คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : 1.2.3 ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก
1. โปรตุเกส โปรตุเกศเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับอยุธยาในช่วง พุทธศตวรรษที่ 21 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือต้องการผลประโยชน์ทางการค้าและเผยแผ่ศาสนา
หลังจากโปรตุเกสยึดครองมะละกาได้ส่งทุ๖เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2054 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าของสองประเทศได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการและดำเนินไปด้วยดี โปรตุเกสได้รับอนุญาตให้ค้าขายได้ที่กรุงศรีอยุธยา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และมะริด
โปรตุเกสขายปืนและอาวุธสงครามให้แก่อยุธยาเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิทธิในการค้า ชุมชนชาวโปรตุเกสได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วยบาทหลวง พ่อค้า และทหารรับจ้าง เหล่านี้รับราชการในราชสำนักอยุธยาเช่นเดียวกับที่รับราชการอยู่ในรัฐต่างๆ ในเอเชีย โดยเป็นผู้เชียวชาญในเรื่องอาวุธปืน การสร้างป้อมปราการและการทำสงครามตามแบบฉบับของยุโรป การที่กษัตริย์อยุธยามีอาวุธปืนไว้ใช้ทำให้เป็นที่ยำเกรงของศัตรู บาทหลวงชาวโปรตุเกสยังได้สร้างโบสถ์บนพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโปรตุเกส
2. สเปน ชาวสเปนสามารถตั้งมั่นอยู่ที่เมืองมะนิลาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ผู้สำเร็จราชการสเปนที่กรุงมะนิลา ส่งคณะทูตเข้าติดต่อกับกรุง-ศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2141 ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแต่สัมพันธภาพระหว่างไทยกับสเปนไม่ได้ราบรื่นและขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากสเปนสนับสนุนให้เขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทยเป็นอิสระจากอยุธยา โดยหวังจะใช้เป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นแหล่งเผยแผ่คริสต์ศาสนาจึงบาดหมางกับไทย
ใน พ.ศ. 2167 สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ไทยกับสเปนขัดแย้งกัน เนื่องจากสเปนและโปรตุเกสได้ยึดเรือสินค้าของฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถูกอยุธยาบังคับให้คืนแก่ฮอลันดาความสัมพันธ์กับสเปนจึงเสื่อมลง และขาดการติดต่อกันไปประมาณ 60 ปี สเปนจึงกลับเข้ามาติดต่ออีกครั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ความสัมพันธ์ยังคงไม่ราบรื่นเช่นเคย
สเปนส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งครั้งหนึ่งใ พ.ศ. 2261สมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ( พระเจ้าท้ายสระ ) แต่สัมพันธภาพไม่ได้พัฒนาไปมากกว่านั้น
ชาวสเปนไม่ได้ตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ได้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมหลงเหลือให้เห็นเด่นชัด
เรื่องน่ารู้
เมื่อชาติตะวันตกเข้ามาค้าขายทางโลกตะวันออก มี 3 ชาติที่ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของชาติตนขึ้นได้แก่
บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ( English East India Company ) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2143 ยุบเลิกเมื่อ พ.ศ. 2380 อังกฤษอนุญาตให้ผูกขาดการค้าในตะวันออกไกลและอินเดีย ภายหลังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้างมากทำให้บริษัทได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของจักรวรรดิอังกฤษ
บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ( Dutch East India Company ) มีชื่อเต็มเป็นภาษาดัชว่า Vereenigda Geactroyeerde Oost Fndisch Companie เรียกย่อว่า วีโอซี ( VOC ) เป็นกึ่งราชการอยู่ในความคุ้มครองดูแลของรัฐบาลฮอลันดา ได้รับอนุญาตให้ผูกขาดการค้าในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียจากแหมกู๊ดโฮปมาถึงช่องแคบมาเจลลัน บริษัทมีสิทธิในการทำสนธิสัญญากับดินแดนที่ติดต่อด้วย สามารถสร้างป้อมค่ายและจัดตั้งกองกำลังทหารได้ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2145 หลังการตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ 2 ปี ยุบเลิกเมื่อ พ.ศ. 2342
บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส ( French East India Company ) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2270 ยุบเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2262 ได้รับอนุญาตจากฝรั่งเศสให้ผูกขาดการค้ากับดินแดนในแถบอินเดีย แอฟริกาตะวันออก และมาดากัสการ์ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้หารดำเนินงานของบริษัทอยู่อำนาจของพระองค์
3. ฮอลันดา ไปช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 อิทธิพลทางการค้าของโปรตุเกสในเอเชียลดน้อยลงไปอย่างมาก เนื่องจากประเทศโปรตุเกสถูกประเทศสเปนยึดครองระหว่าง พ.ศ. 2123 จนถึง พ.ศ.2183 ทำให้ฮอลันดาและอังกฤษได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของตนขึ้น เพื่อผูกขาดการค้าในแถบตะวันออก บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้รับมอบเอกสิทธิ์ในการเจรจาทางการค้ากับเจ้าผู้ปกครองชาวพื้นเมืองต่างๆ และมีกองทหารและกองเรือรบเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางการค้าในที่สุดฮอลันดาสามารถตั้งสถานีการค้าขั้นที่เมืองปัตตาเวียเพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมด
ฮอลันดาเข้าติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกใน พ.ศ. 2147 โดยผ่านเมืองปัตตานีประเทศราชของเมืองปัตตานีในขณะนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญของฮอลันดา คือต้องการซื้อสินค้าจากจีนและหาช่องทางเข้าไปค้าขายในประเทศจีน โดยอาศัยเรือสำเภาของไทย แต่ไทยยินดีต้อนรับเฉพาะเรื่องที่ชาวฮอลันดาจะเข้ามาค้าขายเท่านั้นดังนั้นบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาจึงผิดหวังที่ไม่สามารถอาศัยเรื่อสำเภาของอยุธยาเข้าไปค้าขายยังประเทศจีนได้ แต่ฮอลันดาก็ยังสนใจที่อยู่หาลู่ทางการค้าที่กรุงศรี-อยุธยาต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากอยุธยามีสินค้ามากมายทั้งสินค้าประเภทของป่าและธัญญาหาร เช่น ไม้ยาง ไม้กฤษณา ดีบุก หนังสัตว์ น้ำมันมะพร้าว และข้าว ชาวฮฮลันดาจึงเห็นประโยชน์จากการเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา และตั้งสถานีการค้าที่กรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2151-2308
ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดากับราชสำนักอยุธยาในปลาย พุทธ-ศตวรรษที่ 22 รุ่งเรืองมาก คณะทูตไทยเดินทางไปกรุงเฮก ถวายพระราชสาสน์แด่กษัตริย์ฮอลันดาใน พ.ศ. 2151 นับเป็นคณะทูตไทยชุดแรกที่เดินทางไปถึงทวีปยุโรปของฮอลันดา ทำให้เกิดขัดแย้งกับผลประโยชน์และระบบการค้าผูกขาดพระคลังสินค้าของอยุธยา หลายครั้งที่ฮอลันดาขอสิทธิผูกขาดในการส่งสินค้าออก เช่น หนังกวาง ดีบุก แต่มักจะไม่มีผลในทางปฏิบัติทำให้ฮอลันดาไม่พอใจ บางครั้งเกิดกรณีการขัดแย้งกันจนถึงขั้นฮอลันดานำกองเรือปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อความขัดแย้งสิ้นสุด ลงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาก็ทำการค้ากับอยุธยาต่อไป
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 การค้าของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาค่อยๆ ลดความสำคัญลง เพราะมีอุปสรรคนานาประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและการต่างประเทศของพระมหากษัตริย์อยุธยา และความผันผวนทางการเมืองในราชสำนัก ประกอบกับสภาวการณ์ทางการค้าในยุโรปและเอเชียตะวันออกเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาไม่อำนวยและมีปัญหา ฮอลันดาจึงค่อยๆ ถอนตัวจากการค้าที่กรุงศรีอยุธยา
4. อังกฤษ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เข้ามาติดต่อการค้ากับอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อใช้อยุธยาเป็นฐานในการค้ากับญี่ปุ่น แต่เนื่องจากบริษัทอินเดียตะวันออของอังกฤษไม่สามารถทำการค้าแข่งกับฮอลันดาได้ การค้าของอังกฤษกับอยุธยาจึงสบเซา ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษปิดสถานีการค้าที่อยุธยาไป
อังกฤษกับเข้ามาติดต่อการค้าที่อยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ต้องประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง เพราะเกิดความขัดแย้ง ระหว่างบริษัทกับขุนนางระดับสูงในราชสำนักไทย บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ จึงต้องปิดสถานีการค้าที่อยุธยาใน พ.ศ. 2227 ต่อมาความสัมพันธ์กับอังกฤษหยุดชะงักลงเนื่องจากอังกฤษพยายามจะยึดเมืองมะริด แต่ถูกขับไล่ออกไป ใน พ.ศ. 2230 กรุงศรีอยุธยากับอังกฤษหยุดชะงักลงเนื่องจากอังกฤษประกาศสงครามต่อกัน แม้สงครามจะไม่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายห่างเหินกันไปนับตั้งแต่นั้นมา แต่ยุติลงอย่างเด็ดขาดเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310
5. ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาในช่วงพุธศตวรรษที่ 23 หลังชาวยุโรปชาติอื่นๆ ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้นเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้การต้อนรับคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างดี นอกจากจะเผยแพร่คริสต์ศาสนาแล้ว พวกบาทหลวงยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับราชสำนักอยุธยา พ่อค้าฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าที่กรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนคณะทูตระหว่างกัน คณะทูตของฝรั่งเศสชุดแรกเข้ามาใน พ.ศ. 2228 โดยมีเชอวาเลีย เดอ โชมอง เป็นราชทูต คณะทูตชุดที่ 2 เข้ามาใน พ.ศ. 2230 มีลาลูแบร์ เป็นราชทูต ส่วนคณะทูตของไทยที่เดินทางไปถึงฝรั่งเศสและมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือคือคณะทูตที่มี พระวิสุทธสุนทร ( โกษาปาน ) เป็นราชทูตได้เดินทางไปฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2229
จุดมุ่งหมายหลักของฝรั่งเศสอยู่ที่การติดต่อการค้ากับไทย และพยายามโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและคนไทยยอมรับนับถือคริสต์ศาสนานิการโรมันคาทอลิก แต่ฝ่ายไทยให้ความสนใจในเรื่องการค้าและความสัมพันธ์ทางการทูตมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดา เนื่องจากฮอลันดาไม่ใจระบบการผูกขาดสินค้าของกรุงศรีอยุธยา จึงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกรุงศรีอยุธยา
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดความสับสนขึ้นเมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีกของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีมีบรรดาศักดิ์เป็นออกญาวิไชเยนทร์และเป็นคนใกล้ชิดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ใช้อิทธิพลที่มีอยู่ในราชสำนักสนับสนุนให้กองทหารฝรั่งเศสเข้ามาประจำการที่บางกอกและมะริด เพื่อป้องกันการก่อกบฏของขุนนางไทย ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องค้ำประกันผลประโยชน์และอิทธิพลในราช-สำนักของฟอลคอนให้มั่นคงด้วย
ในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนนางไทยรวมตัวกันต่อต้านฟอลคอนและฝรั่งเศส ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวร เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยพระเพทราชาหัวหน้าขุนนางไทยได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง ฟอลคอนถูกประหาร กองทหารฝรั่งเศสถูกล้อมที่ป้อมเมืองบางกอก และถูกขับไล่ออกไปใน พ.ศ. 2231
ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสหยุดชะงักไปเป็นเวลา 15 ปี จึงได้เริ่มมีการติดต่อกันอีกครั้งแต่ความสัมพันธ์มิได้ก้าวหน้านัก เพราะอยุธยาระมัดระวังในการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ฝรั่งเศสต้องทำสงครามในยุโรป อย่างไรก็ตาม คณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสก็ยังคงเผยแผ่คริสต์ศาสนาที่กรุงศรีอยุธยา จนสิ้นสุดสมัยอยุธยา
ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสไม่ได้มีผลเฉพาะทางด้านการค้าและการเมืองเท่านั้น แต่ศิลปวิทยาด้านต่างๆ ของฝรั่งเศสได้เผยแผ่ในอยุธยาด้วย โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมวิศวกร ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบพระราชวังตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง บ้านหลวงรับราชทูตที่ลพบุรี สร้างและซ่อมแซมป้อมต่างๆ ทั้งที่ลพบุรีและบางกอกให้ได้มาตรฐานชองตะวันตก ส่วนทางด้านการทหาร นายทหารฝรั่งเศสได้เข้ามาฝึกกองทหารแบบยุโรป ขณะเดียวกันบาทหลวงฝรั่งเศสไดมีบทบาททางการใช้เครื่องมือดาราศาสตร์ เช่น กล้องส่องดูดาวแก่กลุ่มเจ้านายน้อย ถึงกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอดูดาวขึ้นที่ลพบุรี นอกจากนี้ยังมีแพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามารับราชการเป็นแพทย์หลวง ได้รักษาคนป่วยด้านการผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม วิทยาการเหล่านี้ไม่ได้มีการสานต่อความรู้ให้สืบทอดต่อมา เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อขุนนางและข้าราชการไทยได้ปลุกระดมราษฎรให้ต่อต้านอิทธิพลของฝรั่งเศสในราชสำนักอย่างรุนแรง ราชสำนักอยุธยาจึงมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการติดต่อกับต่างประเทศ และแม้ว่าคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสจะได้รับอนุญาตให้อยู่ที่กรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ แต่ก็ถูกควบคุมเข้มงวดจากราชสำนัก ศิลปะวิทยาการต่างๆ ที่ฝรั่งเศสนำมาเผยแพร่จึงสะดุดลง
ความคิดเห็น