ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลวงตาบวชมาทำไม ?

    ลำดับตอนที่ #1 : กำเนิดหลวงตา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 399
      2
      20 มิ.ย. 54

      

    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส


    ขอนอบน้อม วันทา อภิวาท

    แทบพระบาท พระพุทธะ พระองค์นั้น

    ผู้เป็นครู มีคุณ อเนกอนันต์

    รู้ธรรมอัน ดับทุกข์แท้ สยัญญู

    กำเนิดหลวงตา

     

    ชายวัยกลางคน   อายุเกือบ  ๕๐  ปี   รูปร่างสูงใหญ่   ผิวดำแดง   มีอาการเพิ่งจะสร่างเมา   ประคองร่างของตนเองเข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง   ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองกรุงเทพ ฯ   มุ่งตรงไปยังกุฏิเจ้าอาวาส    เมื่อพบเจ้าอาวาสวัย  ๗๐  กว่าแล้ว   จึงก้มลงกราบด้วยความนอบน้อม    และเอ่ยปากด้วยสีหน้าที่เศร้า ๆ  มีนัยน์ตาแดงว่า   หลวงพ่อครับ   ผมจะมาขอบวชครับ  หลวงพ่อเจ้าอาวาสผู้เปี่ยมด้วยเมตตาเอ่ยปากถามว่า   โยมชื่ออะไร   บ้านอยู่ไหน   นึกอย่างไร   จึงอยากจะบวชล่ะ ?

     

    นายสงบ   ผมชื่อสงบครับ  บ้านผมก็อยู่แถบนี้ละครับ  ที่อยากบวช     ก็เพราะเบื่อชีวิตครับ     รู้สึกว่ามันช่างมีแต่ความทุกข์    หาความสุขไม่ค่อยได้เลยครับ

     

    หลวงพ่อ   ถ้าโยมมีแต่ความสุขล่ะ    ยังอยากจะมาบวชไหม ?

     

    นายสงบ   ก็ไม่แน่หรอกครับ   แต่ตอนนี้   ผมอยากจะบวชครับ

     

    หลวงพ่อ   มีอะไรที่เป็นทกข์นักหนา    เล่าให้ฟังบ้างได้ไหม ?

     

    นายสงบ   ทุกข์มันมีสารพัด    ทั้งทะเลาะกับเมีย   เคลียร์หนี้ก็ยังไม่สิ้น   ทำมาหากินก็ไม่ร่ำรวย    ซื้อหวยก็ไม่ถูก  เลี้ยงลูกก็ไม่ได้ดังใจ   ชีวิตมันไม่สมหวังเอาเสียเลย   ผมบวชดีกว่าครับ

     

    หลวงพ่อ   แล้วโยมคิดว่า     บวชแล้วจะทำให้หมดทุกข์กระนั้นหรือ ?

     

    นายสงบ    ครับ     ผมคิดว่าอย่างนั้น    อย่างน้อยก็ไม่ต้องพบเห็นสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์   อยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์    น่าจะมีความสุขมากกว่านะครับ

     

    หลวงพ่อ   การบวชเป็นพระภิกษุ   ไม่ใช่เป็นของง่ายอย่างที่คิดกันหรอกนะ   ต้องตัดทางโลก   มุ่งทางธรรม   ศึกษาพระธรรมคำสอน   สวดมนต์ไหว้พระ  เจริญภาวนา    ต้องไม่เห็นแก่กิน   ไม่เห็นแก่นอน   ไม่สะสมข้าวของ   ไม่สะสมทรัพย์สินเงินทอง   โยมจะทำได้หรือ ?

     

    นายสงบ   ไม่ลองก็ไม่รู้หรอกครับ  แต่ผมคิดว่าคนอื่นทำได้ ผมก็ต้องทำได้   หลวงพ่อกรุณาบวชให้ผมด้วย  นึกว่าเอาบุญเถิดครับ   ผมอยากจะหาทางพ้นทุกข์จริง ๆ

     

    หลวงพ่อ   ถ้าโยมมีศรัทธาตั้งใจจะบวชแน่นอน   อาตมาก็ไม่ขัดข้อง   เดี๋ยวจะไปขอให้อุปัชฌาย์กำหนดวันบวช โยมนำเอาใบสมัครอุปสมบทไปกรอกรายละเอียด   แล้วก็ต้องเลิกดื่มเหล้า   ต้องใช้หนี้สินให้หมดเสียก่อนด้วย   จึงจะบวชได้ ...

     

         (มีข้อสังเกตว่า  การบวชพระ  เณรในปัจจุบันนี้  ค่อนข้างจะง่ายดายเสียเหลือเกิน     มีเงินซื้อบาตรจีวรและถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระอุปัชฌาย์   พระคู่สวดและพระนั่งอันดับ  ก็บวชได้แล้ว    ไม่ได้มีความพิถีพิถันตรวจสอบอะไรกันมากมายนัก   แต่ก็มีบางวัดที่เป็นสำนักปฏิบัติ    ถ้าจะมาบวช   จะต้องถูกซักถามอย่างละเอียด    และนุ่งขาวห่มขาว   อยู่ประพฤติข้อวัตรเป็นเดือน ๆ   กว่าพระอาจารย์จะอนุญาตให้บวชได้   เป็นการกลั่นกรองผู้บวชให้มีคุณภาพในพระพุทธศาสนาขั้นต้นก่อน    ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง)   

         เป็นธรรมดาของผู้ที่มีทุกข์    ย่อมต้องหาทางพ้นทุกข์  พระพุทธศาสนาเป็นทางออกทางหนึ่งของผู้มีทุกข์   แต่ผู้มีทุกข์จะทำตนให้พ้นจากทุกข์ได้หรือไม่นั้น   ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

     

         หลังจากที่นายสงบได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ   ก็เริ่มต้นจากการสวดมนต์   ยถา  สัพพี ฯ   อันเป็นการให้พรเวลาโยมมาทำบุญตามประเพณี    พระพี่เลี้ยงที่บวชมาก่อนก็แนะนำข้อประพฤติที่สมควรแก่สมณะ   มีการนุ่งห่มจีวร   การบิณฑบาต การขบฉันเป็นต้น    สอนให้สวดมนต์เจ็ดตำนาน   สิบสองตำนาน   ซึ่งก็คือพระปริตร   เพื่อเอาไว้สวดในเวลาโยมนิมนต์ไปฉันที่บ้านหรือในงานมงคลต่าง ๆ   รวมทั้งเริ่มศึกษานักธรรมตรี  โท  เอก  ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุในยุคปัจจุบันตามลำดับ

     

         ชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุตามชนบท   ที่เป็นวัดบ้านหรือตามชานเมืองหลวงก็ไม่แตกต่างกันนัก    คือมีกิจกรรมตั้งแต่เช้ามืด    สวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้วก็ไปบิณฑบาต   กลับมาก็รวมกันฉันบ้าง    แยกกันฉันส่วนตัวบ้าง     พระใหม่ก็ต้องเรียนนักธรรมตรี   วินัยมุขซึ่งเป็นหลักสูตรที่แต่งขึ้นมาตั้งร้อยกว่าปีแล้ว    ยังไม่ได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรเหมือนวิชาการทางโลกเลย    บางท่านที่อยากเป็นพระมหา   ก็ไปเรียนภาษาบาลีตามสำนักใหญ่ ๆ   พระหลวงปู่หลวงตา  ถ้ามีกิจนิมนต์ไปฉันในหมู่บ้านก็ไปกิจนิมนต์กัน   ถ้าไม่มีกิจนิมนต์  ก็พักผ่อนตามอัธยาศัย   ตามคำที่ชาวบ้านชอบล้อเลียนกันว่า  เช้าเอน  เพลนอน  บ่ายพักผ่อน  เย็นจำวัด (ดึกซัดมาม่า)   ถึงเวลาเพลก็ไปฉัน   โดยฉันวันละ  ๒  มื้อ  ไม่ให้เกินเที่ยงตรง   ตกเย็นก็ทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระ   แล้วก็แยกย้ายกันไปทำกิจส่วนตัว .....

     

    เวลาและวารี          ไม่ยินดีจะคอยใคร  

    รถเมล์แลเรือไฟ         มันก็ไปตามเวลา   

    ยืดยาดหรืออืดอาด            มักจะพลาดปรารถนา  

    พลาดแล้วจะโศกา     อนิจจาเราช้าไป

          

         จากวันเป็นเดือน   จากเดือนเลื่อนไปเป็นปี   จากปีเป็นหลาย ๆ ปี     กาลเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก    พระภิกษุสงบก็ดำเนินชีวิตเหมือนพระบ้านทั่วไป    ศึกษาพระธรรมวินัยจนจบหลักสูตรนักธรรมเอก    พรรษามากขึ้นจนเป็นพระเถระ  ได้รับตำแหน่งพระครูชั้นฐานา (พระระดับเจ้าคุณผู้มีอำนาจแต่งตั้งให้   ถ้าเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร  พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้  ตามผู้เสนอ)   แต่พระหนุ่มเณรน้อยก็เรียกท่านว่า  หลวงตา   เพราะวัยก็ปาเข้าไปตั้ง  ๖๐  กว่า   เจ้าอาวาสรูปเก่าก็เข้าถึงความเป็นอนิจจัง มรณัง จุติไปได้หลายปีแล้ว  มีผู้เสนอให้พระครูหลวงตาสงบเป็นเจ้าอาวาส    แต่หลวงตารักสงบจึงขออยู่อย่างสงบคือเป็นลูกวัด   ดีกว่าการรับผิดชอบเป็นเจ้าอาวาส   แต่เพราะความมีพรรษามาก จึงได้เป็นหัวหน้าในกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น  การทำวัตรสวดมนต์   การรับกิจนิมนต์ไปฉันในงานทั่วไป    การเทศนาสั่งสอนญาติโยมตามกาละ    จนมีปัจจัยบริขารและบริวารมากขึ้นเรื่อย ๆ  มีที่อยู่อาศัย  มีปัจจัยสี่พรั่งพร้อมบริบูรณ์    มีคนเคารพนบนอบบูชา   เข้าตำราที่ว่า   บ้านก็ไม่ต้องเช่า  ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ  แถมมีมือถือใช้อีกต่างหาก  มีผู้คนมากราบไหว้เคารพบูชาสักการะ    มาให้รดน้ำมนต์บ้าง   มาให้ดูหมอบ้าง   มาให้ต่อดวงชะตาบ้าง   ก็ทำให้เพลิดเพลินไปในความเป็นพระภิกษุผู้หลงเป้าหมายได้เหมือนกัน

          

         เวลาผ่านลวงเลยไปหลายปีตั้งแต่บวช    หลวงตาสงบลืมสนิทเสียแล้วว่า  บวชเข้ามาทำไม ?   เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นปัจจัยให้มีความทุกข์เหมือนตอนที่เป็นคฤหัสถ์   จึงไม่ได้คิดที่จะหาทางพ้นจากทุกข์    และถึงแม้อยากจะพ้นจากทุกข์จริง ๆ  ก็ไม่รู้จะหาวิธีไหน   และหาจากใคร ?   วัดทั้งวัดก็ไม่มีใครที่อยากจะหาทางพ้นจากทุกข์    เพราะพระภิกษุแต่ละรูปท่านก็ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นทุกข์   รวมทั้งหลวงตาสงบซึ่งลืมความทุกข์ก่อนบวชไปเสียแล้วจนสิ้น 


    To be continue... 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×