ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เกร็ดความรู้ เพื่อการสะสมสุขภาพที่ดีทุกวัน

    ลำดับตอนที่ #2 : สารอาหารที่ร่างกายต้องการเมื่อมีความเครียด

    • อัปเดตล่าสุด 13 เม.ย. 52


    สารอาหารที่ร่างกายต้องการเมื่อมีความเครียด


    ร่างกายเราต้องการอาหารเหมือนกับรถยนต์ต้องการน้ำมันเพื่อใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน และน้ำมันเครื่องนั้นก็ต้องเหมาะสม เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ในความเร่งรีบของชีวิตประจำวันอาจทำให้หลายคนไม่ได้พิถีพิถันกับการเลือกอาหาร คิดแค่ว่ากินอะไรก็ได้เพื่อให้มีแรงทำงาน โดยไม่ใส่ใจว่าอาหารนั้นให้สารอาหารอื่นที่เป็นประโยชน์หรือไม่

    เมื่อมีความเครียดร่างกายจะมีการนำสารอาหารหลายชนิดไปใช้ในการสร้างฮอร์โมน เพื่อช่วยในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ และยังมีการขับสารอาหารบางชนิดออกทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย จึงทำให้มีความต้องการสารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น และหากมีความเครียดสะสมเป็นเวลานานด้วยอีก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะอ่อนแอ ทำให้เจ็บป่วยง่าย จึงเป็นเรื่องที่ควรรู้ถึงสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพิ่มขึ้นเมื่อมีความเครียด 

    บางคนดำรงชีวิตระหว่างชั่วโมงทำงานที่เคร่งเครียดด้วยกาแฟนับสิบถ้วย ขนมหรือของว่างตามแต่จะหาได้ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวันจึงจบด้วยอาหารมื้อใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานก็ต้องรีบเข้านอนเพื่อจะตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมที่เร่งรีบในวันต่อไป แต่บางครั้งความเครียดที่สะสมมาทั้งวันหรืออาหารมื้อใหญ่ที่เพิ่งผ่านไป กลับส่งผลให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ ซ้ำยิ่งทำให้เครียดมากยิ่งขึ้น หากดำรงชีวิตเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สุขภาพคงค่อยๆ เสื่อมถอยลดลง

    สารอาหารที่ร่างกายต้องการเพิ่มขึ้นเมื่อมีความเครียด
    วิตามินบีชนิดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงต่อการคลายความเครียด พบมากในผักใบเขียว ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี ธัญพืช นม ไข่ และอาหารทะเล
    วิตามินซี ช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบมากในผลไม้โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง และในผัก เช่น พริก บล็อกโคลี มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักใบเขียว แตงต่างๆ
    วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบมากในถั่วเปลือกแข็ง งา จมูกข้าวสาลี
    โปแตสเซียม ช่วยในการรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิต และจำเป็นสำหรับการส่งสัญญานประสาททุกชนิด พบมากในอาหารจากพืช เช่น ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผลไม้แห้ง มันฝรั่ง มะเขือเทศ และผลไม้ โดยเฉพาะกล้วยและส้ม
    แมกนีเซียม มีหน้าที่ช่วยในการส่งสัญญานประสาท พบมากในข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง และผักใบเขียว
    สังกะสี มีหน้าที่ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน พบมากในเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ตับ ไข่แดง นม ธัญพืช และอาหารทะเล

    จะเห็นว่าสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อใช้ต่อสู้กับความเครียด มีอยู่ในอาหารทั่วๆไปที่หาซื้อได้ง่าย หากท่านยังนึกไม่ออกว่าจะกินอะไรดี ก็แนะนำให้ลองดูตัวอย่างเมนูอาหารคลายเครียดด้านล่าง

    ตัวอย่างเมนูคลายเครียด

    อาหารเช้า น้ำเต้าหู้ใส่เครื่องโรยงาหรือจมูกข้าวสาลี + ผลไม้สด
    หรือ แซนวิชทูน่า(ทำจากขนมปังโฮลวีท) + นม/โยเกิร์ตชนิดพร่องไขมัน + ผลไม้สด/น้ำผลไม้

    อาหารกลางวัน ข้าวราดผัดกระเพรา + ผลไม้ปั่น/สมูทตี้
    หรือ เย็นตาโฟ/บะหมี่หมูแดง + เต้าฮวยฟรุ้ตสลัด
    อาหารว่างบ่าย ถั่วลิสงต้ม/อบ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ หรือกล้วยปิ้ง หรือผลไม้สด หรือนม/โยเกิร์ต ชนิดพร่องไขมัน 

    อาหารเย็น ข้าวต้มปลา + ผลไม้สด
    หรือ ข้าว + แกงส้มผักรวมใส่กุ้ง + ไข่เจียว +ผลไม้สด


    อย่างไรก็ตามบางท่านอาจมีงานยุ่งจนแทบหาเวลากินไม่ได้ หรือทำงานที่ต้องเดินทางตลอด ทำให้บางช่วงอาจไม่สามารถแวะหาของกินได้ หากเป็นเช่นนี้การหาอาหารมีประโยชน์และไม่เสียง่าย ติดไว้ในที่ทำงานหรือในรถเพื่อกินรองท้องแทนขนมหวานชนิดต่างๆ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง 
    ตัวอย่างของอาหารเหล่านี้ เช่น แครกเกอร์โฮลวีท ถั่วชนิดต่างๆ นมพร่องไขมันชนิดยูเอชทีหรือสเตอริไรส์ น้ำผลไม้ชนิดยูเอชที เป็นต้น และเมื่อทำธุระต่างๆ เสร็จสิ้นแล้วก็อย่าลืมหาอาหารประเภทธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ไม่ติดมันชนิดต่างๆ และผลไม้สดกินเพิ่มเติมในปริมาณที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ท่านก็ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานแก่ร่างกาย มีประโยชน์ช่วยในการผ่อนคลายความเครียด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน(ทั้งนี้ควรงดอาหารหวานจัด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มีผลทำให้เกิดการสูญเสียสารอาหารต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น)


    เกร็ดความรู้สุขภาพ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×