ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลวงตาบวชมาทำไม ?

    ลำดับตอนที่ #1 : กำเนิดหลวงตา

    • อัปเดตล่าสุด 20 มิ.ย. 54


      

    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส


    ขอนอบน้อม วันทา อภิวาท

    แทบพระบาท พระพุทธะ พระองค์นั้น

    ผู้เป็นครู มีคุณ อเนกอนันต์

    รู้ธรรมอัน ดับทุกข์แท้ สยัญญู

    กำเนิดหลวงตา

     

    ชายวัยกลางคน   อายุเกือบ  ๕๐  ปี   รูปร่างสูงใหญ่   ผิวดำแดง   มีอาการเพิ่งจะสร่างเมา   ประคองร่างของตนเองเข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง   ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองกรุงเทพ ฯ   มุ่งตรงไปยังกุฏิเจ้าอาวาส    เมื่อพบเจ้าอาวาสวัย  ๗๐  กว่าแล้ว   จึงก้มลงกราบด้วยความนอบน้อม    และเอ่ยปากด้วยสีหน้าที่เศร้า ๆ  มีนัยน์ตาแดงว่า   หลวงพ่อครับ   ผมจะมาขอบวชครับ  หลวงพ่อเจ้าอาวาสผู้เปี่ยมด้วยเมตตาเอ่ยปากถามว่า   โยมชื่ออะไร   บ้านอยู่ไหน   นึกอย่างไร   จึงอยากจะบวชล่ะ ?

     

    นายสงบ   ผมชื่อสงบครับ  บ้านผมก็อยู่แถบนี้ละครับ  ที่อยากบวช     ก็เพราะเบื่อชีวิตครับ     รู้สึกว่ามันช่างมีแต่ความทุกข์    หาความสุขไม่ค่อยได้เลยครับ

     

    หลวงพ่อ   ถ้าโยมมีแต่ความสุขล่ะ    ยังอยากจะมาบวชไหม ?

     

    นายสงบ   ก็ไม่แน่หรอกครับ   แต่ตอนนี้   ผมอยากจะบวชครับ

     

    หลวงพ่อ   มีอะไรที่เป็นทกข์นักหนา    เล่าให้ฟังบ้างได้ไหม ?

     

    นายสงบ   ทุกข์มันมีสารพัด    ทั้งทะเลาะกับเมีย   เคลียร์หนี้ก็ยังไม่สิ้น   ทำมาหากินก็ไม่ร่ำรวย    ซื้อหวยก็ไม่ถูก  เลี้ยงลูกก็ไม่ได้ดังใจ   ชีวิตมันไม่สมหวังเอาเสียเลย   ผมบวชดีกว่าครับ

     

    หลวงพ่อ   แล้วโยมคิดว่า     บวชแล้วจะทำให้หมดทุกข์กระนั้นหรือ ?

     

    นายสงบ    ครับ     ผมคิดว่าอย่างนั้น    อย่างน้อยก็ไม่ต้องพบเห็นสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์   อยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์    น่าจะมีความสุขมากกว่านะครับ

     

    หลวงพ่อ   การบวชเป็นพระภิกษุ   ไม่ใช่เป็นของง่ายอย่างที่คิดกันหรอกนะ   ต้องตัดทางโลก   มุ่งทางธรรม   ศึกษาพระธรรมคำสอน   สวดมนต์ไหว้พระ  เจริญภาวนา    ต้องไม่เห็นแก่กิน   ไม่เห็นแก่นอน   ไม่สะสมข้าวของ   ไม่สะสมทรัพย์สินเงินทอง   โยมจะทำได้หรือ ?

     

    นายสงบ   ไม่ลองก็ไม่รู้หรอกครับ  แต่ผมคิดว่าคนอื่นทำได้ ผมก็ต้องทำได้   หลวงพ่อกรุณาบวชให้ผมด้วย  นึกว่าเอาบุญเถิดครับ   ผมอยากจะหาทางพ้นทุกข์จริง ๆ

     

    หลวงพ่อ   ถ้าโยมมีศรัทธาตั้งใจจะบวชแน่นอน   อาตมาก็ไม่ขัดข้อง   เดี๋ยวจะไปขอให้อุปัชฌาย์กำหนดวันบวช โยมนำเอาใบสมัครอุปสมบทไปกรอกรายละเอียด   แล้วก็ต้องเลิกดื่มเหล้า   ต้องใช้หนี้สินให้หมดเสียก่อนด้วย   จึงจะบวชได้ ...

     

         (มีข้อสังเกตว่า  การบวชพระ  เณรในปัจจุบันนี้  ค่อนข้างจะง่ายดายเสียเหลือเกิน     มีเงินซื้อบาตรจีวรและถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระอุปัชฌาย์   พระคู่สวดและพระนั่งอันดับ  ก็บวชได้แล้ว    ไม่ได้มีความพิถีพิถันตรวจสอบอะไรกันมากมายนัก   แต่ก็มีบางวัดที่เป็นสำนักปฏิบัติ    ถ้าจะมาบวช   จะต้องถูกซักถามอย่างละเอียด    และนุ่งขาวห่มขาว   อยู่ประพฤติข้อวัตรเป็นเดือน ๆ   กว่าพระอาจารย์จะอนุญาตให้บวชได้   เป็นการกลั่นกรองผู้บวชให้มีคุณภาพในพระพุทธศาสนาขั้นต้นก่อน    ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง)   

         เป็นธรรมดาของผู้ที่มีทุกข์    ย่อมต้องหาทางพ้นทุกข์  พระพุทธศาสนาเป็นทางออกทางหนึ่งของผู้มีทุกข์   แต่ผู้มีทุกข์จะทำตนให้พ้นจากทุกข์ได้หรือไม่นั้น   ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

     

         หลังจากที่นายสงบได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ   ก็เริ่มต้นจากการสวดมนต์   ยถา  สัพพี ฯ   อันเป็นการให้พรเวลาโยมมาทำบุญตามประเพณี    พระพี่เลี้ยงที่บวชมาก่อนก็แนะนำข้อประพฤติที่สมควรแก่สมณะ   มีการนุ่งห่มจีวร   การบิณฑบาต การขบฉันเป็นต้น    สอนให้สวดมนต์เจ็ดตำนาน   สิบสองตำนาน   ซึ่งก็คือพระปริตร   เพื่อเอาไว้สวดในเวลาโยมนิมนต์ไปฉันที่บ้านหรือในงานมงคลต่าง ๆ   รวมทั้งเริ่มศึกษานักธรรมตรี  โท  เอก  ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุในยุคปัจจุบันตามลำดับ

     

         ชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุตามชนบท   ที่เป็นวัดบ้านหรือตามชานเมืองหลวงก็ไม่แตกต่างกันนัก    คือมีกิจกรรมตั้งแต่เช้ามืด    สวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้วก็ไปบิณฑบาต   กลับมาก็รวมกันฉันบ้าง    แยกกันฉันส่วนตัวบ้าง     พระใหม่ก็ต้องเรียนนักธรรมตรี   วินัยมุขซึ่งเป็นหลักสูตรที่แต่งขึ้นมาตั้งร้อยกว่าปีแล้ว    ยังไม่ได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรเหมือนวิชาการทางโลกเลย    บางท่านที่อยากเป็นพระมหา   ก็ไปเรียนภาษาบาลีตามสำนักใหญ่ ๆ   พระหลวงปู่หลวงตา  ถ้ามีกิจนิมนต์ไปฉันในหมู่บ้านก็ไปกิจนิมนต์กัน   ถ้าไม่มีกิจนิมนต์  ก็พักผ่อนตามอัธยาศัย   ตามคำที่ชาวบ้านชอบล้อเลียนกันว่า  เช้าเอน  เพลนอน  บ่ายพักผ่อน  เย็นจำวัด (ดึกซัดมาม่า)   ถึงเวลาเพลก็ไปฉัน   โดยฉันวันละ  ๒  มื้อ  ไม่ให้เกินเที่ยงตรง   ตกเย็นก็ทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระ   แล้วก็แยกย้ายกันไปทำกิจส่วนตัว .....

     

    เวลาและวารี          ไม่ยินดีจะคอยใคร  

    รถเมล์แลเรือไฟ         มันก็ไปตามเวลา   

    ยืดยาดหรืออืดอาด            มักจะพลาดปรารถนา  

    พลาดแล้วจะโศกา     อนิจจาเราช้าไป

          

         จากวันเป็นเดือน   จากเดือนเลื่อนไปเป็นปี   จากปีเป็นหลาย ๆ ปี     กาลเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก    พระภิกษุสงบก็ดำเนินชีวิตเหมือนพระบ้านทั่วไป    ศึกษาพระธรรมวินัยจนจบหลักสูตรนักธรรมเอก    พรรษามากขึ้นจนเป็นพระเถระ  ได้รับตำแหน่งพระครูชั้นฐานา (พระระดับเจ้าคุณผู้มีอำนาจแต่งตั้งให้   ถ้าเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร  พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้  ตามผู้เสนอ)   แต่พระหนุ่มเณรน้อยก็เรียกท่านว่า  หลวงตา   เพราะวัยก็ปาเข้าไปตั้ง  ๖๐  กว่า   เจ้าอาวาสรูปเก่าก็เข้าถึงความเป็นอนิจจัง มรณัง จุติไปได้หลายปีแล้ว  มีผู้เสนอให้พระครูหลวงตาสงบเป็นเจ้าอาวาส    แต่หลวงตารักสงบจึงขออยู่อย่างสงบคือเป็นลูกวัด   ดีกว่าการรับผิดชอบเป็นเจ้าอาวาส   แต่เพราะความมีพรรษามาก จึงได้เป็นหัวหน้าในกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น  การทำวัตรสวดมนต์   การรับกิจนิมนต์ไปฉันในงานทั่วไป    การเทศนาสั่งสอนญาติโยมตามกาละ    จนมีปัจจัยบริขารและบริวารมากขึ้นเรื่อย ๆ  มีที่อยู่อาศัย  มีปัจจัยสี่พรั่งพร้อมบริบูรณ์    มีคนเคารพนบนอบบูชา   เข้าตำราที่ว่า   บ้านก็ไม่ต้องเช่า  ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ  แถมมีมือถือใช้อีกต่างหาก  มีผู้คนมากราบไหว้เคารพบูชาสักการะ    มาให้รดน้ำมนต์บ้าง   มาให้ดูหมอบ้าง   มาให้ต่อดวงชะตาบ้าง   ก็ทำให้เพลิดเพลินไปในความเป็นพระภิกษุผู้หลงเป้าหมายได้เหมือนกัน

          

         เวลาผ่านลวงเลยไปหลายปีตั้งแต่บวช    หลวงตาสงบลืมสนิทเสียแล้วว่า  บวชเข้ามาทำไม ?   เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นปัจจัยให้มีความทุกข์เหมือนตอนที่เป็นคฤหัสถ์   จึงไม่ได้คิดที่จะหาทางพ้นจากทุกข์    และถึงแม้อยากจะพ้นจากทุกข์จริง ๆ  ก็ไม่รู้จะหาวิธีไหน   และหาจากใคร ?   วัดทั้งวัดก็ไม่มีใครที่อยากจะหาทางพ้นจากทุกข์    เพราะพระภิกษุแต่ละรูปท่านก็ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นทุกข์   รวมทั้งหลวงตาสงบซึ่งลืมความทุกข์ก่อนบวชไปเสียแล้วจนสิ้น 


    To be continue... 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×