หน้าที่ 1
 
ชื่อเรื่อง :  The Seekers
ใครแต่ง : Caje
19 ต.ค. 53
80 %
168 Votes  
#1 REVIEW
 
เห็นด้วย
21
จาก 21 คน 
 
 
The Seekers การค้นหาที่ยังไม่สิ้นสุด

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 28 ต.ค. 52
(คำเตือน ทั้งบทวิจารณ์นี้มีเนื้อเรื่องและเฉลยเนื้อเรื่องค่อนข้างมาก หากไม่ต้องการเสียอรรถรสจากการอ่าน กรุณาละเว้นข้อความที่ถมดำอยู่)

กระแส นิยมนิยายแฟนตาซีในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาลงเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสี่ ห้าปีก่อน ทำให้นิยายแนวผจญภัยแฟนตาซีออกมาให้เห็นในท้องตลาดน้อยลง และที่มีอยู่ก็เป็นนิยายแปลหรือนิยายแฟนตาซีภาคต่อของนักเขียนที่มี ประสบการณ์อยู่แล้วมากกว่าจะเป็นผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ การที่ The Seekers : ผู้กล้าแห่งรูลน์ ผลงานแรกของ ”สัจนา” หรือ Caje ได้ตีพิมพ์ออกมากับสนพ. โอทูเลิฟ นั้นคงเป็นเครื่องหมายแสดงคุณภาพได้ระดับหนึ่ง ส่วนเนื้อหาข้างในก็คงยังต้องติดตามประเมินค่าต่อไป เพราะดูเหมือนว่า The Seekers จะยังอยู่ให้เราลุ้นเรื่องราวได้อีกหลายเล่มเหมือนกัน

โลกไร้ผู้คน : บทนำที่มีผู้คน จุดเริ่มต้นของเรื่องราว

บทนำเรื่อง “โลกไร้ผู้คน” เป็นบทเปิดที่สัจนานำเสนอและเล่าเรื่องราวของเรื่อง ค่อยๆเปิดเผยที่มาและความเป็นไปของตัวละครเอก “ไมอา” ออกมาอย่างดี โดยไม่ต้องพร่ำพรรณนาบุคลิกลักษณะและคุณสมบัติให้ยืดยาวเป็นย่อหน้า หากแต่ใช้สถานการณ์เล็กๆเป็นกลวิธีเล่าแทน ทั้งเรื่องของสาเหตุที่ไมอาต้องเดินทาง วิธีการใช้ของวิเศษเข็มทิศค้นหาสิ่งที่ต้องการ นอกจากนั้นยังมีจุดเล็กๆที่จะเชื่อมเนื้อเรื่องของบทเปิดไปใช้ในเนื้อเรื่องต่อไปได้ อย่าง “กระจกย้ายเงา” ถือว่าเป็นแนวคิดที่ประยุกต์จากเรื่องแฟนตาซีอื่นๆมาใช้ได้อย่างกลมกลืนทีเดียว

กฎแห่งการเดินทาง : บทสนทนาที่ชาญฉลาด

The Seekers : ผู้กล้าแห่งรูลน์ มีจุดเด่นที่น่าประทับใจ คือการเลือกใช้บทสนทนาที่ชาญฉลาด เล่าเรื่องออกมาผ่านการโต้ตอบของตัวละคร รวมถึงสื่อ “สาร” ผู้ผู้เขียนต้องการส่งออกมาโดยใช้บุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่การสักแต่ว่ายัดเอาคำพูดสวยๆเท่ๆ ใส่ปากตัวละครให้เทศนาสั่งสอนสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกจนหน้าเบื่อ เราลองมาดูตัวอย่างสักหนึ่งบท เช่น บทสนทนาระหว่างไมอากับโคเซฟ ในบทที่ 3 หน้า 60-61 ที่สื่อถึงเส้นทางการเลือกของการดำเนินชีวิตที่โคเซฟตัดสินใจออกมาได้โดยผู้เล่า(Narrator) ที่อยู่เป็นบุคคลที่ 3 ไม่ต้องแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาในบทบรรยาย อีกจุดหนึ่งคือบทสนทนาเรื่องการสอนเวทมนตร์ ในบทที่ 8 หน้า 148-150 ที่อธิบายความสำคัญและลักษณะการฝึกเวทมนตร์ผ่านการโต้ตอบได้อย่างน่าสนุก และบทโกหกหน้าตายของไมอาต่อพระราชาแห่งรูลน์ ในหน้า 103 - 104 จุดนี้เองที่เปลี่ยน The Seekers ให้ดูน่าสนใจแตกต่างจากนิยายแฟนตาซีดาดๆ ที่ให้ผู้บรรยายเล่าเรื่องและรายละเอียดของตนเองยาวยืดเป็นหน้าๆ

กระจกสีชา : เหตุผลของเวทมนตร์

ในราชอาณาจักรรูลน์ สถาปัตยกรรมอันเป็นจุดเด่น น่าสังเกตที่สัจนาสร้างขึ้นมา คือ กระจกประดับสีชา ซึ่งเกี่ยวร้อยกับเหตุผลของอุปกรณ์เคมีและยาเวทมนตร์ ในแง่การกรองแสงสว่าง แสดงให้เห็นว่าสัจนาเองมีหลักการของเหตุผลและใช้หลักการนั้นอธิบายรายละเอียดต่างๆของโลกแฟนตาซีให้สมเหตุสมผลได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “เครื่องแปลภาษา” ที่อยู่ในกระเป๋าเป้เวทมนตร์สี่มิติที่คงไม่เกี่ยวกับหุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคต ซึ่งทำให้ไมอาพูดจากับมนุษย์ในแต่ละมิติที่ตนเองเดินทางไปได้เข้าใจ แม้ว่าจะมีปัญหาที่แปลบทเพลง กวี ติดขัด(หน้า 59) หรือไม่สามารถแปลอักขระโบราณได้(หน้า 111)และเรื่องการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของชุดสารพัดนึก(หน้า 82) แม้ว่าหลายคนอาจจะคิดว่า “โลกแฟนตาซี” นั้นเป็นโลกแห่งจินตนาการ จะอยู่เหนือความจริงอย่างไรก็ได้ แต่การที่โลกแห่งแฟนตาซีนั้นสมเหตุสมผล มีที่มาที่ไป ย่อมชักชวนให้ผู้อ่านหลงเชื่อและกลืนตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกแฟนตาซีนั้นได้ง่ายกว่า

ปรัชญาแห่งการฝึกฝน : ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือผู้กล้า ย่อมต้องฝ่าฟัน

บทที่จับใจและเขียนได้ดีที่สุดของ The Seekers ใน ทัศนะของผู้วิจารณ์ เห็นทีจะหนีไม่พ้นบทที่ 7 “การฝึกวิชา” ซึ่งเนื้อหาในบทนี้อาจจะสะท้อนใจผู้อ่านหลายคนที่ยังอยู่ในวัยเรียน วัยแสวงหา และมีความฝันมากมายเข้ามาเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต แต่ก็ยังหาไม่พบ อาจเป็นเพราะว่า “สัจนา” เขียนนิยายเรื่องนี้ในขณะที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างการสอบเข้า มหาวิทยาลัย จึงถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีพลัง ผู้กล้าโคเซฟเองไม่ได้เชี่ยวชาญหรือถนัดอะไรมากเป็นพิเศษต่างจากผู้กล้าใน เรื่องแฟนตาซีอื่นๆที่มีอาวุธวิเศษในตำนานไม่ว่าจะเป็นดาบเทพหรือไม้เท้า แหวน มงกุฎ ชุดครบเซ็ต เป็นภาคบังคับให้ใช้ โคเซฟเองเป็นผู้กล้าที่ต้องผ่านการเรียนรู้อย่างเข้มข้นเป็นเวลาสองปี ฝึกฝนจนรอบด้านทุกศิลปะการต่อสู้ ประสบความลังเลสงสัยว่าตนเองจะเอาดีทางใด จะใช้อะไรไปสู้กับจอมมาร จนสรุปได้ว่าต้องเอาทุกอย่างไปต่อสู้พร้อมๆกันนี่แหละ ชวนให้คิดถึงการสอบแอ็ดมิชชันของเหล่านักเรียนที่ยังไม่ตกลงปลงใจจะเลือกสอบตรงทางไหน ได้แต่แบกอาวุธคือความรู้ใส่สมองทั้งเจ็ดวิชาสิบวิชาไปสอบ GAT PAT O-net A-net ตามคำบัญชาของพระราชาและพระราชินีประจำอาณาจักรที่ชื่อว่าบ้านและครอบครัวฉันใดก็ฉันนั้น อีกจุดหนึ่งที่สัจนาถ่ายทอดออกมาได้ดีผ่านบทสนทนา ที่ชาญฉลาดคือ ภาวการณ์ชะงักนิ่ง ที่เห็นว่าการเรียนและกิจการที่ทำทุกอย่างย่อมมีช่วงเวลาของความหยุดชะงัก ถ้าหากขยันหมั่นเพียรและใช้ความตั้งใจจริงฟันฝ่าไป ก็จะพบกับความสำเร็จที่เหนือขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง(หน้า 130) กลวิธีการเล่าก็ดี น้ำเสียงของตัวละครที่ส่งออกมาก็ดี พอมองออกได้ว่าผู้เขียนเองได้ผ่านขั้นตอนความยากลำบากดังกล่าวมาแล้วและอยาก จะถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านได้กำลังใจไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน งานเขียน หรือผู้กล้าในโลกแฟนตาซี การฝึกฝนและอดทนที่จะฟันผ่าขีดจำกัดนั้นไปย่อมจะนำพาความสำเร็จมาสู่ผู้ ฝึกฝนได้อย่างแน่นอน

หอคอยฟ้าทมิฬ : จุดมืดมิดและรูรั่วที่รอการเติมเต็ม

ไม่ใช่ The Seekers จะมีแต่จุดดีน่าชมไปเสียทุกอย่าง จุดบกพร่องที่เห็นได้เด่นชัดของ The Seekers กลับมาปรากฏในช่วงท้ายก่อนจะจบนี่เอง การฟันผ่าอุปสรรคในหอคอยฟ้าทมิฬที่ตัดสลับกับตำนานผู้กล้า ถือว่าเป็นกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ และอาจจะทำได้ดีกว่านี้หากเพิ่มเติมส่วนของการต่อสู้ หรือปัญหาที่โคเซฟพบเจอในแต่ละชั้นๆ ให้ละเอียดขึ้นสมกับที่อุตส่าห์ฝึกฝนทั้งร่างกาย จิตใจ อาวุธ และเวทมนตร์ มาตลอดสองปี แต่กลับเป็นว่าสัจนาเทน้ำหนักให้เรื่องของฝั่งผู้กล้าในอดีตมากกว่าจนทิ้งความตื่นเต้นเร้าใจในส่วนของโคเซฟไปเสียมาก
หากจะเพิ่มเติมเข้าไป เช่น บรรยายฉากการแก้ไขต่อสู้โดยใช้เวทมนตร์ในหอคอยชั้นที่ 3 บรรยายความปวดร้าวและสับสนในจิตใจของโคเซฟเมื่อพบกับภาพลวงตาตัวปลอมของคนใกล้ชิดในชั้นสุดท้าย ซึ่งอาจเรียงลำดับจากคนสำคัญน้อย (พระราชา อาวีเนียส ธาสก้า) คนสำคัญมาก (ครอบครัว) และคนสำคัญที่สุดตามเนื้อเรื่อง (ไมอา) ที่กว่าจะตัดใจเข้าต่อสู้ได้ ต้องถูกภาพลวงตาเหล่านั้นทำร้าย หรือบาดเจ็บโชกเลือดมากกว่านี้สักหน่อยคงจะดีขึ้น หรืออาจจะเพิ่มเติมการต่อสู้กับจอมมารตัวร้ายหลักไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้กล้าในอดีตหรือฝั่งโคเซฟ อย่างไรก็ตามการตัดสินประเมินค่าในขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปหากมองว่า เรื่อง The Seekers นี่จะมีต่ออีกถึง 3 เล่ม ซึ่งเนื้อเรื่องตรงนี้อาจจะถูกเก็บงำเอาไว้เพื่อไปเปิดเผยในเล่มหลังๆก็ได้ อีกจุดบกพร่องหนึ่งที่เห็นมากในช่วงแรก แต่ลดลงในบทหลังๆคือ การใช้คำฟุ่มเฟือย คำผิดประเภท ที่ดูหรูหราแต่ไม่มีความหมาย เช่น “เอ่ยเอื้อนออกมา” (หน้า 20) “เคลื่อนคล้อยมองถัดไป” (หน้า 22) “รัฐบุรุษของรูลน์” (หน้า 94) ซึ่งความคลี่คลายของความคิดและเนื้อเรื่องคงจะทำให้ภาษาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต

ตำนานวีรบุรุษ : วาทกรรมของนิทาน การค้นหาที่ยังไม่สิ้นสุด

(ส่วนนี้อาจจะทำให้เสียอรรถรสของเนื้อเรื่อง กรุณาลากคร่อมหากต้องการอ่าน)

บทจบของเล่มแรกนี้ชวนให้พิศวงว่า “สัจนา” กล้าหาญในการนำเสนอจุดจบของนิยายแฟนตาซีที่ไม่ใช่เรื่อง Happy Ending ยังไม่พอ ยังท้าทายความคิดและความเชื่อของ “ตำนานวีรบุรุษ” ด้วยว่า เรื่องราวใดๆก็ตามอาจจะถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือของผู้เล่า เข้าตำรา “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” มากกว่าจะเป็นความจริงของผู้กล้าที่ประสบความสำเร็จในการปราบจอมมารร้าย อาจเรียกได้ว่าบทจบนี้เป็นนิยายแฟนตาซีที่เข้าข่ายถอดรื้อนิยม(Deconstructionism) ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม บทต่อสู้ของ The Seekers ไม่ ได้ดึงดูดอารมณ์ให้ตื่นเต้นเท่าที่ควรก่อนหน้า เมื่อมาหักมุมเสียก่อนว่าผู้กล้าพบความพ่ายแพ้และต้องค้นหาความจริงในเล่ม ต่อไป ทำให้ไม่เกิดอารมณ์ความรู้สึกเสียดาย หรือขัดแย้ง ชวนคิดต่อมากนัก อีกทั้งดูเหมือนว่าเป็นตอนจบที่ห้วนไปนิดหน่อย หวังว่าเล่มต่อไป “สัจนา” จะสามารถหาจุดลงตัวระหว่างบทสนทนาและฉากตื่นเต้นได้ดียิ่งขึ้นเพื่อจุดจบที่ ลงตัว

(จบส่วนที่ทำให้เสียอรรถรส)

The Seekers : ผู้กล้าแห่งรูลน์ ถือได้ว่าเป็นนิยายแฟนตาซีซีรีส์หน้าใหม่ ที่มีคุณภาพไม่แพ้นิยายรุ่นพี่ แม้เรื่องราวจะยังสะดุดชะงัก ไม่เข้มข้นถึงอกถึงใจนักอ่านที่ต้องการความตื่นเต้น แต่ปรัชญา แนวคิด ภาษา ก็ส่งผ่านออกมาได้อย่างละเอียดลออ ลุ่มลึกและมีมิติ รวมถึงสาระแนวคิดที่ซ่อนอยู่ก็เหมาะกับการอ่านทบทวน และสามารถอ่านซ้ำไปมาเพื่อตีความต่อได้เรื่อยๆ อีกทั้งคุณภาพการผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งการพิสูจน์อักษรที่หาที่ผิดไม่ได้เลยภาพสี ภาพประกอบ ปก บทสนทนาเล็กๆน้อยๆกับผู้เขียน และการ์ตูนแถม ในราคา 185 บาทนั้นถือว่าคุ้มค่าควรแก่การซื้อเก็บ และติดตามรอเล่มต่อๆไปในอนาคต
     
 
ชื่อเรื่อง :  นักสะสมฟัน
ใครแต่ง : ชัยยา
25 ก.พ. 53
80 %
9 Votes  
#2 REVIEW
 
เห็นด้วย
19
จาก 19 คน 
 
 
ผมปวดฟัน! หลังจากอ่าน “นักสะสมฟัน”

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 22 ส.ค. 52
ผมปวดฟัน! หลังจากอ่าน “นักสะสมฟัน”



บ่อยครั้งที่ “นิยาย” ส่งผลสะเทือนต่อ “ร่างกาย” โดยตรง ด้วยว่าจิตใจนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้สึก และนิยายใดที่เขียนดีพอ ย่อมมีผลต่อจิตใจที่บังคับร่างกายนั้นไปด้วย “นักสะสมฟัน” นิยายสยองขวัญเรื่องใหม่ของชัยยา ผู้เขียน “ทีนอส” ก็เป็นนิยายที่มีพลังพอจะบีบคั้นจิตใจให้รู้สึกปวดฟันไปตามภาษาที่เขาใช้ในนิยายได้เช่นกัน

ประตูที่ปิดไม่สนิท : นิยายซ้อนนิยายที่เชื่อมเกือบไม่สนิท

“นักสะสมฟัน” หลอกล่อเราตั้งแต่คำนำผู้เขียน และบทนำที่อ้างว่าเขียนขึ้นโดยฝีมือของ “ท็อป” ตัวเอกของเรื่อง ก่อนที่จะดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างไดอารี่ของท็อป กับเรื่องราวของนักสะสมฟัน ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีวัตถุเด่นที่แตกต่างกันในการเขย่าขวัญคนอ่าน ในภาคไดอารี่ “ปากกา” ที่ท็อปได้มาจากร้านขายของเก่าเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ถ่ายทอดเรื่องราวสยองขวัญออกมาในนิยาย รวมทั้งเรื่องสยองที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ส่วนในนิยายนั้น ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นกับพิมพ์ขวัญซึ่งเป็นตัวละครหลัก มี “ประตู” เป็นจุดดึงความสนใจให้ชวนติดต่อและหวาดผวาว่า “ประตู” นั้นปิดสนิทแน่หรือ การนำเสนอนิยายซ้อนนิยายในรูปแบบนี้เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ และชัยยาก็เขียนออกมาได้เข้าขั้นดี เสียดายว่าส่วนท้ายของนิยายที่ชัยยาตัดฉากให้แม่ของท็อปมาอธิบายอาการทางจิตของลูก ว่าเชื่อมโยงกับนิยายและไดอารี่ที่เขาเขียนอย่างไรดูไม่กลมกลืนนัก(หน้า ๒๔๙ - ๒๗๕) และสำนวนการเขียนที่อ้างว่าเป็นของนักกฎหมายเฉพาะก็ไม่ได้แตกต่างจากสำนวนของท็อป(ที่อ้างมาข้างต้น) เท่าที่ควร แม้จะเห็นได้ว่าพยายามแทรกเอาศัพท์กฎหมายและการเขียนเป็นหัวข้อประเด็นมาแทรกแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี การแทรกส่วนที่แม่ของท็อปเขียนก็ดูสมเหตุสมผลตามบทตามก่อนจะจบบริบูรณ์ ประตูของการเชื่อมเรื่องนิยายที่ฝืดอยู่จึงได้รับการหยอดน้ำมันลงให้ปิดลงได้สนิทในที่สุด

เงามืดและแสงเทียนริบหรี่ของร้านขายของเก่า : ฉากพรรณนาชวนสยองขวัญที่ดีกว่าเดิม

“ชัยยา” ได้พัฒนาการบรรยายฉากให้ดีขึ้นจากนิยายเล่มที่แล้วมาก ประโยคเช่น “เทียนเพียงเล่มเดียวไม่อาจขับไล่ความมืดได้ทั้งหมด แทนที่จะช่วยให้อุ่นใจกลับส่งเงาน่ากลัววูบไหวทาบผนัง”(หน้า ๒๒ : ๒๓-๒๔) ให้ทั้งภาพ สี และแสงออกมาอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อถึงคราวบรรยายความสยดสยองภายในใจ ชัยยาก็ไม่ได้มีฝีมือลดน้อยถอยลงเลย ยิ่งเมื่อเข้าถึงบทถึงเลือดถึงเนื้อ การลดความน่าขยะแขยงจากภายนอกมาเน้นสภาพความกลัวภายในจิตใจนับเป็นพัฒนาการที่น่าชื่นชม ภาพของพิมพ์ขวัญยิ้มแสยะโดยมีเลือดกบปากทั้งๆที่ฟันคู่หน้าโหว่อยู่เ(หน้า ๑๔๖) ป็นภาพที่นักอ่านอาจจะเก็บไปฝันร้ายเอาได้ง่ายๆ ในช่วงนี้เองที่การวางพล็อตหลักเข้ามามีบทบาทต่อความไม่เท่ากันของบทบรรยาย ชัยยาวางภาพซ้อนอธิบายว่า แต่ละบทที่ท็อปเขียนเรื่องนั้น เขาใช้กลวิธีแตกต่างกันเนื่องจากเพิ่งหัดเขียนเป็นครั้งแรก และเขียนขึ้นมาด้วยพลังอาถรรพ์ จนฉากทั้งหมดกลมกลืนกันได้ภายในความไม่กลมกลืน ซึ่งหากเกิดขึ้นจากความจงใจของชัยยาเองแล้ว ก็นับว่าเป็นวิธีทางการเขียนที่น่าสนใจมากทีเดียว

บ้านในความมืด : ปัญหาทางจิตของครอบครัวตัวละครซ้อนนิยาย

ตามขนบของนิยายสยองขวัญสไตล์ สตีเฟน คิง ซึ่งชัยยาได้รับอิทธิพลมามาก มักจะมีปัญหาทางจิตของคนในครอบครัวซ้อนอยู่กับเรื่องราวสยองขวัญด้วย ประเด็นการสร้างตัวละครวิชิตใน “นักสะสมฟัน” ของท็อป ที่เกิดขึ้นจากภาพสมมติของพ่อในชีวิตจริง พิมพ์ขวัญซึ่งจำลองแบบแม่ และฟ้าใสที่เป็นร่างถอดรูปของตัวเอง เป็นรูปแบบสามัญซึ่งไม่ยากเกินกว่าผู้ชื่นชอบนิยายของคิง หรือผู้อ่านนิยายเชิงจิตวิทยามามากจะเดาได้ตั้งแต่กลางๆเรื่อง แต่ใน “นักสะสมฟัน” ตัวละครนักกฎหมายที่อธิบายทุกเรื่องด้วยตรรกะอย่างแม่ของท็อป ได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้อธิบายปมทางจิตของเรื่องนี้ในตอนท้าย ทำให้ความสนุกสนานของการทิ้งให้ตีความต่อหายไป และลดโทนของเรื่องลึกลับลงไปมาก อย่างไรก็ตาม การเน้นความรักของแม่ที่มีต่อลูก ทั้งในช่วงของ “นักสะสมฟัน” และในชีวิตของท็อป พิมพ์ขวัญนักกฎหมายที่เลี้ยงลูกจนโตเป็นหนุ่มมาได้คนเดียว กับพิมพ์ขวัญแม่บ้านที่เลี้ยงดูฟ้าใสโดยยอมลาออกจากงานประจำที่ทำ ก็เป็นจุดที่โดดเด่นออกมาอย่างน่าประทับใจและชวนให้ตระหนักคิดว่า ครอบครัวที่ขาดความเอาใจใส่จากพ่อ ก็อาจทำให้เกิดปมในใจของทั้งลูกและแม่ได้จนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

สัญญาต่างตอบแทนของนักสะสมฟัน : ฟันผุของพล็อตเรื่อง

แม้ว่าชัยยาจะบรรยายความรักระหว่างแม่และลูกได้เป็นอย่างดี และความสยองที่เข้าขั้น แต่แกนเรื่องหลักของนักสะสมฟันกลับลอยอยู่จนจับประเด็นไม่ได้ ชัยยาไม่ได้เล่าถึงความเป็นมาของนักสะสมฟันว่า ทำไมมันถึงถูกผนึกลง ความแค้นของมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญคือ สัญญาที่มันอ้างว่า “ฟันบนโยนขึ้นฟ้า ฟันล่างโยนลงดิน” เกิดขึ้นด้วยเหตุใด บอกเพียงแต่ว่ามนุษย์ผิดสัญญาแถมไพล่ไปยกเอาตำนานฝรั่งมาเล่าเป็นวรรคเป็นเวรโดยไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่างหาก เมื่อประเด็นหลักของเรื่องไม่ชัดเจน ความแค้นและความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นของนักสะสมฟันก็ดูไม่มีเหตุผลพอให้เกรงกลัว คล้ายกับว่าตัวนักสะสมฟันเป็นฟันผุเสียเองก็ว่าได้ หากชัยยาจะยอมเสียเวลาทรมาน “ท็อป” อีกสักสองสามหน้า เอาที่มาของนักสะสมฟันเขียนลงในนิยาย คงจะเป็นโลหะอะมัลกัมมาอุดฟันผุของพล็อตเรื่องไหว

พ่อไม่อยู่บ้าน : เหตุจากพิษเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อบ้าน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของ “นักสะสมฟัน” คือการขาดหายไปของ “พ่อ” ไม่ว่าจะเป็นวิชิตในนิยาย หรือ พ่อของท็อปตามเนื้อเรื่อง ซึ่งหากวิเคราะห์ลึกๆแล้ว ทั้งคู่หายไปเพราะพิษเศรษฐกิจ วิชิตในเรื่องต้องทำงานหนักเพื่อพยุงบริษัทท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการชุมนุมทางการเมือง ส่วนพ่อของท็อปที่ยิงตัวตาย แม้ไม่บอกมาโดยตรงก็อาจอนุมานได้ว่าเกิดจากพิษเศรษฐกิจเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่นักธุรกิจและนักลงทุนขาดทุนจนต้องคิดสั้นฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ พิมพ์ขวัญในนิยายขาดความมั่นใจจนเปิดช่องว่างให้นักสะสมฟันเข้ามาแทรกแซงจิตใจ ส่วนในโลกของท็อป เขาก็สั่งสมปมทางใจที่เห็นการตายของพ่อผนวกกับภาวะสับสนของความรักและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจนระเบิดออกมาตามนิยายอาถรรพ์เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าโศกนาฏกรรมในครอบครัวอาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของภาพรวมของสังคมมหภาค ที่อาจแผ่ไปถึงบ้านของคุณได้อย่างไม่คาดคิด

คุณปวดฟันอยู่หรือเปล่า? : ฟันล่างให้โยนขึ้นบน ฟันบนให้ทิ้งลงล่าง

ผมอ่านนักสะสมฟันจบด้วยอาการปวดฟัน! ไม่ใช่เพราะนักสะสมฟันคืบคลานมาหา แต่เพราะว่าผมปล่อยให้ฟันผุนานเกินไปแล้ว เห็นทีผมคงต้องไปพบทันตแพทย์เสียที แต่ถ้าผมถอนฟันออกมา ผมจะไม่ลืมว่า “ฟันล่างให้โยนขึ้นบน ฟันบนให้ทิ้งลงล่าง” อย่างแน่นอน

ทางทีดี คุณควรรักษาสุขภาพฟันดีกว่า เวลาอ่านนักสะสมฟันจะได้ไม่ปวดฟันแบบผม

วันนี้คุณแปรงฟันแล้วหรือยัง?
     
 
16 มิ.ย. 54
80 %
18 Votes  
#3 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 12 คน 
 
 
หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ หรือจะเป็นรอยยิ้มร่ากลางฟ้าไร้ดาว

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 11 เม.ย. 52
[วรรณวิจารณ์] หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ หรือจะเป็นรอยยิ้มร่ากลางฟ้าไร้ดาว

ผม ลังเลอยู่นานว่าจะวิจารณ์นิยายเรื่องนี้ดีหรือไม่ เนื่องด้วยผู้เขียนเป็นคนใกล้ตัว และได้ช่วยแก้ไขตรวจทานด้านภาษาย้อนหลังก่อนอยู่หลายตอน แต่ในเมื่อเคยสัญญากันไว้ว่าหากหยงเล่อเขียนจบ ผมจะวิจารณ์เต็มรูปแบบสักครั้งเพื่อวิเคราะห์จุดดี จุดด้อย และปมปัญหาต่างๆในเรื่องอย่างละเอียด ก็ต้องทำตามสัญญา

หยด น้ำตากลางฟ้าสีดำ เขียนโดยฟ้าไร้ดาวหรือหยงเล่อ เป็นนิยายแนวแฟนตาซีดราม่ากึ่งไลท์โนเวลที่มียมทูตตามสมัยนิยม แต่การนำเสนอและโครงเรื่องกลับแตกต่างออกไปจากที่นิยมกันไม่น้อย ด้วยการใช้ภาษาดุจบทกวีที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เปล่งออกมาจากใจ ให้กลิ่นไอคล้ายยมทูตสีขาวในบางช่วง หากโครงเรื่องที่ซับซ้อนต่อเนื่องกันผูกปมปัญหาของตัวละครแต่ละตัวสลับทับ กันเป็นชั้นๆและคลี่คลายลงอย่างน่าตกตะลึง ถึงแม้ช่วงหลังการบรรยายจะขาดอรรถรสไปบ้างคล้ายว่าจะถ่ายทอดอารมณ์เกินไปจน ละทิ้งฉากหลังไปบ้างแต่ความน่าติดตามก็มิได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

บท วิจารณ์นี้จะครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ปมปัญหาของตัวละคร และการสื่ออารมณ์ผ่านภาพกิริยาบางส่วนที่ผู้เขียนคือฟ้าไร้ดาวถ่ายทอดออกมา สู่ผู้อ่านด้วย ซึ่งหลายช่วงอาจเผยเนื้อเรื่องสำคัญบางส่วน ผู้ที่อ่านบทวิจารณ์ควรตระหนักว่าการอ่านบทวิจารณ์มิใช่เรื่องจริงทั้งหมด ที่ผู้เขียนเล่า เป็นเพียงทัศนะบางส่วนของผู้วิจารณ์เท่านั้น หากต้องการรับรู้และสัมผัสเนื้อเรื่องอย่างละเอียด ควรอ่านเนื้อเรื่องทั้งหมดด้วยตัวเอง ผู้วิจารณ์ยินดีอย่างยิ่งหากมีผู้อ่านท่านอื่นใดอ่านเนื้อเรื่องแล้วนำมา วิเคราะห์ร่วมกัน

ชีวิตที่แตกสลาย ความมืด และชุดดำ : ความหมายของการดำรงอยู่

โครง เรื่องหลักของหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ คือการถามถึงความหมายในการดำรงอยู่ของชีวิต เหล่าตัวเอกของเรื่องคือพิชญ์ กัลปนา และเทียร์ได้ถามและตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงหน้าที่และความหมายในการดำรงอยู่ของ มนุษย์ ประโยคเปิดเรื่องที่ว่า “คนเราเกิดมาเพื่ออะไรกันนะ” นั้นย้อนส่งไปถึงการปิดเรื่องอย่างงดงาม

ปัญหา การดำรงอยู่ของชีวิตได้ก่อข้อถกเถียงมากมายในระดับอภิปรัชญามาเนิ่นนาน โดยเฉพาะสื่อวัยรุ่นกระแสหลักเมื่อเร็วๆนี้ได้หยิบยกประเด็นการดำรงอยู่(Existance of Life) มาตี ความและให้ความหมายใหม่หลายเรื่อง เช่น อนิเมที่ทำจากไลท์โนเวล ซึสึมิยะ ฮารุฮิ(ลิขสิทธิ์ไทย โดย บงกช) ชานะ นักรบเนตรอัคคี(ลิขสิทธิ์โดย เจไลท์บุ้ค) หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำข้ามปัญหาทางอภิปรัชญาดังกล่าวมาสู่คำตอบของการดำรงอยู่ อย่างง่ายเรียบแต่เฉียบคม ดังเหมือนผู้เขียนได้ครุ่นคิดและตกผลึกมาระดับหนึ่งแล้วมากกว่าจะเป็นเพียง การหยิบยกชุดคำตอบจากนักปรัชญาตามหนังสือรวมคำคมทั่วไปมายัดใส่ปากตัวละคร เพื่อเทศนาเท่านั้น

ภาวะ ที่พิชญ์คิดว่าตนเองเศร้าโศก หดหู่ และทนไม่ได้จนอยากจะฆ่าตัวตายให้พ้นๆไปจากความทุกข์ทรมานของการไร้ความหมาย ในการดำรงอยู่ เมื่อมองในสายตาของยมทูตผู้ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานอย่างกัลปนาก็เป็นเพียงแค่ ความโง่เง่าและเอาแต่ใจตัวเอง ในทางหนึ่งการทุ่มเทเอาใจใส่น้องชายบุญธรรมอย่างเกินพอดีของเทียร์ก็เป็นการ ตอบโจทย์เรื่องความหมายของการดำรงอยู่ของตัวเทียร์เอง เมื่อพิชญ์มีความเข้มแข็งและรู้ความหมายของการดำรงอยู่ เทียร์ก็กลับรู้สึกเหมือนที่ยินของการดำรงอยู่ของเธอพังทลายลงไปด้วย

ภาพ ที่สะท้อนออกมาจากเรื่องหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำจึงรู้สึกเหมือนภาพยนตร์ฟิล์ม นัวร์ บทบรรยายที่ไร้สีสันอื่นใดนอกจากสีขาวที่ไม่ขาวจัดแต่หม่นหมอง สีเทา และสีดำที่ไม่ดำสนิทเพียงจางลางเลือน สะท้อนถึงภาวะสับสนลังเลในการดำรงอยู่ของเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายในเรื่อง สีดำสนิทที่พาดผ่านเรื่องเล่าของฟ้าไร้ดาวล้วนแต่เป็นกิจกรรมของ “ผู้ใหญ่” ที่กระทำต่อเหล่าวัยรุ่นในเรื่อง ทั้งความเย็นชาของพีรติผู้เป็นพ่อ การกระทำตามกฎของพันธนายมทูตผู้ทรงอำนาจเหนือ จวบจนเรื่องราวและปมทั้งหมดดูเหมือนจะคลี่คลายในตอนสุดท้ายเท่านั้น แสงสว่างของสีสันในฟ้าหม่นจึงเหมือนจะเล็ดลอดออกมาให้เห็นได้ผ่านแววตาของ พิชญ์ ผู้รับรู้และเข้าใจความหมายในการดำรงอยู่ของตนเอง และเปิดรับตัวตนของผู้อื่นเข้ามาเยียวยาจิตใจทั้งของตนเองและของผู้นั้นไปพร้อมกัน เป็นคำตอบสำคัญของคำถามเรื่องการดำรงอยู่ทั้งหมดในเรื่องที่เปิดเผยมาเองตั้งแต่ต้น คือ “เพื่อใครสักคนที่ต้องการเราล่ะมั้ง”

ท้องฟ้าในฝ่ามือ : เมื่อเปลี่ยนมุมมองคือเปลี่ยนชีวิต

จุด ผกผันแนวคิดของพิชญ์เริ่มต้นเมื่อเขายกมือขึ้นทาบท้องฟ้า แล้วยมทูตสาวกัลปนาชี้ให้เห็นว่าแม้เราเอื้อมมือไม่ถึงท้องฟ้า แต่อากาศที่มือสัมผัสอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าเช่นกัน มุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมกระตุ้นให้คนเรารับรู้ในแนวทางที่แตกต่างซึ่งหยด น้ำตากลางฟ้าสีดำแสดงให้เราเห็นทั้งในด้านบวกและด้านลบ เรื่องราวของมุมมองและความสุขอาจสรุปทัศนคติของผู้เขียนรวมไว้ในนิทานซ้อน นิยายเรื่องท่านอ๋องผู้แสวงหาความสุขที่กัลปนาเล่าไว้ ผู้เขียนแสดงความเห็นว่าผู้ที่มีความทุกข์เท่านั้นจึงจะมองเห็นความสุข เพราะความสุขนั่นเองที่เป็นอีกด้านของความทุกข์ที่เราเผชิญมา การเปลี่ยนมุมมองง่ายๆจึงส่งผลต่อวิถีชีวิตและโชคชะตาของคนอย่างมากมาย

การ นำเสนอเรื่องราวในลักษณะนิทานซ้อนนิยายเพื่อสั่งสอนแนวคิดหรือสาธกโวหาร หากใช้ไม่ดีอาจจะกลายเป็นการนั่งธรรมาสน์เทศนาจนเป็นเหตุให้ผู้อ่านเบื่อ หน่ายได้ แต่ฟ้าไร้ดาวเล่าเรื่องผ่านปากของกัลปนาประหนึ่งว่าถ่ายทอดออกมาจากตัวผู้ เขียนเอง สำนวนที่เล่าใช้ภาษาเรียบง่ายเป็นกันเองเหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟังเจือ อารมณ์หงุดหงิดนิดหน่อยของตัวกัลปนา มุมมองที่คล้ายเป็นการสั่งสอนจึงลื่นไหลต่อเนื่องแม้จะชะงักบ้างบางช่วง เช่นตอนใกล้สรุปจบเรื่องที่หากมีกิริยาของผู้เล่าแทรกเสริมบ้างสักหน่อยจะดู มีชีวิตชีวามากกว่า

บ้าน : ปัญหาครอบครัวที่ส่งผลกระทบถึงจิตใจ

ตัว ละครหลักทุกตัวในเรื่องหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ ล้วนมีปมปัญหาทางใจเกี่ยวกับครอบครัวที่ไม่สมประกอบ พิชญ์ที่ขาดแม่ตั้งแต่เด็ก และพ่อก็ดูว่าจะไม่ใส่ใจเขาเลยแม้เขาจะพยายามทำดีสักเพียงใด เทียร์ที่ภายนอกดูเหมือนจะทดแทนความอบอุ่นให้พิชญ์ในฐานะพี่สาวบุญธรรม แต่ปมลึกในจิตใจของเธอต่างหากที่เรียกร้องให้เธอทำอย่างนั้นจนถึงขั้นเกิน กว่าที่พี่น้องปกติจะยอมทนได้ กัลปนาที่เนื้อเรื่องไม่เปิดเผยอะไรให้เราทราบมากนักจนใกล้จบจึงทราบว่า ปัญหาของเธอเมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ดูจะสาหัสสากรรจ์กว่าทั้งพิชญ์และเทียร์ หลายเท่า และสำคัญที่สุดคือพีรติผู้เป็นพ่อของพิชญ์และเทียร์เก็บกักเอาปมปัญหาส่วน ตัวมาลงกับครอบครัวจนทำให้ทั้งสองสะสมความเครียดเข้าสู่จิตสำนึก พิชญ์กลายเป็นคนหดหู่มองโลกในแง่ร้าย เทียร์กลายเป็นหญิงสาวแสนดีดุจนิยายที่จิตใจบิดเพี้ยนไป

บ้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดของหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ ครอบครัวเสมือนที่เกาะกันอย่างหลวมๆของตัวละครเอกมิได้สร้างความอบอุ่นและ ความสัมพันธ์อย่างที่ครอบครัวปกติสมควรเป็น โดยเฉพาะเมื่อเหล่าเด็กน้อยในบ้านเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นที่สภาพจิตใจอ่อนไหว ในความหมายของชีวิต เมื่อความอดทนสิ้นสุดก็จะระเบิดออกมาแบบที่พิชญ์พยายามกรีดข้อมือฆ่าตัวตาย ฟ้าไร้ดาวถ่ายทอดอาการย้ำคิดย้ำทำและความหดหู่ของพิชญ์ออกมาได้ถึงขั้นราว กับเคยคิดจะกระทำเช่นนั้นมาก่อน แต่เมื่อฟ้าไร้ดาวบรรยายความผิดหวังและอาการของเทียร์กลับดูไม่สมจริงนัก จนทำให้น้ำหนักอารมณ์ช่วงปลายเรื่องเบาลงไปมาก แต่การกลับมาสมานแผลใจของตัวละครท้ายเรื่องก็ดูสมจริงไม่กลายเป็นเรื่องดาดๆ ทั่วไปที่ปรับความเข้าใจกันแล้วครอบครัวก็อบอุ่นมีความสุข พีรติกับพิชญ์ยังรักษาระยะห่างต่อกันไว้ แต่เยื่อใยและกำแพงที่กั้นขวางระหว่างพวกเขาก็ดูบางลง เทียร์และพิชญ์เข้าใจกันและกันและพร้อมที่จะก้าวข้ามปมปัญหาที่เกิดจากมุม มองซึ่งเคยผิดเพี้ยนของพวกเขาไป บ้านกลับมาเป็นบ้านที่ดูน่าอยู่ ถึงจะไม่ใช่บ้านในฝันของนิทานเด็กก็ตาม



กัลปนา : ภาพเลือนลางของราตรี แฟนตาซีที่ขาดๆเกินๆ

มิ อาจปฏิเสธได้ว่ายมทูตสาวกัลปนาเป็นตัวละครที่เดินเรื่องให้ลื่นไหล ด้วยสายใยที่เชื่อมต่อกับแม่ของพระเอกและอดีตชาติของเธอ แต่ความลางเลือนของยมทูตในหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ ที่เหมือนจะมีบทบาทต่อเนื่องกันแต่กลับตัดฉากสับไปมาจนทำให้ผู้อ่านงุนงงได้ อีกทั้งตัวละครย่อยอย่างสัทธราและพันธนาที่กระจายบทให้เล็กน้อยเหมือนมีความ สำคัญแต่กลับตัดทิ้งไปในตอนที่สมควรจะต่อเนื่อง เช่นการเผยตัวของพันธนาครั้งแรก และการเข้ามาเตือนพิชญ์ของสัทธรา ส่งผลให้โครงเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่แล้วเพิ่มปมปัญหาที่ต้องแก้ไปอีก หลายชั้น และเมื่อคลี่คลายออกมาถือว่าฟ้าไร้ดาวทำได้ค่อนข้างดี แต่ความซับซ้อนยุ่งเหยิงนั้นอาจไม่จำเป็นนัก ด้วยหน้าที่แล้วกัลปนาจำต้องสังหารพิชญ์ แต่หากทำมิได้ก็สลายไป หรือลาจากกันไปก็ได้ไม่ต้องเพิ่มบทพันธนา

หรือ เรื่องทั้งหมดอาจเกิดขึ้นและจบลง โดยกัลปนาเป็นเพียงนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เข้ามาเปลี่ยนแนวคิดชีวิตของพิชญ์ ก็ได้ ความเป็นแฟนตาซีในเรื่องนี้จึงคล้ายว่าเป็นส่วนเกินที่ใส่เข้ามาในโครงเรื่อ งดราม่าดีๆสักเรื่องเท่านั้น หากฟ้าไร้ดาวเพิ่มฉากส่วนของเหล่ายมทูตอีกสักนิด หรือเปลี่ยนการตัดฉากไปมาเป็นภาพขยายเต็มตอนได้อาจจะเติมเต็มความจำเป็นของ แฟนตาซีของหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำได้ดีมากยิ่งขึ้น

ตุ๊กตาไขลาน : กวีขับขานผ่านทำนองนิยาย

ฟ้า ไร้ดาวเรียบเรียงหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำด้วยลีลาภาษาที่เว้นช่วงให้ผู้อ่านคิด ต่อ รวมถึงการเว้นบรรทัดค่อนข้างกว้างระหว่างย่อหน้า และใช้ย่อหน้าคั่นตอนมากมาย นอกจากนั้นยังนำเสนอกลอนเปล่าแสดงอารมณ์ภายในแนวจินตนิยม expressionism เพื่อ บอกเล่าอารมณ์ของตอนย่อย ตัวอักษรที่กลั่นออกมาเรียงร้อยล้วนแล้วแต่เรียงรายเป็นกลจักรฟันเฟืองใน ตุ๊กตาไขลานตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ” หาส่วนเติมยาก หากจะตัดก็ลำบากยิ่งกว่า ถือเป็นจุดแข็งของเรื่องอีกจุดหนึ่งที่หาได้ยากยิ่งในนิยายทั่วไป

แต่ จุดอ่อนของเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือการเขียนสะกดคำ ผู้วิจารณ์พบการสะกดคำผิดเป็นจำนวนมาก และยังสะกดผิดซ้ำกันบ่อยๆเช่น “ที่นี้” “สำผัส” “ทรมาณ” แต่ไม่เป็นปัญหานักหากเข้าสู่กระบวนการบรรณาธิกรณ์อย่างเต็มรูปแบบเนื่องจาก จะมีหน่วยตรวจทานและพิสูจน์อักษรช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามการสะกดคำให้ถูกนั้นเป็นขั้นแรกของผู้ใช้ภาษาศิลป์ ผู้วิจารณ์ขอร้องให้ฟ้าไร้ดาวทบทวนการสะกดคำของตนเองก่อนส่งนิยายขึ้นเผย แพร่ โดยการสอบทานกับพจนานุกรมหรือผู้รู้ทุกครั้ง เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางภาษาแก่ผู้เขียนเอง ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอีกทางหนึ่ง เพราะจะไม่เสียอรรถรสของการอ่านเรื่องราวที่งดงามนั้นเพียงเพราะการสะกดคำ ผิดพลาด

รอยยิ้มร่ากลางฟ้าไร้ดาว : ต้อนรับแสงสุกสกาวกลางฟากฟ้าวรรณกรรม
ฟ้า ไร้ดาวอาจเป็นคืนที่ฟ้าหมองหม่นด้วยเมฆฝนทะมึนทึบ แต่ก็อาจหมายถึงท้องฟ้าที่ดวงอาทิตย์ฉายสว่างกลางวันจนแสงดาวต้องหันหน้าหลบ แสงไม่กล้าแข่งฉายด้วยเช่นกัน หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำเป็นอีกหนึ่งในนิยายเรื่องงามที่สำเร็จลงจบสมบูรณ์ที่ กำเนิดจากไซเบอร์สเปซ ด้วยแนวทางโครงเรื่องและลีลาภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ฟ้าไร้ดาวมีศักยภาพในการพัฒนางานเขียนให้ก้าวหน้าต่อไป ประดุจแสงวับวาวของดาวดวงใหม่ที่กำลังเริ่มส่องฉายขึ้นกลางฟากฟ้าวรรณกรรม อีกดวงหนึ่ง ขออวยพรให้ฟ้าไร้ดาวและหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์ และหวังว่าจะสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมาอย่างสม่ำเสมอในอนาคต
     
 
ชื่อเรื่อง :  ทีนอส (รีไรต์ 2016)
ใครแต่ง : ชัยยา
26 ก.ค. 59
80 %
1131 Votes  
#4 REVIEW
 
เห็นด้วย
10
จาก 11 คน 
 
 
.ทีนอส : ฟ้าผ่ากลางคืนหนาว แฟนตาซีที่ก้าวไกลพอ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 20 มี.ค. 52
ซื้อ นิยายเรื่องนี้มาก็ค้างไว้ได้หลายเดือนตั้งแต่งานหนังสือเมื่อตุลาที่แล้ว ไม่ได้ลงมืออ่ารนเสียทีด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ นึกครึ้มอกครึ้มใจมาอ่านรวดเดียวจบก็ได้เวลาทำตามสัญญาที่ว่าจะเขียนวิจารณ์ กึ่งรีวิวผลงานชิ้นแรกของคุณแจกันสีฟ้า(หรือชัยยา)เสียที ก่อนที่จะถูกว่าที่”ท่าน” ฟ้องเอาด้วยข้อหาผิดสัญญาต่างตอบแทนไปก่อน

“ทีนอส” ชื่อเรื่องที่พาดหัวปกอาจทำให้คุณนึกถึงนิยายแฟนตาซีมาตรฐานตามสูตรที่จั่ว หัวเรื่องด้วยชื่อดินแดนหรือตำนานอะไร แต่ภาพปกสีน้ำเงินหม่นอมดำกับร่างจิ๋วที่ดูยังไงก็เป็นตัวร้ายแน่ๆอาจจะขู่ คนที่คิดจะซื้อให้ถอยห่างไปคิดก่อนสักสิบห้านาที ใช่ครับ นิยายเรื่องนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นนิยายแฟนตาซีมาตรฐานตามสูตรสำเร็จที่อ่าน จับจุดบางจุดก็รู้ตอนจบได้ แต่องค์ประกอบปลีกย่อยที่ก้าวออกมาพ้นขอบเขตของวรรณกรรมแฟนตาซีทั่วไปนั้น เป็นที่น่ายกย่องไม่น้อยเลย

เปิดประตู : ความหดหู่ของตัวละครสไตล์สตีเฟน คิง

คุณแจกันสีฟ้าเปิดเผยตัวเองอย่างเต็มที่ว่าเป็นสาวกของสตีเฟน คิง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ลักษณะการบรรยายชอง “ทีนอส” มาในแนวของสตีเฟน คิงแบบพากย์ไทยโดยสุวิทย์ ขาวปลอดเต็มที่ ทั้งการดำเนินเรื่องที่ฉับไวตัดต่อไปมาพร้อมจะทำเป็นภาพยนตร์ การบรรยายซากศพและความสยดสยองสุดฝีมือปลายปากกา ชนิดที่ว่าหากแปลเป็นภาษาอังกฤษได้คงไม่หนีจากถ้อยคำของคิงเองเสียเท่าไร ดังจะยกตัวอย่างเช่น “หนังศีรษะฉีกออกเป็นแผ่นพร้อมปอยผมชุ่มเลือด ไขสมองที่เคยอัดเป็นก้อนไหลเละออกมากองปนกับเศษเนื้อข้างนอก” (ทีนอส 27 : 21-22) ข้อดีของวิธีการนี้คือ “ทีนอส” สามารถ อ่านได้ไหลลื่นตลอดไม่สะดุดติดขัดส่วนใดนัก ทั้งยังดึงดูดและตรึงความคิดผู้อ่านที่นิยมชมชอบรูปแบบการเขียนนี้ได้อย่าง ยิ่งยวด แต่ข้อเสียที่เป็นเหมือนคมด้านที่สองของดาบคือเป็นการผลักไสผู้อ่านที่ไม่ ถูกจริตส่วนนี้ไปสุดขั้วอีกข้างเช่นเดียวกันกับงานของคิง
ตัว ละครที่โผล่พรวดเข้าสู่เนื้อเรื่องทันที่แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แล้วค่อยตัดฉากจากเหตุการณ์ในโลกแฟนตาซีกลับสู่โลกที่ตัวละครจากมา ฉายภาพผู้อยู่รอบข้างและผลกระทบอันเกิดจากการหายตัวไปของตัวละครเอกทั้งสาม นับว่าเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด เพราะไม่ต้องใช้บทสนทนาที่ยืดยาวเยิ่นเย้อยัดใส่ปากตัวละครให้เล่าออกมาจนคน อ่านเบื่อฟัง แต่จุดอ่อนของ “ทีนอส” เมื่อใช้วิธีนี้คือการทิ้งปมไว้ให้คนอ่านสงสัยโดยไม่ยอมไขออกในตอนจบ เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อของตี๋ หรือช่วงเวลาที่ควรแสดงขับเน้นความเป็นไปของฟากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างตอน ที่ภรรยาของชัยคลอดลูกที่น่าจะเอามาบรรยายเพื่อบีบคั้นหัวใจของผู้อ่านได้ ตามสไตล์คิงกลับหายไป
อย่าง ไรก็ตาม ตัวละครแต่ละตัวที่ข้ามไปสู่อาคิเดนจากโลกแห่งความเป็นจริงนั้นก็มีรากฐาน และที่มาสมจริงสมจังเสียจนทำให้ตัวละครที่ควรจะเด่นในโลกแฟนตาซีกลับไม่เด่น เท่าที่ควรเสียเลย

ป่าอาถรรพ์ : ความน่ากลัวที่แตกต่างและโดดเด่น

โลก แฟนตาซีที่มืดหม่นแบบดาร์คแฟนตาซีคือจุดเด่นที่แตกต่างไปจากนิยายแฟนตาซี เรื่องอื่นในท้องตลาด สำหรับคนที่หวังว่าจะมีเศวตนครหรือมหาอาณาจักรอันรุ่งเรืองและงดงามรอคอย หลังจากฝ่าฟันออกจากป่าอาถรรพ์และทะเลทรายสูบเลือด “ทีนอส” ไม่ มีให้ท่าน แม้ว่าหลายๆฉากของการผจญภัยจะชวนให้ประหวัดนึกถึงป่าโลกล้านปีและกองหินทะเล ทรายกับกระบองเพชรพิษก่อนจะขึ้นขุนเขาพระศิวะจากเพชรพระอุมา(ซึ่งก็เอามาจาก สมบัติพระศุลีอีกที)บ้าง แต่ก็ไม่เป็นจุดด้อยเพราะผู้เขียนสามารถสร้างความแตกต่างผ่านการใช้ภาษาที่ มีลักษณะเฉพาะได้ น่าเสียดายอยู่หน่อยหนึ่งที่ความ น่ากลัวและการบีบคั้นทางจิตใจจากมหันตภัยในป่าและทะเลทรายนั้นสั้นกว่าที่ คาดไว้ หากเหยาะเพิ่มมนตร์ดำจากตัวร้ายอีกนิด สัตว์ประหลาดอีกหน่อย หรือแม้แต่ขยายความเรื่องต้นไม้มีชีวิตและมีจิตมุ่งร้ายเข้าไปอีกสักหนึ่ง หน้า ความสยองขวัญที่จะเกาะกุมจิตใจของผู้อ่านคงจะทำให้หลายๆคนสะพรึงจนเก็บเอาไป ฝันให้สะดุ้งตื่นด้วยความตกใจไปอีกหลายคืน

อาคิเดน : นครสีขาวในอาภรณ์หม่นเศร้าสีเทาตุ่น

แดนศักดิ์สิทธิ์อาคิเดนและการรบกับกองกำลังผีดิบของ “ทีนอส” ดูจืดจางลงเมื่อสารพัดเรื่องราวภายในใจของตัวละครรุมเร้าจากทุกทาง ผู้เขียนเล่าเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวให้รายละเอียดและมีปมเตรียมจะขยาย ได้ชนิดว่าถ้าจะเขียนเป็นเรื่องยาวยี่สิบสี่เล่มจบสองภาคก็น่าจะทำได้ แต่ความเป็นแฟนตาซีกับเรื่องราวพื้นหลังที่ปูให้อาคิเดนดูไม่แน่นหนักและ สร้างอารมณ์ร่วมได้มากพอ อาจเป็นเพราะการเรียงลำดับเนื้อความแต่ละบท เช่นการยกทัพไปสกัดปีศาจในบทต้นๆทำให้ภารกิจที่ดูหนักหนาไม่เด่น ส่วนบทที่สิบสี่ทั้งบทที่อุทิศให้ภาพอดีตก่อนการล่มสลายของโลกอันรุ่งเรือง ดูอยู่ผิดที่ผิดทางประหลาดๆ หากจะสลับเอาการท้ารบหน้าประตูสลับกับบทย้อนอดีตน่าจะทำให้เรื่องลื่นไหลและ สร้างอารมณ์ร่วมได้ดีขึ้น เมื่อรวมกับปรัชญาที่คล้ายกับว่าผู้เขียนต้องการจะถ่ายทอดบางอย่างแต่ขยัก ไว้ไม่ตกผลึกถึงที่สุดแล้ว เงาของโลกแฟนตาซีใน “ทีนอส” จึงเลือนรางกลายเป็นภาพลวงตาบนผืนทะเลทรายที่ชัดเจนเป็นช่วงๆและเมื่อจะจับ คว้าก็สลายเป็นไอแดด อย่างไรก็ดีการคลี่คลายเนื้อเรื่องช่วงหลังเป็นไปอย่างราบรื่นและสมเหตุสมผล การเปิดเผยคำทำนายและเนื้อเรื่องหลังจากนั้นกระชับฉับไวทันใจไม่เสียเวลา พรรณนาอะไรให้ยืดยาดและสรุปผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละคนได้ดีเยี่ยม

สงคราม ณ หอบังคับการบิน : เมื่อหวังสูง พยายามสูง ผลลัพธ์ย่อมสูงส่ง

การ ต่อสู้ครั้งสุดท้ายระหว่างชาวอาคิเดนกับทีนอสเป็นจุดที่ควรยกย่องอย่างยิ่ง ผู้อ่านจะไม่พลาดจุดเล็กน้อยในความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละฝ่าย ผู้เขียนสามารถเกลี่ยบทตัวละครแต่ละตัวได้เท่าเทียมโดยไม่เสียอรรถรสของฉาก ต่อสู้เลย ฉากดรามาของพ่อลูกและสหายร่วมรบนอกกำแพงนคร ตัดสลับกับเหตุการณ์แก้ปริศนาและการต่อสู้กับทีนอสบนหอบังคับการบินปิดฉากลง อย่างงดงามชนิดหักมุมเหนือความคาดหมายของผู้อ่านทั่วไปได้ ความสมจริงอื่นๆที่ปูพื้นมาตั้งแต่เริ่มเรื่องส่งผลให้บทบาทตัวละครหลังจาก นั้นเป็นไปตามแนวทางของนิยายแฟนตาซีชั้นดีจนหาข้อตำหนิได้ยาก

ฟ้าผ่า คืนหนาว กลับบ้าน : บทสรุปที่เป็นเหมือนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ
(ไม่ควรอ่านหากท่านต้องการความตื่นเต้นในตอนจบ)

บทจบของทีนอสอาจเข้าตำรา “ลางเนื้อชอบลางยา” ใครที่ชอบนิยายหักมุมตามสไตล์ของคิงอาจจะโปรดปรานแนวทางนำเสนอแบบนี้ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่น่าจะเหนือความคาดหมายเท่าใด แต่การแต่งเติมอะไรหลายๆอย่างเพื่อบีบคั้นจิตใจตัวเอกในตอนจบแบบ The Mist อาจทำให้หลายคนหงุดหงิดและพาลไม่ชอบนิยายทั้งเรื่องได้เลย

ทีนอส : แฟนตาซีไทยเริ่มก้าวไกล แร่เหล็กน้ำพี้ที่รอการตีเป็นศาสตรา

แม้ว่า “ทีนอส” อาจจะมีส่วนขาดตกบกพร่องไปบ้างในเชิงโครงสร้าง คือวางปมใหญ่และตัวละครตัวกลมไว้มากเกินกว่าจะไขปริศนาได้หมด แต่ด้านภาษานั้นแทบเรียกได้ว่าไม่มีที่ติ การพิสูจน์อักษรผิดซ้ำที่เดิมหลายครั้งเช่น “มโหราฬ” “พิศดาร” ไม่ได้เป็นอุปสรรคแก่การอ่านมากมายจนต้องตำหนิ การเรียงประโยคเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน พรรณนาโวหารละเอียดชัดเจนสรรคำได้เหมาะสม ปริศนาไม่ยาก ไม่ง่าย ชวนให้คิดตามและคาดคะเนเนื้อเรื่องไปด้วยได้ ทำให้อ่านรวดเดียวจนจบได้โดยไม่เบื่อปิดเล่มหนังสือลงไปเสียก่อน
นับได้ว่า “ทีนอส” เป็นนิยายแฟนตาซีชั้นดีอีกเรื่องหนึ่งที่แม้ว่าจะไม่ถึงกับพลิกวงการ แต่ก็ควรค่าแก่การนำมาอ่าน หากผู้เขียนเติมความลึกลงอีกชั้น เลือกประเด็นจะนำเสนอแนวคิดให้ชัดเจนและตัดทิ้งส่วนที่เกินความจำเป็นออกไป ได้เหมือนดั่งการหลอมแร่เหล็กให้ขึ้นรูปแล้ว ผลงานเรื่องต่อไปของ “ชัยยา” ย่อมควรค่าแก่การรอคอยยิ่งกว่าเดิม

     
 
20 ส.ค. 57
100 %
2 Votes  
#5 REVIEW
 
เห็นด้วย
9
จาก 10 คน 
 
 
ของประชาเพื่อประชาแล้ ประดิษฐ์ล้วนชวนเกษม

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ธ.ค. 54
๏ ศิลา หลักรัฐเพี้ยง..........แผ่นฉาย
แห่ง ปรัชญาขยาย............ยั่วรู้
คำ จารึกบรรยาย..............ยลแยบ
สัญญา แต่งแผลงอยู่คู่.......ส่องให้เห็นตาม๚

๏ ประวัติศาสตร์ปราศเลือดไซร้.....ไป่มี
ล้วนประกอบผู้พลี.......................ชีพสิ้น
โลกมิอาจยินดี...........................โลหิต
จึงสำนวนโดดดิ้น........................เด่นได้ดำเนิน๚

๏ นิยายใดกำหนดถ้อย................ทวนแสดง
วินิจปรัชญาแฝง.........................ฝากนั้น
นิยายเพื่อผู้หวังแสวง...................เสมอภาค
เสรีภาพทุกชนชั้น.......................ฉาบไว้บูชา๚

๏ อำนวยพิริยะได้......................สมบูรณ์
สถิตสว่างควรเทิดทูน..................เที่ยงแท้
ประกาศแจ้งแห่งไอศูรย์..............ประชาราษฎร์
ของประชาเพื่อประชาแล้............ประดิษฐ์ล้วนชวนเกษม๚
     
 
ใครแต่ง : PenKun
11 มี.ค. 60
80 %
10 Votes  
#6 REVIEW
 
เห็นด้วย
8
จาก 9 คน 
 
 
สนุกแม้จะยังไม่สมบูรณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 21 มี.ค. 54
บันทึกของราชาปีศาจ : รูปแบบการเล่าที่สนุกสนาน

คู่มือการเป็นราชาปีศาจฉบับ(ที่เขาว่ามาว่ามัน) สมบูรณ์ ซึ่งต่อไปจะเรียกสั้นๆว่า คู่มือฯ เล่าเรื่องโดยการเปลี่ยนมุมมองเรื่องแนวแฟนตาซีทั่วไปจากมุมมองของผู้กล้าซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายดี(Protagonist) มาเป็นมุมมองของราชาปีศาจหรือเป็นตัวร้าย(Antagonist) การเล่าเรื่องมุมกลับดังกล่าวเป็นที่นิยมมากขึ้นในนิยาย/อนิเมชันญี่ปุ่นร่วมสมัยเมื่อไม่นานมานี้ เช่น "ผมนั่นหรือคือราชาปีศาจ : Kyoukara Maoh" (ลิขสิทธิ์โดยบงกช) หรือ "จอมมารหลังห้อง : Ichiban Uchirou no Daimaou" (ลิขสิทธิ์โดย Dexpress) เป็นต้น โดย Penguin Lord ผู้เขียน ใช้รูปแบบการเล่าผ่านตัวละครอาเชอร์ ทีล เดอะ เกรต เดมอน คิง จอมปีศาจรุ่นที่สิบสองสมมติว่าเขียนลงในบันทึกที่จะส่งต่อให้จอมปีศาจรุ่นต่อไป ลักษณะการเล่าดังกล่าวเป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมสูง เนื่องจากทำให้ผู้อ่านรู้สึกเข้าไปมีบทบาทร่วมกับตัวละครเอกเอง หรือเหมือนได้รับฟังคำพูด การสนทนา กับตัวเอกคล้ายคลึงกับการเล่นเกมสวมบทมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First Person RPG) ตัวอย่างของนิยายที่ใช้การเล่ารูปแบบนี้ซึ่งกำลังติดตลาดคืองานของ Yu Wo นักเขียนชาวไต้หวัน หรืองานแนวเกมออนไลน์ต่างๆ แต่ penguin Lord ผู้เขียน ได้สอดแทรกเนื้อหาด้านลึกลงไปมากกว่านิยายไต้หวันซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เอาแนวคิดมาแทรกลงไปได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวละครขึ้นธรรมาสน์เทศนาให้ผู้อ่านฟัง

ราชาปีศาจชาวไร่ : ความฝันของสามัญชน

อาเชอร์ ทีล ผู้จับพลัดจับผลูได้ครองบัลลังก์ราชาปีศาจเริ่มต้นจากการเป็นชาวไร่หัวผักกาดธรรมดาในหมู่บ้านเล็กๆ กลางทุ่ง ทำให้คิดถึงกษัตริย์ไกลส์แห่งแฮมจากเรื่อง "กษัตริย์ชาวไร่" ของ J.R.R. Tolkien และเมื่อเรื่องถึงจุดจบ เขาก็ขอพรจากเทพธิดาอีกทีหนึ่งให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนดิน (หน้า 207:19-20) ซึ่งทำให้นึกถึงพรของแซม แกมจี ที่เขาร้องขอต่อเลดี้กาลาดริเอลหลังจากออกจากป่าลอธลอริเอนใน Lord of the Ring ความฝันในรูปแบบสามัญชนคนชาวไร่ของอาเชอร์ สะท้อนถึงพื้นฐานความคิดธรรมดาๆ ของเขาอย่างต่อเนื่อง อาเชอร์มองปัญหาอย่างไม่ซับซ้อน ไม่วางแผนหลายขั้นตอน ปฏิเสธความรับผิดชอบที่ใหญ่เกินตัว และไหลไปตามโชคชะตาคอยฉวยคว้าเหตุการณ์ที่คนอื่นหยิบยื่นให้ บางครั้งก็ทำได้แค่รับฟังคำสั่งและคำเสนอแนะของเหล่าเสนาอำมาตย์ที่รายล้อม แต่ความเป็นสามัญชนของเขาก็ทำให้วิกฤตการณ์ต่างๆคลี่คลายลงด้วยการประนีประนอมยอมความ ทำตามโดยไม่อิดออด ซึ่งหากเป็นราชาปีศาจผู้วางแผนซับซ้อนทะเยอทะยาน ผลลัพธ์ทั้งหมดนั้นคงเลวร้ายยิ่งกว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าอาเชอร์เป็นคนโง่เขลา ที่จริงแล้วเขาเองเป็นผู้ที่เห็นใจและเข้าใจคนรอบข้างอยู่เสมอ ด้วยมุมมองของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ติดกับพื้นดิน มิใช่ผู้เกิดมาในฐานันดรสูงส่งพร้อมกับหน้าที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่แรก อาเชอร์คิดถึงความเหนื่อยยากของลูกสมุนปีศาจที่ต้องออกไปให้ผู้กล้าสังหาร นึกถึงเสนาอำมาตย์ต้องต้องคอยคิดแผนให้ราชาปีศาจมายาวนานเป็นพันๆ ปี (หน้า 254-255) แล้วจึงตัดสินใจให้เรื่องราวเป็นไปอย่างสามัญตามแบบแผนที่เคยเป็นมา

สมาคมของในตำนาน : การเล่าประวัติศาสตร์, การสร้างตำนาน, และการบิดเบือนความจริง

ปกติการเล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่สามแบบพระเจ้า หรือเล่าเรื่องแบบพงศาวดาร จะอ้างอิงบันทึก ตำนาน ประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกเอาไว้เหมือนกับว่าเป็นความจริงเที่ยงแท้ไม่อาจละเมิดได้ หรือหลายเรื่องก็จะกล่าวถึงความผิดเพี้ยนและการทับซ้อนของเรื่องเล่าต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน ในเรื่องคู่มือฯ นี้ ใช้วิธีการทำให้ตลกขบขันเป็นวิธีอธิบายข้อสงสัยในการสร้างตำนานและประวัติศาสตร์ เนื่องจากบันทึกคู่มือฯ นี้อ้างการเล่าผ่านสายตาของราชาปีศาจอาเชอร์ เขาจึงเปรียบเทียบข้อเท็จจริงซึ่งประสบมา กับตำนานที่ถูกเขียนขึ้นในภายหลังด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ เช่น "จากนั้นข้าก็ถูกบันทึกว่าเป็นราชาปีศาจองค์แรกที่เจ้าหญิงยอมรับอย่างเต็มใจ" (หน้า 33:16) ซึ่งความจริงแล้วเจ้าหญิงอลิเซียต่างหากที่บุกมาบีบบังคับให้อาเชอร์จับนางเป็นตัวประกัน หรือเรื่องที่เกี่ยวกับภัยพิบัติภูตวารีในทะเลเบอร์ราล "เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสิบภัยพิบัติแดนปีศาจที่น่ากลัวที่สุด แต่สำหรับมนุษย์เป็นเพียงแผนร้ายของราชาปีศาจ" (หน้า 196:8)
กรณีการบิดเบือนความทรงจำตัวเองของราชาปีศาจองค์ที่สาม มาริส ก็เป็นจุดหนึ่งที่พึงระวัง ผู้เขียนแสดงความไม่แน่นอนในความทรงคำส่วนบุคคลว่าอาจบิดเบือนไปได้เมื่อไม่ต้องการจดจำความผิดหรือเรื่องที่เจ็บปวด จนอาจก่อเหตุร้ายแรงขึ้นเพื่อลบล้างความทรงจำแห่งความผิดให้เข้าข้างตัวเอง หรือแม้กระทั่งความยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามชั่วรุ่นต่างๆ จนหลงลืมความผิดพลาดในครั้งอดีตและคิดจะละเมิดคำสั่งของปฐมราชินี คู่มือฯ ได้ชี้มุมมองที่ทำให้เราต้องทบทวนความคิดที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และความทรงจำในอดีต การตั้งข้อสงสัยดังกล่าวนั้นควรคิดต่อเนื่องว่า ไม่เพียงแค่ในตำนาน ประวัติศาสตร์ในนิยายเท่านั้นที่ถูกบิดเบือน แท้จริงแล้วเรื่องราวที่เราเรียนและจดจำกันอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงย่อมถูกบิดเบือนไปตามปลายปากกาของผู้นิพนธ์ประวัติศาสตร์ การยกเอาเรื่องแต่งซึ่งถูกบิดเบือนมาสร้างความขัดแย้งเข้าห้ำหั่นทำลายชีวิตทรัพย์สินนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ

เจ้าหญิงสายเลือดแม่มดและคำถามจากเจ้ามังกร : เจตจำนงอิสระและการตัดสินคุณค่าสรรพสิ่งที่ถูกกำหนดมา

ตัวละครสำคัญหนึ่งในเรื่องคู่มือฯ ที่ขับเคลื่อนให้เรื่องก้าวต่อไป คือเจ้าหญิงอลิเซียแห่งโรซาลินด์ นางเอก(?) ผู้ทะยานออกจากปราสาทมาสู่แผ่นดินปีศาจ เพื่อสร้างโอกาสให้ท่านพี่ผู้กล้านิรนามได้เดินทางมาสังหารราชาปีศาจ บทของเจ้าหญิงโรซาลินด์นั้นดูเป็นผู้มีเจตจำนงอิสระที่จะไขว่คว้าอนาคตของตัวเองโดยไม่ยอมรับการหมั้นและการแต่งงานที่ราชวงศ์กำหนด แม้กระทั่งผู้กล้าหลายร้อยลำดับที่อยู่ในรายชื่อก่อนหน้าท่านพี่ผู้กล้า อลิเซียก็ได้หาทางกำจัดออกไป รวมถึงการวางแผนจัดการผู้ร่วมเดินทางของผู้กล้าตามขั้นตอนต่างๆ อย่างไรก็ตาม การกระทำของอลิเซียนั้นเข้าทางแผนของอเล็กซิส ราชาปีศาจองค์ก่อน ซึ่งก็วิ่งวนอยู่ในแผนการของสัตยาบันระหว่างมนุษย์กับปีศาจทั้งสิ้น เหมือนซุนหงอคงที่วิ่งไปจนสุดขอบจักรวาลแล้วพบว่าตัวเองวิ่งวนอยู่บนพระหัตถ์ขององค์ยูไล แต่เมื่อสุดท้ายผลลัพธ์ของอลิเซียออกมาเป็นที่พอใจ คือได้สมรสกับผู้กล้า มีคนเห็นความสำคัญเป็นดวงดาวของตน การดิ้นรนที่แม้จะอยู่ในแผนการของคนอื่นก็คงไม่ใช่สิ่งไร้ค่า
เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดเปิดเผยขึ้นว่าเป็นแผนของราชาปีศาจองค์ก่อน อเล็กซิส ที่ต้องการจะลบล้างสัตยาบันดั้งเดิมของปฐมราชาปีศาจและปฐมราชินี เพื่อเปิดศึกกับมนุษย์ที่เขาคิดว่าโหดร้าย ทำลายธรรมชาติและไว้ใจไม่ได้ อาเชอร์ จึงตอบคำถาม "มนุษย์มีคุณค่ามากเพียงไรที่จะให้ปีศาจต้องเสียสละ" ที่อเล็กซิสเคยถามในครั้งแรกที่พบกันว่า "มีด้วยหรือไง คนที่สามารถตัดสินคุณค่าของคนอื่น" (หน้า 246:13) คำตอบของอาเชอร์ดูจะเป็นอุดมคติ แต่ก็ชวนให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมิอาจตัดสินคุณค่าได้โดยง่าย และยิ่งถ้าการตัดสินนั้นจะไปกระทบกระเทือนต่อชีวิตคนอื่นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ก็ยิ่งไม่ควรตัดสินคุณค่านั้นมากขึ้น ปัญหานี้ถูกขับเน้นซ้ำในกรณีของหุ่นตุ๊กตากลอย่างลูเช่ ที่ถูกปิดผนึกไว้เพราะใช้งานไม่ได้และเป็นอันตรายเกินไป แต่อาเชอร์กลับนำออกมาใช้ได้ และเรื่องของนครที่ต้องล่มสลายลงเมื่อพระราชาตีค่าเทวรูปทองคำไว้มากกว่าธิดาของตน

ผู้กล้ากับราชาปีศาจ : ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลของหน้าที่

ประโยคเปิดเรื่อง "เพราะมีราชาปีศาจจึงมีผู้กล้า หรือเพราะมีผู้กล้าจึงได้มีราชาปีศาจ" (หน้า 7:1) เป็นประโยคที่ชี้ประเด็นหลักของเรื่องคู่มือฯ นี้ ผู้เขียนพยายามตั้งคำถามว่าเหตุใดโลกจึงเป็นไปในแบบที่มันเป็น และการกำหนดหน้าที่ให้ทุกคนสวมบทบาทนั้นถูกต้องอย่างไร แต่ผู้เขียนก็ให้คำตอบแบบค่อนข้างกำปั้นทุบดินว่า การทำหน้าที่ที่ถูกกำหนดมาจากเจตจำนงที่สูงส่งกว่าเพื่อผลประโยชน์อันสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งสมควร ผู้ที่ล่วงละเมิดการปฏิบัติตามกฎและหน้าที่จะต้องถูกลงโทษ เช่น การก่อกบฏต่อต้านสัตยาบันของราชาเสือดำ ก็จะถูกสายฟ้าผ่าทุกรุ่น ส่วนการสร้างจักรกลสงครามคันเดย์ซีของศาสนจักร ก็ถูกเวทมนตร์ของปฐมราชินีโรซาลินด์ลงโทษ (หน้า 258) ราชาปีศาจรุ่นที่สาม มาริสที่ล่วงละเมิดสัตยาบันก็พบจุดจบอันทรมาน ส่วนราชาปีศาจอเล็กซิสที่กังขาในข้อบังคับและพยายามแก้ไขกฎของสัตยาบันก็ต้องประสบความล้มเหลว
แม้ว่าจะมีการปูเหตุผลของการทำลายล้างโลก แม่มดผู้อ่านดวงดาว และสัญญาระหว่างปฐมราชาปีศาจกับปฐมราชินีโรซาลินด์ ผู้วิจารณ์ก็อดจะคิดไม่ได้ว่า เผ่าปีศาจถูกเอาเปรียบจากมนุษย์โดยสัตยาบันนี้ ในเมื่อมนุษย์นั้นมาจากเอสเทล ดาวอีกดวงที่ตัวเองได้ทำลายลงกับมือ มาขอพึ่งพิงอาศัยบนแอสทรายังไม่พอ ยังเข้ารบและทำลายล้างเผ่าปีศาจที่รักสันติ แล้วจู่ๆ เมื่อเผ่าปีศาจมีปฐมราชาซึ่งสามารถสู้รบตบมือและทำลายมนุษย์คืนได้ กลับมาขอคืนดีสร้างสัตยาบันไม่รุกรานกันเสียดื้อๆ ถ้าลบฉากแฟนตาซีออก แล้วคิดว่า ประเทศหนึ่งมีผู้อพยพเข้ามาอยู่แล้วตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นครองอำนาจไล่ฆ่าประชาชนผู้อาศัยเดิม ต่อมาเมื่อชนเผ่าเดิมในประเทศมีผู้นำเข้มแข็ง จะก่อปฏิวัติล้มล้างชนชั้นปกครองที่อพยพเข้ามา แต่กลุ่มคนอพยพกลับมาขอคืนดีและตั้งสัญญาที่ผูกพันไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยฝ่ายชนเผ่าเดิมต้องเสียปัจจัย ทรัพยากร หรือแม้แต่ชีวิตในการต่อสัญญาแต่ละครั้ง โดยบังคับให้ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นก็จะมีโทษตาย ฟังดูแล้วไม่ค่อยจะเป็นธรรมสักเท่าไรนักหรือไม่? คู่มือฯ นั้นยกประเด็นปัญหาขึ้นมาเพื่อเริ่มได้ดี แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป ประเด็นอื่นๆที่เข้ามาแทรกซ้อนกลับบิดเบนปมเรื่องในเบื้องแรกให้กลายเป็นกรอบระเบียบธรรมดาๆ ไม่แตกต่างจากการที่ผู้ใหญ่สั่งเด็กว่า "อย่าทำ" เพราะมัน "อันตราย" ในสายตาผู้ใหญ่ คำถามที่ว่า "เพราะมีราชาปีศาจจึงมีผู้กล้า หรือเพราะมีผู้กล้าจึงได้มีราชาปีศาจ" จึงถูกตอบง่ายๆ ว่า "ก็เพราะสัญญากันไว้เช่นนั้น" เหมือนจะสร้างความคิดกบฏแล้วกล่อมเกลาให้สยบยอมต่อแบบแผนดั้งเดิม แกนเรื่องหลักจึงดูขัดแย้งกันในตัวเองอยู่ไม่น้อย

(เขาว่ามาว่ามัน)สมบูรณ์ : สนุกแต่ยังไม่สมบูรณ์

ด้วยความประณีตในภาษาที่สอดแทรกเข้ามาในหลายช่วง อาจประเมินได้ว่าผู้เขียนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องที่สามารถปรับวิธีเล่าให้เข้ากับรูปแบบและบรรยากาศที่ต้องการได้อย่างชาญฉลาดทั้งในมุมมองพล่ามพ่นโวยวายของตัวละครเอก และการถ่ายทอดฉากเหตุการณ์ที่งดงามจนบางครั้งดูจะเกินความสามารถของราชาปีศาจผู้บันทึกไป ผู้เขียนได้ผสมผสานเอาองค์ประกอบที่เคยมีคนเขียนมาแล้วหลายประเด็นให้ออกมาอ่านสนุกอย่างน่ามหัศจรรย์ ผู้วิจารณ์เองใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงอ่านจบรวดเดียวไม่มีพัก ซึ่งนานแล้วที่ไม่มีนิยายแฟนตาซีไทยเรื่องไหนทำได้อย่างนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เล่าในคู่มือฯ นั้นแตกย่อยหลากหลาย บางครั้งกลบแก่นใหญ่ใจความที่ต้องการสื่อ รวมถึงความไม่แน่นอนในการนำเสนอปมปัญหาที่ขัดแย้งกันในตัวเอง จึงทำให้คู่มือฯ มีจุดบกพร่องจนยังไม่สมบูรณ์ในบางส่วน รวมถึงบทส่งท้ายของบทส่งท้าย และบทแทรก บทแทรกของบทแทรก ที่เติมเข้ามาในตอนจบซึ่งล้นเกินในเรื่องที่อาจผสานรวมเข้าไปในเนื้อเรื่องได้เลย เช่น การเล่าย้อนไปถึงยุคบรรพกาลในการฝังวงเวทอาคมลงสัตยาบัน ทำให้รู้สึกเหมือนกินอาหารชุดใหญ่แล้วกลับมีของหวานแถมปิดท้ายหลายจานจนกินไม่หมด ผู้วิจารณ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้อ่านผลงานเล่มต่อไปของ Penguin Lord ที่รวบยอดความคิดได้ลงตัวสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอเขาว่ามาว่ามันสมบูรณ์อีกต่อไป
     
 
28 ก.พ. 54
80 %
4 Votes  
#7 REVIEW
 
เห็นด้วย
7
จาก 7 คน 
 
 
เขียนต่ออย่ารู้แล้ง ค่าน้ำคำนิยาย

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 11 ธ.ค. 53
๏ มงกุฏแก่นโลกหล้า...........เรืองพิภพ
อักขระประดับครบ................เปรียบแก้ว
ปัญญาเล่ห์ร้อยสยบ............ทะเลหมึก
ระบัดระบายเรื่องราวแพร้ว...แต่งให้มกุฏฉาย๚

๏ ปรัชญาประยุกต์ถ้อย.........เสนอสนอง
โลกวินิจชวนตริตรอง............แต่งแต้ม
ศาสตร์การทูตปกครอง.........เล่าสนุก
ยิ้มยั่วหัวเราะแย้ม.................ยากให้ง่ายเห็น๚

๏ ลักษณ์ลายนิยายเร่งเร้า....สนุกสนาน
จังหวะจับใจจาร..................จดจ้อง
ดุจถ่ายถอดวิญญาณ...........ละครเล่น
เสียงอักษรสอดคล้อง..........ร่ายร้องทำนองเพลง๚

๏ จำเริญวิริยะสร้าง.............ประดิษฐ์สรรค์
สถิตส่องไว้วงวรรณ............วิจิตรแจ้ง
จรุงเสน่ห์นับเนืองอนันต์......นักอ่าน
เขียนต่ออย่ารู้แล้ง...............ค่าน้ำคำนิยาย๚ะ๛
     
 
หน้าที่ 1