ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลวงตาบวชมาทำไม ?

    ลำดับตอนที่ #6 : ประเพณีที่ไม่เป็นธรรม

    • อัปเดตล่าสุด 9 ต.ค. 54


    ประเพณีที่ไม่เป็นธรรม 


    หลวงตาสงบถูกโยมปรับอาบัติซึ่งหน้า ก็ให้รู้สึกหงุดหงิด จึงพูดเสียงกร้าวขึ้นว่า โยมนี่ จะรู้มากเกินไปแล้ว ศึกษาธรรมะประสาอะไร จึงทำให้ผิดแปลกกว่าคนอื่นเขา พระภิกษุทั่วทั้งประเทศก็ปฏิบัติกันอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครเขาวุ่นวายเดือดร้อนอะไร เขาก็ปฏิบัติกันอย่างนี้มาเป็นร้อยปีพันปีแล้ว

    ยุคสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อน มันต้องมีการปรับปรุงพัฒนากันบ้างสิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ก็ต้องจ่ายเอง ค่ารักษา พยาบาลเวลาป่วยไข้ล่ะ ถ้าไม่มีโยมอุปัฏฐากที่มีฐานะ ใครจะมาออกให้


    อาตมาจะบอกให้ว่า เวลาทำวัตรสวดมนต์ตอนเย็น พระภิกษุก็มีการแสดงอาบัติกันทุกวัน บอกแล้วว่าโยมไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เป็นพระภิกษุสวดมนต์ ไหว้พระ ให้พร ยถา สัพพี ฯ ได้ทำบุญกุศลตั้งมากมาย ถ้าจะตกนรกเพราะเหตุนี้ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะก็คงจะตกนรกกันทั้งประเทศล่ะ และไม่ใช่ประเทศไทยเราประเทศเดียวเท่านั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลังกา ลาว เขมร เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มากมายในโลก ก็ปฏิบัติกันอย่างนี้ทั้งนั้น


    โยมไฉไลเห็นหลวงพ่อเริ่มขุ่นใจ จึงกล่าวขอขมาโทษว่า โยมต้องขออภัยเจ้าค่ะ โยมก็ไม่อยากให้หลวงพ่อไม่สบายใจหรอกเจ้าค่ะ แต่เมื่อก่อนไม่ได้เรียนรู้พระธรรมวินัยจึงปฏิบัติผิด ๆ ต่อหลวงพ่อและพระภิกษุทั่วไป เมื่อได้ศึกษาพอเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมวินัยและสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมวินัยแล้ว ก็อยากจะทำให้ถูกต้อง หลวงพ่ออย่าไปถือตามคนส่วนมากสิเจ้าคะ ควรจะถือตามพระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ขึ้นอยู่กับกาล ไม่ขึ้นกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นสมัยไหนก็ตาม ธรรมที่เป็นโทษก็ต้องมีโทษทุกยุคสมัย ส่วนธรรมที่เป็นคุณประโยชน์ก็ต้องเป็นประโยชน์ทุกเมื่อไป



    โยมชวนพระศึกษาพระไตรปิฎก


    โยมอยากให้พระภิกษุในยุคนี้ศึกษาพระไตรปิฎกบ้าง รวมทั้งอรรถกถาด้วย จะได้มีศรัทธา มีปัญญา เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ยิ่งขึ้น จะได้กลัวบาปให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะยุคสมัยที่เจริญด้วยวัตถุ พระภิกษุในยุคนี้ก็พลอยยึดถือวัตถุนิยมไปด้วย ทั้ง ๆ ที่รูปแบบการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ แม้กระทั่งเครื่องแต่งกายของพระภิกษุก็แตกต่างไปจากคฤหัสถ์ เป็นการประกาศตนเองอยู่แล้วว่าไม่อยากเป็นคฤหัสถ์ ฉะนั้น จึงต้องดำเนินชีวิตให้อยู่ในรูปแบบของความเป็นสมณะผู้สงบ ผู้ที่ ประพฤติตามพระธรรมวินัย



    พระภิกษุบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เป็นการขอแบบพระอริยะ คือ ไม่เอ่ยปากขอกับคนที่ไม่ใช่ญาติ คนที่ไม่ได้ปวารณาไว้ พระภิกษุไม่ต้องทำมาหากิน เพียงแต่รักษาศีล มีความสำรวม มักน้อย สันโดษ ญาติโยมก็เลื่อมใส ใคร่ที่จะดูแลอุปัฏฐาก ถวายอาหารและปัจจัยไทยธรรมให้แล้ว


    -พระภิกษุเอ่ยปากขอปัจจัย ๔ กับคนที่ไม่ใช่ญาติ หรือคนที่ไม่ได้ปวารณาไว้ ถ้าขอจีวรได้มา ต้องอาบัตินิสสัคคิย-ปาจิตตีย์i เว้นไว้แต่จีวรหายหรือถูกทำลาย

    -ไม่ป่วยไข้ ขอโภชนะอันประณีต เพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    ii 

    -ไม่ป่วยไข้ ขออาหารบิณฑบาตได้มาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
    iii

    -ขอเสนาสนะได้มา ต้องอาบัติทุกกฏ
    iv แต่อนุญาตให้ขอโดยอ้อม ไม่ต้องเอ่ยปากขอได้ เรียกว่า ปริกถา โอภาส นิมิตกรรม  

    -ไม่ป่วยไข้ ขอเภสัชเกินกำหนดที่เขาปวารณา ได้มา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    v

    -พระภิกษุนุ่งสบง ห่มจีวร สังฆาฏิ เรียกว่า ไตรจีวร ไม่ใส่เสื้อกางเกง โยมทราบว่า พระภิกษุสวมใส่เสื้อ กางเกง ไม่ว่ากางเกงนอกหรือกางเกงใน หรือสวมหมวก ต้องอาบัติทุกกฏvi

    แม้สวมรองเท้าหรือกางร่มไปในละแวกบ้านโดยที่ไม่ป่วยไข้ ก็ต้องอาบัติทุกกฏ
    vii


    แสดงให้เห็นว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุต้องต่างจากคฤหัสถ์จริง ๆ ใช่ไหมเจ้าคะ


    หลวงตาพยักหน้าตอบรับ ในใจก็นึกฉงนอีกว่า ทำไมโยมลูกสาวจึงสนใจพระวินัยของพระภิกษุมากมายนัก และรู้ละเอียดหยุมหยิมอย่างนี้ !


    โยมไฉไลลูกสาว ผู้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเมื่อไม่นาน ด้วยความรักความผูกพันในภิกษุผู้เป็นบิดา ความเคารพในพระศาสนา ประกอบกับความรู้สึกที่เรียกว่า กำลังไฟแรง จึงกล่าวถวายความรู้ต่อพระภิกษุผู้เป็นบิดาต่อไปว่า


    ภิกษุใช้จีวรเพียง ๓ ผืน และบริขารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องแฟชั่น ไม่ต้องตามให้ทันสมัย เพราะตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ๒๕๐๐ กว่าปี ผ้าไตรจีวรของพระภิกษุก็ทรงเดียวกันหมด ไม่ว่าจะไปงานไหน ๆ ก็ใช้ทรงเดิม เรียกได้ว่า ชุดนอน ชุดเที่ยวจาริก ชุดออกงานมงคล งานอวมงคล ก็ชุดเดียวกันหมด ไม่ต้องกังวลในเรื่องเครื่องแบบ เรื่องแฟชั่น สบายจริง ๆ


    พระภิกษุไม่ไว้ผม ไม่ต้องคอยตัดผมและเปลี่ยนทรงผมบ่อย ๆ เหมือนคฤหัสถ์ ตัดความยุ่งยากไปได้มาก เป็นความเหมาะสมแก่ผู้ที่สละทางโลก ไม่ต้องการความหล่อ ความงาม อันก่อให้เกิดกิเลสอกุศลมากมาย


    พอพูดมาถึงตรงนี้ โยมลูกสาวหยุดครู่หนึ่งเพราะเกิดความสงสัยในเรื่องการโกนผมของพระภิกษุจึงได้ถามหลวงตาว่า


    หลวงพ่อเจ้าคะ พระภิกษุมีวิธีการโกนผมกันอย่างไรเจ้าคะ ใครเป็นคนโกนให้ และมีกำหนดการโกนผมกันอย่างไร บางครั้ง โยมเห็นพระภิกษุบางวัดโกนผมไม่พร้อมกัน มีพระวินัยกำกับในเรื่องนี้หรือไม่เจ้าคะ และเคยเห็นพระภิกษุบางกลุ่ม เป็นส่วนน้อยที่ไม่โกนคิ้ว ดูแปลกตา ผิดพระวินัยหรือเปล่าเจ้าคะ ?





    i

    พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ ภาค ๓ มหาวิภังค์ นิสสัคคิยกัณฑ์ จีวรวรรคที่ ๑ อัญญาตกวิญญัติสิกขาบทที่ ๖ เบอร์ ๓ หน้า ๘๐๓

    ii

    พระวินัยปิฎก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ทุติยภาค ปาจิตติยกัณฑ์ โภชนวรรคที่ ๔ ปณีตโภชนสิกขาบทที่ ๙ เบอร์ ๔ หน้า ๕๔๙

    iii

    พระวินัยปิฎก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ทุติยภาค เสขิยกัณฑ์ สักกัจจวรรคที่ ๔ สูโปทนวิญญัตติสิกขาบทที่ ๗ เบอร์ ๔ หน้า ๙๑๐

    iv

    พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ ภาค ๓ มหาวิภังค์ เตรสกัณฑวรรณนา อรรถกถากุฏิการสิกขาบทที่ ๖ เบอร์ ๓ หน้า ๙๗๔

    v

    พระวินัยปิฎก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ทุติยภาค ปาจิตติยกัณฑ์ อเจลกวรรค ที่ ๕ มหานามสิกขาบทที่ ๗ เบอร์ ๔ หน้า ๖๑๒

    vi

    พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ขุททกวัตถุขันธกะเบอร์ ๙ หน้า๖๒

    viiพระวินัยปิฎก เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ เบอร์ ๗ หน้า ๓๐, พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ขุททกวัตถุขันธกะเบอร์ ๙ หน้า ๕๐

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×