คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : 1.2.1ความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อนบ้าน
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับรัฐเพื่อนบ้านมีทั้งลักษณะที่เป็นไมตรีต่อกัน และมีความขัดแย้งจนต้องทำสงครามกัน ทั้งนี้เพราะอยุธยามีนบายในการขยายอำนาจเข้าไปปกครองรัฐเพื่อนบ้าน จึงทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปในลักษณะการรุกรานซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับพม่าที่มีการทำสงครามกันตลอดสมัยอยุธยา
1. ล้านนา แคว้นล้านนามีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ โดยพญามังรายทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1839 ในช่วงแรกๆ อยุธยาไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับล้านนาโดยตรง เนื่องจากมีอาณาจักรสุโขทัยกั้นอยู่ ต่อมาเมื่อสุโขทัยยอมอ่อนน้อมต่ออยุธยาใน พ.ศ. 1921 อยุธยาจึงได้ขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนล้านนา ดังนั้นเมื่อเกิดการแย่งชิงอำนาจกันในล้านนาระหว่างพระเจ้าแสนเมืองมาผู้ครองเมืองเชียงใหม่ กับท้าวมหาพรหมผู้เป็นอา ฝ่ายท้าวมหาพรหมแพ้ได้หนีมาพึ่งอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพ่องั่ว) จึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองลำปางเมื่อ พ.ศ. 1929 นับเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอยุธยารุกรานแคว้นล้านนา
ความสัมพันธ์ระหว้างอยุธยากับล้านนามีลักษณะเป็นการทำสงครามกันมากกว่าการเป็นไมตรีต่อกัน ทั้งนี้เนื่องจากอยุธยาต้องการขยายอาณาเขตขึ้นไปทางเหนือ เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับอยุธยา อยุธยากับล้านนาจึงมีอาณาเขตติดต่อกัน ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันมาตลอด สงครามระหว่างอยุธยากับล้านนาได้เกิดขึ้นหลายครั้งในสมัยพระยาติโลกราชแห่งล้านนา (พ.ศ.1991-2031) โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2003 จนถึง พ.ศ. 2018 หลังจากนั้นอยุธยากับล้านนาจึงเป็นไมตรีกัน
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงยกกองทัพไประงับข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์กับขุนนางในเมืองเชียงใหม่ถึง 2 ครั้ง และในที่สุดได้ยกกองทัพเข้าตีเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นสำเร็จ
ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อยุธยาติดทำสงครามกับพม่าจึงไม่ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถูกพม่ารุกรานเช่นเดียวกัน ทำให้เมืองเชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของพม่าใน พ.ศ.2101 อย่างไรก็ตาม เมืองเชียงใหม่ได้ตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอีกในสมัยสมเด็จพระนเรศวร-มหาราช ต่อมาพม่ายกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่จึงตกเป็นของพม่าอีก จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงยกกองทัพไปตีเมืองลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่กลับคืนมาเป็นประเทศราชของอยุธยา จะเห็นว่าตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ล้านนาตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของไทยเป็นบางช่วง และบางช่วงอยู่ใต้อิทธิพลของพม่า
เมื่อสิ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ล้านนาเป็นอิสระได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย พม่าได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2306 เชียงใหม่ได้ขอให้อยุธยายกกองทัพไปช่วย สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) ให้ยกกองทัพอยุธยาไปช่วยแต่พม่าตีเชียงใหม่ได้เสียก่อน กองทัพอยุธยาต้องถอยกลับ เชียงใหม่จึงตกเป็นประเทศราชของพม่าจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2ใน พ.ศ. 2310
2.ลาว ไทยกับลาวหรือล้านช้างมีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ หลักฐานจากตำนานเรื่องขุนบรมได้กล่าวว่า ขุนลอโอรสของขุนบรมได้สร้างเมืองเซ่าหรือเมืองหลวงพระบาง เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง
ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ. 1896-1917) ได้ทรงรวบรวมดินแดนลาวเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งขณะนั้นตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งอยุธยา กษัตริย์ทั้งสองพระองค็ทรงมีพระราชไมตรีที่ดีต่อกัน ได้มีการแบ่งดินแดนกัน โดยใช้แนวเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นเขตแดนระหว่างกัน ต่อมาเมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มสวรรคต พระเจ้าสามแสนไทยได้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระรามาธิบดีที่1 ยังได้ พระราชทานพระนางแก้วยอดฟ้าซึ่งเป็นราชธิดาให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสมาแสนไทย กรุงศรีอยุธยาจึงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน
เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาพระโอรสพระเจ้าโพธิสารขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านช้าง (พ.ศ. 2093-2115) เนื่องจากพระราชมารดาของพระองค์ คือ พระนางยอดคำทิพย์เป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ประกอบกับพระองค์ได้ครองเชียงใหม่มาก่อนหน้าที่จะมาครองล้านช้างด้วย จึงทำให้ล้านช้างกับเชียงใหม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่าเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการรบ มีนโยบายที่จะขยายอำนาจมายังล้านนาและอยุธยา ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ววางแผนโจมตีกรุงศรีอยุธยาต่อไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างจึงทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองร่วมกัน เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของพม่า แสดงว่าอยุธยาและล้านช้างได้เป็นพันธมิตรกันเพื่อป้องกันการรุกรานของพม่าในขณะนั้น และยังผลให้ทั้งสองอาณาจักรมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาได้มีพระราชสาสน์มาขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเป็นมเหสี เนื่องจากพระเจ้าไชยเชษฐาได้สูญเสียพระมเหสีไปเมื่อคราวพม่ายกทัพไปตีเวียงจันทน์ สมเด็จพระมหา-จักรพรรดิจึงส่งพระธิดาไปเพื่อผูกไมตรีกันไว้ แต่ถูกกองทัพพม่าแย่งชิงตัวระหว่างทางและนำไปถวายพระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี
หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยและลาวสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระเจ้าไชยเชษฐา คือ การร่วมกันสร้างพระธาตุศรีสองรัก มีศิลาจารึกเป็นตัวอักษรธรรมภาษาลาว อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรขอมภาษาไทย เมื่อฝรั่งเศสเข้ามายึดเมืองด่านซ้ายใน พ.ศ.2449 ได้นำศิลาจารึกนี้ไปเวียงจันทน์ เนื้อความในศิลาจารึกกล่าวถึงกษัตริย์ทั้งสองนครว่าจะรักใคร่กลมเกลียวกันจนชั่วลูกชั่วหลาน จึงกล่าวได้ว่าการสร้างพระธาตุศรีสองรักนี้ เป็นสักขีพยานในการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับลาว หากฝ่ายใดถูกพม่ารุกราน อีกฝ่ายก็จะเข้าช่วยเหลือกัน ปัจจุบันพระธาตุศรีสองรักอยู่ในเขตอำเภอด่าซ้าย จังหวัดเลย
หลังจากไทยเสียกรุงศรอยุธยาแก่พม่าครั้งที่1 แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมิตรไมตรีระหว่างไทยกับลาวแต่อย่างใด เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีปัญหาภายใน เช่น การแย่งอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางของลาว จนลาวแตกแยกออกเป็น 3 แคว้น คือ แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ และแคว้นจำปาศักดิ์ ส่วนกรุงศรีอยุธยาก็เกิดการแย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้การสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง อยุธยากับประเทศเพื่อนบ้านลดน้อยลง จนกระทั่งสิ้นอำนาจใน พ.ศ. 2310
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้าง มีลักษณะเป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน แม้ว่าบางช่วงอยุธยาจะมีอำนาจเหนือล้านช้าง แต่ไม่ได้ควบคุมอย่างจริงจังเพียงแต่ดูแลให้ส่งเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีอยุธยาปฏิบัติต่อล้านช้างในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง เมื่อล้านช้างมีปัญหาภายในก็มักจะมาพึ่งไทย นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติ ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และการนับถือศาสนาที่คล้ายคลึงกัน
3.พม่า ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับไทย ส่วนใหญ่เป็นการแข่งอิทธิพลและการขยายอำนาจจึงทำให้เกิดสงครามกันตลอดมา สาเหตุสำคัญมาจากการที่พม่าได้เป็นใหญ่เหนือดินแดนมอญและไทยใหญ่แล้ว ก็พยายามขยายอำนาจเข้ามายังอาณาจักรอยุธยา โดยเดินทัพผ่านดินแดนมอญทางด้านตะวันตกหรือผ่านลงมาทางล้านนาทางด้านเหนือ การที่พม่ายกทัพมารบกับอยุธยาหลายครั้งแสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ และพม่าต้องการสร้างความเป็นเอกภาพในดินแดนพม่าโดยการรวบรวมชนกลุ่มน้อยให้เป็นหนึ่งอันเดียวกัน แต่อุปสรรคสำคัญของพม่าคืออาณาจักรอยุธยาซึ่งมักสนับสนุนชนกลุ่มน้อยให้ต่อต้านอำนาจของพม่าเสมอ การยึดครองอยุธยาจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นเอกภาพของพม่าด้วย
ถ้าพิจารณาด้านภูมิประเทศจะเห็นว่าพม่ากับไทยมิได้มีเขตแดนติดต่อกันโดยตรง แต่มีมอญกั้นอยู่ทางด้านตะวันตก ส่วนทางเหนือก็มีดินแดนของไทยใหญ่และล้านนากั้นอยู่ พม่าจึงต้องตีไทยใหญ่และล้านนา หรือตีมอญได้ก่อนที่จะยกกองทัพมาตีไทย
ก่อนที่พม่าจะขยายอาณาเขตเข้ามายังดินแดนของไทย พม่าได้ทำสงครามกับมอญเพื่อแย่งอำนาจกันหลายครั้ง กล่าวคือ พม่าตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองตองอู ส่วนมอญนั้นระยะแรกตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองหงสาวดี ต่อมาพม่ากับมอญได้ทำสงครามกันหลายครั้ง เป็นผลให้พม่าได้ครอบครองดินแดนมอญเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยที่พระเจ้าฟ้ารั่วขึ้นเป็นกษัตริย์มอญได้ประกาศอิสรภาพจากพม่าเมื่อ พ.ศ. 1830
ต่อมาพม่าได้โจมตีเมืองต่างๆของมอญ ทำให้ชาวมอญหนีเข้ามาอยู่ที่เมืองเชียงกรานซึ่งขึ้นอยู่กับไทย ไทยได้ยกทัพขึ้นไปตีพม่าแตกพ่ายจากเมืองเชียง-กราน นับเป็นศึกครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพม่าได้มอญเป็นเมืองขึ้นใน พ.ศ. 2082 แล้ว ทำให้พรมแดนไทยกับพม่ามีอาณาเขตติดต่อกัน เป็นผลทำให้ไทยกับพม่าเกิดพิพาทกันและทำสงครามกันในเวลาต่อมา
พม่าต้องการเป็นใหญ่เหนืออยุธยาเพราะถ้าพม่ามีอำนาจเหนือไทยแล้ว ประเทศราชของพม่า เช่น มอญและไทยใหญ่ก็จะไม่กล้าแข็งเมืองต่อพม่า เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. 2112 และต่อมาเมื่อพระนเรศวรมหาราชกู้ชาติได้สำเร็จใน พ.ศ.2127 พม่าก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายภายใน มีการแก่งแย่งความเป็นใหญ่ในหมู่ผู้นำ และประเทศราชของพม่า เช่น มอญ ไทยใหญ่ ต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระ
ในสมัยอยุธยา ไทยกับพม่าได้ทำสงครามกันถึง 24 ครั้ง ส่วนใหญ่พม่าจะยกทัพมาตีไทย ไทยยกทัพไปตีพม่าเป็นการตอบโต้ คือ ในสมัยสมเด็จพระ-นเรศวรมหาราช 2ครั้ง และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีก 1 ครั้ง นอกนั้นพม่าเป็นฝ่ายโจมตีไทยทั้งสิ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าจึงมีลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทำสงครามเกือบตลอดเวลา
นอกจากการทำสงครามแล้วไทยกับพม่ายังมีการติดต่อค้าขายกัน โดยมีเมืองมะริดเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับติดต่อค้าขายทางฝั่งทะเลอันดามัน ในบางครั้งการทำสงครามระหว่างพม่ากับไทยมีสาเหตุจากการที่ไทยจับเรือสำเภาของพม่าที่ไปค้าขายที่เมืองมะริด ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าสำคัญของไทย ทำให้พม่าไม่พอใจ ประกอยกับพม่าต้องการขยายอำนาจลงมาจนจดฝั่งทะเลอันดามันเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตน และสำหรับอยุธยาก็ต้องการครอบครองดินแดนมอญเพื่อประโยชน์ทางการค้าขายชายฝั่งทะเลอันดามันเช่นกัน
4.เขมร เขมรเคยมีอิทธิพลในดินแดนไทยตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใน พ.ศ. 1893 เมื่อยุธยามีความเจริญและมีความมั่นคงทางการเมืองแล้ว ก็ได้ขยายอิทธิพลทางการเมืองไปยังเขมร ทำให้เขมรมีความสัมพันธ์กับไทยในฐานะเมืองประเทศราชตลอดสมัยอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปตีเขมรได้สำเร็จ ทรงตั้งให้พระราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร แต่ปกครองอยู่ได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ เขมรจึงประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เขมรก็ตั้งตัวเป็นอิสระ แม้ไทยจะส่งกองทัพไปปราบแต่ก็ไม่สำเร็จ
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงยกทัพไปตีเขมรใน พ.ศ. 2174 เขมรตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระ-นารายณ์มหาราชเป็นต้นมาเขมรเกิดเหตุการณ์วุ่นวายภายใน มีการแย่งชิงอำนาจกันเองในบรรดาเจ้านายและขุนนาง ทำให้แบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวก มีเจ้านายเขมรบางกลุ่มหันไปพึ่งเวียดนาม และบางกลุ่มหันมาพึ่งไทย และเข้ามาพำนักอยู่ที่อยุธยาเมื่อมีโอกาสก็จะกลับไปแย่งอำนาจคืน เป็นผลทำให้ไทยกับเวียดนามเกิดขัดแย้งกัน บางครั้งถึงขั้นทำสงครามกัน
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2309-2310 พระรามราชา (นักองนน) ซึ่งลี้ภัยเข้ามาอยู่ในกรุงศรี-อยุธยาตั้งแต่พ.ศ. 2300 ได้หนีกลีบไปเขมรรวบรวมกำลังได้มากพอสมควร แล้วยกทัพไปแย่งชิงอำนาจจากพระนารายณ์ราชากษัตริย์เขมร พระนารายณ์-ราชาสู้ไม่ได้จึงขอกำลังจากเวียดนามมาขับไล่พระรามราชา พระรามราชาแต่งทูตเข้ามาขอพึ่งบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ช่วยกู้อำนาจ และขอเป็นเมืองขึ้นของไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเขมร มีผลให้ไทยได้รับอิทธิพลจากเขมรในด้านต่างๆ ได้แก่
1. ด้านการปกครอง อยุธยาในยุคต้นๆ ได้รับแบบแผนการปกครองจากสุโขทัยและจากเขมร นอกจากนั่นยังรับแนวความคิดที่ว่ากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นสมมติเทพจากเขมรเข้ามาด้วย
2. ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและราชสำนัก ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพจึงมีพระราชพิธีต่างๆ ที่ได้แบบอย่างมาจากเขมร เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น
3. ด้านศิลปกรรม ไทยได้รับอิทธิพลจากเขมรหลายอย่าง เช่น นำแบบอย่างปราสาทในเมืองนครธมของเขมรมาสร้างในกรุงศรีอยุธยา
4. ด้านประติมากรรม การหล่อพระพุทธรูปสมัยอยุธยายุคแรก เรียกว่า พระพุทธรูปยุคอู่ทองก็ได้แบบอย่างมาจากเขมร ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรดเกล้าฯให้หล่อรูปพระโพธิสัตว์แบบเขมรไว้ในอยุธยา
5. ด้านวรรณคดี ไทยนิยมใช้ภาษาขอมหรือภาษาเขมร และภาษาบาลีสันสกฤตในวรรณคดีต่างๆ เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นต้น แม้แต่คำภาษาเขมร เมื่อนำมาใช้ในราชสำนักก็ได้กลายเป็นคำราชาศัพท์ไป เช่น เขนย (แปลว่า หมอน) เป็นพระเขนย เดิน (เดิร = ดำเนิน) เป็นทรงหระดำเนิน เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเขมรมีทั้งลักษณะเป็นไมตรีต่อกัน มีความขัดแย้งหรือทำสงครามกัน แต่ทว่าความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการรับอิทธิพลของเขมรมาหลายประการเข้ามา คือ การปกครองแบบสมมติเทพ พระราชพิธีต่างๆ ขนบธรรมเนียมประเพณี ยังคงมีบทบาทละความสำคัญในสังคมไทยมาจนทุกวันนี้
5.หัวเมืองมลายู ในสมัยสุโขทัยหลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (จารึกหลักที่ 1) ระบุว่าสุโขทัย ขยายอิทธิพลถึงเมืองนครศรีธรรมราช การติดต่อค้าขายระหว่างดินแดนไทยกับแคว้นต่างๆ ทางใต้จึงเกิดขึ้นก่อนสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว
ในสมัยอยุธยาตอนต้นได้มีการติดต่อกับหัวเมืองต่างๆทางใต้ของไทยที่สำคัญ ได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองปะลิส และเมืองอื่นๆ รวมทั้งเมืองมะละกาซึ่งตั้งอยู่ตอนปลายแหลมมลายูด้วย หัวเมืองมลายูเหล่านี้มีสุลต่านปกครอง
หัสเมืองมลายูตกเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในพงศาวดารมีการระบุชื่อเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาว่าทางตอนใต้ ได้แก่ เมืองมะละกาและเมืองยะโฮร์ สองเมืองนี้ไทยให้ปกครองตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมายังกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองมะละกาได้ตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพไปปราบเมืองมะละกาเมื่อ พ.ศ. 1998 แต่ไม่สามารถตีเมืองได้ เพราะมะละกามีกำลังทัพเรือที่เข้มแข็ง
สำหรับเมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู เป็นประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเช่นเดียวกัน เมืองไทรบุรีได้ส่งเครื่องบรรณาการมาถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถส่วนเมืองปัตตานีในสมัยนั้นได้กลายเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เรือสิค้าจากอินเดีย จีนและญี่ปุ่นได้เข้ามาค้าขายด้วย
หัวเมืองมลายูพยายามตั้งตนเป็นอิสระจากอยุธยา ช่วงเวลาใดที่อยุธยาเกิดการแย่งอำนาจกันเองหรือต้องทำศึกสงครามกับพม่า หัวเมืองมลายูก็จะตั้งตนเป็นอิสระ เช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปัตตานีไม่ยอมรับอำนาจของอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบปัตตานีแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาปัตตานีกลับมาเป็นประเทศราชของไทยอีก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ต้องการผูกมิตรกับอังกฤษเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดา จึงเสนอยกเมืองปัตตานีให้แก่อังกฤษเพื่อสร้างป้อมปราการ แต่อ้งกฤษยังไม่ได้ดำเนินดารแต่อย่างใด เนื่องจากอังกฤษถอนตัวทางการค้ากับอยุธยาเสียก่อน
จากหลักฐานบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระบุว่า เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เป็นเมืองประเทศราชของไทย ซึ่งน่าจะรวมไปถึงหัวเมืองมลายูอื่นๆ ด้วย ในตอนปลายสมัยอยุธยาความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายูไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยอยุธยา
หัวเมืองมลายูมีฐานะเป็นประเทศราชของไทย จึงมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการพร้อมด้วยต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายพระมหากษัตริย์อยุธยา 3 ปีต่อครั้ง ถ้าหากอยุธยาต้องการความช่วยเหลือทางทหารหรืออาวุธกระสุนดินดำ หัวเมืองมลายูจะต้องจัดหาให้ตามที่ต้องการ ส่วนอยุธยามีภาระผูกพันในการดูแลความสงบเรียบร้อยของหัวเมืองมลายู หากหัวเมืองมลายูได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหรือถูกรุกรานจากศัตรู อยุธยามีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ
6.เวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามนอกเหนือไปจากการค้าขายกันตามแกติแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักจะเป็นเรื่องของการแข่งขันกันมีอิทธิพลในเขมร แต่บางครั้งก็เป็นมิตรไมตรีกัน ดังเช่น อยุธยาได้ผูกมิตรกับกษัตริย์ราชวงศ์ตรินห์ที่เมืองฮานอย เพื่อต่อต่านราชวงศ์เหงียนซึ่งมีอำนาจอยู่ที่เมืองเว้ เมื่อเวียดนามรบกันเองไทยสามารถขยายอิทธิพลและมีอำนาจในเขมรได้อย่างสะดวก แต่เมื่อเวียดนามรวมกำลังกันได้ก็จะขยายอำนาจเข้าไปในเขมร ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับไทยบางครั้งถึงขั้นทำสงคราม เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในสมัยอยุธยา
ความคิดเห็น