ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ซาวัง อัจฉริยะสุดพิลึก

    ลำดับตอนที่ #14 : มีทฤษฏีอธิบายกลุ่มอาการซาวังไหม

    • อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 54


    มีทฤษฏีอธิบายกลุ่มอาการซาวังไหม

    ปัจจุบันยังไม่มีทฤษฏีหนึ่งทฤษฏีใดที่สามารถอธิบายกลุ่มอาการซาวัง และความสามารถพิเศษของคนที่เป็นซาวังได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน แต่ทฤษฏีหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวแบบง่ายๆ ได้ว่า กลุ่มอาการซาวังเกิดจากการที่สมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย โดยสมองซีกขวาได้เข้ามาทำหน้าที่ทดแทน (left brain damage injury with right brain compensation)

                    แม้ว่าการอธิบายโดยแยกสมองออกเป็นสองซีกนี้จะฟังดูง่าเกินไปสักหน่อย แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ก็คือ ทักษะและความสามารถของซาวังส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวข้องกับสมองซีกขวาและทักษะที่ไม่มี (หรือไม่ค่อยพบ) ในกลุ่มคนที่เป็นซาวังนั้นเกี่ยวข้องกับสมองซีกซ้าย (เช่น ความคิดเชิงตรรกะ และความคิดเชิงนามธรรม)

                    ข้อมูลจากเครื่องมือไฮเทคสมัยใหม่ เช่น CT (computer tomography) และ MRI (magnetic resonance imaging) ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ เนื่องจากพบข้อบกพร่องในสมองซีกซ้ายของคนที่เป็นซาวังจำนวนหนึ่ง

                    ยังพบอีกด้วยว่า อัตราส่วนของผู้ชายต่อผู้หญิงที่เป็นซาวังมีค่าประมาณ 6 : 1 ซึ่งไปกันได้กับการค้นพบที่ว่า ในระหว่างการพัฒนาของทารกในครรภ์นั้น สมองซีกซ้าย (ของทั้งชายและหญิง) จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ช้ากว่าสมองซีกขวาเสมอ ดังนั้นสมองซีกซ้ายจึงมีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ มากกว่าสมองซีกขวา ในกรณีของซาวังนี้มีการเสนอว่า อาจเกิดจากฮอร์โมนเพศชายคือเทสทอสเทอโรนที่ไหลเวียนอยู่ทำให้เซลล์ประสาทเกิดความเสียหาย (เรียกแบบง่ายๆ ว่า testosterone poisoning) โดยในกรณีของทารกเพศชายฮอร์โมนนี้จะพุ่งขึ้นสูงและอาจถึงระดับที่เป็นพิษต่อประสาทได้ นั่นคือ ผู้ชายจะมีความเสี่ยงที่จะมีสมองซีกซ้ายเสียหายมากกว่าผู้หญิง

                    น่าสนใจว่า ไม่เพียงผู้ชายจะมีโอกาสแสดงอาการซาวังมากกว่าผู้หญิงเท่านั้น แต่สถิติในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบในกลุ่มอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ผิดปกติ (central nervous system dysfuncion) ด้วย เช่น ภาวะเสียการอ่านรู้ความ (dyslexia) การพูดติดอ่าง (stuttering) ภาวะทำงานมากเกิน (hyperactivity) และออทิซึม (autism) เป็นต้น

                    มีแนวคิดสนุกๆ อีกอย่างหนึ่งที่น่ารู้ไว้ด้วย กล่าวคือ นักวิจัยบางท่าน เช่น อัลแลน สไนเดอร์ (Allan Snyder) เชื่อว่า ในตัวคนเราทุกคนนี้อาจมีความสามารถแบบซาวังซุกซ่อนอยู่แล้ว (ฝรั่งเล่นคำโดยเรียกว่า a little rain man in us all) เพราะเควมีกรณีที่ผู้ป่วยรายหนึ่ง คือ ออร์แลนโด เซอร์เรลล์ (Orlando Serrell) ถูกลูกเบสบอลกระแทกศีรษะเมื่อตอนอายุได้ 10 ขวบ หลังจากนั้นราว 2-3 เดือน เขาก็เริ่มท่องเลขทะเบียนรถยนต์ เนื้อเพลง รวมทั้งคำพยากรณ์อากาศต่างๆ ออกมาไม่ขาดปาก

                    แนวคิด “a little rain man in us all” นี้เองที่ทำให้บางคนคิดฝันไปไกลว่า ถ้าเราสามารถคิดค้นวิธีการที่ปลอดภัย (คือไม่ใช่เอาอะไรมากระแทกศีรษะ) ที่จะกระตุ้นความสามารถแบบซาวังออกมาใช้งานเฉพาะในเวลาที่ต้องการ ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง วันใดหากเรื่องนี้เกิดเป็นจริงขึ้นมา ก็คงจะกลายเป็นข่าวใหญ่เป็นแน่แท้ (สนใจใช้บริการอัดฉีดความเป็นอัจฉริยะนี่ไหมครับ :-P)

                    เท่าที่เล่ามานี้ ดูเหมือนว่าคนที่เป็น ซาวัง นั้นน่าจะคบได้ เพราะน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างได้ดีทีเดียว

                    แต่ถ้าเจอคนที่เป็น ซาดิสต์ ก็ควรจะรีบเอ่ย ซาโยนาระ แล้วเร่งหนีไปไกลๆ ครับ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×