คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : เสื้อครุย
เสื้อครุย
เสื้อครุย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยแรกมีสองประเภทคือ ครุยบัณฑิตสำหรับนิสิตผู้สอบไล่ตามหลักสูตร กับครุยบัณฑิตพิเศษสำหรับอาจารย์และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นบัณฑิตพิเศษ บัณฑิตพิเศษต่างจากผู้ได้ปริญญากิตติมศักดิ์ เสื้อครุยมี ๔ ชั้นคือ บัณฑิตชั้นตรี (บัณฑิต) บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิต) บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิต) บัณฑิตชั้นพิเศษ ซึ่งบัณฑิตชั้นพิเศษนั้นมีพระองค์เดียวในแต่ละรัชกาลเพราะเป็นการอนุวัตการดำเนินการตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า
"....ให้มีกรรมการเป็นสภาอันหนึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระบรมราชูปถัมภก แห่งโรงเรียนนี้...."
ลักษณะสำคัญของเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ระยะระหว่างแถบหรือ "ช่องไฟ" และขนาดของแถบบนสำรด ซึ่งกำหนดเป็น ๒ ขนาดคือ ขนาดเล็กและใหญ่ มีระยะห่างกันอย่างประณีตตามแบบจิตรกรรมไทย ท่านอาจารย์ภาวาส บุนนาค ได้วิจารณ์งานศิลปะไทยบางชิ้นว่า เจ้าของผลงาน"ไม่รู้ไวยากรณ์ศิลปะไทย" หรือ "เอาใจใส่ไวยากรณ์ศิลปะไทยน้อยไปหน่อย" หากมองในด้านนี้ขอให้สังเกตเปรียบเทียบระยะระหว่างแถบแต่ละเส้นแต่ละกลุ่ม คงจะมีความเห็นตรงกันว่าแถบของสำรดของเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นงามทั้งรูปแบบและองค์ประกอบของศิลปะไทยอีกเรื่องที่สำคัญคือ การจัดสีพื้นกับสีประจำคณะ สีของเส้นที่แสดงระดับของวุฒิคือ ปริญญาตรี ๑ เส้น ปริญญาโทและเอกใช้ ๒ และ ๓ เส้น ตามลำดับนั้นการให้สีและจัดองค์ประกอบงามสง่าอีกเช่นกัน
สิ่งสำคัญที่ชาวจุฬาฯ ควรทราบคือ พื้นของสำรด ซึ่งบูรพาจารย์และศิลปินในอดีตได้เลือกสักหลาดเป็นพื้นสำรดสีดำ สำหรับบัณฑิตและมหาบัณฑิต ระดับดุษฎีบัณฑิตใช้พื้นสำรดสีแดงชาด และใช้สีเหลืองสำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ท่านผู้รู้ทั้งศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์ อธิบายว่า การใช้สีดำเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์ จึงโปรดเกล้าฯให้ใช้สีดำหรือน้ำเงินเข้มเป็นสีประจำพระองค์ การใช้สีแดงชาดเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ใช้สีบานเย็นสำหรับกรมมหาดเล็กและโรงเรียนมหาดเล็กใช้สีแดงชาดสำหรับสีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำรัชกาล(เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า)แต่ในชั้นหลังต่อมาใช้สีชมพู ส่วนการใช้สีเหลืองเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ และใช้กับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกเท่านั้น
เสื้อครุยต่างกับเสื้อคลุมวิทยฐานะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้เสื้อครุยได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระมหากษัตริย์ ๒ รัชกาล (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยังไม่ได้ทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกละทรงมีเวลาอยู่กับชาวไทยน้อยมาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุย) จุฬาฯ เป็นสถาบันเดียวที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระบรมราชูปถัมภกของสถาบันอันเป็นที่รักของเราและได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวประดับที่สำรดของชายครุยระดับอก พระเกี้ยวเป็นศิราภรณ์ประดับพระเศียรเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าและพระเกี้ยวเป็นส่วนประดับบนพระมหาพิชัยมงกุฎ ชาวจุฬาฯ ควรสวมเสื้อครุยด้วยความสำรวม เคารพในพระมหากรุณาธิคุณและภาคภูมิใจในเสื้อครุยพระราชทาน การประดับสิ่งใดบนเสื้อครุยนอกจากจะไม่เป็นการถวายความเคารพแล้วยังแสดงอวิชชาแห่งผู้ใช้ผิด ๆ อีกด้วย
ความคิดเห็น