‘โปสการ์ด’ ไปได้ดีถ้า ‘มีเอกลักษณ์’ | |
ทีม “ช่องทางทำกิน” เคยเสนองานประดิษฐ์เกี่ยวกับโปสการ์ดและบัตรอวยพรที่ระลึกไปหลายครั้ง แต่งานประเภทนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะตัน ด้วยมีการคิดต่อยอดทยอยออกมาอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ยังน่าสนใจ ทั้งเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม เพราะตลาดยังเปิดกว้างให้กับคนมีกึ๋น มีไอเดียอยู่เสมอ
อย่าง “การ์ดงานศิลปะอิงประวัติศาสตร์” ที่จะมาดูกันวันนี้...
กรินทร์ กรินทสุทธิ์ เจ้าของผลงาน เล่าว่า ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนอีก 2 คนคือ ธงกิจ นานาพูลสิน และ รัมภา สาลิการิน ทำการผลิตโปสการ์ดแนว “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความต้องการที่จะเผยแพร่เรื่องราวทางโบราณคดี ซึ่งเป็นความรู้ที่ตนเองและเพื่อนได้เรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้คนทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้น ทำให้มานั่งคิดว่าควรจะสื่อสารออกมาทางด้านใด จนสุดท้ายจึงมาลงเอยที่ “โปสการ์ด” เพราะมีต้นทุนไม่สูงมากนัก และสามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายที่สุด ปัจจุบันได้เริ่มผลิตและทดลองวางขายตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้สักระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้ชื่อว่า SIAM_STORY เป็นชื่อสินค้า สำหรับรูปแบบของการ์ดที่ผลิตนั้นมีอยู่ 2 ชนิดคือ 1.การ์ดทำมือ ที่ใช้การผลิตด้วยมือเกือบทุกขั้นตอน กับ 2.การ์ดพิมพ์ ที่ออกแบบและสั่งให้ทางโรงงานพิมพ์ตามแบบที่กำหนด ขณะนี้มีทั้งหมด 8 รูปแบบ อาทิ มัคนารีผล พระวิษณุ ปัญจวัคคีย์ เป็นต้น โดยแทรกตำนานและเรื่องราวความเป็นมาให้ผู้ซื้อการ์ดได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ แบบเข้าใจง่าย“ส่วนใหญ่จะเป็นรูปภาพเกี่ยวกับเทพเจ้าและตำนานความเชื่อตามแบบพุทธศาสนา โดยมีเรื่องราวประกอบเหมือนกับเป็นการสรุปให้ผู้ซื้อได้อ่านและเข้าใจเรื่องราวอย่างง่าย ๆ”
เจ้าของผลงานบอกอีกว่า จากการทดลองขายพบว่าได้รับการตอบรับดีมาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และก็มีคนไทยบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ชอบและสนใจทางด้านศิลปะและโบราณคดี
จากการทดลองวางขาย ถ้าเทียบกับทุนที่ใช้ไป ถือว่าดีมาก เพราะมีคำชมเข้ามาเยอะ โดยตอนนี้ก็มียอดสั่งซื้อมาจากต่างประเทศบ้างแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการ์ดที่แปลกและยังไม่มีใครทำในตลาด
เมื่อถามถึงสภาพการแข่งขันในตลาดนั้น เจ้าตัวบอกว่าไม่ค่อยกังวล แม้ตลาดของโปสการ์ดนั้นมีการแข่งขันสูง แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ทำได้อีกมาก เนื่องจากถือเป็นตลาดที่แข่งกันที่ไอเดียและเอกลักษณ์เป็นสำคัญ และโดยส่วนตัวแล้วที่ทำการ์ดนี้ขึ้นก็ต้องการที่จะเผยแพร่เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางศิลปะของไทย
แนวคิดการจัดทำการ์ดเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น กรินทร์บอกว่าสำหรับรูปภาพจะเน้นลักษณะให้ตรงกับต้นฉบับเดิมหรือรูปภาพเดิมมากที่สุด แต่นำมาปรับให้เหมือนเป็นการ์ตูนหรือลวดลายแบบกราฟิกเล็กน้อย ขณะที่ข้อความที่ประกอบอยู่บนโปสการ์ดนั้นจะเน้นที่สรุปความสำคัญของภาพด้วยภาษาที่กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด โดยขณะนี้การ์ดที่ผลิตใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยประกอบ เพื่อต้องการให้ผู้ซื้อทำความเข้าใจกับภาพได้
ทุนเบื้องต้นนั้นใช้งบประมาณไม่เกิน 500 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์จำเป็นในการทำการ์ด อาทิ กรรไกร, คัตเตอร์, กาวลาเท็กซ์, กาวยูฮู และไม้บรรทัด ส่วนทุนวัตถุดิบนั้นอยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย
สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำการ์ดทำมือ อาทิ กระดาษสา, กระดาษลอกลาย, ดินสอสี, กระดาษลูกฟูก, กระดาษเงิน-กระดาษทอง และวัสดุตกแต่งตามต้องการ
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากทำการวาดลายหรือรูปภาพที่ต้องการลงบนกระดาษ หากไม่ชำนาญก็อาจจะใช้กระดาษลอกลายทาบที่ภาพต้นแบบและนำมาวาดลงบนกระดาษ ก่อนจะนำไปถ่ายเอกสารอีกครั้งโดยกระดาษที่ใช้ถ่ายเอกสารสำหรับทำภาพให้เลือกใช้กระดาษสาชนิดบาง เพราะหากใช้กระดาษสาหนา ๆ กระดาษอาจติดขัดและทำความเสียหายกับเครื่องถ่ายเอกสารได้เมื่อได้ภาพแบบที่ต้องการแล้ว ให้นำกระดาษสาหนามาตัดให้พอดีกับขนาดโปสการ์ดที่ต้องการ นำภาพที่ถ่ายเอกสารไว้มาตัดให้พอดีและติดทับด้วยกาวเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งตามต้องการ
เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ ซึ่งสำหรับราคาขายนั้น การ์ดทำมือราคาขายอยู่ที่แผ่นละ 45 บาท แต่ การ์ดพิมพ์ราคาขายอยู่ที่แผ่นละ 25 บาท โดยหากเป็นการ์ดพิมพ์ก็ขึ้นอยู่กับโรงพิมพ์ที่รับงานว่าสามารถพิมพ์ขั้นต่ำสุดได้เท่าไหร่ ซึ่งราคาจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับกระดาษและคุณภาพการพิมพ์เป็นสำคัญ
ใครสนใจการ์ดแนวประวัติศาสตร์ศิลปะที่ว่านี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-9486-7557 กับ 08-1441-5015 หรือทางอีเมลที่ siam_story@yahoo.com
“แม้ตลาดของโปสการ์ดจะมีการแข่งขันสูง แต่หากใครที่มีไอเดีย มีฝีมือ และช่างคิดสักหน่อย ก็ยังถือว่าตลาดโปสการ์ดนี้ยังไม่ตันแน่นอน” เจ้าของผลงานกล่าว
ใครมีไอเดียสร้างเอกลักษณ์ใหม่ ๆ บางที “โปสการ์ด” อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ได้
| |
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น