คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : โบดิก้า ราชินีคนเถื่อนผู้ท้าสู้จักรวรรดิโรมัน (Bodicea The babarian queen)
โบดิก้า ราชินีคนเถื่อนผู้ท้าสู้จักรวรรดิโรมัน (Bodicea The babarian queen)
ในยุคสองพันปีก่อน เกาะอังกฤษถูกครอบครองโดยกลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า ชาวไบรตัน( Briton) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของพวกเซลติก(Celtic) ที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ พวกไบรตันอาศัยอยู่กันเป็นเผ่าย่อยๆหลายสิบเผ่ากระจายกันอยู่ทั่วไปบนเกาะอังกฤษ และต่างก็รบพุ่งกันเอง โดยในสายตาของชาวโรมันนั้น พวกไบรตันถูกมองว่าเป็นชนเผ่าป่าเถื่อนที่ล้าหลัง เนื่องจากชนกลุ่มนี้นิยมใช้สีแต้มตามเนื้อตัว พวกนักรบมักเปลือยท่อนบน และบางเผ่าก็เปลือยกายด้วย
พระนางโบดิก้า
ต่อมาในปี ค.ศ. 43 ซึ่งตรงกับยุคของจักรพรรดิคลอดิอุส หลังจากจัดการกับความวุ่นวายในแถบเมดิเตอเรเนียนลงได้ จักรวรรดิโรมันก็ส่งกองทัพเข้ารุกรานเกาะอังกฤษ ชาวไบรตันเผ่าต่างๆ ซึ่งไม่อาจต่อส้กับกองทัพโรมันได้ ต่างต้องยอมสยบแก่ผู้รุกราน
หลังจากยึดครองเกาะอังกฤษได้แล้ว ชาวโรมันได้สร้างเมืองใหม่ขึ้น และจัดการปกครองเมืองเหล่านี้ ตามแบบเมืองอื่นของจักรวรรดิ โดยชาวไบรตันเผ่าต่างๆต้องเสียภาษีแก่โรม
ปี ค.ศ.60 ซึ่งเป็นรัชสมัยของจักรพรรดิเนโรนั้น กษัตริย์แห่งเผ่าไอซินี่(Iceni) นามว่า พราซูทากัส(Prasutagus) ได้เสียชีวิตลง โดยปราศจากผู้โอรส คงมีเพียงมเหสีนามว่าโบดิก้า(Bodicea) กับธิดาอีกสององค์เท่านั้น ทั้งนี้ก่อนตายเนื่องจากพราซูทากัสเกรงว่า ครอบครัวของตนจะลำบากเมื่อตนตายแล้ว ดังนั้นจึงทำพินัยกรรมให้ขุนนางโรมันที่เป็นข้าหลวงประจำเกาะอังกฤษชื่อ ดีเซียนุส คาตุส(Decianus Catus) ปกครองเผ่าไอซินี่ร่วมกับมเหสีของตน โดยหวังจะให้พวกโรมันคุ้มครองชนเผ่าของตน
ทว่าเหตุการณ์ไม่เป็นดังที่คิด ดีเซียนุส คาตุส ได้ประกาศครอบครองทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งเผ่าไอซีนี่แต่ผู้เดียว และทำการขูดรีดทรัพย์สินเงินทองต่างๆ พระนางโบดิก้าไม่ยินยอมและต่อต้านโดยการไม่ให้เผ่าของนางจ่ายเงินแก่โรม ดีเซียนุส คาตุสจึงตอบโต้โดยการส่งทหารเข้ามายังดินแดนของเผ่าและกวาดทรัพย์สินไปจนสิ้น และที่ร้ายที่สุดคือสั่งให้ทหารโรมันกระทำาการข่มขืนธิดาทั้งสองของพระนางโบดิก้าต่อหน้าพระนางเองด้วย
เหตุการณ์ทั้งหมดสร้างความโกรธแค้นให้แก่พระนางอย่างหาที่เปรียบมิได้ พระนางจึงปลุกระดมชาวไอซินี่รวมทั้งชาวไบรตันเผ่าต่างๆให้ลุกขึ้นต่อสู้กับโรมันและขับไล่ผู้รุกรานออกไป ชาวไบรตันทั้งหลายซึ่งล้วนไม่พอใจการกดขี่ของโรมันมานนาแล้วต่างขานรับการกบฏต่อจักรวรรดิในครั้งนี้ พระนางโบดิก้าจึงสามารถรวบรวมทัพได้ถึงหนึ่งแสนคนและยกเข้าโจมตีเมืองใหญ่สามเมืองที่พวกโรมันสร้างขึ้น คือ เมืองลอนดิเนี่ยม เมืองคามูโลดูนั่มและเวรูลาเมี่ยม (ปัจจุบันคือเมืองลอนดอน , คลูเชสเตอร์และเซนต์อัลเบน)
ภาพนายทหารโรมันพร้อมกับ พลทหารราบที่ถือโล่และหอก
ในเวลานั้น ซูโตนิอุส พอลินุส(Suetonius Paulinus)แม่ทัพโรมันพร้อมกำลังส่วนใหญ่ยกไปทำสงครามนอกเกาะอังกฤษ ทำหใทหารโรมันที่ขาดผู้นำถูกสังหารอย่างทารุณ กองทัพของโบดิก้าได้รับคำสั่งให้สังหารชาวโรมันทุกคนและทำลายเมืองทั้งสามจนราบเรียบ ประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่า มีชาวโรมันทั้งชายหญิง เสียชีวิตในครั้งนี้ถึง 70000 คน แต่อีเซียนุส คาตุสข้าหลวงใหญ่หนีไปได้ โดยหลบไปอยู่ที่กรีกและไม่กล้ากลับโรมเนื่องจากกลัวจะถูกลงโทษที่ทำให้เกิดกบฏขึ้น
หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ทั่วเกาะอังกฤษต่างเฉลิมฉลองให้กับอิสรภาพและไม่มีการจ่ายเงินให้กับโรมอีกต่อไป ชาวไบรตันทั่วอังกฤษต่างยกให้พระนางโบดิก้าเป็นผู้นำชาวเกาะทั้งมวล
ทว่าหลังจากพอลลินุสแม่ทัพโรมันทราบเรื่องก็รีบยกทัพกลับมาเพื่อปราบกบฏทันที ฝ่ายไบรตันมั่นใจว่าจะชนะศึกอีก เนื่องจากมีกำลังมากกว่า โดยที่ลืมไปว่ากำลังส่วนใหญ่เป็นเพียงชาวไร่ชาวนาที่รวมตัวกันเพราะความแค้นโดยขาดความรู้ทางขาดยุทธวิธี อีกทั้งประสิทธิในการบก็ด้อยกว่ากองทัพโรมันมากนัก นอกจากนี้ในกองทัพยังมีเด็กและผู้หญิงรวมอยู่ด้วย
และในปีค.ศ.61 กองทัพทั้งสองฝ่ายก็เผชิญหน้ากันที่ช่องเขาใกล้กับลอนดอน โดยทัพของโบดิก้ามีกำลังมากกว่าหนึ่งแสนคน ในขณะที่พวกโรมันมีเพียงสองหมื่นคนเท่านั้น
ก่อนการรบเริ่มขึ้น พระนางโบดิก้าปรากฏตัวบนรถศึกเทียมม้า หน้าแถวนักรบ จากนั้นจึงได้ให้สัญญาณกองทัพเข้าโจมตีข้าศึก โดยฝ่ายไบรตันได้พุ่งหอกเข้าใส่และเปิดฉากการรบทันที แม้ว่าฝ่ายไบรตันจะมีกำลังใจดีเยี่ยม แต่ทว่า ฝ่ายโรมันซึ่งเป็นทหารอาชีพที่มีวินัยดีกว่าพร้อมทั้งอาวุธที่มีประสิทธิภาพได้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ
นักรบไบรตันถูกสังหารเป็นจำนวนมากขณะที่ทหารโรมันเดินหน้าเข้าประจัญบาน และในที่สุดกองทัพไบรตันก็พ่ายแพ้ โดยฝ่ายโรมันสังหารชาวไบรตันหลายหมื่นคน จนซากศพเต็มท้องทุ่ง แต่พระนางโบดิก้าหนีรอดไปได้ ประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่าหลังจากนั้นไม่นานพระนางก็ป่วยและเสียชีวิต แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระนางโบดิก้าและธิดาทั้งสองปลิดชีพตัวเองด้วยยาพิษมากกว่าเนื่องจากไม่ยอมเสียเกียรติจากการถูกจับเป็นเชลย
หลังการศึกครั้งนี้ ซูโตนิอุส เสนอแก่จักรพรรดิเนโรว่า ควรจะกวาดล้างพวกที่ยังต่อต้านอยู่ให้สิ้นซาก แต่เนโรไม่เห็นด้วย และส่งข้าหลวงคนใหม่ที่มีความเป็นธรรมมาปกครองเกาะอังกฤษทำให้การต่อต้านยุติลง
แม้การกบฏครั้งนี้จะล้มเหลวแต่ก็ทำให้ชาวโรมันตระหนักว่าควรต้องปฏิบัติต่อชาวอังกฤษให้ดีกว่าเดิม เรื่องราวของพระนางโบดิก้าเป็นวีรกรรมที่เป็นที่รู้จักดีของชาวอังกฤษ และเป็นที่เล่าขานสืบต่อมาในเรื่องราวความกล้าหาญของ พระนางโบดิก้า ราชินีคนเถื่อนผู้หาญสู้กับจักรวรรดิโรมัน
อนุสาวรีย์ของพระนางโบดิก้าในกรุงลอนดอน
ความคิดเห็น