คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : วิวัฒนาการของพืชโอสถ
การที่ผืนดินและผืนน้ำทั่วแดนหิมพานต์เป็นแหล่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุพิศดารต่างๆ เป็นเพราะผืนดินเหล่านั้นได้รับกลิ่นไอแห่งฌานสมาบัติและตบะของเหล่าฤๅษี ซึ่งเรียกรวมๆว่า “กสิณ” จากกิจวัตรประจำวันต่างๆซึ่งแผ่ออกมาอย่างเบาบางในรูปแบบกัมมันตภาพรังสี เมื่อกสิณแผ่ไปจับกับวัตถุใดก็จะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า กสิณสังเคราะห์ธาตุ(กสิณายตนะ) ซึ่งปฏิกิริยานี้จะค่อยๆสะสมไปทีละน้อยจากกิจวัตรในแต่ละวันของเหล่าฤๅษีจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดขึ้น คือ ปรมาณูในดินและน้ำจะเริ่มจับตัวกันในจนเกิดเป็นธาตุใหม่ขึ้นอยู่ภายใน ดังนั้นใต้ผืนดินของแดนหิมพ่นต์จึงอุดมด้วยแร่ธาตุนานาชนิดซึ่งมีมูลค่ามหาศาล เพราะแร่ธาตุที่มีชาติกำเนิดอันบริสุทธิ์ยิ่ง และปรมาณูส่วนต่างซึ่งถูกขับออกมาจากปฏิกิริยาสังเคราะห์ธาตุจะกลายเป็นธาตุอาหารที่ถูกดูดซึมเข้าไปในต้นไม้ต่างๆภายในป่า ทำให้ต้นไม้ทั้งหลายมีขนาดใหญ่โตแข็งแรงทนทานผิดธรรมดาและมีคุณสมบัติเป็นโอสถ และเมื่อต้นไม้ใหญ่ในหิมพานต์แห้งตาย รากทั้งหลายของต้นไม้ใหญ่นั้นเกิดเปื่อยเน่าหมดไป จะเกิดหลุมบ่อขนาดใหญ่และลึกขึ้นในจุดที่รากต้นไม้ใหญ่นั้นผุพังแห้งตายก่ออันตรายแก่ผู้ที่ตกลงไปได้ บางหลุมนั้นสภาพเป็นดุจเหวมีความลึกประมาณ ๖๐ ศอก(๓๐เมตร) หากอยู่ในฤดูฝนจะมีน้ำฝนตกขังอยู่ในหลุมนั้นราวๆ ๓๐ ศอก(๑๕เมตร) จนกลายเป็นบ่อลึก ทั้งยังมีหญ้าขึ้นปกคลุมปากหลุมอย่างมิดชิด ทำให้พลัดตกลงไปได้ง่าย(ถ้าตกลงไปในฤดูฝนและว่ายน้ำเป็นโอกาสรอดคงมีมากหน่อยเพราะในบ่อมีน้ำขัง แต่ถ้าตกลงไปในฤดูแล้งก็เสียใจด้วย)
ทว่า นอกจากอำนาจของกสิณซึ่งเป็นพลังงานในด้าน“บวก”แล้ว
ยังมีพลังงานอีกชนิดซึ่งแผ่ออกจากจิตของฤๅษีเช่นเดียวกับกสิณ
แต่มีอำนาจในเชิง “ลบ” เมื่อแผ่ออกไปจับกับวัตถุใดแล้วจะทำให้เกิดปฏิกิริยาการทำลายล้างแบบลูกโซ่ไม่รู้จบอยู่ภายในตัววัตถุที่ถูกสังเคราะห์ธาตุนั้น
ชื่อของพลังงานด้านลบนี้ เรียกว่า “ตัณหา” ซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีของ “กิเลส” ดังนั้น
พืชโอสถที่ถูกสังเคราะห์ธาตุขึ้นในแดนหิมพานต์ จึงมีคุณสมบัติทั้งด้าน “บวก” และ “ลบ”
อยู่ในตัวเอง
โอสถโดยทั่วไปมีรสที่ไม่น่าพิสมัยนัก ทว่าผลไม้อันเกิดจากพืชโอสถนั้นล้วนมีรสหวานเป็นปกติ ด้วยสรรพคุณที่เป็นยาและรสชาติหวานลิ้น พืชโอสถจึงเป็นยาที่ง่ายต่อการบริโภค และคุณสมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากอำนาจของ “กสิณ” และ “ตัณหา” บันดาลขึ้น
และนอกจากอำนาจกสิณจากเหล่ามหาฤๅษีแล้ว อำนาจบุญฤทธิ์ของเหล่าอมนุษย์ที่มาจุติ ณ แดนหิมพานต์เองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เหล่าพืชเกิดการกลายพันธุ์ด้วยเช่นกัน ฯ
ความคิดเห็น