ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #74 : บทวิเคราะห์ความมั่นคงของโลกในกำมือโอบาม่า

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    ความมั่นคงของโลกในกำมือโอบาม่า

    บทวิเคราะห์ความมั่นคงของโลกในกำมือโอบาม่า

    โดย ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับที่ 23 เดือนสิงหาคม 2552


    -------------------------------------






    ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประกาศจุดยืนในการถอนทหารจากอิรักอย่างชัดเจนว่า กำลังทหารทั้งหมดจะเดินทางกลับสหรัฐภายในปี 2010 เหลือเพียงที่ปรึกษาทางทหารที่จะปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนกองทัพอิรักจนถึงปี 2011




    ภายหลังที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประกาศนโยบายเน้นการ “เจรจา” และ “สร้างความสัมพันธ์” กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศโลกมุสลิม ที่ความสัมพันธ์ชะลอตัวลงอย่างมากในยุคของอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิล ยู บุช ทำให้เสียงตอบรับจากประชากรโลกมุสลิมเป็นไปทางที่ดีขึ้น แม้แต่ผู้นำลิเบีย โมฮัมมา กัดดาฟี่ ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน ก็ยังเอ่ยปากยอมรับนโยบายแห่งความประนีประนอมของโอบาม่า

    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความมั่นคงของโลกในยุคปัจจุบัน มีความซับซ้อนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในเลบานอนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่โอมาบ่ายังคงหนุนอิสราเอลอย่างสุดตัว แม้จะมุ่งหวังอย่างสร้างสรรค์ในกระบวนการสันติภาพจนอาจถึงขั้นการสร้างรัฐปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้นก็ตาม สถานการณ์การประท้วงการเลือกตั้งของกลุ่ม “สีเขียว” ในอิหร่านที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลเตหะรานอย่างถึงพริกถึงขิง รวมไปถึงปัญหา “อมตะ” ของสหรัฐฯ นั่นคือการสู้รบและการก่อการร้ายที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดในอิรัก แม้จะมีการประกาศนโยบายถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักที่แน่นอนแล้วก็ตาม

    นอกจากนี้ยังมีปัญหาการฟื้นตัวของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน รวมไปถึงปัญหาซ้ำซากจากการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่ยังคงท้าทายประชาคมโลกอย่างอาจหาญ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงกันว่า นโยบายแห่งความประนีประนอมตามแนวความคิดแบบ “อุดมคตินิยม” หรือ Idealism ของบารัค โอบาม่าที่มองว่าโลกนี้ เป็นดินแดนแห่งความร่วมมือ และมนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยเหตุผลนี้ จะอยู่รอดในโลกแห่งความเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด





    ปัญหากลุ่มตาลีบันในปากีสถาน




    ปัญหาที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษในห้วงเวลาที่ผ่านมาก็คือ ปัญหาการก่อการร้ายในปากีสถานของกลุ่มตีบันซึ่งนำโดย Baitullah Mehsud (ล่าสุดเสียชีวิตแล้วจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ) ที่ข้ามเขตแดนมาจากอัฟกานิสถาน ที่ยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และดูเหมือนรัฐบาลปากีสถานจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอดเวลา

    ดังเช่น การลอบโจมตีขบวนยานยนต์ของกองกำลังทหารปากีสถานเมื่อเดือนที่ผ่านมาในพื้นที่เมือง ไมรามชาฮ์ (Miramshah) ทางตอนเหนือของวาซิริสถาน (North Waziristan) จนฝ่ายรัฐบาลแก้แค้นด้วยการส่งฝูงบินไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์เข้าโจมตีฝ่ายตาลีบันอย่างหนักจนมีผู้เสียชีวิตถึง 16 คน





    กลุ่มตาลีบันในปากีสถานกำลังสังหารนักโทษกลางที่ชุมชน ความโหดเหี้ยมและการยึดหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดสุดโต่ง กำลังกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของปากีสถานและภูมิภาคอย่างรุนแรง




    การแก้ปัญหาดังกล่าวในปากีสถานซึ่งเคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในการปราบปรามกลุ่มอัล กออิดะฮ์และตาลีบันนั้น ประธานาธิบดีโอบาม่าเคยประกาศว่า หากสหรัฐตรวจพบค่ายฝึก หรือที่ซ่อนตัวของกลุ่มตาลีบันบริเวณพรมแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถานเมื่อใด สหรัฐฯจะลงมือโจมตีที่หมายเหล่านั้นด้วยตนเอง โดยไม่แจ้งให้รัฐบาลปากีสถานทราบล่วงหน้า

    เนื่องจากโอบาม่ามีความมุ่งหมายที่จะทุ่มเทศักยภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ของสหรัฐฯ เพื่อยุติสงครามในอัฟกานิสถานเป็นหลัก มากกว่าที่จะ “ติดหล่มหรือจมปลักสงครามในอิรัก” ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานอีกถึง 17,000 คน จากเดิมที่มีอยู่ 32,000 คน รวมทั้งแม้ว่าจะมีการประกาศถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2010 ก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทุ่มเทกำลังและศักยภาพทางทหารทั้งหมดไปที่อัฟกานิสถาน ที่โอบาม่ามองว่า คือต้นเหตุของการก่อการร้ายที่คุกคามสหรัฐฯ ไม่ใช่อิรักอย่างที่จอร์ช บุช มองเอาไว้





    ทหารปากีสถานตามพรมแดนที่ติดกับอัฟกานิสถาน กำลังต่อสู้กับกลุ่มตาลีบันอย่างโดดเดี่ยว ปราศจากความช่วยเหลือจากนานาชาติ แม้สหรัฐฯ จะทำการทิ้งระเบิดที่มั่นของกลุ่มตาลีบันอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการรุกคืบหน้าของพวกตาลีบันได้





    ปัญหาการก่อการร้ายในปากีสถานขณะนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า กำลังจะขยายตัว จนถึงขั้นอาจนำปากีสถานไปสู่สงครามกลางเมืองเลยก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของกลุ่มตาลีบันในการขยายแนวคิดและหลักศาสนาแบบสุดโต่งเข้าไปในดินแดนปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างอิสลามาบัด หรือ การาจี ปัจจุบันเริ่มมีสตรีสวมผ้าคลุมมิดชิดมากขึ้น เพราะเกรงจะถูกทำร้ายจากกลุ่มศาสนาแนวคิดสุดโต่ง นักเรียนหญิงจำนวนมากถูกทำร้าย ตั้งแต่การตบหน้าไปจนถึงการสาดน้ำกรดใส่ใบหน้า เพื่อประกาศยืนยันถึงหลักศาสนาแบบสุดโต่งว่า สตรีไม่มีสิทธิเรียนหนังสือ ผู้นำศาสนาสายกลางหลายคนถูกผู้นำศาสนาแบบสุดโต่งกล่าวประณามอย่างรุนแรง

    นอกจากการขยายแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งเข้าสู่ตัวเมืองสำคัญๆ แล้ว การรุกทางทหารของกลุ่มตาลีบันก็ยังดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในพื้นที่ทางตอนเหนือของปากีสถานที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน ซึ่งภูมิประเทศบริเวณดังกล่าวเป็นภูเขาสูงชันมีความสลับซับซ้อน อีกทั้งยังประกอบไปด้วยกลุ่มชนเผ่าติดอาวุธต่างๆ มากมาย ซึ่งกองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพปากีสถานยังไม่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ได้ อาศัยแต่เพียงการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินรบ และขีปนาวุธพิสัยใกล้เท่านั้น แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลในการปลดอาวุธชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ





    ปืนใหญ่ของปากีสถานกำลังระดมยิงที่มั่นของกลุ่มตาลีบันทางตอนเหนือของประเทศ กสนโจมตีของปากีสถานส่วนใหญ่ใช้กำลังทางอากาศและปืนใหญ่ ส่วนกำลังภาคพื้นดินไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้มากนัก เนื่องจากภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อการตั้งรับของฝ่ายตาลีบัน



    แต่ก็คาดกันว่า มาตรการดังกล่าวไม่น่าจะประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด ขณะนี้จึงเป็นที่วิตกกันว่ากลุ่มตาลีบันจะประสบความสำเร็จในการครอบครองดินแดนตอนเหนือของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่มั่นถาวรเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในอัฟกานิสถานขณะนี้ ซึ่งประธานาธิบดีโอบาม่าก็เหมือนจะเข้าใจในปัญหานี้ดี จึงได้มีการประกาศทบทวนนโยบายเกี่ยวกับปากีสถานขึ้นใหม่ เพราะหากปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยวอชิงตันไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ก็เป็นที่เชื่อแน่ว่า อดีตพันธมิตรของสหรัฐฯ ประเทศนี้คงประสบชะตากรรมไม่ต่างจากอิรักและอัฟกานิสถานอย่างแน่นอน





    ปัญหาในอิรัก



    นอกจากปัญหาในปากีสถานแล้ว ปัญหาในอิรักก็ยังเป็นปัญหาที่ประธานาธิบดีโอบาม่าให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เขาบินไปเยี่ยมทหารสหรัฐฯ ในอิรักอย่างไม่มีใครคาดหมายเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการต้อนรับพร้อมกับเสียงตะโกนว่า “เรารักโอบาม่า – We love Obama” จากกำลังพลสหรัฐฯ กว่า 600 คนที่ประจำอยู่ที่ค่าย วิคตอรี่ (Camp Victory) ในกรุงแบกแดด




    ประธานาธิบดีโอบาม่า ขณะพบปะกับทหารสหรัฐฯ กว่า 600 นายในค่ายวิคตอรี่ (Camp Victory) ใกล้กรุงแบกแดด ระหว่างการเยือนอิรัก เพื่อยืนยันถึงการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักตามกำหนดเวลาเดิม คือในปี 2010




    ถึงแม้เขาจะมีนโยบายคัดค้านการทำสงครามในอิรักของอดีตประธานาธิบดีบุชก็ตาม แต่เขามองว่าปัญหาในอิรักนั้น สามารถแก้ไขได้บนแนวทาง “การเมือง” ของชาวอิรักเอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอิรัก เตรียมการรับมอบความรับผิดชอบในการบริหารประเทศของตนเองบนหลักการและแนวทางของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอิรักในปี 2010 หรืออย่างช้าที่สุดในปี 2011

    โอบาม่าชื่นชมกับการปฏิบัติงานอันเสียสละของทหารสหรัฐฯ กว่า 140,000 คนในอิรักว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม (extraordinary achievement) พร้อมทั้งยอมรับว่า ช่วงเวลาก่อนการถอนทหารที่จะมีขึ้นในอีก 18 เดือนข้างหน้านี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก ตามแผนการถอนทหารของโอบาม่านั้น เขาต้องการให้ถอนกำลังพลสหรัฐฯ ออกจากพื้นที่ความรับผิดชอบในเมืองต่างๆ ของอิรักภายในฤดูร้อนของปีนี้




    ทหารสหรัฐฯ ส่งมอบพื้นที่ให้กับกองทัพอิรัก พร้อมๆ กับถอนตัวออกจากเมืองต่างๆ




    ซึ่งในปัจจุบันกำลังทหารสหรัฐฯ เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่และความรับผิดชอบให้กับกองทัพอิรักอย่างต่อเนื่อง และทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดจะเคลื่อนย้ายออกจากอิรักภายในสิ้นปี 2010 คงเหลือแต่ที่ปรึกษาทางทหาร (military adviser) และฝ่ายเสนาธิการบางส่วนที่จะยังคงอยู่ในอิรักเพื่อให้การสนับสนุนกองทัพและรัฐบาลอิรักจนถึงปี 2011

    เจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐฯ และอิรักคาดหมายตรงกันว่า การปฏิบัติการทหารของกลุ่มก่อการร้ายในอิรักจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เมื่อกำลังทหารสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนพลออกจากพื้นที่รับผิดชอบในเมืองต่างๆ ของอิรัก เพื่อยึดครองพื้นที่จากฝ่ายรัฐบาลอิรักและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองทางการเมืองที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต

    อย่างไรก็ตามประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ได้ให้คำยืนยันต่อนายกรัฐมนตรี นูริ อัล มาลิกิ (Nouri al-Maliki) ของอิรักว่า เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกไป เขาจะไม่ปล่อยให้อิรักถลำเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน





    ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า และประธานาธิบดีจาลัล ทาลาบานีของอิรัก สนทนากันระหว่างการเยือนอิรักอย่างไม่คาดฝันของประธานาธิบดีโอบาม่า ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา




    นอกจากนี้ประธานาธิบดีโอบาม่ายังเคยกล่าวกับรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า หากสถานการณ์ในประเทศอิรักรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นอยู่ในสภาพไร้กฎหมาย เขาอาจจะพิจารณาทบทวนแผนการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอิรักอีกครั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้กับกำหนดการถอนทหารที่ประกาศออกไปแล้วว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญานเตือนไปยังกลุ่มก่อการร้ายในอิรักว่า เส้นตายในการถอนทหารนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ

    ในขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์กันในหมู่ทหารสหรัฐฯ ว่า ในห้วงเวลาต่อไปนี้ ทหารสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก จะปฏิบัติภารกิจอย่างถนอมตัวมากขึ้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอคอยเวลาของการถอนตัวออกจากหล่มสงครามในอิรัก ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของกองทัพสหรัฐฯ ลดลง เหมือนในช่วงที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเวียดนามในช่วงปี 1970 นั่นเอง





    ทหารสหรัฐฯ ขณะทำการรบในอิรัก




    นอกจากนี้ยังมีการนำเอาบทเรียนจาก “สงครามเวียดนาม” และ “สงครามในอัฟกานิสถาน” มาเป็นกรณีศึกษาว่า ภายหลังการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม และการถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน ฝ่ายรัฐบาลของทั้งสองประเทศต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อฝ่ายตรงข้ามในที่สุด จึงมีความเป็นได้ว่า เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอิรักแล้ว รัฐบาลอิรักอาจตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่อกลุ่มต่างๆ ได้

    ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหมของกองทัพสหรัฐฯ ว่าจะสามารถนำบทเรียนความล้มเหลวในอดีต มาปรับใช้ในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยในประเทศอิรัก ที่สหรัฐฯ พยายามสถาปนาขึ้นด้วยเลือดและชีวิตของคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันนับไม่ถ้วนอย่างไรต่อไป




    ปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี




    อีกปัญหาหนึ่งที่โลกได้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่แฝงอยู่ในบุคลิกอันประนีประนอมของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า นั่นก็คือ กรณีโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่ยังคงเพียรพยายามสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง และเมื่อโอบาม่าได้มีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดี ลี มุง บัค (Lee Myung-bak) ของเกาหลีใต้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขาได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ว่า

    “สหรัฐฯ จะไม่ยอมรับการครอบครองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น”

    และยิ่งใกล้เวลาที่เกาหลีเหนือประกาศจะทดลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีปพิสัยไกล เทปอนดง 2 ซึ่งมีระยะยิงไกล 6,700 กิโลเมตร เพียงพอที่ยิงไปถึงหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ ภายหลังจากที่ล้มเหลวมาแล้วถึงสองครั้ง โลกก็ยิ่งได้เห็นถึงความเฉียบขาดของโอบาม่ามากยิ่งขึ้น จากคำกล่าวของเขาที่ว่า “กองทัพสหรัฐฯ เตรียมพร้อมแล้วสำหรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น”





    ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงถึงไซโลที่ใช้เก็บขีปนาวุธข้ามทวีประยะไกลที่สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ




    คำพูดของโอบาม่าทำให้หลายคนหวลนึกถึงอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อครั้งที่เคยประกาศจะถล่มประเทศคิวบา ภายใต้การนำของ ฟิเดล คาสโตร หากยังคงคิดที่จะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย อันถือว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสหรัฐฯ ซึ่งขณะนั้นโลกต้องตกอยู่ในภาวะ “หายใจไม่ทั่วท้อง” เพราะนับเป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งที่มวลมนุษยชาติก้าวเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 3 มากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

    หากเปรียบเทียบสถานการณ์ทั้งสองครั้ง จะเห็นถึงความเหมือนกันของสถานการณ์อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งความเป็นประธานาธิบดีในวัยหนุ่มของเคเนดี้และโอบาม่า และเป้าหมายของขีปนาวุธ ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ ทั้งสองเหตุการณ์

    แม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ อันประกอบด้วย จีน รัสเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ จะพยายามยุติปัญหานี้ ด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ อันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมติของสหประชาชาติปี 2006 แต่ดูเหมือน “เปียงยาง” จะไม่สนใจใยดีต่อมาตรการดังกล่าวเลย ประธานาธิบดีโอบาม่าเองก็ได้เสนอหนทางออกให้กับเกาหลีเหนือว่า “หนทางออกของปัญหาคือการกลับเข้าร่วมกับประชาคมโลกของเกาหลีเหนือ”




    ขีปนาวุธข้ามทวีประยะไกลของเกาหลีเหนือ



    นอกจากนี้โอบาม่ายังได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหม เข้าพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมของจีน เพื่อโน้มน้าวเกาหลีเหนือ ภายใต้การนำของคิม จอง อิล ให้ล้มเลิกโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ลง ในขณะเดียวกันกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็กำลังจับตามองเรือสินค้าระวางขับน้ำ 2,000 ตัน สัญชาติเกาหลีเหนือที่ชื่อ Kang Nam ซึ่งเดินทางออกจากท่าเรือ “นัมโป” ใกล้กรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยสงสัยว่าอาจจะมีการขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ หรือชิ้นส่วนของขีปนาวุธไปยังประเทศโลกที่สาม ซึ่งหากเป็นความจริงตามข่าวแล้ว เรือดังกล่าวจะถูกยึดทันที เนื่องจากฝ่าฝืนมติของสหประชาชาติในการห้ามเกาหลีเหนือ ดำเนินการส่งออกอาวุธนิวเคลียร์ หรือชิ้นส่วนของขีปนาวุธใดๆ ก็ตาม

    จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จะยังคงเป็นปัญหาคุกคามความสงบในภูมิภาคเอเชียต่อไปอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นปัญหา “โลกแตก” ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับประธานาธิบดีโอบาม่าได้ ไม่ต่างไปจากปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคอื่นๆ เพราะสาเหตุของปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ดูจะมีพื้นฐานมาจาก “ความต้องการท้าทายโลกตะวันตก” ของคิม จอง อิล มากกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้น ตราบใดที่ความต้องการท้าทายยังมีอยู่ ปัญหาก็ไม่อาจจะหมดสิ้นไปง่ายๆ

    จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น นับเป็นปัญหาความมั่นคงบางประการที่ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งตัวโอบาม่าเองก็ตระหนักดีถึงการรุมเร้าเข้ามาของปัญหานานัปประการเหล่านี้ เขาจึงเลือกที่จะ “เจรจา” เพื่อผ่อนปรนและลดความรุนแรงของปัญหาลง ดังจะเห็นได้จากการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขาออกตระเวณรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับนานาชาติและโลกมุสลิม ที่เคยตกต่ำไปอยู่ในระดับ “เสื่อมโทรม” ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบุช อย่างน้อยก็เพื่อลดแรงกระแทกจากภายนอก และส่งผลให้เขามีเวลาจัดการกับปัญหาภายในอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาปากท้องโดยตรงของชาวอเมริกันผู้ซึ่งเป็นฐานเสียงที่แท้จริงของเขานั่นเอง


    ---------------------------------------------
    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=vuw&group=4
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×