หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : กัลฐิดา
11 ต.ค. 53
80 %
57257 Votes  
#1 REVIEW
 
เห็นด้วย
58
จาก 60 คน 
 
 
บทวิจารณ์ เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 3 ส.ค. 52
เคยมีคนกล่าวไว้ว่านิยายออนไลน์ในเว็บไซต์เด็กดีมีอยู่ 3 ยุคคือ ไวท์โรด หัวขโมยแห่งบารามอส และ เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา โดยส่วนตัวเคยอ่านไวท์โรดมาบ้าง อ่าน หัวขโมยแห่งบารามอส จนจบ ก็เลยทำให้อยากรู้ว่า เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา จะเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจซื้อหนังสือชุดนี้มาอ่านพร้อมกันทีเดียว 5 เล่ม เมื่ออ่านจบก็เข้าใจแล้วว่าเหตุใดจึงมีผู้กล่าวไว้เช่นนั้น หากจะให้อธิบายตามความเข้าใจก็คงต้องบอกว่า ไวท์โรด นับเป็นงานนิยายออนไลน์ของเด็กไทยยุคแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ และสามารถสร้างกระแสให้เป็นที่สนใจแก่สังคมในวงกว้างได้ ในขณะที่ หัวขโมยแห่งบารามอส เป็นเรื่องแต่งที่สร้างกระแสต่อการเขียนนิยายแฟนตาซีในรุ่นต่อๆ มา โดยเฉพาะเรื่องการแปลงร่างจากผู้ชายเป็นผู้หญิง และจากผู้หญิงเป็นผู้ชายของตัวละครเอก ส่วน เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ก็นับเป็นนิยายแฟนตาซีที่สามารถฉีกแนวแหวกกระแสออกมาทั้งจาก ไวท์โรด และ หัวขโมยแห่งบารามอส โดยสร้างทิศทางการนำเสนองานในแนวทางของตน แม้ว่าการดำเนินเรื่องยังอาศัยตัวละครเอกกลุ่มที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนเวท แต่เรื่องราวที่ดำเนินไปนั้นแตกต่างจากนิยายแนวแฟนตาซีที่เขียนในช่วงเดียวกันอย่างมาก จนทำให้เรื่องนี้โดดเด่นและกลายเป็นที่ยอมรับของนักอ่านจำนวนมากได้ในเวลาไม่นานนัก
เมื่ออ่าน เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ทั้ง 5 เล่มจบลงก็เห็นว่าสามารถแบ่งกลุ่มเรื่องนี้ออกได้เป็น 3 ช่วง คือ เล่ม 1 ถึงเล่ม 3 จะเป็นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเซวีน่าผ่านการเรียนรู้ใหม่ร่วมกันระหว่าง เฟมีลล่า นางเอกของเรื่องกับผู้อ่าน อาจกล่าวได้ว่าเป็นความฉลาดของ กัลฐิดา (ผู้แต่ง) ที่กำหนดให้ เฟมีลล่า ต้องมาเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังในมหานครเซเวน ซึ่งเป็นเมืองคู่ขนานของมหานครเซวีน่า ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และในวันเกิดครบ 15 ปี ก็มีเหตุให้เธอต้องกลับไปใช้ชีวิตในเซวีน่าอีกครั้ง การกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในเซวีน่า เฟมีลล่าต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับทุกสิ่งของเซวีน่าซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด ทั้งจากการบอกเล่าของป้าเฟลามีนคนดู และจากของเหล่าผองเพื่อนในโรงเรียนและทั้งจากบทเรียนเกี่ยวกับรัฐต่างๆ ของเซวีน่าที่ประกอบไปด้วย 7 รัฐ และหนึ่งโซน ซึ่งโซนเป็นพื้นที่กลางระหว่างรัฐทั้งเจ็ด ความแปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจของเซวีน่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเฟมีลล่าเท่านั้น แต่ยังเกิดกับผู้อ่านด้วย ดังนั้นจึงง่ายที่จะทำให้ผู้อ่านจะรู้สึกผูกพันและใกล้ชิดกับเฟมีลล่าไปโดยปริยาย การเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้ช่วยให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจความซับซ้อนของเซวีน่าได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนช่วยพัฒนาความคิดและความเข้าใจโลกในมุมมองต่างๆของผู้อ่านไปพร้อมๆกับการเติบโตของเฟมีลล่าด้วย
ช่วงที่ 2 คือ เล่มที่ 4 เป็นการกล่าวถึง เซกัน เมืองที่อยู่ในมิติเดียวกัน ในเล่มนี้ก็จะมีตัวละครของเซกัน 4 ตัวเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นตัวแทนของเซกันที่จะเข้ามาเพื่อนำตัว โรเซร่า เดอ คลูนิ่ง กลับไปยังเมืองเซกัน ของตน เพื่อให้ช่วยปลูกต้นไม้อันจะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะอากาศและความอดอยากที่เกิดขึ้นในเซกันได้ ขณะเดียวกันก็ได้เฉลยความลับความสมบูรณ์ของเซวีน่า ที่คงสมบูรณ์อยู่ได้นั้นต้องอาศัย 3 ภูตแห่งตำนานช่วยด้วย ทั้ง เดอ กราฟ, เดอ คลูนิ่ง และ เดอ โอลี และในช่วงที่ 3 คือ เล่ม 5 ที่เน้นไปที่ประวัติของตระกูลฟรานเชสก้า ที่เป็นต้นตระกูลของลีโอ พระเอกของเรื่อง และยังได้เปิดเผยความลับของตระกูล โดยเฉพาะความลับเกี่ยวกับเรื่องผู้ควบคุมเวลาว่าแท้จริงแล้วยังต้องอาศัยชนเผ่าอีกเป็นจำนวนถึง 12 ชนเผ่าในการช่วยรักษาความลับและช่วยสร้างความสมดุลนี้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งประเด็นที่เกี่ยวกับเซกันไป เพราะยังคงมีตัวละครสำคัญจากช่วงที่ 2 สองคนเดินทางมาปฏิบัติภารกิจครั้งใหม่ในเซวีน่าอีกครั้ง
แม้ว่าหนังสือทั้ง 5 เล่มจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังที่อธิบายไปข้างต้น แต่หนังสือทั้งห้าเล่มนี้มีแนวคิดหลักที่ผู้ร้อยเชื่อมโยงในเรื่องราวทั้งหมดดำเนินและพัฒนาไปภายใต้แนวคิดนี้ นั่นคือ มุ่งอธิบายและชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบอันเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้มหานครเซวีน่า เป็นมหานครแห่งความสมบูรณ์แบบ ซึ่งกว่าที่เมืองนี้จะสมบูรณ์แบบได้เช่นนี้ก็ต้องอาศัยความเสียสละและความมุ่งมั่นทุ่มเทของคนจำนวนมากเพื่อช่วยกันธำรงให้เซวีน่าคงความสมบูรณ์อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งในยุคเริ่มแรกเมื่อ 3,000 ปีก่อน หรือผู้ที่รักษาต่อมา รวมถึงคนรุ่นปัจจุบันก็ต้องร่วมมือช่วยกันต่อไป การจะชี้ให้เห็นแต่เพียงว่าเซวีน่าเป็นนครแห่งความสมบูรณ์อย่างเดียวนั้น ผู้แต่งอาจจะเห็นว่ายังให้ภาพไม่ชัดเจน จึงนำเรื่องราวของเซกันมาประกอบเพื่อสร้างคู่เปรียบให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่าในช่วงที่ผู้แต่งอธิบายและบรรยายถึงความเสื่อมสลายของเซกัน ดูเหมือนเป็นการพยายามนำเสนอความคิดในประเด็นเรื่องสภาวะโลกร้อนไปพร้อมกัน โดยใช้เซกันเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม และในบางครั้งก็จงใจมากจนดูเหมือนเป็นการนำความเห็นของผู้แต่งไป “ใส่ปาก” ให้ตัวละครพูดเรื่องนี้ออกมาบ่อยครั้ง เช่น คำพูดของโยรา (ตัวละครที่เป็นชาวเซกัน) ที่ว่า “...ที่นี่คือเซกันของเรา แต่เป็นเซกันในอดีตนะ โยราพูดพลางเดินไปลูบใบไม้อย่างสนใจ เขาไม่เคยได้สัมผัสต้นไม้อย่างนี้มานานแล้ว เซกันในปัจจุบันต้นไม้คือของมีค่า ทุกต้นถูกเก็บไว้ในสถาบันที่ถูกดูแลและควบคุมอย่างดีเพื่อผลิตอากาศให้กับคนทั่วทั้งเซกัน...” (เล่ม 4 หน้า 365)
นอกจากนี้ มุมมองหรือแง่มุมความรัก นับเป็นประเด็นสำคัญอีกประการที่ผู้แต่งได้เสนอและสอดแทรกอยู่โดยตลอดทั้งเรื่อง ความรักที่ปรากฏนั้นมีหลากหลายแง่มุมม ทั้งความรักที่สูงส่งที่สุดคือ ความรักต่อแผ่นดินและบรรพบุรรุษ ไม่ว่าจะเป็นคูมีรา สัตว์เวท และภูต ต่างๆ ความรักระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักระหว่างหนุ่มสาว ทั้งความรักที่สมหวังและผิดหวัง ความรักและมิตรภาพระหว่างเพื่อน หรือแม้แต่ความจงรักภักดีระหว่างนายกับบ่าว ในมิติของความรักเหล่านี้บางครั้งยังมีเรื่องของบทบาทและหน้าที่มากำกับไว้อีกทอดหนึ่ง เช่น ลีโอ และ เฟมีลล่าที่ต้องแยกกันอยู่และแยกกันทำงาน เพราะต่างมีหน้าที่ เช่นเดียวกับตาและยายของเฟมีลล่า หรือแม้แต่ท่านดีดาเรน และท่านคูมีร่า ก็เช่นกัน
แม้ว่าเรื่องเซวีน่าจะยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนของโรงเรียนเวทมนตร์ แต่การใช้เวทมนตร์ในที่นี้ได้มีการกำหนดกติกาว่า ผู้ใช้ต้องอาศัยพลังธาตุที่มีอยู่ในตัวจึงจะสามารถศึกษาและพัฒนาพลังเวทได้ และพลังธาตุนอกจากจะมีอยู่ในคนเกือบทุกคนในเซวีน่า ก็ยังมีอยู่ในพื้นดินของรัฐทั้ง 7 ด้วย ซึ่งพลังธาตุดังกล่าวแบ่งได้เป็น 7 ธาตุ เท่าจำนวนรัฐ คือ ศิลาเวท วารีเวท วาโยเวท อัคคีเวท พฤกษาเวท เวทแห่งแสง และเวทแห่งรัตติกาล แต่ละธาตุก็มีทั้งเสริมกันและข่มกัน จึงทำให้นึกไปถึงการดูดวงของไทยและจีนก็มีความสัมพันธ์กับธาตุต่างๆในดวงชะตาด้วยเช่นกัน แต่อาจจะแบ่งต่างกัน เช่น ไทยแบ่งเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ขณะที่จีนแบ่งเป็น ดิน ไฟ ไม้ น้ำ และทอง นอกจากจะมีการกล่าวถึงพลังธาตุและการใช้พลังเวทแล้ว ยังมีการกล่าวถึงภูตและสัตว์เวทต่างๆด้วย อาจกล่าวได้ว่าผู้แต่งไม่เพียงแต่จะกล่าวถึงดินแดนที่อบอวลไปด้วยเวทมนตร์เท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตของเรื่องออกไปยังมหานครสมัยใหม่ที่นับว่ายังอยู่ในกรอบของแฟนตาซี ไม่ว่าจะเป็นมหานครเซเว่นที่กำลังเจริญรุ่งเรืองด้วยเทคโนโลยีและความทันสมัยต่างๆ และยังมีการกล่าวถึง เซกัน นครที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต หลังจากที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นครคู่ขนานเหล่านี้นับเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้แตกต่างและฉีกแนวจากนิยายแนวโรงเรียนเวทมนตร์เรื่องอื่นที่ส่วนใหญ่ก็มักจะดำเนินเรื่องเพียงแต่เฉพาะในโรงเรียน หรือในกรอบของดินแดนเวทมนตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่การผสานแฟนตาซีแนวเวทมนตร์เข้ากับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะเห็นว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผู้แต่งก็สามารถผสานความลงตัวของจุดเด่นของทั้งสองแนวเข้าไว้ด้วยกัน ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในเล่มที่ 4 และ 5 ที่นครแห่งเวทมนตร์เซวีน่าต้องอาศัยความช่วยเหลือของชาวเซกันเพื่อช่วยทำให้เวลาของมหานครเซวีน่ากลับมาเป็นปกติดังเดิม เช่นเดียวกับที่เซกันก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือของท่านดีดาเลน และ กราเตรา เดอ กราฟ จากเซวีน่าเพื่อช่วยฟื้นฟูเซกันให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมด้วยเช่นกัน
ถ้าจะกล่าวว่าเหตุใดเซวีน่าแหวกแนวออกมาจากนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ก็น่าจะมาจากปัจจัยในหลายส่วนประกอบกัน ในเรื่องของการนำเสนอแนวคิดที่โดดเด่นชัดเจน ทั้งในเรื่องของความสมบูรณ์แบบของนครรัฐ หรือแม้แต่มุมมองอันหลากหลายในเรื่องของความรัก ดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเห็นว่านิยายเรื่องนี้มีสาระความคิดที่ลุ่มลึก และมีมุมมองที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อทำความเข้าใจชีวิตและสังคมรอบตัวได้อย่างแท้จริง อีกทั้งในการนำเสนอแนวคิดและแง่มุมต่างๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้นั้น ผู้แต่งมิได้เสนอเพียงแต่ด้านที่สวยงาม สมบูรณ์ และมีความสุขเท่านั้น แต่ได้นำเสนอด้านที่อยู่ตรงข้ามความสวยงามและความสมบูรณ์นั้นอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้แสดงให้เห็นถึงทั้งสองด้านของเหรียญ ซึ่งการนำเสนอด้วยวิธีดังกล่าวช่วยให้เข้าใจแนวคิดที่ต้องการนำเสนอได้ชัดเจนขึ้น
นอกจากการนำเสนอแนวคิดที่โดดเด่นแล้ว กัลฐิดายังมีความสามารถทางภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากการบรรยายที่ทำได้อย่างลื่นไหลทั้งการบรรยายฉาก ท่าทางการต่อสู้ และตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครจะพบว่า แม้ในเรื่องนี้จะมีตัวละครเป็นจำนวนมาก คือมีมากกว่า 50 ตัว แต่ผู้แต่งก็สามารถสร้างความเป็นตัวตนให้กับตัวละครเหล่านั้นได้ ทั้งบุคลิก หน้าตา นิสัย ท่าทาง กิริยา และการพูด ต่างก็มีลักษณะเด่นเฉพาะตน ลักษณะดังกล่าวนี้เองที่เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านจดจำตัวละครแต่ละตัวได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ การบรรยายรูปร่างของตัวละครในเรื่องนี้ ผู้อ่านจะรู้แค่ว่าตัวละครตัวนี้ตาสีอะไร ผมสีอะไร ผิวขาว สูง เตี้ย อ้วน หรือผอม เท่านั้น เนื่องจากผู้แต่งบรรยายเฉพาะกรอบโครงหน้าตาไว้อย่างกว้างๆ จนไม่สามารถที่จะใช้จินตนาการนึกภาพตัวละครออกมาได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่มากำกับหน้าตาของตัวละครเหล่านี้ก็คือคำคุณศัพท์ที่มาขยายความเท่านั้น เช่น สวย หล่อ หรือบางครั้งก็ต้องอาศัยภาพวาดจากหน้าปกหนังสือเป็นตัวกำกับจินตนาการแทน ซึ่งจะต่างจากการบรรยายลักษณะนิสัยที่ผู้เขียนใส่ใจที่จะให้คำอธิบายอย่างละเอียดจนสามารถที่จะรับรู้และช่วยให้สามารถสร้างจินตนาการตามไปได้อย่างไม่ยากนัก
การวิจารณ์เรื่อง เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ในที่นี้ มิได้มุ่งยกย่องให้เห็นเฉพาะข้อดีหรือจุดเด่นเท่านั้น เพราะมีองค์ประกอบบางประการที่ยังถือเป็นข้อบกพร่องอยู่ด้วยเช่นกัน นับตั้งแต่การตั้งชื่อตัวละคร อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเรื่องนี้มีตัวละครเป็นจำนวนมาก แม้ว่าผู้แต่งจะสามารถสร้างตัวละครให้แต่ละตัวมีความแตกต่างกันได้ทั้งรูปร่าง หน้าตา ท่าทาง และนิสัย แต่การตั้งชื่อตัวละครเพื่อให้แสดงความสัมพันธ์กันในระหว่างเครือญาติให้ใกล้เคียงกันนั้นก็เป็นสิ่งที่สร้างความสับสนให้ผู้อ่านอย่างมาก เช่น ครอบครัวเฟมีลล่า มีสมาชิกที่ชื่อคล้ายกัน คือ เฟมีลล่า บางครั้งก็มีคนเรียกว่า เฟมีล หรือ เฟรม แม่ของเธอชื่อ เฟรล่า แต่ขณะที่ปลอมตัวเป็นป้าที่เลี้ยงดูในช่วงที่เฟมีลล่าเดินทางมาถึงเซวีน่าใหม่ๆ ชื่อ เฟลามีน และมีตาชื่อ ฟาร์มี จนบางครั้งอ่านผ่านไปแล้วยังจะต้องย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง ว่าผู้เขียนต้องการหมายถึงตัวละครตัวใดกันแน่
แม้ว่าในการบรรยายนิสัยของตัวละคร ผู้แต่งจะทำได้อย่างดี แต่เมื่อตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องยังหนีไม่พ้นตัวละครแบบฉบับหรือตัวละครในขนบเดิมๆที่ว่าตัวละครเอกชายต้อง หล่อ เก่ง รวย (ในแง่ทรัพย์สินและความสามารถ) ในขณะที่ตัวละครเอกหญิงก็ต้องสวย รวย เก่ง ไม่แพ้กัน ซึ่งผู้เขียนเองก็คงไม่กล้าที่จะแหวกขนบเหล่านี้ออกมา แต่เรื่องนี้ยังมิใช่ประเด็นหลักที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เพียงแต่ต้องการที่จะตั้งข้อสังเกตไว้เท่านั้นเอง แต่ประเด็นที่ต้องการกล่าวถึงก็คือความบังเอิญของตัวละคร จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเซวีน่าเมื่อ 3,000 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีบุคคลที่เก่งมากในทุกรัฐรวมตัวกันอย่างพร้อมมูลแล้ว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งในส่วนของเจ้าผู้ครองรัฐ สัตว์ภูต หรือผู้ถือครองอัญมณี ซึ่งดูจะเป็นความบังเอิญที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับสามพันปีให้หลัง คนที่มีความสามารถก็มีเหตุให้มารวมตัวกันอีกครั้งที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของเฟมีลล่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือครองอัญมณี ที่ประกอบไปด้วย เฟมีลล่า ลีโอ และเพื่อนอีก 3 คน ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ถือครองอัญมณี 5 คนจาก 7 คน และบางครั้งก็ให้ทั้งเฟมีลล่าและลีโอ สามารถถือครองและใช้อัญมณีคนละ 2 ชิ้น ก็เท่ากับว่ามีผู้ถือครองอัญมณีครบทั้ง 7 ชิ้นพอดี หรือในกรณีที่มีผู้ครองแคว้นถึง 2 คนในรุ่นนี้ คือ ลีโอ กับ เซอร์รัส จึงนับเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อได้ว่าคนเก่งระดับอัจฉริยะเช่นนี้จะมารวมตัวกันอย่างพร้อมมูลเช่นนี้ อีกทั้งพวกเขาทั้งหมดยังเรียนอยู่ชั้นเดียวกันอีก นี่กล่าวเฉพาะตัวอย่างของผู้ถือครองอัญมณีและเจ้าครองแคว้นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเพื่อนของเฟมีล่าที่ยังมีอีกหลายคนที่เป็นอัจฉริยะในด้านอื่นๆด้วย โดยส่วนตัวผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนน่าจะกระจายตัวละครเก่งๆเหล่านี้ไปอยู่ในกลุ่มของรุ่นพี่ รุ่นน้องบ้างก็ได้ ไม่ใช่นำมารวมอยู่ในชั้นปีเดียวกันเกือบทั้งหมดเช่นนี้ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องบังเอิญเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้จริง
การสร้างคู่เปรียบระหว่าง ซีเลส อินดิโก้ กับเฟมีลล่า ที่ตลอดเรื่องตั้งแต่เล่ม 1 ถึง เล่ม 3 ผู้แต่งพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าคนทั้งคู่ต่างเป็นคนเก่งที่ต้องสูญเสียเหมือนกัน ดังนั้น เฟมีลล่าจึงเป็นคนที่จะสามารถจะเข้าใจซีเลสได้อย่างดีที่สุดและเป็นผู้เหมาะสมตามคำพยากรณ์ของท่านคูมีร่า ว่าจะเป็นผู้มาแก้ไขให้เซวีน่าเกิดความสมบูรณ์ แต่ผู้วิจารณ์เห็นบุคคลทั้งสองต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าทั้งคู่ต้องประสบเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตคล้ายกัน แต่เฟมีลล่าไม่น่าจะเข้าใจความรู้สึกของซีเลสได้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ซีเลสเป็นคนที่มีพร้อมสมบูรณ์ทุกด้านทั้งฐานะและความสามารถ กลับต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของตนไปเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดการบ่มเพาะความเกลียดชังให้ทบทวีคูณขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป จึงต่างจากเฟมีลล่าที่เริ่มจากผู้ที่ไม่มีอะไร (ตามความรู้สึกของเธอก่อนที่จะรู้ความจริง) และค่อยๆเพิ่มคนที่รักเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ได้พ่อ แม่ ตา ยาย และครอบครัวของเธอคืนกลับมา เฟมีลล่าจึงน่าที่จะเป็นทางกลับหรือด้านตรงข้ามของเซเลสมากกว่า หรือในตอนท้ายที่ผู้แต่งพยายามที่จะทำให้เราเชื่อว่าเฟมีลล่าเข้าใจความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของซีเลส เมื่อเขาเสีย ดีเลน่า หญิงอันเป็นที่รักไป เช่นเดียวกับเฟมีลล่าในขณะที่คิดว่าลีโอตายจากเธอไปแล้ว แต่การสูญเสียของคนทั้งคู่ก็ยังต่างกันอยู่ดี นั่นคือในขณะที่ซีเลสสูญเสียไปเขาไม่ได้รับรู้เหตุผลเบื้องหลังที่ ดีเลน่า ตัดสินใจยอมตายเพื่อจะกลายเป็นร่างภูต ในขณะที่เฟมีลล่ารับรู้ถึงความรักอันเต็มเปี่ยมของลีโอและพร้อมที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยสัญญาที่ว่า แม้ใครคนหนึ่งจะตายจากไป แต่คนที่เหลือจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ เพื่อรักษาความรักของคนตายจากไปให้คงอยู่ ดังเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วจึงทำให้ผู้วิจารณ์ไม่เชื่อหรือคล้อยตามผู้เขียนที่พยายามสื่อและชี้นำในประเด็นนี้ เพราะเห็นต่างมุมกันมาโดยตลอด
การสร้างปริศนานับเป็นความชื่นชอบที่ผู้แต่งนิยมนำมาใช้ในการดำเนินเรื่อง แต่ปริศนาที่ใช้นั้นบางครั้งก็เป็นปริศนาสากลที่ผู้อ่านสามารถเข้าไปมีส่วนในการร่วมขบคิดและค้นหาไปพร้อมๆกับตัวละคร เช่น การไขปริศนาในช่วงที่เฟมีลล่าเข้าไปอยู่ในบ้านที่เซวีน่าใหม่ๆ แต่ต่อมาเมื่อผู้แต่งใช้ปริศนาที่ซับซ้อนขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะกุมความลับต่างๆของเรื่องไว้ โดยค่อยๆเปิดออกมาทีละนิดๆ นั้น ในบางครั้งปริศนาที่ซับซ้อนเหล่านั้นก็มีแต่ผู้แต่งเท่านั้นมีสนุกกับการสร้างและการไขปริศนาแต่เพียงลำพัง โดยเฉพาะปริศนา 12 ชิ้น ในเล่มที่ 5 นั้น ผู้อ่านไม่สามารถทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ไขปริศนาได้ เพราะปริศนาที่สร้างขึ้นนั้นมิใช่ปริศนาสากล แต่เป็นปริศนาที่สร้างขึ้นบนเงื่อนไขของคำสัญญาระหว่าง ดีดาเรน กับผู้ถือครองความลับที่จะรู้กันเฉพาะสองฝ่ายเท่านั้น ในแง่นี้ ผู้อ่านจึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่เฝ้าดูเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินไปเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมเหมือนอย่างในเล่มที่หนึ่ง และในบางครั้งการที่ผู้แต่งพยายามที่จะซ่อนเงื่อนงำหรือความลับต่างๆ ก็สร้างความสับสนและความงุนงงให้กับผู้อ่านได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตั้งใจของ โยราเน่ เอ็ดกราด หรือ โยรา จากเซกันที่มีความปรารถนาบางประการในการเดินทางมายังเซวีน่าในครั้งที่สองนี้ จนบางครั้งก็ส่งผลให้โยรากลายเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย และมีบุคลิกที่สับสนด้วย
หากกล่าวโดยสรุปก็คงต้องยอมรับว่า เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา นับเป็นนิยายแฟนตาซีที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถแหวกออกมาจากนิยายแนวแฟนตาซีเรื่องอื่นในยุคนี้ได้ แต่กัลฐิดายังสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับนิยายเรื่องนี้ ทั้งในแง่แนวคิด และเรื่องราวที่นำเสนอ อีกทั้งยังมีความสามารถในเชิงภาษาบรรยาย สร้างเสน่ห์ให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสร้างชีวิตให้กับตัวละครทุกๆตัว จนทำให้ตัวละครบางตัวกลายเป็นที่รักและชื่นชอบของผู้อ่าน รวมทั้งการสร้างฉากต่อสู้ที่งดงามประดุจร่ายรำของเฟมีลล่าที่ต่างกันไปในทุกๆครั้ง ผู้วิจารณ์เชื่อว่าหากมีผู้นำนิยายเรื่องนี้ไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศก็น่าที่จะสู้กับงานของนักเขียนแฟนตาซีจากต่างชาติได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนุกสนานและน่าติดตามของเรื่อง ขณะเดียวกันผู้แต่งก็ยังสอดแทรกปรัชญาความคิดที่เป็นสากล ทั้งเรื่องการดูแลสมดุลของโลก และสิ่งแวดล้อม หรือแนวคิดที่เชื่อว่าโดยธรรมชาติ สิ่งต่างๆหรือเรื่องราวต่างๆในโลกจะมีสองด้านอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาจากแง่มุมใด ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอเรื่องราวใกล้ตัวผู้อ่าน โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องความรักในมิติต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า เซวีน่าให้ทั้งแง่คิดและความสนุกไปพร้อมๆกัน


----------------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  นักรบแห่งมังกร
9 มี.ค. 67
280 %
531 Votes  
#2 REVIEW
 
เห็นด้วย
36
จาก 40 คน 
 
 
บทวิจารณ์ นักรบแห่งมังกร

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 28 ก.ย. 52
ผมมีโอกาสรู้จักกับนิยายเรื่อง “นักรบแห่งมังกร” ของสำนักพิมพ์แจ่มใสเป็นครั้งแรก ในงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปีที่ทางสำนักพิมพ์ฯ ได้ทำตัวอย่างหนังสือให้อ่านสั้นๆ และบอกว่านี่คือการกรุยทางสู่แนวนิยายใหม่ของสำนักพิมพ์ นั่นคือแนวแฟนตาซี โดยจะแบ่งออกเป็นสองแนวย่อยคือ Dreamland of love อันเป็นแฟนตาซีที่มีความรักเป็นแกนหลัก และ Magic cafe ที่ดูจะมีจินตนาการสูงกว่าอีกแนวหนึ่ง

ผมไม่ได้อ่านตัวอย่างหนังสือเลย เพียงแต่รู้สึกทึ่งกับปกที่เป็นรูปวาดลายเส้นลงสีด้วยคอมพิวเตอร์ที่สวยงาม แต่นั่นก็เป็นมาตรฐานของสำนักพิมพ์แจ่มใสอยู่แล้ว จนต่อมาทางเว็บไซต์เด็กดีได้คัดเลือกให้นิยายเรื่องนี้เป็น book of the month ประจำเดือนมีนาคม และได้สัมภาษณ์นักเขียน(มือสังหารแห่งรัตติกาล) ว่าเป็นสาวน้อยวัยมัธยมที่มีความถนัดด้านการว่ายน้ำ แต่เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก แม้กระนั้นเพื่อนฝูงก็ติดใจและทวงถามให้แต่งนิยายให้อ่านกันบ่อยๆ

ในที่สุดผมจึงตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อแลกกับ “นักรบแห่งมังกร” เล่มนี้


เนื้อเรื่องของ “นักรบแห่งมังกร” เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงแห่งโลกปิศาจ ซึ่งที่จริงนางเอกเป็นลูกครึ่งมนุษย์กับปิศาจ เพราะเมื่อสงครามระหว่างมนุษย์และปิศาจยุติลง ทำให้แต่ละฝ่ายต้องส่งตัวประกันไปอยู่ที่อีกโลกหนึ่ง ฝ่ายมนุษย์ส่งเจ้าชาย ฝ่ายปิศาจส่งเจ้าหญิงมาแลกเปลี่ยนกัน เวลาผ่านไป ราชาของมนุษย์สิ้นพระชนม์ ฝ่ายปิศาจจึงบุกชิงตัวเจ้าหญิงกลับมาโดยหารู้ไม่ว่าพระองค์ทรงครรภ์กับเจ้าชายชาวมนุษย์แล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้มนุษย์ต้องขัดแย้งกับปิศาจอีกครั้ง จากนั้นเจ้าหญิงนามเทเซเลีย (เมื่ออยู่โลกมนุษย์ใช้ชื่อว่า “เทเชีย”) จึงประสูติ ตามคำทำนาย พระนางคือผู้ปลดปล่อยที่จะทำให้สงครามยุติ ...

ฝ่ายมนุษย์เฝ้าตามหาผู้ปลดปล่อยมานานแสนนานโดยไม่ได้รู้เลยว่าพระองค์อยู่ในโลกปิศาจ ทว่าอยู่มาวันหนึ่งเมื่อเจ้าหญิงองค์น้อยเจริญชันษาขึ้นเป็นวัยรุ่น พระองค์เกิดความต้องการที่จะเดินทางมายังโลกมนุษย์โดยไม่ทราบสาเหตุ และนั่นก็คือจุดกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น พระองค์ต้องใช้เวทมนตร์แปลงร่างให้เป็นชายเพื่อความปลอดภัยด้วย

เพียงไม่กี่หน้าแรกดูเหมือนว่าเรื่องราวจะดำเนินไปได้อย่างสวยงาม ผมรู้สึกว่าอาจมีการผจญภัย ต่อสู้ และมีความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และปิศาจให้เห็นบ้างตามเนื้อเรื่องที่ได้เกริ่นไว้ แต่สุดท้ายเจ้าหญิงก็คงจะเป็นผู้สร้างสันติภาพจนจบเรื่องได้ตามสูตรสำเร็จของเรื่องแนวนี้ อาจมีการสร้างมุกตลกหรือฉากรักตามเงื่อนไขของการปลอมตัวเป็นชายที่ได้สร้างไว้ แต่ “นักรบแห่งมังกร” ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย สิ่งที่ผมคาดเดาไว้ผิดทั้งหมด อาจฟังดูดีที่นักเขียนทำให้ผู้อ่านหลงทาง แต่ขอโทษครับ นี่ไม่ใช่นิยายแบบหักมุม แต่เป็นนิยายแบบ “หักแนว” คือเปลี่ยนแนวจากนิยายแฟนตาซีแนวผจญภัย เรียนรู้และเติบโต กลายเป็นนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนอย่าง “แฮรี่ พอตเตอร์” ไปเสียได้ เมื่อเจ้าหญิงเดินทางมาถึงโลกมนุษย์แล้วต้องเข้าร่วมการประลองอย่างไม่ตั้งใจแต่กลับได้รางวัลที่หนึ่ง ซึ่งนั่นคือสิทธิ์การเข้าเรียนในโรงเรียนเวทมนตร์ที่ทุกคนต่างมีมังกรเป็นสัตว์เลี้ยงและเป็นพาหนะ เจ้าหญิงเองก็มี “ฟ็อก” มังกรสายพันธุ์รัตติกาลที่หายากเป็นเพื่อนแล้วอยู่ตัวหนึ่ง

แน่นอนว่าแฟนตาซีโรงเรียนก็คงไม่ได้มีอะไรเสียหายหากจะมีความสมเหตุสมผล แต่สิ่งนี้ดูจะหาได้ยากจากนิยายเรื่องนี้ กลิ่นของความไม่น่าเชื่อเริ่มโชยมาตั้งแต่เจ้าหญิงเกิดอยากจะมาโลกมนุษย์อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย รางวัลที่หนึ่งของการประลองเหล่านักฆ่า (ซึ่งอันที่จริงพวกเขาควรจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้ใครรู้จัก) กลับเป็นสิทธิ์ในการเข้าเรียนโรงเรียน แม้จะเป็นโรงเรียนเวทมนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่ถ้าผมเป็นนักฆ่าพวกนั้น ผมคงไม่เลือกเข้ามาประลองเสี่ยงตายเพื่อแลกกับการได้เข้าโรงเรียนเป็นแน่

หลังจากนั้นความไม่น่าเชื่อยังตามติดมาอย่างไม่หยุดยั้งจนจบเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเหล่ารุ่นพี่ที่เอาแต่เล่นโดยไม่แสดงความเป็นผู้นำ เจ้าหญิงที่แสดงความเย็นชามาตลอดแต่จู่ๆ ก็เกิดตรัสว่าอยากจะปกป้องโลก นอกจากนี้พระองค์ยังมีอาชีพเป็นนักฆ่าตามใบสั่งขององค์กร ซึ่งเคยตรัสให้เหตุผลไว้ในหน้า 106 ว่า ที่เราเป็นนักฆ่าก็เพื่อจะแข็งแกร่งขึ้น แข็งแกร่งกว่าใครๆ แข็งแกร่งมากพอจะทำทุกอย่างได้ แต่การที่เจ้าหญิงจะมาเป็นนักฆ่าดูขัดกับฐานะของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าอยากเข้มแข็งก็อาจฝึกฝนอย่างอื่นเช่นเป็นนักรบโดยให้ทหารหรืออัศวินในวังฝึกให้ก็ได้ นอกจากนี้ในตอนต้นเรื่องพระองค์ตรัสกับเสด็จแม่ว่า “ท่านก็คงรู้ว่าไม่มีหวัง” เมื่อถูกถามว่าท่านตาที่เป็นปิศาจอนุญาตให้ไปอยู่โลกมนุษย์หรือไม่ หากไม่อนุญาตให้ไปอยู่โลกมนุษย์เพราะเกรงกลัวอันตราย เรื่องการจะให้เป็นนักฆ่าคงเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น
อีกทั้งนักฆ่าคนอื่นยังยอมรับนับถือในฝีมือด้วย ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเคยได้พบกันมาก่อน ในบทที่มีการประลองเหล่านักฆ่า เทเชียเปรยไว้ว่ารู้ถึงอันดับนักฆ่าของผู้ประลองกับไคร์ เพื่อนของตน เพราะ “ชื่อนี้ก็เป็นที่แพร่หลาย”และผู้เขียนไม่ได้บรรยายไว้อีกว่าเจ้าหญิงเคยรู้จักกับนักฆ่าเหล่านี้เป็นการส่วนตัว จนกระทั่งในช่วงท้ายของเล่มที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจของนักฆ่า เหล่านักฆ่าที่เคยปรากฏตัวในการประลองช่วงต้นเรื่องก็กลับมาแสดงความนับถือเจ้าหญิงราวกับเคยรู้จักกันมานาน เมื่อเจ้าหญิงทรงปฏิบัติภารกิจจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่นานก็สามารถลุกขึ้นมาพูดได้เหมือนคนปกติทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในด้านของความรักก็สุดเหลือเชื่อ เจ้าหญิงเทเชียคงจะต้องได้รักกับเจ้าชายเซอัสผู้ซึ่งมีนิสัยแสนเย็นชาเช่นเดียวกัน ดูเหมือนว่าเจ้าชายจะให้ความช่วยเหลือและเอ็นดูเจ้าหญิงอยู่ภายในสีหน้าที่ไม่แสดงอารมณ์นั้นอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีเหตุการณ์หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นได้ว่าทั้งคู่จะมีพัฒนาการด้านความรักได้ในเมื่อเย็นชาใส่กันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเทเชียอยู่ในร่างผู้ชายโดยที่ไม่มีใครสักคนที่ล่วงรู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นหญิง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเจ้าชายเซอัสกลับนำสร้อยที่แสดงถึงการหมั้นหมายไปสวมให้เทเชีย สร้างความงุนงงสงสัยให้กับผู้อ่านอย่างยิ่งยวด

ส่วนเรื่องของภาษา แม้จะไม่มีภาษาวิบัติและอิโมติคอน แต่ก็มีการใช้ซาวด์เอฟเฟคแบบหนังสือการ์ตูนเช่น ฟ้าว!!! เคร้ง!!! กึก!!! ตึง!!! ในด้านหนึ่งก็อาจช่วยให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่นำเสนอได้ แต่ก็ควรจะสลับกับการบรรยายในเชิงพรรณนาให้เห็นภาพด้วย การมีซาวด์เอฟเฟคจำนวนมากเกินไปกลับดูน่ารำคาญและไม่สามารถจินตนาการถึงท่าทางของตัวละครได้เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังใช้อัศเจรีย์ครั้งละสามตัว ทั้งๆ ที่ควรใช้เพียงตัวเดียวเท่านั้น

การบรรยายทั้งฉากและตัวละครไม่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจน มีเพียงสีตา สีผม และ “เสียงเรียบ เสียงเย็น” “ร่างบาง ร่างสูง” เท่านั้น ที่เป็นคำบ่งชี้ลักษณะของตัวละครแต่ละตัว บางครั้งผู้อ่านก็จำไม่ได้ว่าตัวละครตัวไหนตาหรือผมสีอะไร หรือ “เสียงเย็น” แปลว่าอะไร เป็นต้น ในด้านของฉากก็เป็นการบรรยายอย่างกว้างๆ พอให้ได้เห็นภาพอย่างเลือนรางเท่านั้น


เคยมีคนกล่าวกับผมว่าบทวิจารณ์ไม่อาจเป็นบทวิจารณ์ที่ดีได้หากเอาแต่ติและไม่ชี้ทางว่าผู้เขียนควรจะปรับปรุงอย่างไร ในเบื้องต้นผมขอแนะนำว่า เจ้าหญิงก็เป็นนักฆ่าได้ และเป็นนักฆ่าที่เก่งได้ หากมีเหตุการณ์หรือคำชี้แจงที่อธิบายที่มาของความเก่งนั้น เช่น เนื่องจากเป็นเจ้าหญิงแห่งโลกปิศาจจึงไม่ได้รับการเลี้ยงดูเฉกเช่นมนุษย์ กลับต้องเป็นนักฆ่าเพื่อฝึกจิตใจให้โหดเหี้ยม และทรงได้รับการฝึกอย่างสาหัสมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เช่นนี้จึงเป็นที่มาของความเป็นนักฆ่าที่เก่งกาจอย่างมีเหตุผล

เจ้าชายผู้เย็นชาก็รักเจ้าหญิงในร่างชายได้ หากมีเหตุการณ์ให้เจ้าชายทรงสงสัยว่าเพื่อนชายที่เห็นอาจไม่ใช่ชายแท้ และมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่พัฒนาการของความรัก เช่นมีเหตุการณ์ที่ทำให้เวทมนตร์อำพรางร่างกายเสื่อมลง และมีเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าหญิงตกอยู่ในอันตราย ต้องให้เจ้าชายไปช่วย หรือกลับกัน เจ้าหญิงต้องช่วยเจ้าชาย การบรรยายว่าทั้งสองฝ่ายยังมีทีท่าที่เย็นชาก็ทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านเห็นถึงความรักที่เติบโตอยู่ในจิตใจของทั้งสองคน

ตัวละครอื่นๆ ก็ควรจะมีบทบาทมากขึ้น เช่นเพื่อนๆ ในชั้นเรียน รุ่นพี่ หรือเหล่ามังกร ตลอดจนอาจารย์ เพราะจะเป็นนิยายโรงเรียนไปไยในเมื่อไม่มีฉากการเรียนการสอนที่เห็นได้เด่นชัด หรือจะเป็นนิยายเรื่อง “นักรบแห่งมังกร” ไปไยในเมื่อเหล่ามังกรได้แต่ร้องกรี๊ดและปล่อยลูกพลัง (ที่มังกรต่างเผ่ากลับไม่มีความแตกต่างกันเลย นอกจากสีของลูกพลัง)

นอกจากนี้ก็ควรจะพรรณนาให้เห็นภาพมากขึ้น เช่นในฉากที่เป็นถ้ำก็ควรพรรณนาถึงรายละเอียดของถ้ำ เช่นมีขนาดใหญ่แค่ไหน เพดานถ้ำสูงแค่ไหน มืดจนมองไม่เห็นอะไรหรือมีแสงรำไรเข้ามาบ้าง มีหินงอกหินย้อยหรือไม่ รูปร่างสวยงามหรือน่ากลัวอย่างไร มีธารน้ำใต้ดินไหลผ่านหรือไม่ มีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่หรือเปล่า ถ้ามี เป็นอันตรายไหม เป็นต้น การบรรยายถึงฉากต่างๆ หากผู้เขียนไม่เคยไปเยือนสถานที่จริง อาจค้นคว้าจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตได้

อย่างไรก็ตาม “นักรบแห่งมังกร” เพิ่งวางจำหน่ายเพียงภาคปฐมบท จึงหวังว่าภาคต่อไปผู้เขียนจะพัฒนาการเขียนได้ดีขึ้น

     
 
ใครแต่ง : enter-books
25 ส.ค. 52
80 %
31 Votes  
#3 REVIEW
 
เห็นด้วย
29
จาก 39 คน 
 
 
บทวิจารณ์ No Hero รัตติกาล... อันตราย

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 3 ธ.ค. 52
นิยายเรื่อง No Hero รัตติกาล... อันตราย ของสำนักพิมพ์ Enter books แต่งโดย Yu Wo ชาวไต้หวัน ผู้แปลคือ scimmietta เป็นนิยายที่ทางสำนักพิมพ์ส่งมาให้วิจารณ์ ในขณะนี้ตามร้านหนังสือมีวางจำหน่าย 3 เล่มแล้ว แต่ที่ผมได้รับมีเพียงเล่ม 1 เล่มเดียว มีชื่อตอนว่า Vampire Chamberlain จึงขอวิจารณ์เนื้อหาเฉพาะในเล่ม 1 เท่านั้น

เรื่องราวของ No Hero เกิดขึ้นในโลกอนาคตปี 2112 มนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ต่างชื่นชอบการดัดแปลงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ให้มีรูปร่างแปลกๆ (ส่วนมากจะดูเหมือนเครื่องจักร) และมีพละกำลังเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการต่อสู้ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาประกาศตัวเป็นฮีโร่ ช่วยจัดการอาชญากรรมที่เกิดจากการดัดแปลงร่างกายและการต่อสู้ แต่ก็มีฮีโร่ที่เป็น “ตัวจริง” ไม่มากนัก เพราะในเมื่อทุกคนต่างมีพลังเหนือมนุษย์ ก็ย่อมสามารถจัดการกับฮีโร่ได้อย่างง่ายดาย

ในโลกยังมีแวมไพร์อาศัยอยู่ด้วย แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์จะไม่ค่อยสนใจการมีตัวตนอยู่ของแวมไพร์มากนัก รวมถึงไม่สนใจการมีอยู่ของกันและกันอีกด้วย โจชัว เอนด์เลส แวมไพร์ระดับห้า ซึ่งถือว่าเก่งกาจที่สุด เพราะแวมไพร์ที่มีระดับสูงกว่านี้ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว ออกหางานที่ตนเองอยากทำทุกค่ำคืน นั่นคือการเป็นพ่อบ้าน ตามอาชีพของบิดาที่เป็นมนุษย์ ถึงแม้โจชัวจะเป็นแวมไพร์ระดับสูง แต่เมื่ออยากเป็นพ่อบ้าน เหล่าแวมไพร์จึงไม่คบด้วยเพราะถือว่าต่ำต้อย ส่วนมนุษย์เมื่อเห็นว่าเป็นแวมไพร์ก็หวาดกลัวจนไม่กล้ารับเข้าทำงาน (ผมคิดว่าการจ้างแวมไพร์ทำงานคงจะเป็นคนละเรื่องกับการเห็นแวมไพร์เดินอยู่ตามท้องถนน)

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีใครรับโจชัวเข้าทำงานเป็นพ่อบ้าน งานที่เขาเคยได้ทำมักจะเป็นงานประเภทนักฆ่าหรือมือปืน ซึ่งเขาไม่ชอบ จนกระทั่งเขาบังเอิญได้เข้าช่วยเด็กหนุ่มคนหนึ่งไม่ให้ถูกทำร้าย และเด็กคนนั้นจ้างเขาไว้ด้วยค่าจ้างที่สูงลิบลิ่วทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาเป็นแวมไพร์ เจ้านายคนใหม่ของโจชัวชื่ออันเซียร์ เป็นนักศึกษาสาขาการต่อสู้ ชอบดัดแปลงอาวุธและชอบรับประทานอาหารคราวละมากๆ รวมทั้งมีห้องลับที่ไม่ยอมให้ใครเข้าไป อันเซียร์มีบอดี้การ์ดหลายร้อยคนที่พี่ชายจ้างมาให้คุ้มครองเขาด้วย “ภารกิจพลีชีพ” คือถ้าคนที่ต้องคุ้มครองตายหรือหายตัวไปนานถึง 24 ชั่วโมง บอดี้การ์ดจะต้องฆ่าตัวตาย และเขาก็ทำให้เหล่าบอดี้การ์ดต้องหวาดเสียวด้วยการหายตัวไปอยู่บ่อยครั้ง

No Hero เล่มหนึ่ง ปิดฉากลงด้วยการเฉลยว่าอันเซียร์คือตะวันรัตติกาล ฮีโร่ที่เก่งเป็นอันดับหนึ่งในเรื่อง นอกจากจะมีความสามารถด้านการต่อสู้แล้ว อันเซียร์ยังมีความสามารถด้านวิศวกรคอมพิวเตอร์ สามารถประดิษฐ์ร่างเทียมของตนเองได้ และยังมีร่างกายที่เกือบจะเป็นอมตะเพราะเป็นของสังเคราะห์แทบทั้งหมด แต่เขาก็ยังต้องเชื่อฟังพี่ชายที่เป็นผู้มีอิทธิพล เรื่องในเล่มหนึ่งนี้ ยังเปิดตัวเมโลดี้ แวมไพร์สาวระดับแปด อดีตบอดี้การ์ดของอันเซียร์ เมโลดี้นับถือพี่ชายของอันเซียร์จึงหาทางเข้ามาทำงานด้วยเพื่อจะได้หาโอกาสใกล้ชิด คาดว่าในเล่มต่อๆ ไป เมโลดี้และพี่ชายของอันเซียร์คงจะมีบทบาทมากขึ้น พร้อมทั้งปฏิบัติการของอันเซียร์ในฐานะฮีโร่ด้วย


เมื่ออ่านเรื่อง No Hero ตอน Vampire Chamberlain จบลง ผมคิดถึงภาพยนตร์เรื่อง Batman เพราะตัวละครที่เป็นฮีโร่คืออันเซียร์ มีลักษณะเป็นอัจฉริยะที่ร่ำรวย ฉากหน้าดูเป็นคนไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง แต่เบื้องหลังเขาคือฮีโร่ที่ปราบปรามเหล่าร้ายในยามค่ำคืน และเอกลักษณ์ของชุดฮีโร่ตะวันรัตติกาล คือ ปีกเหล็กขนาดใหญ่ เปรียบได้กับแบทแมน ที่เป็นฮีโร่มีผ้าคลุมที่ดูเหมือนปีก ออกปฏิบัติการยามค่ำคืนเช่นกัน ในขณะที่โจชัว เอนด์เลส ที่เป็นพ่อบ้านนั้น ก็เป็นผู้ช่วยที่เก่งกาจ สามารถช่วยได้ทุกด้านตั้งแต่การทำอาหาร ทำความสะอาด ไปจนถึงช่วยเจ้านายดัดแปลงอาวุธ อีกทั้งฝีมือการต่อสู้ก็ไม่ด้อยกว่าใคร เพราะเป็นแวมไพร์ระดับสูง เปรียบได้กับอัลเฟรด พ่อบ้านของบรูซ เวย์น มหาเศรษฐีผู้มีงานอดิเรกเป็นฮีโร่ สิ่งนี้น่าจะแสดงถึงแรงบันดาลใจของผู้แต่งได้ แต่หากจะเปรียบเทียบมิติของตัวละครแล้ว แน่นอนว่าแบทแมนย่อมมีหลายมิติกว่า และยังมีปัญหาที่ต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก ต้องตั้งคำถามกับคุณธรรมของตนเอง ซึ่งตะวันรัตติกาลยังไม่แสดงจุดนี้ให้เห็นชัดเจนนัก

ความเป็นนิยายฮีโร่ของ No Hero ดูไม่ค่อยเด่นชัด จริงอยู่ที่มีการเขียนถึงตะวันรัตติกาลและฮีโร่อีกสองสามคน แต่ศัตรูของพวกเขาก็มีเพียงโจรหรือนักเลงธรรมดาเท่านั้น จึงต่างจากการ์ตูนฮีโร่ทั่วไป ซึ่งจะต้องมีตัวร้ายที่มีความโดดเด่นและมีฝีมือสมน้ำสมเนื้อกับพวกตัวเอก ดังเช่นแบทแมนก็มีโจ๊กเกอร์ ซูเปอร์แมนมีเล็กซ์ ลูเธอร์ สไปเดอร์แมนมีกรีน ก็อบบลิน ฯลฯ เมื่อตัวร้ายไม่มีฝีมือที่ทัดเทียมกับฮีโร่ พวกเขาจึงต้องพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย สิ่งนี้เองที่ทำให้ No Hero มีฉากต่อสู้ที่ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไรนัก ยกเว้นในช่วงหลังที่โจชัวและเมโลดี้ต้องต่อสู้กับบอดี้การ์ดที่พี่ชายอันเซียร์จ้างมา เพราะโจชัวไปบอกให้อันเซียร์แยกตัวออกจากครอบครัว นี่เป็นเหตุการณ์เดียวที่พวกตัวเอกเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็เป็นเพราะบอดี้การ์ดมีจำนวนมากเหลือเกิน และอันเซียร์ยังถูกลูกหลงจากความเข้าใจผิดจนทำให้พวกตัวเอกเกิดความพะว้าพะวงอีกด้วย

นอกจากนี้ผมยังสงสัยว่าชื่อ No Hero นั้น ผู้แต่งต้องการจะสื่อถึงอะไรหรือไม่ น่าจะเป็นการดี หากชื่อนี้มีความหมายมากกว่าการตั้งขึ้นมาเท่ๆ เท่านั้น ถ้าในที่สุดแล้ว เนื้อเรื่องดำเนินไปว่าไม่มีผู้ใดเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีด้านมืดในจิตใจ ก็คงจะดีมากและสมกับชื่อเรื่อง หวังว่าคงจะเป็นเช่นนั้น

ในช่วงที่ผมเขียนบทวิจารณ์นี้ เป็นเวลาที่มีกระแสนิยมตัวละครแวมไพร์ อาจเป็นเพราะมีนิยายหลายเรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง Twilight ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็เป็นได้ แต่ Twilight ก็ทำให้ภาพของแวมไพร์เปลี่ยนจากรูปลักษณ์ที่สง่างามน่าเกรงขามพร้อมกับน่าสะพรึงกลัว และเป็นสิ่งชั่วร้าย กลายเป็นชายหนุ่มหรือหญิงสาวรูปงาม มีฐานะและชาติตระกูล อาจชั่วร้ายหรือไม่ก็ได้ แต่หากชั่วร้าย ก็เป็นความชั่วที่หญิงสาวยอมสยบภายใต้คมเขี้ยวของแวมไพร์รูปงามด้วยความเต็มใจ แม้แวมไพร์ในเรื่อง No Hero นี้ จะไม่ได้แสดงความหล่อสวยมากเท่า Twilight แต่ก็ดูจะมีเสน่ห์ไม่น้อยจากฝีมือการทำอาหาร และพฤติกรรมการเป็นพ่อบ้านมืออาชีพของโจชัว ขณะเดียวกันโจชัวทดแทนการมีความรัก(หรืออยากดูดเลือด)กับหญิงสาว ด้วยความภักดีต่อผู้เป็นนาย ถึงแม้จะมีแวมไพร์สาวที่ชื่อเมโลดี้ปรากฏตัวในตอนท้าย แต่ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมด้านความรักที่เด่นชัด ภาพความใกล้ชิดอย่างมากระหว่างโจชัวกับอันเซียร์ส่งผลให้ผู้อ่านบางคนคิดว่า โจชัวกับอันเซียร์อาจจะมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งก็เป็นธรรมดาสำหรับนิยายแนวนี้ในยุคปัจจุบัน หากผู้อ่านหวังจะได้อ่านเรื่องราวของแวมไพร์ที่ทรงพลัง และมีประเด็นสาระด้านอื่นๆ แอบแฝงอยู่ ก็อาจจะต้องผิดหวัง

นอกจากนี้ ยังมีความไม่สมจริงอยู่ที่การหักมุมในตอนท้ายของเล่ม การที่ร่างกายของอันเซียร์เป็นของสังเคราะห์ ช่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความประทับใจเมื่อแรกพบของโจชัว ที่เขาเห็นว่าอันเซียร์แตกต่างกับคนอื่น เพราะไม่ได้ดัดแปลงร่างกาย เข้าใจว่าผู้แต่งต้องการให้คำอธิบายถึงสาเหตุที่อันเซียร์ต้องรับประทานอาหารคราวละมากๆ และหายจากการบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็น่าจะมีทางออกที่สมจริงมากกว่าการให้ร่างกายของเขาเป็นเช่นที่ระบุไว้
     
 
ชื่อเรื่อง :  ทีนอส (รีไรต์ 2016)
ใครแต่ง : ชัยยา
26 ก.ค. 59
80 %
1131 Votes  
#5 REVIEW
 
เห็นด้วย
22
จาก 23 คน 
 
 
ข้อสังเกตจากการอ่านวรรณกรรมออนไลน์ที่ได้รับการตีพิมพ์ “ทีนอส”

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 17 มี.ค. 52
ข้อสังเกตจากการอ่านวรรณกรรมออนไลน์ที่ได้รับการตีพิมพ์ “ทีนอส”



เรื่องย่อ

ชัย คนขับแท็กซี่ รับผู้โดยสารวัยรุ่นที่เป็นเด็กฮิพฮ็อพที่สี่แยกแห่งหนึ่งเพื่อจะพาไปส่งที่ รัชดาซอยสี่ แต่เมื่อรถของทั้งคู่ผ่านสี่แยกกลับทะลุมิติมาปรากฏที่โลกในจินตนาการที่ อยู่ในสภาพย่ำแย่เพราะปิศาจยึดครองจนเกือบหมด ทั้งสองได้พบรถยนต์อีกคันที่มาถึงแล้วก่อนหน้าที่มีเด็กนักเรียน ม. ต้นคนหนึ่งนั่งอยู่กับแม่ แม่เสียชีวิตทันที จากนั้นเมื่อได้พบผู้นำทาง ทั้งสามคนที่เหลือจึงต้องกู้โลกตามคำพยากรณ์ที่มีมานานแสนนานจนผู้คนในโลก แห่งนั้นเกือบหมดศรัทธา



ข้อสังเกต

เนื้อเรื่องเป็นแนว “แฟนตาซีทะลุมิติ” ซึ่งเปิดโอกาสให้ตัวละครในยุคปัจจุบันเข้าสู่โลกในจินตนาการได้ แต่เมื่ออ่านไปแล้วกลับพบกับความแตกต่างจากเรื่องในแนวนี้ที่ส่วนมากจะเป็น พระเอกขี่ม้าขาวมากอบกู้โลก และเรื่องจบลงอย่างเป็นสุข กล่าวคือถึงแม้ว่าตัวละครเอกจะต้องเป็นผู้กู้โลกเช่นกัน แต่ในขณะที่อ่านไม่รู้สึกว่ามีความหวังว่าเขาทั้งสามจะกอบกู้โลกได้ เพราะฝ่ายที่อยู่ในโลกแฟนตาซีอยู่แล้วมีความสามารถเหนือกว่าผู้กอบกู้มากมาย นัก อีกทั้งเรื่องยังจบอย่างไม่มีความสุข อาจกล่าวได้ว่าเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดของ “ทีนอส” เต็มไปด้วยความหม่นหมอง สิ้นหวังและหดหู่

ตัวละครเอกทั้งสามต่างมีอดีตที่เศร้าหมอง อาตี๋หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ทีเค” เด็กหนุ่มฮิพฮ็อพฐานะดีแต่ไร้การเหลียวแลจากนักธุรกิจใหญ่ผู้เป็นพ่อ ส้มโอ เด็กสาว ม. ต้น ที่ถูกพ่อเลี้ยงใช้กำลังข่มขู่รังแกทั้งตัวเอง แม่ และน้องชายวัยแบเบาะอยู่เป็นประจำ และ “ชัย” ที่อดีตเคยเป็นมือปืนจากความแค้นที่โสเภณีผู้เป็นแม่ถูกสังหารจากลูกค้าไม่ ทราบชื่อที่ชัยเห็นเพียงรอยสักและหัวเข็มขัดรูปกะโหลก เขาเคยถูกบังคับให้ฆ่าเด็กขายพวงมาลัยที่ถือตุ๊กตาเก่าคร่ำคร่าที่ชื่อ “บัตเตอร์คัพ” ตัวละครเอกในการ์ตูนเรื่อง “พาวเวอร์พัพเกิร์ล” ที่ฉายทางการ์ตูนเน็ตเวิร์ก อันเป็นปมที่ทำให้เขารู้สึกผิดตลอดมาที่ต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีการกล่าวถึงหลายครั้งในเรื่อง อีกทั้งตัวตุ๊กตาเองก็สร้างรอยประทับที่ลึกซึ้งในจิตใจของชัยด้วย

เป็น ธรรมดาของนิยายแนวนี้ที่จะต้องมีสัตว์ประหลาด ปิศาจหรือการใช้เวทมนตร์ เวทมนตร์ที่ปรากฏในเรื่องส่วนหนึ่งมาจากผู้เฒ่าผู้รักษาคำพยากรณ์ของ บรรพบุรุษ เป็นเวทมนตร์แบบ “เสกเป่า” เช่น เสกขนม้าเป็นหอก หรือเสกหญ้าเป็นนกอินทรีย์ ซึ่งทำให้อ่านแล้วนึกถึงขุนแผนตอนเสกใบมะขามเป็นอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สร้างความสนุกสนานและความแตกต่างจากนิยายแนวแฟนตาซี ทั่วไปได้ดี อีกทั้งปิศาจในเรื่องก็ไม่ได้นำมาจากเทพนิยายทั่วไป หากแต่แบ่งได้เป็นสามพวกคือ “ซากศพเดินได้” อันเป็นอดีตมนุษย์ที่ถูกทีนอสครอบงำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ “สัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก” เช่นหมาป่าและนกอินทรีย์ขนาดยักษ์ และ “ไดโนเสาร์”หาก แต่ฉากการใช้เวทมนตร์หรืออะไรที่หรูหราดูยิ่งใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ใช้ใน นิยายเรื่องนี้มากนัก เพราะดูเหมือนผู้เขียนจะเล่นกับเรื่องจิตใจของตัวละครมากกว่า

นอก จากนี้ความแตกต่างจากนิยายแนวเดียวกันเรื่องอื่นๆ ยังอยู่ที่ความสามารถของตัวละคร โดยทั่วไปตัวละครเอก (โดยเฉพาะถ้ามีการระบุถึงในคำพยากรณ์) จะต้องมีความสามารถสูงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่นการใช้ดาบ เวทมนตร์ ลางสังหรณ์ หรือแม้แต่การวางแผน ตลอดจนมีอาวุธร้ายแรงตามแต่ผู้เขียนจะสร้างสรรค์ขึ้น หากแต่ตัวละครเอกในเรื่องนี้ไม่เป็นเช่นนั้น อาวุธที่ทรงพลังที่สุดเป็นเพียงปืนพกที่มีกระสุนอยู่ไม่กี่ลูก นอกจากนั้นก็เป็นสิ่งต่างๆ ตามที่จะหาได้ เช่นกระเป๋าถือของผู้หญิง หรือไม้ไผ่ที่นำมาเหลาเป็นหอก แม้แต่ตัวละครในโลกแฟนตาซีเองอย่างผู้นำทางก็มีอาวุธเป็นคันศรกับมีดสั้น ธรรมดาเท่านั้น เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่ร้ายกาจอย่างไดโนเสาร์ยักษ์หรือพ่อมดก็ นับว่าตัวละครในเรื่องนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างแท้จริง และความเป็นตัวเอกก็ไม่ได้ปกป้องพวกเขาจากความตายหรือการบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่ก็นับว่ามีเหตุผลเมื่อในคำพยากรณ์ระบุให้พวกเขาเป็นผู้เรียกผู้พิทักษ์ มาปกป้องดินแดนแห่งนี้เท่านั้น

เมื่อ “ทีนอส” มีพลังที่จะดึงเอาด้านมืดในจิตใจของตัวละครออกมาครอบงำพวกเขา ทำให้ทุกคนในเรื่องต่างพากัน “ปิดกั้นจิตใจ” กล่าวคือนึกถึงแต่เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ถ้ามองจากมุมมองของผู้อ่านแล้วจะเห็นได้ว่ายากที่จะทำได้เพราะทุกคนต่าง มีด้านมืดของจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าทหารใน “กองทัพขาว” กองทัพเพียงหนึ่งเดียวในเรื่องที่ทุกคนต้องผูกผ้าขาวไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งตามร่างกาย เราได้รู้จักทหารกองทัพนี้เพียงไม่กี่คนเพราะส่วนใหญ่จะตายหมด พวกเขามีอดีตที่เลวร้ายจากการสู้รบ อีกทั้งต้องกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของความเป็นทหาร กล่าวคือไม่สามารถนึกถึงการฆ่าฟันมากจนเกินไปเพราะจะทำให้จิตใจด้านมืดเข้า ครอบงำตนเอง ด้วยสองสาเหตุนี้จึงทำให้พวกเขาถูกทีนอสเข้าครอบงำได้อย่างง่ายดาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยากที่จะมีชีวิตรอดได้เมื่อมีศัตรูในรูปแบบนี้ ส่วนผู้นำกองทัพพร้อมทหารเอกนั้นไม่มีการบอกในเรื่องว่าเขามีเครื่องยึด เหนี่ยวจิตใจอย่างไรจึงอยู่รอดมาได้

ด้านมืดของตัวละครเอกทั้งสามถูกเล่าถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของทีเค เด็กหนุ่มฮิพฮ็อพ ด้านมืดของเขาคือชายชราสองคนในชุดขาวและดำ “ความดีความชั่ว” ดังที่ได้เห็นจากตัวร้ายของการ์ตูนประเภท “ลูนี่ย์ตูน” เช่นทอมกับเจอร์รี่ หรือโรดรันเนอร์ ที่มักจะมีฉากปิศาจชุดดำที่เป็นตัวแทนของความชั่วมาบอกให้ทำชั่ว ในขณะที่เทวดาชุดขาวตัวแทนของความดีมาบอกให้ทำความดี ส่วนมากความดีมักจะพ่ายแพ้เช่นเดียวกับกรณีของทีเคที่ถูกฝ่ายมืดชักจูงให้ ข่มขืนส้มโอเด็กสาวที่เขาแอบรัก ในกรณีของชัยกลับเป็นเสียงที่บอกเขาให้กลับไปเป็นมือปืน การนึกถึงภาพแม่ที่ถูกฆ่าและการฆ่าเด็กขายพวงมาลัยในอดีต ส่วนส้มโอนั้นเป็นตัวแทนของความดีในเรื่องจึงไม่ค่อยมีการกล่าวถึงด้านมืด ของจิตใจมากนัก

ใน ส่วนของการเล่าเรื่อง นับว่าผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องได้อย่างเห็นภาพ มีการบรรยายที่ดี เขียนได้อย่างน่าติดตาม มีส่วนที่ทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ว่าเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นจริง เช่นการอ้างอิงถึงสถานที่หรือเว็บไซต์ที่มีอยู่จริง เช่นซอยสี่หรือเว็บเด็กดี กราฟิตี้ในห้องน้ำ หรือแม้แต่การใช้โปรแกรม MSN Messenger หรือ ความต้องการของส้มโอที่จะเป็นนักเขียนนิยายในเว็บเด็กดี จนสุดท้ายผู้เขียนพยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าทีเคต้องนำเอาความต้องการนั้น มาสานต่อให้เป็นจริงด้วยการโพสต์เรื่องราวจากโลกทีนอสเป็นนิยายในเว็บนี้ (ทีเค ตัวละครในเรื่อง = ผู้เขียน)

นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้นำตนเองเข้าไปปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องด้วยพร้อมทั้งแฝงความคิดเห็นเกี่ยวกับนิยายออนไลน์ ในหน้าที่ 140 ดังนี้

ความเห็นที่ 12,535

อ่าน แล้วครับ ก็อ่านได้เรื่อยๆ นะ โดยรวมก็ดีแล้วล่ะ เพียงแต่ค่อนข้างสับสนนิดหน่อยกับพล็อตเรื่องที่โดดไปมา ยังไงล่ะ ก็แบบว่าไม่ต่อเนื่องเท่าไร ภาษาก็โอเคครับ แต่โดยส่วนตัวนะผมไม่ค่อยชอบเสียงเอฟเฟ็คสักเท่าไร มันดูเหมือนจะซ้ำซ้อนกับส่วนที่มีบรรยายไว้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องตัวอีโมชั่นไม่ขอออกความเห็นดีกว่า อันนี้เป็นลีลาของแต่ละคน และดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะชอบเสียด้วยสิ อืม...

มีการนำเสนอสมมติฐานอยู่เนืองๆ ว่า ผู้ที่อยู่ในโลกจินตนาการแห่งนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาพูดและเขียนเป็นภาษาไทย โดยป้ายชื่อต่างๆ และคำพยากรณ์เป็นภาษาไทย และการเรียกชื่อชนเผ่าของตนว่า “เทยา” ยิ่งทำให้เรื่องนี้ดูสมจริงมากขึ้น

ผู้ เขียนเล่าเรื่องได้อย่างที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนกำลังชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสลับภาพในเวลาเดียวกันระหว่างโลกในจินตนาการกับโลกแห่ง ความเป็นจริง หรือการเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกันในมุมมองของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งสร้างความสนุกสนานได้อย่างดีเยี่ยม

นอกจากนี้ผู้เขียนยังสามารถสร้างความผูกพันระหว่างผู้อ่านกับเนื้อเรื่อง เมื่อเริ่มอ่านเชื่อว่าผู้อ่านแทบทุกคนจะตั้งคำถามว่า “ทีนอสคืออะไร” ซึ่งคำถามนี้ไม่สามารถตั้งได้ในเรื่อง เพราะ “ความใคร่รู้นำมาสู่ความพินาศ” หากแต่ผู้เขียนกลับให้ทางออกที่ขัดแย้งกับประโยคนี้ เพราะท้ายที่สุดเมื่อผู้อ่านได้ทราบว่าทีนอสคืออะไร ตัวละครจึงได้ทำลายสิ่งนั้นลงได้เช่นกัน รวมถึงความเชื่อของผู้เขียนเองที่บอกผ่านความคิดของชัยที่ว่า “มนุษย์เราพัฒนาได้เพราะการตั้งคำถาม สงสัยแล้วจึงคิดค้น” (หน้า 271)

ผู้เขียนพยายามทิ้งปริศนาไว้กับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความหมายของชื่อ “ทีเค” คำพูดที่ใช้ในการเปิดประตูเรียกผู้พิทักษ์มีที่มาจากกระดาษโน้ตจดรายการซื้อ ของของแม่ส้มโอ ประกอบกับความหมายของการละเล่นแบบไทยรูปแบบหนึ่ง (มาทำไม มาซื้อดอกไม้ ดอกอะไร) แม้กระทั่งพาวเวอร์พัพเกิร์ล มีบางส่วนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “สัญลักษณ์” เช่นหัวกะโหลกที่ไม้เท้าของผู้ครอบครองทีนอสและหัวเข็มขัดของผู้สังหารแม่ ของชัย มีความหมายตรงตัวถึงความตายและความชั่วร้าย ผ้าขาวที่กองทัพขาวทุกคนต้องผูกเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความหมายถึงความดี เป็นต้น

มี บางส่วนที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีการขยายความมากกว่านี้คือส่วนที่เป็นของโลก แห่งความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นส่วนที่สำคัญของเรื่องมากนักแต่ก็ไม่น่าทิ้งไว้ให้ค้างคา เช่นพฤติกรรมของพ่อของทีเค ที่เริ่มแสดงออกถึงความรักลูกด้วยการออกตามหาตามที่ต่างๆ (เขาได้พบกับคนจากทีนอสด้วยในรูปของขอทาน แต่ชายผู้นั้นก็หายไปจากเรื่องอย่างไร้ร่องรอย) แต่พอถึงช่วงหลังของเรื่องผู้เขียนได้บรรยายแต่ในส่วนของโลกแฟนตาซีทำให้บท ของตัวละครนี้ขาดหายไปโดยสิ้นเชิง ภรรยาสาวที่ท้องแก่ของชัยที่ดูประดุจจะมีหน้าที่ให้ความสว่างในชีวิตกับเขา และมีหน้าที่คลอดบุตรเท่านั้น และพ่อเลี้ยงของส้มโอที่แทบจะไม่มีบทบาทอะไรนอกจากจะแสดงความฉุนเฉียวและตาย ในตอนจบ บางครั้งรู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้น่าจะมีบทบาทที่มากขึ้นสักเล็กน้อย หรือบางคนก็ไม่น่าจะมีบทมาตั้งแต่แรก

เมื่อ เขียนมาถึงบรรทัดนี้ข้าพเจ้านึกขึ้นได้ว่าควรจะสรุป ก็ขอสรุปอย่างซื่อๆ ว่าข้าพเจ้าชอบนิยายเรื่องนี้พอสมควร ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่ได้กล่าวมา แต่ข้าพเจ้าคงจะชอบนิยายเรื่องนี้มากกว่านี้มาก หากตอนจบจะไม่หักมุมแบบที่เป็นอยู่ (ขอไม่พูดถึงเนื่องจากจะทำลายอรรถรสของเรื่อง) แม้จะเป็นการเชื่อมโยงจากสิ่งที่เคยพูดถึงมาตลอด แต่การทำเช่นนี้ทำให้ความสมจริงที่มีมาตลอดทั้งเรื่องต้องมลายหายไปอย่างไม่ น่าจะเป็น
     
 
ใครแต่ง : Ellab
13 มิ.ย. 61
0 %
0 Votes  
#6 REVIEW
 
เห็นด้วย
22
จาก 23 คน 
 
 
บทวิจารณ์ The Dolls สงครามตุ๊กตาแ่ห่งพระเจ้า

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 29 ธ.ค. 53
นิยายแฟนตาซีขนาดยาว 4 ภาคจบ เรื่อง The Dolls สงครามตุ๊กตาแห่งพระเจ้า ของ สเลเต ซึ่งขณะนี้จบภาคหนึ่ง คือ ภาค ตุ๊กตาสังหาร ซึ่งมีความยาว 20 ตอนจบ (รวมบทนำและบทส่งท้าย) หากจะกล่าวถึงภาพรวมของนิยายเรื่องนี้อย่างคร่าวๆ ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องราวของไฟสงครามระหว่างมวลมนุษย์ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง จนทำให้เกิดสงครามระหว่างอาณาจักรใหญ่สองแห่งของโลกนี้ คือ เซน่อมและโคเลนอส โดยกลุ่มที่ตั้งตนเป็นเสมือนตัวแทนของพระเจ้า คือจีเซลกับกลุ่มอัครสาวกทั้ง 7 ร่วมกับเหล่าพวกดอลล์ที่เขาสร้างขึ้น เพื่อดำเนินงานสำคัญในการพิพาษาครั้งสุดท้ายต่อโลกมนุษย์แห่งนี้ สำหรับในภาคนี้ก็เป็นการเปิดตัวเหล่าดอลล์ว่าคืออะไร และสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ใด ขณะเดียวกันก็เปิดตัว เอนมะ ฮาคิริว เซนโรเคียร์ พระเอกของเรื่อง ที่ถูกดึงลงมาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามในครั้งนี้ จนเขาถูกทำให้กลายเป็นตุ๊กตาสังหาร (ซึ่งก็พ้องกับความหายของคำว่า “เอนมะ” ในภาษาญี่ปุ่นด้วยที่หมายถึงยมทูต) ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่ชอบการฆ่าฟันและสงคราม แต่เมื่อถูกบีบบังคับในทุกทาง เขาจึงลงมาร่วมด้วยอย่างเต็มตัว จนกลายเป็นตัวหมากสำคัญที่ส่งผลกระทบกับผู้ร่วมสงครามทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโคเลนอส เซน่อม C-9 Wolf หรือ เหล่าดอลล์ เองก็ตาม เพราะเขาต้องการพลิกจากเป็นเพียงแค่หมายตัวหนึ่งในกระดาน มาเป็นผู้คุมการเดินหมากทั้งเกมนี้เอง ซึ่งคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าสงครามตุ๊กตาแห่งเทพเจ้าครั้งนี้จะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป

แม้ว่า The Dolls สงครามตุ๊กตาแห่งพระเจ้า จะเป็นนิยายแฟนตาซีแนวสงคราม ซึ่งนับเป็นแนวยอดนิยมแนวหนึ่งของนิยายแฟนตาซีอยู่แล้ว แต่ความแตกต่างที่ สเลเต สร้างให้เรื่องนี้ต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ คือ การผสานแนวคิดทางคริสต์ศาสนาเข้ากับสงครามแฟนตาซีได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะใช้เรื่องราวของ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” (The Last Judgment) ซึ่งกลุ่มของจีเซลยึดเป็นภารกิจสำคัญที่พวกได้รับมอบหมายให้กระทำ ในที่นี้จะพบว่า สเลเต จงใจให้ตัวละครตัวนี้ชื่อจีเซล ซึ่งน่าจะต้องการสื่อถึงจีซัส หรือพระเยซู พระบุตรของพระเจ้า ผู้ที่ได้รับมอบหมายมาให้กระทำภารกิจสำคัญครั้งนี้ หรือการนำเรื่องราวของอัครสาวก (Archangels) ทั้ง 7 มาเป็นชื่อตัวละครสำคัญในกลุ่มของจีเซล เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของพวกเขา นอกจากนี้ยังใช้เรื่องราวระหว่างมิคาเอลกับลูซิเฟอร์ มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมิคาเอลกับเอนมะ (ซึ่งกลุ่มของจีเซลบอกว่าชื่อเดิมของเขาคือ
ลูซิเฟอร์) แต่การนำเรื่องราวทางคริสต์ศาสนามาใช้บางครั้งก็ก่อให้เกิดคำถามเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องราวของเอนมะ ที่พยายามโยงให้เห็นว่าในอดีตเอนมะคือลูซิเฟอร์ที่ครั้งหนึ่งเคยทรยศต่อพระเจ้ามาแล้ว ในเหตุการณ์นี้ดูประหนึ่งว่าในเรื่องพยายามให้เห็นกลายๆว่าเอนมะในอดีตเคยทรยศกับจีเซลมาแล้วครั้งหนึ่งเช่นกัน จึงเกิดคำถามว่าเอนมะที่เพิ่งอายุ 18 จะมีช่วงเวลาในอดีตตอนใดไปทรยศจีเซลได้ และถ้าทำได้จริงก็แสดงว่าเอนมะเป็นบุคคลอันตรายตั้งแต่ยังเป็นเด็กเลยหรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดจีเซลจึงไม่พยายามเอาตัวเอนมะกลับมาเป็นของตนโดยเร็ว แต่เพิ่งจะไปเอากลับมาเร็วๆนี้ ทั้งๆที่จีเซลมีทั้งอัครสาวกและกลุ่มดอลล์ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการที่ทรงพลังอำนาจที่ยากจะหามนุษย์คนใดมาต่อกรได้อยู่แล้ว

นอกจากการผสานเรื่องราวแฟนตาซีเข้ากับแนวคิดบางประการในคริสต์ศาสนาแล้ว นิยายเรื่องนี้ยังมีความน่าสนใจอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านด้วยการเปิดปมปริศนาและตัวละครปริศนาออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งปมเหล่านี้นับว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องราวของเรื่องต่อไป ในภาคนี้พบว่า สเลเต เปิดปมอันเป็นความลับที่ชวนให้ผู้อ่านต้องขบคิดและดึงดูดให้ตามอ่านต่อๆไปในหลายประเด็นนับตั้งแต่ ตัวตนที่แท้จริงของตัวละครหลายๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเอนมะ จีเซล ลีอาร์ เลนทินอส (บุตรสาวของประธานธิบดีแห่งโคเลนอส) มิคาเอล หรือที่มีชื่อเดิมว่า ลิวเคียว และ คิริเนะ (แม่ของเอนมะและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง C-9 wolf) กับความลับของ C-9 Wolf (องค์กรต่อต้านสงครามที่ก่อตั้งขึ้นอย่างลับๆ) ทั้งยังมีเรื่องราวความลับในอดีตหนหลังของตัวละครหลายๆ ตัว เช่น ความผูกพันและแค้นระหว่างกราเบียส (อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเซน่อมและเป็นพ่อของเอนมะ) กับ ลิเคียว(ลูกชายของเพื่อนสนิทกราเบียสที่เข้าใจผิดคิดว่ากราเบียสเป็นผู้สั่งฆ่าครอบครัวเขาทั้งตระกูล) รวมไปถึงความทรงจำในอดีตระหว่างมิคาเอลกับเอนมะ และ ความสัมพันธ์ระหว่างจีเซลกับ
เอนมะในอดีตด้วย

ในอีกแง่หนึ่ง การสร้างคู่ตรงข้าม ก็นับว่าเป็นกลวิธีการเขียนที่ สเลเต เลือกนำมาใช้ในเรื่องก็ช่วยสร้างมิติให้กับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากได้สร้างความสัมพันธ์ของคู่ตรงข้ามของตัวละครและกลุ่มตัวละครไว้ในหลายระดับ ทั้งในระดับองค์กรที่ส่งผลกับเรื่องในวงกว้าง เช่น ความขัดแย้งเซน่อมกับโคเลนอส ความขัดแย้งระหว่างเซน่อม โคเลนอส กับกลุ่มดอลล์ ความขัดแย้งระหว่าง C-9 Wolf กับกลุ่มดอลล์ หรือเอนมะกับกลุ่มดอลล์ทั้งหมด สำหรับในระดับบุคคลนั้นก็จะพบคู่ขัดแย้งที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเอนมะกับจีเซล เอนมะกับมิคาเอล
มิคาเอลกับกราเบียส เป็นต้น คู่ขัดแย้งเหล่านี้ต่างก็พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่ของตนไป พร้อมๆ กับเนื้อเรื่อง ซึ่งการปะทะกับในแต่ละครั้งของคู่ขัดแย้งเหล่านี้มักจะส่งผลทางอารมณ์ให้กับเรื่องและผู้อ่านอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธแค้น ผิดหวัง หรือ หม่นเศร้า อันช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีครบรส ทั้ง รัก ตลก สนุก สุข เศร้าเคล้าน้ำตา

อีกทั้ง ในตอนท้ายก่อนที่จะจบภาคนี้ สเลเต สามารถที่จสรุปไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า “ตุ๊กตาสังหาร” ที่ต้องการกล่าวถึงคือใคร และยังเปิดประเด็นที่จะส่งต่อไปยังภาคต่อไป คือ พระเจ้าจอมปลอม ไว้อย่างน่าติดตาม ซึ่งการทิ้งท้ายไว้เช่นนี้ก็ก่อให้ฉุกใจย้อนคิดถือความสะดุดใจในเบื้องต้นเมื่อได้อ่านชื่อเรื่องว่าเห็นเรื่องของ The dolls สงครามตุ๊กตาแห่งเทพเจ้า เพราะถ้าตีความตามตัวอักษรที่ สเลเต ชี้นำไว้ก็น่าจะหมายถึง กลุ่มดอลล์ที่ถูกสร้างขึ้นโดย
จีเซล แต่โดยส่วนตัวคิดว่าคำๆนี้น่าจะมีความหมายแฝงที่กินความหมายกว่าเหล่าดอลล์ของ
จีเซลเป็นแน่ หากจะให้เดา The dolls ตุ๊กตาแห่งเทพเจ้า น่าจะรวมความทั้งมนุษย์โลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นจริง และรวมถึงเหล่าดอลล์ที่จีเซลสร้างขึ้นด้วย
ในส่วนของการเขียนนั้นพบว่า สเลเต สามารถที่จะสร้างบทบรรยายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายฉาก ตัวละคร หรืออาวุธแปลกๆใหม่ๆ ได้อย่างละเอียดและช่วยให้ผู้อ่านนึกภาพตามได้ไม่ยากนัก อีกทั้งบทสนทนาก็ที่นำเสนอก็สามารถส่งต่อและถ่ายทอดตัวอารมณ์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันบทสนทนาเหล่านั้นก็ช่วยสร้างความผูกพันและความคุ้นเคยระหว่างผู้อ่านกับตัวละครได้อีกด้วย ซึ่งขับเน้นให้ตัวละครแต่ละตัวมีตัวตนที่ชัดเจนขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ในการเขียนก็ยังมีคำผิดอยู่บ้าง เช่น จุดจบ เขียนเป็น จุบจบ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา คลุมเครือ เขียนเป็น ครุมเคลือ ค็อกเทล เขียนเป็น
คอร์กเทล อุทธรณ์ เขียนเป็น อุธรณ์ อีกทั้งพบว่าบ่อยครั้ง สเลเต จะมีปัญหากับคำที่สะกดด้วยวรรณยุกต์ตรีหรือไม้ตรี เช่น ฮะ หรือ หา เขียนเป็น ห๊ะ มั้ย เขียนเป็น มั๊ย ฟ้าแลบ เขียนเป็น ฟ้าแล๊บ จึงอยากจะให้หลักง่ายๆในการเขียนคำในกลุ่มนี้ว่า พยัญชนะที่จะสามารถใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาได้นั้นมีเพียงอักษรกลางเท่านั้น ซึ่งอักษรกลางที่ว่านี้มีเพียง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ ในที่นี่มีชื่อตัวละครตัวหนึ่งที่อยากเสนอให้เปลี่ยนวิธีสะกดจาก เอล็กซิส เป็น อเล็กซิส น่าจะถูกต้องมากกว่า

สำหรับข้อบกพร่องที่เด่นที่สุด คือ ปริมาณตัวละครจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะฝ่ายเอนมะ ที่เปิดตัวละครกลุ่มใหม่ๆ อยู่เสมอ และชื่อตัวละครก็ยังจำยากอีกด้วย นอกจากนี้ สเลเต มักจะเปิดตัวละครพร้อมๆกันหลายตัว และแต่ละตัวก็มีบทบาทในช่วงนั้นๆไม่ยาวนัก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนในการจำตัวละครด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้อยากเสนอว่าคำอธิบายเพิ่มเติมที่ สเลเต มักจะไปเขียนไว้ในช่วงท้ายเมื่อนิยายจบตอนแล้วหลากตอน น่าจะใส่เข้าไปไว้ในตัวเนื้อของนิยายตอนนั้นได้เลย ก็จะช่วยขยายความให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความหมายหรือขยายความสิ่งใหม่ๆที่สร้างขึ้นหรือเอ่ยถึง เช่น ไฟว์ (ตอนที่ 5) โฮโลแกรม (ตอนที่ 9) และ ปืนใหญ่ดาร์คมาเธอเลี่ยน (ตอนที่ 13) ด้วยเหตุนี้จะ เห็นว่าข้อบกพร่องที่พบไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก ก็จะช่วยให้เรื่องถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


----------------------------------
     
 
ใครแต่ง : Chocolate Witch
22 ม.ค. 56
80 %
13 Votes  
#7 REVIEW
 
เห็นด้วย
21
จาก 22 คน 
 
 
บทวิจารณ์ The Dark Angel ตำนานศักดิ์สิทธิ์สงครามมหาเวท

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 4 ม.ค. 53

นิยายออนไลน์เรื่อง The Dark Angel ตำนานศักดิ์สิทธิ์สงครามมหาเวท ของ BlooDY_FanToM ปัจจุบันมี 16 ตอน (รวมบทนำเมื่อขึ้นต้นแต่ละภาค) ผู้แต่งบอกผู้อ่านว่านิยายเรื่องนี้ประกอบด้วยภาคย่อย 5 ภาคคือ

ภาค I สู่ดินแดนเวทมนตร์

ภาค II หมากตัวสำคัญ

ภาค III ภารกิจเพื่อราชวงศ์ปิศาจ

ภาค IV กองกำลังสนับสนุน

และภาค V มหาสงคราม

ปัจจุบันได้แต่งจบภาคแรกแล้ว และกำลังเริ่มต้นภาคที่สอง แต่ผู้แต่งยังเขียนภาคสองได้เพียงบทนำ จึงขอวิจารณ์เฉพาะภาคแรกเท่านั้น



The Dark Angel เป็น เรื่องราวของเด็กหนุ่มนาม เซเรียส ซิลเวลิส นักเรียนมัธยมปลายชาวญี่ปุ่นที่เป็นอัจฉริยะทั้งด้านวิชาการและการต่อสู้ เขามีความสนใจเรื่องทวีป “เอเวียร่า” เป็นพิเศษ จึงได้เข้าร่วมศึกษากับสถาบันวิจัยทวีปนี้

ทวีป เอเวียร่า คือ ทวีปลึกลับที่อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิค เป็นทวีปที่ถูกอำพรางไว้ด้วยเวทมนตร์ ผู้คนบนทวีปสามารถใช้เวทมนตร์ได้และมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก ปกติแล้วคนจากทวีปอื่นจะไม่สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของเอเวียร่า แต่ก็มีชาวเรือที่พบเห็นทวีปลึกลับนี้บ้างเป็นบางครั้ง จนกระทั่งมีชาวเอเวียร่ากลุ่มหนึ่งเข้ามาท่องเที่ยวญี่ปุ่น แล้วถูกจับข้อหาเป็นพ่อค้าอาวุธ เมื่อพวกเขาพูดถึงการมีอยู่ของทวีปนี้ คนส่วนมากที่ได้ฟังก็ไม่เชื่อ แต่ความก้าวล้ำของอาวุธที่พวกเขาพกพามาด้วยก็ไม่อาจปฏิเสธได้ และเมื่อเหล่าชาวเอเวียร่าถูกขังอยู่ในห้องคุมขังได้เพียงคืนเดียว พวกเขาก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้สนใจการมีอยู่ของทวีปนี้จนก่อตั้งสถาบันวิจัยเอ เวียร่าขึ้นมา

แท้ จริงแล้ว เซเรียส ซิลเวลิส ไม่ใช่คนของทวีปหลัก แต่เป็นเด็กที่ถือกำเนิดขึ้นในทวีปเอเวียร่า ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในทวีปหลักก็เพราะ “อุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด” จนกระทั่งวันหนึ่ง เฟียร์ คนจากตระกูลที่รับใช้ตระกูลซิลเวลิสมาตลอดก็รับคำสั่งจากเฟเธียส ซิลเวลิส พ่อของเซเรียส ให้มารับตัวเซเรียสกลับไปอยู่ที่เอเวียร่า พร้อมทั้งนำเอาคทาเวทมนตร์ของเฟเธียสที่คาดว่าคงจะตกอยู่ในทวีปหลักตั้งแต่ เมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุกับเซเรียส กลับไปยังเอเวียร่าด้วย เมื่อเซเรียสได้พบเฟียร์ เขาต้องยอมไปที่เอเวียร่าเพราะพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับเฟียร์

เมื่อ เซเรียสมาถึงทวีปเอเวียร่า เขาได้พบกับครอบครัวอันประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และแฝดของเขาที่ชื่อเซริว พ่อบอกเขาว่าเซริวคืออีกด้านหนึ่งของเซเรียส เช่นถ้าเซเรียสคือแสงสว่าง เซริวก็คือความมืด ถ้าเซเรียสมีความสุข เซริวก็จะมีความทุกข์ เซเรียสเป็นคนช่างพูด เซริวเป็นคนพูดน้อย เป็นต้น เซเรียสและเซริวจะมีผู้ดูแลที่เป็นพี่น้องกันเช่นเดียวกับพวกเขา ซึ่งคือเฟียร์และเฟส เฟียร์ จะเป็นผู้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ของเอเวียร่าให้เซเรียสฟังเกือบตลอดเวลา ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องของเอเวียร่าจากปากของเฟียร์

เนื่อง จากเซเรียสใช้ชีวิตในทวีปหลักมาตลอด เขาจึงใช้เวทมนตร์ต่างๆ ไม่เป็น และไม่อาจจะเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ได้เฉกเช่นแฝดของเขา เพราะเข้ามากลางคัน เซเรียสจึงต้องเรียนกับบรรดาคุณครูที่พ่อของเขาจ้างให้มาสอนที่บ้าน คุณครูเหล่านี้รวมถึงเฟียร์และพ่อของเขาเอง เซเรียสต้องพบกับเรื่องวุ่นๆ จากการเรียน และในช่วงหลังของภาคแรก เขาขังเซริวไว้ด้วยมนตร์กรงทองเพื่อจะได้สลับตัวกันไปโรงเรียน ก็ทำให้เขาได้พบกับเรื่องวุ่นวายอีกเช่นกัน เช่นการประชุมสภานักเรียนที่แสนวุ่นวาย หรือกิจกรรมเกมไล่จับแบบคิสๆ ที่จะให้นักเรียนทั้งโรงเรียนไล่จูบสมาชิกสภานักเรียนที่ชอบ เป็นต้น

The Dark Angel ภาคแรก จบลงด้วยการจุมพิตที่ปากโดยบังเอิญของเซริวและเซเรียส



เนื่องจากผู้แต่งได้บอกไว้ใน my.id แล้ว ว่านิยายเรื่องนี้ในภาคแรกจะเป็นเพียงการแนะนำสิ่งต่างๆ ในเรื่อง และเป็นการปูทางสู่เนื้อเรื่องหลักในภาคต่อไป ผมจึงได้เตรียมใจก่อนที่จะอ่านแล้วว่าคงไม่ได้พบกับการดำเนินเรื่องที่เร็ว นัก และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ The Dark Angel ภาค สู่ดินแดนเวทมนตร์นี้ เป็นการแนะนำทวีปเอเวียร่าและตัวละครต่างๆ เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีเรื่องวุ่นวายต่างๆ เกิดขึ้นกับเหล่าตัวละครเอก ได้แก่เซเรียสและเซริว โดยเฉพาะเซเรียสนั้น ดูเหมือนว่าเขาจะต้องพบกับความวุ่นวายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกโหดของอาจารย์วิชาฝึกสัตว์เวทและการฟันดาบ พ่อกับแม่ที่ชอบทะเลาะกันเรื่องการใช้สี พ่อชอบสีดำแต่แม่ชอบสีขาว ทำให้คฤหาสน์ของตระกูลซิลเวลิสเต็มไปด้วยสองสีนี้ การต้องถูกนักเรียนทั้งโรงเรียนไล่จูบ เป็นต้น ซึ่ง เรื่องวุ่นๆ เหล่านี้ ก็ถือเป็นสีสันของเรื่องได้อย่างดี แต่หากว่านิยายเรื่องนี้จะเดินทางไปสู่ความจริงจังระดับ “มหาสงคราม” ดังที่ผู้แต่งได้เกริ่นไว้ในชื่อภาคสุดท้าย ก็ควรลดระดับความขบขันและเน้นไปที่การดำเนินเรื่อง และสาระของเนื้อหามากขึ้น

นอกจากเรื่องราวขำๆ แล้ว BlooDY_FanToM ยังเตรียมข้อมูลสำหรับผู้อ่านเพื่อเข้าสู่ภาคต่อไปด้วยการให้รายละเอียดของทวีปเอเวียร่าไว้ว่า เอเวียร่าประกอบด้วยประเทศต่างๆ จำนวน 23 ประเทศ เป็นประเทศใหญ่ 13 ประเทศ ประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือจักรวรรดิเธรีส ซึ่งเป็นประเทศของเซเรียส มีอำนาจปกครองประเทศอื่นๆ ได้ ผู้เขียนจำแนกเรื่องของการใช้เวทมนตร์ว่ามีสองประเภทคือ เวทมนตร์จากพลังแฝงในตัวและเวทมนตร์ที่ดึงพลังจากธรรมชาติ ชาวเอเวียร่าใช้เวทมนตร์จากธรรมชาติมากเกินไปจนทำให้ฤดูกาลคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ยังมีการแนะนำตัวละครอีกหลายคนที่คงจะมีบทบาทต่อไป

การจุมพิตกันของเซริวและเซเรียสนั้น ผมเห็นว่าถึง แม้ว่าผู้แต่งจะบอกว่ามีฉากนี้เพื่อให้เป็นสีสันของเรื่อง แต่เมื่อพิจารณาถึงการเป็นทวิภาคของกันและกันของตัวละครทั้งสองแล้ว การจุมพิตของพวกเขาน่าจะสื่อไปถึงการเริ่มต้นของการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเข้าสู่การต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ต่อไป

การ สร้างตัวละครเอกสองตัวให้เป็นอีกด้านของกันและกันนี้ถือเป็นแนวคิดที่น่า สนใจ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นว่าตัวละครเอกไม่ได้มีความสามารถสูงไปเสียทุกอย่าง เหมือนนิยายเรื่องอื่นๆ และติดตามว่าทั้งสองจะร่วมมือกันได้อย่างไร แต่เท่าที่อ่านมา ดูเหมือนว่าเซริวและเซเรียสจะเข้ากันได้ดี ถึงแม้จะมีนิสัยที่แตกต่างกันก็ตาม หากผู้แต่งเขียนให้ทั้งสองมีความขัดแย้งกัน ก่อนที่จะร่วมมือกันได้ในภายหลัง ก็น่าจะสร้างปมปัญหาที่น่าสนใจมากขึ้นได้

ในอีกด้านหนึ่ง BlooDY_FanToM มีแนวความคิดที่น่าสนใจว่าเอเวียร่าเป็น พื้นที่พิเศษที่ทำให้ผู้คนที่อยู่บนนั้นสามารถใช้เวทมนตร์ได้ แต่ยังไม่เคยมีการอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จึงหวังว่าในภาคต่อๆ ไป ผู้แต่งจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ตามสมควร และยังมีเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากมีเวทมนตร์ที่สามารถอำนวยความสะดวกได้แล้ว เหตุใดเอเวียร่าจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีอีก เมื่อเอเวียร่าเป็นดินแดนที่มีทั้งเทคโนโลยีและเวทมนตร์ จึงทำให้ดูไม่ค่อยสมจริงมากนัก

ประเด็นต่างๆ ที่ทิ้งไว้สามารถนำไปดำเนินเรื่องได้อีกมาก เช่น เพราะ เหตุใดจักรวรรดิเธรีสจึงปกครองประเทศอื่นๆ ได้ ทั้งที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้เป็นอาณานิคมของตน และประเทศเหล่านั้นจะต่อต้านการปกครองของเธรีสหรือไม่ อุบัติเหตุอะไรที่ทำให้เซเรียสต้องไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และ การที่พ่อของเขาบอกว่าเซเรียสและเซริวคือทวิภาคกันหมายความว่าอย่างไร เกรย์ เฟลิส ตัวละครลึกลับที่เพิ่งปรากฏตัวจะมีบทบาทอย่างไร ยูรีน่า บุตรสาวของครูผู้สอนวิชาฝึกสัตว์เวท ดูน่าจะเป็นนางเอก จะมีความรักกับเซริวหรือเซเรียส ทั้งสองจะลงเอยกันได้อย่างไร แต่ประเด็นที่ผมสนใจที่สุดคือเรื่องของการใช้เวทมนตร์จากธรรมชาติมากเกินไป จะทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล เป็นความคิดที่น่าสนใจดี หากผู้แต่งให้ธรรมชาติเสียสมดุลไปมากเพราะคนจากเธรีส ก็อาจทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่พอใจและอาจเกิดเป็นสงครามได้ ส่วนเหล่าตัวเอกก็มีหน้าที่สร้างสันติสุขให้กลับคืนมาพร้อมทั้งฟื้นฟูสิ่ง แวดล้อม ดูเป็นสิ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้น่าติดตาม

นอกจากนี้ ผมไม่ค่อยพบคำที่สะกดผิดในนิยายเรื่องนี้มากนัก ซึ่งแตกต่างจากนิยายในเด็กดีเรื่องอื่นๆ อย่าง ไรก็ตาม เมื่อผู้แต่งต้องการอธิบายสิ่งต่างๆ ในเรื่อง ผู้แต่งมักจะให้เฟียร์หรือตัวละครอื่นๆ ที่อยู่ในเอเวียร่าเป็นผู้พูดออกมา ซึ่งก็สามารถใช้ได้ แต่ถ้าสลับไปเป็นการพรรณนาเพื่ออธิบายบ้าง ก็จะลดความซ้ำซากและความน่าเบื่อลง จะทำให้นิยายเรื่องนี้สนุกมากขึ้น
     
 
ใครแต่ง : Devil’s Bride
6 พ.ย. 51
80 %
10 Votes  
#8 REVIEW
 
เห็นด้วย
21
จาก 23 คน 
 
 
สาวฮอตหน้าใสปะทะนายวายร้ายสุดเท่

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 20 มี.ค. 52
สาวฮอตหน้าใส ปะทะนายวายร้ายสุดเท่

นิยายเรื่อง “สาวฮอตหน้าใส ปะทะนายวายร้ายสุดเท่” เป็นนิยายเรื่องแรกของ Devil’s Bride ที่ผู้เขียนบอกว่าใช้เวลาในการแต่งเรื่องนี้เพียง 10 วันเท่านั้น เมื่ออ่านแล้วพบว่านิยายเรื่องนี้ไม่ได้แหวกออกจากงานแบบซีรี่เกาหลีแนวนักเลงหรือแนวยากูซ่าญี่ปุ่นเท่าใดนัก ที่วางตัวให้ตัวเอกคังมินยงเป็นเด็กนักเรียนมัธยมซางตง ผู้ซึ่งเป็นเหมือนหัวหน้าแก๊งที่มักจะยกพวกตีกันกับเด็กนักเรียนโรงเรียนอื่นอยู่เสมอ และเพิ่มการพล๊อตเรื่องของนิยายรักเข้าไปด้วยการให้สร้างให้นางเอกของเรื่องเป็นที่หมายปองจากชายหนุ่มหลายคน จนแต่ละคนต้องยื้อแย่งเพื่อให้นางเอกมาเป็นแฟนของตน

การเปิดเรื่องในตอนแรกทิ่อ่านนั้น ทำให้นึกถึงฉากคลาสสิกของการ์ตูนญี่ปุ่นที่มักจะสร้างสถานการณ์ให้นางเอกพบกับชายหนุ่มที่เป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง โดยสร้างฉากให้นางเอกกระโดดลงจากรั้วโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการหนีโรงเรียน หรือมาโรงเรียนสายจนต้องปีนรั้วโรงเรียนเข้าไปเพื่อไม่ให้ถูกลงโทษ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน นางเอกของเรื่องยานางิ เรย์ ก็ตัดสินใจปีนรั้วโรงเรียนเพื่อหนีไปดูคอนเสิร์ตของวง Slim และจังหวะที่กระโดดลงมาจากรั้วนั้น ทำให้เธอล้มไปทับซองแจวอน นักเรียนชายหน้าตาดีจากโรงเรียนมัธยมเทปัน ซึ่งการพบกันครั้งนี้ทำให้ชะตาชีวิตของคนที่คู่ต้องผูกพันกันนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เช่นเดียวกับฉากการพบกันระหว่างเรย์กับคังมินยง ตัวละครชายสำคัญอีกตัวหนึ่งก็ไม่ต่างกัน ก็เป็นฉากที่มักพบอยู่เสมอทั้งในการ์ตูน และในซี่รี่เกาหลีและญี่ปุ่น นั่นคือ ฉากที่นางเอกต้องวิ่งหนีแล้วก็มาเจอกับตัวเอกของเรื่อง และในนิยายเรื่องนี้ Devil’s Bride ก็เพิ่มฉากที่ส่งให้สถานการณ์การพบกันครั้งนี้น่าตื่นเต้นขึ้นไปอีกด้วยการให้เรย์จูบคังมินยง ซึ่งการจูกกันครั้งนี้ยังเป็นการขโมยจูบแรกของคังมินยงไป จนเรย์ต้องรับผิดชอบด้วยการถูกบังคับให้เป็นแฟนกับเขาไปโดยปริยาย

ในส่วนของการดำเนินเรื่องนั้นจะเห็นว่า Devil’s Bride เล่นกันความสัมพันธ์รักสามเศร้าของคนสามคน นั่นคือ เรย์ คังมินยง และ ซองแจวอน ในมิติของความสัมพันธ์นั้นเราจะได้เห็นการแสดงความรักในหลากรูปแบบที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกให้เห็นว่ารักและห่วงใยอย่างเปิดเผยของซองแจวอน ทั้งคำพูดและการกระทำ เพราะเมื่อซองแจวอนแน่ใจว่าเขารักเรย์ เขาก็มักจะบอกเรย์ให้รับรู้ถึงความรู้สึกของเขาอยู่เสมอ ในช่วงแรกๆ ที่เขาเริ่มประทับใจเรย์เขาก็สารภาพกับเธอว่า “ถ้าฉันสนใจผู้หญิงคนไหน ฉันก็ควรจะรู้เรื่องส่วนตัวของผู้หญิงคนนั้นสิ” (หน้า 59) แต่ต่อมาเมื่อเขามั่นใจแล้วว่าเรย์คือผู้หญิงที่ใช่ เขาก็ให้สัญญากับเรย์ว่าเขาจะไม่ทำให้เธอเสียใจ

ขณะที่ความรักของคังมินยงนั้นต่างจากซองแจวอนโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นความรักที่ไม่แสดงออกอย่างอ่อนหวานและอ่อนโยนเหมือนซองแจวอน แต่แสดงออกในรูปของการบังคับ ขู่เข็ญ ดุว่า ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการแสดงความห่วงใยแบบดิบๆเถื่อนๆ อันเป็นลักษระเฉพาะตัวของเขา เช่น ตอนที่เขากลัวเรย์จะหนาวก็ถอดเสื้อตัวเองมาให้เรย์ แต่สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นไม่นุ่มนวลหรืออ่อนโยน เพราะ “คังมินยงถอดเสื้อกันหนาวของตัวเองออก แล้วจัดการเหวี่ยงเสื้อตัวนั้นมาคลุมหัวไหล่ให้ฉันทันที...” (หน้า 69) อย่างไรก็ดี Devil’s Bride ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกระทำที่ดูเหมือนว่าเขาไม่แคร์นั้นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อซ่อนเร้นความห่วงใยที่เขามีต่อเรย์ อีกทั้งทุกครั้งที่เรย์ตกอยู่ในอันตราย คังมินยงก็จะอยู่เคียงข้างเพื่อปกป้องเธออยู่เสมอ

สำหรับเรย์ การแสดงออกในเรื่องความรักนั้นต่างจากทั้งสองคน เพราะเรย์เป็นคนที่ปิดบังความรู้สึกของตน จนไม่กล้ายอมรับว่าแท้จริงแล้วเธอชอบใคร กว่าที่เธอจะรู้ตัวว่ารักใครนั้น ก็มีเหตุให้เธอกับเขาต้องยุติบทบาทและความสัมพันธ์ในฐานะคู่รัก และเธอต้องทนอยู่กับความเสียใจที่ต้องเลิกเป็นแฟนกับเขา

ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า Devil’s Bride ปูทางออกที่สวยงามให้กับความสัมพันธ์ของคนสามคนไว้อย่างน่าประทับใจ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความเศร้า แต่ความสัมพันธ์รักของพวกเขาก็จะสามารถคงอยู่ได้ตลอดไป โดยไม่มีใครจะมาต่อว่าเรย์ได้ ในขณะเดียวกันเรย์ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเธอจะเก็บความรักของชายทั้งคู่ไว้กับเธอจนตลอดชั่วชีวิตได้

แม้ว่านิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กนักเรียนเกาหลี แต่ขณะที่อ่านนั้นรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะซึบซับจิตวิญญาณของความเป็นเกาหลีได้ นอกจากที่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเกาหลีจากชื่อต่างๆที่เป็นภาษาเกาหลีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละคร ฉาก (มัธยมเทปัน มัธยมซางตง ห้างสรรพสินค้ากลางกรุงโซล) หรืออาหารที่กิน (เหล้าโซจู แพกรู หรือต๊อกโบกี) อีกทั้ง ในเรื่อง Devil’s Bride มักจะสอดแทรกมุกที่เป็นเรื่องของไทยเข้ามาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะการที่เรย์มักจะเปรียบเทียบตัวเองเป็นอีเย็นในเรื่องนางทาส เช่น แง้ ~ ไอ้พี่บ้าใช้น้องอย่างกับทาส อีเย็น! ฉันคืออีเย็น อ่า...แล้วจะเริ่มเก็บตรงไหนก่อนดีล่ะ เริ่มต้นไม่ถูกเลย ก็มันสกปรกไปทั้งห้องขนาดนั้น (หน้า 28) หรือ การพูดถึงเรื่องเทศกิจจับแม่ค้า เช่น “ฉะ...ฉันไม่ได้โทรไปหาตำรวจนะ ฉันโทรไปหาเทศกิจไปจับแม่ค้าแผงลอย” (หน้า 90) แม้ว่าการสอดแทรกมุกต่างๆ เลห่านี้อาจะเป็นที่ถูกใจของผู้อ่านชาวไทย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าการที่ Devil’s Bride เหมือนจะลืมตัวสอดแทรกมุกแบบไทยๆเข้าไปในเรื่องที่ต้องการจะสื่อสารเกี่ยวกับเกาหลีนั้น จึงทำให้มุกที่ใส่เข้าไปดูจะแตกต่างและไม่กลืนเป็นเนื้อเดียวกับเรื่องราวทั้งหมดที่พยายามสื่อความเป็นเกาหลีออกมา

การสร้างตัวละคร จะพบว่าตัวละครชายที่เป็นนักเรียนทั้งหมดในเรื่องนี้ Devil’s Bride สร้างให้เป็นคนป่าเถื่อน ชอบยกพวกตีกันทั้งสิ้น ไม่ว่าตัวละครนั้นจะอยู่โรงเรียนใดก็ตาม และจะเห็นว่าตัวละครเอกในเรื่องก็ยังคงเป็นตัวละครในแบบฉบับนิยายหวานแหววทั้งหลาย คือ ต้องหล่อ เท่ เก่ง (ในที่นี้คือต่อยตีเก่ง และเรียนเก่ง โดยเฉพาะวิชาเลข) ไม่ว่าจะเป็น คังมินยง ซองแจวอน หรือ ยานางิ เรียว (พี่ชายเรย์) ต้องรวย คือ ซองแจวอน ที่เป็นลูกชายประธานบริษัท
แปซิฟิคคอร์เปอร์เรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ในขณะที่ตัวละครเอกผู้หญิงเอกก็คงป็นคนหน้าตาสวย เป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม อ่อนแอ และโง่ ทั้ง เรย์ และ เชอรรี่เพื่อนสนิทของเรย์

ความสมเหตุผลของเรื่องนั้น บางตอนขณะที่อ่านยังรู้สึกว่ายังอ่อนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการที่ให้เรย์ ที่ตั้งแต่ต้นเรื่องมา Devil’s Bride ย้ำอยู่ตลอดเวลาบอกว่าสอบได้ที่ 199 จากนักเรียน 200 คน ทั้งยังมักจะโดดเรียน และหยุดเรียนอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่ดูโง่และไม่สนใจเรียนเช่นนี้กลับใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้นในการติวเลขกับซองแจวอน ที่ถึงแม้จะเก่งจนเป็นตัวแทนของเกาหลีไปแข่งคณิตศาสตร์ระดับโลกก็ตาม แต่การติวที่ทำเพียงแค่ช่วงหลังเลิกเรียนเท่านั้นก็ไม่น่าจะช่วยให้เรย์สามารถที่จะสอบชิงทุนคณิตศาสตร์ไปเรียนที่ญี่ปุ่นได้ แต่เมื่อประกาศผลเรย์กลับสอบผ่านและได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น หรือการให้คิมจียองอดีตแฟนเก่าของคังมินยงที่เอาโทรศัพท์ที่อัดการสนทนาระหว่างคังมินยงกับเพื่อนที่พูดถึงเรื่องเหตุผลในการที่คบกับเรย์ก็เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้แค้นแจวอน การกระทำในครั้งนั้นก็ทำให้เรย์ตัดใจจากคังมินยง แต่เวลาผ่านไปไม่นานจียองก็กลับเป็นคนที่มาบอกเรย์ว่าที่จริงแล้วมินยงรักเรย์มาก และยังสารภาพอีกว่าการที่จียองกลับมานั้นก็เพราะมีคนไม่อยากในมินยองกับเรย์รักกัน และยังอวยพรให้ความรักของเรย์และมินยงเป็นไปด้วยดี การที่ Devil’s Bride มอบหน้ที่ให้จียองเป็นทั้งคนที่สร้างความร้าวฉานให้เรย์กับมินยอง และก็เป็นคนที่มาแก้ความเข้าใจผิดนี้ด้วยตัวเอง ดูจะเป็นการสร้างเรื่องที่ยากจะรับได้ เพราะการกระทำทั้งสองมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันก็ไม่มีเหตุการณ์ที่จะสำคัญมากพอที่จะพลิกความมุ่งหมายของคนๆหนึ่งจากดำเป็นขาวเช่นนี้ จึงทำให้รู้สึกว่า Devil’s Bride แก้ปัญหาความเข้าใจผิดระหว่างเรย์กับมินยงง่ายเกินไปหรือเปล่า

ประเด็นต่อมาในเรื่องการเขียนจะเห็นว่า Devil’s Bride มักจะใช้อีโมติคอนในการแสดงอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ทางสีหน้าของเรย์แทนการบรรยาย และมักชอบใช้อิโมติคอนเป็นการจบประโยคเป็นส่วนใหญ่นั้น ในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าการใช้อีโมติคอนเพื่อแสดงสีหน้าและอารมณ์เช่นนี้บางครั้งก็ให้ภาพที่ชัดเจนกับผู้อ่านอย่างมาก แต่บางครั้งการที่ Devil’s Bride ใช้ลักษณะนี้บ่อยจนดูเหมือนว่ารูปแบบที่ใช้จนติดก็ว่าได้ ซึ่งการใช้ลักษณะรูปประโยคเช่นนี้ในช่วงติดๆกันมากเกินไปก็ดูเฝือเกินไป จึงเสนอว่าควรเปลี่ยนมาใช้การบรรยายแทนบ้างก็น่าจะดีกว่า เช่น ในหน้า 28 ที่เพียง 11 บรรทัด มีการใช้อีโมติคอนถึง 7 ตัว อาจะเรียกได้ว่าเกือบจะใช้ในทุกบรรทัด และในบางประโยคก็ใช้อีโมติกคอนเพียงตัวเดียว โดยไม่มีคำบรรยายหรือคำพูดใดๆ ประกอบเลย เช่น O_o, OoO, T_T, O.O โดยส่วนตัวเห็นว่าในประโยคที่ใช้อีโมติคอนเดี่ยวๆ เช่นนี้ น่าจะใช้คำพูดบรรยายอารมณ์ตัวละครแทนก็จะช่วยให้ผู้อ่าเนข้าถึงความรู้สึกและจิตใจของตัวละครได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจนมากกว่า

หากจะกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คงจะต้องบอกว่า “สาวฮอตหน้าใส ปะทะนายวายร้ายสุดเท่” ของ Devil’ s Bride ก็ยังคงเป็นนิยายดำเนินตามแบบนิยายแนวนี้ส่วนใหญ่ ทั้งในเรื่องการสร้างตัวละคร พล๊อตเรื่อง หรือ การใช้อีโมติคอน โดยยังไม่มีส่วนใดของเรื่องที่สามารถฉีกแนวหรือสร้างความแปลกใหม่อย่างโดดเด่นมากพอที่จะสร้างให้นิยายเรื่องนี้แตกต่างจากงานแนวนี้เรื่องอื่นๆ ได้

----------------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  ใต้เงาตะวัน
ใครแต่ง : Ellab
25 พ.ค. 54
80 %
130 Votes  
#9 REVIEW
 
เห็นด้วย
18
จาก 19 คน 
 
 
บทวิจารณ์ ใต้เงาตะวัน

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 27 ม.ค. 53
ใต้เงาตะวัน ของ สเลเต เป็นนิยายรักขนาดยาว เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรก คือ ลำนำยามรุ่งทิวา ซึ่งจบแล้ว ภาคที่ 2 คือ ภาคท่วงทำนองแห่งอุษาสีเลือด ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 8 ด้วยเหตุนี้จึงจะวิจารณ์เฉพาะภาคแรกเท่านั้น นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างพินทุ์ศิลา หรือ ยูเรซิส เทลาซาร์ ธิดาเทพแห่งสงครามและชัยชนะ ผู้มีอดีตที่ลึกลับ กับ เจ้าชายกราเซียส โควาร์ด รัชทายาทแห่งอาเซนทาร์ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเริ่มสงครามของแคว้นใหญ่ทั้ง 7 แคว้นแห่งเอสเตน่า ในภาคแรกเน้นเป็นการเปิดตัวยูเรซิส สาวน้อยปริศนาที่อยู่ๆก็มาปรากฏตัวในพระราชวังแห่งอาเซนทาร์ และอยู่ในความดูแลปกป้องของเจ้าชายกราเซียสให้พ้นจากเงื้อมมือของราชินีไอร่า แม่เลี้ยงผู้โหดเหี้ยมของพระองค์ ต่อมาสาวน้อยปริศนานางนี้ก็กลายเป็นธิดามหาเทพเซซิส ซึ่งตรงตามคำทำนายเก่าแก่ จนกลายเป็นที่ต้องการของแคว้นใหญ่ทั้ง 7 เพราะเธอเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือแคว้นอื่น


เรื่องนี้น่าสนใจและชวนให้ติดตาม เนื่องจากผู้แต่งได้สร้างความลับและปริศนาไว้โดยตลอด และค่อยคลี่คลายเปิดเผยความลับเหล่านี้เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นความลับเรื่องชาติกำเนิดของยูเรซิส หรือความผูกพันระหว่างยูเรซิสกับชายในฝันที่เธอฝันเห็นมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มปริศนาใหม่ๆ เข้ามาด้วย โดยเฉพาะการยอมตกเป็นทาสจอมมารของกราเซียส ตั้งแต่พระชนมายุ 12 พรรษา เพื่อให้พระมารดาของตนฟื้นคืนชีพ ซึ่งสัญลักษณ์ของจอมมารก็ยังคงฝังติดอยู่บนแผ่นหลังของเขา รอเวลาสำแดงเดช ทำให้ผู้อ่านต้องติดตามต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวเหล่านี้จะลงเอยอย่างไร


ขณะเดียวกันก็น่าเป็นห่วงว่า กลวิธีที่ผู้แต่งนำมาใช้สร้างความตื่นเต้นและน่าสนใจให้กับเรื่อง ทั้งการเปิดตัวละคร เหตุการณ์ และเค้าเงื่อนใหม่ๆอยู่โดยตลอดนั้น ท้ายที่สุดแล้วผู้แต่งจะสามารถขมวดปมปัญหาและเนื้อเรื่องที่ดูจะกว้างออกไปเข้าหากันได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นการเปิดประเด็นใหม่ๆ และละทิ้งประเด็นเก่าๆ ให้ค้างไว้ ดังกรณีของยูเรซิส จนจบภาคแรกแล้ว ผู้อ่านก็ยังไม่ทราบเหตุผลที่ผู้แต่งกำหนดให้ยูเรซิสจะต้องถูกส่งมาซ่อนตัวอยู่ที่เมืองไทยนานนับสิบปีในฐานะพินทุ์ศิลา และเรื่องราวตอนภาคแรกก็ไม่ได้ให้เหตุผลรองรับการมาอยู่เมืองไทยของนางเอก การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยในช่วงสิบปีก็ไม่ได้เพื่อเตรียมยูเรซิสให้พร้อมรับตำแหน่งธิดาเทพ เพราะยูเรซิสยังต้องกลับไปฝึกฝนทักษะและความสามารถต่างๆให้เหมาะกับตำแหน่งนี้ เมื่อเดินทางกลับมายังเอสเตน่าที่เป็นดินแดนบ้านเกิดอยู่ดี จึงเห็นว่าหากผู้เขียนกำหนดให้ยูเรซิสมาจากดินแดนสมมุติอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย ก็จะช่วยลดความคลุมเครือนี้ลงได้


ผู้แต่งสามาถสร้างบุคลิกและลักษณะเฉพาะของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างโดดเด่น ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถจดจำตัวละครต่างๆได้ แม้ว่าในเรื่องจะมีตัวละครกว่า 20 ตัว โดยเฉพาะองครักษ์ทั้งสี่ที่มีหน้าที่ดูแลและปกป้องธิดาเทพ ก็มีบุคลิกลักษณะ อุปนิสัย และความสามารถต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าผู้แต่งจะเปิดตัวละครใหม่ทั้งสี่ตัวนี้พร้อมกัน ผู้อ่านก็สามารถกำหนดจดจำตัวละครแต่ละตัวได้ ในอีกส่วนหนึ่ง ผู้แต่งยังให้ความสำคัญกับการบรรยายฉากสถานที่ บรรยากาศ หรือแม้แต่การต่อสู้ต่างๆได้อย่างละเอียดและชัดเจน รวมทั้งการพรรณนาความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครต่างๆ ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาการตามที่ผู้แต่งต้องการได้ไม่ยาก


นอกจากนี้ การที่ผู้แต่งรีไรท์เรื่องทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ก็ช่วยให้การดำเนินเรื่องกระชับ ลื่นไหล และเรียงร้อยต่อกันได้อย่างไม่สะดุด มีคำผิดให้เห็นไม่มากนัก คำผิดที่ส่วนใหญ่จะเป็นคำเดิมๆ ซึ่งผู้แต่งน่าจะเข้าใจผิดไปว่าคำนี้เขียนเช่นนั้น เช่น สมเพช เขียนเป็น สมเพศ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา มั้ง เขียนเป็น มั๊ง เอิกเกริก เขียนเป็น เอิกเหริก พลการ เขียนเป็น พละการ


ส่วนข้อด้อยที่พบ คือ บางฉาก บางตอนยังขาดความสมเหตุผลอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับยูเรซิส เช่นในแง่การสื่อสาร อยู่มาวันหนึ่งพินทุ์ศิลาก็ถูกราชินีไอร่านำตัวจากประเทศไทยไปยังอาเซนทาร์ เมื่อไปถึงต่างถิ่นต่างแดนยูเรซิสก็สามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว จนเกิดข้อสงสัยว่าถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่าภาษาไทยเป็นภาษากลางใช่หรือไม่ แต่ต่อมาก็แน่ใจว่าภาษาที่ใช้สื่อสารกันนั้นไม่ใช่ภาษาไทย เพราะเจ้าชายกราเซียสมีปัญหากับการออกเสียงชื่อพินทุ์ศิลา จนในที่สุดต้องเรียกเธอว่ายูเรซิสแทน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้สงสัยต่อไปอีกว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้สื่อสารกันด้วยภาษาใดแน่ เพราะผู้แต่งไม่ได้บอกไว้ อีกทั้งการปรับตัวของยูเรซิสก็ดูจะใช้เวลาน้อยมาก ราวกับว่าคุ้นเคยกับการอยู่ในเอสเตน่ามาเป็นอย่างดี (แม้ว่าในตอนท้ายจะเฉลยว่านางเอกเป็นคนที่ดินแดนแห่งนี้มาก่อนที่จะถูกส่งไปอยู่เมืองไทยก็ตาม แต่ก็อธิบายไว้อีกเช่นกันว่าความรู้และความทรงจำเกี่ยวกับดินแดนนี้สูญหายไปแล้ว) หรือไม่เช่นนั้นก็เพราะสถานที่แห่งนี้มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก แต่จากที่อ่านก็พบว่าดินแดนใหม่นี้แตกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ อย่างน้อยที่สุดจากการปรับตัวของคนธรรมดาที่ต้องไปอยู่ในพระราชวังก็ยากแล้ว และยิ่งเป็นพระราชวังต่างแดนก็น่าจะมีปัญหาและความยากลำบากมากขึ้นเป็นหลายเท่า แต่ดูเหมือนว่านางเอกของเราจะตกใจเพียงในช่วงวันแรกๆเท่านั้น หลังจากนั้นก็อยู่ได้อย่างสบายราวกับอยู่บ้านของตนเอง


นอกจากนี้ ความเก่งกาจของทั้งนางเอกและพระเอกดูจะมีมากเหนือคำบรรยาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้แต่งยังคงยึดติดกับการสร้างตัวละครเอกยอดนิยมอยู่ ในกรณีของพระเอกก็ยังพอทำใจยอมรับได้บ้าง เพราะประสูติในฐานะเจ้าชายรัชทายาทจึงไม่แปลกใจที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูเพื่อให้เหมาะกับการที่จะเป็นกษัตริย์ในวันข้างหน้า แม้กระนั้นก็ยังดูเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมเกินกว่าที่คนคนหนึ่งจะเป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ฐานะ ชาติกำเนิด และความสามารถต่างๆ ทั้งการได้เป็นจอมเวทตั้งแต่อายุ 13 ปี จนได้รับฉายาว่าพ่อมดอัจฉริยะแห่งอาเซนทาร์ ที่อายุน้อยที่สุด และความเก่งกล้าในเชิงต่อสู้ที่พิสูจน์ฝีมือไว้ตั้งแต่อายุเพียง 15 ที่ฟันดาบชนะผู้บัญชาการทหารของอาณาจักร


ในกรณีของนางเอกนั้น ในความคิดของผู้วิจารณ์ยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ แม้ว่าเหตุผลที่ผู้แต่งใช้สนับสนุนความเก่งกล้าสามารถของนางเอก คือการเป็นธิดาเทพทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ความสามารถบางอย่างก็ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่ให้ซ้อมฟันดาบกับคริอัน คำแนะนำเพียงประโยคเดียว และการทำให้ดูเพียงครั้งเดียว ก็ไม่น่าที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถจะเพิ่มความเร็วในการฟันดาบและหลบหลีกได้จนเกือบเอาชนะคริอัน ชายหนุ่มอัจฉริยะที่ถูกคัดเลือกจากคนทั้งแคว้นเพื่อนำมาฝึกฝนเป็นเวลานานหลายปี จนกลายเป็นทหารผู้มีความสามารถที่เหมาะสมและคู่ควรกับตำแหน่งองครักษ์ของธิดาเทพ หรือฉากที่ยูเรซิสแสดงความสามารถปราบม้าพยศ ในความเป็นจริงผู้ที่จะปราบม้าพยศได้อย่างน้อยต้องมีความเชี่ยวชาญการขี่ม้าเป็นพิเศษ และผู้ที่คลุกคลีอยู่กับม้ามานานเช่นนั้นก็ย่อมต้องดูม้าออกด้วยเช่นกัน ว่าม้าตัวใดจะถือว่าเป็นม้าลักษณะดี แต่สำหรับยูเรซิส การที่ต้องถามชาอัส หนึ่งในองค์รักษ์ของตน ว่าม้าพยศตัวที่ต้องการปราบนั้นเป็นม้าดีหรือไม่ ก็ไม่น่าจะเป็นลักษณะของผู้ขี่ม้าที่เชี่ยวชาญ ส่วนวิธีปราบม้าพยศที่นำเสนอก็แปลกมาก เพราะโดยปกติ การที่จะบังคับม้าพยศนั้น ผู้ปราบจะต้องขี่ม้าตัวนั้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ม้าก็พยายามที่จะสะบัดให้คนขี่ตกลงมาให้ได้ และการจะปราบม้าพยศให้เชื่องนั้นต้องขี่จนกว่าม้าจะยอมรับว่าผู้ขี่คือนาย และเชื่องพอจะยอมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ในเรื่องการปราบม้าพยศที่บรรยายไว้นั้นเหมือนกับการล่อวัวกระทิงมากกว่า กล่าวคือ ยูเรซิสอาศัยการหลอกล่อให้ม้าพุ่งเข้าชน แต่ม้าพลาดไปกระแทกกับคอกกั้นจนเจ็บตัวไปหลายครั้ง ในลักษณะนี้ แสดงว่าผู้เขียนไม่รู้เรื่องการขี่ม้าพยศเลย และไม่รู้ว่าถ้าม้าชนรั้วคอกขนาดนั้น อาจจะขาหักหรือคอหักไปแล้ว จนท้ายที่สุดเมื่อยูเรซิสถูกชนจนตัวลอยขึ้นไปขี่บนหลังม้าได้ (ก็คงจะอยากทำให้เป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เหมือนว่าไม่ใช่คนธรรมดา) ม้าตัวนั้นก็เชื่องโดยทันที ยอมให้ขี่และบังคับอย่างง่ายดาย


อย่างไรก็ดี ข้อบกพร่องที่พบนับว่าน้อยเมื่อพิจารณาในสัดส่วนของเรื่องทั้งหมด และไม่ได้ลดทอนความน่าติดตามของเรื่องราว หากผู้เขียนสามารถที่จะแก้ไขข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดเล็กน้อยเหล่านี้ได้ทั้งหมด ก็จะช่วยให้เรื่องถูกต้องสมบูรณ์และน่าอ่านมากขึ้น

-------------------------
     
 
ใครแต่ง : รัตนรัตน์
21 ต.ค. 53
80 %
137 Votes  
#10 REVIEW
 
เห็นด้วย
18
จาก 19 คน 
 
 
บทวิจารณ์ สะดุดรัก ลวงใจ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 22 มี.ค. 53
การวิจารณ์เรื่อง สะดุดรัก ลวงใจ นิยายรักขนาดยาว 67 ตอนจบ ของ รัตนรัตน์ นี้นับเป็นครั้งแรกที่วิจารณ์นิยายติดอันด้บหนึ่งในสิบของนิยายยอดนิยมจากทุกหมวดของเว็บไซต์เด็กดี นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างกร เทพราช เจ้าของธุรกิจผลไม้ส่งออกและกิจการไร่องุ่นที่ใหญ่ที่สุด อมาวตี มัณฑนากรสาวที่รับตกแต่งบ้านให้กร และ กฤติยากร ชายหนุ่มที่หลงรักอมาวตีมาตั้งแต่สมัยมัธยม

เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ ผู้แต่งเลือกใช้โครงเรื่อง (plot) ยอดนิยมตลอดกาล นั่นคือ พระเอกเข้าใจผิดคิดว่าว่านางเอกเป็นผู้ชาย ทั้งๆ ที่ตัวละครเกือบทุกตัวทราบความจริงกันหมดแล้วว่านางเอกเป็นผู้หญิง และยังผสานเข้ากับเรื่องราวความรักสามเส้าของตัวละครหลัก โดยเน้นการปะทะอารมณ์ระหว่างพระเอกกับนางเอก ที่เริ่มจากความเกลียดชัง ไม่เข้าใจ จนท้ายสุดก็จบลงด้วยความรัก แม้ว่าผู้อ่านจะเดาเรื่องได้โดยตลอดแล้วว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร แต่ก็ยังคงติดตามอ่านจนจบเพราะหลงเสน่ห์ความมีชีวิตชีวาของตัวละคร และชื่นชอบมุกต่างๆ ที่ผู้แต่งสอดแทรกเพื่อสร้างสีสันและสร้างความผันแปรทางอารมณ์ให้กับตัวละครต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งทำให้นิยายเรื่องนี้มีครบทุกรสชาติ ทั้ง รัก สนุก สุข เศร้าเคล้าน้ำตา

สะดุดรัก ลวงใจ นำเสนอเรื่องราวความรักคู่ขนานกันไประหว่างความรักสามเส้าระหว่างกร อมาวตี และกฤติยากร ซึ่งอาจถือว่าเป็นโครงเรื่องหลัก กับโครงเรื่องย่อย (sub-plot) นั่นคือความผิดหวังในความรัก จนทำให้กนกอร (น้องสาวของกร) ตัดสินใจหนีอานนท์จากอังกฤษกลับประเทศไทยทั้งๆที่กำลังท้องและยังเรียนไม่จบ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้แต่งเน้นโครงเรื่องหลักมากเกินไป โดยเฉพาะช่วงท้ายๆเรื่อง ผู้แต่งยืดเรื่องด้วยการเพิ่มฉากรักหวานๆระหว่างพระเอกและนางเอก จนเรื่องขาดความกระชับ ขณะเดียวกันก็กลบโครงเรื่องย่อยไปด้วย ทั้งๆที่ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยปมปัญหาในชีวิตของกนกอร และกนกอรก็เป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้กรและอมาวตีได้พบกัน แต่หลังจากนั้นเรื่องราวและบทบาทของกนกอรก็หายไป ทำให้คิดว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้อ่านรู้สึกว่ากนกอรหายจากเรื่องไปนาน ผู้แต่งก็คงจะเกิดความรู้สึกนี้ด้วยเช่นกัน เพราะในทุกครั้งที่นึกถึงกนกอร ผู้แต่งก็จะเปิดโอกาสให้กนกอรออกมาโลดแล่นในเรื่องสักฉากสองฉากแล้วก็หายไปอยู่เสมอ ผู้วิจารณ์เห็นว่าความเข้าใจผิดของกนกอรที่คิดว่าอานนท์ไม่ได้รักตนและกำลังจะกลับไปหาคนรักเก่านั้น ช่วยเพิ่มมิติให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี เพราะสะท้อนให้เห็นมุมมองของความรักในอีกแง่มุมหนึ่งว่า แม้ว่าจะรักกันมากเพียงใดก็ตาม หากขาดความเชื่อใจในคู่รักของตนแล้วความรักนั้นก็เสื่อมคลายได้
นอกจากนี้ ผู้แต่งยังได้ปูพื้นตัวละครอีกคู่ไว้เพื่อเป็นตัวละครหลักของนิยายเรื่องต่อไป นั่นคือ ภัทรา (เพื่อนสนิทของอมาวตี) กับ เขตแดน (เพื่อนรักของกร) ซึ่งเขตแดนแสดงให้เห็นว่าสนใจภัทราอย่างชัดแจ้ง และภัทราก็ดูว่าจะมีเรื่องอึดอับคับข้องใจส่วนตัวปิดบังอยู่ (ถ้าจะให้เดาน่าจะเป็นเรื่องการจับคู่ระหว่างเธอกับลูกชายของเพื่อนแม่ ซึ่งก็คือเขตแดนนั่นเอง) เมื่อผู้แต่งคิดว่าจะเขียนนิยายเฉพาะสำหรับตัวละครทั้งคู่ ผู้แต่งจึงลดบทบาทของตัวละครทั้งสองในเรื่องลงจนแทบจะไม่มีบทใดๆเลย ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้แต่งเปิดประเด็นการปะทะกันระหว่าง
ภัทรากับเขตแดนให้มากกว่านี้ หรือเปิดปมปัญหาในชีวิตของภัทราและเขตแดนที่จะต้องมาผูกพันกันต่อไปไว้ด้วย ก็น่าจะช่วยให้มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งมีใจจดจ่อและอยากติดตามเรื่องราวชีวิตของตัวละครทั้งคู่ในนิยายเรื่องต่อไปมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างมุมมองความรักอีกแง่มุมหนึ่งเพิ่มขึ้นในนิยายเรื่องนี้ไปพร้อมกันด้วย

แม้ว่าบทบรรยายและบทสนทนาของผู้แต่งจะส่งให้นิยายมีความสนุกและน่าติดตาม แต่มีข้อบกพร่องสำคัญที่ส่งผลให้อรรถรสอันลื่นไหล ต้องสะดุดเป็นระยะๆ นั่นคือ ผู้แต่งมักจะขึ้นย่อหน้าใหม่ในบทบรรยายเสมอ ทั้งๆที่เนื้อความที่ต้องการบรรยายยังไม่จบ เช่น

ครั้งแรกที่เจออมาวตี หลายคนนึกว่าเป็นหนุ่มน้อยหน้าตาดี เพราะด้วยความสูงกว่าหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเซนติเมตร และการแต่งกายสไตล์ง่ายๆ ด้วยเสื้อยืดตัวโคร่งกับกางเกงยีนส์และรองเท้าผ้าใบสีขาว บวกกับใบหน้าที่ไร้การแต่งเติมเครื่องสำอางใดๆ กับทรงผมยาวตรงที่รวบไว้ท้ายทอยหลวมๆ

ซึ่งมีเพียงภัคจิราที่นั่งยัน นอนยันทีเดียว ว่าอมาวตีนี่แหละ ... เหมาะสมที่สุดกับ
คอนเซ็ปในการถ่ายแบบวันนี้ เพราะภาพลักษณ์ของเสื้อผ้าแบรนด์นี้เน้นที่ความโฉบเฉี่ยว สวยแต่แข็งกร้าวอยู่ในที ซึ่งเมื่อนางซินได้ทำการแปลงโฉม ก็ไม่ทำให้ภัคจิราสไตลิสสาวตาคมต้องผิดหวัง

มีเพียงภัทราที่ตามมาให้กำลังใจเพื่อนสาว ที่คอยชมฝีมือของช่างแต่งหน้าและทำผมไม่ได้ขาดปาก ที่สามารถเปลี่ยนดินให้เป็นดาวได้ง่ายราวกับพลิกฝ่ามือเท่านั้น

ผู้วิจารณ์เห็นว่าทั้ง 3 ย่อหน้า สามารถรวมเป็นย่อหน้าเดียวได้ เพราะย่อหน้าที่ 2 และ 3 เป็นเนื้อความขยายเนื้อความหลักที่อยู่ย่อหน้าแรกเท่านั้น นอกจากนี้ ตามหลักการใช้ภาษาแล้ว คำว่า “ซึ่ง” จะไม่นำมาเป็นคำขึ้นต้นย่อหน้า เพราะ “ซึ่ง” ทำหน้าที่เชื่อมประโยคหลักกับประโยคขยายเข้าด้วยกัน ดังนั้น ประโยคขยายที่ตามหลังคำว่า “ซึ่ง” มักจะต้องอยู่ตามหลังประโยคหลักที่นำมาเสมอ โดยไม่สามารถที่จะแยกสองประโยคออกจากกันดังที่ปรากฏนี้ได้ ในย่อหน้าที่ 3 ก็เหมือนกัน ผู้แต่งละคำว่า “ซึ่ง” หน้า “มี” ไว้

ในบทสนทนา ผู้แต่งก็ขึ้นบรรทัดใหม่บ่อยมากเช่นกัน ทั้งๆที่ข้อความที่ตัวละครพูดในขณะนั้นยังไม่จบกระแสความ เช่น

“ใช่ครับ สตาร์ทไม่ติดเลย อาจจะเพราะวันนี้ขับมาระยะทางไกลยังไม่ได้หยุดพัก”

“เดี๋ยวผมขอตัวไปตรวจเครื่องยนต์หน่อยนะครับ บางทีอาจจะไม่ได้เสียก็เป็นได้”

“วตีรออยู่ในรถ ห้ามออกไปไหนนะครับ” กรกล่าวราวกับเขาเป็นผู้ปกครองหญิงสาวก็ไม่ปาน”

ทั้งสามประโยคสามารถเขียนรวมเป็นย่อหน้าเดียวกันได้ คือ “ใช่ครับ สตาร์ทไม่ติดเลย อาจจะเพราะวันนี้ขับมาระยะทางไกลยังไม่ได้หยุดพัก เดี๋ยวผมขอตัวไปตรวจเครื่องยนต์หน่อยนะครับ บางทีอาจจะไม่ได้เสียก็เป็นได้ วตีรออยู่ในรถ ห้ามออกไปไหนนะครับ” กรกล่าวราวกับเขาเป็นผู้ปกครองหญิงสาวก็ไม่ปาน จะเห็นได้ว่าบทสนทนาข้างต้นเป็นบทพูดของกรเพียงคนเดียวและพูดต่อกันเป็นกระแสความเดียว แม้ว่าจะประกอบด้วยประโยคหลายประโยค ดังนั้น เครื่องหมายอัญประกาศ หรือเครื่องหมายคำพูด (“......”) ก็ใช้เพียงครั้งเดียว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ในทุกประโยคที่ตัวละครพูดดังที่ผู้แต่งใช้

นอกจากนี้ การสะกดคำผิดก็เป็นเหตุผลอีกประการที่บั่นทอนอรรถรสในการอ่านลงไปไม่น้อย นิยายเรื่องนี้มีคำผิดจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่พิมพ์ผิดโดยไม่ตั้งใจ เช่น เพียง เขียนเป็น เพีอง กล่าว เขียนเป็น กล่า งุนงง เขียนเป็น งุงงง และคำที่พิมพ์ผิดด้วยความไม่รู้ เช่น แก่กล้า เขียนเป็น แกร่กล้า นะคะ เขียนเป็น นะค่ะ มัณฑนากร เขียนเป็น มัณฑณากร อานิสงส์ เขียนเป็น อานิสงค์ ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ น้า เขียนเป็น น๊า กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา โอกาส เขียนเป็น โอกาศ รสชาติ เขียนเป็น รสชาด การันตี เขียนเป็น การัณตี ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ มั้ย เขียนเป็น มั๊ย (เหนื่อย) โว้ย เขียนเป็น (เหนื่อย) ว๊อย เมี้ยว เขียนเป็น เมี๊ยว ว้าย เขียนเป็น ว๊าย สมควร เขียนเป็น สำควร วี้ดว้าย เขียนเป็น วี๊ดว๊าย ปะทุ เขียนเป็น ประทุ ร่ำลา เขียนเป็น ร่ำรา เพชฌฆาต เขียนเป็น เพชรฆาตร สัมภาระ เขียนเป็น สัมพาระ สำอาง เขียนเป็น สำอางค์ กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน แอลกอฮอล์ เขียนเป็น แอลกอฮอร์ และ คลาคล่ำ เขียนเป็น คราคร่ำ จะเห็นได้ว่าคำที่สะกดผิดจำนวนหนึ่งเป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์ตรีหรือไม้ตรีกำกับ เพราะผู้เขียนใช้วรรณยุกต์รูปตรีกับอักษรสูงและอักษรต่ำ ทั้งๆที่ตามหลักการใช้ภาษาที่ถูกต้องนั้น วรรณยุกต์รูปตรีใช้ได้เฉพาะกับอักษรกลาง ทั้ง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ เท่านั้น

ข้อบกพร่องเล็กน้อยที่พบคือ ข้อมูลผิดพลาด เช่น ผู้แต่งให้กนกอรและอานนท์เรียนที่มลรัฐเดียวกันที่อังกฤษ หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงพบว่าประเทศอังกฤษไม่ได้แบ่งการปกครองเป็นมลรัฐ แต่จะเรียกว่าราชรัฐ ถ้าหมายถึงเวลล์ ดังนั้นผู้เขียนควรจะเปลี่ยนจากมลรัฐเป็นเมืองก็จะถูกต้องกว่า (ส่วนประเทศที่แบ่งเขตการปกครองเป็นมลรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ แคนาดา) และบางเหตุการณ์ยังขาดความสมเหตุสมผล เช่น การให้กนกอรบอกความลับเรื่องที่เธอตั้งครรภ์ให้อมาวตีฟัง ทั้งๆที่เป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งจะพบกันสองครั้งเท่านั้น แม้ว่าคนทั้งคู่จะตกลงเป็นเพื่อนกันแล้วก็ตาม หรือ การให้กฤติยากรรู้สึกเสียใจที่เห็นฉากสารภาพรักระหว่างกรและอมาวตี ขณะที่ทั้งสองนั่งอยู่บนชิงช้าสวรรค์ซึ่งหยุดอยู่ที่จุดสูงสุด ในความเป็นจริง คนที่ยืนอยู่บนพื้นดินไม่น่าที่จะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนชิงช้าสวรรค์ที่มีความสูงขนาดนั้นได้เลย จึงเห็นว่าถ้าผู้แต่งเปลี่ยนให้กฤติกยากรเห็นฉากรักหวานๆ ระหว่างคู่รักใหม่คู่นี้ขณะที่เดินเที่ยวงานด้วยกัน น่าจะสมจริงมากกว่า
ข้อบกพร่องประการสุดท้ายคือ ผู้แต่งมักจะใช้อาการบาดเจ็บของตัวละครเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาหัวใจของตัวละครทุกครั้ง นับตั้งแต่อานนท์ประสบอุบัติเหตุรถชนต้นไม้ ทำให้กนกอรเห็นใจและมาเฝ้าดูแล กรก็ประสบอุบติเหตุรถชนเช่นกัน จนทำให้อมาวตีรู้สึกเป็นห่วงและต้องแอบมาดูอาการ จึงได้ทราบความจริงโดยบังเอิญว่าแท้ที่จริงแล้วกรรักตน หรือ กนกอรสลบล้มลงขณะเกือบถูกรถชน ช่วงพักฟื้นก็ทราบว่าอานนท์ไม่ได้ต้องการจะกลับไปคืนดีกับคนรักเก่า และเปิดโอกาสให้คนรักเก่าของเขานำการ์ดแต่งงานของเธอมาเชิญทั้งคู่ไปร่วมงานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หากผู้แต่งสามารถแก้ปัญหาหรือสร้างจุดนำเหตุการณ์ให้ตัวละครแต่ละตัวในทิศทางที่ต่างกัน ก็จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

-----------------------------------

     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12