ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แคนตอน 2 และต่อไปเรื่อยๆ

    ลำดับตอนที่ #3 : บทนำความรู้เกี่ยวกับแคน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 264
      1
      13 ต.ค. 49

    บทนำ

     แคน อัครมหาเครื่องดนตรีแห่งลุ่มน้ำโขง เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะมาก ลักษณะโครงสร้างการออกแบบ รวมถึงการเรียงลูกแคน เช่นแคนลูกนี้เสียงนี้ควรอยู่ลำดับที่เท่านี้ เป็นต้น ก็ลึกล้ำพิสดาร สำหรับคนที่เป่าแคนไม่เป็น หรือเป็นบ้าง แต่ได้ไม่หลายลาย(หรือหลายคีย์) อาจจะไม่เข้าใจถึงความลึกล้ำพิสดารอันนี้

         บทความเกี่ยวกับ แคน ที่ข้าพเจ้าได้นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงการรวบรวม เรียบเรียงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ช่างทำแคนที่บ้านสีแก้ว หมอแคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก รวมถึงหนังสือเรื่องแคนที่เขียนโดยอาจารย์สำเร็จ คำโมง โดยข้าพเจ้า ได้นำมาปะติดปะต่อเรียบเรียงใหม่ และอธิบายเสริมในบางประเด็น ตามความเข้าใจของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้า ไม่ใช่ช่างทำแคน ไม่ใช่หมอแคนที่ชำนาญ เป็นเพียงแค่เป่าแคนได้นิดหน่อย และมีความรู้ทางดนตรีเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

         รายละเอียดในบทความนี้ อาจจะมีไม่มากมาย เท่าที่ควรจะมี เพราะเรื่องแคน เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ผ่านบุคคล เช่นช่างแคน หมอแคน เป็นต้นมาหลายชั่วอายุคน จนมิอาจนับได้ หากจะรวบรวมให้ละเอียด จบสิ้นกระบวนความจริงๆ คงต้องเป็นหนังสือเล่มใหญ่เอาการทีเดียว ซึ่งข้าพเจ้าเอง คงไม่สามารถกระทำได้ขนาดนั้น เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับแคน แค่น้อยนิด แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่า บทความนี้ คงจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้สนใจบ้าง ไม่มากก็น้อย

         อนึ่ง ข้าพเจ้า ขอขอบคุณ ระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ตั้งแต่ผู้ให้กำเนิดแคน ให้กำเนิดลายแคน ช่างแคน หมอแคน ตลอดถึงผู้ชื่นชอบเสียงแคนทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้สืบทอดแคน ลายแคน จากอดีตอันหาต้นกำเนิดไม่ได้ จวบจนถึงปัจจุบัน แม้ผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน แคนและเสียงแคน ก็ไม่เคยเลือนหายจากแดนลุ่มน้ำโขง จนแคน ได้สมญานามว่า อัครมหาเครื่องดนตรีอมตะแห่งลุ่มน้ำโขง

    ความรู้ทั่วไปเรื่องแคน

     

    นักวิชาการด้านมานุษยดุริยางควิทยา จำแนกเครื่องดนตรีจำพวกแคนไว้ในกลุ่มเครื่องลม (Aerophone) ชนิดที่มีเสียงลิ้นอิสระ เสียงแคนเกิดจากการเป่า และการดูดกระแสลมผ่านลิ้นโลหะที่ฝังอยู่ในรูบากข้างลำท่อ ลิ้นแคนลิ้นเดิมให้เสียงระดับเดิมทั้งขาเป่า และขาดูดกระแสลมผ่าน จึงเรียกว่าเป็นลิ้นแบบอิสระ ดังกล่าวแล้ว

    การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้ว ผู้เป่าควบคุมระดับเสียงของลูกแคนได้ ด้วยการขยับปลายนิ้วมือทั้งสองข้างปิดเปิดรูนับ ซึ่งเจาะไว้ที่ส่วนเหนือเต้าของลูกแคนทุกลูก ลูกใดถูกปิดรู ลูกนั้นจะส่งเสียง นั่นคือ ใช้นิ้วบังคับระดับเสียง ใช้ลมบังคับเสียงและจังหวะ ตามอารมณ์ลายเพลง เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว .....เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถใช้ อุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ เลียนเสียงได้เหมือน เพราะอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ ให้อารมณ์เพลงไม่ได้ ยิ่งถ้าได้หมอแคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญมากๆ มาเป่าแคน ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น ฟังแล้ว เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ออนซอน ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่น ๆ มาเทียบได้

     

    นักดนตรีชาวไทยเรียกแคน 1 เครื่องว่า   “แคน 1 เต้า” ....ในขณะที่นักดนตรีชาวลาว เรียกว่า แคน 1 ดวงแคนเต้าหนึ่งประกอบด้วยลูกแคนหลายลูก ลูกแคนต่างลูก ให้เสียงต่างระดับกัน ระบบเสียงของแคน จึงขึ้นอยู่กับระดับเสียงต่างๆ ของลูกแคนที่รวมอยู่ในแคนแต่ละเต้า

    แคนทำจากไม้เฮี้ยน้อย ซึ่งช่างแคนไทยเรียกว่าไม้กู่แคน เกิดเสียงได้เพราะมีลิ้นโลหะติดอยู่ที่รอยเจาะข้างลำท่อลูกแคนลูกละลิ้น ลูกแคนแต่ละลูกมีระดับเสียงต่างกัน เพราะมีระยะห่างระว่างลิ้นกับรูแพวไม่เท่ากัน... รูแพวคือรูเสียงเจาะไว้ 2 รู เหนือและล่างลูกแคน ลูกแคนของแคน 1 เต้า จะถูกจัดเป็น 2 แพ สอดเรียงไว้ในเต้าแคน ผนึกส่วนที่ฝังลิ้นไว้ในเต้าแคน ด้วยขี้สูด มัดปลายแพลูกแคนที่โผล่ออกนอกเต้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้วยตอกเครือหญ้านาง หรือตอกหวาย

    การจำแนกประเภทของแคน จำแนกตามจำนวนลูกแคนที่ประกอบรวมกันอยู่ในเต้า มี 5 ประเภท คือ

    แคนหก มีลูกแคน 6 ลูก (3 คู่)

    แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก )

    แคนแปด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก)

    แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก)

    แคนสิบ มีลูกแคน 10 ลูก (5 คู่)

    แคนหกมีระดับเสียงอยู่ในมาตราเพนตะโทนิค (มี 5 โน้ต) นอกนั้น มีระบบเสียงเป็นมาตราไดอะโทนิค (มี 7 โน้ต)

     

    การเรียกบันไดเสียงของแคนแต่ละเต้า เรียกเป็นตัวเลขบอกจำนวนนิ้วโป้ง โดยยึดเอาลูกแคนเสียง ลาต่ำ” (motive) เป็นเสียงหลัก ระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพว ที่เจาะไว้ส่วนล่างของลูกแคนนี้ วัดได้กี่นิ้วโป้ง ก็จะใช้เลขจำนวนนั้น เป็นชื่อเรียกบันไดเสียงของแคนทั้งเต้า เช่น ถ้าลูกเสียง ลาต่ำของแคนเต้าหนึ่ง วัดระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพวล่างได้ 7 นิ้วโป้ง ก็เรียกบันไดเสียงของแคนเต้านั้นว่าเป็น แคนเจ็ดโป้” (โป้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่านิ้วโป้ง) เทียบได้กับประมาณบันไดเอไมเนอร์หรือซีเมเจอร์ ของสเกลดนตรีสากล

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×