเข้มคล้ำ ขณะรับสั่งด้วยสุรเสียงกร้าวว่า “ในเมื่อพ่ออยู่หัวทรงกระทำการอย่างไม่เห็นแก่หน้าสหายเก่าเช่นข้าเยี่ยงนี้แล้ว ข้าก็จักทำการโดยไม่เห็นแก่พระองค์อีกต่อไป”
“พระองค์คิดทำสิ่งใดหรือ”
เจ้าชายหนุ่มแห่งวงศ์พระร่วงเจ้าทรงนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะตรัสขึ้นว่า “ข้าจักหาที่พึ่งใหม่ เพื่อช่วยสนับสนุนให้วงศ์พระร่วงเจ้ามีโอกาสกลับมาเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกครา”
“ที่พึ่งใหม่..”อีกฝ่ายทวนคำ“ทรงหมายถึงผู้ใดฤาพระเจ้าข้า”
“ก็แลในยามนี้ สูคิดว่ายังมีผู้ใดอีก ที่มีเดชานุภาพทัดเทียมกับเจ้าเหนือหัวแห่งอโยธยาเล่า” พญายุทธิษเฐียรตรัส
*************
ภายในหอคำหลวงของพระราชวังแห่งเชียงใหม่ พญาติโลกราชประทับบนราชบัลลังก์พลางทอดพระเนตรบุรุษเจ็ดคนที่หมอบอยู่เบื้องพระพักตร์ พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณการที่ประกอบด้วย เครื่องอานม้าทองคำประดับอัญมณีสามสำรับ ผ้าไหมเดินเส้นทองสามสิบพับ รวมทั้งเครื่องเคลือบลายครามอันงดงามอีกสามสิบชุด
“พวกสูเป็นทูตจากสองแควกระนั้นรึ” พระองค์ตรัสถาม
“พระพุทธเจ้าข้า”บุรุษวัยสามสิบเศษที่หมอบอยู่หน้ากลุ่ม พนมมือขึ้นถวายบังคมก่อนกราบทูลตอบ “ข้าพระพุทธเจ้า ขุนศรีรักษาเป็นหัวหน้าทูตผู้นำสาส์นแลเครื่องราชบรรณการเพื่อแสดงความเคารพจากพญายุทธิษเฐียร นายของข้าพระพุทธเจ้ามาถวายใต้ฝ่าพระบาท” กล่าวจบ ขุนศรีรักษาก็นำกระบอกหนังลงรักปิดทองงดงาม ทูนขึ้นเหนือเกล้าเพื่อให้องค์เหนือหัวเชียงใหม่ทรงทอดพระเนตร
“จงอ่านสาส์นของนายสูให้ข้าฟัง” จอมคนแห่งล้านนาตรัสสั่ง
หัวหน้าทูตจากสองแควเปิดกระบอกปิดทองก่อนนำสาส์นที่อยู่ภายใน คลี่ออกอ่านตามพระบัญชา “ข้าพระพุทธเจ้า พญายุทธิษเฐียร ผู้ครองนครสองแคว ขอน้อมกราบถวายบังคม มายัง สมเด็จพระเจ้าติโลกราช องค์พระเป็นเจ้าแห่งโยนกล้านนา ผู้มีพระบรมเดชานุภาพกว้างไกลแผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศานุทิศ ตัวข้าพระพุทธเจ้าแลชาวสองแควทั้งปวงใคร่ขออาศัยพระบารมีของใต้ฝ่าพระบาทเป็นที่พึ่ง ด้วยว่ายามนี้ พระเจ้ากรุงอโยธยาได้กระทำการหักหาญน้ำใจ กดขี่ข่มเหงข้าพระพุทธเจ้าให้ได้รับความเคืองแค้นเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าในเพลานี้ หามีผู้ใดอีกแล้วที่จักเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้ยากได้นอกจากใต้ฝ่าพระบาท ผู้ทรงธรรมประดุจดังพระโพธิสัตว์ จึงใคร่ขอทรงมีพระเมตตาต่อข้าพระพุทธเจ้า อันเป็นสัตว์ผู้ยาก ผู้หมายหนีร้อนมาพึ่งเย็น ด้วยเทอญ”
พระพักตร์ของจอมคนเรียบเฉย ขณะที่รับสั่งถามขึ้นว่า “เหตุใด นายของสู จึงเรียกข้าว่า พระเจ้าติโลกราช”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า” ขุนศรีรักษากราบทูล “ที่นายของข้าพระพุทธเจ้ากล่าวพระนามใต้ฝ่าพระบาทดังนั้น ก็ด้วยหมายที่จักยอพระเกียรติของพระองค์ให้เป็นสมมติเทพเช่นดังพระเจ้ากรุงอโยธยา พระพุทธเจ้าข้า”
“สมมติเทพ... “จอมคนเชียงใหม่ตรัสทวนคำเบาๆ พระเนตรทั้งสองเปล่งประกายพอพระทัย ก่อนจะทรงมีรับสั่งถามอีกฝ่ายหนึ่งว่า “แล้วนายของสู ได้รับความเคียดเคืองอันใดจากพญาใต้ จึงหมายมาขอพึ่งพิงข้า”
“แต่เดิม ก่อนที่พระเจ้ากรุงอโยธยาจะขึ้นครองราชย์ พระองค์เคยเป็นสหายสนิทกับพญายุทธิษเฐียร นายของพระพุทธเจ้า มีคราหนึ่ง พระองค์ทรงเคยประทานคำสัตย์ว่า แม้วันใดขึ้นผ่านพิภพ ก็จักให้พญายุทธิษเฐียรเป็นมหาอุปราชปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทว่าหลังจากที่ทรงครองราชย์แล้ว หาได้ทรงปฏิบัติตามคำสัตย์ไม่ ซ้ำยังมีราชโองการลดศักดิ์ของนายแห่งข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นเพียงขุนนาง ทั้งที่นายของข้าพระพุทธเจ้านั้นสืบสายมาจากวงศ์พระร่วงเจ้าผู้ครองแคว้นฝ่ายเหนือสุโขทัยมาแต่เก่าก่อน นายของข้าพระพุทธเจ้าเจ็บช้ำน้ำใจยิ่งนักแลมองมิเห็นว่าจักมีผู้ใดอีกแล้วนอกจากใต้ฝ่าพระบาทผู้ทรงเดชานุภาพ ที่จะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรได้” อีกฝ่ายกราบทูลตอบ
เมื่อทรงสดับคำกราบทูลของหัวหน้าทูตจากสองแควแล้ว พญาติโลกราชก็ทรงแย้มสรวลอย่างสมพระทัย ก่อนจะทรงมีรับสั่งว่า “เอาล่ะ เห็นแก่ที่นายของสูเคารพนบไหว้ในตัวข้า แต่นี้ไป ข้าจักถือเขาเสมือนเป็นลูกคนหนึ่ง แม้นยามใดเดือดร้อนเคืองไหม้ จงออกปากมา ข้ายินดีสนับสนุนช่วยเหลือ สูจงนำความกลับไปแจ้งพญายุทธิษเฐียรดังนี้เถิด”
“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ขุนศรีรักษากราบทูลด้วยสีหน้าที่แฝงความยินดี” พญายุทธิษเฐียร นายของข้าพระพุทธเจ้าจักมิลืมเลือนพระเมตตาของใต้ฝ่าพระบาทในครานี้จนชั่วพระชนม์ชีพ”
“กลับไปแล้ว จงแจ้งแก่นายสูว่า หากมีโอกาส ข้าใคร่พบเขาสักครา เพื่อจักได้ปากจากัน” จอมคนเชียงใหม่ตรัส
“รับด้วยเกล้า พระพุทธเจ้าข้า”
พญาติโลกราชทรงละสายพระเนตรจากหัวหน้าทูตและหันไปตรัสเรียกอำมาตย์ผู้หนึ่ง”หมื่นด้ามพร้า สูจงนำทูตสองแควไปพักยังคุ้มอันจัดเตรียมไว้แลคอยดูอย่างให้ขาดตกบกพร่องอันใดได้”
“ข้าเจ้าน้อมรับบัญชา”อีกฝ่ายถวายบังคมรับ จากนั้นขุนศรีรักษาและคณะทูตจึงกราบถวายบังคมทูลลาก่อนจะตามหมื่นด้ามพร้าออกจากท้องพระโรงไป
************
หลังเสร็จจากออกว่าราชการ พญาติโลกราชทรงประทับพักผ่อนอยู่ภายในพระราชอุทยานริมแม่น้ำปิง พร้อมกับท้าวศรีบุญเรือง ผู้เป็นพระโอรสซึ่งในยามนั้นได้เสด็จจากเชียงรายมาประทับยังเชียงใหม่เป็นเวลาสัปดาห์หนี่งแล้ว
“ไหว้สา เจ้าพ่อ” ท้าวศรีบุญเรืองกราบทูลขึ้น “การอันพญาสองแควส่งคนถือหนังสือมาขออ่อนน้อมในวันนี้ จักแน่ใจได้อย่างใดว่า มิใช่กลลวงหลอกของชาวใต้”
“ก่อนนี้ พ่อเคยให้คนสืบลอบเข้าไปยังแดนใต้หลายหน แลยินเรื่องขัดเคืองระหว่างสุโขทัยกับอโยธยามาบ้าง ฉะนั้นพ่อจึงเห็นว่า การมาอ่อนน้อมของพญาสองแควในครานี้ คงมิใช่กลอุบายอันใด” พญาติโลกราชตรัส
“แต่เราจักวางใจคนที่คิดคดต่อสหายแลนายเดิมเช่นพญาสองแควผู้นี้ได้ละหรือ”
“แม้นเรามิอาจวางใจคนเยี่ยงนี้ได้ แต่ก็ใช่ว่า ใช้งานอันใดเขามิได้” จอมคนทรงมีรับสั่ง “ยามนี้ พญาสองแควหมายพึ่งเราเพื่อเป็นใหญ่ หากใช้สิ่งนี้เข้าล่อ ไหนเลยที่เขาจักมิทำคุณแก่เรา อย่างน้อย ยามใดที่เรายกทัพไปต่อตีกับชาวใต้ พญาสองแx่อมหันเข้าด้วยเราเที่ยงมั่น”
“เจ้าพ่อกล่าวฉะนี้ หมายความว่า อีกไม่นาน เราจักได้ยกคนศึกไปตีปราบชาวใต้ ใช่หรือไม่” สุรเสียงของท้าวศรีบุญเรืองเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น
“ก็คงอีกมินานเท่าใดดอก ที่เราสองพ่อลูกจักนำทัพลงไปย่ำยังเวียงใต้ด้วยกัน” พญาติโลกราชตรัสตอบพลางแย้มพระสรวลขณะที่พระเนตรทั้งสองนั้นเป็นประกายอย่างมุ่งหมาย....
*******************************
นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ

ถึงแม้ ด้านการปกครองจะเจริยก้าวหน้า
อยากรู้ว่า พญาสองแคว จะทำอย่างไร ถ้าไม่ได้เป็นมหาอุปราช ช่วยมาลงต่อเร็วๆด้วยนะ