ลำดับตอนที่ #2
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : ตอนที่ 2 วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2540 กับ ทักษิณ ชินวัตร
มีหลายคนชอบว่า รัฐบาลชวนแก้วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้ และทักษิณ ชินวัตรชอบอวดอ้างอยู่เสมอๆ ว่า เป็นผู้กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น เพื่อมิให้คนไทยหลงผิด ลองมาดูซิว่า “ความจริง” นั้นเป็นอย่างไร ภาพที่ 1 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส | |||
ภาพบางภาพบอกเรื่องราวได้สมบูรณ์มากกว่าคำพูดมากนัก ภาพที่ 1 ที่แสดงถึงอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยในรายไตรมาสในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) จนถึงปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) ข้างต้นนี้ก็เช่นเดียวกัน หากพิจารณาถึง จุดหักเหที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ จะพบว่ามี จุดหักเหที่สำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเจริญเติบโตจากจุดต่ำสุดในราวๆ ไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ดังจะเห็นได้จากกราฟแท่งที่แสดงอัตราการเจริญเติบโตที่กลับหัวลงที่แสดงการติดลบมากที่สุด (-13.9) เมื่อผ่านพ้นเวลาจากจุดนั้นเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยก็เริ่มที่จะขยายตัวติดลบน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เป็นต้นมา จนติดลบอีกครั้งหนึ่งในไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 จึงอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวของ 3 นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลของเขาคือ (1) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 25 พ.ย. 39 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคความหวังใหม่ที่ได้ ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์เพียง 1 ที่นั่ง ในขณะนั้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และลาออกเมื่อ 8 พ.ย. 40 (2) ชวน หลีกภัยเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2540 และพ้นจากตำแหน่งด้วยการเลือกตั้งใหม่เมื่อครบวาระเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) และ (3) ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะถูกรัฐประหารไปเมื่อ 19 ก.ย. 49 ภายหลังจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองได้ไม่นาน ซึ่งตรงกับไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า ชวน หลีกภัยและรัฐบาลของเขาเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ เพราะเศรษฐกิจเริ่มที่จะถดถอยติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ จากการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ก็สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ในที่สุดก่อนจะครบวาระในการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่ทักษิณและรัฐบาลและนโยบายทักษิโณมิกส์ของเขาจะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศ การอวดอ้างหรือโอ้อวดตัวของทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นดั่ง “อัศวินขี่ม้าขาว” ผู้พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏในภายหลังอย่างเช่นในภาพที่ 1 แสดงไว้แต่อย่างใด รูปแบบการขยายตัวของประเทศไทยที่มีจุดหักเหจากลบมาเป็นบวกหรือจากน้อยไปหามากมิใช่เกิดเฉพาะในช่วงเวลาที่กล่าวยกมาข้างต้น หากแต่ในช่วงระหว่างพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง 3 มี.ค. 23 ถึง 4 ส.ค. 31 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับต่ำเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 - 5 ต่อปีมาเป็นร้อยละ 11- 13 ต่อปีตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 3 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณที่รับช่วงต่อมาในระหว่าง 4 ส.ค. 31 ถึง 23 ก.พ. 34 ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่อาจยกขึ้นมาเทียบเคียงได้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าทั้ง รัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณและทักษิณ ชินวัตรต่างก็ได้รับ “ส้มหล่น” จากรัฐบาลก่อนหน้าที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจนทำให้ได้รับผลพวงของความสำเร็จในเวลาต่อมาเหมือนกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลใดที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้โชติช่วงชัชวาลได้ชั่วข้ามคืนดุจดังใช้เวทมนตร์โดยไม่มีเค้าลางของการฟื้นตัวมาก่อน รัฐบาลชวนมีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ใช้เวลาประมาณ 2-4 ไตรมาสในการฟื้นเศรษฐกิจจากร้อยละ -13.9 ต่อปีมาเป็นร้อยละ 3.4 ต่อปี เช่นเดียวกับในช่วงรอยต่อระหว่างปลายรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์มาเป็นรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.5 ต่อปีในปี พ.ศ. 2529 มาเป็นร้อยละ 9.5 ต่อปีในปี พ.ศ. 2530 ก่อนที่จะมีอัตราการขยายตัวสูงสุดเป็นเลข 2 หลักติดต่อกัน 3 ปีต่อมาในช่วงรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ หากจะวัดการฟื้นตัวจากการนำเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ตัวเลขรายได้ประชาชาติที่วัดโดย GDP ณ ราคาคงที่เมื่อปี พ.ศ. 2539 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 3.09 ล้านล้านบาท ผลงานของรัฐบาลชวนที่ใช้เวลาประมาณ 3 ปีนำ GDP กลับเข้าสู่ระดับ 3.01 ล้านล้านบาทที่ใกล้เคียงกับเมื่อก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 และแม้รัฐบาลทักษิณด้วยทักษิโณมิกส์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักในปีแรกที่เข้ารับหน้าที่ โดยระดับGDP เมื่อสิ้นปีแรกที่ทักษิณเข้าสู่อำนาจคือปี พ.ศ. 2544 อยู่ในระดับ 3.07 ล้านล้านบาทซึ่งไม่แตกต่างจากปีสุดท้ายของรัฐบาลชวนอย่างนัยสำคัญแต่อย่างใด หนทางของความสำเร็จแม้จะเต็มไปด้วยขวากหนาม มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ผลลัพธ์ของความสำเร็จมักจะไม่ปรากฏให้เห็นได้ในเวลาที่ต้องการมากที่สุด บางครั้งก็ต้องใช้เวลากว่าชีวิตหาไม่ไปแล้ว เฉกเช่นเดียวกับจิตรกรนามอุโฆษ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ที่ไม่เคยขายภาพได้เงินแม้แต่แดงเดียวตลอดชั่วชีวิตของเขา แต่ภาพของเขากลับมีคนชื่นชมและเป็นที่ต้องการก็เมื่อเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว โชคชะตามักจะเล่นตลกกับชีวิตคนอยู่เสมอ อาจมีหลายความเห็นในปัจจัยที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งรัฐบาลพล.อ.เปรมและรัฐบาลชวน แต่ส่วนผสมสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามไปก็คือ “คน” ที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจ เพราะนโยบายคิดเองไม่ได้และดำเนินไปเองก็ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น “คน” จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือตรงกันข้ามก็ได้ ความเหมือนในรัฐบาลทั้ง 2 ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับนายกรัฐมนตรีที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัว แม้ว่าทั้งพล.อ.เปรมหรือ นายชวน จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีภูมิหลังและพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐกิจแม้แต่น้อย เฉกเช่นเดียวกับพล.อ.ชวลิตและรัฐบาลของเขา แต่รัฐบาลทั้ง 2 ก็สามารถเผชิญหน้าและรับมือแก้ไขกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในขณะนั้นได้เป็นอย่างดีในขณะที่พล.อ.ชวลิตล้มเหลว พล.อ.เปรม มีนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นขุนพลคู่กายด้านเศรษฐกิจ แม้จะไม่ได้เข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลตั้งแต่ต้น แต่ก็อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังติดต่อกันมากกว่า 6 ปี ในขณะที่นายชวนก็มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยไม่มีการสับเปลี่ยนหรือโยกย้ายแต่อย่างใดเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 3 ปี ทำให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย แต่ที่สำคัญก็คือทั้งนายสมหมายหรือนายธารินทร์ต่างก็มีความปรารถนาดีต่อสังคมไทย ไม่ปรากฏว่ามีชื่อเสียงในด้านความไม่ซื่อสัตย์หรือไม่สุจริตแต่อย่างใด นอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถที่ต่างคนก็มีอยู่อย่างพร้อมมูล หากเปรียบเทียบกับ “คน” ในรัฐบาลทักษิณจะพบว่า ระบอบทักษิณได้ลดความสำคัญของรัฐมนตรี ทำให้รัฐมนตรีของทักษิณมีการสับเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ในวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็มีการเปลี่ยนจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์มาเป็นนายสุชาติ เชาว์วิศิษฐและกลับไปเป็นนายสมคิดเช่นเดิม ขณะที่ในสมัยที่สองเริ่มที่นายสมคิดและไปจบที่นายทนง พิทยะ หากคิดเฉลี่ยเวลาทำงานอาจจะได้ประมาณคนละปีเศษเท่านั้น เช่นเดียวกับรัฐบาลพล.อ.ชวลิตที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 3 คนในช่วงอายุรัฐบาลที่มีระยะเวลาประมาณ 1 ปี จากนายอำนวย วีรวรรณ (29 พ.ย. 39 21 มิ.ย. 40) มาเป็นนายทนง พิทยะ (21 มิ.ย. 40 24 ต.ค. 40) และจบลงที่คณะรัฐมนตรี 2 สัปดาห์ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (24 ต.ค. 40 - 6 พ.ย. 40) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่อาจมีอายุในการดำรงตำแหน่งที่สั้นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีการทำงานได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด มิหนำซ้ำการเปลี่ยนตัวบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งก็กระทำในลักษณะที่สับไปสับมาและกลับมาลงเอยกับคนเดิมในที่สุด ดังเช่นในกรณีของนายสมคิดในรัฐบาลทักษิณสมัยแรก ดังนั้นหากจะอวดอ้างผลงานว่าสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้จริง ใครละที่สมควรได้รับการยกย่อง? แต่หากจะบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐาน กระทรวงหลักอื่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการก็มีสภาพไม่แตกต่างไปจากกระทรวงการคลังสักเท่าไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลทักษิณสมัยแรกก็มีจำนวนรัฐมนตรีว่าการจำนวนมากถึง 5 คนใน 4 ปี (ไม่นับ รมช.) เริ่มจากนายเกษม วัฒนชัย ทักษิณ ชินวัตร สุวิทย์ คุณกิตติ ปองพล อดิเรกสาร และจบลงที่อดิศัย โพธารามิก จนทำให้ยากที่จะมีใครสามารถนึกหน้ารัฐมนตรีว่ามีใครบ้างที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเข้ามาทำงานบ้าง เผื่อว่าจะได้ยกย่องสรรเสริญคุณงามความดีได้ถูก ข้อสงสัยในเรื่องการซื้อขายตำแหน่งก็ดี การไร้ความสามารถของรัฐมนตรีก็ดี จึงล้วนแล้วแต่มีเหตุให้ชวนสงสัยได้ทั้งสิ้น เรื่องที่น่าแปลกที่ควรบันทึกไว้ก็คือ รัฐมนตรีอย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำกับดูแลธุรกิจที่ทักษิณเคยทำมาก่อนและยังแอบทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือการสื่อสารโดยดาวเทียม กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สามารถอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการได้ตั้งแต่มีการก่อตั้งกระทรวงนี้มาจนหมดวาระในรัฐบาลทักษิณสมัยแรกนับว่าเป็นหมอที่มีความรู้ด้านนี้จริงๆ (ตอนหน้า ต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540) |
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น