ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คู่มือภาคสนาม ป่าหิมพานต์ - พฤกษศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #5 : ต้นยาสี่วิสุทธ

    • อัปเดตล่าสุด 6 พ.ย. 64


      ณ ภูเขาลูกแห่งหนึ่งในแนวขุนเขาจูฬกาฬ  บริเวณยอดเขานี้มีพื้นผิวค่อนข้างราบเรียบและนุ่มฟู ยืดหยุ่นดุจพื้นหนังกลองที่ขึงไว้จนตึง ลานกว้างแห่งนี้ เหล่าวิทยาธรชาวหิมพานต์เรียกกันว่า "ภูเขาสรรพยา" เป็นแหล่งอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรนานาชนิด(แต่ก็ยังนับว่าน้อยกว่าภูเขาคันธมาทน์) 


     

      เหล่าวิทยาธรเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีทหารเอกกายขาวผ่องผู้มากฤทธิ์มาตามหาสมุนไพรที่ภูเขาแห่งนี้ ทว่าสมุนไพรนั้นหลบหนีไปซ่อนตัวบริเวณยอดเขาบ้าง เชิงเขาบ้าง กลับไปกลับมาจนไม่อาจนำสมุนไพรกลับไปได้ ด้วยความที่เป็นภารกิจเร่งด่วน ทหารเอกผู้นั้นจึงจำต้องใช้ฤทธิ์ของตนไล่ต้อนเหล่าต้นยาไปจนถึงยอดขเขาลูกนี้ จึงสามารถจับสมุนไพรที่ต้องการกลับไปให้โหราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในกองทัพประกอบยาตามต้องการ  ฯ


     

     เมื่อได้สอบถามเหล่าวิทยาธรถึงสมุนไพรที่ทหารผู้นั้นมาตามหา เหล่าวิทยาธรจึงชี้แจงว่า สมุนไพรนั้น มีด้วยกัน ๔ ชนิด เรียกว่า "ต้นยาสี่วิสุทธ" ได้แก่


     

    ๑. ต้นยาวิศัลยกรณี


     

    ต้นยานี้ มีสีแดงคล้ายหัวผักกาดแดง หากถูกสิ่งแปลกปลอมรึศาตราวุธใดๆปักตรึงฝังตัวอยู่ในบริเวณปากแผลโดยไม่สามารถนำออกจากร่างกายได้(รวมถึงอาวุธวิเศษที่ไม่อาจหลุดออกได้ด้วยวิธีการทั่วไป) ต้นยาวิศัลยกรณีนี้มีคุณสมบัติในการถอดถอนขับดันสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกจากบาดแผลได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใดๆ รวมถึงพิษชนิดต่างๆที่ตกค้างแทรกซึมอยู่ภายในร่างกายก็สามารถขับออกได้อย่างไร้ปัญหา ฯ


     

    ๒. ต้นยามฤตสัญชีวนี


     

    ต้นยานี้ มีสีเขียวเข้มจนออกดำ มีสรรพคุณล้ำเสิศยิ่ง สามารถทำให้ผู้ซึ่งปราศจากชีวิตแล้วกลับฟื้นขึ้นได้ รวมถึงเหล่าผู้ตกอยู่ในสภาวะจำศีลระดับลึก จากการถูกคำสาป ฯลฯ ซึ่งผู้ตกอยู่ในอาการเหล่านี้ สามารถอยู่ในอาการหลับลึกได้นานหลายปีโดยไม่ต้องกินอาหารและน้ำ ทั้งยังมีการหายใจที่แผ่วเบามากและหัวใจก็เต้นช้ามากจนไม่อาจตรวจหาสัญญาณชีพได้ ผู้ตกอยู่ในอาการเหล่านี้สามารถใช้สมุนไพรชนิดนี้รักษาอาการได้เช่นกัน ฯ


     

    ๓. ต้นยาสันธยาณี(สนธิ+ยาน)


     

    ต้นยานี้ มีสีเหลืองเข้มอย่างเนื้อขมิ้น มีสรรพคุณในการประสานเยียวยาเชื่อมต่อบาดแผลต่างๆให้ปิดสนิท ไม่ว่าจะเป็นแผลเล็ก แผลใหญ่ แผลลึก แผลตื้น ต้นยาชนิดนี้ สามารถเชื่อมต่อบาดแผลที่ฉีกขาดเหล่านั้นได้ทั้งสิ้น ฯ


     

    ๔.ต้นยาสวรรณกรณี


     

    ต้นยานี้ มีสีขาวผ่อง มีคุณสมบัติด้านการบำรุงผิวพรรณให้แช่มชื่นเปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล สามารถลบทั้งริ้วรอยและร่อยรอยของแผลเป็นตามร่างกายได้ชะงัดนัก ฯ

    ต้นยาสวรรณกรณี มีอีกชื่อหนึ่งว่า "สังกรณี" ซึ่งแปลว่า สมุนไพรที่ทำให้(ผิว)ราบเรียบเสมอกัน ฯ


     

      ต้นยาทั้ง๔ นี้จัดอยู่ในตระกูล โสมมนุษย์(โสมคน) เมื่อถูกร้องเรียกจะส่งเสียงขานรับเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ ต้นยาทั้ง ๔ นี้ยังสามารถเคลื่อนไหวใต้ผิวดินได้อย่างอิสระไม่ต่างจากการดำผุดดำว่ายใต้ผืนน้ำ ดังนั้น เมื่อมีผู้ออกค้นหาร้องเรียกและเดินตามเสียงขานรับของเหล่าสมุนไพรไปจนพบตัวแล้ว สมุนไพรเหล่านี้จะดำดินหนีไปอยู่ตามจุดต่างๆทั่วบริเวณภูเขา(บริเวณที่ถือกำเนิด) จึงยากที่จะจับตัวได้ ฯ

      เหล่าวิทยาธรได้อธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการจับสมุนไพรทั้ง๔ นั้นมีหลากหลาย แต่ทุกวิธีนั้นต้องใช้วิทยาคม คาถา และนานาปัจจัยเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบ ซึ่งเหล่าวิทยาธรไม่ใคร่ขอเปิดเผยวิธีการเหล่านั้น ฯ


     

                                                                                                                

     


     

    วิธีประกอบยาจากสมุนไพรสี่วิสุทธ


     

       แบ่งออกเป็น ๒ สูตรใหญ่ คือ สูตรดั้งเดิมและสูตรประยุกต์ ดังนี้


     

    สูตรดั้งเดิม(สูตรน้ำ) คือการทำเป็น น้ำอมฤต ซึ่งมี ๓ สูตร ได้แก่


     

    น้ำอมฤต(สูตรใหญ่)

      หลังจากใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักในการเก็บต้นยาทั้ง๔มาได้จนครบแล้ว  ให้นำสมุนไพรสดทั้งหมดนำมาประกอบเป็น"น้ำอมฤต"สำหรับชุบชีวิต โดยนำต้นยาทั้ง๔ ผสมกับน้ำจากแม่น้ำมงคลทั้ง ๕ สาย แล้วบดด้วยหินบดยาพร้อมบริกรรมมนตราเพื่อกระตุ้นอำนาจต้นยาให้เกิดสรรพคุณสูงสุด(มนตร์บทนี้ เหล่าวิทยาธรหวงนัก จึงไม่ยอมบอกรายละเอียด) ซึ่งการบริกรรมมนตร์ในการบดยานี้ ใช้เวลานานมาก


     

    วิธีใช้

        นำน้ำอมฤตที่ได้ มาประพรมชโลมลงในบาดแผลเพื่อถอดถอนอาวุธฟื้นคืนชีวิตและรักษาบาดแผล รึใช้ประพรมชโลมร่างกายของผู้ปราศจากชีวิตจากอาการต่างๆเพื่อให้ฟื้นคืนชีพและสร้างความสดชื่นฟื้นตัวให้กับผู้ตกอยู่ในอาการปราศจากชีวิตดังกล่าว ฯ


     

    น้ำอมฤต(สูตรเล็ก)

      ในกรณีที่ถูกศาสตราวุธวิเศษผนึกติดอยู่กับร่างกายโดยไม่สามารถถอนออกได้ ทว่าไม่ถึงขั้นสลบไสลปราศจากชีวิต ก็สามารถนำสมุนไพรอีก ๓ ชนิด คือ วิศัลยกรณี, สันธยาณี, สวรรณกรณี มาหมักดองรวมกันเพื่อทำเป็นน้ำส้มสายชู เมื่อนำน้ำส้มสายชูที่หมักดองจากสมุนไพรทั้ง๓ นี้ไปรดบริเวณบาดแผล ศาสตราวุธที่ผนึกติดอยู่กับร่างกายนั้นจะหลุดออกได้โดยง่ายและบาดแผลทั้งหลายจะฟื้นตัวคืนสภาพปกติไร้ร่องรอยแผลเป็นให้ปรากฏ ฯ


     

    *โดยปกติ น้ำอมฤตมีรสหวานและความเย็นเป็นธรรมชาติ เพราะเกิดจากการผสมสมุนไพรทั้ง๔ชนิด ส่วนน้ำอมฤต(สูตรเล็ก)นั้น ไม่ได้ผสมต้นยาวิศัลยกรณีเข้าไปด้วย จึงทำให้น้ำอมฤต(สูตรเล็ก)มีรสเปรี้ยว


     


     

    น้ำอมฤต(สูตรดื่ม)[อมฤตปานะ]

    (บ้างก็ว่า น้ำอมฤตสูตรดึกดำบรรพ์ รึ น้ำอมฤตธันวันตริ)

      น้ำอมฤตสูตรนี้ เรียกได้ว่า เป็นสูตรเก่าแก่ที่สุด ทว่า เนื่องจากความยุ่งยากของขั้นตอนในการทำจึงไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ก็ได้รวบรวมไว้ ดังนี้


     

      นำต้นยาสี่วิสุทธอย่างสด(เก็บใหม่ๆ)ทั้ง ๔ ชนิด มาบดให้ละเอียดแล้วนำไปต้มในน้ำนมธรรมชาติคุณภาพสูงพร้อมกับเกลือบก(เกลือสินเธาว์) และเกลือทะเล(เกลือสมุทร) จากนั้นเคี่ยวกวนไปเรื่อยๆพร้อมบริกรรมมนตรา(ที่เหล่าวิทยาธรไม่ยอมบอกเช่นเคย)จนนมเดือดขึ้นโขมงควันและสมุนไพรทั้งหมดกลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำนม แล้วตั้งพักทิ้งไว้จนเย็นสนิท ก็จะได้น้ำอมฤตอันมีรสหวานเย็น


     

    วิธีใช้

    น้ำอมฤตมีความเย็นมาก หากดื่มแต่พอดีจะสามารถกำจัดโรคาพยาธิไข้ในกายให้หายขาด เพื่อฟื้นฟูกำลังกายให้มั่นคงแข็งแรง มีอายุยืนยาวต่อไปได้ หากมีรอยพกช้ำและฟันแทง ทั้งแผลเก่าแผลใหม่ตามร่างกาย บาดแผลเหล่านั้นจะหายสนิทในฉับพลันทันที

    แต่หากดื่มเกินพอดี จะทำให้เกิดอาการมึนเมา(เมื่อร่างกายฟื้นฟูเป็นปกติเต็มที่แล้ว การดื่มเพิ่มโดยไม่จำเป็นจะทำให้เมา)

    หากดื่มน้อยไปจะไร้ผล แต่หากดื่มเกินขนาดมากไปจะทำให้"เสียชีวิตทันที(ดุจผู้ไม่รู้จักประมาณตน กินอาหารมากเกินไป ก็ถึงแก่ความตายได้ [น้ำอมฤตเป็นยาแรง หากดื่มมากเกินไปร่างกายจะปรับตัวรับฤทธิ์ยาไม่ทันจนถึงแก่ความตาย  แต่ถ้าดื่มน้อยเกินไปก็ไม่มีผล] )


     

    นอกจากนี้ ความหวานของน้ำอมฤตยังสามารถใช้เจือจางยาพิษได้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม หากนำน้ำอมฤตไปผสมในยาพิษที่มีปริมาณมากกว่าจะมีรสขม(พิษไม่สลายตัว) แต่หากผสมในยาพิษที่มีปริมาณน้อยกว่า ยาพิษนั้นจะกลายเป็นรสหวาน(พิษจางลง)


     

    น้ำอมฤตจึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณในการดื่มให้สัมพันธ์พอดีกับระดับอาการของตัวผู้ดื่มด้วย เหล่าวิทยาธรและผู้เชี่ยวชาญจึงฝากเตือนผู้ที่คิดดื่มน้ำอมฤตว่า "หากไม่จำเป็น อย่าได้คิดลองเสี่ยงดื่มเล่นเองเด็ดขาด"

                                                                                                                

     


     

      * สาเหตุที่การทำน้ำอมฤตสำหรับดื่มในแต่ละครั้ง เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเสียเวลาอย่างมหาศาลนั้น เป็นเพราะนอกจากการออกตามล่าสมุนไพรสี่วิสุทธให้ครบทุกชนิดแล้ว การทำน้ำอมฤตสูตรนี้จำเป็นต้องใช้ต้นยาสี่วิสุทธทั้ง ๔ ชนิด อย่างละหลายร้อยต้น น้ำนมธรรมชาติคุณภาพสูงอีกหลายร้อยลิตร เกลือบก(เกลือสินเธาว์)และเกลือทะเล(เกลือสมุทร)อีกจำนวนมหาศาล (ซึ่งเหล่าวิทยาธรต่างปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกปริมาณให้ชัดเจนเช่นเคย) และสมุนไพรจำนวนหลายร้อยต้นกับน้ำนมอีกหลายร้อยลิตรและเกลือบกเกลือทะเลทั้งหมดนี้ จะต้องเคี่ยวกวนไปเรื่อยๆพร้อมบริกรรมมนตรา แม้ว่านมจะเดือดจนเกิดควันคลุ้งขนาดไหนแล้วก็ตาม ระยะเวลาที่ใช้ในการกวนคือ ๘ คืนและจะต้องกวนติดต่อกันตลอดเวลาโดยไม่หยุดพัก เพื่อให้น้ำนมที่เคี่ยวอยู่นั้นงวดลงไปเรื่อยๆจนเหลืออยู่เพียงติดก้นภาชนะ แล้วจึงปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นสนิท


     

    อนึ่ง ในคืนที่ ๘ ของการกวนจะต้องเป็นคืนแรม ๑๕ ค่ำเท่านั้น!


     

    และเมื่อเคี่ยวกวนสำเร็จตามกำหนดเวลา น้ำนมในภาชนะจะเดือดและระเหยออกไปจนเหลือเพียงส่วนที่เป็นน้ำอมฤตประมาณ ๑ ผอบ(ผอบใหญ่)เท่านั้น ซึ่งในการกวนนี้คำนวนแล้วก็ไม่ค่อยคุ้มค่านัก กว่าจะสำเร็จเป็นน้ำอมฤตซัก ๑ ผอบ

                                                                                                                

     


     

    สาเหตุที่ทำให้การกวนน้ำอมฤตต้องใช้เวลานานถึง ๘ คืนนั้น เป็นเพราะว่าในการเคี่ยวส่วนผสมในแต่ละคืนนั้น จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมาก ดังนี้


     

    กวนคืนที่๑ น้ำนมและส่วนผสมทั้งหมดจะงวดลง ทำให้กากของส่วนผสมทั้งหมดที่จับอยู่ตามขอบภาชนะข้นขึ้นจนกลายเป็น เนยหอม


     

    กวนคืนที่๒ น้ำนมกับตัวยาสมุนไพรและเกลือจะผสมรวมกัน กลายเป็น สุราที่มีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ เรียกว่า วารุณี


     

    กวนคืนที่๓ น้ำนมที่ผสมกับสมุนไพรและเกลือที่รวมกันเป็นสุราแล้วนั้นจะเข้มข้นขึ้นจนส่งกลิ่นหอมราวกับดอกไม้สวรรค์


     

    กวนคืนที่๔ กลิ่นของสุราที่ถูกเคี่ยวจะเริ่มออกฤทธิ์ทำให้มึนเมาและเห็นภาพหลอนที่ทำให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลขั้นรุนแรงจนอาจถึงขั้นหลงลืมเวลา(ความมึนเมาและภาพหลอนที่ได้พบจากการกวนในคืนที่๔นี้ มักทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มกระทั่งหลงลืมการกวนน้ำอมฤตไปจนสิ้น และทำให้การกวนน้ำอมฤตที่ผ่านมาแล้วถึงครึ่งทางกลายเป็นโมฆะทันที) และหากสูดดมกลิ่นหอมเข้มข้นของมันมากจนเกินไปสมองจะเกิดความเสียหายทำให้ตกอยู่ในสภาวะเหม่อลอยไม่ได้สติ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากโชคดีก็อาจฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติในเวลา"หลายปี"


     

    พวกวิทยาธรกล่าวกันว่า มนุษย์วัยเยาว์ ผู้มีกำลังเป็นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเที่ยวขวนขวายทุ่มเทเวลาไปกับการค้นหาสมุนไพรและการกวนน้ำอมฤต ทว่าเกินครึ่งของผู้ที่กวนน้ำอมฤตจนมาถึงจุดนี้มักจะลืมป้องกันตัวจนเผลอสูดกลิ่นมากเกินไป จนกลับมารู้สึกตัวอีกครั้งในวัยชราภาพไร้ทั้งเรี่ยวแรงและกำลัง ต้องสูญเสียเวลาและความหนุ่มสาวไปสิ้นอย่างน่าเสียดายโดยใช่เหตุ


     

    กวนคืนที่๕ ฤทธิคุณส่วนเกินของสุราหอมนั้นจะถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นยาที่มีฤทธิ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ทำให้เส้นผมเป็นเงางามและหอมฟุ้ง เป็นที่น่าพึงพอใจต่อผู้พบเห็น


     

    กวนคืนที่๖ ตัวยาที่เกิดจากการเคี่ยวจะขับธาตุร้อนส่วนเกินออกมากลายเป็นควันพิษมีฤทธิ์ร้ายฟุ้งกระจายไปในอากาศ และพิษร้อนนี้ยังสามารถเรียกสารพัดอสรพิษและสัตว์มีพิษนานาพันธุ์ที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวยานี้ให้มารวมตัวกันได้อีกด้วย(กรุณาป้องกันตัวให้รัดกุม มิฉะนั้นอาจถึงตาย เหล่าวิทยาธรต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ใดที่ริกวนน้ำอมฤตมักเอาชีวิตมาทิ้งในการกวนคืนที่๖นี้เอง ถ้าไม่ตายเพราะพิษร้อนจากยาก็ถูกสารพัดสัตว์มีพิษรุมฉกกัดต่อยจนตาย)


     

    กวนคืนที่๗ เมื่อส่วนที่เป็นพิษร้อนส่วนเกินถูกขจัดออกจนหมด ตัวยาจะมีฤทธิ์บำรุงผิวกาย ทำให้เปล่งปลั่งงดงาม มีเสน่ห์ และกลิ่นกายหอมฟุ้ง


     

    กวนคืนที่๘ หากว่าส่วนผสมทั้งหมดได้งวดลงจนถึงก้นภาชนะพอดี หลังจากปล่อยพักไว้จนเย็นสนิท จะได้น้ำอมฤต ๑ผอบใหญ่


     

      * เนื่องจากการกวนน้ำอมฤตใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น ๘ คืน ดังนั้น การกะเกณฑ์ปริมาณอัตราส่วนของน้ำนมที่ต้องใช้ให้พอดีจึงเป็นเรื่องสำคัญและยุ่งยากอย่างมาก

                                                                                                                

     

     

    ข้อควรระวังในการใช้งานน้ำอมฤตธันวันตริ

     

    การดื่มน้ำอมฤตนั้น แม้จะช่วยให้เป็นอมตะ คือ มีร่างกายที่ไม่มีวันแก่เฒ่าพละกำลังไม่สามารถเสื่อมถอย ผู้ดื่มน้ำอมฤตจึงไม่มีวันตายด้วยโรคชรา แต่หากถูกฆ่าสำเร็จก็ไม่อาจคืนชีพได้เช่นกัน และที่สำคัญอีกอย่างคือ น้ำอมฤตไม่สามารถช่วยฟื้นฟูอวัยวะที่เสียหายไปให้กลับมาเป็นปกติได้ หากดวงตาเสียหายไม่อยู่ในเบ้า แขนขาด ขาขาด รึร่างกายขาดครึ่งท่อนค่อนตัว น้ำอมฤตก็ไม่อาจทำให้อวัยวะเหล่านั้นงอกกลับคืนมาได้ ทว่ายังสามารถซ่อมแซมร่างกายที่มีน้ำอมฤตไหลเวียนอยู่ด้วยการเชื่อมต่อจุดที่ถูกตัดขาดเสียหายเข้ากับอวัยวะใดๆที่อาจทั้งใช่และไม่ใช่อวัยวะของตนเองได้ เช่น การเชื่อมต่อร่างกายท่อนบนของตนที่ถูกตัดขาดเข้ากับร่างกายท่อนล่างของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (แต่หากเป็นอาการหัวโล้นกับฟันหลุดร่วงจนหมดปาก เหล่าวิทยาธรว่าเส้นผมและฟันยังสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้อยู่)

     

    อนึ่ง ความหวังในการใช้น้ำอมฤตธันวันตริในการดัดแปลงร่างกายโดยการนำชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิดมาประกอบเข้าด้วยกันนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเมื่อมีการนำชิ้นส่วนอวัยวะใดๆเข้ามาเสริมต่อแล้ว ปริมาณน้ำอมฤตที่อยู่ในร่างจะถูกเจือจางลงทำให้การนำชิ้นส่วนอวัยวะจำนวนมากมาประกอบต่อเข้ากับร่างกายมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก เพราะเมื่อยิ่งตัดต่อร่างกายมากเท่าไหร่ฤทธิ์ของน้ำอมฤตก็จะยิ่งเจือจางลงเรื่อยๆ ส่วนมากจึงนิยมตัดต่อร่างกายกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในส่วนนี้ขึ้น ส่วนในการนำศีรษะมาต่อกับร่างนั้นไม่สามารถนำศีรษะของผู้ดื่มน้ำอมฤตไปต่อเข้ากับร่างที่ไม่เคยดื่มน้ำอมฤตได้เพราะปริมาณน้ำอมฤตจากศีรษะนั้นมีอัตรส่วนน้อยเกินไปจึงไร้ผล ส่วนในกรณีที่นำร่างไร้ศีรษะและศีรษะที่ผ่านการดื่มน้ำอมฤตแล้วทั้ง ๒ ส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน แม้จะสำเร็จแต่ตัวตนเจ้าของร่างที่ได้จากการประกอบใหม่นั้นก็คือตัวตนของร่างที่ไร้ศีรษะไม่ใช่ตัวตนของศีรษะที่ถูกนำมาเชื่อมต่อ เพราะอัตรส่วนน้ำอมฤตในร่างไร้ศีรษะนั้นมีมากกว่าจึงทำให้ความเป็นตัวตนมีสูงกว่าตามอัตราความแปรผันของปริมาณนั่นเอง
     


     


     

    สูตรประยุกต์(สูตรแห้ง)


     

      เนื่องจากการตามหาต้นยาสี่วิสุทธให้ครบทั้ง ๔ ชนิด รวมถึงการนำมาบดทำเป็นน้ำอมฤตเพื่อใช้งานในแต่ละครั้งนั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเสียเวลามาก เหล่าวิทยาธรและผู้รู้ทั้งหลายจึงได้คิดค้นวิธีการนำสมุนไพรสี่วิสุทธมาประยุกต์ใช้เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาขึ้น โดยการทำเป็น "แท่งยาทิพย์" ดังนี้


     

      หลังจากรวมรวมต้นยาสี่วิสุทธได้ครบทั้ง ๔ ชนิดแล้ว(ชนิดละ ๑ ต้น) ให้นำต้นยทั้งหมดมาตากจนแห้งสนิท แล้วนำมาบดรวมกัน(พร้อมการบริกรรมคาถาที่เหล่าวิทยาธรไม่ยอมแจ้ง) จากนั้นจึงอัดขึ้นรูปให้เป็นแท่ง


     

    วิธีใช้

      เพียงฝนแท่งยาออกเป็นผงปริมาณน้อย แล้วนำไปละลายในน้ำสะอาดตามธรรมชาติ(ถ้าเป็นน้ำดื่มได้ก็ยิ่งดี) จากนั้นจึงพรมใส่ร่างผู้ปราศจากชีวิต

       หากไม่สามารถหาน้ำสะอาดตามธรรมชาติได้ ให้ฝนแท่งยาปริมาณเล็กน้อยออกมาเคี้ยวแล้วพ่นละอองไอยาซึ่งมีความหวานเย็นคล้ายรสใบเปปเปอร์มินท์ใส่ร่างรึปากของผู้ปราศจากชีวิตโดยตรง เพื่อให้ไอยาแทรกซึมเข้าไปกระตุ้นระและฟื้นฟูระบบการทำงานทั้งภายในและภายนอก


     

      นอกจากนี้ หากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ปวดเมื่อยร่างกาย ก็สามารถนำแท่งยาทิพย์นี้มาทาถูเพื่อรักษาอาการได้ชะงัดนักแล ฯ


     

      *หากผสมยาเจือจางไป อาจต้องพ่นและประพรมสัก ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้ผู้ถูกชุบชีวิตฟื้นได้อย่างสมบูรณ์

      *แท่งยาทิพย์นี้ สามารถใช้ชุบชีวิตได้มากสุดถึง ๕ ครั้ง


     

      การทำแท่งยาทิพย์นี้ แม้จะเสียเวลาในขั้นตอนการตากอยู่บ้าง แต่นับว่าแท่งยาทิพย์นี้มีความเสี่ยงน้อยและใช้เวลาในการทำน้อยกว่าน้ำอมฤตปานะ อีกทั้งยังสะดวกง่ายต่อการพกพา เก็บรักษาได้ง่าย เพราะเมื่อเป็นน้ำ หากทำหกไปก็สูญเปล่า และสามารถใช้ได้จำนวนครั้งมากกว่าน้ำอมฤตทั้ง ๒ สูตร และใช้ชุบชีวิตได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ในยามฉุกเฉินเร่งด่วน แท่งยาทิพย์จึงเป็นที่นิยมในหมู่ชาววิทยาธรและผู้เชี่ยวชาญมากที่สุด


     

    ข้อควรระวังในการใช้แท่งยาทิพย์

      แม้ว่าแท่งยาทิพย์จะเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ง่าย ทว่าก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ หากผู้ปราศจากชีวิตนั้น เกิดจากการถูกพิษร้าย เช่น พิษนาค เพราะเมื่อฝนแท่งยาทำน้ำอมฤตพรมใส่ร่างของผู้ถูกพิษนาค พิษนาคจะถูกขับออกกลายเป็นละอองไอพิษแผ่ฟุ้งกระจายออกมาโดยรอบ ทำให้สิ่งต่างๆที่อยู่โดยรอบบริเวณนั้นสัมผัสถูกไอพิษตามไปด้วย ดังนั้น จึงมีวิธีป้องกันการฟุ้งกระจายของพิษ โดยการตั้งโรงพิธีการม่านกั้นล้อมรอบตัวผู้ถูกพิษและผู้ทำพิธีชุบชีวิตไว้ ๗ ชั้น เพื่อเป็นการกรองพิษที่จะฟุ้งออกมาจากการทำพิธีและป้องกันบุคคลภายนอกล่วงรู้ความลับเรื่องวิธีและขั้นตอนการชุบชีวิต ส่วนตัวผู้ทำพิธีนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็สมควรแต่งกายให้มิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสพิษ แต่หากมีเหตุให้สัมผัสละอองพิษนั้นจริงๆ ก็แก้ไขได้ไม่ยาก เพียงแค่ผู้ทำพิธีชำระล้างกายด้วยน้ำสะอาดโดยเร็ว ก็จะสามารถชะล้างพิษที่จับติดผิวหนังออกได้แล้ว ดังนั้น หากไม่จำเป็น ก็ไม่ควรพ่นยาใส่ปากของผู้ปราศจากชีวิตโดยตรงเด็ดขาด เพราะจะทำให้สัมผัสพิษได้ง่ายกว่าวิธีพ่นรึพรมในระยะไกล


     

      ส่วนผ้าที่นำมากางเป็นม่านกั้นโรงพิธีทั้ง ๗ ชั้นนั้น ให้นำไปเผาทำลายในสถานที่มิดชิด เนื่องจากพิษจะซึมอยู่ในเนื้อผ้าจนไม่อาจนำไปใช้ต่อได้ เพราะจะเกิดอันตราย


     

      ว่ากันว่า มนุษย์บางกลุ่มมีผิวหนังที่สามารถทนทานต่อละอองพิษนาคจากที่ฟุ้งกระจายออกจากพิธีชุบชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งมนุษย์กลุ่มนี้มีร่างกายกำยำสูงใหญ่ ผิวดำคล้ำดุจหมึก ศีรณะทุยยาว เส้นผมหยิกจัด ผู้หญิงนั้นมีความสูงเกือบ ๒ เมตร


     

      อนึ่ง สมุนไพรสี่วิสุทธทั้ง ๔ ชนิดนี้ ไม่จำเป็นต้องนำมาประกอบทำยาร่วมกันก็สามารถใช้รักษาอาการต่างๆได้ ตามสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละที่ได้ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้แบบเดี่ยวมากที่สุด คือ ต้นยามฤตสัญชีวนี เพื่อชุบชีวิตแบบเร่งด่วน ซึ่งสามารถใช้ได้ดีในกรณีที่ร่างกายของผู้ปราศจากชีวิตปราศจากบาดแผลทั้งภายในและภายนอก รึถูกพิษร้าย(กรณีที่เป็นไข้ตายจะใช้ได้ผลดีที่สุด) ซึ่งวิธีใช้แบบแยกเดียวนั้นก็แสนง่าย เพียงนำรากยามาฝนให้นิ่ม จากนั้นก็นำมาเคี้ยวเพื่อให้ออกน้ำ ละอองไอยาจะคลุ้งอยู่ภายในปากไม่สลายไปกับอากาศ แล้วจึงพ่นละอองไอยาที่อยู่ในปากของผู้เคี้ยวใส่ปากของศพ เมื่อความเย็นวาบนี้ไปในปากศพ ตัวยาจะกระจายไปทั่วร่างและกระตุ้นจนทำให้ฟื้นคืนชีพ


     

    *การเคี้ยวแท่งยาและรากยา จำเป็นต้องเคี้ยวจนรากยานั้นหมดรสและหมดน้ำก่อน แล้วจึงพ่นละอองยาใส่ผู้ปราศจากชีวิต เพื่อพ่นละอองยาจนเสร็จแล้วจึงคายกากชานยาซึ่งหมดฤทธิ์แล้วทิ้งไป


     

    **รูปแบบการพ่นละอองยาใส่ปากของผู้ปราศจากชีวิตนี้ คล้ายกับการผายปอดผสมกับการถอนคำสาปนิทราด้วยจุมพิตนั่นเอง


     

      แต่เนื่องจากสมุนไพรทั้ง ๔ ชนิดนี้นิยมใช้ปรุงยาร่วมกันเป็นปกติ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากสรรพคุณยาสูงสุด สมุนไพรทั้ง ๔ ชนิดนี้ จึงมีอีกชื่อ เรียกว่า "สังกรณี-ตรีชวา"

                                                                                                                

     

    *ตรีชวา คือ คำเรียกกลุ่มสมุนไพร อีก ๓ ชนิด คือ ศัลยกรณี, มฤตสัญชีวนี, สันธยาณี


     

      อนึ่ง ต้นยาสี่วิสุทธนี้ สามารถพบได้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามสถานที่ต่างๆในดินแดนหิมพานต์ แต่หากต้องการเก็บต้นยาให้ครบถ้วนทั้ง ๔ ชนิดโดยง่าบ จำเป็นต้องมาเก็บที่เขาสรรพยาแห่งนี้(อีกสถานที่ที่มีต้นยาครบทั้ง๔ คือ เขาคันธทาทน์) ฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×