คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : On the subject of dress in fiction: ว่าด้วยเรื่องของเครื่องแต่งกายในนิยาย
อย่างแรกเลยคือต้องขอเกริ่นไว้ก่อนเหมือนในบทวิจารณ์ที่ผ่านมา สำหรับคุณนักเขียนที่กำลังรอบทวิจารณ์ของตัวเองอยู่ ขอแจ้งว่าเรายังอยู่ในขั้นตอนการอ่านและเรียบเรียงใจความอยู่นะคะ ต้องขอโทษด้วยที่ช้าไปมาก ช่วงนี้เป็นช่วงที่วุ่นมากในสายงานของเรา เวลาที่จะแบ่งมาทำตรงนี้เลยลดน้อยลง แต่เราจะอัพบทวิจารณ์ของทุกคนแน่นอนค่ะ ขอแค่เวลาและความเข้าใจเล็กน้อย อีกข้อก็คือ ฟอร์แมตของบทความนี้จะเป็นการอัพบทวิจารณ์สลับกับบทแนะนำ, กลเม็ด, เทคนิค ดังนั้นนอกจากฝากนิยายให้เราเขียนบทวิจารณ์แล้ว สามารถทิ้งคำถามหรือประเด็นที่อยากให้เราเขียนได้ค่ะ
กลับเข้าเรื่อง สำหรับบทความแรก เราอยากพูดถึงเรื่องความสำคัญของเสื้อผ้าในนิยาย ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นหัวข้อที่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่สำหรับหลายๆ คน ตรงนี้อาจเป็นความลำเอียงของเราเอง เพราะทั้งเรียนและทำงานในสายแฟชั่นมาตลอดเลยมีความผูกพันธุ์กับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และนิยายเรื่องโปรดของเราหลายๆ เรื่องก็มีจุดเด่นตรงการใช้การแต่งกายของตัวละครในการบอกเล่าเป็นนัย เช่น Lolita โดย Vladimir Nabokov ที่วางคาแรคเตอร์ของโดโลเรส เฮส ผ่านทางเสื้อผ้าของเธอได้ดีจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการถกเถียง (ส่วนมากโดยนักวิจารณ์และนักอ่านชาย แต่อันนั้นมันอีกเรื่อง) กันว่าสรุปแล้ว ในการแต่งตัวที่ sexualised จุดเปลี่ยนระหว่างความเป็นเด็กหญิงและเด็กสาวของโลลิต้า (เสื้อผ้าลายตารางหมากรุก, เนื้อผ้าฝ้ายโปร่งหลากสีสัน, ชุดแต่งระบาย, เสื้อแขนตุ๊กตา, กระโปรงจับกลีบอ่อนๆ, ชุดท่อนบนแบบรัดแน่น) หมายความว่าเธอมีความต้องการและรู้มากเกินอายุ ยั่วยวนฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต จนนำมาถึงจุดจบของเขา (จากฉากที่พวกเขาพบกันครั้งแรกในสวนหลังบ้านครอบครัวเฮซ โลลิต้าเหลือบมองฮัมเบิร์ด ฮัมเบิร์ต ผ่านแว่นกันแดดของเธอ) หรือทั้งหมดเป็นเพียงแค่การสรุปเอาเองของเขาเพื่อพยายามจะหาเหตุผลให้ความคิดไม่สมควรที่ฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต มีต่อลูกเลี้ยงของตัวเอง ("มีเด็กผู้หญิงคนไหนบ้างที่ไม่อยากจะเต้นรำในกระโปรงบานฟูฟ่องกับกางเกงชั้นในตัวเล็กจิ๋ว")
What next? I proceeded to the business center of Parkington and devoted the whole afternoon (the weather had cleared, the wet town was like silver-and-glass) to buying beautiful things for Lo. Goodness, what crazy purchases were prompted by the poignant predilection Humbert had in those days for check weaves, bright cottons, frills, puffed-out short sleeves, soft pleats, snug-fitting bodices and generously full skirts! Oh Lolita, you are my girl, as Vee was Poe’s and Bea Dante’s, and what little girl would not like to whirl in a circular skirt and scanties?
อีกตัวอย่างจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนิยายที่ให้ความสำคัญในการแต่งกายของตัวละครค่อนข้างมาก เรื่อง The Boleyn Inheritance โดย Philippa Gregory ที่แสดงคาแรคเตอร์ของแคทเธอรีน ฮาวเวิร์ด ผ่านทางชุดกระโปรงที่เธอเลือกใส่เมื่อได้เข้าพบลุงของเธอที่เดินทางมาจากราชสำนักหลวง
I dip down into a deep curtsy, as we have practiced over and over again in the maids’ chamber, leaning a little forward so that my lord can see the tempting curve of my breasts pressed at the top of my gown.
ในขณะที่ชุดกระโปรงในยุคนั้น (ปลายยุคกลางใต้การปกครองของราชวงศ์ทิวดอร์) การแต่งกายยังคงอิงกฎปฏิบัติของศาสนาอยู่มาก คอชุดทรงเหลี่ยมที่ปิดขึ้นมาค่อนข้างสูงจึงมีหน้าที่ในการทำให้ส่วนของหน้าอกดูเรียบลง ปกปิดร่องอก ดูไม่ล่อแหลม ไม่ชักชวนให้ผู้ชายทำบาป ที่เห็นตามซีรีส์อิงประวัติศาสตร์เช่น The Tudors หรือ Outlander แบบว่าหน้าอกล้นออกมาด้านบนชุดนั้นคือไม่สมจริง แต่คนดูชอบ อันนี้อาจอิงได้ถึงประเด็น The male gaze ซึ่งสมควรจะถูกพูดถึงในบทแยกโดยเฉพาะอีกที
นอกเรื่องไปนิดหน่อย ขอดึงกลับมาเรื่องชุดของแคทเธอรีน ฮาว์เวิร์ด ในเมื่อชุดสมัยนั้นถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่กำลังเกิดขึ้น (เนินอกดันขึ้นมาอยู่ตรงริมคอชุด) แสดงว่าชุดของแคทเธอรีนอาจแน่นเกินไปหรือคอกว้างเกินไป—ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เธอตั้งใจเลือกใส่ชุดแบบนี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้หญิงของเธอ ความพร้อมในเรื่องความใคร่ที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวผลักดันหลักในการนำไปสู่อำนาจอย่างแท้จริง บุคลิกเหล่านี้แสดงให้ผู้อ่านมองภาพความหัวสูงของเด็กสาวฮาวเวิร์ดที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักหลวง ได้ใช้ชีวิตสุขสบาย ไปงานเต้นรำ พบเจอกับขุนนางรูปหล่อมั่งคั่ง หรือแม้กระทั่งองค์กษัตริย์เฮนรีที่แปด ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม
ตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวไปคือการใช้เสื้อผ้าในนิยายเพื่อเสริมเนื้อเรื่องให้เห็นถึงองค์ประกอบต่างๆ มากขึ้น ทั้งบุคลิกนิสัยและเป้าหมายของตัวละคร รวมถึงการใช้เสื้อผ้าเป็นตัวชี้นำภาพ สร้างความซับซ้อนให้โครงเรื่อง แต่เพราะโดยส่วนมากเราเสพแฟชั่นผ่านทางสายตามากกว่า ทำให้ในบางครั้ง สื่อการเขียนมองข้ามความสำคัญของเสื้อผ้าไป หรือมองว่าเป็นเรื่องภายนอก ไร้สาระ ไม่มีอะไรให้ค้นหา ถ้าพูดถึงก็จะพูดถึงอย่างข้ามๆ แต่อย่าลืมว่าการแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น ซึ่งโดยรวมแล้ว แฟชั่นหมายถึง "สิ่งที่เป็นปัจจุบัน" ไม่จำเป็นว่าจะหมายถึงเสื้อผ้าอย่างเดียว การก่อสร้าง, ดนตรี, ศิลปะ หรือแม้แต่ระบบการเมืองการปกครอง ปรัชญาความคิด ทุกอย่างต่างก็สามารถนับเป็นแฟชั่นได้ทั้งนั้น
ด้วยนิยามนั้น เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าแฟชั่นคือกระจกสะท้อนภาพสังคม ตัวอย่างเช่น ในยุคสงคราม แนวเพลงที่เป็นที่นิยม (fashionable) คือเพลงเดินทัพ เพลงมาร์ช เพลงปลุกใจ เนื้อหารักชาติ หรือที่อีกฝั่งของภาพคือเพลงไว้อาลัยแด่ผู้ที่ล่วงลับ ส่วนเมื่อพูดถึงเสื้อผ้าก็เช่นเดียวกัน สงครามทำให้การนำเข้าหรือส่งออกสินค้าและวัตถุดิบนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เศรษฐกิจตกต่ำ นำมาซึ่งความขาดแคลนและความเศร้าโศก ปรากฏการณ์เหล่านั้นถูกสะท้อนออกมาผ่านทางการแต่งกายโดยที่เสื้อผ้าหลากสีถูกลดลงเหลือเพียงแค่สีพื้นหรือสีโทนสุภาพ เช่น ดำ, ขาว, เทา, เบจ หรือสีย้อมอื่นๆ ที่ราคาไม่สูงนัก และสามารถผลิตได้จำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ เนื้อผ้า วัตถุดิบ และการตัดเย็บเน้นความทนทานกับประโยชน์ในการใช้งานมากกว่าความสวยงาม ลูกไม้ ลายปัก กระดุมประดับ ของเหล่านี้กลายเป็นความหรูหราที่ไม่มีใครหาซื้อได้ แม้กระทั่งตลับแป้งของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นสูงอย่างชาแนลที่ปกติแล้วจะเป็นโลหะยังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นแค่กล่องกระดาษในช่วงสงครามโลก—ทั้งหมดนี้คือ "แฟชั่น"
แต่ในขณะที่แฟชั่นไม่ได้หมายถึงเสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว เสื้อผ้าก็ไม่ได้หมายถึงแฟชั่นเพียงอย่างเดียวเช่นกัน แคลร์ ฮิวส์ กล่าวไว้ว่า "เสื้อผ้าในงานเขียนสามารถมอบความสมจริงให้กับทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน" (2006) เสื้อผ้าคือภาษากลางที่เราใช้สื่อสารความเป็นตัวเอง รสนิยม พื้นหลัง และสังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่ง ตัวอย่างเช่นในช่วงยุคกลาง มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าแต่ละชนชั้นสามารถมีเสื้อผ้าเครื่องประดับได้กี่ชิ้น ทำจากวัสดุอะไรและย้อมสีอะไรได้บ้าง หรือหากตัวละครเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมย่อย (subculture) อย่างพังค์หรือคลับ คิดส์ การอธิบายถึงเครื่องแต่งกายก็จะช่วยให้คาแรคเตอร์นั้นน่าเชื่อถือและชัดเจนขึ้น ดังนั้นเสื้อผ้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในขั้นตอนการสร้างโลกนิยาย
เมื่อพูดถึงการนำไปใช้งานจริง การผสมองค์ประกอบของเสื้อผ้าเข้าไปในงานเขียนมีกฎง่ายๆ อยู่แค่ข้อเดียว ทำให้ละเอียด แต่อย่าละเอียดเกินไป (ถ้าหากไม่จำเป็น) ถามว่าทำไม ก็ต้องดึงกลับไปยังความคิดที่ว่าเสื้อผ้าเครื่องประดับเป็นของนอกกาย เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ดังนั้นตัวละครที่แสดงความสนใจในการแต่งกายมากๆ โดยความคุ้มชินของผู้อ่าน มักจะถูกมองว่าน่าสงสัยหรือไม่ก็มีนิสัยจอมปลอม ตื้นเขิน จนอาจสร้างปมที่ไม่จำเป็นขึ้นมาได้ แต่ในขณะเดียวกัน ตัวละครที่ใส่ใจการแต่งกายของตัวเองนั้นก็ดูประณีต มีระเบียบ ละเอียดอ่อน (และอาจจะเรื่องมากไปสักนิด) เพราะฉะนั้นจากทั้งสองฝั่งบนสเกล นักเขียนที่มักจะเจอปัญหานี้เยอะก็คือกลุ่มนักเขียนแนวอิงประวัติศาสตร์ ที่หลังจากเสียเวลาค้นหาข้อมูลการแต่งกายมาซะนานก็อยากจะเอามาใช้ในนิยาย แต่ลืมไปว่าคนอ่านไม่ได้ก็อยากมีพื้นที่หายใจให้จินตนาการของตัวเองทำงานแทนบ้าง หรือที่พบได้บ่อยตามนิยายผู้หญิงหรือนิยายวัยรุ่นคือการใช้ศัพท์มากเกินควรในการบรรยายเครื่องแต่งกาย รวมถึงไม่สมเหตุสมผล เช่น ตัวละครเป็นแค่นักเรียนหรือนักศึกษาที่คิดว่าตัวเองไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ (Not Like The Other Girls trope) ไม่ชอบแต่งตัว ไม่ชอบแต่งหน้า ไม่ฟังเพลงป็อป ไม่ไปปาร์ตี้ ชอบอยู่บ้าน อ่านหนังสือ กินอาหารขยะ (Mary Sue 2.0) แต่บทบรรยายการแต่งตัวเป็นแบบนี้
เธอใส่กระโปรงทรงกระบอกคู่กับเสื้อแร็กแลนแขนยาวตัดจากผ้าเจอร์ซีย์แต่งระบายและรองเท้าดอร์เซย์เปิดข้างประดับด้วยดอกไม้ทำจากผ้าชีฟอง ก่อนจะสวมโค้ตกันหนาวทรงเจ้าหญิงอย่างรีบเร่งและหยิบกระเป๋าคลัตช์แบบมินอดิเยร์และออกประตูไป
ถ้าอ่าน wattpad บ่อย ก็จะเจออะไรอย่างนี้เยอะ รวมถึงเราเองก็ผ่านจุดที่บรรยายอะไรแบบนี้มาด้วย (เคยติดนิยาย chick lit อย่าง The Devil's Wears Prada, Confession of a Shopaholic) เพราะเราสนใจในแฟชั่น ก็นึกภาพตามได้ว่าผู้เขียนต้องการสื่อภาพว่ายังไง ถึงจะต้องอ่านทวนอยู่สองสามครั้ง แต่เมื่อมองกลับมาอีกที ในฐานะนักอ่านทั่วไปที่ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ ประโยคนี้ฟังดูยุ่งยาก อะไรคือแร็กแลน อะไรคือรองเท้าดอร์เซย์ อะไรคือคลัตช์แบบมินอดิเยร์ ผ้าเจอร์ซีย์เป็นแบบไหน โค้ตทรงเจ้าหญิงเป็นยังไง แล้วทั้งหมดนี่สำคัญแค่ไหน ต้องจำหรือเปล่าเพราะเล่าซะละเอียด แล้วความสมเหตุสมผลล่ะ ถ้าไม่ชอบแต่งตัวแล้วจะเสียเวลาใส่ใจกับรายละเอียดพวกนี้ไปทำไม ? จากตัวละครที่ relatable (ไม่) ก็อาจจะกลายเป็นน่ารำคาญ (มากขึ้น) ไปได้ง่ายๆ
ซึ่งตรงนี้เราโทษพวกการแชร์ภาพ visual guide ของเครื่องแต่งกายแต่ละประเภทตามบอร์ดหรือกรุ๊ปนักเขียน เช่น:
เข้าใจว่าคนแชร์ก็หวังดีเช่นกัน แต่อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น ยกเว้นเพียงแต่จะมีคำอธิบายหรือเหตุผลมารองรับ แต่ถึงอย่างนั้นการอธิบายใช้ศัพท์เฉพาะก็ไม่จำเป็นอยู่ดี หากจะแก้จากตัวอย่างนี้
เธอใส่กระโปรงทรงกระบอกคู่กับเสื้อแร็กแลนแขนยาวตัดจากผ้าเจอร์ซีย์แต่งระบายและรองเท้าดอร์เซย์เปิดข้างประดับด้วยดอกไม้ทำจากผ้าชีฟอง ก่อนจะสวมโค้ตกันหนาวทรงเจ้าหญิงอย่างรีบเร่งและหยิบกระเป๋าคลัตช์แบบมินอดิเยร์และออกประตูไป
ก็สามารถทำได้เป็น
เธอใส่กระโปรงสั้นรัดรูปคู่กับเสื้อยืดแขนยาวแต่งระบายและรองเท้าประดับดอกไม้ตรงสายรัดข้อเท้า ก่อนจะสวมโค้ตกันหนาวอย่างรีบเร่งและหยิบกระเป๋าคลัตช์ตอนออกประตูไป
ผลลัพธ์ที่ได้ยังยาวเหมือนเดิม แต่สำหรับเรา อ่านลื่นและนึกภาพตามได้ง่ายกว่าแบบแรก คำเฉพาะแทบไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเนื้อเรื่องที่ไม่ได้มีองค์ประกอบใดๆ เกี่ยวกับแฟชั่นโดยตรง หรือลักษณะเฉพาะของเครื่องแต่งกายชิ้นนั้นๆ ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรในการดำเนินเนื้อเรื่อง
แต่ในขณะที่นิยายวัยรุ่นและแนวอิงประวัติศาสตร์มักจะบรรยายการแต่งกายละเอียดเกิน แนวแฟนตาซีและไซไฟ ที่น่าจะได้ประโยชน์มากจากการบรรยายถึงเครื่องแต่งกายของแต่ละเผ่าพันธุ์ ชนชั้น กลับไม่ค่อยนิยม เราว่าคงดีไม่น้อยถ้าได้เห็นว่านอกจากสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลกในนิยายแล้ว การแต่งกายของตัวละครแต่ละตัวเป็นยังไง สามารถบอกเล่าอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวละครนั้นๆ ได้บ้าง เช่น มนุษย์ดาวอังคารต้องใส่แว่นกันพายุทะเลทราย และชุดเคลือบด้วยฉนวนควบคุมอุณหภูมิที่คอยช่วยไม่ให้ร่างกายผู้สวมใส่หนาวหรือร้อนเกินไปเนื่องจากสภาพอากาศกลางวันและกลางคืนที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว
หรือตัวเอกจากนิยายแฟนตาซียุคกลางที่ทำงานในโรงตีเหล็ก เสื้อผ้าทำจากหนังที่เหลือจากการเย็บซองดาบและอานม้า ทนทานไม่ขาดง่าย มีคราบเลอะก็ลบออกได้ไม่ยาก ถึงแม้จะร้อนรุ่มเหนียวเหนอะตัวในฤดูร้อน แต่ก็อุ่นไม่พอในฤดูหนาว เทียบกับพวกอัศวินหรือขุนนางในปราสาทสูงที่ใส่เสื้อคลุมขนสัตว์หนา หลบหิมะและความอดอยากอยู่หลังกำแพงหินและเตาผิงใหญ่
อีกประเด็นที่ควรตั้งคำถามก็คือ หลังจากออกแบบเสื้อผ้าให้กับตัวละครแล้ว ผลดีผลเสียของการแต่งกายแบบนี้คืออะไร และจะสามารถช่วยดันหรือดำเนินพล็อตไปทางไหนได้บ้าง เช่น ชุดเกราะของดาร์ธ เวเดอร์ ที่ต่อจะให้เพิ่มพละกำลังแก่ซิธลอร์ดมากขนาดไหน แต่สุดท้ายก็ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อมอบความทรมานให้กับเขา ทุกก้าว ทุกการกระทำนั้นเจ็บปวด และที่เขาทนใส่เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปก็เพราะต้องการลงโทษตัวเองในสิ่งที่ทำไว้กับแพดเม่
และก็อย่างที่ได้บอกไว้ว่าการบรรยายเครื่องแต่งกายในงานเขียนนั้นมีกฎอยู่แค่ข้อเดียว แต่ทีนี้จะบรรยายยังไงล่ะ ? เทคนิคของเราคือ ยืดพื้นเนื้อผ้าและวัสดุหลักๆ ที่คนส่วนมากน่าจะรู้จัก เช่น
ผ้าไหม | ผ้าฝ้าย (คอตตอน) | เหล็ก | ผ้าลินิน |
หนังกลับ | หนังขัด | เงิน | หนังขนสั้น |
ผ้ากำมะหยี่ | ผ้าชีฟอง | ทองคำ | ผ้าขนสัตว์ |
ผ้ายีนส์ | ผ้าสักหลาด | ทองแดง | ผ้าลูกไม้ |
นอกเหนือจากนี้ให้จัดตามลักษณะโดยรวมแทน ไม่ใช้ชื่อเฉพาะ เช่น
ผ้าลายปัก | ผ้าลายทอ | ผ้าเนื้อแข็ง | ผ้ายืด |
ผ้าเนื้อบาง | โลหะ | หนังสัตว์ | ผ้าเนื้อหยาบ |
ผ้าปักเลื่อม | พลาสติก | อัญมณี |
|
พยายามหลีกเลี่ยงชื่อเฉพาะที่ไม่รู้จักเป็นวงกว้างอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไป รวมถึงพวกเทคนิคต่างๆ ที่ไม่ส่งผลอะไรเกี่ยวกับเรื่อง และไม่สมเหตุสมผลที่ตัวละครจะรู้ เช่นผ้าลาเม่ ผ้ากวีเป (ทั้งสองอย่างคือผ้าที่ทอสลับกับด้ายโลหะ แตกต่างกันที่เพียงเทคนิค) ผ้าโบรเคด (ผ้าทอลาย) ผ้าเครป (เทคนิคที่ทำให้เนื้อผ้าหยาบขึ้น) ผ้าถักกีเปอร์ (ชนิดของผ้าลูกไม้) ยกเว้นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเอง เช่นในนิยายเรื่อง In Watermelon Sugar โดย Richard Brautigan ที่หลายสิ่งหลายอย่างในเรื่อง รวมถึงเสื้อผ้า ถูกทำขึ้นมาจากน้ำตาลของแตงโม
The dress had a low front and I could see the delicate curve of her breasts. I was quite pleased by everything. The dress smelled sweet because it was made from watermelon sugar.
ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่าถ้าหากสามารถหาเหตุผลมารองรับได้ การใส่รายละเอียดลงไปมากขึ้น (แต่ไม่มากจนเกินไป) ก็จะยิ่งทำให้ตัวละครและโลกในนิยายดูสมจริง เช่นตัวละครมีความสนใจในเรื่องการแต่งกาย มีประสบการณ์ในการตัดเย็บเสื้อผ้าหรือทำวัตถุดิบที่จำเป็นในการตัดเย็บ หรือแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำอยู่แล้วไม่มีอะไรทำเลยพลิกป้ายบนชุดอ่าน (อาจแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้, ความสมาธิสั้นที่เวลาเข้าห้องน้ำถึงกับต้องหาอะไรมาจดจ่อ หรือแม้กระทั่งความขี้เบื่อของตัวละคร)
ต่อมา สามารถใช้สีเป็นตัวขยาย โดยเฉดสีสามารถมีความละเอียดขึ้นได้ อย่าง แดงเพลิง แดงครั่ง แดงเข้ม แดงดั่งเลือด แดงอมม่วง หรืออย่างฟ้าไข่กา ถ้าเป็นนิยายผู้หญิงก็อาจใช้คำว่า "ฟ้าทิฟฟานี" แทน
ถ้าอยากอธิบายลักษณะพิเศษของเสื้อผ้าก็เช่น ชุดผ้ากำมะหยี่ปักลาย เสื้อคลุมแต่งด้วยกระดุมทำจากอัญมณี
หรือถ้าให้ละเอียดขึ้นอีกก็เป็น
เสื้อตัวยาวทำจากผ้าเนื้อบางที่แทบจะมองผ่านเข้าไปได้ งานปักลายด้วยเส้นไหมและด้ายเงินเล่าถึงฉากจากโศกนาฎกรรมของทริสทันและอิโซลด์
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการใช้เสื้อผ้าเป็น plot device ในนิยายเหมือนตัวอย่างจากเรื่อง The Boleyn Inheritance ที่ยกมาตอนต้น จริงๆ แล้วอาจไม่จำเป็นจะต้องลงรายละเอียดอะไรมากมายเกี่ยวกับเสื้อผ้าเลยก็ได้ แต่ใช้ความรู้สึกของตัวละครเมื่อสวมใส่เครื่องแต่งกายนั้นเพื่อแสดงให้ถึงบุคลิกและวิธีนึกคิดแทน
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่บทความนี้ต้องการสื่อก็คือ “อย่ามองข้ามความสำคัญของสิ่งที่ดูผิวเผินอย่างเสื้อผ้าในงานเขียนไป” เช่นเดียวกับที่การแต่งกายคือส่วนหนึ่งของความประทับใจครั้งแรกในชีวิตจริง สิ่งที่ตัวละครของคุณสวมใส่ก็จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความประทับใจแรกต่อผู้อ่าน
สุดท้ายคือรายการสั้นๆ ที่ควรนึกถึงเมื่อออกแบบการแต่งกายของตัวละครในนิยายสำหรับกรณีที่ไม่อิงประวัติศาสตร์
- สภาพแวดล้อมในนิยาย ภูมิประเทศ อากาศ ฤดูกาล สถานที่ตั้ง กฎหมาย
- สถานะของตัวละคร อาชีพการงาน ฐานะ การศึกษา สถานภาพ
- วัตถุดิบและแหล่งที่มา หายากหรือง่ายแค่ไหนในบริเวณแหล่งอาศัยของตัวละครนั้นๆ
- ประโยชน์ของเครื่องแต่งกาย (ที่นอกเหนือจากความสวยงาม) เช่น เพิ่มพละกำลัง ป้องกันภัย สะดวกคล่องแคล่ว
- ข้อเสียของเครื่องแต่งกาย เช่น เปราะบาง หนักทึ้ง หรือเพิ่มความเสี่ยงในหน้าที่
- ข้อเสียข้อดีนี้จะส่งผลต่อเรื่องอย่างไร ซึ่งต้องระวังให้ดีว่าเครื่องแต่งกายนั้นๆ จะไม่ส่งผลให้ตัวละครมีพละกำลังมากเกินควรจนอุปสรรคที่ถูกตั้งขึ้นมาในตอนแรกไม่เป็นอุปสรรคต่อไป หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือความไม่สมเหตุสมผลของการแต่งกาย เช่นตัวละครต้องเข้าป่า ทั้งๆ ที่จะเลือกใส่อะไรก็ได้กลับเลือกใส่กางเกงขาสั้นกับเสื้อกล้าม แต่ก็ไม่เคยถูกสัตว์มีพิษหรือพืชมีพิษโดนตัว
- ขยายกว้างอีกนิด แล้วเพื่อนบ้านเมืองใกล้เคียงล่ะ แต่งตัวคล้ายหรือต่างกันแค่ไหน และเพราะอะไร ?
Further readings / Bibliography
ความคิดเห็น