กินรีในโลกมืด
ผู้เข้าชมรวม
27
ผู้เข้าชมเดือนนี้
27
ผู้เข้าชมรวม
เอาล่ะค่ะ มาเริ่มต้นกันเลยนะคะ หนึ่ง สอง สาม อุ๊บ แรกเริ่มเดิมที เนื้อนางเกิด และเติบโตในจังหวัดกาญจนบุรี ขอสงวนชื่ออำเภอไว้ซักหน่อย เกริ่นมามากพอแล้ว มาเข้าเรื่องของเราต่อเลยนะคะ
เรื่องราวระหว่างเนื้อนางกับพ่อผู้เฝ้ามองลงมาจากสวรรค์
วันแรกที่เด็กน้อยเนื้อนาง ได้มีโอกาสลืมตาดูโลก เสียงร้องอูแว้ๆ ของเด็กทารกคนนี้ ทำให้ในครอบครัวของเด็กน้อยมีความยินดี และตื่นเต้นมาก ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า แววตา มือหลายๆ คู่ที่โอบอุ้มประคองเนื้อนางนอนเปล ตลอดจนป้อนน้ำนมเวลาหิว อยู่ต่อมาไม่นานเท่าไหร่ พ่อและแม่ของเนื้อนาง ได้ทราบว่า เนื้อนางนั้น เกิดมาพิการทางสายตา ตาบอดสนิท นับเป็นข่าวร้ายจริงๆ ในเวลานั้น ในยุคที่ห่างไกลจากเทคโนโลยี แต่ในความโชคร้ายของบางคน มักจะแฝงด้วยความโชคดี ซึ่งเนื้อนางเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
เหตุที่ว่าเนื้อนางโชคดี เรื่องของเรื่องคือ เนื้อนางได้รับพระราชทานโอกาสในการรักษาดวงตาที่โรงพยาบาลศิริราช จากสมเด็จพระราชินีนาถฯ ค่ะ ปัจจุบัน ปวงชนชาวไทยรู้จักพระนามของท่านเป็นอย่างดี คือ พระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากเนื้อนางมีวันเกิดวันเดียวกับพระองค์ท่าน จึงได้รับโอกาสในทุกๆ ด้าน
ในขณะนั้น เนื้อนางได้รับการรักษาดวงตาอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งหมดหนทางเยียวยารักษา พ่อกับแม่จึงพาเนื้อนาง กลับมาอยู่ที่เขตทุ่งใหญ่นเรศวร เนื้อนาง เป็นลูกหลานคนแรก และคนเดียว ที่เกิดมาตาบอด ตั้งแต่จำความได้ สิ่งอำนวยความสะดวกทางเทคโนโลยี ยังห่างไกลตัว ยังไม่ได้รับการเผยแพร่
“ช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่” พ่อสะกิดแขนให้เนื้อนางตอบ ด้วยความที่ไม่คุ้นเคยกับคนกลุ่มนั้น เนื้อนางไม่กล้าพูดด้วย จึงส่ายหน้าแทนคำตอบ พ่อพูดเหมือนเป็นลางสังหรณ์ “ลูกเอยจงเป็นเด็กดี หมั่นเรียนให้มีวิชา” เนื้อนางมีสีหน้าตื่นตกใจ เพราะไม่เข้าใจว่าพ่อกำลังจะบอกอะไร และแล้วพ่อก็พูดต่ออีกว่า “พ่อขอกลับก่อนนะลูก” เนื้อนางตกใจหนักกว่าเก่า เด็ก 8 ขวบในเวลานั้นพูดไม่ออก ร้องไห้น้ำตาก็ไม่มีให้ไหล ได้แต่เงียบแทนคำตอบ สิ่งที่ได้รับคืออ้อมกอดครั้งสุดท้ายจากพ่อ
“เราต้องไม่ลืมกำพืดของตัวเองว่าเราเป็นใคร”
นิ้วเรียวยาวราวลำเทียนชี้ตรงมาที่ตนเองอย่างภาคภูมิใจ
“ลูกหลานกะเหรี่ยง ต้องไม่ลืมภาษาบ้านเรา ไม่ว่าจะอยู่แดนใด ใกล้หรือไกล ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้”
สิ่งที่เนื้อนางประทับใจอีกอย่างคือ เมื่อถึงวันพระ วันสงกรานต์ ชาวบ้านทุกคนก็จะใส่ชุดพื้นถิ่นไปไหว้พระฟังเทศ เนื้อนางชอบเวลาได้สวมชุดพื้นถิ่น เสมือนว่าได้กลับมาถึงบ้านท่ามกลางอ้อมกอดของสายน้ำและขุนเขา ชาวบ้านในหมู่บ้านมักจะมีการทอผ้ากะเหรี่ยง เพราะผ้าทอกะเหรี่ยง จัดเป็นงานช่างฝีมือประเภทผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่นิยมทำกันมานานแล้วในชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงแทบทุกบ้านถือเป็นศิลปะพื้นบ้านชนิดหนึ่ง โดยจะทอด้วยเครื่องทอผ้าแบบกี่เอวจะมีลักษณะ พิเศษสามารถเคลื่อนย้ายไปทอในที่ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน ทำให้เนื้อนางได้ความรู้มากๆ ว่ามีมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายและได้ถ่ายทอดสืบต่อมา กี่ทอผ้าในยุคก่อนทำจากไม้สัก เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน ผ่าตัดแต่งเป็นรูปทรงง่าย ส่วนลวดลายผ้าที่ทอนั้นก็มีเพียงไม่กี่ลาย
การทอผ้า มักจะมาคู่กับรำตง รำตงของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีมีหลายแห่ง เนื่องจากมีชาวกะเหรี่ยงได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ความเป็นมาและภูมิหลังของการรำตง
รำตงเป็นชื่อการแสดงของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีที่มาจากเสียงกระทบของไม้ไผ่ดังโตว์โตว์ รำตงเป็นการแสดงที่มีการรำประกอบการร้องเพลงกะเหรี่ยงโดยมีเครื่องกำกับจังหวะเฉพาะ คือ วาเหล่เคาะและกลองตะโพน รำตงสันนิษฐานว่าน่าจะมีการสืบทอดมานานกว่า ๒๐๐ ปี วัตถุประสงค์ในการแสดง คือ เพื่อประกอบพิธีกรรม เพื่อความบันเทิง เพื่อการสาธิตในอดีตนิยมแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธประวัติของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อมามีการนำคติความเชื่อในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงมาสอดแทรกกับการแสดง มีการเล่าเรื่องราวกลุ่มชนตลอดจนเรื่องราวของความรักของหนุ่มสาว การดำเนินชีวิต การปลุกใจให้รักในชนเผ่ารักบรรพบุรุษ
การแสดงรำตงจะแสดงในบริเวณที่เป็นลานกว้าง ผู้แสดงมีทั้งชายและหญิงจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๒ คน การแต่งกายของผู้แสดงจะแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่า อุปกรณ์ประกอบการแสดง คือ ผ้าเช็ดหน้าสีขาว บทร้องเป็นภาษากะเหรี่ยงและท่ารำ ซึ่งจะเน้นการรำให้สอดคล้องถูกต้องกับจังหวะของบทเพลงและเน้นความพร้อมเพรียงท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ การม้วนและสะบัดมือตั้งวงโดยเป็นการวาดแขนพร้อมกับใช้ฝ่ามือวาดเป็นวงกว้างก่อนที่จะมีการหักข้อมือและกดนิ้วกลางเข้าหานิ้วหัวแม่มือเพียงเล็กน้อยโดยนิ้วไม่จรสกันแล้วสะบัดข้อมือตั้งวงและปรบมือ เครื่องดนตรีสำหรับใช้ในการแสดง ประกอบด้วยกลองรำมะนา ๒ หน้า ฉิ่ง ฉาบวาเหล่เคาะ และกลองตะโพน ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เครื่องดนตรีแค่เพียง ตง ฉิ่ง ปี่ ระนาด และกลอง
การแต่งกายของผู้รำตง ผู้ชายสวมโสร่ง เสื้อแขนยาวสีขาวหรือสีฟ้าทับด้วยเสื้อแขนสั้นสีแดงลายขาวแนวยาว บนศีรษะโพกด้วยผ้าสีแดง สวมด้วยถุงเท้าสีขาว จับผ้าเช็ดหน้าสีขาวไว้โบกขึ้นเหนือศีรษะตามทำนองเพลง หญิงสาวสวมเสื้อกระโปรงสีขาว แขนสั้น ปักด้วยด้ายสีแดง คอเป็นรูปตัววีปักด้วยด้ายสีแดง คนกะเหรี่ยงจะเรียกชุดนี้ว่า “ไช่กูกี” หรือกระโปรงสีขาวแขนสั้น ลายสีแดง สีเหลือง สีเขียว หรือสีอื่นๆ ตามความเหมาะสมเพียงชุด 1 สีตามแนวยาว และสวมให้ตัดกับผ้าถุง บนศีรษะจะผูกผ้าสีขาว คาดเอวด้วยเข็มขัดเงิน เข็มขัดสีแดง หรือสีขาวก็ได้ สวมถุงเท้าสีขาว มือจับผ้าเช็ดหน้าสีขาว โบกไปตามจังหวะของทำนองเพลง ลำคอ ห้อยด้วยลูกปัดสีขาวย้อมมาถึงหน้าอก แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใส่นักเพราะหายาก
การแสดง บางพื้นที่ จะมีผู้แสดงจำนวน ๑๒-๑๘ คน
ผู้แสดงจะต้องตั้งแถวตอนลึก ห่างกันประมาณ 1 เมตร ตั้งเป็น 4 แถว แถวละ 4 คน มีระยะห่าง 2 เมตร โดยจะใช้ผู้แสดงรวมทั้งสิ้น 24 คน การแสดงจะตั้งแถวตอนลึก 4 แถว แถวละ 6 คน โดยเว้นระยะห่างระหว่างแถวด้วย การแสดงรำตงผู้แสดงจะต้องร้องเพลงไปด้วยและรำไปด้วยให้พร้อมเพียงไปตามจังหวะดนตรี เพลงแรกจะต้องร้องบทไหว้ครูก่อนเพื่อระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมาจากนั้นจึงร้องเพลงสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย บิดามารดา และขอขมาภูมิเจ้าที่เจ้าทางรุกขเทวดาในสถานที่
ขั้นตอนต่อไปคือ การแสดงการรำตงตามเนื้อหาและทำนองที่ได้ฝึกฝนมาจนกว่าจะหมดเนื้อเพลง โดยใช้เวลาในการแสดงประมาณเพลงละ 6- 8 นาที การแสดงในแต่ละครั้งจะแสดงครั้งเดียวทุกเพลงไม่ได้ ควรจะต้องหยุดพักให้ผู้แสดงได้หยุดพักด้วย เนื่องจากบางเพลงมีเนื้อหาเร็ว เช่นเพลงหม่องโย่ โดยผู้รำจะต้องเต้นอย่างเร็วพร้อมกับร้องเพลงประกอบไปด้วย ส่วนเพลงอื่นๆ นั้นส่วนมากจะเน้นไปทางศิลป์ เนื้อหาทำนองเศร้าสร้อย บรรยายถึงการพลัดพรากจากคนที่เรารัก การเต้นก็จะมีจังหวะที่ช้า ดังนั้นจึงต้องมีการหยุดพักเพื่อให้หายเหนื่อย แล้วแสดงต่อจนกว่าจะหมดเพลงในการแสดง โดยการแสดงจะใช้เวลาตั้งแต่ต้นจนจบประมาณ 1 ชั่วโมง การแสดงรำตงจะใช้ผู้แสดง 16 - 24 คน
โอกาสที่นิยมนำมาแสดงคือในงานเทศกาลต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ วันสำคัญทางศาสนา พิธีบวงสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากการเก็บเกี่ยวพืชผล และต้อนรับผู้มาเยือน
พิธีกรรมและความเชื่อ ก่อนที่จะมีการรำตง หรือรำละคร (ลุก่วยเจ๊าะ) จะต้องมีพิธีกรรมเพื่อไปขอขมาบอกเจ้าที่เจ้าทางหรือสถานที่สำคัญที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือ เช่น ศาลเจ้า ศาลเทพารักษ์เจ้าปู่ เจ้าเขาในบริเวณนั้นเสียก่อน เพื่อช่วยปกป้องดูแลรักษาไม่ให้เกิดเพศภัย หรือเจ็บไข้ได้ป่วยในระหว่างการแสดง หรือการเดินทางไปแสดง และให้กำลังใจการแสดงสำเร็จด้วยความราบรื่น จากนั้นจึงต้องทำเครื่องบูชาครู หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า กะต๊อบปวย ซึ่งประกอบไปด้วยมะพร้าว 1 ลูก กล้วยน้ำว้า 2 หวี ดอกไม้ 5 ดอก เทียนที่ทำมาจากขี้ผึ้ง 5 แท่ง น้ำขมิ้นส้มป่อย 1 แก้ว เงิน 5 บาท แล้วแต่ตามที่ครูฝึกสอนจะกำหนดจำนวนบาท เพื่อเป็นการบูชาครูบาอาจารย์ ของไหว้จะต้องเตรียมเอามารวมกันไว้ในกะละมังเมื่อถึงเวลาการแสดง ผู้คนทุกคนรวมทั้งครูฝึกจะต้องมาขอขมาบอกกล่าวครูบาอาจารย์ จากนั้นทุกคนจะต้องได้รับการพรมน้ำมนต์ด้วยกับน้ำขมิ้นส้มป่อยที่เตรียมไว้ ซึ่งจะสามารถแสดงการรำตงได้ตามความเหมาะสมของงานที่จัด ถ้าหากรับแสดงในงานใหม่จะต้องเริ่มมาทำพิธีไหว้ใหม่อีกครั้ง นอกจากจะเป็นงานของราชการไม่จำเป็นจะต้องจัดพิธี เพราะถือว่าเป็นคนของหลวงจัดงาน อาเพศต่างๆ เช่นงานศพ ก็จะไม่มีและเพื่อความภูมิใจที่มีโอกาสได้แสดงให้คนของหลวงได้ดูการแสดงรำตง การฝึกรำตงจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็กๆ อายุประมาณ 5-12 ปี ในตอนแรกครูผู้สอนจะเน้นให้ท่องจำเนื้อเพลงก่อน ด้วยการร้องเพลงให้เด็กฟังแต่ละบท เพื่อให้เด็กสามารถได้จดจำทุกวัน เมื่อเด็กสามารถจำเนื้อเพลงและสามารถร้องเพลงได้ทุกคนแล้ว ครูผู้สอนจึงจะเริ่มสอนท่ารำประกอบเพลงแต่ละบท เพลงหนึ่งจะใช้เวลาในการสอนประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากว่าสามารถสอนได้ติดต่อกันทุกวัน ดังนั้น การแสดงรำตงแต่ละครั้งจะต้องใช้เพลงประกอบอย่างน้อย 3 เพลงขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นการแสดงที่สมบูรณ์แบบ เพลงที่ใช้ในการแสดงจึงมีจังหวะทั้งเป็นเพลงเร็ว เพลงช้า และไม่เร็วไม่ช้า
เรื่องกินรีในโลกมืดจึงมีที่ไปที่มาแบบไม่งง ไม่สั้น แต่กระชับ เข้าใจง่ายบ้าง ยากบ้าง เอาเป็นว่าขอหยุดเล่าตรงนี้นะคะ อยากหยุดเวลาไว้ที่ช่วงระดับชั้นอนุบาล ให้ความทรงจำวัยเด็ก ถูกจดจำไว้ในทั้งที่ลับ และที่แจ้ง วันหนึ่งเมื่อแก่ตัวลง หากได้ย้อนกลับมาอ่านเรื่องนี้อีกครั้งในอีกช่วงวัย ซึ่งเป็นวัยที่มีมุมมองต่อโลกที่กว้างขึ้น มันจะทำให้ตัวเราสำรวจดูใจตนได้เร็ว ว่าอดีตที่ผ่านมา กับอนาคตที่กำลังจะผ่านไป เรามีเวลาให้ตัวเองมากพอๆ กับที่ให้เวลากับคนรอบๆ ข้างหรือไม่
นี่จึงเป็นเรื่องสั้นๆ ที่มีแต่เรื่องเล่า มีแต่คำบรรยาย ไม่ค่อยมีบทพูด ในบางเวลา การขีดๆ เขียนๆ อะไรเล่นๆ สนุกๆ ขำๆ ทำให้เราอยู่กับตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง และความรู้สึกดีๆกับตัวเองก็จะเผื่อแผ่ไปสู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นักเขียนมือสมัครเล่น ลงมือทำมันเพราะมีใจรักในการเขียน ต่อให้จะไม่มีรางวัลแว่นฟ้ามามอบให้ แต่ก็ทำอะไรมือสมัครเล่นไม่ได้ ถ้ารักและชอบทำงานอดิเหรก ก็ต้องรีบๆทำตอนที่ยังพอมีแรงจะทำ เพราะแค่เมื่อวานก็อดีตแล้ว อย่ามัวผลัดวันประกันพรุ่ง ให้หลายๆ เมื่อวาน มันเป็นอดีตที่ว่างโหวงกลวงโบ๋เหมือนผีตาโบ๋ ที่ไม่มีลูกตามาใส่ในเบ้าตา แต่ต้องทำเมื่อวาน ให้เป็นวันพรุ่งนี้หลายๆ วัน สร้างวัยอนาคตบนตัวหนังสือทุกๆ ตัว ให้มันมีเวลาได้อยู่กับเรา ความชอบทำ ในสิ่งที่ทำ เป็นเพื่อนแท้ที่ไม่มีมาปอกลอก ไม่หักหลัง แต่มันเป็นเพื่อนแท้ที่จะอยู่ติดตัวเราในทุกวัน
ทิ้งท้ายบทกวี
กวีบทที่ 1
กรงทองในเรือนงาม
หากจะขอย้อนรอยเล่าเรื่องเก่า
ปู่ย่าเราสอนไว้ย้ำหนักหนา
ประเพณีธรรมเนียมตามกันมา
สืบทอดนานยิ่งกว่าดึกดำบรรพ์
อนึ่งในความเชื่อชาวกะเหรี่ยง
มิใช่เพียงงมงายแลเพ้อฝัน
บรรพบุรุษปฏิบัตินับนานวัน
ลูกหลานกะเหรี่ยงนั้นพึงทำตาม
กะเหรี่ยงเผ่าโปโผล่วเราทั้งหลาย
ลูกหลานตากับยายอย่าเหยียดหยาม
คำพูดจาภาษาถิ่นอย่าประนาม
ดูมิงามมิสมเป็นกะเหรี่ยงโป
มีชีวิตอยู่ได้ด้วยป่าเขา
ตามวิถีชนเผ่ามีมากโข
ไร่หมุนเวียนผลไม้ลูกโตโต
ข้าวสาลีก็โก้ในแบบเรา
อีกทั้งยังประเพณีสงกรานต์
ทางชาวบ้านครึกครื้นไม่หงอยเหงา
บ้างอุ้มลูกจูงหลานตามเป็นเงา
บ้างหยอกเย้ายิ้มแย้มอย่างยินดี
ผู้เขียนนึกตามจินตนาการ
วัฒนธรรมแต่โบราณตามวิถี
ขนบทำเนียมกะเหรี่ยงล้วนมากมี
ทุกวันนี้ใกล้สูญหายตามเวลา
รำตง ทอผ้าพื้นเมืองหาดูยาก
แสนลำบากกว่าจะได้ผ้าผืนหนา
บัดนี้ไซร้สิ่งใหม่นำเข้ามา
กี่ทอผ้าวังเวงดูเงียบงัน
รำตงชาวกะเหรี่ยงจวนจะสิ้น
เหลือเพียงถิ่นร้างไร้ประดุจฝัน
ลูกหลานเราเรียนรำฝรั่งกัน
ทิ้งรำตงรำพันแต่เดียวดาย
ผู้เขียนมีความพิการทางสายตา
อยู่บ้านป่าเมืองดอยพลอยใจหาย
วิถีกะเหรี่ยงสูญชื่อต้องมลาย
หากลูกหลานหญิงชายมิสนใจ
บ้านไม้ไผ่ดั่งกรงทองในเรือนงาม
ฟ้าสีครามมิเคยเห็นเป็นไฉน
หลับตาโสตสดับเสียงเรไร
เปรมฤทัยแม้นอยู่ในกรงทอง
กวีบทที่ 2
“ความอยากได้อยากมี”
ฉันอยากได้อยากมีเสียทุกสิ่ง ฉันจะไม่หยุดนิ่งเพื่อค้นหา
ฉันอยากเลื่องชื่อลือนามในโลกา เพื่อตามหาความฝันที่อยากเป็น
ฉันอยากเป็นนักกวีมีชื่อเสียง ฉันยอมเสี่ยงทุกอย่างแสนยากเข็ญ
กว่าผลงานจะออกมาสุดลำเค็ญ ให้คนเห็นชื่นชมในผลงาน
ความอยากได้อยากมี 2
ฉันอยากได้อยากมีเสียทุกสิ่ง ฉันอยากแนบแอบอิงความซาบซึ้ง
ฉันอยากเก็บอ้อมกอดไว้ให้คำนึง ฉันใฝ่ฝันวันหนึ่งจะเป็นกวี
ฉันอยากปีนไต่เขารอความสำเร็จ ฉันอยากเด็ดดอกฟ้าอันสูงส่งนี้
ฉันอยากเป็นนักเขียนบทกวี ฉันอยากมีผลงานในความทรงจำ
ฉันอยากเป็นเจ้าหญิงบนหอคอย ฉันอยากหลุดล่องลอยจากความเหลื่อมล้ำ
ฉันรอดพ้นมืดมนสีเทาดำ ฉันอยากทำความฝันให้เป็นจริง
ฉันมองข้ามความพิการทางสายตา ฉันมองหาความฝันไม่หยุดนิ่ง
ฉันรับรสบทกวีที่อ้างอิง ฉันละทิ้งความพิการของตนเอง
กวีบทที่ 3
“จากโลกมืด”
ฉันติดอยู่ในโลกมืดแสนมืดหม่น
จะหาใครสักคนเข้าใจไม่
บนโลกมืดที่ไร้คนเข้าใจ
รับรู้ได้ด้วยปัญญาแห่งกมล
เมื่อแรกเกิดฉันรู้ตัวว่าตาบอด
หาทางรอดอยู่อย่างไรแสนสับสน
ล้วนคิดตามการบอกเล่าของคำคน
สุดจะทนชีพชีวีคล้ายนิ่งงัน
ดวงตาโตของฉันนั้นใสแป๋ว
พอมีแววนักกวีเดินตามฝัน
ฉันเติบโตอยู่บนโลกทุกคืนวัน
สอนให้ฉันสรรค์สร้างบทกวี
ตั้งแต่ฉันกลับจากการเข้าค่าย
คอยสอดส่ายค้นหาตามวิถี
แรกเริ่มคิดเพียงความฝันทำไงดี
ไร้ซึ่งครูคอยชี้แนะหรือขัดเกลา
ประสบการณ์จากในค่ายเหลือเฟือนัก
ให้รู้จักแนวคิดไม่โง่เขลา
หากกวีสิ้นชีพไร้ซึ่งเงา
ใครกันเล่าจะสานต่อบทกวี
กวีบทที่ 4
แผนผังหัวใจ
นั่งเหม่อมองเงาของฉันบนดวงจันทร์ ความคิดนั้นหลุดล่องลอยอย่างสับสน
อยู่ในห้วงที่มืดมัวและวกวน ชีวิตสุดอับจนไร้หนทาง
เด็กน้อยถือกำเนิดมาจากบ้านป่า กาลเวลาไม่รอคอยหรือถากถาง
มันเยียวยาฉันให้เป็นสาวเป็นนาง ฉันเหยียบย่องเยื้องย่างสู่ทางตัน
ชีวิตมันก็มีเพียงเท่านี้ ไม่ยินดียินร้ายกับความฝัน
จะผิดถูกอย่างไรจงฝ่าฟัน แล้ววันนั้นจะกลายเป็นวันของเรา
ชีวิตย่อมมีสุขมีทุกข์ยาก เมื่อลำบากตรากตรำไปอย่าขลาดเขลา
อย่าลุ่มหลงภาพมายาอย่ามัวเมา อย่าหูเบาหมั่นทำตามใจตนเอง
ทุกคนมีความคิดเป็นแผนผัง ด้วยพลังแรงกายใครกล้าข่มเหง
หากเรายอมพ่ายแพ้ใครจะเกรง มาบรรเลงบทสรุปชุบชีวา
จากเด็กสาวบ้านนอกสู่เมืองกรุง เป้าหมายมุ่งโดยลำพังสุดเหว่ว้า
ก่อนเคยแนบแอบอิงอกมารดา บัดนี้จำอำลาจากแดนไกล
หวังเพียงอยากกลับคืนอ้อมกอดขุนเขา โอบล้อมเราหล่อหลอมไม่หวั่นไหว
เกิดกี่ชาติขออยู่ป่าตลอดไป เพื่อปกปักรักษาไม้ให้ยาวนาน
กวีบทที่ 5
“งานศพ”
ตามความเชื่อคนไทยแต่ปางก่อน คนโบราณพร่ำสอนไว้มากหลาย
หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความตาย สังขารจะสลายเหลือเพียงบุญ
ความตายนั้นอยู่แค่ไม่ถึงเอื้อม ลมหายใจกระเพื่อมโลกยังหมุน
ชีวิตเรามีทั้งโทษและคุณ โชคนำหนุนหมั่นสร้างแต่ผลกรรมดี
จรลีจำลาจากมิตรหมู่ญาติ ดับอนาถล่องลอยกลายเป็นผี
วิญญาณหลุดเข้าสู่ห้วงอเวจี ไร้เรี่ยวแรงหลีกหนีมรณา
บ่วงอันใดก็มิพ้นบ่วงตราสัง หมดกำลังทำได้แค่ห่วงหา
ห่วงอะไรก็ไม่เท่าห่วงลูกยา อยากเห็นหน้าคราสุดท้ายก่อนสิ้นใจ
อนิจจังทุกขังอนัตตา หมดเวลาสิ้นบุญแต่ปางไหน
หมดสิ้นแล้วความสุขแค่ไม่เท่าไร ขอเตือนไว้สุขเป็นเพียงภาพมายา
*หมายเหตุ เนื้อนางเป็นเพียงนามสมมติขึ้น กวีที่ทิ้งท้ายไว้นี้ เป็นส่วนที่บันทึก ไดอารี่ ประจำความรู้สึก ไม่ใช่ ไดอารี่ประจำวัน เป็นสิ่งที่เก็บติดตัวมาจากช่วงเรียนมัธยมปลาย ที่โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นโรงเรียนวัด บทกวีที่ชื่อว่างานศพ จึงถูกเขียนขึ้น ในบรรยากาศของงานศพในวัด ในขณะที่ผู้เขียนเลิกเรียนแล้วกำลังจะกลับหอพัก ระหว่างทางได้ยินเสียงการจัดงานศพ ทั้งกลัว และขาแข็งก้าวขาเดินไม่ไหว กว่าจะพาตัวเองเดินไปหารถเมล์สาย 12ได้ ระหว่างที่นั่งบนรถเมล์ ก็มาคิดดูว่า พอคนเราตายไป คนที่เคยสนิทก็พากันกลัว ตอนมีชีวิตถึงไหนถึงกัน เฮไหนฮานั่น เมื่อหมดลมลง ก็แยกไปตามแต่บุญกรรมที่ทำมา
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ผลงานอื่นๆ ของ อุดรนอนดึก และศิสิระพธู ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ อุดรนอนดึก และศิสิระพธู
ความคิดเห็น