ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คู่มือภาคสนาม ป่าหิมพานต์ - พฤกษศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #1 : กำเนิดแดนหิมพานต์

    • อัปเดตล่าสุด 10 ก.ค. 66


      การเกิดและดับของจักรวาลทั้งหลายไม่อาจหาจุดเริ่มต้นปฐมแรกเริ่มในการเกิดและจุดจบอวสานได้ เนื่องด้วยว่าการเกิด-ดับของจักรวาลเป็นวงจรไม่รู้จบ หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านวาระแห่งการเกิดดับมานับครั้งไม่ถ้วนเป็นเวลาเนิ่นนานจนเกินจะนับ จึงเรียกได้ว่า เป็นวัฏฏะแห่งการเกิดดับอันหาที่สุดมิได้ ฯ


     

      แดนหิมพานต์ ถือกำเนิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กลุ่มนักษัตรทั้งหลาย ถูกหลอมรวมก่อตัวขึ้นปรากฏเป็นรูปดาวแล้ว เมื่อ กลางคืน-กลางวัน กึ่งเดือน-เดือนหนึ่ง ฤดู ปี ได้ปรากฏขึ้นตามลำดับ ในวันที่ปรากฏพระจันทร์พระอาทิตย์ขึ้นนั่นเอง ภูเขาสิเนรุ ภูเขาจักรวาล และภูเขาหิมพานต์ก็ปรากฏขึ้น ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน๔  ไม่ก่อนไม่หลัง ฯ


     

      อนึ่ง รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า หิมพานต์ คือคำว่า หิมวันต์ มาจากคำว่า เหม ซึ่งแปลว่า ทอง ผสมกับคำว่า วันตะ ซึ่งแปลว่า คายแล้ว ดังนั้น ดินแดนหิมวันต์ จึงมีความหมายว่า ดินแดนอันคายแล้วซึ่งสีทอง หรือก็คือ ดินแดนซึ่งเปล่งประกายสีทองออกมานั่นเอง ฯ


     

      ดินแดนหิมพานต์ มีอาณาบริเวณกว้างขวาง กล่าวคือ มีเนื้อที่ราว ๓,๐๐๐ โยชน์ มีขุนเขารายล้อมเป็นวงรอบอยู่ ๗ ชั้น โดยไล่จากชั้นนอกสุดเข้าไปถึงชั้นในสุดได้ ดังนี้


     

    ๑. จูฬกาฬ - ทิวเขาดำอ่อน

    ๒. มหากาฬ - ทิวเขาดำเข้ม

    ๓. นาคปลิเวฏฐนา -  ทิวเขาอันห่อหุ้มรักษาเหล่านาค เป็นสถานที่เหล่านาคีมารวมตัวกันในฤดูฝนเพื่อคลอดลูก(ปาลิ+เวฐน)

    ๔. จันทคัพพะ,จันทคัพภะ - ทิวเขาอันมีท้องที่สีแสงจันทรา(ขึ้น๑๕ค่ำ)

    (จันทสัมภระ ก็เรียก)

    ๕. สุริยคัพพะ,สุริยคัพภะ - ทิวเขาอันมีท้องที่สีแสงสุริยา

    (สุริยสัมภระ ก็เรียก)

    ๖. สุวัณณปัสสะ - ทิวเขาอันเปล่งสีทองออกมา

    ๗. หิมวันตะ - ทิวเขาอันคายแล้วซึ่งสีทอง

      อนึ่ง เทือกเขาทั้ง ๗ ชั้นนี้ แต่ละชั้นของเทือกเขาประกอบด้วยยอด ๑๒,๐๐๐ ยอด สิริรวมยอดเขาทั้งหมดจากเทือกเขาทั้ง ๗ ชั้น ได้เป็นจำนวน ๘๔,๐๐๐ ยอด (ไม่นับรวมยอดเขาขนาเล็กซึ่งมีอยู่ในเทือกเขาแต่ละชั้นอีกเป็นจำนวนมากมายเกินจะนับ) นอกจากนี้ ในหลายจุดก็มีหมอกหนาบดบังทัศนวิสัย ดังนั้นการลำดับจับทิศทางในการสำรวจสถานที่ต่างๆ ตามเทือกเขาแต่ละชั้น จึงเป็นไปได้ยากยิ่ง

     

      ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแดนหิมพานต์ในอาณาเขตขุนเขาทั้ง ๗ ชั้นนี้ มีด้วยกัน ๓ รูปแบบ คืิอ

    ๑. เป็นพื้นที่อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นสถานที่เที่ยวไปของทั้งของหมู่สัตว์ และหมู่มนุษย์

    ๒. เป็นพื้นที่อันไปได้ยาก ขรุขระ เป็นสถานที่เที่ยวของหมู่สัตว์เท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์

    ๓. เป็นพื้นที่อันน่ารื่นรมย์ ราบเรียบ เป็นสถานที่เที่ยวไปของทั้งของหมู่สัตว์ทั้งของหมู่มนุษย์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×