ฮาราวีน
เกียวกะผี
ผู้เข้าชมรวม
504
ผู้เข้าชมเดือนนี้
1
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
แม้สภาพสังคมไทยจะแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความคิดความเชื่อบางอย่างก็ไม่เคยเลิกร้างห่างหายไป โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่อง "ภูตผีปีศาจ" ถึงแม้ใครจะยืนยันว่า เกิดมาไม่เคยถูกผีหลอกสักที แต่แน่นอนว่าเกือบทุกคนย่อมต้องเคยได้ยินได้ฟังความน่ากลัวในเรื่องลี้ลับนี้กันมาแล้ว...
ฉะนั้นเรื่องเล่าถึง "วิญญาณ" จึงไม่มีวันตาย เพราะเสมือนคอยหลอนหลอกหยอกเล่นอยู่ในทุกสถานที่ ทั้งในที่ซึ่งมีคนขวัญอ่อน และที่ซึ่งเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศอันชวนสร้างจินตนาการผวา
ไม่เว้นแม้แต่สถานที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนอย่างใน "มหาวิทยาลัย"
เรื่องเล่าเขย่าขวัญจึงซุกซ่อนอยู่ในสถานศึกษาแทบทุกแห่ง ไล่ตั้งแต่มหาวิทยาลัยดังภาคเหนือ ที่มีตำนานเรื่องผีคลาสสิกซึ่งรู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง อย่าง "ป๊อก ครืด" จนมาถึง "ลิฟต์แดง" อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ขึ้นชื่อลำดับต้นๆ จากมหาวิทยาลัยซึ่งเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์การเมือง ที่ว่ากันว่า เมื่อเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 อาจารย์และนักศึกษากลุ่มหนึ่งถูกยิงกราดจนเสียชีวิตในลิฟต์ จนเป็นอาถรรพณ์รอยเลือดทำให้ต้องย้อมลิฟต์ให้เป็นสีแดง และมีเสียงเล่าอ้างว่า มีผู้พบเห็นสิ่งลี้ลับในรูปแบบต่างๆ
ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนเป็นลิฟต์ตัวใหม่แล้ว แต่เรื่องเล่าบทนี้ก็ยังคงเปี่ยมมนต์ขลังอยู่เสมอ...
ส่วน "ตึกหอสมุด" จากมหาวิทยาลัยดังย่านปทุมวัน ที่เดิมทีเป็นอาคารเรียนของคณะการศึกษาชื่อดัง ก่อนจะมาปรับเปลี่ยนเป็นหอสมุดสุดขลัง ว่ากันว่า ตึกแห่งนี้เคยเป็นที่คุมขังของนักโทษการเมืองมาก่อน ทั้งยังมีประวัติศาสตร์การถูกทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกรองรับบรรยากาศโอ่อ่าวังเวงของอาคารย้อนยุคแห่งนี้ จึงสร้างเรื่องเล่าขึ้นมากมาย เช่นกันกับคำร่ำลือถึงอาคารเรียนอดีต "วังเดิม" ของมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่ง ที่ทำเอานักศึกษาหลายคนขนหัวลุกมาแล้ว
แต่บางแห่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าที่กล่าวกันขึ้นลอยๆ เท่านั้น เพราะมีหลักฐานรองรับอย่างดิบดี ดังเช่น "ห้องน้ำหญิง" ชั้น 5 ตึกเอ สถาบันอุดมศึกษามีชื่อเสียงย่านลาดกระบัง ซึ่งถ้าหากใครแวะเวียนเข้าไป ก็จะได้เห็น "หิ้ง" ขนาดย่อม ซึ่งมีทั้งกระถางธูป ผ้าสามสี ประดับประดาอยู่อย่างครบครัน หนำซ้ำวันดีคืนดีจะมีอาหารคาวหวานมาเซ่นไหว้อีกต่างหาก
ที่มาที่ไปของหิ้งบูชานี้ แม่บ้านดูแลตึกรายหนึ่งเผยให้ฟังว่ามีหลายกระแส บ้างว่าเคยมีนักศึกษาสาวอกหักแล้วมาผูกคอตาย บ้างว่าประตูไม้ของห้องตกเสาน้ำมัน แต่บางคนก็ว่ามีแม่บ้านถูกหวยเพราะได้เลขเด็ดจากห้องน้ำ จึงมาทำแท่นบูชาให้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครกล้ายืนยัน ข้อบ่งบอกถึงความขลังมีเพียงขี้เถ้าธูป เปลวเทียนที่จะสว่างไสวช่วงวัดใจวันรับน้องนั่นเอง ...บรื๊อ...
ทว่า บรรยากาศและเรื่องเล่าชวนเสียวสันหลัง ไม่ได้ทำให้ ปลา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยดังกล่าว เข้ามามีอิทธิพลหรืออุปสรรคใดๆ กับการเรียน เพราะเธอไม่ค่อยจะใส่ใจเท่าใดนัก ด้วยว่าไม่ค่อยมีธุระให้ใช้ตึกดังกล่าว แต่ถ้าจะให้ไปเดินในยามเย็นๆ ค่ำๆ ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน
"หนูคิดว่าตึกนั้นไม่เท่าไร ยังมีเรื่องเล่าจากตึกอื่นที่น่ากลัวกว่า อย่างตึกบี เมื่อก่อนตึกนี้จะมีบันไดเวียนขึ้นตึกแค่บันไดเดียวเท่านั้น ทางมหาวิทยาลัยเคยคิดจะสร้างลิฟต์ แต่คนงานตกตึกลงมาตาย ทำยังไงก็สร้างลิฟต์ไม่เสร็จ จนเขาว่ากันว่ามีเด็ก 2 คน อยู่ทำโปรเจ็คท์ตอนดึกๆ และได้ขึ้นบันไดนี้ด้วยกัน จู่ๆ อีกคนก็หายไป มาเจอตัวอีกทีก็วันรุ่งขึ้น อยู่ในสภาพสติแตกไปเลย เขาจึงสร้างบันไดเวียนแฝดอีกข้างหนึ่งขึ้นมา ไม่รู้ว่าจะสร้างทำไม เชื่อว่าน่าจะสร้างเพราะผีจะได้งง ทุกตึกจะมีเรื่องเล่าหมด สนุกๆ เป็นสีสัน" น้องปลา สาธยาย
ขณะที่ "อู๋" ชนะกานต์ เอี่ยมสากล นักศึกษาปี 3 อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเรื่องราวเหล่านี้ว่า ด้วยสถานที่ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเก่าแก่ จึงมีการเล่าขานปากต่อปากมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นบรรดารุ่นพี่นี่เองที่เป็นคนคอยสืบทอดตำนานให้น้องๆ ฟัง
"ผมว่ามันไม่เกี่ยวว่าคนมีความรู้จะมาเชื่อเรื่องเหล่านี้ เพราะของอย่างนี้พิสูจน์ลำบาก ถึงจะไม่รู้ว่าเป็นเรื่องแต่งหรือเปล่าแต่ก็ทำให้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีสีสันมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องผลการเรียน การสอบเข้า จะไปบนบานศาลกล่าวพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงไม่ได้ แน่นอนว่า มันต้องอยู่ที่ตัวเรา" อู๋ ให้มุมมอง
อย่างไรก็ตาม ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์จากรั้ว ม.ศิลปากร วิเคราะห์ถึงตำนานเรื่องเล่าเหล่านี้ว่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องภายในแหล่งอุดมศึกษาก็ตาม แต่ด้วยวัฒนธรรมตะวันออกที่ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณฝังรากอยู่อย่างเหนียวแน่น จึงมีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความเชื่อทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์รวมอยู่ด้วยกัน
"การที่วัฒนธรรมถูกเรียงร้องมาแบบนี้ ทำให้การกราบไหว้เคารพบูชาสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นความเชื่อนำ แต่การเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ บางทีอาจเป็นเคมีในร่างกาย เป็นเหตุเป็นผลด้านวิทยาศาสตร์ก็ได้ เหมือนเรามีพระห้อยคอ มันก็จำแนกเป็นปัจเจก บางคนเชื่อว่า เป็นสิริมงคล เป็นที่ยึดเหนี่ยว บ้างก็เชื่อว่าแคล้วคลาด เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธโดยสิ้นเชิง เหมือนเราเปรยกันว่าวัฒนธรรมตะวันออกมีความอ่อนน้อม เคารพต่อสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็นกุศโลบายถึงที่บางที่เพื่อป้องกันไม่ให้เดินไปก้าวล่วง อยู่ที่มุมมองของเราว่าจะมองด้านบวกหรือลบ"
อ.ถาวรยังบอกด้วย ปรากฏการณ์นี้ จะมองให้เป็นเรื่องกลไกทางสังคมวิทยาก็ได้ว่า จากอัตตาและความต้องการเป็นที่ยอมรับของคนเรา ถ้าแสดงออกมาในทางที่ถูกก็ดีไป แต่บางคนอาจใช้เรื่องเล่าเหล่านี้ สร้าง "กิมมิค" หรือลูกเล่นให้ตัวเองก็ได้
"สมัยที่ผมเรียนที่ศิลปากร เมื่อหลายสิบปีก่อนจะมีเรื่องเล่าเยอะกว่านี้ มีรุ่นพี่ถูกผีเข้าตลอด เพราะยุคนั้นไม่มีมือถือรุ่นใหม่ๆ กล้องดิจิทัลหลายล้านพิกเซลมาใช้ในการสร้างตัวตนอย่างเด็กรุ่นนี้" อ.ถาวร วิเคราะห์ทิ้งท้าย
เช่นนั้นแล้ว "ผี" ที่เคยได้ยินได้เห็น จึงอาจเป็นแค่เงาหลอน สะท้อนความฝังใจที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ของคนเราก็เป็นได้
ผลงานอื่นๆ ของ ปีกเทพ ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ปีกเทพ
ความคิดเห็น