ตอนที่ 2 : ภาค1 ปฐมบทแห่งสงคราม ตอน ทวาราวดีศรีอโยธยา
พุทธศักราช ๑๙๘๕
ชายสามคนสวมเสื้อแขนสั้นคอกลมสีเทา ผมยาวรวบไว้ท้ายทอย โพกผ้าขาว นุ่งผ้าหยักรั้ง สีดำทับกางเกงครึ่งแข้งสีเทา สะพายดาบ ควบม้าผ่านไร่นาและบ้านเรือน ไปยังแนวกำแพงไม้บนคันดินสูง ล้อมรอบด้วยลำน้ำ หลังกำแพง คือบ้านเรือนใหญ่น้อยนับหมื่นและเวียงวังวัดวาอันงดงามของราชธานี ที่ตั้งมาแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์อู่ทอง สืบมาถึงแผ่นดินเจ้าสามพระยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ อันเป็นราชวงศ์ที่สอง ซึ่งปกครองอาณาจักรและราชธานีแห่งนี้ อันมีนามว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอโยธยา
นับแต่ก่อตั้ง อำนาจแห่งศรีอโยธยาได้แผ่ไพศาลกว้างไกล โดยเข้าครอบครองอาณาจักรสุโขทัยที่อยู่ทิศเหนือ แคว้นนครศรีธรรมราชทางทิศใต้ นครตะนาวศรีทางทิศตะวันตกและอาณาจักรพระนครศรียโศธรปุระ ของชนชาวขอมแห่งบูรพาทิศ ทำให้แสนยานุภาพของอโยธยาเป็นที่ครั่นคร้ามของแว่นแคว้นใกล้เคียง
ชายทั้งสามควบม้าไปยังสะพานข้ามคูเมือง ก่อนถูกหยุดโดยกลุ่มทหารยามที่ตัดผมสั้น สวมหมวกหนังทรงระฆังคว่ำปีกกว้าง ใส่เสื้อแดงนุ่งโจงกระเบนสีดำยาวเสมอเข่า คาดเอวด้วยผ้าดำ ยืนถือหอกอยู่ที่ซุ้มประตูเมืองก่อด้วยอิฐแดง
“พวกเจ้ามาแต่ที่ใด แลจักไปที่ใด จงแจ้งมาอย่าช้าที” นายประตูร้องถามเสียงเข้ม
ชายผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มคนขี่ม้าตอบว่า “ฝูงข้าเป็นม้าเร็วมาแต่สุโขทัย ถือหนังสือสำคัญจักขึ้นถวายพ่ออยู่หัว”
“เช่นนั้น ขอดูหมายตราตามคำกล่าวอ้างด้วย”
ชายบนหลังม้าหยิบใบลานที่มีตราประทับของพลนำสาส์น ส่งให้นายประตู เมื่ออีกฝ่ายตรวจดูแล้ว พบว่าถูกต้อง จึงหันไปสั่งให้เปิดทาง จากนั้นพลนำสาส์นทั้งสามก็ควบม้าผ่านซุ้มประตูไปตามถนนดินที่มุ่งสู่พระบรมมหาราชวังแห่งกรุงศรีอโยธยาในทันที
****************
ในท้องพระโรงของพระบรมมหาราชวัง สมเด็จเจ้าสามพระยา พระบรมราชาธิราชที่สองได้ทรงมีพระบัญชาเรียกประชุมเหล่าขุนนาง หลังทอดพระเนตรสาส์นที่ม้าเร็วจากสุโขทัยนำมาถวาย
“ยามนี้ ท้าวลก โอรสพญาสามฝั่งแกนแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ชิงราชสมบัติพระบิดาแลขึ้นเป็นกษัตริย์ นาม พญาติโลกราช” พระองค์ทรงรับสั่งถึงเนื้อความในสาส์น “การอันท้าวลกชิงราชสมบัติ เป็นเหตุให้ท้าวช้อย เจ้าเมืองฝาง ผู้อนุชา แลหมื่นเชริงไกรสามขนาน เจ้าเมืองเทิง ขุ่นเคืองคิดกระด้างกระเดื่อง” องค์เหนือหัวทรงแย้มสรวลเมื่อรับสั่งมาถึงตรงนี้ “แลที่น่ายินดีคือ บัดนี้ สองขุนยวน มีชื่อนั่นได้ส่งสาส์นอ่อนน้อมต่อ อโยธยา แลขอให้เรายกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่เพื่อกำจัดท้าวลก โดยทั้งสองจักนำทัพมาหนุนช่วย”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ใต้ฝ่าพระบาทหมายยกทัพไปตีนครพิงค์ ตามคำขอของท้าวช้อยแลหมื่นเทิงฤาพระพุทธเจ้าข้า” ขุนเวียงซึ่งเป็นอำมาตย์ผู้ดูแลพระนครกราบทูลถาม
“ใช่” พ่ออยู่หัวตรัส “เพลานี้เหมาะนัก ด้วยโยนกเกิดศึกภายใน แม้นเรายกทัพไป นครพิงค์คงมิพ้นมือเป็นแน่”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระพุทธเจ้าใคร่ขอใต้ฝ่าพระบาท อย่าได้ทรงประมาทท้าวลก” ขุนมหาเสนา แม่ทัพใหญ่วัยสี่สิบห้า กราบทูลขึ้น “ท้าวลกผู้นี้ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญเชิงศึก อีกทัพยวนก็เข้มแข็งมิน้อย ทั้งเป็นการรบในบ้านเมืองเขา ฝ่ายเขาย่อมชำนาญชัยภูมิยิ่งกว่าเรามากนัก”
“เจ้าคงระแวงเกินไปแล้วกระมัง มหาเสนา” สมเด็จพระบรมราชาธิราชตรัสเย้าแม่ทัพคู่พระทัย “แม้ท้าวลกจักเก่งกาจ แต่การทุรยศบิดา ถือว่าขาดคุณธรรมใหญ่หลวง แลผู้ใดไร้ธรรม ผู้นั้นย่อมไร้มิตร ข้าเชื่อว่าประพฤติท้าวลก ย่อมเป็นที่ชิงชังของหัวเมืองทั้งปวง ใช่แต่เมืองฝางแลเมืองเทิง เยี่ยงนี้แล้วเจ้ายังคิดว่าฝ่ายเราจักเพลี่ยงพล้ำอีกละหรือ”
“หามิได้” อีกฝ่ายกราบทูล “ข้าพระพุทธเจ้าเพียงใคร่ขอทรงไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนทำศึกในครานี้”
“ขอบน้ำใจที่เตือน หากการนี้ ข้าได้ไตร่ตรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” พ่ออยู่หัวตรัสอย่างมั่นพระทัย ก่อนทรงมีพระบัญชากับเหล่าขุนนางว่า “พวกเจ้าจงเร่งไปเตรียมการให้พร้อมสรรพ อีกสิบราตรี เราจักยกทัพไปตีนครพิงค์”
***************
ที่เรือนขุนราชเสนา บริเวณหอนั่ง ผู้เป็นเจ้าบ้านกำลังนั่งสนทนากับนายทหารหนุ่มวัยยี่สิบเศษ ร่างสูงล่ำสันใบหน้าคมคาย โดยมีทาสหญิงสามคนนั่งกึ่งหมอบคอยรับใช้ห่างไปไม่มากนัก
“เหลืออีกสามขวบวัน ก็ได้เพลาเคลื่อนทัพแล้ว” ขุนมหาเสนากล่าวพลางหยิบหมากในพานขึ้นมาเคี้ยว “กล่าวตามตรง ข้าให้กังวลใจในศึกนี้อย่างบอกมิถูก”
“พระคุณท่านกังวลสิ่งใด” หัวหมู่แสน นายทหารคนสนิทถาม
“ข้าเกรงว่า ศึกเชียงใหม่ อาจมิง่ายดังที่ทรงดำริ” ผู้สูงวัยกว่าตอบตามตรง ด้วยถือว่าอีกฝ่ายเป็นคนสนิทที่ตนไว้วางใจ “ยิ่งหมายชำนะมากเพียงใด ก็อาจทำให้ศัตรูเล็กกว่าเป็นจริงมากเพียงนั้น”
“แต่กระผมเชื่อว่า ศึกนี้ อโยธยาน่าจักได้ชัย” ชายหนุ่มออกความเห็น
“เหตุใด เชื่อเช่นนั้น”
“ศึกที่ผ่านมา ทัพอโยธยาล้วนได้ชัย ไพร่พลก็เข้มแข็งบริบูรณ์ ทั้งครานี้ พ่ออยู่หัวทรงนำทัพด้วยพระองค์เอง เช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้ขวัญกำลังใจไพร่พลฮึกเหิมยิ่งขึ้น ขณะที่ข้างฝ่ายยวนนั้น กำลังแตกแยกภายใน อุปมาดั่งแผ่นศิลาปริร้าว หากต้องแรงค้อน คงมิพ้นแหลกลาญ” แสนวิเคราะห์ตามความคิดของตน
“เข้าใจเปรียบหนา ออเจ้า” ผู้เป็นนายชม “นอกจากมีฝีมือในเชิงอาวุธแล้ว คารมก็ยังเฉียบคมมิแพ้กัน”
“กระผมยังเบาความ หาได้เก่งกาจแต่อย่างใด” ชายหนุ่มถ่อมตัว
“เก่งหรือไม่ ออกศึกเมื่อใด ก็คงได้รู้” อีกฝ่ายกล่าวก่อนถามว่า “นี่เป็นศึกแรกของเจ้า ข้าใคร่รู้ว่า เจ้ารู้สึกเยี่ยงไร”
“กระผมมิรู้สึกอันใด นอกจากกระหายใคร่ประดาบกับพวกศัตรูเท่านั้น” หัวหมู่หนุ่มตอบอย่างฮึกหาญ
“สำคัญนัก” แม่ทัพใหญ่หัวเราะชอบใจ “เช่นนั้น ข้าจักดูว่า เจ้าจักสู้ศึกได้ห้าวหาญดังปากจาหรือไม่”
“ศึกนี้ กระผมจักสู้ให้สุดกำลัง” แสนกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ดวงตาทั้งสองเป็นประกาย
******************
สามวันต่อมา เพลาก่อนรุ่ง วันเคลื่อนทัพ ที่ทุ่งลุมพลี ชานพระนคร ผู้คนหลายหมื่นชุมนุมคลาคล่ำ ทั้งเหล่าทหารและครอบครัวที่มาส่ง แสงคบนับพันปักอยู่ทั่วทุ่ง ส่องให้เห็นใบหน้าผู้คนในที่นั้น ซึ่งล้วนแต่แสดงถึงความห่วงอาลัยที่ต้องจากผู้ที่รัก โดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้พบกันอีกหรือไม่
ท่ามกลางผู้คน แสนซึ่งใส่เสื้อแดง นุ่งโจงกระเบนสั้นสีเขียวเข้มทับกางเกงครึ่งแข้งสีแดง สวมเกราะผ้า(5)สีดำ ใส่หมวกทรงระฆังคว่ำปีกกว้าง กำลังยืนอยู่กับหญิงสาววัยสิบแปดปี ผิวขาว หน้าสวยหวาน ผมปล่อยยาว พันผ้าแถบสีชมพูห่มสะไบสีตองอ่อน นุ่งผ้าซิ่นสีเขียวขาบ พับจีบหน้า ชายยาวเกือบถึงข้อเท้า คาดเข็มขัดนาก
“ที่จริงมิต้องมาส่งพี่ก็ได้ จันทน์หอม” หัวหมู่หนุ่มกล่าวกับหญิงสาวด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน “ลำบากเจ้าโดยแท้”
“พี่แสนออกศึกคราแรก ข้าจักมิส่งได้เยี่ยงไร” หญิงสาวเจ้าของนาม จันทน์หอม ว่าพลางช้อนตามองอีกฝ่ายด้วยสายตากังวล “หากเลือกได้ ข้าคงมิยอมให้พี่ไป”
“ออเจ้าจักให้พี่หลีกหนีราชการ กระนั้นฤา”
“แต่พี่มิเคยออกศึก ข้าให้หวั่นใจนักว่า....” จันทน์หอมไม่กล้ากล่าวต่อ
“มิต้องกังวลดอก” ชายหนุ่มยิ้มบางๆ “แม้มิเคยออกศึก แต่พี่ก็ฝึกอาวุธมานานปี เยี่ยงไรเสียก็คงเอาตัวรอดได้แน่”
“ถึงกระนั้น ข้าก็ยังอดห่วงมิได้”
แสนมองเข้าไปในตาคู่งาม ก่อนพูดว่า “พี่สัญญา ว่าจักรักษาเนื้อรักษาตัว กลับมาหาเจ้า ให้จงได้”
“พี่ต้องรักษาสัญญานะ” จันทน์หอมมองหน้าอีกฝ่ายอย่างขอคำมั่น
“พี่สาบาน” ชายหนุ่มสบตาหญิงสาว “ดวงใจพี่รออยู่ที่อโยธยา มิว่าอย่างไร พี่ก็ต้องกลับมา”
เสียงกลอง เรียกรวมพลดังขึ้น แสนเอ่ยลาคนรัก เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเดินจากไป โดยมีจันทน์หอมยืนมอง จนร่างนั้นลับไปในฝูงชน หยาดน้ำแห่งความห่วงอาวรณ์ คลอในดวงเนตรงามทั้งสอง
สามปีนับแต่รู้จักกันมา นี่เป็นคราแรก ที่คนรักของนางต้องจากไกล ทั้งเป็นการไปทำศึก ที่มิรู้ว่ามีชะตากรรมใดรออยู่ แม้จันทน์หอมจะพยายามทำใจให้เข้มแข็งเพียงไร แต่ก็ดูเหมือนความห่วงหาอาลัย จะมีอำนาจยิ่งกว่า ทว่ายามนี้ สิ่งเดียวที่ทำได้ ก็มีเพียงภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
...ขอกุศลผลบุญที่ได้กระทำในชาตินี้ ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองพี่แสนให้ปลอดภัยกลับมาด้วยเถิด...
************************
ครั้นยามรุ่งอรุณ เหล่าไพร่พลก็เข้าประจำกองรบ ธงทิวปลิวไสว พลม้านับพันใส่เสื้อแขนยาว กางเกงครึ่งแข้งสีแดงทับด้วยโจงกระเบนเขียวเข้ม สวมเกราะผ้า ทับด้วยกรองคอ ใส่สนับแขนและสนับแข้ง เคียนเอวด้วยผ้าดำ ใส่หมวกหนัง สะพายดาบ ถือทวน ตั้งแถวหน้าขบวน ถัดมาเป็นทหารราบหลายพันนาย สวมหมวก นุ่งผ้าดำยาวเสมอเข่า ใส่เสื้อคอแหลมสีดำ แดง เขียว มีบ้างที่สวมกรองคอ ถืออาวุธแตกต่างกันทั้ง ดาบคู่ ดาบโล่ ดาบดั้ง หอก ง้าว ธนู ตามสังกัด จากนั้นจึงเป็นกองช้างศึก พร้อมกองเกวียนบรรทุกปืนใหญ่ ธนูเพลิง กระสุนดินดำกับเสบียงอาหารและสุดท้ายคือไพร่เลวนับหมื่นที่ส่วนใหญ่นุ่งผ้าพื้นไม่ใส่เสื้อ หรือบ้างก็สวมเสื้อสั้นผ้าดิบสีขาว ถือหอกดาบเป็นอาวุธ
เมื่อได้เพลาอันเป็นมหามงคลฤกษ์ เสียงประโคมฆ้องกลองดังขึ้น พระสงฆ์สวดอำนวยพร เหล่าพรามณ์เป่าสังข์กังวาน จากนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชในฉลองพระองค์ชุดนักรบ สวมเกราะผ้าประดับทองคำ ก็ทรงขึ้นประทับบนหลังพระคชาธาร ก่อนเสด็จนำรี้พลทั้งสิ้นสองหมื่นสามพัน เคลื่อนออกจากทุ่ง ไพร่พลต่างโห่ร้องเอาฤกษ์เอาชัย…
หลังเคลื่อนพลออกจากพระนครได้ยี่สิบวัน กองทัพอโยธยาก็มาถึงนครไชยนาทสองแคว อันเป็นหัวเมืองเอกของแคว้นสุโขทัยซึ่งเป็นประเทศราชฝ่ายเหนือและได้เกณฑ์กำลังหัวเมืองเหนือเข้าสมทบอีกสองหมื่น
ทว่าขณะยั้งทัพอยู่สองแคว สมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ทรงได้รับข่าวร้ายว่า ทัพเชียงใหม่ที่นำโดยเจ้าหลวงหมื่นด้งนคร ผู้เป็นพระปิตุลาของพญาติโลกราช ได้ตีเมืองฝางและเมืองเทิงไว้ได้แล้ว ท้าวช้อย เจ้าเมืองฝางเสียชีวิตในที่รบ ส่วนเจ้าเมืองเทิงนั้นถูกจับบั่นหัวเสียบประจานในแพหยวกและปล่อยลงสู่ลำน้ำน่าน
“ท้าวลกทำการเร็วนัก ทัพเรามิทันเข้าแดนนครพิงค์ ก็ปราบท้าวช้อยแลหมื่นเทิงได้แล้ว” สมเด็จพระบรมราชาธิราช ทรงมีรับสั่งในที่ประชุม ด้วยพระพักตร์เคร่งเครียด
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า” ขุนมหาเสนากราบทูล “เมื่อการณ์กลับกลายเป็นฉะนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า เราควรยั้งทัพอยู่สองแควเพื่อรอดูเหตุ ก่อนคิดการสืบไป พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้ายกพลมาถึงที่นี่ หากมิยอมเคลื่อนทัพต่อ พวกยวนจักมิเย้ยเอาว่า เรากลัวมันกระนั้นหรือ” พ่ออยู่หัวตรัสอย่างไม่พอพระทัย “แม้นสิ้นสองขุนยวนมีชื่อนั่นแล้ว เราก็จักทำให้ท้าวลกได้เห็นว่า ทัพอโยธยานั้นแข็งแกร่งเพียงใด”
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า เช่นนั้นแล้ว จักทรงโปรดฯให้ทำประการใด พระพุทธเจ้าข้า” ขุนวัชรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรกราบทูลถาม
พระเนตรองค์เหนือหัวฉายประกายมุ่งมั่น ก่อนรับสั่งด้วยพระสุรเสียงก้องกังวาน “เจ้าทั้งปวงจงไปเตรียมการให้พร้อม วันรุ่งพรุ่งนี้ เราจักเคลื่อนทัพสู่นครพิงค์”
******************
นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ

ขอแสดง คหสต นิดนึงได้มั้ยเอ่ย? มันจะมีประโยคนึงรู้สึกจะว่า "ดาบในมือหวดซ้ายป่ายขวาอย่างรวดเร็ว"
คือคิดว่าไม่น่าจะใช้คำนี้อ่ะค่ะ (หวดซ้ายป่ายขวา) เพราะจะรู้สึกเหมือนฟันข้าศึกไปมั่วๆมากกว่าที่จะใช้เชิงดาบเพื่อสู้รบ
(เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ^^")
แต่ว่าสนุกมากๆๆ><สู้ๆนะค่ะ^^