ลำดับตอนที่ #76
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #76 : เมาท์ : Ward สืบสวน ... นิติเวชศาสตร์
Forensic medicine / นิติเวชศาสตร์
สวัสดีคร้าบน้องๆที่น่ารักทุกคน วันนี้พี่นศพ.หมี(ไม่)โหดขออาสาเป็นไกด์ชั่วคราว พาทัวร์ minor ward น้อยๆ ที่ชื่อ “นิติเวช” ถ้าพูดถึงนิติเวช น้องๆ คงนึกถึง CSI, NCIS, BONE และซี่รีส์หรือการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวนทั้งหลาย รวมถึงทรงผมสุดจี๊ดของแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ด้วยใช่มั๊ย แต่ความจริงแล้วภาควิชานี้ ไม่ได้ยุ่งแต่เพียงเรื่องของการผ่าศพอย่างเดียวนะ น้องๆ อย่าเข้าใจกันผิด ถ้าแบ่งตามการทำหน้าที่ เราจะแบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรก เกี่ยวกับคนเป็น และอีกส่วนเกี่ยวกับคนตาย
ที่นี้เรามาเริ่มที่ส่วนแรก “พี่! นิติเวชมันเกี่ยวกับคนเป็นได้ไง?” เรื่องมันมีอยู่ว่า หากมีคนถูกทำร้ายร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตามแต่ จะต้องมีการชันสูตรบาดแผลโดย ทางเราจะพิจารณาว่า บาดแผลมีลักษณะอย่างไร น่าจะมีกลไกการเกิดอย่างไร และมีความสาหัสเพียงใด เช่น บาดแผลจากของมีคม ขอบแผลจะเรียบ ต่างจากแผลพวกโดนไม้ตี บาดแผลจะฉีกขาดและกว้างกว่าแผลโดนแทง หรือถ้าถูกยิงมา เราก็ต้องดูว่ายิงไกล ยิงใกล้ รูไหนเป็นรูกระสุนเข้า รูไหนรูออก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ชันสูตรบาดแผลเหล่านี้ และเขียนรายงานไว้ ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทางกฎหมายอาญาเต็มๆ เลยล่ะ สามารถนำไปแจ้งความหรือฟ้องข้อหาทำร้ายร่างกายได้ นอกจากนี้นิติเวชยังเกี่ยวเนื่องกับการให้ความเห็นทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับคดีความต่างๆ รวมถึงมีบทบาทที่สำคัญในคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแพทย์ก็ต้องตรวจภายในดูด้วย
ส่วนที่สองเกี่ยวข้องกับคนตาย ทางนิติแพทย์เข้าไปมีบทบาทในการชันสูตรพลิกศพตามท้องที่ต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “ออก scene” เพื่อหาสาเหตุการตาย ว่าตายแบบผิดธรรมชาติหรือไม่ ตายจากสาเหตุใด เช่น ตายจากถูกสัตว์ทำร้าย ตายจากภัยพิบัติธรรมชาติ การฆ่าตัวตาย การถูกผู้อื่นสังหาร รวมทั้งมีบทบาทในการผ่าศพเพื่อสาเหตุที่แท้จริง ผ่าดูสมอง หัวใจ ปอด ตับ ดูสีและลักษณะของอวัยวะว่าผิดปกติไปอย่างไร และการหาสารพิษในเลือดต่างๆ การวิเคราะห์ถึงระยะเวลาในการตายว่าตายมานานแล้วเท่าใด เป็นต้น โดยแพทย์จะทำงานร่วมกับตำรวจ แพทย์จะมีหน้าที่ชันสูตรหาสาเหตุการตายและซักถามญาติผู้เสียชีวิต เช่น เห็นผู้ตายครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ใครเห็นเป็นคนสุดท้าย ส่วนตำรวจมีหน้าที่สืบสวนว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่ และค้นหาความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียวต่อไป
ภาควิชานิติเวชศาสตร์นี้จัดเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของพี่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 เพราะนิติเวชศาสตร์จัดเป็น minor ward ใช้เวลาเรียนเพียง 3 อาทิตย์เท่านั้นเอง และการเรียนก็ไม่หนักเหมือนภาควิชาอื่น โดยการเรียนจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆก็คือภาคทฤษฎี กับ ภาคปฏิบัติ
ภาคทฤษฎี ก็เรียนเกี่ยวกับลักษณะของบาดแผล สาเหตุการตาย การเขียนรายงานชันสูตรศพและรายงานชันสูตรบาดแผล รวมถึงต้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย การถูกละเมิดทางเพศและการฆาตกรรมด้วย
พอจบภาคทฤษฎีเราก็ไปฝึกภาคปฏิบัติกัน โดยเราจะได้ไปดูการชันสูตรศพของจริง ติดริมเตียง ภาพคม เสียงชัด และที่สำคัญกลิ่นสุดยอดดด ศพแรกที่พี่ได้ดูเป็นศพคุณตาที่เสียชีวิตตามธรรมชาติหรือแก่ตายนั่นเอง ซึ่งแก่ตายส่วนมากเรามักไม่ต้องผ่า เว้นแต่ญาติสงสัยว่าไม่ได้แก่ตาย จึงมีการผ่าชันสูตรศพ นอกจากดูการชันสูตรศพแล้ว เรายังได้ฝึกชันสูตรบาดแผลด้วย โดยเค้าก็จะให้นศพ.ไปนั่งที่คลีนิก ตึกอุบัติเหตุ ถ้ามีคนไข้บาดเจ็บมา เราก็ต้องชันสูตรบาดแผลดูว่าแผลยาวกี่เซนติเมตร เกิดจากอะไร แล้วก็เขียนรายงานไว้ นอกจากนี้ก็จะมี 1 วันที่เราได้ “ออก scene” หรือไปดูสถานที่เกิดเหตุจริงๆ กับพี่ resident ( แพทย์ประจำบ้าน = แพทย์ที่เรียนจบแล้วมาเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งในที่นี้ก็คือแพทย์ที่มาเรียนต่อเฉพาะทางนิติเวช ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนจึงไม่ต้องใช้ทุน เรียนจบ 6 ปีก็สามารถมาเรียนต่อได้เลย) พอกลับมาเราก็ต้องทำ case presentation ให้อาจารย์และเพื่อนๆ ดู
นอกจากนี้เรายังได้เรียนการเขียนใบรับรองแพทย์เป็นของแถมอีกด้วย เราก็จะเขียนประมาณว่าคนไข้มีอาการไส้ติ่งอักเสบ (ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ศัพท์แพทย์ เช่น appendicitis ,inflammation เพราะถ้าไม่มีความรู้ทางการแพทย์ อ่านยังไงก็งงน่ะสิ ) ได้รับการรักษาอย่างนี้ ควรพักผ่อนกี่วัน ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน เป็นต้น
เห็นไหมว่าภาควิชานิติเวชนี่เรียนสบ๊าย สบาย สมเป็นช่วงพักผ่อนของพี่ๆ เค้าจริงๆ =) งั้นพี่หมี (ไม่) โหดก็ขอจบการทัวร์เพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่โอกาสหน้านะคร้าบบบบ
นศพ. BM-M[other]B[ear] ประจำคณะ
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น