คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : ความเป็นมาเครื่องแบบทหาร
ครูฝึกประจำกองการศึกษา กรมการรักษาดินแดน อธิบายถึงความเป็นมาของเครื่องแบบทหารไทย ว่าเครื่องแบบทหารแต่ละเหล่านั้นล้วนมีที่มาที่ไปของตัวเอง
แต่หลักๆ ก็คือ เครื่องแต่งกายจะต้องมีรูปแบบที่เหมือนกันในแต่ละเหล่าทัพ หรือแต่ละหน่วย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม
แสดงฝ่ายและสังกัด ยศ ตำแหน่ง และจะต้องเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติภารกิจในสนามรบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อการซ่อนพรางให้กลมกลืนกับภูมิประเทศ
ป้องกันอันตรายจากอาวุธและสารเคมี เช่น เสื้อเกราะ หน้ากากป้องกันไอพิษ
ในประเทศไทยชุดทหารจะเน้นไปที่สีเขียว เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเราเป็นป่า แต่ถ้าเป็นประเทศที่เป็นทะเลทราย หรือจะส่งทหารไปร่วมปฏิบัติภารกิจในทะเลทราย ก็จะใช้ชุดสีน้ำตาลอ่อน มีลวดลายที่กลมกลืนกับผิวทราย ผ้าเนื้อบางระบายอากาศ เหมือนกับที่ทหารอเมริกันใช้ในสงครามอิรัก
ส่วนประเทศที่อยู่ในเมืองหนาว ชุดทหารมักจะเป็นสีขาวและหนา เหมาะสำหรับการรบในพื้นที่หิมะ
พัฒนาการเครื่องแบบทหารไทย
ชุดทหาร “เปลี่ยนไป”...
ลวดลายบนผืนผ้ามาจากไหน
การแต่งกายของนักรบไทยนั้นมีประวัติความเป็นมาแต่สมัยก่อนสุโขทัยเลยทีเดียว ซึ่งเราจะหาชมการแต่งกายเครื่องแบบทหารได้ที่ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต เขต อ.ลำลูกกา ซึ่งจะแสดงพัฒนาการเครื่องแบบทหารไทยไว้อย่างละเอียด
- สมัยน่านเจ้า เชียงแสน และสุโขทัย
การแต่งกายทหารสมัยน่านเจ้านั้น ทหารไว้ผมมวย สวมเสื้อยันต์ สักยันต์ทั้งตัว นุ่งผ้าหยักรั้ง รัดผ้าประเจียดที่หัวไหล่ อาวุธดาบสองมือ และธนู รัดข้อเท้า ไม่สวมรองเท้า เป็นทหารโบราณที่เรามักคุ้นตากันดีในละครประวัติศาสตร์ ต่อมาในสมัยสุโขทัย เริ่มมีการนำเอาเกราะ หมวก เข้ามาใช้บ้าง แต่ยังคงเป็นแบบสวมเสื้อแขนสั้นคอกลม กางเกงขาสั้นยาวแค่เข่า มีผ้าผูกที่เอว สวมหมวกทรงประพาส มือขวาถือดาบ มือซ้ายถือโล่ หรือใช้อาวุธอื่นตามถนัด
- สมัยกรุงศรีอยุธยา
การแต่งกายสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากอาณาจักรข้างเคียงอย่าง สุโขทัย และล้านนา ปะปนกัน แต่กลางถึงปลายสมัย ชุดทหารเริ่มเป็นเสื้อแขนยาว มีหมวกที่บอกถึงตำแหน่งทางทหาร และเสื้อเกราะป้องกันศาสตราวุธ ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเหล่า
- สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
ลักษณะเครื่องแบบ คงมีลักษณะคล้ายกับสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากเป็นสมัยสร้างเมืองใหม่ และรับวัฒนธรรมจีนเข้ามามาก จึงทำให้ทหารและขุนนางนุ่งกางเกงแบบจีน เพื่อสะดวกในการออกรบ แบบเสื้อนั้นเป็นแบบคอกลมแขนครึ่งท่อนผ่าอกตลอด มีดุมผ้าขดเกี่ยวไว้ มีกระเป๋าใบใหญ่ด้านหน้าสำหรับใส่สิ่งของ
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีการติดต่อค้าขายและเจรจาทางการทหารกับชาติตะวันตก ทำให้เครื่องแบบทหารเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเข้ายุคสากลมากขึ้น และเห็นเด่นชัดที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจัดให้ทหารและมหาดเล็กแต่งเครื่องแบบอย่างทหารฝรั่ง
เครื่องแบบทหารของไทยปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา จากกลุ่มนายทหารที่เข้าไปศึกษาต่อด้านการทหารจากอังกฤษ รวมทั้งการเข้าร่วมรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1-2 ทำให้ชุดทหาร รวมทั้งยุทธวิธีการรบ การฝึกต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกับของอเมริกา แตกต่างกันตรงที่งบประมาณและความทันสมัยของเครื่องไม้เครื่องมือเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่องแบบของเราจะนำมาจากต่างชาติ แต่ทหารไทยก็ยังคงเอกลักษณ์ ซึ่งความรักสงบ และพร้อมรบเฉพาะยามจำเป็นเสมอ
ชุดลายพรางของทหาร (Military Camouflage) ได้รับแนวคิดมาจากบรรดาสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด ที่สามารถเปลี่ยนสีตัวเองให้กลืนไปกับสภาพแวดล้อม (camouflage) มนุษย์จึงนำเอาหลักการนี้มาใช้ในยุทธวิธีการรบทางการทหารตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มาแล้ว โดยเริ่มจากการทาหน้าตาเพื่ออำพรางตัวในป่า น่าประหลาดที่ยุทธวิธีการพรางตัวเริ่มมาจากจุดเล็กๆ ในการฝึกลูกเสือในอังกฤษ ก่อนที่จะมีการนำไปใช้จริงในกองทัพอังกฤษที่ไปประจำการที่อินเดีย ในปี 1857 โดยการทาตัวและหน้าตาเป็นสีต่างๆ ก่อนจะพัฒนาเป็นชุดสีกากี อันมาจากภาษาปากีสถาน แปลว่า ฝุ่น สำหรับเครื่องแบบทหารชุดแรกเกิดที่อังกฤษ ซึ่งนำไปใส่ครั้งแรกในสงครามบัวร์ ที่แอฟริกาใต้ เมื่อปี 1902 เป็นชุดสีกากี
สหรัฐอเมริกาเองก็ออกแบบชุดทหารเป็นสีกากีตามมาติดๆ ในปีเดียวกัน ส่วนรัสเซียนั้นเริ่มมีชุดทหารกับเขาบ้าง ในปี 1908 และประเทศที่ซุ่มออกแบบชุดทหาร อย่าง อิตาลี ระหว่างปี 1906-1909 กลับแหวกแนวด้วยการออกแบบชุดมาเป็นสีเขียวหม่น เพื่อให้เข้ากับภูมิประเทศแถบเทือกเขาแอลป์ ส่วนเยอรมนีที่มีอากาศหนาว ออกแบบชุดทหารเป็นสีเทา ออกมาครั้งแรกในปี 1910
คนที่มาเปลี่ยนเทรนด์ใหม่ของชุดทหารให้มีสีสันขึ้น โดยเพิ่มสีแดงเข้าไป ได้แก่ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบกางเกงสีแดงของทหารฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ช่วงปี 1915) เข้ากับแจ็กเกตสีน้ำเงิน และเข็มขัดสีดำ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศแรกที่ตั้งฝ่ายออกแบบชุดลายพรางขึ้นอย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน โดยการรวมเอาทั้งจิตรกร ประติมากร ศิลปินนักออกแบบฉากมาทำงานร่วมกัน จนได้ออกมาเป็นเสื้อลายพรางในยุคแรก ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากผ้าตาข่าย และอาศัยการระบายสีลงไปสดๆ
อังกฤษเห็นฝรั่งเศสทำอย่างนั้น ก็ตั้งฝ่ายออกแบบชุดลายพรางของตัวเองขึ้นมาบ้างในปี 1916 เช่นเดียวกับอเมริกา ในปี 1917 และพยายามก้าวล้ำกว่า ด้วยการตั้งหน่วยออกแบบชุดลายพรางสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ในปี 1918 นอกจากนั้น ยังมีเยอรมนี เบลเยียม รัสเซีย โดยเริ่มมีการใช้คำว่า ชุดลายพราง หรือ camouflage เป็นครั้งแรกในอังกฤษ ปี 1917
ลายพรางกลายเป็นลวดลายที่โด่งดังขึ้นมานับจากนั้น และที่โด่งดังที่สุดคือ หมวกเหล็กลายพรางของทหารเยอรมันที่เรียกว่า สทาห์ลไฮลม์ อันประกอบด้วยสีเขียวและน้ำตาล และก็นับว่าเป็นแพตเทิร์นลายพรางอันเป็นที่นิยมมากที่สุดจนกระทั่งทุกวันนี้
ความคิดเห็น