คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : วิธีการเดินทาง
เนื่องจากแดนหิมพานต์มีลักษณะภูมิประเทศที่ซับซ้อน จนแทบไม่สามารถเดินทางด้วยเท้าตามวิธีการปกติได้ เรื่องการกำหนดทิศและการวัดระยะทางนั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย ครั้นจะถามเอาจากพวกวิทยาธรก็พึ่งไม่ได้เพราะพวกนี้ไม่เคยใช้เท้าเดินทางในแดนหิมพานต์ แม้ว่าจะมีบางจุดเชื่อมต่อซ้อนทับกับแดนมนุษย์ผ่านทางผืนป่าใหญ่ (มหาวัน) อยู่บ้างก็ตามที
ข้อมูลการเดินทางจากบันทึกเก่าแก่ก็ไม่อาจให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากข้อมูลในแต่ละบันทึกนั้นไม่ตรงกัน บางบันทึกระบุว่า การเดินทางจากแดนมนุษย์สู่แดนหิมพานต์นั้น แค่มุ่งตรงไปทางทิศเหนือไม่กี่สิบโยชน์ก็ถึงแล้ว แต่บางบันทึกกลับระบุว่าต้องมุ่งตรงไปทางเหนือเป็นระยะทางกว่าร้อยโยชน์จึงจะไปถึง
แต่เมื่อประกอบข้อมูลจากหลายแหล่งเข้ากันทีละส่วนจึงสามารถกำหนดข้อสรุปได้ว่า ระยะทางไม่ใช่สิ่งสำคัญในการเดินทางเลย สาเหตุที่บันทึกต่างๆ มีการกำหนดระยะทางที่ไม่ตรงกันนั้น เป็นเพราะการเดินทางสู่แดนหิมพานต์ส่วนมากเป็นการเดินทางของผู้มีฤทธิ์ที่ใช้อำนาจจิตย่อพสุธาเพื่อย่นระยะทาง จึงทำให้ตัวเลขของระยะทางในแต่ละบันทึกเหตุการณ์มีความแตกต่างกันไป ซึ่งการย่อพสุธานี้ก็เป็นวิธีการหลักที่เหล่าวิทยาธรใช้เดินทางไปยังสถานที่ที่ต้องการจุดต่างๆ ในแดนหิมพานต์ เพราะสะดวกและรวดเร็วที่สุด
แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้ง ที่เหล่าวิทยาธรต้องการประหยัดพลังงานจึงเลือกใช้วิธีรองในการเดินทาง คือ การเดินทางผ่านประตูพิเศษเพื่อย่นระยะทางไปยังจุดที่ต้องการรึจุดใกล้เคียง ซึ่งเหล่าวิทยาธรส่วนใหญ่จะเรียกประตูเหล่านี้กันเอาเองว่า อวัศยมุข
คือ ประตูหมอก
ประตูหมอกนี้กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ในแดนหิมพานต์ซึ่งเชื่อมต่อกับป่าใหญ่ในแดนมนุษย์และจุดอื่นๆ ในแดนหิมพานต์เอง มีลักษณะคล้ายทะเลหมอกที่หนาจัดจนไม่สามารถมองทะลุได้ แต่จะไม่ได้ตั้งอยู่ถาวร เพราะมีลักษณะการเกิดคล้ายหมอกทั่วๆ ไป แต่เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่างในแดนหิมพานต์ที่มาประกอบรวมกันจึงทำให้ประตูหมอกกลายเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงเส้นทางกับประตูออกจุดอื่นๆ ในแดนหิมพานต์เข้าด้วยกัน เหล่าวิทยาธรและสัตว์บางชนิดจึงนำมาใช้ประโยชน์ในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ซึ่งเหล่าวิทยาธรก็มีวิธีกำหนดจุดหมายปลายทางไม่ให้พลัดหลงหลายอย่างด้วยกัน เช่น ใช้มนตราและของวิเศษ (ซึ่งไม่เปิดเผย) รึอีกวิธีที่ได้รับความนิยมมากคือการเข้ารหัสเพื่อกำหนดจุดหมายปลายทาง กล่าวคือ จุดหมายปลายทางบางแห่งจำเป็นต้องพกวัตถุบางอย่างที่เปรียบได้กับกุญแจติดตัวเอาไว้เท่านั้นจึงจะเข้าถึงได้ ซึ่งวิธีหลังนี้ เหล่าวิทยาธรได้มีการพัฒนาต่อยอดกันมาหลายยุคสมัยทั้งยังได้จดบันทึกรวมรวมพัฒนาการของการใช้ประตูหมอกโดยการพกวัตถุติดตัวตั้งแต่ยุคแรกเริ่มโดยมีเนื้อหาคร่าวๆ ดังนี้
ยุคแรกเริ่มที่ชาวหิมพานต์เริ่มรู้จักประตูหมอก พวกเขาใช้มันในการย่นระยะทางให้สั้นลง โดยวิธีใช้นั้นพวกเขาจะพกใบรึกิ่งก้านของต้นเครือเถาหลงเงินและเครือเถาหลงทองติดตัว พวกมันจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกุญแจในการข้ามไปยังประตูหมอกที่อยู่ใกล้ที่สุดเพียงเท่านั้น โอกาสที่จะไปโผล่ผิดสถานที่จึงมีค่อนข้างสูงเพราะเป็นการเปิดประตูแบบสุ่มที่ขาดความแม่นยำ ไม่สามารถกำหนดจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนได้ ทำให้การเดินทางบางครั้งต้องเสียเวลามากเกินความจำเป็น และหากทำเครือเถาหลงที่พกไว้หาย ก็จะติดค้างอยู่ในสถานที่นั้นๆ ไม่สามารถเดินทางผ่านประตูหมอกที่ไหนได้อีกจนกว่าจะหาเครือเถาหลงของใหม่มาแทนได้
กรณีที่เลวร้ายแบบสุดๆ ก็คือ การเปิดประตูหมอกไปโผล่ในสถานที่อันตรายเช่น กลางมหาสมุทร บนท้องฟ้า รึเหนือหุบเหว ซึ่งสามารถทำให้เกิดความบาดเจ็บรึเสียชีวิตได้ การใช้ประตูหมอกในยุคนี้จึงยังไม่เหมาะกับการเดินทางแบบเร่งด่วน มีความเสี่ยงสูง ไม่ปลอดภัยนัก
หลังเวลาผ่านไป เหล่าวิทยาธรเริ่มให้ความสนใจกับการใช้ประตูหมอกมากขึ้น พวกเขาเริ่มศึกษาวิจัยอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาการใช้ประตูหมอกให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม กระทั่งสามารถหาวิธีกำหนดจุดหมายปลายทางของประตูหมอกได้อย่างแม่นยำไม่คลาดเคลื่อน ทำให้หลีกเลี่ยงจากภัยอันตรายต่างๆ ในการเดินทางได้ การใช้ประตูหมอกจึงไม่ใช่แค่การย่นระยะทางอีกต่อไป แต่สามารถทำให้ไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็วด้วยการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เหมาะแก่การเดินทางแบบเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งวิธีที่พวกเขาใช้นั้น เรียกว่าการสร้าง กุญแจ เป็นการกำหนดพิกัดที่หมายแบบเข้ารหัส จากแต่เดิมที่ใช้เพียงเครือเถาหลงในการเดินทางแบบสุ่ม พวกเขาก็เพิ่มทั้งปริมาณและวัตถุใหม่ๆ ที่ใช้เป็นกุญแจเข้าไปอีก เพื่อแยกแยะจุดหมายปลายทางแต่ละแห่งออกจากกัน เช่น
สถานที่บางแห่งถูกตั้งรหัสผ่านไว้ว่า ผู้ที่สามารถเดินทางมาถึงได้จะต้องพกใบเครือเถาหลงทอง ดอกกุหลาบ ดอกจำปา ๓ อย่างนี้ติดตัวไว้เท่านั้น ใครที่พกทั้ง ๓ อย่างนี้ติดตัวไว้จึงจะสามารถผ่านประตูหมอกไปถึงสถานที่นั้นได้อย่างถูกต้อง แต่หากพกวัตถุไม่ครบรึพกวัตถุผิดชนิด ก็อาจไปโผล่ในสถานที่อื่นแทน รึไม่สามารถข้ามผ่านประตูหมอกไปโผล่ที่อื่นได้เลย เหมือนการเปิดประตูไม่ออกเพราะเอาลูกกุญแจผิดดอกมาไข และในบางสถานที่วิทยาธรก็สร้างคาถาขึ้นมาเป็นรหัสกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความซับซ้อนในการเปิดประตูหมอก บ้างก็ตั้งรหัสโดยใช้วัตถุหายาก เพื่อป้องกันไม่ให้คนนอกสามารถเข้าถึงสถานที่ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเขตหวงห้ามรึพื้นที่ส่วนตัวได้
อนึ่ง จุดหมายปลายทางของประตูหมอกแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขรหัสผ่านแตกต่างกันไปทั้งชนิดและจำนวนของวัตถุที่ใช้เป็นกุญแจ บางแห่งอาจกำหนดรหัสผ่านเป็น เครือเถาหลงเงิน ๓ ใบ บอระเพ็ด ๓ ราก จำปี ๓ ดอก รหัสของบางแห่งอาจเป็น เครือเถาหลงทอง ๒ กิ่ง มะลิ ๙ ดอก ชบา ๔ ดอก มะยม ๑ ลูก ฯลฯ ซึ่งวัตถุที่ถูกกำหนดให้เป็นกุญแจเปิดประตูหมอกตามสถานที่ต่างๆ ส่วนมากจะเป็นพืชที่พบอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับประตูหมอกแต่ละแห่ง รึไม่ก็เป็นรหัสที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยเฉพาะ
ในยุคนั้นการเดินทางด้วยประตูหมอกเป็นที่นิยมแพร่หลายเพราะรวดเร็ว สามารถประหยัดเวลาได้มาก ทว่าก็ยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง คือ บางสถานที่กำหนดรหัสผ่านไว้เยอะมากๆ จนบางครั้งก็ทำให้เกิดความสับสนพกวัตถุกันผิดๆ ถูกๆ ขาดบ้าง เกินบ้าง จึงทำให้ไปไม่ถึงที่หมาย รึไม่ก็ไปโผล่ผิดสถานที่ การใช้ประตูหมอกในยุคนี้ แม้จะเดินทางได้อย่างรวดเร็วแต่ก็ยังคงขาดความสะดวกอยู่ จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนว่า วัตถุที่ใช้เป็นกุญแจนั้นครบถ้วนถูกต้องจริงๆ รึไม่
ปัจจุบันพัฒนาการของการเดินทางด้วยประตูหมอกน่าจะมาถึงขีดสุดแล้ว หลังจากที่ประสบปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการพกพาวัตถุที่ใช้เป็นกุญแจเปิดประตูหมอกกันมานาน เหล่าวิทยาธรก็ได้เริ่มอุดช่องโหว่ในจุดนี้ โดยช่วงแรกพวกเขาแก้ปัญหาโดยการนำวัตถุที่ใช้ทำกุญแจมาร้อยเป็นพวงมาลัยพกติดตัว ซึ่งก็ถือว่าสะดวกขึ้นกว่าเดิมแล้ว ทว่าบางวัตถุก็ไม่สามารถนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยได้ เช่น พวกเมล็ดพืชขนาดเล็ก
แต่จากจุดนี้เองเหล่าวิทยาธรก็ได้นำมาต่อยอดจนแตกแขนวเกิดเป็นการสร้างกุญแจรูปแบบใหม่ๆ อีกหลากหลาย เช่น นำพืชที่เป็นกุญแจไปถักเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ รึของใช้ เช่น ถ้วยรึกำไลที่แกะสลักจากไม้ บ้างก็ใช้แบบแยกส่วน เช่น นำพืชที่เป็นกุญแจส่วนหนึ่งไปถักเป็นเสื้อ อีกส่วนนำไปทำเครื่องประดับ ซึ่งเวลาใช้งานต้องนำมาประกอบรวมกัน คือ สวมทั้งเสื้อถักและเครื่องประดับไว้กับตัวเพื่อสร้างกุญแจสำหรับเปิดประตูหมอกไปยังจุดหมายปลายทาง
บ้างก็นำพวกพืชที่ใช้เป็นกุญแจมาสกัดเป็นน้ำหมึกน้ำมันเอาไว้ทารึสักตามร่างกายเพื่อความสะดวกในการผ่านประตูหมอกเข้าออกสถานที่บางแห่ง
แต่วิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือการนำพวกพืชที่ใช้เป็นกุญแจเปิดประตูหมอกมาบดรวมกันจนกลายเป็น "เนื้อผง" แล้วอัดขึ้นรูปให้กลายเป็นจี้ห้อยคอขนาดเล็ก ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้กับวัตถุที่เป็นกุญแจเข้ารหัสเปิดประตูหมอกได้ทุกชนิด ทั้งชาวหิมพานต์และวิทยาธรจึงนิยมใช้กันมากที่สุด เพราะใช้ได้กับวัตถุทุกชนิด พกพาสะดวก และขึ้นรูปได้หลากหลายดูคล้ายเครื่องประดับ
นอกจากการทำกุญแจแบบจี้ห้อยคอแล้ว วิทยาธรบางรายก็เอาเนื้อผงที่ได้จากการบดไปปั้นทำเป็นยาลูกกลอน แต่ไม่นิยมนักเพราะพืชบางชนิดที่ถูกใช้เป็นกุญแจก็มีพิษกินไม่ได้
ย้อนกลับไปในอดีต มีบันทึกไว้ว่าพรานไพรผู้ชำนาญการจำนวนหนึ่งก็ใช้ประตูหมอกในการเดินทางไปกลับระหว่างแดนหิมพานต์กับแดนมนุษย์เช่นกัน ทว่าก็ยังมีพรานอีกจำนวนไม่น้อยที่เจตนาเข้าป่าธรรมดาแต่กลับพลัดเข้าสู่แดนหิมพานต์ผ่านทางประตูหมอกมาโดยไม่รู้ตัวและหลงทางจนไม่สามารถกลับบ้านเมืองได้ ซึ่งพรานหลงทางเหล่านี้มักจะได้พญาสัตว์เป็นผู้นำทางกลับไปยังถิ่นเดิมของตน โดยสาเหตุของการหลงเข้าแดนหิมพานต์ที่พบส่วนมาก มาจากการพกวัตถุที่เป็นรหัสผ่านข้ามประตูหมอกติดตัวมาแบบไม่รู้ตัว เช่น มีเศษใบไม้ดอกไม้ที่เป็นรหัสผ่านติดอยู่ตามเครื่องแต่งกาย ย่ามสะพาย รึสัมภาระที่พกติดตัวอยู่พอดี
ที่สำคัญ ประตูหมอกเหล่านี้ยังเป็นเส้นทางที่พวกสัตว์จากหิมพานต์ใช้อพยพย้ายถิ่นมายังแดนมนุษย์เป็นครั้งคราวเพื่อหาอาหารที่ช่วยเสริมแร่ธาตุกินตามสัญชาตญาณ (บางครั้งก็ถูกมนุษย์พบเห็นและเก็บภาพไว้ทันแต่ก็ไม่สามารถจับตัวไว้ได้) ดังเช่นเหล่าฤๅษีดาบสที่จะเดินทางจากแดนหิมพานต์มายังแดนมนุษย์เพื่อบิณฑบาตอาหารรสเค็มและเปรี้ยวในช่วงฤดูฝน (เข้าพรรษา)
อนึ่ง วิทยาธรชำนาญการบางรายก็สามารถสร้างประตูหมอกขึ้นมาใช้ตามต้องการได้เช่นกัน ซึ่งประตูหมอกเหล่านี้จะตั้งอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะระเหยจางหายไป
ความคิดเห็น