ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รำลึก ทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณ

    ลำดับตอนที่ #1 : ตอนที่ 1 ตัวตนของทักษิณ ชินวัตร

    • อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 53


    มีหลายคนชอบว่า คนไทยลืมง่าย
           
           บทความขนาดยาวนี้เขียนบันทึกไว้ในแผ่นดิน
           
           เพื่อมิให้คนไทยลืมว่าทักษิณกับพวกของเขาได้ทำอะไรไว้บ้างกับแผ่นดินไทยนี้
           
           ชุดนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณ ชินวัตรในสมัยที่ยังอยู่ในตำเหน่งนายกรัฐมนตรีถูกเรียกขนานนามว่า ทักษิโณมิกส์หรือ Thaksinomicsในภาษาอังกฤษ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากเป็นการเลียนแบบ รีแกนโณมิกส์หรือ Reaganomics ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน (supply side) ที่มีชื่อเสียงของประธานาธิบดีโรนัล รีแกนของประเทศสหรัฐอเมริกา
           
           สิ่งเกิดควบคู่กันไปกับทักษิโณมิกส์ ก็คือ การปกครองของประเทศไทยในสมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ อาศัยเฉพาะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยเป็นกลไกเข้าสู่อำนาจ แต่หลังจากนั้นได้แปรสภาพไปเป็นเผด็จการรัฐสภา ระบบการปกครองดังกล่าวที่บิดเบือนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยจึงถูกเรียกว่า ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy) หรือ ทักษิณาธิปไตย หรือ ทรราชเสียงข้างมาก หรือ สมบูรณาญาสิทธิ์จากการเลือกตั้ง บ้าง แต่ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อใดก็ตามแต่ระบอบทักษิณก็มิใช่ระบอบประชาธิปไตยประเทศตามเจตจำนงที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับปี พ.ศ. 2540 หรือฉบับปี พ.ศ. 2550 อย่างแน่นอน
           
           การ รำลึกในที่นี้เป็นการ revisit หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาจึงเปรียบได้กับ การปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือเปิดเผยความจริงออกมา เป็นความจริงที่ไม่มีใครแก้ไขหรือบิดเบือนได้ การประเมินอะไรก็ตามแต่ไม่ว่าจะเป็นคนหรือวิธีคิด หากใช้ข้อมูลในอดีตซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ทำไปแล้วเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ก็จะสามารถประเมินการกระทำที่ผ่านมาของคนหรือวิธีคิด ไม่สามารถบิดเบือนได้ ไม่เหมือนกับการแสดงวิสัยทัศน์ที่นำมาใช้กันมากในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นการแข่งกันโกหก เพราะเป็นสิ่งที่ผู้แสดงวิสัยทัศน์แต่ละคนได้แต่บอกว่าเห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ แต่จะยึดมั่นทำในสิ่งที่ตนบอกหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องรอเวลามาเมื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ในคำพูดของตนเอง ดังนั้นหนทางจึงพิสูจน์ม้า กาลเวลาจึงพิสูจน์คน จึงไม่ผิดเพี้ยนแน่นอน
           
           ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายตำรวจที่ได้รับทุนจากแผ่นดินเกิดไปศึกษาขั้นปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกา เป็นอดีตตำรวจที่ลาออกจากราชการเพราะทำธุรกิจส่วนตัวหลายๆ อย่างควบคู่ไปกับการรับราชการเป็นตำรวจแต่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการค้าผ้าไหม สร้างหนัง และอะไรอีกหลายๆ อย่างจนเป็นที่มาของหนี้สินหลายสิบล้านบาท การลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. 2523 ก่อนเกษียณอายุค่อนข้างมากทั้งที่เป็นนักเรียนทุนที่เพิ่งจบกลับมาเมื่อปี พ.ศ. 2521 จึงน่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการเสี่ยงถูกให้ออกจากราชการเพราะขาดคุณสมบัติที่อาจถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว
           

           ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อันหนึ่งที่อาจสะท้อนตัวตนของทักษิณให้เป็นที่ประจักษ์ได้ก็คือ ทักษิณ เคยเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง และส่วนใหญ่จะเป็นการนำภาพยนตร์ที่เคยได้รับความนิยมกลับมาสร้างใหม่ (re-make) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ เช่น ไทรโศก (2524 สร้างครั้งแรกโดย วิจิตร คุณาวุฒิ พ.ศ. 2510) รักครั้งแรก (2524 สร้างครั้งแรกโดย ล้อต๊อก พ.ศ. 2517) โนรี (2525 สร้างครั้งแรกโดย พันคำ พ.ศ. 2510) รจนายอดรัก (2526 สร้างครั้งแรกโดย ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง พ.ศ. 2515) 1
           
           ความสำเร็จในเชิงธุรกิจที่สำคัญหลังจากออกจากราชการจึงอยู่ที่การได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็น บมจ.ทีโอที) และการนำเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาบริการเป็นรายแรกโดยบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือที่รู้จักในชื่อ บริษัท เอไอเอส เป็นผู้รับสัมปทานเมื่อ 27 มี.ค. 33 และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 1 ปีต่อมาคือเมื่อ 5 พ.ย. 34 โดยปิดบังผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ยังคงเป็นตนเองและภรรยาที่ถือผ่านบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าบริษัทชินคอร์ปที่เดิมใช้ชื่อว่าบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ อินเวสเมนท์จำกัด และบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ตามลำดับ โดยจดทะเบียนและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อ 13 พ.ย. 35
           
           บริษัทชินคอร์ปนอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอไอเอสผู้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วยังเป็นผู้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐโดยตรงตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเมื่อ 11 ก.ย. 34 แต่ได้มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเมื่อ 23 มี.ค. 35 โดยให้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักในชื่อบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มาร่วมลงนามเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งๆ ที่ชินคอร์ปก็เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยคมเจ้าของดาวเทียมที่ชื่อไทยคม 1 2 3 และไอพีสตาร์นี้เช่นกัน
           
           การเป็นเจ้าของกิจการสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายไม่ว่าจะเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการสื่อสารผ่านดาวเทียมเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนดูเผินๆแล้วอาจได้ชื่อว่าเป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ได้โดยง่ายเพราะเป็นการทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่มีการผลิตอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้ดังเช่นสินค้าทั่วไป สินค้าที่นำมาขายนอกเหนือจากตัวเครื่อง (hand set) ที่จับต้องได้แล้วที่เหลือส่วนใหญ่เป็นการ “ขายอากาศ” หรือ air time ที่เป็นจำนวนเวลาที่คนเข้ามาใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีส่วนต่างหรือกำไรที่สูงมาก อันเนื่องมาจากเป็นธุรกิจที่มีลักษณะของต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ต่ำมากเพราะไม่ว่าจะมีผู้เข้ามาใช้มากน้อยเท่าใดก็ตามต้นทุนในการขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่เพิ่มตาม
           
           กำไรที่สูงแม้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีผู้ประกอบการอยากเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็ยังเป็นธุรกิจนี้ที่ดำรงอยู่ได้ก็โดยอาศัย “อำนาจผูกขาดโดยรัฐ” ที่เป็นตัวแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมที่อาศัยอำนาจรัฐเพื่อปกป้องกีดกันคู่แข่งมิให้เข้ามาแข่งขันได้นั่นเอง ทำให้ผู้ผลิตสามารถมีอำนาจเหนือตลาด (market power) ในการกำหนดราคาขายหรือปริมาณการผลิตได้ตามอำเภอใจ ผิดกับอำนาจผูกขาดโดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังเช่นกรณีของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่รู้จักในชื่อของ PC (personnel computer) โดยบริษัทแอปเปิ้ล หรือโปรแกรม windows โดยบริษัทไมโครซอฟท์ที่เอาชนะคู่แข่งและเป็นเจ้าตลาดได้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คู่แข่งยังไม่มี
           
           ทักษิณน่าจะเรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จในการทำธุรกิจที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมาที่ได้รับสัมปทานทั้งจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณที่ได้สมญาว่า “บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต” หรือสัมปทานกิจการดาวเทียมเพื่อการสื่อสารในสมัย รสช.ในปี พ.ศ. 2534 เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจที่เคยทำมาก่อนหน้านั้นและประสบความล้มเหลวว่า การผูกขาดเป็นกุญแจที่สำคัญ และการได้มาซึ่งการผูกขาดโดยรัฐนั้นง่ายและสะดวกมากกว่าการผูกขาดโดยการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่คู่แข่งไม่มี ทางเลือกของทักษิณจึงมีอยู่ 2 ทางเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจการผูกขาดโดยรัฐ คือ (1) การจ่ายเงินพิเศษเพื่อให้เป็นผู้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว หรือ (2) การเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อเป็นผู้อนุมัติสัมปทานเสียเอง
           
           อำนาจผูกขาดโดยรัฐไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไปและมักมีกำหนดระยะเวลาที่ตายตัวที่จะต้องเปิดเสรีสำหรับการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีเพื่อหาผู้รับสัมปทานคนต่อไปหรือยกเลิกการผูกขาดไม่ให้มีผู้รับสัมปทานผูกขาดอีกต่อไป
           
           ดังนั้น ด้วยเวลาผูกขาดที่จำกัด ทางเลือกที่ (1) นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไปเพราะอาจมีผู้ยอมจ่ายเงินพิเศษในจำนวนที่มากกว่าจนทำให้แม้ตนเองจะเป็นผู้ได้รับสัมปทานในที่สุดแต่ก็ด้วยต้นทุนที่แพงมาก และที่สำคัญแม้จะยอมจ่ายเงินพิเศษแต่ก็ต้องจำยอม “เป็นเบี้ยล่าง” อยู่เสมอเพื่อให้ได้อำนาจผูกขาดโดยรัฐไปใช้แทนรัฐ ดังเช่นที่ได้กระทำหรือถูกกระทำมามาในสมัย รสช. หรือก่อนหน้านั้นเพื่อให้ได้สัมปทานผูกขาดซึ่งไม่น่าจะตรงกับกมลสันดานหรือตัวตนที่แท้จริงของตนเอง การเข้าสู่อำนาจรัฐจึงอาจเป็นทางเลือกที่มั่นคงถาวรมากกว่าในระยะยาวสำหรับธุรกิจของตนเอง
           
           
    การเข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2537 โดยเข้าร่วมกับพรรคพลังธรรมและได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2538 ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ดูเหมือนเป็นการนำร่องที่ทำให้ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยนายบรรหาร ศิลปะอาชา ในปี พ.ศ. 2539 และตำแหน่งเดียวกันในรัฐบาลของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธในเวลาต่อมา การเข้าสู่การเมืองดังกล่าวน่าจะทำให้ทักษิณ ชินวัตรเรียนรู้ว่า ในฐานะพรรคร่วมและเป็นเสียงส่วนน้อยในรัฐบาล การปกป้องอำนาจผูกขาดในกิจการของตนเองนั้นยังห่างไกลกับความเป็นจริงมาก ในขณะที่อายุสัมปทานที่ตนเองได้มากำลังหมดไปเรื่อยๆ
           
           ความสำเร็จของทักษิณ ชินวัตรจึงอาจกล่าวได้ว่าได้มาจากการได้มาซึ่งอำนาจในการผูกขาดโดยอำนาจรัฐเป็นสำคัญ มิได้มาจากความรู้ความสามารถ ดังเช่น บริษัท แอปเปิ้ล หรือ บริษัทไมโครซอฟท์แต่อย่างใด เพราะหากต้องแข่งบนสนามที่เท่าเทียมกันผู้แพ้มักจะเป็นทักษิณ ชินวัตรอยู่เป็นประจำ การกีดกันหรือผูกขาดจึงติดตัวมาจนเป็นนิสัยที่ฝังรากหยั่งลึกจนแก้ไขให้แข่งขันกับคนอื่นๆ บนกติกาเดียวกันอย่างยุติธรรมได้ยาก ดังจะเห็นในโอกาสต่อไปว่า ถ้าต้องแข่งก็ต้องเป็นคนกำหนดกติกาเอง หากเป็นกติกาอื่นที่ตนเองไม่ได้กำหนดก็ไม่เล่นด้วย การเข้าสู่อำนาจรัฐในห้วงแรกจึงเป็นไปเพื่อปกป้องธุรกิจผูกขาดที่ตนเองมีอยู่ให้มีอายุยืนยาวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
           

           ในห้วงเวลาปี พ.ศ. 2539 ระหว่างอยู่ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับคลื่นลมด้านเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าหาอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยได้เคยประสบมา เป็นโชคดีสำหรับทักษิณที่ประตูแห่งโอกาสเปิดให้เขา แต่เป็นโชคร้ายสำหรับประเทศไทยเพราะเขาได้อาศัยวิกฤตในครั้งนี้เป็นกระดานกระโดดเหยียบย่ำเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในเวลาต่อมา
           

           (ตอนหน้า วิกฤตเศรษฐกิจไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 กับ ทักษิณ ชินวัตร)
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×