คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : การล้อม (Siege)
ทหารพลร่มฝรั่งเศสถูกส่งออกไปเสริมกำลังให้กับเพื่อนร่วมรบที่อยู่ภายใต้วงล้อมในยุทธการซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การล้อมมักจะเป็นอาวุธหลักที่สำคัญเสมอในปฏิบัติการทางทหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำลายที่มั่นหรือกองกำลังของข้าศึก และบ่อยครั้งที่วิธีการดังกล่าว พลเรือนจะต้องเข้ามามีส่วนพัวพันกับการรบด้วย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง การล้อมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม
แผนยุทธการ คือ การล้อม
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เวียดนาม ค.ศ. 1953
หนึ่งทศวรรษก่อนหน้าปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม เวียดนามยังคงเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ที่คอมมิวนิสต์ นำโดยเวียดมินห์ ทำสงครามกองโจรต่อต้านฝรั่งเศส
ต้นปี ค.ศ. 1953 เวียดมินห์รุกรานอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกแห่งหนึ่ง คือ ประเทศลาว
นายพลชาวฝรั่งเศส Henri Navarre ต้องการที่จะหยุดยั้งการใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางส่งเสบียงของเวียดมินห์ เขาจึงได้สร้างเมืองและฐานปฏิบัติการที่มีการป้องกัน โดยหนึ่งในนั้น คือ ที่มั่นฝรั่งเศส ณ เดียนเบียนฟู
ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติการของเวียดมินห์ นายพลโว เหวงียน เกี๊ยบ ทราบถึงความสำคัญทางทหารของพื้นที่เช่นกัน
แต่ผู้บัญชาการทั้งสองก็ทราบดีถึงการพิจารณาทางการเมืองครั้งสำคัญ อันได้แก่ การเจรจาสันติภาพที่จะกำหนดอนาคตอนาคตของเวียดนามและภูมิภาคด้วยเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการจะมีอิทธิพลเหนือการเจรจาดังกล่าว
นายพลเกี๊ยบพยายามที่จะทำลายข้าศึกลงด้วยหนึ่งในแผนยุทธการที่ร้ายกาจที่สุดในการทำสงคราม การล้อม
การล้อมถือได้ว่าเก่าแก่พอ ๆ การถือกำเนิดขึ้นของการสงครามเลยทีเดียว
แก่นของการล้อม คือการรบที่กินเวลานาน และดำเนินไปอย่างช้า ๆ ในฐานะเช่นนั้น การล้อมจึงประกอบด้วยปัจจัยอื่น ๆ ของการรบ ประกอบกับส่วนประกอบของเวลา
ฝ่ายป้องกันพยายามที่จะซื้อเวลา ชะลอการบุกของข้าศึก และฝ่ายโจมตีพยายามที่จะทำลายกองกำลังฝ่ายป้องกันอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ซึ่งในแผนยุทธการสำหรับการล้อม ทั้งฝ่ายโจมตีและฝ่ายป้องกันต้องบรรลุปัจจัยในการทำการล้อมเหมือนกัน
จุดประสงค์ที่ชัดเจน ฝ่ายโจมตีจะต้องรู้ว่าเขาต้องการเพียงแค่ตรึงกองกำลังของศัตรูไว้ หรือทำลายกองกำลังนั้นทั้งหมด
และฝ่ายป้องกันจะต้องตัดสินใจว่าเขาต้องการเพียงแค่ยื้อเวลาออกไป หรือประคองสถานการณ์จนกระทั่งเขาสามารถโจมตีโต้กลับได้
วิธีการเริ่มต้น ฝ่ายโจมตีจะต้องมั่นใจว่าเขามีกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพียงพอที่จะเริ่มการล้อม ในขณะที่ฝ่ายป้องกันจะต้องมั่นใจว่าเขามีกำลังพอที่จะยื้อเวลาได้นานเท่าที่จำเป็น
การยึดครองที่สูง ทั้งสองฝ่ายจะต้องยึดครองที่สูงรอบเป้าหมาย ฝ่ายป้องกันจะต้องมั่นใจว่าฝ่ายโจมตีจะไม่สามารถยิงลงมาสู่ที่ตั้งของเขาได้ ซึ่งแต่โบราณ ฝ่ายโจมตีจะพยายามบรรลุปัจจัยดังกล่าวด้วยหอรบ (Siege Tower) หรือการยึดครองเนินสูงที่อยู่ใกล้เคียง
แต่ในศตวรรษที่ 20 กำลังทางอากาศก็เข้ามามีผลต่อการยึดครองที่สูงอย่างมากด้วยเช่นกัน
กำลังบำรุง เมื่อการล้อมเริ่มต้นขึ้น ฝ่ายโจมตีจะต้องตัดการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายป้องกัน ขณะที่จะต้องรักษากำลังบำรุงของตนให้เพียงพอเช่นกัน
ส่วนฝ่ายป้องกันจะต้องมียุทธปัจจัยที่เพียงพอต่อการยื้อเวลาให้นานเท่าที่จำเป็น หรือหาวิธีที่จะเพิ่มเติมเสบียงของตน
ซึ่งในศตวรรษที่ 20 กำลังทางอากาศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการส่งกำลังบำรุง ดังนั้น จึงสำคัญมากที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องครองน่านฟ้าให้ได้
จบเกม ทั้งฝ่ายโจมตีและฝ่ายป้องกันจะต้องรู้ว่าพวกเขาจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเมื่อการล้อมยุติลง
สำหรับฝ่ายโจมตี นี่จะต้องรวมไปถึงการรับมือในกรณีที่ถูกบีบบังคับให้ยุติการล้อม และการถอนกำลังออกจากพื้นที่ด้วย
ถึงแม้ว่าจะเป็นการง่ายมากที่จะเริ่มการล้อมก็ตาม แต่จะเป็นการล่อแหลมอย่างมากที่จะมีแนวคิดในการประคองสถานการณ์จนนำไปสู่การทำลายกองกำลังของข้าศึก การปฏิบัติการต่อ หรือสามารถโจมตีโต้กลับและฝ่าวงล้อมออกมาได้ ในกรณีที่เป็นฝ่ายป้องกัน
ดังนั้น หากคุณไม่รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ จงอย่าเริ่มใช้แผนยุทธการการล้อม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
20-23 พฤศจิกายน - ทหารพลร่มฝรั่งเศส 2 กองพันถูกส่งไปยังหุบเขาเดียนเบียนฟู โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของนายพล Navarre ที่จะสร้างฐานต่อสู้แห่งใหม่ในพื้นที่ และอีก 48 ชั่วโมงต่อมา ทหารกว่า 4,000 นายก็ประจำที่ และในเย็นวันนั้น ยุทธปัจจัยกว่า 240 ตันก็พร้อม
25 พฤศิจกายน การขนส่งกำลังบำรุงรอบแรกมาถึง ที่มั่นของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1954 ฐานทัพฝรั่งเศสแห่งใหม่ที่เดียนเบียนฟูกำลังแข็งแกร่งขึ้น และเป็นเวลาที่ผู้บัญชาการจะต้องรับมือกับปัจจัยแรกสำหรับการล้อม จุดประสงค์ที่ชัดเจน
ทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้ว่าทำไมพวกเขาจึงต้องดำเนินการล้อม และอะไรเป็นตัวตัดสินชัยชนะของการล้อม
ตัวอย่างที่ปรากฎอย่างชัดเจนในความล้มเหลวในจุดประสงค์ที่ชัดเจน ได้แก่ ยุทธการแห่งเลนินกราด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์เริ่มต้นปฏิบัติการบาร์บารอสซากับสหภาพโซเวียต กองทัพเยอรมันมาถึงเลนินกราดในเดือนกันยายน
ช่วงแรก ฮิตเลอร์มีจุดประสงค์ชัดเจนที่จะยึดครองเมืองนี้ แต่หลังการรบเริ่มต้นเป็นเวลา 5 วัน เขากลับเปลี่ยนใจและมุ่งหน้ายึดกรุงมอสโกแทน เขาจึงส่งกองกำลังแพนเซอร์อันมีความสำคัญยิ่งไปทางทิศใต้ โดยปล่อยให้เลนินกราดถูกล้อมและรอจนกระทั่งข้าศึกอดอาหารตายในเมือง
แต่การเปลี่ยนจุดประสงค์ของเขา ทำให้กองกำลังอันมีค่าของเขาอยู่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ใช้ประโยชน์จากกองทัพของเขาได้ไม่เต็มที่ และถูกล่อลวงโดยแผนการของโซเวียต ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะใช้เลนินกราดตรึงกำลังของเยอรมนีให้มากที่สุด และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1954 จุดประสงค์เดิมของเดียนเบียนฟูมีในด้านการทหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ การขัดขวางเส้นทางของเวียดมินห์ระหว่างเวียดนามและลาว และสนับสนุนเป็นฐานทัพอากาศซึ่งจะสามารถออกปฏิบัติการได้ในอนาคต
ในขณะที่นายพลเกี๊ยบกลับมองต่างออกไป เขามองว่าความพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟูของฝรั่งเศสจะเป็นโอกาสอย่างดีเยี่ยมที่จะสร้างความอับอายให้กับฝรั่งเศส ถ้าหากเขาสามารถเหยียบย่ำที่มั่นของฝรั่งเศสได้ เหตุการณ์นั้นจะไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางทหารเท่านั้น แต่จะเป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างมโหฬารสำหรับผู้แทนเจรจาคอมมิวนิสต์ในการประชุมสันติภาพที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานนัก
ดังนั้น เวียดมินห์จึงมีแผนการที่ชัดเจนอย่างมากในวัตถุประสงค์ของตน พวกเขาต้องการชัยชนะอย่างชัดเจน หรือบางสิ่งที่จะปรากฎอย่างครึกโครมในสื่อฝรั่งเศส สื่ออเมริกัน สื่ออังกฤษ ไปจนถึงโลกทั้งใบ
การยกระดับเป้าหมายทางทหารไปสู่เป้าหมายทางการเมือง ทำให้เกิดความแตกต่างต่อเป้าหมายของฝรั่งเศส ซึ่งเพียงแต่ต้องการตัดกำลังเสบียง อันเป็นเป้าหมายทางทหารเท่านั้น เมื่อค่ายที่เดียนเบียนฟูสร้างเสร็จ นายพล Navarre จะใช้ค่ายดังกล่าวเป็นฐานที่มั่น ยื้อเวลาไว้ และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทางทหารและทางการเมืองของนายพลเกี๊ยบ
วิธีการเบื้องต้น ฝ่ายโจมตีจะต้องมีกำลังคนและยุทโธปกรณ์เพียงพอต่อการล้อม และฝ่ายป้องกันจะต้องมีกำลังเพียงพอที่จะดำเนินการป้องกัน
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้บัญชาการจะต้องใช้ตัวอย่างในยุทธการแห่งเลนินกราดเป็นอุทาหรณ์
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1941 แผนการของเยอรมนีในการยึดครองเลนินกราดภายในเวลาอันรวดเร็ว กลับเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เมืองมีเวลาอันมีค่าที่จะสร้างการป้องกันของตนขึ้น
ทั้งโรงงาน สะพาน และอาคารสาธารณะถูกฝังทุ่นระเบิดไว้ และพร้อมที่จะจุดระเบิดเมื่อกองทัพเยอรมันเคลื่อนผ่าน ถนนสายต่าง ๆ ถูกขัดขวางและมีการฝังทุ่นระเบิดต่อต้านรถถัง และอาคารต่าง ๆ มีการวางรังปืนกลและจุดยิง
กองทัพเยอรมันไม่มีวิธีการเบื้องต้นที่จะยึดครองเมือง จึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายโซเวียตมีวิธีการเบื้องต้นที่จะป้องกันเมืองไว้
ณ เดียนเบียนฟู ค.ศ. 1954 นายพลเกี๊ยบจะต้องนำกองกำลังที่เพียงพอต่อศัตรูที่อยู่ในที่มั่นเพื่อยื้อเวลา ส่วนนายพล Navarre จะต้องตัดสินใจที่จะต้านทานเอาไว้เช่นกัน
ค่ายเดียนเบียนฟูอยู่ภายใต้การบัญชาการของพันเอก Christian de Castries ตั้งอยู่ในหุบเขารูปหัวใจยาว 12 ไมล์ และกว้าง 8 ไมล์ และตัวหุบเขาเองก็มีขนาดใหญ่พอที่จะดำเนินการรบตามแบบ
25 พฤศิจกายน การขนส่งกำลังบำรุงรอบแรกมาถึง ที่มั่นของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
พันเอก De Castries มีเครื่องบินขับไล่แบร์แคตจำนวน 6 ลำ เตรียมพร้อมอยู่ในสนามบินหลัก เขายังมีรถถังเบา M-24 จำนวน 10 คัน และที่สำคัญที่สุด เขาสามารถได้รับการส่งกำลังบำรุงจากทางอากาศได้ ฝ่ายฝรั่งเศสมั่นใจว่าพวกเขามีวิธีการเริ่มต้นที่จะป้องกันตนเอง
แม้ว่านายพลเกี๊ยบจะสามารถตั้งปืนใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงได้ก็ตาม
แต่ฐานของนายพลเกี๊ยบ และกระสุนปืนใหญ่ที่เขามีนั้น อยู่ห่างออกไปถึง 300 ไมล์ และยังต้องข้ามป่าทึบอีกด้วย
นายพลเกี๊ยบจึงรับมือด้วยการรวบรวมกำลังพลไม่ใช่เพียงแค่ 1 กองทัพ แต่ถึง 2 กองทัพ
กองทัพแรกเป็นหน่วยต่อสู้ของเขา ซึ่งระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม ถึงวันที่ 24 มกราคม กองกำลังเวียดมินห์กว่า 5 กองพลได้มาบรรจบกันที่เดียนเบียนฟู
ส่วนอีกกองทัพหนึ่งเป็นกองกำลังชาวบ้านอันประกอบด้วยชายกว่า 20,000 คน โดยมีผู้หญิงและเด็กคอยถางทางในป่าและลำเลียงเสบียง บ้างก็แบกไว้บนหลัง บ้างก็ลำเลียงโดยจักรยาน พวกเขาจะเดินทางเฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจพบโดยเครื่องบินฝรั่งเศส
นายพลเกี๊ยบยังแยกกระสุนปืนใหญ่ออกเป็นหลายส่วน ก่อนที่จะลำเลียงผ่านป่าทึบ และมารวบรวมใหม่อีกครั้งที่เดียนเบียนฟู ดังนั้น ที่เดียนเบียนฟู นายพลเกี๊ยบจึงมีวิธีการเริ่มต้นสำหรับการโจมตีของเขาด้วยเช่นกัน
แต่ในการวางแผนสำหรับการล้อม ยังมีอีกปัจจัยสำคัญหนึ่ง
การยึดครองที่สูง หรือที่นักวางแผนการทหารเรียกว่า “มิติที่สาม” คือ ปีกทางอากาศ (the air flank)
ที่เลนินกราด ปีกทางอากาศนี้เองที่เข้ากับการยึดครองที่สูง ถ้าฝ่ายเยอรมันสามารถครองน่านฟ้าได้ พวกเขาจะสามารถทิ้งระเบิดใส่เลนินกราดและยังตัดเส้นทางเสบียงได้อีกด้วย แต่พวกเขาล้มเหลว เพราะเครื่องบินเยอรมันไม่มีพิสัยทำการไกลมากพอที่จะเดินทางไปถึงเมือง และอากาศก็ยังเป็นอุปสรรคเสียอีก
เครื่องบินลำเลียง JU-52 บินผ่านสภาพอากาศที่เลวร้ายได้อย่างยากลำบาก เช่นเดียวกับเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฤดูหนาว ฝ่ายเยอรมันจึงล้มเหลวที่จะดำเนินการปิดล้อมโดยอาศัยกำลังรบที่พวกเขามีอยู่ ดังนั้น พวกเขาจึงล้มเหลวที่จะยึดครองที่สูงด้วยเช่นกัน
ที่เดียนเบียนฟู การป้องกันของฝรั่งเศสขึ้นอยู่กับวงล้อมของเนินเขาและรอบสนามบิน แต่ก็ยังสามาถมองเห็นได้จากภูเขาที่อยู่โดยรอบหุบเขานี้ ถ้านายพลเกี๊ยบสามารถนำปืนใหญ่ไปติดตั้งบนภูเขาดังกล่าวได้ เขาอาจสามารถทำลายเนินป้องกันที่อยู่ด้านล่าง รวมทั้งสนามบินอีกด้วย
แต่ทหารฝรั่งเศสกลับมั่นใจว่าปืนใหญ่ของพวกเขาจะสามารถกำจัดภัยคุกคามต่อการระดมยิงปืนใหญ่ของพวกเวียดมินห์ได้ ทั้งเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดยังสามารถกำจัดปืนใหญ่เวียดมินห์ที่มองเห็นได้ชัดเจนบนภูเขาด้วย
นายพลเกี๊ยบพร้อมลงมือในเดือนมกราคม ค.ศ. 1954
ปืนใหญ่ของเขาถูกดึงขึ้นสู่ยอดของภูเขาที่มองเห็นเนินป้องกันด้านล่าง ซึ่งทหารฝรั่งเศสฝากความหวังของความอยู่รอดเอาไว้ แต่บนภูเขา ปืนใหญ่ดังกล่าวก็เปิดเผยต่อเครื่องบินรบของข้าศึกด้วยเช่นกัน
เมื่อ 14 วันที่แล้ว ที่เดียนเบียนฟู นายพลเกี๊ยบได้รับบทเรียนอันแสนเจ็บปวดว่าปืนใหญ่ของเขาที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาจะเปิดเผยต่อการโจมตีทางอากาศของฝรั่งเศสอย่างเป็นอันตราย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 มกราคม อันเป็นวันที่ได้วางแผนการโจมตี นายพลเกี๊ยบได้ตัดสินใจอย่างยากลำบากที่จะถอนตัว เพราะเขาล้มเหลวที่จะยึดครองที่สูง
ตอนนี้ เขาจะแก้ไขมัน
เมื่อตอนต้นเดือนมีนาคม เขาได้สร้างกำลังเสบียงของเขาขึ้นใหม่ บนภูเขาซึ่งล้อมรอบเดียนเบียนฟู เขามีฮาววิตเซอร์ (Howitzer) ขนาด 105 มิลลิเมตร ไม่น้อยกว่า 48 กระบอก และกระสุนปืนใหญ่ขนาดเบาไม่น้อยกว่า 150 ลูก
ไม่เหมือนกับเมื่อเดือนมกราคม ได้มีการขุดถ้ำและสนามเพลาะเพื่อที่พวกเขาจะสามารถปิดบังตนเองจากการลาดตระเวนทางอากาศของฝรั่งเศสได้ การลาดตระเวนได้เปิดเผยว่าการโจมตีกำลังจะเริ่มขึ้น และทหารฝรั่งเศสยังคงดำเนินการเสริมสร้างกำลังต่อไป
เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1954 มีทหารฝรั่งเศสกว่า 16,000 นายที่เดียนเบียนฟู นายพล Navarre และพันเอก de Castries ต่างก็มั่นใจว่าพวกเขามีกำลังเพียงพอ ซึ่งเมื่อมีกำลังทางอากาศคอยสนับสนุนแล้ว จะสามารถยับยั้งพวกเวียดมินห์ได้ เพียงแต่พวกเขาไม่ทราบวิธีการของนายพลเกี๊ยบในการยึดครองที่สูง
เมื่อยามบ่ายคล้อยของวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1954
พลปืนของนายพลเกี๊ยบ ซึ่งประจำอยู่ตามภูเขารอบเดียนเบียนฟู เริ่มเปิดฉากยิงในขณะที่ยังมีเวลากลางวันมากพอที่พวกเขาจะระบุเป้าหมายได้ แต่ไม่มากพอสำหรับพลปืนและเครื่องบินฝรั่งเศสที่จะค้นหาปืนใหญ่เวียดมินห์และดำเนินการโจมตีสวนกลับ ปืนใหญ่ของเวียดมินห์มุ่งทำลายเนิน Beatrice และ Gabrielle
การโจมตีมีไปตลอดทั้งคืน
ในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงแรก กระสุนปืนใหญ่กว่า 9,000 ลูกถูกเป้าหมายที่ตั้งของฝรั่งเศส ตามด้วยการโจมตีของทหารราบ เนิน Beatrice ตกเป็นของเวียดมินห์ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ยามเช้า วันที่ 2 ของยุทธการเดียนเบียนฟู
กำลังเสริมฝรั่งเศสถูกส่งเข้ามาโดยการโดดร่ม ตามความต้องการของแผนยุทธการซึ่งฝรั่งเศสมั่นใจนักหนาว่าตนสามารถควบคุมได้ ปีกทางอากาศ
แต่พวกเขาประสบความสูญเสียในทันที
เวลา 20.00 น. วันเดียวกัน - Gabrielle ถูกระดมยิงอย่างหนักอีกครั้งหนึ่ง ตามด้วยการโจมตีของทหารราบ เนิน Gabrielle ตกเป็นของเวียดมินห์ในเวลา 05.00 น. ในวันรุ่งขึ้น
การโจมตีสวนกลับของฝรั่งเศสล้มเหลว
เมื่อถึงขั้นนี้ แผนการของนายพลเกี๊ยบมิใช่เพียงการล้อมเดียนเบียนฟูเสียแล้ว แต่เป็นการเหยียบย่ำมัน
คลื่นมนุษย์แห่งกองกำลังเวียดมินห์หลั่งไหลเข้าเผชิญหน้ากับการป้องกันของฝรั่งเศส แต่ในช่วงสามวันแรก เวียดมินห์ได้รับความสูญเสียกว่า 9,000 คน เสียชีวิต 2,000 คน
ในวันต่อมา นายพลเกี๊ยบจึงได้เปลี่ยนแผนการเป็นการวางกำลังล้อมและค่อย ๆ กระชับวงล้อมใหแน่นขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะไม่มีการโจมตีจากทางด้านหน้าที่เป็นการฆ่าตัวตายอีกต่อไป เพื่อเข้าใกล้ที่ตั้งของทหารฝรั่งเศส เวียดมินห์จึงขุดสนามเพลาะและอุโมงค์
ฝรั่งเศสส่งกองพันทหารพลร่มเข้ามาเพิ่ม แต่เนิน Anne-Marie ได้เสียให้กับข้าศึก พวกเวียดมินห์จึงสามารถตัดถนนซึ่งเชื่อมกับเนิน Isabelle
เดียนเบียนฟูถูกระดมยิงปืนใหญ่อย่างต่อเนื่อง ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศของฝรั่งเศสไม่มีผลกระทบต่อที่ตั้งปืนใหญ่ซึ่งปกปิดไว้เป็นอย่างดีของพวกเวียดมินห์
ต่อมา เมื่อการล้อมดำเนินต่อไป ผู้บัญชาการจะต้องรับมือกับปัจจัยต่อไปในการบรรลุแผนยุทธการการล้อม
การส่งกำลังบำรุง ในกรณีของฝ่ายโจมตี หมายความว่า เขาจะต้องสามารถส่งกำลังบำรุงไปยังกองกำลังของเขา และตัดกำลังบำรุงของฝ่ายตั้งรับ ในกรณีของฝ่ายตั้งรับ เขาจะต้องหาวิธีในการส่งกำลังบำรุงเข้าไปช่วยเหลือกองกำลังในวงล้อม
ที่เลนินกราด โซเวียตได้ส่งกำลังบำรุงผ่านทางทะเลสาบลาโดกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว เมื่อทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง ฝ่ายเยอรมันล้มเหลวที่จะหยุดยั้งการส่งกำลังบำรุงดังกล่าว ซึ่งหากมองในแง่ของความจำเป็นในการล้อมแล้ว ฝ่ายเยอรมันประสบความล้มเหลวอย่างร้ายแรง
ที่เดียนเบียนฟู กองทัพที่สองของนายพลเกี๊ยบ หรือที่เรียกกันว่า “คนงานผู้รักชาติ” (patriotic workers) ยังคงดำเนินการส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพแรกของเขา
มีรายงานหนึ่งซึ่งระบุว่ามีการส่งข้าวกว่า 20,000 ตันให้กับกองกำลังที่ล้อมเดียนเบียนฟู โดยมีชาย หญิง และเด็กรวมกว่า 33,500 คน จักรยานดัดแปลง 2,724 คัน เรือ 2,623 ลำ และม้ากว่า 17,400 ตัว เช่นเดียวกับกระสุนและยุทธปัจจัยอื่น ๆ
ฝ่ายฝรั่งเศสยังคงยืนยันที่จะพึ่งมิติที่สาม คือ ปีกทางอากาศ แต่ถึงแม้ว่าเดียนเบียนฟูจะสามารถส่งกำลังบำรุงจากทางอากาศได้ แต่ก็ได้จากร่มชูชีพและเครื่องบินปีกตายตัวเท่านั้น และปืนใหญ่ของเวียดมินห์ซึ่งมองเห็นสนามบินก็ยิ่งทำให้การส่งกำลังบำรุงอันตรายมากยิ่งขึ้นไปอีก
ฝ่ายฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูประเมินค่าของกำลังทางอากาศสูงเกินไป พวกเขามีกำลังทางอากาศ ในขณะที่เวียดมินห์ไม่มี พวกเขาได้ตกเป็นเหยื่อของความเข้าใจที่ว่าการครองน่านฟ้าจะแปรเปลี่ยนเป็นความสามารถในการส่งกำลังบำรุงที่เดียนเบียนฟูได้ดังหวัง
แต่ในสถานการณ์จริง กำลังทางอากาศเหล่านี้ได้ถูกขัดขวางโดยปืนใหญ่สนามของเวียดมินห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถของเวียดมินห์ในการใช้ปืนใหญ่เพื่อขัดขวางการลงจอดที่สนามบิน
สนามบินถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้การลงจอดในเวลากลางวันเป็นไปไม่ได้เลย
เครื่องบินเสียหายอย่างหนัก
การส่งกำลังบำรุงถูกจำกัดเหลือเพียงแต่การใช้ร่มชูชีพ และเมื่อแนวป้องกันของฝรั่งเศสเริ่มถดถอยลง ยุทธปัจจัยจำนวนมากก็ลงสู่ดินแดนสู่ควบคุมโดยเวียดมินห์
ที่เดียนเบียนฟู การโจมตีทางอากาศต่อที่ตั้งของเวียดมินห์มีจำกัดอย่างมาก พวกเขาไม่สามารถขับไล่ปืนใหญ่ของเวียดมินห์ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในภูเขาได้
หนึ่งเดือนหลังเริ่มการล้อม เสนาธิการกองทัพบกฝรั่งเศส Paul Ely บินไปยังวอชิงตันเพื่ออภิปรายถึงการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาสำหรับการทิ้งระเบิดยามกลางคืนขนานใหญ่ต่อที่ตั้งและแนวเสบียงของเวียดมินห์
รัฐบาลไอเซนฮาวร์ปฏิเสธโครงการดังกล่าว
ฝรั่งเศสยังถูกผูกมัดด้วยความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเดียนเบียนฟูได้ทางพื้นดิน ฝรั่งเศสขาดซึ่งวิธีการที่จะเข้าคลายวงล้อมได้ โดยพวกเขาไม่สามารถเริ่มการโจมตีทางบกขนานใหญ่ได้เลย
ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม และ 6 พฤษภาคม พลร่มฝรั่งเศสถูกส่งเข้าไปเพิ่มอีก 4,300 คน แต่นั่นก็ไม่อาจชดเชยความสูญเสียกว่า 5,500 นาย รวมทั้งเสียชีวิตไปกว่า 1,500 นายก่อนหน้า
ฝรั่งเศสเพียงแต่ส่งทหารเข้าไปเพิ่มในยุทธการ ในสถานการณ์ที่พวกเขาไม่อาจคาดหวังที่จะชนะ
แผนการของโซเวียตคือล่อลวงให้กองทัพเยอรมันเข้ามา ยึดและตรึงพกวเขาไว้ เพื่อที่ว่ากองกำลังเหล่านี้จะไม่สามารถถูกนำไปใช้ที่อื่นได้
และเมื่อฝ่ายเยอรมนีเริ่มอ่อนแอลง พวกเขาจึงได้เริ่มการโจมตีกลับอย่างล้างผลาญ
เดียนเบียนฟู ต้นเดือนพฤษภาคม
ลมมรสุมมาถึง ตำแหน่งของฝรั่งเศสซึ่งเป็นพรุและสนามเพลาะล่มสลาย และโรงพยาบาลใต้ดินของฐานก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากเสียจนล้น
วันที่ 2 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม กำลังหนุนพลร่มชุดสุดท้ายซึ่งประกอบด้วยทหาร 388 นาย มาถึงเดียนเบียนฟู
วันที่ 6 พฤษภาคม การส่งเสบียงทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในรอบแปดวันมาถึงช้าเกินไป และส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเวียดมินห์
เวียดมินห์ใช้ “อวัยวะของสตาลิน” เครื่องยิงจรวดหกลูก เพื่อถล่มฐานทัพของฝรั่งเศส
แต่ในตอนนี้ ยุทธการเดียนเบียนฟูได้กลายมาเป็นการสู้รบทางการเมืองแล้วในที่สุด ที่เจนีวา การประชุมสันติภาพซึ่งจะกำหนดอนาคตของภูมิภาค เริ่มขึ้นแล้วในที่สุด จนถึงปัจจุบัน ได้เป็นที่ปรากฎชัดเจนแล้วว่าผู้บัญชาการของฝรั่งเศสไม่มีการ “จบเกม”
การจบเกมของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูในตอนแรกเริ่ม คือ การโจมตีจากฐานทัพแห่งนั้น
สิ่งที่เราเห็นในการจบเกมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเอาตัวรอดเท่านั้น แต่การจบเกมไม่อาจเกิดผลได้จริง เนื่องจาก พวกเขาถูกเอาชนะอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายเวียดมินห์เองก็ทราบดีว่าการล้อมเดียนเบียนฟูเป็นยุทธการครั้งยิ่งใหญ่ของการต่อสู้เพื่ออินโดจีน
พวกเขามีวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนว่าชัยชนะจะเป็นอย่างไรที่เดียนเบียนฟู ดังนั้น การปักธงของพวกเขาในใจกลางของป้อมค่ายของข้าศึกมีควาสำคัญมากเพียงใด และพวกเขาก็เข้าใจชัดเจนว่าการจบเกมจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
และพวกเขาก็ดำเนินการตามแผนนั้น ถึงแม้ว่าจะต้องแลกด้วยความสูญเสียอันค่อนข้างมโหฬารก็ตาม
วันที่ 6 พฤษภาคม
ฟ้าเปิดและฝรั่งเศสได้โจมตีทางอากาศเป็นครั้งสุดท้าย แต่ปืนใหญ่ของเวียดมินห์กลับไม่ส่งเสียงแม้แต่น้อย ทำให้พวกมันไม่ถูกตรวจพบ
ตอนกลางคืน ปืนใหญ่เริ่มเปิดฉากยิงอีกครั้งหนึ่ง
ฝ่ายฝรั่งเศสตอบโต้อย่างกล้าหาญ
เช้าวันรุ่งขึ้น วันที่ 7 พฤษภาคม เวียดมินห์เริ่มการโจมตีครั้งสุดท้าย และเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น พันเอก de Castries ได้รับเลื่อนยศเป็นนายพล พร้อมกับบอกว่าเขาจะต้องยื้อสถานการณ์เอาไว้
แต่ในตอนบ่ายของวันเดียวกัน de Castries ส่งข้อความสุดท้าย “เราจะระเบิดทุกสิ่งทุกอย่าง”
การหยุดยิงมีผลเมื่อเวลา 17.00 น. เดียนเบียนฟูพ่าย และฝรั่งเศสขอให้มีการสงบศึกในที่ประชุมสันติภาพในวันรุ่งขึ้น
ดังนั้น ผู้บัญชาการและผู้วางแผนการรบที่เดียนเบียฟูจะบรรลุปัจจัยสำคัญในแผนยุทธการการล้อมได้อย่างไร
จุดประสงค์ที่ชัดเจน นายพลเดี๊ยบมีเป้าหมายทางทหารและทางการเมืองที่ชัดเจน ฝ่ายฝรั่งเศสมีเป้าหมายทางการทหารที่ชัดเจนในตอนเริ่มแรก แต่กลับสูญเสียความกระจ่างเมื่อการล้อมเริ่มต้นขึ้น
วิธีการเริ่มต้น ฝ่ายฝรั่งเศสคิดว่าตนเองวิธีการเริ่มต้น แต่พวกเขาคิดผิด ส่วนในตอนแรก นายพลเกี๊ยบไม่มีวิธีการเริ่มต้น แต่เริ่มที่จะทราบปืนใหญ่ล่อแหลมต่อการโจมตี และเปลี่ยนแปลงแผนการของเขา
การส่งกำลังบำรุง ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถส่งกำลังบำรุงทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเวียดมินห์สามารถตัดเส้นทางดังกล่าวได้ ในขณะที่รักษาการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายตนไว้ได้
จบเกม ฝ่ายฝรั่งเศสไม่มีการจบเกม นอกเหนือไปจากการยื้อเวลาไปจนถึงการเจรจาสันติภาพ ความพ่ายแพ้ทางการทหารของพวกเขาทำให้เวียดมินห์มีความได้เปรียบทางการเมืองตามวัตถุประสงค์ นายพลเกี๊ยบมีการจบเกมที่ชัดเจน และบรรลุได้สำเร็จ
ดังนั้น อนาคตของแผนยุทธการการล้อมจะเป็นอย่างไร
แผนยุทธการการล้อมมักจะเป็นแนวทางทั่วไปสำหรับกำลังทางทหารและนักการเมือง ซึ่งต้องการยึดและตรึงศัตรูเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการนำทางสัมภาระทหารที่แม่นยำ เครื่องบินซึ่งสามารถส่งเสบียงได้อย่างรวดเร็ว และการสื่อสารอย่างทันสมัยซึ่งสามารถแสดงภาพของเครื่องบินขณะขนส่งสัมภาระทหารไปยังพื้นที่ซึ่งอาจมีพลเรือนอาศัยอยู่ด้วย กำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อสาธารณชนที่จะยินยอมให้มีการล้อมเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ดังที่ปรากฎในการล้อมเมือลหลายแห่งในอิรัก หลังจากสงครามอ่าวครั้งที่สอง ผลกระทบทางการเมืองและมนุษยธรรมของการล้อมจะทำให้แผนยุทธการดังกล่าวสามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จได้ยากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงจาก: http://www.say2.org/battleplan-07-siege/
-------------------------------
Log
(1) เพิ่มรูปภาพ (10 มิ.ย. 2553)
(2) ลบส่วนที่ซ้ำซ้อน (25 ก.ค. 2553 20.19)
ความคิดเห็น