ดูความงามภาษา ย้อนดูบทความตัวเอง
ลองเข้ามาดูดิ เผื่อจะได้เอาไปปรับปรุงในงานเขียนของเราเอง
ผู้เข้าชมรวม
7,972
ผู้เข้าชมเดือนนี้
1
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้ามาค่ะ (อยากจะบอกว่าคุณติดกับแล้ว... ล้อเล่นน่า)
ดูความงามของภาษาแล้ว ย้อนดูบทความของตัวเอง บางคนอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง
การแต่งบทความกับความงามของภาษานั้นมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะความงามของภาษาเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของบทความ แล้วเราก็จะมาดูพร้อมๆกันว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง และมันจะมีส่วนช่วยทำให้บทความของเราน่าอ่านยิ่งขึ้นหรือไม่
(ขอบอกไว้ก่อนนะว่าเราไม่ได้แต่งเก่งอะไรมากมายหรอก แต่ว่าก็จะพยายามนำเสนออย่างดีที่สุด)
ลองมาแต่งบทความของเราเอง โดยนำหลักการจากหลักภาษามาผสมผสานกันดูไหมล่ะ
ลองเลยนะ
....
จะลองแล้วนะ (...ลองซะทีดิ- -)
= = = = = = = = = = = = = = = =
ก่อนอื่นเลยนะคะ เราก็มาเลือกใช้คำกันก่อน เราจะต้องเลือกคำให้สื่อความคิดความเข้าใจ ความรู้สึก และอารมณ์ให้งดงามตรงตามที่เรานึกคิด (สรุปก็คือเริ่มที่ภาษาของเรา)
เราจะต้องเลือกคำให้เหมาะสมกับบริบท เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่อง
เช่น หากเราต้องการพูดถึงเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ เราก็ควรจะใช้คำราชาศัพท์บ้างใช่มั้ยค่ะ (จริงๆไม่ได้บังคับ แต่เพื่อความสมจริงและน่าเชื่อถือ) ซึ่งจะใช้คำราชาศัพท์ตามลำดับขั้นแบบไหนก็ได้ เพราะเป็นตัวละครที่เรากำหนดเอง ไม่ได้มีจริงอยู่แล้ว (ก็ตามใจท่านแหละค่ะ ไม่มีการบังคับแต่อย่างใด) แล้วก็ต้องดูด้วยว่า เจ้าหญิงองค์นี้มีบุคลิกนิสัยอย่างไร ในการเลือกคำพูดจาปราศรัย ถ้าเป็นเจ้าหญิงแก่นแก้ว คำพูดคำจาก็ไม่น่าจะเรียบร้อยเท่าใดนัก อาจจะติดพูดเร็วเพราะมีนิสัยใจร้อน แบบนี้น่ะค่ะ
หากพูดถึงพ่อค้า ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า เขาค้าขายอะไร ถ้าขายอาวุธ ก็อาจจะน่ากลัวหน่อย หรืออาจจะดูธรรมดาๆ แต่ถ้ามีเรื่องแล้วประมาณว่าพวกนักเลงเจ้าถิ่นก็ยังแพ้ได้ หรืออาจจะดูลึกลับ อะไรประมาณนี้ค่ะ หรือจะให้ขายของที่ตรงกันข้ามกับนิสัยก็อาจจะดึงดูดความสนใจคนอ่านได้มากกว่า แต่ถ้าไม่เข้ากันก็อาจจะทำให้งานของเราเน่าไปเลยก็ได้นะคะ เพราะไม่เกิดความสมจริงขึ้น
อย่าลืมนะคะว่าการสร้างตัวละครที่ไม่มีจริง จะต้องมีองค์ประกอบพื้นหลังอยู่หลายอย่าง ถึงจะทำให้ตัวละครมีความสมจริงขึ้นมาได้ ซึ่งจะทำให้คนอ่านมีความเชื่อถือในผลงานของเรา
เช่น จะสร้างผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นนางเอกของเรื่อง ก่อนอื่นเลยก็ต้องกำหนดอายุ แล้วก็ดูรูปร่างหน้าตา ซึ่งจะมีผลต่อบุคลิกด้วยส่วนหนึ่ง เช่นคนหน้าตาดีก็อาจจะมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่าคนที่หน้าตาแย่กว่า หรือคนที่มีรูปร่างดีก็อาจจะกล้าแต่งกายที่เน้นรูปร่างมากกว่าคนที่รูปร่างไม่ดี แล้วก็ต้องมีแนวความคิดของตัวละครตัว (จะแสดงออกมาในด้านอารมณ์ต่อสถานการณ์ เช่น การแสดงออกทางสีหน้า การแสดงออกด้วยการกระทำ การแสดงออกด้วยคำพูดที่เย็นชา การกรีดร้อง เป็นต้น แล้วยังจะคำพูดอีก ประมาณว่า ถ้าคนหนึ่งพูดแบบนี้มา เราจะตอบยังไง ถ้าเป็นคนวู่วามจะไม่ค่อยคิดก่อนพูดใช่ม้า แต่ถ้าเป็นคนใจเย็นก็จะสงบนิ่ง ไตร่ตรองก่อนค่อยพูดแสดงความเห็น อะไรแบบนี้แหละค่ะ ลองลิสต์รายละเอียดดูนะคะ อย่างลักษณะนิสัย ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนสนิท คนในอุดมคติ สิ่งที่ชอบสิ่งที่ไม่ชอบ และการที่เราให้รายละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ตัวละครนั้นดูสมจริงมากยิ่งขึ้นค่ะ และควรจะให้พื้นหลังมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด เป็นไปไม่ได้หรอกใช่มั้ยคะ ถ้าจะแต่งให้คนที่ไม่ชอบความโดดเดี่ยว แต่แยกตัวจากครอบครัวออกมาอยู่ตามลำพัง มันก็จะดูแปลกๆ คนอ่านก็จะรู้สึกแปลกๆกับงานเขียนของเรา เพราะมันขัดแย้งกันเองไงคะ)
แล้วขั้นตอนต่อไป ก็คือ การเรียบเรียงคำ
ซึ่งเราควรจะคำนึงถึงโครงสร้างของภาษาด้วยนะคะ (เพื่อให้ภาษาไทยคงอยู่ด้วยการวัฒนะ มิใช่หายนะ)
เราควรจะเรียงคำ วลี หรือประโยค ที่มีความสำคัญเท่าๆกัน เคียงขนานกันไป
แล้วก็เรียงประโยคให้เนื้อหาเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้ลุ้นว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปด้วย มันจะเกิดการลุ้น ทำให้น่าติดตามกันต่อไป
แล้วให้คลายความเข้มข้นลงในช่วงประโยคสุดท้ายอย่างฉับพลัน (หึหึ)
ทีนี้ก็คงจะรู้แล้วสินะว่าจะต้องแต่งในแต่ละย่อหน้ายังไง
แล้วลำดับสุดท้ายก็คือ การใช้โวหารค่ะ
เรามาดูกันสิว่าโวหารคืออะไร โวหารก็คือการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูดและเขียนให้แปลกออกไปจากที่เป็นอยู่ปกติ ซึ่งจะก่อให้เกิดรสกระทบใจ ความรู้สึกและอารมณ์ต่างกับภาษาที่ใช้อย่างตรงไปตรงมา
ซึ่งตรงจุดนี้แหละค่ะ จะทำให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลเกิดขึ้นทันที
นักเขียนที่เราชื่นชอบนั้น เขาก็มักจะทำให้งานเขียนของเขามีอรรถรสจากตรงนี้แหละค่ะ สมมติว่าเราไปอ่านอีกเรื่องของนักเขียนคนนั้น สังเกตไหมคะ ว่ามันจะมีจุดร่วมของงานเขียน ซึ่งจะทำให้เรารู้ทันทีว่า เฮ้ย สำนวนนี้ มันของ- - นี่หว่า อะไรแบบนั้น รู้สึกมั้ยคะ
โวหารนี้ ในวงการวาทศิลป์และการประพันธ์จะเรียกรวมๆว่า ภาพพจน์ ค่ะ
1. อุปมา คือการเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง เรามักจะใช้คำว่า เหมือน เช่น เสมือน ดุจ ประดุจ ดั่ง ราว ฯลฯ อันนี้คงเจอบ่อยๆ ไม่อธิบายนะ
2. อุปลักษณ์ เป็นการเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องมีคำว่า ดั่ง เหมือน ฯลฯ อะไรพวกนี้เลย แต่จะสามารถเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าเป็นการกล่าวเปรียบเทียบ ทำให้ภาษาที่ใช้สั้นกระชับ และสื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง
3. บุคคลวัต หรือบุคคลสมมุติ คือการสมมุติสิ่งต่างๆให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์ เช่น การให้ดินสอพูดได้ เสือพูดได้อะไรแบบนี้ (ทำให้นึกถึงเจ้าขุนทองแฮะ)
4.การกล่าวที่ผิดไปจากที่เป็นจริง วิธีนี้จะมีปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเจตนาคือต้องการเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ให้ความรู้สึกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เรื่องที่กุขึ้นโดยไม่มีความจริง
4.1 การกล่าวเกินจริงเรียก อติพจน์ เช่น ฉันจากเธอมาเพียงวันเดียว ราวกับฉันจากเธอมาร้อยปี (เวอร์มากกกก) จริงมั้ยคะ เพิ่งจะไม่ได้พบหน้ากันแค่วันเดียวเอง อะไรมันจะคิดถึงกันปานนั้น แต่มันก็ทำให้เราได้รู้ว่าเขาคงจะคิดถึงนางผู้เป็นที่รักมากนั่นเองค่ะ หรือไม่ก็ อยากตายเพราะความอาย ตามจริงแล้วนั้น ความอายไม่สามารถทำให้ใครตายได้หรอกค่ะ จริงมั้ยคะ มันก็ประมาณว่า อายมากจนทนไม่ได้แล้ว ยอมตายดีกว่ายอมถูกดูถูก หัวเราะเยาะอะไรแบบนั้นล่ะค่ะ
4.2 อวพจน์ การกล่าวน้อยกว่าจริง อันนี้ไม่รู้จะยกตัวอย่างยังไงดีอ่ะ (ข้ามๆ อ้าวเฮ้ย)
5. นามนัย (ข้ามจริงๆนะ) นามนัยคือ การใช้ชื่อส่วนประกอบที่เด่นของสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นๆทั้งหมด ซึ่งส่วนประกอบของสิ่งนั้นกับสิ่งนั้นต้องมีความเกี่ยวข้องกัน มิฉะนั้นผู้อ่านก็จะงงว่าเราแต่งอะไรของเรากันเนี่ย
อาจจะงงนะ จะลองยกตัวอย่างให้ฟังดู
ปากกาคมกว่าดาบ ก็คือ นักเขียนมีอำนาจมากกว่านักรบ
ก็อาจจะยังงงกันอยู่หรือเปล่า ถ้างงก็ย้อนกลับไปอ่านข้อ 5 ใหม่นะ สำหรับคำที่ไม่งงอ่านข้อ 6 โลดจ้า (กวนมั้ย???)
6. สัญลักษณ์ คือการใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะบางประการร่วมกัน เช่น ดอกไม้แทนผู้หญิง ควายแทนคนโง่ อะไรแบบนี้ค่ะ
7. อุปมานิทัศน์ เป็นการใช้เรื่องราวขนาดสั้นหรือขนาดยาวประกอบ ขยาย หรือแนะโดยนัย ให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ถึงแนวความคิดที่ต้องการสื่อไปยังผู้อ่าน ก็คงจะเจอกันบ่อยๆนะคะ สมมุติว่าเราไม่สามารถยกตัวอย่างคำยากๆได้ อาจจะเป็นสุภาษิต หรือคำคมอะไรก็ตามแต่ ที่ยากแก่การเข้าใจ(ซึ่งแน่นอนว่าไม่สมารถอธิบายให้สั้นได้เพียงบรรทัดเดียวจบ) เราก็อธิบายให้เขาฟังเท่านั้นแหละค่ะ แต่ว่ามันจะออกแนวเป็นเรื่องเป็นราวหน่อย อาจจะมีตัวละครปรากฏขึ้น เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นน่ะค่ะ
หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานเขียนของเรามากขึ้นค่ะ
โดยส่วนตัวแล้ว เราเองก็มีงานเขียนไม่ได้เรื่อง ไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรที่จะไปแนะนำคนอื่นได้เลย แต่แล้ววันนี้อ่านหนังสือเรียน(เตรียมสอบ) เจอเข้าก็เลยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ค่ะ
ขอบคุณ Read to University ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ ค่ะ
ผลงานอื่นๆ ของ taki ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ taki
ความคิดเห็น