ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูล(ไม่)ทั่วไปในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดี

    ลำดับตอนที่ #65 : การตั้งครรภ์และกลไกการดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต จากพระไตรปิฎก

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 43
      2
      8 ม.ค. 65

    จาก การตั้งครรภ์และกลไกการดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต จากพระไตรปิฎก

    ไม่ว่าจะออกลูกเป็นไข่ (อัณฑชะ) รึออกลูกเป็นตัว (ชลาพุชะ) ตามพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึงเหตุแห่งการตั้งครรภ์ ไว้ ๗ หัวข้อด้วยกัน และได้เรียงลำดับเอาไว้ แก่

    ๑.กายสังสัคคคัพภะ (Kayasansaggagabbha)

    [กายสํสคฺเคน คพฺภคฺคหณํ-kāyasaṃsaggena gabbhaggahaṇaṃ]

    - เป็นการตั้งครรภ์ด้วยการที่เพศเมียกับเพศผู้ได้ร่วมเพศกันในช่วงที่เพศเมียนั้นยังมีระดู (ตกไข่) เป็นวิธีปกติทั่วไปตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการรวมกันของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายใน ซึ่งวิธีนี้จำเป็นต้องใช้ทั้งเพศผู้และเพศเมียเป็นหลักในการผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

    ๒.โจลัคคหณคัพภะ (Colaggahanagabbha)

    [โจลคฺคหเณน คพฺภคฺคหณํ-colaggahaṇena gabbhaggahaṇaṃ]

    - จากพระไตรปิฎก สามารถถอดความสรุปได้ว่า เป็นการตั้งครรภ์ด้วยวิธีที่ฝ่ายหญิงนำผ้านุ่งของฝ่ายชายซึ่งมีน้ำสัมภวะ (อสุจิ) ของฝ่ายชายติดอยู่ ใส่ลงในองค์กำเนิดของตนเองขณะที่มีระดู

    วิเคราะห์เพิ่มเติมได้ว่า โจลัคคหณคัพภะ เป็นการผสมพันธุ์โดยไม่ได้ร่วมเพศกัน แต่ใช้วิธีฉีดน้ำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายใน และอาจใกล้เคียงกับสิ่งที่ในยุคปัจจุบันเรียกว่า เทคโนโลยีชีวภาพด้านการผสมเทียม (Artificial insemination) ก็เป็นได้

    ๓.อสุจิปานคัพภะ (Asucipanagabbha)

    [อสุจิปาเนน คพฺภคฺคหณํ-asucipānena gabbhaggahaṇaṃ]

    - เป็นการตั้งครรภ์ด้วยการที่สตรีได้กินน้ำราคะที่ตกออกมากับปัสสาวะ

    ในพระไตรปิฎก มีกรณีตัวอย่างบันทึกไว้ว่า นางกวางผู้เป็นมารดาของมิคสิงคดาบส (อิสิสิงคดาบส) ได้มายังสถานที่ถ่ายปัสสาวะของดาบส ในเวลาที่ตนมีระดู แล้วได้ดื่มน้ำปัสสาวะซึ่งมีน้ำสมภวะเจือปนอยู่ นางกวางนั้นก็ตั้งครรภ์ แล้วออกลูกเป็นมิคสิงคดาบส เพราะเหตุที่ตนดื่มน้ำปัสสาวะนั้น การตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะการดื่มน้ำอสุจิ ด้วยอาการอย่างนี้

    - ในนิทานพื้นบ้านของสยามเอง มีการนำกระบวนการการตั้งครรภ์แบบ อสุจิปานคัพภะ มาดัดแปลงใช้อีก เช่น ในกรณีของท้าวแสนปมที่ปัสสาวะเลี้ยงต้นมะเขือจนออกผลใหญ่โตสมบูรณ์ผิดธรรมชาติ เมื่อนำไปถวายให้เจ้าหญิงเสวย เจ้าหญิงจึงตั้งครรภ์ ในกรณีนี้ให้ถือว่า เมื่อน้ำราคะที่เจืออยู่ในปัสสาวะนั้นได้เข้าไปอยู่ในผลมะเขือด้วย จึงถือว่าเป็นการกินน้ำราคะทางอ้อม และมีนิทานอีกหลายเรื่องที่ตัวเอกเกิดขึ้นโดยไม่มีพ่อแต่เป็นเพราะแม่ได้ดื่มน้ำ (ปัสสาวะ) จากรอยเท้าสัตว์ใหญ่ เช่น เสือ สิงห์ ช้าง ฯลฯ จนตั้งครรภ์ขึ้นมา และอาจรวมไปถึงตำนานนานาชาติ ที่ระบุถึงสตรีซึ่งได้ดื่มน้ำจากบ่อน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) แล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาด้วย

    - ตามตำนานและนิทานพื้นบ้านสากลต่างๆ ที่กำหนดให้ตัวเอกมีแม่เป็นมนุษย์แต่มีพ่อเป็นเดรัจฉาน เช่น ช้าง ราชสีห์ ฯลฯ (แต่เดิมกำหนดให้เป็นเทวดาแปลงมา) หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว อาจวิเคราะห์ได้ว่า การกำหนดให้ตัวเอกมีพ่อเป็นสัตว์ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นนัยยะกลวิธีในการเสียดสีสังคมในยุคสมัยนั้นๆ อย่างปราณีตและแยบยลว่า ในสังคมของสมัยนั้น มันไม่มีมนุษย์ผู้ชายดีๆ เหลือไว้ให้ทำพันธุ์เลยก็เป็นได้ (เป็นยุคสมัยที่สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ตกต่ำยิ่งกว่าเดรัจฉาน โอกาสที่ผู้หญิงดีๆ สักคนจะได้พบเจอกับผู้ชายดีๆ นั้นมีน้อยมาก น้อยยิ่งกว่าการได้พบเจอกับสัตว์ป่าที่เป็นมิตรเสียอีก)

    อนึ่ง ในโลกวรรณกรรมและแฟนตาซีสากล การที่มนุษย์กับปีศาจรึสัตว์ประหลาดซึ่งมีขนาดร่างกายแตกต่างผิดกันอย่างเห็นได้ชัดและมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันแบบสุดโต่งจนไม่สามารถใช้วิธีการตามปกติเพื่อให้ตั้งครรภ์ได้ มีลูกด้วยกันได้อย่างไร เช่นกรณีมนุษย์กับมังกร ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์กับต่างสายพันธุ์นี้ ก็น่าจะเกิดจากการตั้งครรภ์แบบ " อโลฉปานคัพภะ " เป็นอีกกรณีหนึ่งได้เช่นกัน

    ๔.นาภีปรามาสนคัพภะ (Nabhiparamasanagabbha)

    [นาภิปรามสเนน คพฺภคฺคหณํ- nābhiparāmasanena gabbhaggahaṇaṃ]

    - เป็นการตั้งครรภ์ด้วยการที่บุรุษใช้นิ้วมือรึฝ่ามือของตนสัมผัสบริเวณสะดือของฝ่ายสตรี ในเวลาสตรีนั้นมีระดู

    ในพระไตรปิฎก มีกรณีตัวอย่างบันทึกไว้ว่า ผู้ที่ถือกำเนิดกระบวนการนี้ มีอยู่๓ท่าน ได้แก่ พระสุวรรณสาม (พระสามดาบสโพธิสัตว์) มัณฑัพยมาณพ และพระเจ้าจัณฑปัชโชต จากข้อมูลที่ค้นพบ กระบวนการนี้ไม่ใช่วิสัยที่ปุถุชนทั่วไปจะสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในระดับดาบสผู้ทรงศีลที่มีฌานวิสัยรองรับเป็นที่ตั้ง จึงจะสามารถใช้กระบวนการนี้ทำให้ฝ่ายหญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ด้านการวิเคราะห์จึงขอละไว้

    การตั้งครรภ์ทั้ง ๔ข้อที่ผ่านมานี้ ยังคงต้องอาศัยทั้งฝ่ายชาย (เพศผู้) และฝ่ายหญิง (เพศเมีย) อยู่ ทว่าการตั้งครรภ์ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยฝ่ายชาย (เพศผู้) เป็นองค์ประกอบในการตั้งครรภ์ และน่าจะตรงกับรึใกล้เคียงกับกระบวนการที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบและได้ตั้งชื่อเรียกไว้ว่า Parthenogenesis หรือ การสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศผู้ เป็นการตั้งครรภ์เพื่อยืดเวลาดำรงเผ่าพันธุ์ในสถานการณ์วิกฤติที่สุดไม่ให้สูญสิ้นไป ซึ่งกระบวนการนี้สามารถพบได้มากในสัตว์ไร้กระดูกสันหลัง เช่น แมลงหลากสายพันธุ์ แต่ในกรณีของสัตว์มีกระดูกสันหลังนั้น แม้จะพบว่าสามารถตั้งครรภ์ด้วยกระบวนการนี้ได้อยู่หลายสายพันธุ์แต่ก็ยังนับว่าน้อยกว่าพวกแมลง

    อนึ่ง การตั้งครรภ์ด้วยกระบวนการ Parthenogenesis นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็ยังไม่สามารถระบุอย่างเจาะจงลงไปให้ชัดเจนได้ว่า อะไรกันแน่ที่เป็น “ตัวกระตุ้นจากภายนอก” ให้เกิดการตั้งครรภ์ตามกระบวนการที่ว่ามานี้ นอกจากการคาดคะเนจากผลการเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์อย่างรวมๆ ว่า สภาวะแวดล้อมที่ขาดแคลนเพศผู้จนเข้าขั้นวิกฤตเป็น “ตัวกระตุ้นจากภายนอก” เพียงอย่างเดียว

    ทว่า ผลจากการค้นพบเมื่อกว่า๒๕๐๐ปีที่ผ่านมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งถูกบันทึกไว้และสืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน คล้ายว่าได้มีการกล่าวถึง “ปัจจัยร่วม” ซึ่งน่าจะเป็นอีกองค์ประกอบส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการตั้งครรภ์ตามกระบวนการ Parthenogenesis ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์และเทคโนโลยีรึวิทยาการใดๆ ของมนุษย์เข้าแทรกแซงเลยแม้แต่น้อย ซึ่งในทางศาสนาพุทธได้จำแนกแยกย่อย การตั้งครรภ์ด้วยกระบวนการ Parthenogenesis ออกเป็น ๓หัวข้อด้วยกัน อันได้แก่

    ๕.ทัศนคัพภะ (Dassanagabbha)

    [ (รูป) ทสฺสเนน คพฺภคฺคหณํ-rūpadassanena gabbhaggahaṇaṃ]

    - เป็นการตั้งครรภ์ด้วยการที่สตรีได้จ้องดู (รูป)

    ในพระไตรปิฎก ได้มีการ (อุปมา?) ยกเป็นตัวอย่างไว้ว่า สตรีบางพวกในโลกนี้ ในเวลาที่ตนมีระดู เมื่อไม่ได้การเคล้าคลึงกับชาย จึงเข้าไปในเรือน จ้องดูชายด้วยอำนาจความกำหนัดพอใจ (แล้วก็ตั้งครรภ์) เหมือนนางสนมชาววัง ฉะนั้น นางย่อมตั้งครรภ์ เพราะการจ้องดูชายนั้น การตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะการจ้องดูรูป ด้วยอาการอย่างนี้

    แม้ว่า ตัวอย่างที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกและได้มีการถอดความเป็นภาษาไทย จะดูแปลกๆ แปร่งๆ อยู่บ้างก็ตามที แต่หลังจากวิเคราะห์แล้ว สามารถสรุปเป็นทฤษฎีคร่าวๆ ออกมาได้ว่า อาจเป็นกรณีของพวกสัตว์เพศเมียที่ถูกจับขังแยกจากเพศผู้อย่างเด็ดขาด (อาจอยู่ตามสวนสัตว์รึตามสถาบันวิจัย) แต่เพศเมียเหล่านั้นยังสามารถมองเห็นร่างของเพศผู้ที่ถูกขังแยกเอาไว้ต่างหากจากอีกที่หนึ่งได้อยู่ (เช่น กรณีที่ถูกขังอยู่ในกรงรึห้องกระจกใสที่สามารถมองเห็นภายนอกได้บางส่วน) และอาจเกิดขึ้นได้บ้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติที่มีสภาพแวดล้อมนี้ขาดแคลนเพศผู้จนเข้าขั้นวิกฤต (แต่หากว่ากันจริงๆ การที่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติขาดแคลนเพศผู้ ทว่าเพศเมียยังสามารถมองเห็นเพศผู้ได้อยู่นี้ น่าจะเกิดขึ้นจริงได้ยากมากๆ ดังนั้น กรณีนี้จึงน่าจะเกิดกับกลุ่มสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะอย่างมากกว่า)

    เพศเมียซึ่งตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนเพศผู้จนเข้าขั้นวิกฤตนั้น จึงถูกกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก คือ ภาพของเพศผู้ ที่มากระทบตา (ระบบประสาทการรับภาพ) ผนวกกับอยู่ในช่วงมีระดู (ตกไข่) อยู่พอดี จึงทำให้เกิดการกระตุ้นจากภายในตนเอง จนสามารถตั้งครรภ์ขึ้นมาได้เองตามกระบวนการ Parthenogenesis ดังกล่าว

    ๖.สัทเทนคัพภะ (Saddenagabbha)

    [สทฺเทน คพฺภคฺคหณํ-saddena gabbhaggahaṇaṃ]

    - เป็นการตั้งครรภ์ด้วยการที่สตรีได้ยินเสียง

    ในพระไตรปิฎก ได้มีการยกเป็นตัวอย่างไว้ว่า ในกาลทุกเมื่อ คือในกาลทั้งปวง (ที่) นกยางตัวผู้ย่อมไม่มีในกำเนิดนกยาง คือในชาตินกยางฉันใด

    หากจะมีคำถามสอดเข้ามาว่า เมื่อไม่มีตัวผู้ พวกนกยางจะตั้งครรภ์ได้อย่างไร? ตอบว่า เมื่อเมฆครางกระหึ่ม คือทำเสียง นางนกยางเหล่านั้นได้ฟังเสียงเมฆร้องย่อมตั้งครรภ์ในกาลทุกเมื่อ คือในกาลทั้งปวง อธิบายว่า ย่อมทรงฟองไข่ไว้ เมฆยังไม่ครางกระหึ่ม คือเมฆยังไม่ทำเสียงเพียงใดคือตลอดกาลมีประมาณเท่าใด นางนกยางทั้งหลายก็ทรงครรภ์คือฟองไข่ไว้เป็นเวลานาน คือโดยกาลนานเพียงนั้น คือตลอดกาลมีประมาณเท่านั้น เมื่อใดคือกาลใด เมฆฝนตกลงมาคือร้องครางโดยปการะชนิดต่างๆ แล้วตกลงมา คือหลั่งสายฝนตกลงมา เมื่อนั้นคือกาลนั้น นางนกยางทั้งหลายย่อมพ้นจากภาระคือการทรงครรภ์ อธิบายว่า ตกฟอง (ออกไข่)

    อนึ่ง บรรดานกตระกรุมทั้งหลาย (นกยาง) ชื่อว่านกตระกรุมตัวผู้ย่อมไม่มี นางนกตระกรุมเหล่านั้น ในเวลาที่ตนมีระดู ครั้นได้ฟังเสียงเมฆ (คำราม) แล้ว ย่อมตั้งครรภ์

    ถึงแม่ไก่ทั้งหลายจะมากตัวก็ตาม ในกาลบางครั้ง ครั้นได้ฟังเสียงไก่ผู้ตัวเดียว (ขัน) ก็ย่อมตั้งครรภ์ได้ ถึงแม่โคทั้งหลาย ครั้นได้ฟังเสียงโคอุสภะ (โคตัวผู้) แล้ว ก็ย่อมตั้งครรภ์เหมือนอย่างนั้น การตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะเสียง ด้วยอาการอย่างนี้

    กรณีของ สัทเทนคัพภะ สังเกตได้ว่าน่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในที่คุมขังแยกและถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติซึ่งทั้ง๒สภาพแวดล้อมนี้ขาดแคลนเพศผู้จนเข้าขั้นวิกฤตเหมือนกันทั้งคู่เช่นเดียวกับ ทัศนคัพภะ แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถจำแนกตามข้อมูลตามพระไตรปิฎกที่ได้ยกมาออกเป็นอีก ๒กรณี ดังนี้

    ในกรณีของการตั้งครรภ์เพราะได้ยินเสียงคำรามร้องจากเมฆ เป็นตัวอย่างของการถูกกระตุ้นจากเวลาตามฤดูกาล ซึ่งเป็นสัญญาณของฤดูฝน ดังนั้น กรณีนี้จึงน่าจะเป็นการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยคือ การสภาพอากาศรึฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ผนวกกับการอยู่ในช่วงมีระดู (ตกไข่) อยู่พอดี จึงทำให้เกิดการกระตุ้นจากภายในตนเอง จนสามารถตั้งครรภ์ขึ้นมาได้เองตามกระบวนการ Parthenogenesis ขึ้นมา

    ในกรณีของการตั้งครรภ์เพราะได้ยินเสียงร้องจากเพศผู้ เป็นเพราะเพศเมียเหล่านั้นยังสามารถได้ยินเสียงของเพศผู้ได้อยู่ เพศเมียซึ่งตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนเพศผู้จนเข้าขั้นวิกฤตนั้น จึงถูกกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก คือ เสียงของเพศผู้ ที่มากระทบหู (ระบบประสาทการรับเสียง) ผนวกกับอยู่ในช่วงมีระดู (ตกไข่) อยู่พอดี จึงทำให้เกิดการกระตุ้นจากภายในตนเอง จนสามารถตั้งครรภ์ขึ้นมาได้เองตามกระบวนการ Parthenogenesis (แต่หากว่ากันจริงๆ การที่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติขาดแคลนเพศผู้ ทว่าเพศเมียยังสามารถได้ยินเสียงเพศผู้ได้อยู่นี้ น่าจะเกิดขึ้นจริงได้ยากมากๆ ดังนั้น กรณีนี้จึงน่าจะเกิดกับกลุ่มสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะอย่างมากกว่า)

    แต่ในกรณีที่พระไตรปิฎกบันทึกระบุไว้ว่า สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว (โค) นั้น ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันข้อสรุปได้

    ๗.คันธนคัพภะ (Gandhanagabbha)

    [คนฺเธน คพฺภคฺคหณํ-gandhena gabbhaggahaṇaṃ]

    - เป็นการตั้งครรภ์ด้วยการที่สตรีสูดดมกลิ่น

    ในพระไตรปิฎก ได้มีการยกเป็นตัวอย่างไว้ว่า อนึ่ง แม่โคทั้งหลายนั่นเอง ในกาลบางครั้ง ย่อมตั้งครรภ์ได้เพราะกลิ่นของโคตัวผู้ การตั้งครรภ์ ย่อมมีได้เพราะกลิ่น ด้วยอาการอย่างนี้

    จากการวิเคราะห์แล้ว สัทเทนคัพภะ น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งในสถานที่คุมขังแยกและถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติซึ่งในสภาพแวดล้อมนี้ขาดแคลนเพศผู้จนเข้าขั้นวิกฤตได้พอๆ กัน กล่าวคือ ภายในสถานที่คุมขังเพศเมีย รึถิ่นที่อยู่ของเพศเมียเหล่านั้น อาจเคยมีเพศผู้อาศัยอยู่มาก่อน แต่ในกาลนั้นกลับไม่เหลือเพศผู้ให้ได้เห็นตัวเป็นๆ และฟังเสียงกันสดๆ อีกต่อไปแล้ว ทว่า ก็ยังคงไว้ได้แค่กลิ่นที่ไม่เคยเลือนลาง ของเพศผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในที่แห่งนั้น เมื่อเพศเมียจึงถูกกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก คือ กลิ่นของเพศผู้ ที่มากระทบจมูก (ระบบประสาทการรับกลิ่น) ผนวกกับอยู่ในช่วงมีระดู (ตกไข่) อยู่พอดี จึงทำให้เกิดการกระตุ้นจากภายในตนเอง จนสามารถตั้งครรภ์ขึ้นมาได้เองตามกระบวนการ Parthenogenesis แม้ว่าสถานที่เหล่านั้นจะทิ้งไว้เพียงอดีตที่ไม่เคยหวนมา แล้วก็ตามที

    แต่ในกรณีที่พระไตรปิฎกบันทึกระบุไว้ว่า สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว (โค) นั้น ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันข้อสรุปได้

    โดยทั่วไป สัตว์ที่เกิดจากกระบวนการ Parthenogenesis จะเป็นเพศเมีย แต่หากอยู่ในสถานการณ์วิกฤติขาดแคลนอาหาร สัตว์ผู้เป็นแม่ก็สามารถใช้กระบวนการ Parthenogenesisทำให้เกิดลูกๆ เพศผู้ได้เช่นกัน (นัยว่าเพื่อให้ลูกๆ ทั้งเพศผู้และเพศเมียผสมพันธุ์กันเองเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ในระยะหนึ่ง)

    ตามที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบนั้น สัตว์ที่เกิดจากกระบวนการ Parthenogenesis ไม่ว่าจะเป็นเพศผู้รึเพศเมียก็ตาม จะมีสุขภาพที่อ่อนแอเนื่องจากมีพันธุกรรมไม่สมบูรณ์ (คือมีแต่ของทางแม่ฝ่ายเดียว) ทว่าในความเห็นส่วนตัวแล้ว หากสัตว์ที่มียีน (Gene) เพียงครึ่งเดียวเหล่านั้น ได้ผสมพันธุ์กับสัตว์ตัวอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน บรรดาทายาทของสัตว์เหล่านั้นก็อาจกลับมามีพันธุกรรมครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถขยายพันธุ์จนผ่านพ้นวิกฤติขาดแคลนเพศผู้ไปได้เช่นกัน (แต่ก็น่าคิดน่าสงสัยเหมือนกันว่า หากเพศผู้และเพศเมียที่เกิดจากกระบวนการ Parthenogenesis ด้วยกันทั้งคู่ แต่คนละแม่กัน หากได้มาผสมพันธุ์กัน ทายาทที่ออกมาจะมีพันธุกรรมที่สมบูรณ์ได้รึเปล่า???)

    กล่าวโดยสรุป การตั้งครรภ์ด้วยกระบวนการ Parthenogenesis นั้น นอกจากจะมีสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนตัวผู้อย่างวิกฤติเป็นตัวกระตุ้นบีบคั้นตามที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตพบแล้ว ข้อมูลจากพระไตรปิฎกยังได้เสริมเพิ่มเติมอีกว่า ตัวกระตุ้นที่ให้เกิดการตั้งครรภ์ตามกระบวนการ Parthenogenesis มีอยู่ถึง ๓ รูปแบบ คือ การถูกกระตุ้นด้วย ภาพ เสียง และกลิ่น ของเพศผู้ที่เพศเมียได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยร่วมที่น่าจะสำคัญในการกระตุ้นเพศเมียจากภายในให้เกิดการตั้งครรภ์ตามกระบวนการ Parthenogenesis ทั้งสิ้น

    นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกยังได้กล่าวถึง การสืบพันธุ์ของบรรดาสิ่งมีชีวิต๒เพศ (อุภโตพยัญชนก) ซึ่งถูกจำแนกให้เป็นระเบียบไว้ ดังนี้

    ๑.สตรีอุภโตพยัญชนก

    ๒.บุรุษอุภโตพยัญชนก

    ใน ๒ ชนิดนั้น

    อิตถีนิมิตของสตรีอุภโตพยัญชนกปรากฏ-ปุริสนิมิตเป็นของลี้ลับ

    ปุริสนิมิตของบุรุษอุภโตพยัญชนกปรากฏ-อิตถีนิมิตเป็นของลี้ลับ

    เมื่อสตรีอุภโตพยัญชนกทำหน้าที่ของบุรุษในสตรีทั้งหลาย อิตถีนิมิตย่อมเป็นของลี้ลับ ปุริสนิมิตปรากฏ

    เมื่อบุรุษอุภโตพยัญชนกเข้าถึงความเป็นสตรีสำหรับพวกบุรุษ ปุริสนิมิตเป็นของลี้ลับ อิตถีนิมิตปรากฏ

    เหตุซึ่งทำให้ต่างกันแห่งอุภโตพยัญชนก ๒ ชนิดนั้นดังนี้ คือสตรีอุภโตพยัญชนกมีครรภ์เองด้วย ให้สตรีอื่นมีครรภ์ได้ด้วย ส่วนบุรุษอุภโตพยัญชนกมีครรภ์เองไม่ได้ แต่ให้สตรีอื่นมีครรภ์ได้

    วิเคราะห์ได้ว่า ในยามปกติ อุภโตพยัญชนกที่เป็นเพศเมียโดยชาติกำเนิด ก็จะมีอวัยวะของเพศเมียเป็นที่ปรากฏ แต่อวัยวะเพศผู้นั้นจะไม่ปรากฏ เช่นเดียวกับอุภโตพยัญชนกที่เป็นเพศผู้โดยชาติกำเนิด ที่จะปรากฏอวัยวะเพศผู้ตามชาติกำเนิดและไม่ปรากฏอวัยวะของเพศเมีย

    แต่เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวิกฤติขาดแคลนเพศตรงข้ามในพื้นที่นั้นๆ อุภโตพยัญชนกที่เป็นเพศเมียซึ่งอยู่ในถิ่นที่ขาดแคลนเพศผู้ ก็จะ “กลับเพศ” มาทำหน้าที่แทนเพศผู้ที่หายไปจากวงจรเพื่อทดแทนสมดุลย์ประชากรเพศผู้ที่ขาดหายไป ซึ่งอุภโตพยัญชนกเพศเมียโดยกำเนิดนั้นก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถทำให้เพศเมียตัวอื่นตั้งครรภ์ได้ และตัวเองก็สามารถตั้งครรภ์ได้เหมือนกัน

    แต่ในทางกลับกัน อุภโตพยัญชนกเพศผู้โดยกำเนิด สามารถทำให้เพศเมียตัวอื่นตั้งครรภ์ได้เพียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้ ซึ่งดูแล้วความสามารถในจุดนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเพศผู้ปกติ

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์กลับเพศนั้น มีทั้งเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นได้ด้วยฝีมือมนุษย์ที่ได้ทำการกระตุ้นสัตว์เหล่านั้นให้เกิดการกลับเพศทั้งโดยเจตนาเพื่อจุดประสงค์บางอย่างและไม่ได้เจตนา (เพราะสัตว์เพศเมียมักมีความก้าวร้าวน้อยกว่าเพศผู้)

    ในขณะที่กระบวนการ “กลับเพศ” ตามธรรมชาติ มักเป็นไปเพื่อรักษาสมดุลย์ให้คงอยู่ แต่การแทรกแซงของมนุษย์จะทำให้เกิดการเสียสมดุลย์เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะพยายามบอกว่าควบคุมไว้ดีเลิศขนาดไหนก็ตาม และการ “กลับเพศ” นี้ยังเคยถูกใช้เป็นทฤษฎีในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง Jurassic Park อันว่าด้วยการใช้ดีเอ็นเอของกบสายพันธุ์หนึ่งเติมเต็มช่องว่างที่หายไปในดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ที่สกัดออกมาแล้วมีสภาพไม่สมบูรณ์ ไดโนเสาร์ทั้งหมดจึงถูกโคลนให้เป็นตัวเมียเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่ภายหลังกลับพบว่า เหล่าไดโนเสาร์กำลังขยายพันธุ์ เนื่องจาก กบบางชนิดเช่น เวสต์แอฟริกันบูลฟร็อก สามารถเปลี่ยนเพศในภาวะที่เพศตรงข้ามขาดแคลนได้ จึงทำให้ไดโนเสาร์ที่มียีนส์ของพวกมันมีความสามารถนั้นเช่นกัน

    - “แต่ละชีวิต...ก็มีวิถีของมัน” - Dr. Ian Malcolm / Jurassic Park (1993)

    ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพศหญิงจึงถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของการให้กำเนิดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล


     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×