เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple - เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple นิยาย เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple : Dek-D.com - Writer

    เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple

    ผมอ่านบทความนี้ ในเว็บไซด์ของนิตยสาร Fortune เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไม Apple ถูกจัดเป็นบริษัทที่ถูกชื่นชมมากที่สุดของอเมริกาในปีนี้ ผมเห็นว่าเป็นบทความที่ดี ก็เลยอยากจะแปลให้ทุกคนได้อ่าน

    ผู้เข้าชมรวม

    1,684

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    1.68K

    ความคิดเห็น


    3

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  3 ส.ค. 55 / 13:43 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    สวัสดีครับ คุณผู้อ่านทุกท่าน ผมไม่ได้เขียนบทความใหม่มานานแล้ว ซึ่งก็เกิดจากหลายๆเหตุผล หนึ่งในนั้นก็คือรู้สึกเบื่อกับหลายๆสิ่ง ตอนนี้ผมเลิกดูข่าวทางทีวีแล้ว เนื่องจากผมคิดเหมือนกับที่เคยมีคนบอกว่า ในระบอบประชาธิปไตย ประเทศจะได้รัฐบาลในแบบที่คนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นสมควรได้รับ และนี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยสมควรได้รับ เขียนแค่นี้ครับ มากไปกว่านี้ กลัวโดน BAN ครับ ;-)

    ผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องเหตุผลที่ทำให้บริษัท Apple ได้รับเลือกให้เป็นบริษัทที่ถูกชื่นชมมากที่สุดจากนิตยสาร Fortune ผมเห็นว่าเป็นบทความที่ดี ก็เลยอยากแปลให้ทุกคนได้อ่านครับ โดยส่วนตัวผมมีความคิดในแบบเดียวกับปรัชญาของบริษัท Apple ซึ่งก็คือถ้าคุณจะทำอะไรขาย ตัวคุณเองก็ต้องรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำ ถ้าเป็นตัวคุณเอง คุณก็อยากจะซื้อมันด้วย ถ้าตัวคุณยังไม่อยากซื้อมันเลย คุณก็อย่าทำมันขายเลยครับ คนอื่นๆก็คงไม่อยากซื้อมันเหมือนกัน ผมอยากให้คนไทยส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ในอนาคต เราอาจจะมีบริษัทที่มีแบรนด์ที่ทั่วโลกรู้จัก

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่นักแปลอาชีพนะครับ เพราะฉะนั้นภาษาอาจจะไม่สวย ข้อมูลที่แปลอาจจะไม่ถูกต้องและครบถ้วน 100% แต่หวังว่าคุณจะเข้าใจ ใจความรวมที่บทความนี้ต้องการนำเสนอนะครับ

      ขอเล่าเกี่ยวกับตัวเองเล็กน้อย ส่วนตัวแล้วผมใช้ PC และ Windows XP เป็นหลักในการทำงานครับ มีเครื่อง Mac เก่าๆอยู่เครื่องนึง เอาไว้ฟังเพลงกับเช็คเมล์ แม้ว่าผมจะใช้ PC มานาน ผมก็รู้สึกว่าระบบของ Windows เป็นเหมือนกับระบบที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับมัน ส่วนระบบของ Mac เป็นเหมือนกับระบบที่มันพยายามทำความเข้าใจกับเรา ซึ่งหลังจากอ่านบทความใน Fortune แล้ว ผมก็พอเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มันเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ทีมที่คิดทั้ง 2 ระบบนี้ วางแนวคิดว่าระบบปฎิบัติการของพวกเขาควรเป็นแบบไหน ส่วนเหตุผลที่ผมไม่ใช้ Mac เป็นหลักในการทำงานก็เพราะมันไม่มี Mac รุ่นไหนที่เหมาะกับงานที่ผมทำอยู่ และราคาที่อยู่ในระดับที่ผมจะซื้อได้ iMac เพิ่มอะไรไม่ค่อยได้ในตอนหลัง เช่น RAM เปลี่ยนการ์ดจอ แล้วผมก็ไม่ชอบจอแบบ Glossy ด้วย ส่วน MacPro ซึ่งเป็นรุ่นสำหรับมืออาชีพของ Apple ก็ดีและแพงเกินไปสำหรับผม ผมต้องการรุ่นกลางๆระหว่าง iMac กับ MacPro ซึ่งมันไม่มี เลยใช้ PC ดีกว่า ;-)

      เอาละครับ เรามาเริ่มที่บทความจากนิตยสาร Fortune เลยดีกว่า

      เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple

      ผู้ผลิต iPod และ iPhone เป็นผู้กำหนดมาตราฐานที่สูงมากของการคิดค้นสิ่งใหม่(นวัตกรรม)และการทำให้สินค้าตัวนั้นเป็นที่ต้องการผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งสองสิ่งนี้ถูกกำหนดโดยผู้บริหารที่หลงใหลในการทำให้สินค้าที่เขาทำขึ้น ใช้งานได้สมบูรณ์แบบในทุกๆด้าน( สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ สามารถไปอ่านได้ที่ link นี้ครับ http://money.cnn.com/2008/02/29/news/companies/amac_apple.fortune/index.htm )

      โดย Betsy Morris, senior editor

      นิวยอร์ค --  การทำสินค้าสำหรับตลาดผู้ใช้ทุกระดับน่าจะหมดสมัยไปแล้ว แต่คุณจะพูดเรื่องนี้กับบริษัท Apple ไม่ได้ ในเดือนกุมภา iTune Store กลายเป็นร้านขายเพลงที่ใหญ่อันดับสองในอเมริกา หลังจาก Wal-Mart คำว่า iPod เป็นเหมือนคำที่ใช้เรียกแทนเครื่องเล่น MP3 เหมือนกับที่ Kleenex ใช้เรียกแทนกระดาษทิชชู่ หรือ Xerox ใช้เรียกแทนเครื่องถ่ายเอกสาร สินค้าเกือบจะทุกตัวที่ Apple ผลิตขึ้นสามารถเข้าได้กับคนทุกเพศ พื้นที่ อายุ แล้วก็ทุกเชื้อชาติ ร้าน Apple Store เป็นแหล่งรวมของลูกค้าทุกวัย ทุกประเภท มีทั้งเกมส์ที่ขายให้กับเด็กๆ แล้วก็ Genius Bar(เป็นมุมหนึ่งในร้านที่จะแนะนำการใช้เครื่อง และใช้งานโปรแกรม)ให้บริการแก่ผู้ปกครอง แล้วก็ยังมีสินค้าอีกหลายๆตัวที่เป็นที่สนใจของวัยรุ่น และคนในวัยทำงาน

      Apple ไม่สนใจแนวคิดของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ทำแม้แต่การสอบถามกลุ่มเป้าหมายก่อนเพื่อทดสอบสินค้า สตีฟ จ็อบส์บอกว่า คุณไม่สามารถถามลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ถ้าสิ่งที่เขาต้องการมันเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามากเกินไป จนเขาคิดไม่ถึงว่าเขาต้องการ เขาคิดไม่ออกหรอกครับ (ขอเสริมตรงนี้หน่อยครับ พอดีเพิ่งได้อ่านบทความเกี่ยวกับ Apple ที่ยาวกว่าตัวที่ผมแปลมาในเว็บของ Fortune จ๊อบยกตัวอย่างคำพูดของเฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนตร์ฟอร์ด ในสมัยที่คนส่วนใหญ่ในอเมริกายังใช้ม้าเป็นพาหนะ  ถ้าผมถามลูกค้าของผมในระยะหนึ่ง ก่อนหน้าที่เขาจะซื้อรถของผมไปว่า พวกเขาอยากได้พาหนะแบบไหน พวกเขาก็คงจะตอบผมว่า ม้าที่เร็วกว่าตัวเก่า ส่วนอีกตัวอย่าง อันนี้ผมเอามาจากที่เคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของผู้ก่อตั้งบริษัท Sony ตอนที่เขาคิดจะทำเครื่องเล่น Walkman เขาก็ไม่ทำการสำรวจตลาด แล้วคนในบริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ทำมัน เพราะเขาก็คิดว่าตัวเขาเองก็ต้องการใช้งานเครื่องเล่นเพลงที่ฟังคนเดียวได้ ) ที่บริษัท Apple การพัฒนาผลิตภัณท์ใหม่เริ่มต้นด้วยใจที่อยากจะทำ แล้วก็เริ่มด้วยการคุยกันแบบนี้ เราไม่ชอบอะไร ? คำตอบคือ โทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ แล้วเรามีเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้มันดีขึ้น ?คำตอบคือ โทรศัพท์มือถือที่มีระบบปฏิบัติการของ Mac ข้างใน แล้วเราอยากจะซื้อโทรศัพท์มือถืออะไร ?คุณคงพอจะเดาคำตอบได้ iPhone สตีฟ จ็อบส์บอกว่า เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ Apple ประสบความสำเร็จก็คือ เราผลิตสินค้าที่เราเองก็อยากจะใช้เหมือนกัน

      ด้วยสูตรสำเร็จที่ฟังดูง่ายๆแบบนี้ มันไม่เพียงแค่ทำให้ Apple ดูโดดเด่นกว่าบริษัทอย่าง Microsoft แต่มันยังสร้างมาตราฐานของการเป็นต้นแบบธุรกิจ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ให้แก่บริษัทต่างๆในอเมริกา ซึ่งก็คือ การสร้างแบรนด์ขึ้นมา(ยี่ห้อสินค้า) เปลี่ยนภาพพจน์ของแบรนด์ตัวนั้น(อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ) แล้วก็ปลุกแบรนด์ตัวนั้นให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพื่อให้มันประสบความสำเร็จในยุค disruptive age ( disruptive Age หมายถึง ยุคแห่งการสร้างความแตกต่าง ที่ไม่เหมือนคู่แข่งขันรายอื่นๆ ผมเอาคำแปลมาจาก link นี้ครับ http://advisor.anamai.moph.go.th/re_im.html ) ในตอนนี้ หลังจากที่ Apple ออก iPod รุ่นแรกเมื่อ 7 ปีก่อน รายได้ครึ่งหนึ่งของบริษัทมาจากธุรกิจขายเพลงและ iPod แล้วความสนใจในตัวสินค้า iPod ก็ช่วยผลักดันให้อัตราการเติบโตในธุรกิจขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Apple เติบโตมากกว่าอัตราเติบโตของบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน Apple ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่เป็นจริง ด้วยการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างชาญฉลาด บริษัท Apple ได้เข้าไปยึดครองตลาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ไล่ตั้งแต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลาดเพลง ตลาดภาพยนตร์ วีดีโอ ไปจนถึงตลาดของเครื่องมือในการบันทึกเสียง

      จากการที่ Apple ถูกจัดเป็นอันดับหนึ่งของบริษัทที่ถูกชื่นชมมากที่สุดในอเมริกาของนิตยสาร Fortune Apple ประสบความสำเร็จมากในด้านรายได้ ภายใน 5 ปีนับถึงเดือนกันยายนปีก่อน(2007) ยอดขายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็น 2 หมื่น 4 พันล้านดอลล่าร์ กำไรได้เพิ่ม เป็น 3 พัน 500 ร้อยล้านดอลล่าร์ จาก 42 ล้านดอลล่าร์ใน 5 ปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นของ Apple ตกลง 40% ในปีนี้ เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนในเรื่องยอดขายที่ลดลงกว่าที่คาดไว้ แต่ปกติแล้วราคาหุ้นของ Apple ก็จะตกอยู่ไม่นาน Apple จัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของบริษัทที่อยู่ในรายชื่อของ Fortune 500(เป็นการจัดรายชื่อของนิตยสาร Fortune ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา 500 อันดับ) ในเรื่องการแบ่งปันผลกำไรให้นักลงทุน ในระยะ 5 ปี (94%) และ 10 ปี(51%)ที่ผ่านมา

      ทศวรรษที่ผ่านมาก็ตรงกันเด๊ะกับเวลาในการกลับมายังบริษัท Apple อีกครั้งของสตีฟ จ็อบส์ในฐานะผู้บริหาร และผู้กำหนดแนวทางของบริษัท โดยเขานำส่วนผสมระหว่างพรสวรรค์ และสิ่งที่เขาหลงใหลอยู่ (คำว่า obsession ผมนึกไม่ออกว่าจะแปลว่าอะไร เลยใส่ว่าหลงใหลไปก่อน จริงๆแล้วมันหมายถึงสิ่งที่คนๆหนึ่งฝักใฝ่กับมันมากๆ เช่น ผม obsession กับน้องกระแด ดังนั้น ไม่ว่าน้องกระแตจะถ่ายนิตยสารอะไร เล่นหนังอะไร ผมจะซื้อเก็บไว้หมด ไปออกงานไหน ผมก็จะตามไปถ่ายรูปหมด มันมากกว่าชอบนะครับ) รวมทั้งความกล้าในกำหนดแนวทางของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ กลับมาใช้ในบริษัท Apple สิ่งที่เขาชื่นชมคือการค้นคว้าสิ่งต่างๆอย่างละเอียดถี่ถ้วน และความเป็นเลิศในการทำสิ่งต่างๆให้ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ Apple เป็นบริษัทที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ(innovation) คุณจะไม่ได้เห็นป้ายโฆษณาชวนเชื่อในบริษัท Apple ที่สำนักงานใหญ่ใน One Infinite Loop เมือง Cupertino รัฐ California ป้ายที่เขียนชื่นชมว่าบริษัทเราเป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ จะไม่มีในนั้น คือคนข้างในบริษัทจะรู้ได้เองโดยไม่มีการเขียนคำมาเพื่อโปรโมทให้ดูดี การคิดค้นนวัตกรรมใหม่คือวิถีชีวิตของคนในบริษัท แต่การคิดค้นนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเพิ่มรสชาดใหม่ของยาสีฟันไปอีกรสแล้วเอาไปขาย ในบริษัท Apple สิ่งใหม่ๆที่จะคิดค้นขึ้นมันจะเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ยาก บางครั้ง Apple ก็ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าทำสิ่งนั้นได้ ผลตอบแทนก็คือการประสบความสำเร็จอย่างมากทางการตลาด เป้าหมายของ Apple กับยอดขายของ iPhone ในปีนี้ก็คือ 10 ล้านเครื่อง ซึ่งจะเอาไปรวมกับที่ขายไปแล้ว 3.7 ล้านเครื่องที่ขายได้ในครึ่งหลังของปี 2007

      ลักษณะการทำงานของพนักงานในบริษัท Apple จะมีบางสิ่งที่แตกต่างจากบริษัททั่วไป พนักงานถูกแบ่งเป็นแผนกตามประเภทสินค้าที่พวกเขารับผิดชอบอยู่ แล้วก็ยังถูกแบ่งตามหน้าที่ที่ทำ ซึ่งทิม คุ๊ก หนึ่งในผู้บริหารของ Apple (COO ไม่รู้จะแปลว่าตำแหน่งอะไร) บอกว่าพวกเขาถูกแบ่งโดยมีแค่เส้นบางๆกั้นอยู่ เพราะการทำงานร่วมกันคือกุณแจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการเป็นคนที่ใส่ใจในการทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์แบบที่สุด Apple จ้างพนักงานประเภทที่ไม่เคยพอใจกับอะไรง่ายๆ เช่น นักออกแบบที่จ้างมา ต้องเป็นคนที่บ้าพอที่จะสนใจกับรายละเอียดว่า รอยโค้งของน็อตที่ขันอยู่ข้างใต้เครื่องโน๊ตบุ๊ค Macbook Air มันใช้งานได้ดี แล้วก็สวยงามแล้วรึยัง แล้วก็สิ่งที่ใช้ซ่อนช่องต่อสายเชื่อมต่างๆของเครื่องมันดูดีหรือเปล่า Apple จะไม่จ้างคุณ ถ้าเวลาคุณไปสัมภาษณ์งาน คุณไม่แสดงอารมณ์อะไรออกมาเลย เวลาที่คุณพูดถึงเครื่อง Mac ที่คุณใช้ ( โจนาธาน ไอวี หัวหน้าทีมออกแบบ ใช้คำพูดที่พูดถึง Macbook Air ว่าเขาคนนี้(this guy)เวลาที่ชี้ไปที่เครื่องตอนให้สัมภาษณ์ เหมือนกับว่ามันเป็นลูกของเขา ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์) มีวิศวกรตอมพิวเตอร์มากมายในบริษัท Apple ซึ่งก็เหมือนกับบริษัทคอมพิวเตอร์อื่นๆ แต่ไม่ใช่แค่ทักษะและความรู้ที่เป็นส่วนสำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานจำเป็นต้องมีก็คือ ความสามารถในการแสดงอารมณ์ร่วมออกมากับงานที่ทำ( คำว่าการแสดงอารมณ์ (Emotive) เป็นสิ่งที่สำคัญของบริษัทนี้ อาจจะแปลไม่ตรงความหมายซะทีเดียว แต่โดยใจความหลักแล้วคือ บริษัทต้องการพนักงานที่รักในสิ่งที่เขากำลังทำ ไม่ใช่แค่มาทำงานเพื่อเอาเงิน ) ความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ(passion) เป็นตัวที่ช่วยให้สามารถเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านการออกแบบและวิศวกรรมได้ แล้วก็ช่วยให้สามารถทำโปรเจ็คได้เสร็จตามกำหนด ส่วนความกดดันในหมู่เพื่อนร่วมงานด้วยกันที่อยากจะให้งานออกมาดีที่สุด บางครั้งมันก็มากเกินไป จนทำให้ในทีมผลิตนั้นๆ ต้องคัดคนที่มีความสามารถต่ำและรับความกดดันได้น้อยออก หรือบางครั้งทีมนั้นก็รวมตัวกันไล่หัวหน้างานที่ไม่เก่งออก ทิม คุ๊กบอกว่า บริษัท Apple ไม่ใช่ที่ทำงานของคนใจเสาะ

      อีกอย่างหนึ่งที่บริษัท Apple ไม่ทำคือ การกระจายความเสี่ยง ทิม คุ๊กบอกว่า ปรัชญาของการบริหารจัดการแบบดั้งเดิมที่สอนอยู่ในคณะธุรกิจของมหาลัยต่างๆ คือการผลิตสินค้าให้หลากหลาย หรือทำธุรกิจในแขนงต่างๆให้หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป แต่เราไม่ทำอย่างนั้น เราทำในทางตรงกันข้ามปรัชญาของ Apple ก็คือ Apple เห็นตัวอย่างจากหลายบริษัทที่สร้างสินค้าและบริการหลากหลายมากเกินไป เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในธุรกิจลง ทำให้บริษัทไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะกระจายไปยังส่วนย่อยๆเพื่อให้ทำงานได้ประสิทธิผลมากที่สุด ทำให้สินค้าและบริการที่ทำขึ้น มีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนวิธีการของ Apple ก็คือการเอาทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ในบริษัทเพื่อพัฒนาสินค้าเพียงไม่กี่ตัว แล้วก็ทำมันออกมาให้ดีที่สุด Apple ไม่ค่อยให้ความสนใจกับสินค้าที่บริษัททำแล้วเคยประสบความสำเร็จในอดีต Apple เคยยกเลิกการผลิต iPod รุ่น Mini ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงนั้น ในวันเดียวกันกับที่บริษัทออกรุ่นใหม่ iPod Nano เนื่องจาก Apple คิดว่าเป็นสินค้าที่ดี และทำกำไรได้มากกว่า (แล้วจะแบ่งทีมเป็น 2 ทีมเพื่อผลิตสินค้าทั้ง 2 ตัวทำไม แทนที่จะช่วยกันทำตัวเดียวให้ดีไปเลย)

      ปรัชญาในการทำธุรกิจของ Apple อาจจะดูเหมือนกับเป็นการเสี่ยงมากเกินไป แม้ว่าสิ่งต่างๆที่ Apple ผลิตขึ้นมาจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการตลาด แต่ความสำเร็จที่ Apple ได้รับก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญเช่นกัน การที่ Apple เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการของตัวเอง ช่วยให้ Apple มีความสามารถในการควบคุมการออกแบบ และเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ในแบบที่บริษัทอื่นไม่สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าใหม่ขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าว่า ในที่สุดแล้วผลิตภัณฑ์ตัวนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ตัว iPod ได้เปลี่ยนรูปแบบจากเครื่องเล่นเพลงที่มีขนาดเท่ากับสำรับไพ่ ไปเป็นขนาดที่เล็กกว่าอย่าง iPod Nano แล้วก็เล็กกว่านั้นอีกอย่าง iPod Shuffle ตอนนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปอีก เป็นสิ่งที่มีรูปแบบและวิธีการใช้แตกต่างกันออกไปเลยอย่าง iPod Touch ซึ่งทิม คุ๊กบอกว่า เรามีแผนการระยะยาวสำหรับตัว iPod Touch” ถ้าสิ่งที่เขาได้คาดเอาไว้ถูกต้อง ในที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นอุปกรณ์ตัวแรกที่ใช้เชื่อมต่อเน็ทเวิร์คแบบไร้สาย(Wi-Fi mobile device)ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

      สตีฟ จ็อบส์บอกว่า “ DNA ( สารพันธุกรรม ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมไปอ่านได้ที่ link นี้ครับ http://www.vcharkarn.com/varticle/296 ซึ่งในที่นี้หมายถึงปรัชญาหลักของ Apple ) ของ Apple คือการทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง และใช้ technology ได้ง่ายและมากที่สุดจ๊อบมีความเชื่อว่า ถ้าคุณผลิตสินค้าที่ดีมากๆ ทุกคนก็ต้องการที่จะใช้มัน จะมีใครคิดว่าแบรนด์อย่าง Apple ที่มีแฟนพันธ์แท้จำนวนไม่มาก จะสามารถกลับมาแจ้งเกิดได้ในตลาดสำหรับคนจำนวนมาก สตีฟ จ็อบและคนที่ศรัทธาเขาในบริษัทได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าคุณกล้าพอที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี โดยไม่สนว่ามันจะทำยากขนาดไหน ก็มีคนจำนวนมากที่กล้าพอที่จะซื้อมัน

      สำหรับสมาชิกของเว็บไซด์เด็กดี ซึ่งส่วนใหญ่ผมเดาเอาว่าเป็นเยาวชน ความหวังของชาติในอนาคต ถ้าอ่านเรื่องนี้แล้ว สิ่งที่ผมอยากจะบอกอีกอย่างก็คือ น้องๆควรหาสิ่งที่น้องๆรักและมีความเชื่อ เพื่อจะทำมันในอนาคต ผมเดาเอาว่าประมาณมากกว่า 50% ของผู้ที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ตื่นเช้ามาแล้วไม่อยากไปทำงาน แต่เนื่องจากต้องไปเพราะมันเป็นความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต แล้วถ้าในอนาคตน้องๆต้องเป็นคนหนึ่งในมากกว่า 50% นี้ มันไม่ใช่ชีวิตที่ดีนักครับ ผมเคยฟังการสัมมนาที่มีสตีฟ จ็อบ และบิล เกต มาคุยกัน แล้วให้คนถามคำถาม มีคนถามสตีฟว่า เขามีบริษัทเล็กๆที่กำลังขยายงานอยู่ คุณมีคำแนะนำอะไรในการทำให้บริษัทของเขาเติบโตอย่างยั่งยืน สตีฟบอกว่า ก่อนอื่นคุณต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณรักในสิ่งที่คุณทำหรือเปล่า ถ้าคุณรักอย่างอื่นมันก็จะเป็นปัญหาเล็กลงไป เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีปัญหาเกิดให้คุณแก้ไขอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นถ้าคุณไม่รักในสิ่งที่คุณทำ ถ้ามีปัญหาใหญ่ๆเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดคุณก็จะยอมแพ้ แล้วเลิกทำในที่สุด ตัวอย่างอีกอันก็คือคนไทยเรานี่แหละครับ จา พนม กับ ภราดร ศรีชาพันธุ์ นอกจากความพยายามและการไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้ก็คือ เขารักในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีคนพูดดูถูกเหยียดหยามเขาขนาดไหน เขาก็ไม่สนใจ แล้วก็พยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ถ้าพวกเขาไม่รัก คงต้องยอมแพ้ไปนานแล้ว ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้น พยายามหาสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วทำมันให้ดีที่สุดครับ ;-)

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×