ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แนะนำเครื่องดนตรีไทย

    ลำดับตอนที่ #1 : ดนตรีทั้งหมด

    • อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 49


    แนะนำเครื่องดนตรีไทย

    ซอสามสาย

    ปรากฎหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า "….ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ น่าเกลียดมาก  มีสามสายเรียกว่า "ซอ" …." ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกัน และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้ จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยะในทางด้านศิลปะต่างๆ เช่นทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้

    ส่วนต่างๆของซอสามสายมีชื่อเรียกดังนี้

    (1) ทวนบน เป็นส่วนบนสุดของคันซอ คว้านด้านในให้เป็นโพรงโดยตลอด ด้านบนสุดมีรูปร่างเป็นทรงเทริด ทวนบนนี้ เจาะรูด้าน
    ข้างสำหรับใส่ลูกบิด 3 ลูก ด้านหน้าตรงปลายทวนตอนล่าง เจาะรูสำหรับร้อยสายซอ ที่สอดออกมาจากรัดอก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
    อกซอ ทวนบนนี้ทำหน้าที่คล้ายๆกับท่ออากาศ (Air column) ให้เสียงที่เกิดจากกะโหลกเป็นความถี่ของเสียง แล้วลอดผ่านออกมา
    ทางทวนบนนี้ได้

    (2) ทวนล่าง คือส่วนของซอที่ต่อลงมาจากทวนบน ทำเป็นรูปทรงกระบอก และประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เช่นลงยาตะทอง ลงถมปัด
    ประดับมุก หรืออย่างอื่น เป็นการเพิ่มความวิจิตรงดงาม และเรียกทวนล่างนี้ว่า ทวนเงิน ทวนทอง ทวนมุก ทวนลงยา เป็นต้น ทวนล่างนี้สวมยึดไว้กับทวนบน
    และเป็นที่สำหรับผูก "รัดอก" เพื่อบังคับให้สายซอทั้ง 3 เส้นติดอยู่กับทวน นอกจากนั้นทวนล่าง ยังทำหน้าที่เป็นตำแหน่งสำหรับกดนิ้ว ลงบนสายในตำแหน่งต่างๆ

    (3) พรมบน คือส่วนที่ต่อจากทวนล่างลงมา ส่วนบนกลึงเป็นลูกแก้ว ส่วนตอนล่างทำเป็นรูปปากช้างเพื่อประกบกับกะโหลกซอ

    (4) พรมล่าง คือส่วนที่ต่อจากกะโหลกซอลงมาข้างล่าง ส่วนที่ประกบกับกะโหลกซอทำเป็นรูปปากช้าง เช่นเดียวกับส่วนล่างของ
    พรมบน ตรงกลางของพรมล่างเจาะรูด้านบนเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ร้อย"หนวดพราหมณ์" เพื่อคล้องกับสายซอทั้งสามสายและ
    เหนี่ยวรั้งให้ตึง ตรงส่วนปลายสุดของพรมล่างกลึงเป็น "เกลียวเจดีย์" และตอนปลายสุดเลี่ยมด้วย ทองคำ หรือ ทองเหลืองเป็นยอด
    แหลม เพื่อที่จะปักกับพื้นได้ สะดวกยิ่งขึ้น คันซอสามสายทั้ง 4 ท่อนนี้จะมีลักษณะกลวงตลอด ยกเว้นพรมล่างตอนที่เป็นเกลียวเจดีย์
    เท่านั้นที่เป็นส่วนที่ตัน เพราะต้องการ ความแข็งแรง ในขณะปักสีเวลาบรรเลง และคันซอทั้ง 4 ท่อนนี้ จะสวมไว้กับแกนที่สอดไว้กับ กะโหลกซอ

    (5) ถ่วงหน้า ถ่วงหน้าของซอสามสาย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ติดอยู่ตรงหน้าซอ เพื่อควบคุมความถี่ของเสียง ทำให้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะ
    น่าฟังยิ่งขึ้น

    (6) หย่อง ทำด้วยไม่ไผ่ แกะให้เป็นลักษณะคู้ ปลายทั้งสองของหย่องคว้านเป็นเบ้าขนมครกเพื่อทำให้เสียง ที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังหน้าซอมีความกังวานมากยิ่งขึ้น

    (7) คันสี (คันชัก) คันสีของซอสามสาย ประกอบด้วยไม้และหางม้า คันสีนั้นเหลาเป็นรูปคันศร โดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็น
    ไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงาม

    ซอด้วง

    เป็นซอสองสาย มีคันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ
    ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลก
    ของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้

    แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยม
    ใช้หนัง งูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะขอซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า "ฮู ฉิน " (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดังสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอก ไม้ไผ่เหมือนกีน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง

    ซออู้

    เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ  กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่าง ใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วย ไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย

            ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเองซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ปละ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ อก และเอา ทับกับรำมะนา และขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย

    ระนาดเอก

           ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลายๆอันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆกันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมา ติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า "ลูกระนาด" เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า "ผืน"

           ลูกระนาดนี้ทำด้วยไม้ไผ่บง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พะยุงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า "โขน" ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารอง  รางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า

    ระนาดทุ้ม

               เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม  กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ยๆรองไว้ 4 มุมราง

    ระนาดเอกเหล็ก หรือระนาดทอง

    ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันว่าระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาดด้วยเหล็ก ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน 20 หรือ 21 ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ระกำวางพาดไปตามของราง หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้น ของระนาดเอกเหล็กมีขนาด 23.5 ซม กว้างประมาณ 5 ซม ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด 19 ซม กว้างประมาณ 4 ซม รางของระนาดเอกเหล็กนั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง 4 ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้

    ระนาดทุ้มเหล็ก

     ระนาดทุ้มเหล็กเป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม กว้างประมาณ  6 ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม กว้างประมาณ 5.5 ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากราง กว้างประมาณ 20 ซม มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้าง ประมาณ 36 ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ 26 ซมระนาด ทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี 2 อัน

             สำหรับระนาดเอกทำไม้ตีเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งทำหัวไม้ตีให้แข็ง เมื่อตีจะมีเสียงดังเกรียวกราว เมื่อนำเข้าผสมวงจะเรียกว่า "วงปี่พาทย์ไม้แข็ง" อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐ์ไม้ตีให้อ่อนนุ่ม เมื่อตีจะเกิด เสียงนุ่มนวล เวลานำระนาดเอกที่ใช้ไม้ตีชนิดนี้มาผสมวง จะเรียกว่า "วงปี่พาทย์ไม้นวม"

    ลักษณะไม้ตีระนาดมีดังนี้

    (1) ไม้แข็ง ปลายไม้ระนาด พอกด้วยผ้าชุบน้ำรักจนแข็ง

    (2) ไม้นวม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันแล้วถักด้วยด้ายจนนุ่ม

    (3) ไม้ตีระนาดทุ้ม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันพอกให้โต และนุ่ม เพื่อตีให้เกิดเสียงทุ้ม

    (4) ไม้ตีระนาดเหล็ก ปลายไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะรูตรงกลาง แล้วเอาไม้เป็นด้าม
    สำหรับถือมีขนาดใหญ่กว่าไม้ตีระนาดเอกธรรมดา

    (5) ไม้ตีระนาดทุ้มเหล็ก ทำลักษณะเดียวกับไม้ตีฆ้องวง แต่ปลายไม้พันด้วยหนังดิบ เพื่อให้แข็งเวลาตี จะเกิดเสียงได้

    ฆ้องวงใหญ่

             เป็นเครื่องดนตรีที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ และฆ้องราว วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้าน สูงประมาณ 24 ซม ระหว่างหวายเส้นนอกกับหวายเส้นในห่างกันประมาณ 14 – 17 ซม ดัดให้โค้งเป็นวงรอบตัวคนนั่งตี เปิดช่องด้านหลังคนตีเป็น
    ทางเข้า ระยะห่างประมาณ 20 – 30 ซม วงฆ้องต้องดัดให้พอดีสำหรับคนเข้าไปนั่ง่ตีได้ไม่อึดอัด ลูกฆ้องวงหนึ่งมี 16 ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 17 ซม อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 ซม อยู่ทางขวามือ ด้านหลังผู้ตี ไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะกลางสอดด้ามไม้สำหรับถือ

    ฆ้องวงเล็ก

        เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีขนาดย่อมกว่าฆ้องวงใหญ่ วัดจากขอบวงในด้านซ้ายมือ ถึงของวงในด้านขวา กว้างประมาณ 80 ซม เรือนฆ้องสูง 20 ซม ฆ้องวงเล็กมีทั้งหมด 18 ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 13 ซม ลูกยอดมีขนาดประมาณ 9.5 ซม ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ ในวงปี่พาทย์วงหนึ่งๆนั้น จะใช้ฆ้อง 2 วง คือ ฆ้องวงใหญ่ และ ฆ้องวงเล็ก

    ฆ้องมอญ

                ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนกับฆ้องไทย วงฆ้องส่วนที่โค้ง ขึ้นไปนั้น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ส่วนมากมักแกะเป็นรูปกินนร เรียกกันว่าหน้าพระ  ตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน มีเท้ารองตรงกลางเหมือนกับเท้าของระนาดเอก ฆ้องมอญวงหนึ่งๆมีจำนวน 15 ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ รามัญ หรือปี่พาทย์มอญ วงฆ้องมอญมี 2 ชนิดเช่นเดียวกับฆ้องไทย คือมีฆ้องมอญใหญ่ และ ฆ้องมอญเล็ก

    ตะโพน

    ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง ตัวตะโพนทำด้วยไม้สักหรือ
    ไม้ขนุน เรียกว่า "หุ่น" ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงเรียกว่า "หนังเรียด" หน้าใหญ่มีความกว้างประมาณ 25 ซม เรียกว่าหน้า "เท่ง" ติดหน้าด้วยข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าเพื่อถ่วงเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 22 ซม เรียกว่า "หน้ามัด" ตัวกลองยาวประมาณ 48 ซม รอบๆขอบหนังที่ขึ้นหน้า ถักด้วยหนังที่ตีเกลียวเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" แล้วจึงเอาหนังเรียดร้อยในช่วงของไส้ละมานทั้งสองข้าง โยงเรียงไปโดยรอบจนมองไม่เห็นไม้หุ่น มีหนังพันตรงกลางเรียกว่า "รัดอก" ข้างบนรัดอกทำเป็นหูหิ้วและมีเท้ารองให้ ตัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้า ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีได้ทั้งสองหน้า ใช้สำหรับบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่างๆ

              ตะโพนนี้ ถือเป็นบรมครูทางดุริยางคศิลป์ นับว่าพระประโคนธรรพ เป็นครูตะโพน เมื่อจะเริ่มการบรรเลง จะต้องนำดอกไม้ธูปเทียน บูชาตะโพนก่อนทุกครั้ง และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เหตุที่ต้องกราบใหว้บูชาก็เพราะ ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกับ สังข์ บัณเฑาะว์ และ มโหระทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์ของเทพเจ้า และสมมุติเทพ ดังนี้คือ สังข์ประจำพระองค์พระนารายณ์ และพระอินทร์บัณเฑาะว์ ประจำองค์พระอิศวร มโหระทึก เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบพระอิศริยยศองค์พระมหากษัตริย์
    ซึ่งถือเป็นสมมุติเทพส่วนตะโพนนั้นเป็นกลองที่พระคเณศได้เป็นผู้ตี
    เป็นคนแรก ดังนั้น ตะโพนเมื่อนำมาร่วมบรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงถือเป็นบรมครู และทำหน้าที่กำกับหน้าทับต่างๆทั้งหมด

    กลองแขก

             กลองแขกเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรง กระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะหน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 ซม เรียกว่า "หน้ารุ่ย" ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 17 ซม เรียกว่า"หน้าด่าน" ตัวกลองแขกทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชันหรือไม้มะริดการขึ้นหนังใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยง เร่งเสียง โยงเส้นห่างๆในปัจจุบันอาจใช้เส้นหนังแทนเนื่อง จากหาหวายได้ยาก กลองแขกสำหรับหนึ่งมี 2 ลูกลูกเสียงสูงเรียก "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียก "ตัวเมีย" ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

    กลองทัด

    กลองทัดเป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วย
    หนังวัวหรือหนังควาย ตรึงด้วยหมุด หุ่นกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ป่องตรงกลางนิดหน่อยหมุดที่ตรึง หนังเรียกว่า"แส้"ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์ตรงกลางหุ่น กลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า "หูระวิง"กลองทัด
    มีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ  46 ซม ตัวกลองยาวประมาณ 41 ซม กลองทัดมี 2 ลูก ลูกที่มีเสียงสูง ดัง "ตุม" เรียกว่าตัวผู้ และ ลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง "ต้อม" เรียกว่าตัวเมีย ใช้ไม้ตี 1 คู่ มีขนาดยาวประมาณ  54 ซม

    ขลุ่ย

    ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย ทำด้วยไม้ไผ่ปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อย่างไฟให้แห้งแล้วตบแต่งผิวให้ ใหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ด้านหน้าเจาะรูกลมๆเรียงแถวกัน 7 รู สำหรับนิ้วปิดเปิดเสียง ขลุ่ยไม่มีลิ้นเหมือนปี่ แต่เขาใช้ไม้อุด
    เต็มปล้อง แล้วปาดด้านล่างให้มีช่อง ไม้อุดนี้เรียกว่า "ดาก" ทำด้วยสไม้สักเพราะไม่มีขุยมาบังลม ด้านหลังใต้ดากลงมา เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ปาดตอนล่างเป็นทางเฉียงไม่เจาะ ทะลุตรงเหมือนรูด้านหน้า รูที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ เรียกว่า"รูปากนกแก้ว"
    ใต้รูปากนกแก้วลงมา เจาะรูอีก 1 รู เรียกว่า "รูนิ้วค้ำ" เพราะเวลาเป่า ผู้เป่าจะใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ เหนือรูนิ้วค้ำด้าน หลัง และเหนือรูบนของรูด้านหน้าทั้งเจ็ดรู แต่อยู่ทางด้านขวา เจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า "รูเยื่อ" เพราะแต่ก่อนจะใช้เยื่อไม้ไผ่ปิดรูนี้ ต่อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ตรงปลายเลาขลุ่ยจะเจาะรูให้ซ้ายขวา ตรงกันเพื่อร้อยเชื่อก เรียกว่า "รูร้อยเชือก" ดังนั้น จะสังเกตุว่า ขลุ่ย 1 เลา จะมีรูทั้งสิ้น 14 รู

    ขลุ่ยมีทั้งหมด 3 ชนิดคือ

    (1) ขลุ่ยหลีบ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 36 ซม กว้างประมาณ    2 ซม

    (2) ขลุ่ยเพียงออ มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 45 – 46 ซม กว้างประมาณ   4 ซม

    (3) ขลุ่ยอู้ มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 60 ซม กว้างประมาณ 4 – 5 ซม

    ต่อมามีผู้สร้างขลุ่ยกรวดขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ
    1
    เสียง ขลุ่ยกรวดใช้กับวงเครื่องสายผสมที่นำเอาเครื่องดนตรีฝรั่ง มาเล่นร่วมวง

    ประวัติของปี่ใน

                  ปี่ใน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าแบบมีลิ้น เข้าใจว่าที่เรียกว่าปี่น่าจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน  มีลักษณะรูปร่าง การเปิดปิดนิ้วเปลี่ยนเสียงและวิธีการเป่าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใดและใครเป็นคนสร้าง มีแต่เพียงข้อสันนิษฐานต่างๆเท่านั้น บ้างก็ว่าปี่ในมีพัฒนาการมาจากเรไร ซึ่งเป็นเครื่องเป่าแบบโบราณมีเสียงเดียว ทำจากไม้ซาง ๒ อัน เสียบเข้ากับลูกน้ำเต้า เพราะลักษณะของปี่ในที่ป่องตรงกลางอาจเป็นการรักษาลักษณะรูปแบบของลูกน้ำเต้า บ้างก็ว่าพัฒนามาจากการเป่าใบไม้และกอ

    ข้าวซึ่งยังปรากฏมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อความต้องการในการใช้งานมีมากขึ้น การพัฒนาให้ตัวปี่มีความคงทนถาวรก็ตามมา จึงได้ใช้ไม้รวกมาทำเป็นตัวปี่แล้วใช้ไม้อ้อเหลาให้บางปลายข้างหนึ่งประกบกัน ๒ อัน อีกด้านหนึ่งใช้ด้ายพันเพื่อให้เสียบเข้ากับตัวปี่ได้แน่นกระชับ ต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้ไม้แก่น เช่น ไม้พยุง ชิงชัน มาทำเป็นเลาปี่ แต่ยังใช้ไม้อ้อทำลิ้นอยู่ จนได้พัฒนามาใช้ใบตาลแทนเพราะเป็นของที่หาได้ง่ายกว่า แต่อย่างไรก็ตามเหล่านี้ก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงความน่าจะเป็นเท่านั้น ยังไม่มีอะไรที่เด่นชัดนัก เช่นเรื่องของการเจาะรูของปี่ในที่ยังเป็นปริศนาให้ขบคิดอยู่ต่อไป

                   เดิมทีเดียวนั้นปี่อย่างปี่ในนี้มีเพียงขนาดเดียว เมื่อถูกนำไปประสมวงและเอาไปประกอบการแสดงซึ่งแต่เดิมก็ยังไม่ได้มีหลายอย่าง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดัดแปลงแก้ไขอันใด แต่พอเริ่มมีการปรับปรุงการแสดงให้มีความหลากหลายขึ้น ปี่ที่ใช้ก็ต้องมีหลายขนาดขึ้น เพื่อให้เข้ากับลักษณะการแสดง จึงปรับปรุงแก้ไขจนมี ๓ ขนาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

    . ลิ้นปี่ ลิ้นปี่เป็นส่วนประกอบที่ผู้เป่าปี่ทุกคนควรให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นตัวกำเนิดของเสียง หากไม่ใส่ใจปล่อยปละละเลยอาจทำให้เสียงานได้ ต้องหมั่นดูแลตรวจสอบอยู่เสมอ ลิ้นปี่มีส่วนสำคัญอยู่ด้วยกัน ๓ ส่วน คือ

    . ใบตาล เป็นส่วนที่อยู่ด้านบนสุด เวลาเป่าปี่ลมจะมากระทบบริเวณนี้ ทำให้มีการสั่นสะเทือนและเกิดเป็นเสียงขึ้น ใบตาลที่ใช้เป็นใบตาลแห้งไม่ใช้ใบตาลสด แต่ก็ไม่แห้งจนกรอบเพราะเวลาพับใบตาลจะหัก มีลักษณะใบที่เรียบเป็นมัน เส้นใบเสมอกัน ควรเป็นใบตาลจากต้นตาลตัวผู้ (ต้นตาลที่ไม่มีลูก) และขึ้นในที่แล้งห่างไกลน้ำ เพราะใบตาลจะทนน้ำลายไม่เสียหายง่าย ใบตาลจะถูกพับเป็น ๔ ส่วนเท่าๆกัน และเจียนเป็นรูปโค้งมนคล้ายเล็บมือ

    . เชือกรัดใบตาล ทำจากด้ายดิบควั่นเป็นเกลียว ความใหญ่ของเชือกกะประมาณเท่ารูปลายกำพวด ความอ่อน แข็งของเชือกกำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการทดลองใช้จนรู้ว่าขนาดไหนเหมาะสมและการได้รับคำแนะนำจากครูผู้สอน ถ้าเชือกอ่อนไปก็จะรัดใบตาลได้ไม่แน่นทำให้ลมรั่วเวลาเป่าและถ้าเชือกแข็งมากเกินไปเวลารัดใบตาลก็จะทำให้ใบตาลฉีกขาดได้ เวลารัดใบตาลจะรัดด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด

              . กำพวด คือ ท่อโลหะที่เป็นทางผ่านของลมจากใบตาลเข้าสู่เลาปี่ อาจจะทำจากทองเหลือง เงิน หรือนากก็ได้ มีลักษณะด้านโคนกว้างด้านปลายเล็ก ตรงโคนของกำพวดจะใช้ด้ายพันเพื่อให้เสียบเข้ากับเลาปี่ได้กระชับไม่หลุดขณะเป่าและไม่ให้ลมรั่วออกมา กำพวดปี่ที่มีขนาดใหญ่รูข้างในกว้างจะทำให้ใช้ลมมากเวลาเป่า ส่วนกำพวดที่มีขนาดเล็กรูกำพวดแคบก็จะใช้ลมน้อยกว่า แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

    ประวัติความเป็นมาและหน้าที่ของจะเข้

            จะเข้  เป็นเครื่องดีดปรับปรุงมาจากพิณ  เพื่อให้นั่งดีดสะดวก  จึงวางราบไปตามพื้น  ตัวจะเข้ทำด้วยไม้ขนุนท่อนเดียว  มีเท้ารองตอนหัว 4 อันและปลายทาง 1 อัน  มี 3 สาย  ใช้ดีดด้วยไม้ดีดปลายแหลมทำด้วยไม้  งา  หรือ  พลาสติก ใช้บรรเลงในวงเครื่องสาย   (ประดิษฐ์ อินทนิล  :  ปริทรรศน์ดนตรีไทย : 2526 :1 )

               จะเข้ สันนิษฐานว่าแก้ไขและดัดแปลงมาจากพิณ (เจริญชัย  ชนะไพโรจน์  2512:10)จะเข้มีหน้าที่

    ดำเนินทำนองเก็บหรือสอดแทรกไปตามเนื้อเพลง  หรือพวกดำเนินทำนองต่างๆ

    (มนตรี  แย้มกสิกร : ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีไทย :2524:9-10)

               จะเข้  วิวัฒนาการมาจากพิณ  เพราะพิณถือดีดนานๆเข้าก็เมื่อย  จึงวางลงดีดกับพื้นเห็นสบายก็ปรับปรุง

    ให้เหมาะกับวิธีที่จะดีดกับพื้น  รูปร่างตอนแรกๆ ก็ทำเหมือนจระเข้จริงๆ  และวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ

     เพื่อประโยชน์ในทางเลียงและความสะดวกในการบรรเลง  จึงมีรูปร่างกะทัดรัดขึ้น  จนกลายเป็นแบบอย่าง

    ของจะเข้ในปัจจุบัน ( ชิ้น  ศิลปบรรเลง :ดนตรีไทยศึกษา : 2521 : 61 )

              จะเข้ ดัดแปลงแก้ไขวิวัฒนาการมาจากพิณ  แต่เดิมตัวพิณทำเป็นรูปร่างอย่างจระเข้  จึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้เพียงสั้นๆ ว่า "จะเข้ "ในสมัยต่อมา  ไทยเล่นจะเข้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นนำเข้ามาผสมวงเครื่องสาย

    และวงมโหรีในสมัย ร.2 จะเข้เหมาะสำหรับเล่นเดี่ยว  (สุดใจ  ทศพร  :ดนตรีไทยศึกษา : 2519 : 4)

    พิณสายเดี่ยว (พิณน้ำเต้า)  เป็นของเดิม  ครั้นต่อมาคนเพิ่มเติมเป็น 2 สาย  3 สาย  7

    สาย  9 สาย   ไปจนถึง 21 สาย และเรียกชื่อพิณต่างๆกัน  แต่พิณทุกชนิดย่อมเป็นเครื่องสำหรับดีดลำนำ

    ประสานกับเสียงขับร้อง  ใครขับร้องก็ถือพิณดีดเอง  เมื่อตัวพิณทำเป็นหลายสายตัวพิณก็ย่อมเขื่องขึ้น

     และหนักขึ้นทุกทีบางอย่างก็ถือดีดไม่ไหว  ต้องเอาวางลงดีดกับพื้นจึงเกิดเครื่องดีดเป็น  " จะเข้ " 

    เป็นต้น และเกิดเครื่องวางสี  เช่น  ซอ  ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาแต่พิณทั้งนั้น (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ :

      ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ : 2512 : 1)   ในสมัยสุโขทัย  เครื่องดีดมี  พิณ  คงได้แก่  กระจับปี่  พิณน้ำเต้า  และพิณเพี๊ย  ส่วน " จะเข้ " ไม่ได้กล่าวถึงในหลักฐานเหล่านี้ จะมีบรรเลงหรือไม่  ไม่แน่ใจ  พอมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้นมีคนนิยมเล่นดนตรีกันมากขึ้น  จนกระทั่งถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (..1991 -2031 ) ต้องมีกฎมณเฑียรบาลกำหนดว่า " ห้ามร้องเพลงเรือ  เป่าขลุ่ย  เป่าปี่  สีซอ   ดีดกระจับปี่  ดีดจะเข้  ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน "  แสดงว่าสมัยนี้มีการเล่นจะเข้แล้ว   (ลิขิต  จินดาวัฒน์  : ดนตรีไทยศึกษา : 2521 : 51)

            จะเข้ ดัดแปลงมาจากพิณ  แต่ทำให้วางราบไปตามพื้น  เวลาดีดคนนั่งก็เล่นได้อย่างสบายไม่เกะกะ

     สูงยาวเหมือนกระจับปี่และเสียงก็ดังกว่า  เหตุที่เรียกจะเข้ก็เพราะมีรูปร่างเหมือนจระเข้นั่นเอง  

    ( ธนิต  อยู่โพธิ์  : เครื่องดนตรีไทย  : 2500 )

              จะเข้ แต่ก่อนทำเป็นตัวจระเข้จริงๆ  มีหัว  มีตา  เกล็ด  เหมือนจระเข้จริงๆ  รูปร่างเทอะทะ  หนัก

     เสียงก็ไม่เพราะ  เคยเห็นอยู่ด้วยหนึ่งในเมืองชลบุรีหลายปีมาแล้ว  แต่ถูกฟันทิ้งไปเพราะผู้เป็นภรรยาเจ้า

    ของจะเข้ทะเลาะกับสามี  และฟันจะเข้ตัวนั้นทิ้ง (จากการสัมภาษณ์ครูเอื้อ  ฉัตรเฉลิม  2528 )

            จะเข้  บางทีจะเป็นของมอญมาก่อน  เพราะเคยไปเห็นที่พิพิธภัณฑ์เมืองร่างกุ้งในพม่าใช้ไม้

    แกะสลักไว้เป็นรูปจระเข้  แต่ไม่มีใครเล่นได้(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ :สยามสังคีต สยามรัฐ กพ.2526 )

               จะเข้  ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองร่างกุ้งมีจะเข้พม่า  ที่แกะสลักไว้เป็นรูปจระเข้จริงๆ  แต่ไม่เห็นมีใครเล่น

    ได้หรือนิยมเล่นกัน  ถ้าเป็นของมอญของพม่าจริง  ก็น่าจะมีคนชอบเล่นกันอยู่บ้าง  คงจะเป็นของไทยที่ได้ไปเมื่อ

    ครั้งเสียกรุงมากกว่า  ทุกวันนี้ที่เล่นกันก็เห็นจะมีแต่ไทย  เขมร  และลาว  

    ( อาจารย์ประสิทธิ์  ถาวร  : สยามสังคีต  สยามรัฐ  กพ.  2526 )

                 จะเข้  ในรูประบำโบราณในแต่ละสมัย  ตามรูปแกะสลักต่างๆที่ได้จากโบราณสถาน  ปรากฏว่าชุดระบำ

    โบราณสมัย ทวาราวดี  มีเครื่องดนตรี  9  ชิ้น  ซึ่งมีจะเข้รวมอยู่ด้วย  เพราะฉะนั้นถือเอาตามหลักฐานนี้บางที

    จะเข้อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี  คือเก่าขึ้นไปกว่าสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น 

    ( อาจารย์มนตรี  ตราโมทย์   : สยามสังคีตสยามรัฐ  กพ.  2526 )

                  จะเข้ สมัยก่อนตบแต่งสวยงามทำจากแก่นขนุนทั้งต้น  มีการประดับมุก  และมักประกอบด้วยงาช้าง

     มีการแกะสลักเป็น ลวดลายวิจิตรงดงามสมัยนี้หาดูไม่ได้แล้ว  เดิมจะเข้เล่นเดี่ยวคนเดียว เพิ่งจะนำมาผสมวง

    ในสมัยรัตนโกสินทร์  ช่วง  .1 - .4  จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่นิยม  เล่นกันในหมู่สตรีมากว่าบุรุษ

     ยิ่งผู้หญิงที่เจ้าเนื้อค่อนข้างอวบยิ่งเหมาะ  เพราะเวลาสะบัดไม้ดีดส่วนอื่น (หน้าอก)  ก็จะพริ้วตามไปด้วย 

    บางคนเล่นจะเข้จนได้สามี  แต่ผู้ชายที่เล่นจะเข้เก่งก็มีมากถ้าขยันฝึกฝน  ผู้มีฝีมือทางจะเข้ส่วนใหญ่จะอยู่ในแผ่นดินพระเจ้าหลวง (.5) เช่น  เจ้าดารารัศมี  เจ้าบัวชุม เจ้าบุญปั่น  และครูสังวาลย์  กุลวัลกี  ก็ล้วนแต่ฝีมือเลิศทั้งนั้น   (พูนพิศ  อมาตยกุล  : สยามสังคีต  สยามรัฐ  กพ.  2526 )

    ปี่

    ปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยแท้ๆ ทำด้วยไม้จริงเช่นไม้ชิงชันหรือไม้ พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่อง เจาะภายในให้กลวงตลอดเลา ทางหัวของปี่เป็นช่องรูเล็กส่วนทาง ปลายของปี่ ปากรูใหญ่ใช้ชันหรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราว
    ข้างละ ครึ่งซม ส่วนหัวเรียก "ทวนบน" ส่วนท้ายเรียก"ทวนล่าง" ตอนกลางของปี่ เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงลงมาจำนวน 6 รู รูตอนบนเจาะเรียงลงมา 4 รู เว้นระยะห่างเล็กน้อย เจาะรูล่างอีก 2 รู ตรงกลางของเลาปี่ กลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ไว้เป็นจำนวน 14 คู่ เพื่อความสวยงามและกันลื่นอีกด้วย ตรงทวนบนนั้นใส่ลิ้นปี่ที่ทำด้วย ใบตาลซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดให้กลมแล้วนำไปผูกติดกับท่อลมเล็กๆที่ เรียกว่า "กำพวด" เรียวยาวประมาณ 5 ซม กำพวดนี้ทำด้วยทอง เหลือง เงิน นาค หรือโลหะอย่างอื่นวิธีผูกเชือกเพื่อ ให้ใบตาลติดกับกำพวดนั้น ใช้วิธีผูกที่เรียกว่า "ผูกตะกรุดเบ็ด" ส่วนของกำพวดที่จะต้องสอดเข้าไปเลาปี่นั้นเขาใช้ถักหรือเคียน ด้วยเส้นด้าย สอดเข้าไปในเลาปี่ให้พอมิดที่พันด้ายจะทำให้เกิดความ
    แน่นกระชับยิ่งขึ้น

    ปี่ของไทยจัดได้เป็น 3 ชนิดดังนี้

    (1) ปี่นอก มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 31 ซม กว้าง 3.5 ซม       เป็นปี่ที่ใช้กันมาแต่เดิม

    (2) ปี่กลาง มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 37 ซม กว้างประมาณ 4 ซม สำหรับเล่นประกอบการแสดงหนังใหญ่ มีสำเนียงเสียงอยู่ระหว่าง
    ปี่นอก กับปี่ใน

    (3) ปี่ใน มีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 41 – 42 ซม กว้างประมาณ 4.5 ซม เป็นปี่ที่พระอภัยมณีใช้สำหรับเป่าให้นางผีเสื้อสมุทร ขาดใจ

    กระจับปี่

                   

     เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ 4 สายชนิดหนึ่ง ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ 7 ซม ด้านหน้ายาวประมาณ 44 ซม กว้างประมาณ 40 ซม ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ 138 ซม ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัว กะโหลก จะมีความยาวประมาณ 180 ซม มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 4 อัน มีนมรับนิ้ว 11 นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียง
          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า " ร้องเพลง เรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น " ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับ บรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนัก มาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำ ให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่น


     

    ซึง

    เป็นเครื่องดนตรีชนิดดีด มี 4 สายเช่นเดียวกับกระจับปี่ แต่มีขนาด
    เล็กกว่า ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ 81 ซม กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 21 ซม ทั้งกะโหลกและคันทวน ใช้ไม้เนื้อแข็งชิ้นเดียวคว้าน ตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรงตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนำเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้ว
    จำนวน 9 อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ 2 อัน รวมเป็น 4 อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย 4 สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก 2 สาย และ สายใหญ่ 2 สายซึงเป็นเครื่องดีดที่ชาวไทยทางภาคเหนือนิยมนำมา เล่นร่วมกับปี่ซอ และ สะล้อ

    สะล้อ

              สะล้อเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองลานนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบางๆปิดปากกะลาทำหลักที่หัว สำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่างๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวายปลายคันทวน ด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูป โค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้
         สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและ
    ทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ไ
    ด้

    พิณเปี๊ยะ

         พิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพียะ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองลานนาชนิด
    หนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะของพิณเปี๊ยะมีคันทวนยาว ประมาณ 1 เมตรเศษตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กรูปหัวช้าง ทองเหลือง สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลัก
    ตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง 2 สายและ 4 สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าว ก็ได้ เวลาดีด ใช้กะโหลกประกบติดกับหน้าอก ขยับเปิด ปิดให้เกิดเสียงตามต้องการ เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้าของภาคกลาง ในสมัยก่อนชาวเหนือมักจะใช้พิณเปี๊ยะดีดคลอกับการขับ ลำนำ ในขณะที่ไปเที่ยวสาว แต่เกิดการแย่งสาวกันขึ้น จึงใช้พิณเปี๊ยะเป็นอาวุธทำร้ายกันจึงได้มีการห้ามไม่ให้มีการ เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้อีก ทำให้พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

    ฉิ่ง

         เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด
    มี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสาย และวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง "ฉิ่ง" แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง "ฉับ" ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

    ฉาบ

          ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะเหมือนกันคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือ"ฉาบเล็ก" และ "ฉาบใหญ่"ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซมส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2ฝามาตีกระทบกัน ให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง "ฉาบ" แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่งเป็นต้น

    โทน หรือ ทับ

         โทนเป็นชื่อของเครื่องหนัง ที่ขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากของ
    หนังถึงคอ มีหางยื่นออกไปและบานปลาย มีชื่อเรียกคู่กันว่า "โทนทับ" โดยลักษณะรูปร่างนั้น โทนมีชื่อเรียกกันได้ตามรูปร่างที่ปรากฎ 2 ชนิดคือ โทนชาตรี และ โทนมโหรี โทนชาตรีนั้น ตัวโทนทำด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กะท้อนมีขนาดปากกว้าง 17 ซม ยาวประมาณ 34 ซม มีสาย โยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ตีด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิด ปลายหางที่เป็นปากลำโพง ช่วยให้เกิดเสียงต่างๆ ใช้สำหรับ บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี และหนังตะลุง และตีประกอบจังหวะ ในวงปี่พาทย์ หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือ ตะลุง ส่วนโทนมโหรีนั้น ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึงหนังโตกว่า โทนชาตรี ขนาดหน้ากว้างประะมาณ 22 ซม ยาวประมาณ 38 ซม สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ใหมฟั่นเป็นเกลียว ขึ้นหนังด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้าง ใช้สำหรับบรรเลงคู่กับรำมะนา โดยตีขัดสอดสลับกัน ตามจังหวะหน้าทับ

    รำมะนา

        เป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างคล้ายชามกกะละมัง มีอยู่ 2 ชนิด คือ รำมะนามโหรี และ รำมะนาลำตัด รำมะนามโหรี มีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ 26 ซม ตัวรำมะนายาว ประมาณ 7 ซม หนังที่ขึ้นหน้าตรึงด้วยหมุดโดยรอบ จะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งที่เรียกว่า "สนับ" สำหรับหนุนข้างในโดยรอบ ช่วยทำให้เสียงสูงได้ บรรเลงใช้ตีด้วยฝ่ามือคู่กับโทนมโหรี ส่วนรำมะนาลำตัดมีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 48 ซม ตัวรำมะนายาวประมาณ 13 ซม ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบปน้ากับวงเหล็กซึ่งรองก้นใช้เป็นขอบ ของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลายๆอันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากชวาและเข้ามาแพร่หลายในสมัย รัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบการเล่นลำตัดและลิเกลำตัด ในการประกอบ การเล่นลำตัดนั้นจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ โดยให้คนตีนั่งล้อมวงและเป็น

    กรับ

    เครื่องดนตรีที่เรียกว่า กรับนั้นมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่  กรับพวง และ กรับเสภา กรับคู่นั้น ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง "กรับ"กรับพวง เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้  2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญานเช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธี ของพระเจ้าแผ่นดิน

         เจ้าพนักงานจะ "รัวกรับ"และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฎกรรมด้วย กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า "กรับเสภา"

    ขิม

               พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายไว้ว่า "เครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง รูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีก ใช้ตี"

         ในสมัยโบราณนั้นขิมของจีนเป็นทั้งเครื่องตี เครื่องสี และเครื่องดีด มีประวัติกล่าวไว้ว่า   มีเจ้าเมืองแห่งหนึ่งชื่อ  "จีเซียงสี" ปกครองเมืองอยู่ได้ สองปีก็เกิดภัยพิบัติเป็นพายุใหญ่   ทำให้ไม้ดอกไม้ผลโรยร่วงหล่นไปสิ้น จูเซียงสี จึงปรึกษากับขุนนางว่าจะทำประการใด   ดี ขณะนั้นขุนนางคนหนึ่งได้กล่าวขึ้นว่า   เมื่อก่อนได้ทราบว่า พระเจ้าฮอกฮีสี ฮ่องเต้ ได้สร้างขิมชนิดหนึ่งมีสาย ห้าสาย ถ้าหากว่าแผ่นดินมีทุกข์สิ่งใดเกิดขึ้น ก็ให้นำขิมที่สร้าง ขึ้นนั้นมาดีดขึ้น   เนื่องจากว่าขิมนั้นเป็นชัยมงคล จูเซียงสี จึงสั่งให้ช่างทำขิมห้าสายแจกให้ราษฏร ที่เกิดทุกข์เข็ญ เมื่อราษฏร ดีดขิมขึ้น เสียงที่ออกมามีความไพเราะ ทำให้ลมสงบ ต้นไม้ทั้งหลาย ก็ติดดอกออกผลบริบูรณ์ทั่วถึงกัน

            ชาวจีนถือว่าขิม เป็นเครื่องสีที่ให้เสียงประสานกันอย่างบริสุทธิ์ ถ้านำมาบรรเลงควบกับพิณอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า "เซะ" หรือ "เซ็ก"
    ซึ่งมีมากสาย ก็จะเป็น สัญลักษณ์ แลดงถึงความสามัคคี ประสานกันเป็นอย่างดี ขงจื้อได้กล่าวไว้ว่า 

    "ผู้ซึ่งมีสามัคคีรสเป็นสุขสบายอยู่กับภรรยาและลูก ก็เปรียบเสมือนดนตรีขิม และพิณเซะฉะนั้น"

            ขิมเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่4 โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายจีน และประกอบการแสดงงิ้วบ้าง บรรเลงใน
    งานเทศกาล และงานรื่นเริงต่างๆบ้าง
           นักดนตรีไทยนำขิมมาบรรเลงในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 โดยแก้ไขบางอย่าง คือเปลี่ยนสายลวดทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้น เทียบเสียงเรียงลำดับ
    ไปตลอดจน ถึงสายต่ำสุด เสียงคู่แปดมือซ้ายกับมือขวามีระดับเกือบตรงกัน เปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่และก้านแข็งขิ้น หย่องที่หนุนสาย มีความหนา กว่าของเดิมเพื่อให้เกิดความ สมดุล และมีความประสงค์ให้เสียงดังมากขึ้น และไม่ให้เสียงที่ออกมาแกร่งกร้าวเกินไป ให้ทาบสักหลาดหรือหนัง ตรงปลายไม้ตี   ส่วนที่กระทบกับสาย ทำให้เสียงเกิดความนุ่มนวล และได้รับความนิยม บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผลมจนถึงปัจจุบัน
            เพลงที่นิยมบรรเลงกันมากคือ   เพลงขิมเล็ก   และเพลงขิมใหญ   ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงจีนที่เกิดขึ้นในราวปลายรัชสมัยรัชกาลที่4 โดยพระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ได้จำทำนองการตีขิมของคนจีน แล้วมาแต่งเป็นเพลงในอัตรา 2 ชั้นได้ 2 เพลง ตั้งชื่อว่า เพลงขิมเล็ก และ เพลงขิมใหญ่ สำหรับเพลงขิมเล็ก พระประดิษฐ์ไพเราะได้แต่งขยายเป็นอัตรา 3 ชั้น ส่วนเพลงขิมใหญ่ ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้แต่งขึ้นเป็น อัตรา 3 ชั้น เช่นกัน และทั้ง 2 เพลงนี้ ครูมนตรี ตราโมทได้แต่งตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว จนครบเป็นเพลงเถา เมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2478 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้

    ขลุ่ย

    ขลุ่ย นับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้ชิดกับคนไทยมากที่สุดชนิดหนึ่ง
    คนทั่ว ๆ ไปนิยมเป่าขลุ่ยมากกว่าเล่นดนตรีชนิดอื่น หรือแม้แต่คนในวงการ ดนตรีไทย   ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นก็มักเป่าขลุ่ยด้วย เนื่องจากขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถนำติดตัวได้สะดวกเสียงไพเราะการหัดในเบื้องต้น ไม่สู้ยากนัก โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่าขลุ่ยนั้นเล่นง่าย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราเห็นว่าง่ายที่สุดกลับเป็นสิ่งที่เล่นยากที่สุด คนที่เป่าขลุ่ยได้ดีในปัจจุบันจึงหาได้ยากนักดนตรีจึงขาดครูผู้แนะนำไปด้วย


                บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นเครื่องชี้แนะต่อผู้ที่สนใจในเรื่องขลุ่ย โดยรวบรวมจากการสัมภาษณ์ คุณครูเทียบ คงลายทอง ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการในเรื่องเครื่องเป่าโดยเฉพาะ แต่ในรายละเอียดบางหัวข้อ เช่น เรื่องของขลุ่ยเป็นเรื่องที่อธิบายด้วยภาษาพูดหรือ
    ภาษาเขียนได้ยาก นอกจากจะต้องฝึกหัดด้วยตนเองจึงจะรู้ ในที่นี้จึงต้องกล่าวแต่พอสังเขปเท่านั้น

    ลักษณะขลุ่ยโดยทั่วไป

                ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เป่าให้เกิดเสียง จะเป็นเครื่องดนตรีที่คนไทยคิดทำขึ้นเองหรือได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัด
    ชาติอื่น ๆ ก็มีเครื่องลักษณะเหมือนขลุ่ยของไทยเหมือนกัน เช่นของอินเดีย มุราลี ใช้เป่าด้านข้าง ของญี่ปุ่น ซากุฮาช ซึ่งเป่า ตรงเหมือนเป่าขลุ่ย  นอกจากนี้ จีนก็มีขลุ่ยเช่นเดียวกัน คือ ฮวยเต็ก ซึ่งเป่าด้านข้างและ โถ่งเซียว ซึ่งเป่าตรงเหมือนขลุ่ยไทย มีรูนิ้วค้ำและสามารถทำได้เจ็ดเสียงเหมือนกัน โถ่งเซียวมีลักษณะ เรียบง่ายกว่าขลุ่ยไทย คือไม่มีดากการเป่าจะต้องผิวจึงจะเกิดเสียงดัง ระยะห่างของแต่ละเสียงก็เท่ากับขลุ่ยไทย   เสียงของขลุ่ยเกิดจากลมที่เป่าผ่านดากและปากนกแก้ว ไม่ใช้ผิดเหมือนขลุ่ยของชาติอื่น การทำให้เสียงเปลี่ยนทำโดย ปิด-เปิด รูต่าง ๆ ที่อยู่บนเลาขลุ่ย และใช้ลมบังคับประกอบกันไป

                ขลุ่ยโดยทั่วไป ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้ไผ่เฉพาะพันธุ์เท่านั้น ปัจจุบันนี้ไม้ไผ่ที่ทำขลุ่ยส่วนใหญ่มาจากสระบุรี และนครราชสีมา นอกจากไม้ไผ่แล้วขลุ่ยอาจทำจากงาช้าง ไม้ชิงชัน หรือไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ และปัจจุบันมีผู้นำพลาสติก มาทำขลุ่ยกันบ้างเหมือนกัน
               

     ในเรื่องคุณภาพนั้น ขลุ่ยที่ทำจากไม้ไผ่จะดีกว่าขลุ่ยที่ทำจากวัตถุอื่นเนื่องจากไม้ไผ่เป็นรูกระบอกโดยธรรมชาติมีผิวทั้งด้านนอก ด้านใน

    ทำให้ลมเดินสะดวก เมื่อถูกน้ำสามารถขยายตัวได้ สัมพันธ์กับดากทำให้ไม่แตกง่าย
    นอกจากนี้ผิวนอกของไม้ไผ่สามารถตกแต่งลายให้สวยงามได้เช่น ทำเป็นลายผ้าปูม
    (
    ครูเทียบมีตัวอย่างให้ดู) ลายดอก ลายหิน ลายเกร็ดเต่า เป็นต้น อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ไม้ไผ่มีข้อโดยธรรมชาติ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป จะเห็นว่าส่วนปลายของขลุ่ย
    ด้านที่ไม่ใช้เป่านั้นมีข้อติดอยู่ด้วยแต่เจาะเป็นรูสำหรับปรับเสียงของนิ้วสุดท้ายให้
    ได้ระดับ ส่วนของข้อที่เหลือจะทำหน้าที่อุ้มลมและเสียง ให้เสียงขลุ่ยมีความกังวานไพเราะมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นขลุ่ยที่ทำจากวัสดุอื่นโดยการกลึง ผู้ทำอาจไม่คำนึงถึงข้อนี้อาจทำให้ขลุ่ยด้อยคุณภาพไปได้  อีกประการหนึ่งส่วนของข้อนี้
    จะช่วยป้องกันมิให้ขลุ่ยแตกเมื่อสภาพของไม้หรือ อากาศมีการเปลี่ยนแปลง

    ลักษณะของขลุ่ยที่ดี

    ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าขลุ่ยที่ดี ควรทำมาจากไม้ไผ่ นอกจากนี้ควรพิจารณาสิ่งอื่น ๆ ประกอบกันด้วย

                เสียง ขลุ่ยที่จะใช้ได้ต้องเสียงไม่เพี้ยนตั้งแต่เสียงต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด คือทุกเสียงจะต้องห่างกัน 1 เสียง ตามระบบเสียงของไทยเสียงคู่แปดจะต้องเท่ากัน เสียงเลียนหรือนิ้วควงจะต้องตรงกัน เสียงแท้ เสียงต้องโปร่งใส มีแก้วเสียง
    ไม่แหบพร่าหรือแตก ถ้าเล่นในวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีที่เสียงตายตัว เช่น ระนาดหรือฆ้องจะต้องเลือกขลุ่ยที่มีระดับเสียงเข้ากับเครื่องดนตรีเหล่านั้น
                ลม  ขลุ่ยที่ดีจะต้องกินลมน้อย ไม่หนักแรงเวลาเป่า ซึ่งจะทำให้สามารถระบายลมได้ง่าย
                ลักษณะของไม้ที่นำมาทำ  จะต้องเป็นไม้ที่แก่จัดหรือแห้งสนิท โดยสังเกตจากเสี้ยนของไม้ ควรเป็นเสี้ยนละเอียดที่มีสีน้ำตาล แก่ค่อนข้างดำตาไม้เล็กๆเนื้อไม่หนาหรือบางเกินไปคือต้องเหมาะสมกับประเภทของขลุ่ยว่าขลุ่ยอะไรในกรณีที่ไม้ไผ่แก่จัดหรือไม่แห้งสนิทเมื่อทำแล้วในระยะหลังจะแตกร้าวได้ง่าย
    เสียงจะเปลี่ยนไปและมอดจะกัดกินเสียหาย
                ดาก  ควรทำจากไม้สักทอง ไม่มีขุยหรือขนแมวขวางทางลม การใส่ดากจะต้องไม่ชิดหรือห่างไม้ไผ่ ซึ่งเป็นตัวเลาขลุ่ย
    จนเกินไป เพราะถ้าใส่ชิดจะทำให้เสียงทึบ ตี้อ ถ้าใส่ห่างจะทำให้เสียง โว่ง กินลมมาก นอกจากนี้การหยอดขี้ผึ้งที่ดากต้องทำอย่าง
    ประณีต   ละลายขี้ผึ้งให้ไหลเข้าไปอุดช่องว่างที่ไม่ต้องการรอบ ๆ ดาก ให้เต็มเพื่อไม่ให้ลมรั่วออก
               
    รูต่าง ๆ บนเลาขลุ่ย  จะต้องเจาะอย่างประณีต ขนาดความกว้างของรูต้องเหมาะกับขนาดของไม้ไม่กว้างเกินไป ขลุ่ยในสมัย
    โบราณ รูต่าง ๆ ที่นิ้วปิดจะต้องคว้านด้านในให้เว้า คือ ผิวด้านในรูจะกว้างกว่าผิวด้านนอก ซึ่งจะทำให้เสียงของขลุ่ย   กังวานดียิ่งขั้น แต่ในปัจจุบันไม่ได้คว้านภายในรูเหมือนแต่ก่อนแล้วซึ่งอาจจะเนื่องมาจากความเอาใจใส่ของคนที่ทำขลุ่ยน้อยลงทำให้เห็นแต่เพียง
    ว่าภายนอกเหมือนขลุ่ยเท่านั้น
               
    ลักษณะประกอบอื่น ๆ  เช่นสีของไม้สวย ไม่มีตำหนิ ขีดข่วน ไม่คดงอ เทลายได้สวยละเอียด แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลกระทบ
    ต่อเสียงของขลุ่ยแต่อย่างใด เพียงพิจารณาเป็นส่วนประกอบเพื่อเลือกให้ได้ขลุ่ยที่ถูกใจเท่านั้น

      ประเภทของขลุ่ย

              โดยทั่วไปขลุ่ยไทย อาจจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

                   ขลุ่ยหลิบหรือขลุ่ยหลีกหรือขลุ่ยกรวด เป็นขลุ่ยขนาดเล็กเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออเป็นคู่สี่ ใช้ในวงมโหรีเครื่องคู่ เครื่องใหญ่ และวงเครื่องสายเครื่องคู่โดยเป็นเครื่องนำในวงเช่นเดียวกับระนาดหรือซอด้วงนอกจากนี้ยังใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาเพราะขลุ่ยหลิบ
    มีเสียงตรงกับเสียงชวาโดยบรรเลงเป็นพวกหลังเช่นเดียวกับซออู้
                  
    ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยที่มีระดับเสียงอยู่ในช่วงปานกลาง คนทั่วไปนิยมเป่าเล่น ใช้ในวงมโหรีหรือเครื่องสายทั่ว ๆ ไป โดยเป็นเครื่องตามหรืออาจใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาก็ได้แต่เป่ายากกว่าขลุ่ยหลิบเนื่องจากเสียงไม่ตรงกับเสียงชวาเช่นเดียวกับนำ
    ขลุ่ยหลิบมาเป่าในทางเพียงออต้องทดเสียงขึ้นไปให้เป็นคู่ 4 นอกจากนี้ยังใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมแทนปี่อีกด้วย โดยบรรเลงเป็นพวกหน้า
                  
    ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่เสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออสามเสียง ใช้ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งต้องการเครื่องดนตรีที่มีเสียงต่ำเป็นพื้น นอกจากนี้ในอดีตยังใช้ในวงมโหรีเครื่องใหญ่ ปัจจุบันไม่ได้ใช้เนื่องจากหาคนเป่าที่มีความชำนาญได้ยาก
               
                    

                     ขลุ่ยอู้ของโบราณจะมีเจ็ดรู (รวมรูนิ้วค้ำ) แต่ในปัจจุบันมีผู้คิดทำเพิ่มขึ้นเป็นแปดรู โดยเพิ่มรูที่ใช้นิ้วก้อยล่างขึ้นอีกรูหนึ่ง                      

                       ขลุ่ยอู้ปัจจุบันนี้หายากเนื่องจากต้องใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ ปล้องยาก ซึ่งหาได้ยาก

                   ขลุ่ยเคียงออ เป็นขลุ่ยที่มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียง ซึ่งตรงกับเสียงปี่ใน ใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมเป็นเครื่องนำแทนปี่
    ซึ่งอาจมีเสียงดังเกินไปใช้เล่นเพลงตับต่างๆแต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
               
    ขลุ่ยรองออเป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่กว่าและเสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียงเสียงตรงกับเสียงปี่นอกต่ำอาจใช้ในวงมโหรีแทน
    ขลุ่ยเพียงออในกรณีที่ต้องการเสียงต่ำกว่าธรรมดา ปัจจุบันนี้ไม่ได้นำมาใช้เนื่องจากขาดคนเป่าที่มีความชำนาญ
               
    ขลุ่ยอื่น ๆ ในระยะหลังในวงเครื่องสายได้นำเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาเล่นร่วมด้วย เรียกว่าวงเครื่องสายผสม เช่น เปียโน ออร์แกน จึงมีผู้คิดทำขลุ่ยให้เข้ากับเสียงดนตรีเหล่านี้

    ทางของขลุ่ย

                เป็นการยากที่จะอธิบายให้เข้าใจในเรื่องทางของขลุ่ย ผู้ศึกษาจะต้องปฏิบัติด้วยตนเองภายใต้การแนะนำของครู จึงจะมีความรู้สามารถ
    ปฏิบัติได้ถูกต้อง    ขลุ่ยเพียงออเมื่อใช้บรรเลงภายในวงบางครั้งจะมีการโหยหวนโดยยึดเนื้อฆ้องเป็นหลักบางครั้งก็เป่าเก็บบ้างซึ่งเข้ามาใกล้ทาง
    ของระนาดหรือซอด้วง แต่การที่จะเป่าแหบโหยจนเสียงสูงมากเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ชำนาญพอเสียงจะเพี้ยนได้ง่าย และทำให้
    ้รกรุงรัง ฟังดูไม่ไพเราะ
                
    สำหรับขลุ่ยหลิบนั้นเป็นเครื่องดนตรีพวกเครื่องนำในการบรรเลง   ต้องเป่าเก็บเป็นเครื่องใหญ่มีโหยหวนบ้างแต่น้อยกว่าขลุ่ยเพียงออ  
    และสามารถเป่าเสียงสูงได้     ในการบรรเลงแต่ละประเภทนั้น ทางของขลุ่ยจะต่างกันออกไป เช่น ในวงเครื่องสายปี่ชวาก็เป่าอย่างหนึ่ง วงปี่พาทย์ไม้นวม
    ก็เป่าอีกอย่างหนึ่ง    ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้จะเป่าขลุ่ยให้ได้ดีจะต้องศึกษาอย่างถ่องแท้จากครูผู้รู้  
               
    ในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ที่เป่าขลุ่ย    หรือปี่ส่วนมากจะบรรเลงในวงอะไร หรือเครื่องดนตรีอะไรก็เป่าเป็นเครื่องดนตรีอย่างเดียวกันไปหมด ทำให้เสียงดนตรีด้อยคุณภาพลงไปมาก

    ลมและเสียง

                ลมที่ใช้บังคับเสียงมีต้นกำเนิดมาจากลมภายในทรวงอก โดยใช้ผ่านลำคอแล้วอาจจะใช้อวัยวะภายในปากบังคบลม
    เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงลม เสียงควบคู่กันไปดังนี้
               
    ลมปลายลิ้น ใช้ปลายลิ้นบังคับลมให้เสียงขลุ่ยพริ้วแทนการพรมนิ้ว (การใช้นิ้วเปิดปิดสลับกันถี่ ๆ)
                ลมปริบ ใช้ปลายลิ้นบังคับลมประกอบกับการใช้นิ้วเพื่อให้เกิดเสียงพิสดาร ใช้สอดแทรกเพื่อให้การดำเนินทำนองเกิดความไพเราะมากยิ่งขึ้น
               
    ลมโปรย ใช้ลมและนิ้วบังคับทำให้เสียงขลุ่ยโรยจากหนักไปเบา หรือเบาไปหนัก ณ เสียงใดเสียงหนึ่ง
               
    ลมแฝก เป็นการรวมสองเสียงเข้าด้วยกัน เช่น ถ้าต้องการเสียง "มี" ก็เปิดนิ้วที่จะทำให้เกิดเสียง "ฟา" ด้วยเล็กน้อย แต่ลมที่เป่า
    จะต้องใช้น้อยกว่าเสียง มี ธรรมดา ทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น หรือการทำให้เกิดครึ่งเสียงนั่นเอง เสียงของขลุ่ยไทยแต่ละเสียงจะห่างกันหนึ่งเสียง บางเสียงของขลุ่ยผู้เป่าสามารถเป่าเสียงครึ่งได้ เช่นเดียวกับเสียงครึ่งของดนตรีสากล อาจใช้ในเพลงเดี่ยว หรือเพลงหมู่ ทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น
               
    ลมโหยหวน ใช้ลมและนิ้วบังคับทำให้เกิดเสียงต่อเนื่องระหว่างเสียง 2 เสียง ทั่วไปนิยมทำเสียงคู่สาม คู่ห้า อันเป็นคู่เสียงที่มีความกลมกลืน
    มากที่สุด ทำได้ทั้งจากต่ำไปหาสูงและจากสูงไปหาต่ำ จากต่ำไปหาสูงเรียกว่า "โหย" จากสูงไปหาต่ำเรียกว่า "หวน"
               
    ลมกระพุ้งแก้ม ใช้กระพุ้งแก้มบังคับลมเข้าไปในขลุ่ย ใช้ในตอนระบายลม
               
    เสียงครั่น เป็นการบังคับลมให้ออกมาเป็นช่วง ๆ ตามความถี่หรือห่างที่ต้องการทำให้เกิดเสียงคล้ายคลื่น สามารถทำได้ทุกเสียง
    ตามอารมณ์ของเพลง
               
    เสียงเลียน เป็นการทำเสียงโดยใช้นิ้วต่างกัน แต่ให้เป็นเสียงเดียวซึ่งสามารถทำได้เกือบทุกเสียง ใช้เมื่อทำนองเพลงช่วงนั้นมีเสียงยาว ทำโดยเป่าเสียงจริงก่อน แล้วจึงเป่าเสียงเลียน และกลับมาเป่าเสียงจริงเมื่อหมดจังหวะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "นิ้วควง"
               
    การชะงักลม การบรรเลงเพลงบางช่วง ต้องมีการชะงักลม คือหยุดเล็กน้อยจะทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น

    การระบายลม

                ผู้ที่จะเป่าขลุ่ยให้ได้ดีจะต้องระบายลมให้ได้ การระบายลมจะทำให้เสียงขลุ่ยไม่ขาดหายไป โดยเฉพาะในเพลงเดี่ยวมีความสำคัญมาก เพราะทำนองเพลงบางช่วงต้องการลักษณะเสียงที่ต่อเนื่อง ในสมัยโบราณการสอนระบายลม จะให้ผู้ฝึกหัดเป่าก้านมะละกอ ซึ่งปลายด้านหนึ่งอยู่ในน้ำแล้วสังเกตฟองอากาศที่ผุดขึ้นมาให้สม่ำเสมอ ในการฝึกหัดนี้อาจฝึกจากอุปกรณ์อย่างอื่นก็ได้เช่น หลอดกาแฟหรือขลุ่ยเลยก็ได้ แต่ต้องเลือกที่กินลมน้อย ๆ ก่อนเพื่อสะดวกในการระบายลม ได้แก่เสียงที่มีระดับต่ำ
            
    การระบายลม ทำได้ดังนี้   คือเมื่อเป่าขลุ่ยในระยะที่ลมในทรวงอกจะหมดให้รีบพองกระพุ้งแก้มออก   เพื่อเก็บลมแล้ว   ใช้กระพุ้งแก้มบังคับ ลมส่วนนี้เข้าไปในขลุ่ยเหมือนกับการบ้วนน้ำออกจากปาก พร้อมกับหายใจเข้าทางจมูกโดยเร็ว ก็ทำให้มีลมหมุนเวียนอยู่ภายในร่างกายตลอดไป
           
    การระบายลม การเลือกใช้ประเภทของลมและเสียงที่ถูกต้องในช่วงที่เหมาะสมของผู้เป่าขลุ่ย จะทำให้เสียงขลุ่ยไพเราะขึ้น
           
    ขลุ่ยก็มีข้อเสีย เหมือนดนตรีชนิดอื่น เนื่องจากขลุ่ยทำจากไม้ไผ่ โดยธรรมชาติขนาดไม่เท่ากัน การทำขาดความประณีต ทำให้ขลุ่ยที่ทำออกมา มีเสียงไม่เท่ากัน บางเลาสูงบางเลาต่ำ การนำมาใช้จึงต้องหาเลาที่มีเสียงเข้ากับระนาดหรือฆ้อง สำหรับขลุ่ยที่เพี้ยนนั้นถ้าเป็นน้อยอาจแก้ไขได้ โดยการตกแต่งขลุ่ย หรือใช้นิ้วและลมช่วยบังคับ แต่ทางที่ดีที่สุด คือ ควรเลือกขลุ่ยเลาที่ไม่เพี้ยนจะดีกว่า การแก้เสียงที่เพี้ยนในบางเสียง ถ้าตกแต่ง มากเกินไปอาจทำให้เสียงอื่นเสียไปด้วย

    การรักษาขลุ่ย

                ขลุ่ยถ้าทิ้งไว้นาน ๆ จะแห้ง ดากจะหดตัวลง ทำให้เป่าเสียงไม่ใส การที่จะให้ขลุ่ยเสียงดี พระยาภูมีเสวินได้ให้คำแนะนำว่า ให้นำขลุ่ยแช่น้ำผึ้งให้ท่วมปากนกแก้ว น้ำผึ้งจะช่วยให้ขลุ่ยชุ่มอยู่เสมอและขยายตัว ไม่มีช่องที่ลมจะรั่วได้ หรืออีกวิธีหนึ่งทำโดย นำขลุ่ยไปแช่ในน้ำตาลสดหรือน้ำตาลเมาหลาย ๆ วัน จะทำให้เนื้อได้อยู่ตัว มอดไม่รบกวน นอกจากนี้ควรระวังด้านอื่น ๆ คืออย่าให้ถูกความร้อนนาน ๆ ไม่ควรเอาไม้หรือวัสดุอื่นแหย่เข้าไปในปากนกแก้ว
    เพราะอาจทำให้แง่ของดากภายในบิ่น เสียงจะเสียไปได้

    ท่านั่ง การจับ ที่นั่ง

                การเล่นเครื่องดนตรีของไทยทุกชนิด นักดนตรีต้องสำรวมกิริยามารยาท ปฎิบัติให้เรียบร้อยให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์
    เครื่องดนตรีผู้ฟัง ตลอดจนนักดนตรีด้วยกันเอง การนั่งเป่าขลุ่ยหรือปี่ ต้องนั่งตัวตรงเพื่อให้ลมเดินสะดวก ถ้านั่งกับพื้นควรนั่งพับเพียบ
               
    การจับขลุ่ยหรือปี่นั้น แต่โบราณมาจะจับเอามือฃวาอยู่ข้างบนมือซ้าย ซึ่งสันนิษฐานว่าคนส่วนใหญ่ถนัดการใช้มือขวามากกว่ามือซ้าย การเป่าขลุ่ยหรือปี่ มือที่อยู่ด้านบนจะใช้มากกว่ามือที่อยู่ด้านล่าง ในการจับจึงควรจับมือขวาอยู่ด้านบน แต่ถ้าถนัดมือซ้ายก็ไม่ผิดแต่อย่างได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ไว้บ้าง
               
    สำหรับที่นั่งของขลุ่ยในการบรรเลงในวงนั้น ถ้าเป็นวงปี่พาทย์ไม้นวม ควรนั่งด้านขวาของฆ้องใหญ่ เพราะฆ้องใหญ่เป็นหลักของวง เครื่องดนตรีอื่นควรนั่งอยู่รอบ ๆ ถ้าเป็นวงอื่น เช่น วงเครื่องสาย ควรนั่งข้างซอด้วง วงมโหรีก็ควรนั่งข้างซอด้วงเข่นกัน แต่ถ้ามีขลุ่ยหลิบก็อาจ
    แยกกันได้ โดยปกติไม่ควรนั่งข้างซออู้ เพราะซออู้เสียงดัง สีตบหน้าตบหลัง ที่นั่งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะมีอิทธิพลต่อเสียงรวมที่ออกมามาก ถ้านั่งที่ไม่เหมาะสมเสียงดนตรีรวมจะไม่ดีเท่าที่ควร    อีกประการหนึ่งการนั่งที่เป็นหลักแหล่งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะทำให้ผู้ดูสามารถ
    รู้ว่าที่ตรงนั้น เป็นเครื่องดนตรีอะไร เพราะบางทีอยู่ไกลไม่สามารถมองเห็นเครื่องดนตรีที่เล่น
               
    คุณครูเทียบ คงลายทอง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกบนักดนตรีไทยรุ่นหลัง ๆ นี้ว่า การจะเป็นนักดนตรีที่ดีจะต้องมีผีมือและจรรยา
    ประกอบกันไป นักดนตรีปัจจุบันนี้ฝีมือสู้ในอดีตไม่ได้ต่างคนจะแข่งขันเอาความเก่งในการเล่น ไม่เอาความไพเราะ และส่วนมากยังขาดจรรยา ต่างวงมาพบกันเป็นต้องแสดงท่าเข้าหากันเสมอ เนื่องจากคิดว่าตัวเองเก่ง ต่อเพลงมาอย่างดีแล้ว ซึ่งนักดนตรีไทยเราไม่ควรคิดอย่างนั้นเลย เพราะแม้แต่คุณครูเทียบเอง ท่านยังกล่าว่า "ผมเองก็รู้ไม่หมด" การศึกษาความรู้นั้นไม่มีใครที่จะรู้ได้สิ้นสุด ขอเพียงแต่ศึกษาอย่างถูกทาง ก็ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์แล้ว

    ขลุ่ยหลีบ   เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา ๓ เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด

    ขลุ่ยอู้   เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก ๒ เสียง ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

    ขลุ่ยนก  เป็นขลุ่ยพิเศษ ทำขึ้นเพื่อ เสียงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ใช้บรรเลง ประกอบในวงดนตรี เพื่อให้เกิดจินตนาการ ในการฟังเพลงได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งยังใช้ ลิ้นปี่มาประกอบกับ ตัวขลุ่ยเพื่อเลียนเสียงไก่ ขลุ่ยพิเศษเหล่านี้นิยมใช้บรรเลง เพลงตับนก และตับภุมรินทร์

    ปี่

    เป็นเครื่องดนตรีไทยแท้ ๆ ทำด้วยไม้จริงเช่นไม้ชิงชันหรือไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่อง เจาะภายในให้กลวงตลอดเลา ทางหัวของปี่เป็นช่องรูเล็กส่วนทาง ปลายของปี่ ปากรูใหญ่ใช้ชันหรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละ ครึ่งซม ส่วนหัวเรียก ทวนบน ส่วนท้ายเรียกทวนล่าง ตอนกลางของปี่ เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงลงมาจำนวน 6 รู รูตอนบนเจาะเรียงลงมา 4 รู เว้นระยะห่าง

    เล็กน้อย เจาะรูล่างอีก 2 รู ตรงกลางของเลาปี่ กลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ไว้เป็นจำนวน 14 คู่ เพื่อความสวยงามและกันลื่นอีกด้วย ตรงทวนบนนั้นใส่ลิ้นปี่ที่ทำด้วยใบตาลซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดให้กลมแล้วนำไปผูกติดกับท่อลมเล็กๆที่ เรียกว่า กำพวด เรียวยาวประมาณ 5 ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาก หรือโลหะอย่างอื่นวิธีผูกเชือกเพื่อ ให้ใบตาลติดกับกำพวดนั้น ใช้วิธีผูกที่เรียกว่า ผูกตะกรุดเบ็ด ส่วนของกำพวดที่จะต้องสอดเข้าไปเลาปี่นั้นเขาใช้ถักหรือเคียน ด้วยเส้นด้าย สอดเข้าไปในเลาปี่ให้พอมิดที่พันด้ายจะทำให้เกิดความ แน่นกระชับยิ่งขึ้น

    ปี่ของไทยจัดได้เป็น 3 ชนิดดังนี้

    ปี่นอก มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 31 ซม. กว้าง 3.5 ซม. เป็นปี่ที่ใช้กันมาแต่เดิม

    ปี่กลาง มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 37 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม. สำหรับเล่นประกอบการแสดงหนังใหญ่ มีสำเนียงเสียงอยู่ระหว่าง ปี่นอก กับปี่ใน

    ปี่ใน มีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 41 – 42 ซม. กว้างประมาณ 4.5 ซม. เป็นปี่ที่พระอภัยมณีใช้สำหรับเป่าให้นางผีเสื้อสมุทร (ในวรรณกรรมของสุนทรภู่) ขาดใจตายนั่นเอง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×