ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คู่มือภาคสนาม ป่าหิมพานต์ - พฤกษศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #7 : ผลไม้ทองคำ ดรุณวัฒนา ผลาหารต่างๆ และวิธีการปลูก

    • อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 66


    ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไป
    พฤกษาหลายชนิดซึ่งมีผลเป็นอาหาร เมื่อได้รับแร่ธาตุอุดมไปด้วยคุณฤทธิ์จากดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ ของแดนหิมพานต์ เข้ากระตุ้นอยู่นานปี ต้นไม้เหล่านั้นจะแผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โตดุจภูเขา และให้ผลสีดุจทองคำ มีลักษณะอ้วนกลม ขนาดใหญ่ประมาณหม้อดิน เป็นอาทิ

     

    สถานที่ตั้ง

    ในธรรมชาติของแดนหิมพานต์ ต้นไม้หิมพานต์มักเจริญเติบโตอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำสายใหญ่ จึงทำให้ต้นไม้เหล่านี้แผ่กิ่งก้านสาขากว้างไกลดุจร่มไทร และมีสัณฐานใหญ่โตดุจยอดเขา กิ่งก้านสาขาออกดอกและผลของต้นไม้เหล่านี้จะแผ่ไปทั่วทุกสารทิศ เมื่อผลอันเกิด ณ กิ่งที่อยู่ทางทิศเหนือแม่น้ำสุกและร่วงจากต้น ผลไม้สุกเหล่านั้นจะตกลงในกระแสน้ำแล้ว ผลไม้ส่วนมากจะจมน้ำหายไป บางส่วนถูกเหล่าดาบส เหล่าพรานไพร เหล่าสัตว์ป่า เหล่านก เหล่าสัตว์น้ำ และปลาใหญ่ทั้งหลายเก็บไปบ้าง บางส่วนก็ไปคล้องติดอยู่ตามริมฝั่งบ้าง แต่จะมีผลไม้ส่วนน้อยนักที่ถูกกระแสน้ำพัดพาจากแดนหิมพานต์ซึ่งเป็นแดนต้นน้ำเข้าสู่แดนมนุษย์ซึ่งเป็นแดนปลายน้ำ

    เมื่อผลไม้สุกตกลงในกระแสน้ำแล้ว ผลบางส่วนซึ่งไปคล้องติดอยู่ตามริมฝั่งจะมีโอกาสเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ต้นเดี่ยวอยู่ตามริมฝั่งที่ผลไม้เหล่านั้นลอยไปติดอยู่ได้มากที่สุด ส่วนกรณีที่ถูกเก็บได้ ผลไม้เหล่านั้นอาจมีโอกาสรอดหรือไม่รอดก็ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

     

    ตัวอย่างผลไม้หิมพานต์ที่ค้นพบ

    ๑.สุวรรณัมพา

    สุวรรณัมพา (สุวรรณ+อัมพา) คือ ชื่ออย่างไม่เป็นทางการของมะม่วงสายพันธุ์หิมพานต์ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ผลมีลักษณะกลม ผลๆ หนึ่งมีขนาดประมาณหม้อดิน มีสีดุจทองคำ และมีการกล่าวถึงตามบันทึกโบราณมากที่สุดชนิดหนึ่ง

    โยทั่วไปแล้ว ต้นมะม่วงทองคำนี้พบเห็นในแดนหิมพานต์ได้ไม่บ่อยนัก มักขึ้นตามริมแม่น้ำเพียงต้นเดียวกระจัดกระจายไปตามจุดต่างๆ ในแดนหิมพานต์ ซึ่งแต่ละต้นจะมีขนาดใหญ่โตราวยอดเขา แต่ก็ยังมีสถานที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสวนป่ามะม่วงทองคำอยู่ เท่าที่ข้าพเจ้ารวบรวมได้นั้น มีดังนี้

    ๑. ริมฝั่งแม่น้ำโกสิกิ

    ๒. ริมฝั่งสระกัณณมุณฑะ*

    ๓. ริมฝั่งสระรถการะ*

    ๔. ระหว่างภูเขาชั้นที่ ๗

    ๕. เกาะบางแห่งกลางมหาสมุทร

    (*) ทั้ง ๒ สระนี้ เป็น ๒ ใน ๗ สระใหญ่ แห่งหิมพานต์

     

    ทั้ง ๕ สถานที่นี้ คาดว่า เป็นแหล่งกำเนิดของต้นมะม่วงทองคำจากทั่วทั้งหิมพานต์ ส่วนการกำเนิดของต้นมะม่วงทองคำนี้ ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดกันว่ามีอยู่ ๒ สาเหตุ คือ

    ๑.เกิดจากอำนาจกสิณของผู้มีฤทธื์เข้ากระตุ้นสังเคราะห์ธาตุจนกลายพันธุ์

    ๒.เกิดจากอำนาจส่วนบุญฤทธิ์บารมีของเหล่าเวมานิกเปรตบางจำพวกที่ได้มาจุติริมสระใหญ่ในแดนหิมพานต์เข้าร่วมกระตุ้นสังเคราะห์ธาตุจนจนกลายพันธุ์

    อำนาจบุญฤทธิ์ของเวมานิกเปรตเหล่านั้นได้สร้างสวนป่ามะม่วงทองคำขนาดใหญ่ ล้อมรอบวิมานของเวมานิกเปรต โดยมีเวมานิกเปรตผู้มาจุติ ณ สถานที่นั้นเป็นเจ้าของสวน และสาเหตุที่ต้นมะม่วงทองคำได้แพร่กระจายออกจากสวนป่ามะม่วงของเหล่าเวมานิกเปรตนี้นอกจากการที่ผลมะม่วงสุกถูกกระแสน้ำพัดพาไปตามธรรมชาติแล้ว ยังมีอีกกรณีหนึ่ง หากเวมานิกเปรตเจ้าของสวนมะม่วงเป็นผู้หญิง คือ

    นางเวมานิกเปรตกับเหล่าทาสีผู้รับใช้ของนาง จะคอยเก็บผลมะม่วงสุกทั้งหลายโยนลงในแม่น้ำเพื่อลวงให้บุรุษผู้มีความโลภหลงติดในรสของผลมะม่วงทองคำออกเดินทางมาหาพวกตนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมะม่วงทองคำเหล่านั้น

    อำนาจบุญฤทธิ์ของเหล่าเวมานิกเปรตสามารถทำให้ต้นไม้หลายชนิดกลายพันธุ์ได้ เวมานิกเปรตบางตนจึงมีสวนผลไม้หลากชนิดเป็นขอบเขต ทว่า ผลมะม่วงทองคำ คือสิ่งเดียวที่พวกนางใช้เป็นอุบายได้

     

    อนึ่ง ในระหว่างภูเขาชั้นที่ ๗ ยังมีถ้ำทองแห่งหนึ่งซึ่งภายในมีต้นมะม่วงทองคำอยู่ต้นหนึ่ง ทว่าต้นมะม่วงทองคำนี้ เป็นเครื่องบริโภคของท้าวเวสวัณมหาราช เรียกว่า มะม่วงอัพภันตระ แปลว่า มะม่วงภายในถ้ำ (อัพภันตระ-ภายใน)

    มะม่วงอัพภันตระนี้ ใครๆ ก็ไม่อาจเข้าใกล้ได้ เพราะตลอดทั้งต้นถูกล้อมด้วยตาข่ายเหล็กถึง ๗ ชั้น ตั้งแต่โคนรากถึงปลายยอด และมีเหล่ารากษสจำนวนนับพันคอยรักษาอยู่ หากสัมผัสถูกตาข่ายเหล็กชั้นใดชั้นหนึ่ง ตาข่ายเหล็กจะกระทบกันเสียงดังกริ๊กๆ ผู้ที่หมู่รากษสเหล่านั้นพบตัว จะไม่มีชีวิตรอด

    ๒.หว้า

    ผลของต้นหว้าหิมพานต์นี้ก็มีลักษณะเด่นคล้ายคลึงกับมะม่วงทองคำ คือ ผลมีลักษณะกลม ผลๆ หนึ่งมีขนาดประมาณหม้อดิน มีสีคล้ายทองคำเช่นกัน และมีการกล่าวถึงตามบันทึกโบราณมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง

    ผลหว้านี้ นับว่าหาได้ยากยิ่ง เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของแดนหิมพานต์ซึ่งเป็นดินแดนลึกลับปกคลุมด้วยม่านหมอกอยู่ตลอดเวลา ณ ทิศเหนือสุดนั้นเป็นผืนป่าต้นหว้าทองขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ริม ๒ ฝั่งแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า สีทา ซึ่งมีความยาวเชื่อมต่อกับมหาสมุทรสีทัรดร (สีทนฺตรา/สีทนฺตเร) โดยมีต้นหว้าขนาดใหญ่ เรียกว่า มหาชมพู ตั้งอยู่กลางแม่น้ำสีทาระหว่างช่องเขาของภูเขาทองทางตอนเหนือสุดของขุนเขาหิมวันตะและเป็นศูนย์กลางของป่าต้นหว้าแห่งนั้น

    ต้นหว้าใหญ่นี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ทว่าความสำคัญของต้นมหาชมพูกลับไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่า รากของต้นมหาชมพูคอยทำหน้าที่รองรับผืนแผ่นดินของแดนหิมพานต์และยึดโยงเชื่อมต่อภพภูมิ (มิติ) อื่นๆ เพราะต้นมหาชมพูนี้คือ ๑ ใน ๗ มหาพฤกษาประจำจักรวาลซึ่งจะตั้งอยู่ตลอดอายุกัปของจักวาลนี้ และจะตายพร้อมวาระสุดท้ายของจักวาลนี้เท่านั้น

     

    มหาพฤกษาทั้ง ๗ ได้แก่

    ๑. ปาตลี - ต้นแคฝอย ประจำพิภพอสูร

    ๒. สิมฺพลี - ต้นงิ้ว ประจำพิภพครุฑ

    ๓. ชมฺพู - ต้นหว้า ประจำชมพูทวีป (ทิศใต้ของขุนเขาสิเนรุราช)

    ๔. เทวานํ ปาริฉตฺตโก - ต้นปาริชาติ ประจำพิภพเทวดา

    ๕. กทมฺโพ - ต้นกระทุ่ม ประจำอมรโคยานทวีป (ทิศตะวันตกของขุนเขาสิเนรุราช)

    ๖. กปฺปรุกฺโข - ต้นกัลปพฤกษ์ ประจำอุตตรกุรุทวีป (ทิศเหนือของขุนเขาสิเนรุราช)

    ๗. สิรีเสน - ต้นซึก ประจำปุพพวิเทหทวีป (ทิศตะวันออกของขุนเขาสิเนรุราช)

    มหาพฤกษาทั้ง๗ นี้มีขนาดเท่ากันทุกต้น

     

    ขนาดของต้นหว้ามหาชมพู (โดยประมาณ)

    ต้นหว้ามหาชมพูนี้มีความสูง ๑๐๐ โยชน์ มีกิ่งหลักทั้งหมด ๔ กิ่ง แผ่ไปในทิศทั้ง ๔ แต่ละกิ่งยาว ๕๐ โยชน์ เส้นรอบวงลำต้นกลม ๑๕ โยชน์

    เนื่องจากต้นมหาชมพูตั้งอยู่ ณ กึ่งกลางแม่น้ำใหญ่ สีทา จึงทำให้ดินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสีทาทั้ง ๒ ด้านซึมซับน้ำจากแม่น้ำสีทาเข้าไปด้วย ซึ่งน้ำในแม่น้ำสีทานี้ เป็นน้ำมวลละเอียดเช่นเดียวกับน้ำในมหาสมุทรสีทันดร ดังนั้นเมื่อผลหว้าขนาดประมาณหม้อดินล่วงลงจากต้น ตกลงไปยัง ๒ ฝั่งของแม่น้ำนั้น ส่วนหนึ่งจะจมลงในน้ำทันทีและถูกกระแสน้ำพัดออกมหาสมุทรสีทันดรไป บางส่วนจะตกลงผืนดินแต่ผลเหล่านั้นก็จะจมลงในดินในทันทีเช่นกัน เพราะผิวดินบริเวณนั้นอุ้มน้ำจากแม่น้ำสีทาเอาไว้มาก เมื่อจมลงในดินได้ระดับหนึ่งแล้ว ผลเหล่านั้นจะเจริญขึ้นเป็นหน่ออ่อนสีทองคำบริสุทธิ์ แม่น้ำสีทาทางทิศเหนือจึงมีอีกชื่อคือ ชมพูนุท ซึ่งเหล่าวิทยาธรอธิบายว่ามาจากคำว่า ชมฺพูนท [ชมฺพู+นที] แปลว่า แม่น้ำต้นหว้า และเรียกหน่ออ่อนของต้นหว้าทองคำนี้ว่า ชมพูนุท เช่นกันเพราะเกิดอยู่ริมแม่น้ำต้นหว้า

    ผลหว้าทองคำจึงไม่มีโอกาสไหลลงมายังแดนมนุษย์ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแดนหิมพานต์ได้เลย เพราะน้ำในมหาสมุทรสีทันดรนั้นละเอียดมาก แม้ที่สุดแห่งปุยนุ่น รึที่สุดเพียงแววหางนกยูงที่โยนลงไปก็ไม่อาจลอยอยู่ได้ ย่อมจมลงเพียงอย่างเดียว

    ต้นมหาชมพูนี้ บ้างก็เรียกว่า นคะ ซึ่งแผลงมาจากคำว่า นค ที่แปลว่า ภูเขา เพราะต้นหว้ายักษ์นี้มีลักษณะใหญ่โตดุจภูเขา

     

    รูปลักษณ์รสชาติ

    ผลไม้ทองคำทุกชนิด สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่นและรส ความหวานอันเป็นทิพย์ซึ่งไม่เคยปรากฏในการบริโภคสิ่งใดมาก่อนจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้บริโภคผลไม้เหล่านี้

     

    ขั้นตอนและวิธีบริโภค

    ขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้นั้นๆ แต่หลักๆ สามารถแบ่งวิธีและวิธีได้ดังนี้

    บางชนิดปิ้งไฟก่อนแล้วจึงกิน

    บางชนิดได้กินทั้งดิบๆ

    บางชนิดใช้ฟันแทะกิน

    บางชนิดตำด้วยครกก่อนแล้วจึงกิน

    บางชนิดทุบด้วยหินแล้วจึงกิน

    บางชนิดต้องรอจนผลไม้สุกหล่นลงมาเองแล้วจึงเก็บมากิน

     

    ผลข้างเคียงจากการบริโภค

    แม้ว่า ผลไม้หิมพานต์จะมีรสล้ำเลิศ ทว่าก็มีข้อเสียอยู่เล็กน้อยซึ่งส่งผลโดยตรงกับผู้มีสภาพจิตใจอ่อนไหวง่ายและเด็กอ่อนวัยอายุไม่ถึง ๗ ปี คือ ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหลงติดในรสชาติจนกลายเป็นอาการเสพย์ติด ผู้เสพย์ติดรสของผลไม้เหล่านั้นจะไม่ยอมแตะต้องอาหารอื่นใด และหากยังไม่ยอมรับอาหารชนิดอื่นเกิน ๗ วัน ผู้นั้นอาจตายเพราะการอดอาหาร เว้นแต่ว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี

    กรณีตัวอย่างจากความตายจากเสพย์ติดผลาหารจากแดนหิมพานต์
    ในอดีตกาล กุฏุมพีผู้หนึ่งชื่อว่า สุชาตะ อาศัยในพระนครพาราณสี เห็นฤาษี ๕๐๐ ผู้มาจากแดนหิมพานต์ เพื่อต้องการฉันของรสเค็มและเปรี้ยว จึงนิมนต์ฤาษีเหล่านั้นให้อยู่ในสวนของตนบำรุงอย่างดีภายในเรือนกุฏุมพีนั้น และได้จัดภิกษา ๕๐๐ ไว้เป็นนิตย์

    แต่ดาบสเหล่านั้นบางคราวก็ไปเที่ยวภิกษาตามชนบทต่างๆ และฉันชิ้นลูกหว้าใหญ่ซึ่งพวกตนนำจากแดนหิมพานต์แทน เวลาที่ดาบสเหล่านั้นไม่พักอยู่ในสวน สุชาตะคิดว่า

    พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่มาที่สวนของตน ๓-๔ วันจนถึงวันนี้ พวกท่านไปไหนหนอ?

    วันหนึ่ง ขณะที่เหล่าฤๅษีพักอยู่ในสวน เขาจึงให้บุตรจับนิ้วมือของตน จูงไปสู่สำนักของดาบสเหล่านั้นในเวลาที่พวกท่านกำลังฉันอยู่ ขณะนั้น ดาบสที่เป็นนวกะ (ผู้บวชใหม่) ที่สุดกำลังให้น้ำบ้วนปากแก่ดาบสผู้ใหญ่ทั้งหลาย แล้วฉันชิ้นลูกหว้าอยู่ สุชาตะไหว้เหล่าดาบสแล้วนั่งถามว่า

    พระผู้เป็นเจ้าฉันอะไร?

    เหล่าดาบสตอบว่า

    ดูก่อนท่านอาวุโส เราฉันชิ้นลูกหว้าใหญ่

    กุมารได้ยินดังนั้นเกิดความอยากขึ้น ท่านเจ้าคณะฤๅษีจึงสั่งให้นำชิ้นลูกหว้าใหญ่ให้กุมารนั้นส่วนหนึ่ง เขากินชิ้นชมพู่นั้นแล้ว ติดอยู่ในรส รบเร้าขอบิดาอยู่บ่อยๆ ว่า

    พ่อจงให้ชิ้นลูกหว้าแก่ลูกบ้าง พ่อจงให้ชิ้นลูกหว้าแก่ลูกบ้าง

    ขณะนั้น กุฏุมพีกำลังฟังธรรมจากเหล่าฤๅาีอยู่ จึงพูดลวงบุตรว่า

    อย่าร้องไปเลยลูก เจ้ากลับบ้านแล้วจักได้กิน

    ทว่า เมื่อถูกบุตรรบเร้าบ่อยๆ เข้า สุชาตะจึงคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักรำคาญ เพราะบุตรของเรา จึงพาบุตรของตนกลับไปปลอบที่บ้านของตน

    ตั้งแต่ไปถึงบ้านแล้ว บุตรของเขาก็รบเร้าว่า

    พ่อจงให้ชิ้นลูกหว้าแก่ลูกบ้าง
    ขณะนั้นเหล่าฤาษีปรึกษากันว่า พวกเราอยู่ในที่นี้มานานแล้ว จึงพากันกลับสู่แดนหิมพานต์ไปโดยที่สุชาตะไม่ทันได้บอกลา

    ครั้น สุชาตะกลับมาที่สวนก็ไม่พบเหล่าฤาษีในอาราม จึงกลับสู่บ้านและนำชิ้นผลไม้ต่างๆ ที่ตนมีมาคลุกด้วยน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดมอบให้บุตรของตนกิน แต่ชิ้นผลไม้เหล่านั้นเมื่อถูกปลายลิ้นของบุตรเขา ก็ปรากฏเหมือนยาพิษที่ร้ายแรงจึงไม่ยอมกิน กุมารนั้นอดอาหารอยู่ ๗ วัน ก็สิ้นชีวิตไป

     

    วิธีการแก้ไข

    ก่อนอื่น คงต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ได้ลองลิ้มชิ้มเหล่าผลาหารทองคำจากแดนหิมวันต์ไปแล้วก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการเสพย์ติดผลไม้ทองคำเหล่านี้ไม่มีวิธีรักษาเยียวยาที่เด็ดขาด จึงมักทำให้ผู้ที่ได้ชิมรสแม้เพียงครั้งเดียวอาจถึงแก่ความตายได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องบริโภคแต่ผลไม้เหล่านั้นไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต แต่การรับประทานแต่พอดีก็ยังเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะละเลยไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

    โดยเฉลี่ยแล้ว หากเป็นการบริโภคเพียงเพื่อประทังชีวิตและดับความกระวนกระวาย ผลไม้ทองคำ ๑ ผลก็สามารถเก็บไว้บริโภคได้หลายวัน

    (สัตว์หิมพานต์ส่วนมากล้วนมัวเมาด้วยทิพยรสของผลไม้เหล่านี้โดยเฉพาะพวกนก ตามป่าผลไม้เหล่านี้จึงอุดมไปด้วยสัตว์กินพืชนานาชนิด จนเกิดเป็นระบบนิเวศน์เฉพาะ เมื่อบรรดาสัตว์กินพืชเสพย์ติดผลไม้ทองคำจนไม่ยอมจากไปไหน บรรดาสัตว์กินเนื้อก็จะสัตว์ที่มากินผลไม้ทองคำอีกทีหนึ่ง เป็นวงจรหมุนเวียนกัไปเรื่อยๆ พวกสัตว์หิมพานต์จึงไม่จำเป็นต้องข้ามมาหาอาหารที่แดนมนุษย์แต่อย่างใด)

    นอกจากต้นไม้ทั้ง ๒ ชนิดที่กล่าวมานี้ ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่มีผลขนาดใหญ่พอๆ กับหม้อดิน เช่น ต้นขนุน ต้นรกฟ้า ฯลฯ

     

    วิธีการปลูกเหล่าพฤกษาผลาหารหิมพานต์ในแดนมนุษย์ให้ได้ผล
    วิธีการนำเมล็ดพันธุ์ของเหล่าพฤกษาในแดนหิมพานต์กลับสู่แดนมนุษย์อย่างถูกต้อง มีอยู่หลักๆ ๒ วิธีด้วยกัน

    ๑. เมล็ดพันธุ์นั้นติดมากับผลไม้ซึ่งลอยมาตามน้ำ

    ๒. ผู้มีฤทธิ์ หรือ อมนุษย์จากแดนหิมพานต์เป็นผู้ส่งมอบให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม (รวมถึงอุบายที่นางเวมานิกเปรตนิยมใช้)

    ด้วยว่าเหล่าพฤกษาในแดนหิมพานต์ ค่อนข้างบอบบางต่อสภาพดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ ในโลกมนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยชินกับการดูดซับแร่ธาตุอันละเอียดในแดนหิมพานต์มาตลอด เมื่อถูกนำมาปลูกในแดนมนุษย์ การเตรียมดินและน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากดินและน้ำไม่เหมาะสม เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะสลายหายไปกับอากาศธาตุเช่นเดียวกันดินจากหิมพานต์ที่ถูกนำกลับมาอย่างผิดวิธี จึงขอแนะนำวิธีเตรียมดินและน้ำ ดังนี้

    ดินที่ใช้แรกเริ่มนั้น อาจเป็นดินธรรมดาที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุตามธรรมชาติ แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ลงเพาะแล้ว ต้องใช้น้ำนมสดรดแทนน้ำเท่านั้น เมื่อครบ ๓ ปีต้นไม้นั้นจะเจริญเติบโตงอกงาม อุดมไปด้วยดอกและผลตามฤดูกาล (ซึ่งหากเพาะปลูกอย่างถูกวิธี ต้นไม้เหล่านี้จะเติบโตเร็วมาก) เมื่อต้นไม้อายุได้ราว ๓ ปี (สังเกตได้จาการที่ต้นไม้เริ่มออกผล) ให้เริ่มลูบไล้ชโลมตามลำต้นด้วยของหอม ๕ ชนิด ห้อยพวงมาลัย จุดประทีปด้วยน้ำมันหอม และต้องไม่ลืมวงผ้าม่านกั้นบริเวณรอบๆ ต้นไม้นั้นด้วยเพื่อป้องกันคนนอกรู้ความลับเรื่องขั้นตอนและวิธีดูแลรักษาต้นไม้เหล่านี้ หากทำเช่นนี้ได้ตลอดโดยไม่บกพร่องตลอดช่วงอายุขัยของต้นไม้นั้น (ซึ่งหากดูแลอย่างดีโดยตลอดต้นไม้เหล่านี้จะมีอายุเกินร้อยปี) ต้นไม้นั้นจะให้ผลทองคำมีรสหวานอันเป็นทิพย์ไม่ผิดแปลกไปจากผลไม้ในแดนหิมพานต์เลยแม้แต่น้อย

    ข้อควรระวังในการดูแลรักษา

    เนื่องจากเหล่าพฤกษาในแดนหิมพานต์ ค่อนข้างบอบบางต่อสภาพดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ ในโลกมนุษย์เป็นอย่างมาก การดูดซึมสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ลำต้น จะทำให้ผลไม้นั้นเสียหายทั้งสรรพคุณและรสชาติในทันที เช่น หากมีต้นไม้ปราศจากรสอย่างสะเดาและเถาบอระเพ็ดซึ่งเป็นไม้รสขมเติบโตล้อมต้นพฤกษา ต้นพฤกษานี้จะดูดกลืนต้นไม้เหล่านั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน และเมื่อรากต่อรากพันกัน กิ่งต่อกิ่งประสานทับกัน ผลไม้ทองคำที่เคยหวานมาก่อน จะกลายเป็นรสขมไป

    เมื่อผลไม้ทองคำกลายเป็นรสขมไปแล้ว สามารถแก้ไขได้โดยการตัดต้นและถอนรากสะเดากับเถาบอระเพ็ดเหล่านั้นทิ้งให้หมด รวมถึงขนดินที่เสียรสไปทิ้ง ใส่แต่ดินมีรสดี ให้บำรุงต้นพฤกษาด้วยน้ำนมสด น้ำตาลกรวด และน้ำหอม เพราะเมื่อดูดซึมรสดีเข้าไป ผลไม้จะกลับเป็นรสหวานได้อย่างเดิม (วิธีการคล้ายคลึงกับเทคนิคการปลูก"พุทรานมสด")

     

    อนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว มะม่วงทองนั้นเคยถูกใช้เป็นกุศโลบายในการปกครองมาก่อน เล่ากันว่า หลังจากพระเจ้าทธิวาหนะได้ปราบดาภิเษกอดีตกษัตริย์แห่งพาราณสีและขึ้นครองราชย์แล้ว วันหนึ่งพระองค์พบมะม่วงทองผลหนึ่งลอยมาติดข่ายขณะลงเล่นน้ำในลำธารจึงนำกลับมาปลูกในเขตราชอุทยานกระทั่งครบ ๓ ปี ต้นมะม่วงนั้นก็ให้ผลตามกาล พระองค์จึงได้คิดแจกจ่ายผลมะม่วงทองให้แก่กษัตริย์นครต่างๆ เสวย แต่ก่อนที่จะแจกไปนั้น พระองค์ได้ใช้เงี่ยงกระเบนแทนหน่อในผลมะม่วงเหล่านั้นจนหมดเพื่อไม่ให้นำไปเพาะต่อได้

    ครั้นกษัตริย์ทั้งหลายได้เสวยมะม่วงทองก็เกิดการเสพย์ติดรสของมะม่วงทองทันที ทว่าก็ไม่อาจเพาะพันธุ์ไว้เสวยเองได้ ดังนั้น พระเจ้าทธิวาหนะจึงเป็นผู้มีอำนาจผูกขาดการผลิตและส่งออกมะม่วงทองอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทั้งยังสามารถควบคุมกลไกการส่งออกได้อย่างอิสระอีกด้วย และด้วยผลพวงจากการส่งออกยังทำให้แคว้นพาราณสีใต้การปกครองของพระเจ้าทธิวาหนะกลายเป็นมหาอำนาจไปโดยปริยาย!!!

    หากมีนครใดคิดคดกระด้างกระเดื่องไม่น่าวางใจ ก็จะถูกระงับการส่งออกผลมะม่วงทองทันที นอกจากนี้พระองค์ยังใช้ผลมะม่วงทองเป็นรางวัลล่อใจให้เหล่ากษัตริย์ร่วมทำสงครามและกิจกรรมต่างๆ ได้โดยง่ายอีกด้วย

    เหตุที่พระเจ้าทธิวาหนะต้องใช้ผลมะม่วงทองเป็นกุศโลบายในการปกครองนั้น ก็เนื่องมาจาก เดิมทีพระองค์เป็นเพียงชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดาในแคว้นพาราณสีมาก่อน ไม่มีสายเลือดกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย ดังนั้น เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ บรรดากษัตริย์จากนครต่างๆ จึงเพ่งเล็งและพยายามหาโอกาสล้มล้างเข้ายึดครอง พระเจ้าทธิวาหนะจึงจำต้องรักษาความมั่นคงของอำนาจไว้ให้ได้ ดังนั้นพระองค์จึงได้เลือกใช้ผลมะม่วงทองเข้ามาถ่วงดุลย์อำนาจไว้นั่นเอง

     

     

    อนึ่ง ไม้ผลที่พบว่า สามารถพัฒนาจนสามารถให้ ผลดรุณวัฒนา ได้มากที่สุด คือ ต้นมะม่วงทองคำ ผลมะม่วงที่ได้จึงมีชื่อเรียกว่า ผลมะม่วงดรุณวัฒนา ตามไปด้วย ส่วน ผลหว้าดรุณวัฒนา และผลดรุณวัฒนาชนิดอื่นๆ มีให้พบเห็นเพียงประปรายเท่านั้น

     

    สรรพคุณพิเศษของผลไม้ทองคำ

    ต้นไม้ที่ให้ผลเป็นทองคำบางต้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยปัจจัยในการเติบโต จะสามารถพัฒนาขึ้นจนสามารถให้ผลไม้ที่มีสรรพคุณด้านการย้อนวัยในระดับสูงด้วย บางต้นใช้เวลาไม่กี่ปี แต่บางต้นใช้เวลานับร้อยปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง ต้นไม้เหล่านี้จึงพบเจอได้ยากมากๆ

    เมื่อบริโภคผลไม้ในกลุ่มนี้เพียงคำแรก ความเสื่อมของร่างกาย เช่น ผิวพรรณอันหย่อนยานจะกลับเต่งตึงเปล่งปลั่ง เส้นผมอันหงอกขาวและศีรษะที่ล้านโล่งจะกลับดกดำ ฟันที่เคยหักแม้หมดปากก็จะกลับงอกขึ้นมาเรียงตัวใหม่ ดวงตาที่ฝ้าฟางจะกลับสดใส กำลังวังชาทั้งหลายจะฟื้นคืนบริบูรณ์ สังขารร่างกายของผู้บริโภคจะกลับมาอยู่ในช่วงที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด (โดยทั่วไปก็คือการกลับสู่วัยหนุ่มสาวอายุราว ๒๐ ปี อีกครั้ง)

    หากผู้บริโภคยังอยู่ในช่วงสมบูรณ์พร้อมวัยหนุ่มสาวอยู่แล้ว เพียงคำแรกที่ชิม ผิวพรรณจะผุดผ่องเปล่งปลั่งสดใส

    ดังนั้น ผลไม้ทองคำชนิดใดที่มีสรรพคุณในการย้อนวัยตามที่กล่าวมานี้ จึงเรียกกันว่า "ผลดรุณวัฒนา" (คาดว่าผลดรุณวัฒนาจะไม่ออกฤทธิ์ให้เสพย์ติดอีกแล้ว คล้ายสภาวะที่พิษกลายเป็นยา)

    อนึ่ง ผลดรุณวัฒนานี้เหล่าวิทยาธรระบุว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุดในผลมะม่วงทองคำและผลแอปเปิลทองคำ บ้างก็เรียกผลดรุณวัฒนาว่า ผลไม้ทองคำแห่งเยาวภาพ

     

    กลุ่มพืชจิปาถะ

    อ้อย

    ต้นอ้อยในแดนหิมพานต์ มีขนาดใหญ่ลำต้นเท่าต้นหมาก อ้อยแต่ข้อนั้ันมีลักษณะเป็นโพรงคล้ายลำไผ่ ทว่าในโพรงข้ออ้อยนั้นมีน้ำอ้อยรสหวานบรรจุอยู่เต็มทุกข้อ ลักษณะคล้ายกระปุกที่บรรจุน้ำจนเต็ม

     

    เหล่าวิทยาธรชำนาญการพิเศษได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยฤทธิ์โอสถความเป็นยาของเหล่าดรุณวัฒนานี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตผิดธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อสัตว์ใดตอบสนองต่อฤทธิ์ของผลดรุณวัฒนาที่กินเข้าไปก็จะสามารถกลับมามีร่างกายแข็งแรงและอายุขัยยืนยาวจนสามารถเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ แต่สัตว์เพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ทว่าพวกสัตว์ไร้กระดูกอย่างแมลงกลับตอบสนองต่อฤทธิ์ของผลดรุณวัฒนาได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นกินผลอย่างตรงๆ รึการรับสรรพคุณมาทางอ้อมผ่านการกินสัตว์ที่ได้กินผลดรุณวัฒนามาอีกที โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์หลายเท้า (พหุปาท) ที่ลอกคราบตลอดชีวิตในทุกๆ ครั้งเมื่อร่างกายโตขึ้น ครั้นได้รับฤทธิ์ของผลดรุณวัฒนาเข้าไป สัตว์เหล่านี้ก็จะลอกคราบและเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ โดยไม่จำกัด (แต่มักอดตายเองเนื่องจากหาอาหารได้ไม่เพียงพอต่อขนาดของร่างกาย) และแมลงหล่านี้ยังสามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตามปรกติ ส่วนไข่ที่เกิดจากแมลงใหญ่เหล่านี้จะมีขนาดใหญ่ผิดธรรมชาติ (ซึ่งสัมพันธ์กับขนาดร่างกายของตัวแม่ที่วางไข่) ตามไปด้วย ส่วนตัวอ่อนที่ฟักจากไข่เหล่านี้และอยู่รอดมาได้ก็กลายเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่มีร่างกายใหญ่โตตามธรรมชาติ (จากการเกิด) ของแดนหิมพานต์ไปโดยปริยายนั่นเอง ฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×