คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : Review | กว่ากลีบทองกวาวจะร่วงโรยในวันปัจฉิม
จากที่ไล่อ่านผ่านตารอบแรก เราสามารถบอกได้ว่าเรื่องการเลือกใช้คำศัพท์และสำนวนการเขียนนั้นไม่ใช่ปัญหาของคุณนักเขียนหรือนิยายเรื่องนี้เลย ตรงจุดที่กล่าวไป คุณนักเขียนทำออกมาได้ดีมากค่ะ เนื้อเรื่องอ่านได้ลื่นไหล ดูใส่ใจกับการเลือกใช้คำโดยแต่ไม่ใช้คำที่ใหญ่หรือเข้าใจยาก แต่ละตอนมีความยาวที่กำลังพอดี ไม่สั้นหรือยาวไป ใช้เวลาประมาณสิบนาทีในการอ่านแต่ละตอน ทำให้นิยายเรื่องนี้สามารถเข้าถึงได้โดยนักอ่านหลายๆ กลุ่ม ดังนั้นเราจึงขออนุญาตตรงนี้เลยว่าจะไม่หยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดในบทวิจารณ์ที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้ ยกเว้นว่าจะมีอะไรที่เด่นออกมาจริงๆ
ตรงส่วนเรื่องย่อและข้อมูลเบื้องต้น ทั้งสองอย่างมีใจความที่กระชับ แต่ไม่สั้น ให้เวลาผู้อ่านได้ทำความรู้จักเล็กน้อยกับทีน มีการผสมมุขตลกที่แสดงให้เห็นถึงความนึกคิดและการเรียงความสำคัญของแต่ละสิ่งในชีวิตช่วงวัยรุ่น (จะตายไม่ว่า แต่ทำไมไม่ให้เห็นข้อสอบ) และถึงแม้จะดูเหมือนว่าเปิดเผยทุกอย่างของพล็อตเรื่องไว้แล้ว “ถ้ากำลังจะตาย เวลาที่เหลืออยู่จะทำอะไรดี ?”––ปัญหาชวนคิดตอนอาบน้ำของหลายๆ คน––ก็ไม่ได้ทำให้นิยายน่าติดตามน้อยลงไปเลย สำหรับบทนำก็เช่นเดียวกัน ส่วนตัวเราอ่านบทนำเป็นส่วนต่อจากโน้ตของทีนที่ทิ้งไว้ในหน้าแรก โทนเรื่องมีความต่อเนื่องกัน (การตาย, วินาทีสุดท้าย) ถึงแม้ว่าจะไม่มีความนึกคิดของทีนเข้ามาปนก็ตาม
เข้าเรื่องหลัก นิยายเรื่อง “กว่ากลีบทองกวาวจะร่วงโรยในวันปัจฉิม” นั้นเป็นนิยายแนว coming of age ผสมชีวิตประจำวัน (slice of life) และเรื่องเหนือธรรมชาติเล็กน้อย บรรยายผ่านมุมมองที่สาม เล่าเรื่องราวของ “ทีน” ที่สามารถมองเห็นอนาคตได้เมื่อดมดอกทองกวาว ส่วนคำทำนายล่าสุดของเขาก็คือการตายของตัวเองในวันปัจฉิมนิเทศ บทที่เราเลือกอ่านเพื่อนำมาเขียนบทวิจารณ์นี้คือบทนำ, บทที่ 1, 2, 3, 11, 12, 13, 19, 20 และ 21
มีสองปัญหาหลักที่เราเห็นคือเรื่องพิมพ์ติดกันเป็นพรืด ไม่มีการเว้นวรรคแม้จะมีการใช้ไม้ยมก กับประเด็นที่สองคือการเว้นวรรคผิดจุดในบางครั้ง ทำให้รูปประโยคเสีย อ่านถึงแม้จะได้ใจความแต่ก็ดูขัดๆ เพราะความลื่นไหลของประโยคนั้นเสียไปแล้ว ข้อนี้เห็นได้เรื่อยๆ จากทุกบทที่เราเลือกอ่าน
เช่นจากบทที่สิบสาม ย่อหน้าแรก
ภาพขาวดำนั้น ถ่ายที่หอประชุมแห่งหนึ่ง มีนักเรียนห้าคนยืนเรียงกัน คนหน้าสุดยื่นมือไปรับโล่รางวัลจากชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในไทยขณะนั้น เขาจำจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ได้ทันที ที่ขอบภาพ ครูไชยยืนอยู่ถัดจากนักเรียน หันหน้ามามองกล้อง ยิ้มแย้มด้วยความภาคภูมิใจ เส้นผมหงอกขาวมากกว่าภาพที่แขวนไว้ที่รายชื่อผู้อำนวยการ แก้มซูบตอบ ท่านคงต่อสู้กับโรคมะเร็งตั้งแต่ตอนนั้น ทีนกวาดสายตาพิจารณาใบหน้าของเด็กๆทีละคนๆ จนกระทั่งพบว่า นักเรียนชายที่รับมอบโล่จากท่านจอมพล ก็คือปู่ของเขานั่นเอง
ถ้าเปลี่ยนเป็นแบบนี้น่าจะทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น
ภาพขาวดำนั้นถ่ายที่หอประชุมแห่งหนึ่ง มีนักเรียนห้าคนยืนเรียงกัน คนหน้าสุดยื่นมือไปรับโล่รางวัลจากชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในไทยขณะนั้น เขาจำจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ได้ทันที ที่ขอบภาพ ครูไชยยืนอยู่ถัดจากนักเรียน หันหน้ามามองกล้อง ยิ้มแย้มด้วยความภาคภูมิใจ เส้นผมหงอกขาวมากกว่าภาพที่แขวนไว้ที่รายชื่อผู้อำนวยการ แก้มซูบตอบ ท่านคงต่อสู้กับโรคมะเร็งตั้งแต่ตอนนั้น ทีนกวาดสายตาพิจารณาใบหน้าของเด็กๆ ทีละคน จนกระทั่งพบว่านักเรียนชายที่รับมอบโล่จากท่านจอมพลก็คือปู่ของเขานั่นเอง
อีกวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการวรรคผิดที่อาจจะเป็นการเพิ่มคำเชื่อมเข้าไปหรือสลับคำในบางจุดเพื่อให้รูปประโยคดูเต็มขึ้น จากตัวอย่างเดิมกับข้างบนนะคะ อาจเปลี่ยนได้เป็นแบบนี้
ภาพขาวดำนั้นถ่ายที่หอประชุมแห่งหนึ่งโดยมีนักเรียนห้าคนยืนเรียงกัน คนหน้าสุดยื่นมือไปรับโล่รางวัลจากชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในไทยขณะนั้น เขาจำจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ได้ทันที ครูไชยยืนอยู่ถัดจากนักเรียนที่ตรงขอบภาพ หันหน้ามามองกล้อง ใบหน้ายิ้มแย้มด้วยความภาคภูมิใจ เส้นผมหงอกขาวมากกว่าภาพที่แขวนไว้ตรงรายชื่อผู้อำนวยการ แก้มซูบตอบ ท่านคงต่อสู้กับโรคมะเร็งตั้งแต่ตอนนั้น ทีนกวาดสายตาพิจารณาใบหน้าของเด็กๆ ทีละคนจนกระทั่งพบว่านักเรียนชายที่รับมอบโล่จากท่านจอมพลก็คือปู่ของเขานั่นเอง
ทีนี้ จากบทแรก เพราะเหตุการณ์หลักในบทนี้คือเกมฟุตบอล ส่วนตัวเราไม่มีความรู้ด้านนี้จริงๆ ค่ะ จึงไม่สามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าจังหวะการดำเนินเรื่องในส่วนนี้เร็วหรือช้าเกินไปยังไง ถึงแม้ส่วนตัวเรามองว่าออกยืดเยื้ออยู่สักนิด เช่นเดียวกันกับบทบรรยายตอนเปิดเรื่องที่กล่าวถึงตารางเรียนและความตื่นเต้นของผู้ร่วมชม เราว่าสามารถตัดทอนในบางส่วนออกได้เพื่อให้จังหวะการดำเนินเรื่องสอดคล้องกับบรรยากาศรีบเร่ง เร้าใจ
พูดถึงการปูเรื่องนั้นทำได้ดี มีการแนะนำตัวละครหลายตัวเลยอาจจะมีชื่อที่ต้องจำเยอะหน่อย โดยเฉพาะเมื่อมีบทการแข่งกีฬาเข้ามาเกี่ยว แต่ในส่วนของการแนะนำตัวละครนั้นทำได้อย่างไม่หนักสมองจนเกินไป แม้จะจำชื่อไม่ได้ทั้งหมดตั้งแต่แรก แต่ตัวละครมีการแสดงบุคลิกพิเศษที่เด่นชัดขึ้นมาเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ในสถานการณ์ที่มีตัวละครหลายๆ ตัวในฉากเดียวกัน โดยเฉพาะคาแรคเตอร์ของครูโป่งที่เราว่าโดดเด่นมากในบทนี้ จะมีแค่ในตอนกลางของบทที่ยี่สิบ คาแรคเตอร์ของทีนออกจะแปลกๆ ไปสักนิดตอนที่พูดคุยกับครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ลักษณะการตอบโต้ดูไม่เหมือนทีนที่ได้อ่านมาจากบทก่อนๆ มีการย้อนอายุความคิดจนทำให้ดูเด็กลง (regression) ภาษาที่ใช้พูดก็ดูเด็กลง ไม่ใช่แบบที่ว่านอบน้อมหรือเคารพอาจารย์ใหญ่ แต่เหมือนเสียความเป็นผู้ใหญ่ไป ตรงนี้อาจอธิบายได้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอยู่ในอาการตื่นตระหนก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มองว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับคาแรคเตอร์ของทีนที่ค่อนข้างมีความเป็นผู้ใหญ่พอสมควรสำหรับเด็กมัธยมปลาย แต่ในบทสุดท้ายก็กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
การท้าวความถึงการชิงดีชิงเด่นระหว่างห้องสามกับห้องแปดทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของทั้งสองฝั่ง และการปรากฎตัวขึ้นของทีนพร้อมกับดึงเรื่องเข้าพล็อตเลยตั้งแต่บทแรกก็ยิ่งส่งให้เรื่องน่าติดตามมากขึ้น เพราะผู้อ่านไม่รู้สึกว่าเสียเวลาสิบนาทีที่ผ่านมาไปกับตัวละครรอง หรือการปูพื้นเรื่องที่อาจไม่ข้องเกี่ยวกับพล็อตหลักมากนัก การดึงเข้าพล็อตอย่างเต็มรูปแบบเริ่มขึ้นในบทที่สอง เราถือว่าเลี้ยงความสนใจเอาไว้ดีได้โดยไม่ปล่อยให้ผู้อ่านเตลิด แต่ทีนี้ เรารู้สึกว่าคุณนักเขียนท้าวความมากเกินไปในช่วงหลังๆ ซึ่งเราจะพูดถึงอีกทีหนึ่งในส่วนถัดไป
ประเด็นถัดมาคือเรื่องการอธิบายกฏ (system) ของโลกนิยายนี้ตั้งแต่บทที่สองว่าคำทำนายของทีนจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งเดือน, จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ตรงนี้เป็นการใส่รายละเอียดสำคัญได้อย่างเหมาะสม ไม่ได้ยัดข้อมูลลงมาห้วนๆ แต่มีการวางฉากทำให้สมเหตุสมผล ถูกที่ถูกเวลา
เรื่องพิมพ์ตกและพิมพ์ผิดยังมีอยู่บ้างเล็กน้อย ลองอ่านทวนดูอีกรอบนะคะ รวมถึงในบทที่ยี่สิบ อันนี้เราแนะนำไว้นิดนึง ตรงส่วนที่คุณปู่ของทีนพูดภาษาอังกฤษนั้น แกรมมาร์ผิดอยู่ค่อนข้างพอสมควรนะคะ แต่ตรงนี้ไม่ได้ทำให้เสียความหมายของใจความโดยรวมหรืออะไรค่ะ แต่อาจจะต้องปรับสำนวนนิดหนึ่งเพื่อให้สื่อได้ตรงตามที่คุณนักเขียนต้องการ
จากต้นฉบับเป็นอย่างนี้
“Hi” ปู่ตะโกนลงมา “I forgive you everything. You said I don’t have fire in my eye, right? So I will show you that I still have it.” ปู่ว่า “Oh and I have new girlfriend. Her name is Sri. My wife, your grandmother, had gone to somewhere since I hadn’t died yet.”
อาจจะลองเปลี่ยนเป็นแบบนี้ดู
“Hi,” ปู่ตะโกนลงมา “I forgive you for everything. You said I don’t have fire in my eyes, right? I'll show you that I still have it.” ปู่ว่า “Oh, and I now have a new girlfriend; her name is Sri. Too bad that my wife, your grandmother, had gone somewhere before I could find her.”
สิ่งถัดมาที่เราอยากพูดถึงคือเรื่องของบทสนทนา ที่เห็นได้ชัดก็คือจากบทพูดที่ค่อนข้างยาวหน่อย มีการใช้ศัพท์อย่างไม่เป็นทางการ (กู-มึง) แต่รูปประโยคมีคำที่เป็นภาษาเขียนแบบทางการมากกว่าภาษาพูดหลุดออกมาผสมอยู่ด้วย ถึงแม้ในส่วนนี้จะถูกหลักภาษา แต่เรามองว่ามันทำให้ประโยคดูแข็งและห้วน ไม่เป็นธรรมชาติ เช่นบทที่สิบเอ็ด ตอนที่เล่าตำนานของผีวันวาเลนไทน์ ในส่วนนี้ ถ้าสามารถเกลาบางคำให้ดูไม่เป็นแบบแผนจนเกินไป ก็จะช่วยปรับสำนวนการพูดได้เยอะเลยค่ะ
เช่น
“ทว่า เช้าวันต่อมา กลับมีคนพบร่างเธอห้อยอยู่กับยอดต้นโพธิ์ ผ้าสีชมพูที่เธอเตรียมมารัดคอเธอไว้กับบกิ่งโพธิ์ เมื่อสันนิษฐานเวลาเสียชีวิต พบว่าเสียชีวิตราวหกโมงเช้า เพื่อนร่วมชั้นของเธอ คิดว่าคงเป็นเพราะเธอผิดหวัง เนื่องจาก วันนั้นรุ่นพี่ที่เธอชอบมาโรงเรียนแต่เช้า เพื่อดักรอเพื่อนสนิทของเด็กสาว แน่นอน รุ่นพี่คนนั้นมอบดอกกุหลาบแดงให้กับเพื่อนสนิทของเด็กสาว คนเชื่อกันว่า เด็กสาวเห็นภาพบาดตานั้น จึงฆ่าตัวตาย”
ถ้าลองปรับคำบางคำดู ก็จะได้แบบนี้ ซึ่งเรามองว่าฟังดูเป็นภาษาพูดมากกว่า
“แต่พอเช้าวันต่อมากลับมีคนเจอร่างเธอห้อยอยู่กับยอดต้นโพธิ์ ถูกผ้าสีชมพูที่เตรียมมารัดคอไว้บนนั้น ตำรวจ (?) คาดว่าน่าจะเสียชีวิตราวๆ หกโมงเช้า เพื่อนร่วมชั้นคิดว่าคงเป็นเพราะเด็กผู้หญิงคนนั้นผิดหวังที่รุ่นพี่ที่เธอชอบดันมาโรงเรียนเวลาไล่ๆ กัน แต่เพื่อจะดักรอให้ดอกกุหลาบเพื่อนสนิทของเธอแทน คนเชื่อกันว่าพอเธอเห็นภาพบาดตานั้นเข้าเลยฆ่าตัวตาย”
ถึงตอนกลางเรื่อง เรื่องจังหวะการดำเนินเรื่องยังคงรักษาไว้ได้ดีค่ะ โดยเฉพาะจากบทที่สิบเอ็ด ฉากล่าผี ถึงจะมีการพูดคุยนอกเรื่องของตัวละครแต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียบรรยากาศสยองขวัญเล็กๆ ที่แซมอยู่ในบทบรรยายเลย ตัวละครก็ยังคงเสมอต้นเสมอปลายตามลักษณะบุคลิกนิสัยที่ได้วางไว้ตั้งแต่แรก มีความสมเหตุสมผลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของเนื้อเรื่อง การปนมุขตลกเพื่อคลายสถานการณ์ก็ทำได้ดีค่ะ
มาถึงบทที่สิบสอง มีการไล่ลำดับการบรรยายผิดเป็นครั้งแรกนะคะ ฉากที่มีเด็กผู้หญิงมายื่นดอกกุหลาบให้ บทบรรยายตอนแรกกล่าวไว้ว่ายื่นดอกกุหลาบให้ทีน แต่สองย่อหน้าถัดมากลับเป็นโก้ที่ถือกุหลาบเอาไว้ อันนี้ไม่ทราบว่าบรรยายเหตุการณ์เชื่อมขาดไปหรือเปล่า
และเพราะเนื่อเรื้องทั้งหมดเกินขึ้นภายใน 23 วัน นับตั้งแต่วันถัดมาจากที่ทีนฝันเห็นอนาคตของตัวเอง พอถึงสามบทสุดท้าย ตรงนี้เอาเข้าจริงๆ แล้วเราจึงยกขึ้นมาไม่ได้ว่าการดำเนินเรื่องในช่วงสุดท้ายของนิยายนั้นช้าเกินไป หรือบทบรรยายบางตอนอาจจะอ่านดูเหมือนถูกพยายามดึงเรื่องเอาไว้ให้ดูยาวขึ้น ถึงแม้ว่าเวลาอ่านจะรู้สึกอย่างนั้นก็ตาม เพราะเมื่ออิงจากบริบทแล้ว เราพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมการดำเนินเรื่องถึงเลือกใช้จังหวะที่ค่อนข้างออกไปทาง “ไหลไปเรื่อยๆ” ไม่มีการหักมุม หรือเปลี่ยนบรรยากาศในตอนเพื่อปลุกอารมณ์นักอ่าน และใช้วิธีปล่อยทิ้งไว้ให้สงสัยต่อไป (cliffhanger) ในตอนท้ายของแต่ละบท ซึ่งเราว่าเหมาะกับเนื้อเรื่องและแนวนิยายดี ถึงแม้จะมีบางช่วงที่เร่งจังหวะการดำเนินเรื่องขึ้นมาบ้าง ทำให้บรรยากาศสลับไปสลับมาเล็กน้อยก็ตาม แต่เราว่าถ้าสามารถตัดทอนประโยคที่ไม่จำเป็นในบางส่วนออกไปได้ (ส่วนมากจะเป็นตอนต้นของบท) ก็จะทำให้บทบรรยายตอนนี้ที่บางช่วงดูเหมือนไม่มีจุดหมาย ไม่มีจุดจบ กระชับขึ้นเหมือนเดิม
สุดท้าย ต้องขอชื่นชมคุณนักเขียนมากๆ ค่ะ สำหรับนิยายเรื่องแรก ผลงานนี้ถือว่ายอดเยี่ยมเลยทีเดียว ต้องขอโทษด้วยถ้าตรงไหนดูเหมือนจะไม่ลงละเอียดมาก แต่เราถือคติว่าถ้าไม่เสียก็ไม่ต้องไปซ่อมมันค่ะ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็เก็บเอาไว้อย่างนั้น ทำให้บทวิจารณ์นี้อาจจะสั้นไปสักนิด อีกอย่างก็คงต้องเป็นการใส่ disclaimer ไว้เช่นเดียวกับบทวิจารณ์ที่ผ่านมาว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่คำแนะนำและความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นคำตอบเพียงหนึ่งเดียว และการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขบทบรรยายในหลายๆ ส่วนนั้นก็อิงสำนวนของเราเอง แต่ยังไงก็ต้องขอบคุณอีกครั้งค่ะที่ให้เราได้มีโอกาสวิจารณ์นิยายเรื่องนี้ ถึงแม้จะใช้เวลาในการเขียนนานไปหน่อยก็ตาม ต้องขอโทษในส่วนนั้นด้วยค่ะ
ความคิดเห็น