ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #71 : สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่สอง

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่สอง

    พิรัส จันทรเวคิน

    ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


    จากความเหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง ฝ่ายรัฐบาลกลางมีความมั่นใจว่าจะสามารถพิชิตชัยได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และเพื่อเป็นการลบล้างความอัปยศที่ฟอร์ตซัมเตอร์ ประธานาธิบดีลินคอนน์จึงสั่งให้เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีกรุงริชมอนด์เมืองหลวงของฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ กองทัพของรัฐบาลกลางจำนวน 37,000 นายเคลื่อนพลมาถึงเมืองโมนาซิส รัฐเวอร์จิเนียในวันที่ 16 กรกฏาคม 1861 ท่ามกลางเหล่าชนชั้นสูงนับพันที่หลั่งไหลมาจากกรุงวอร์ชิงตันเพื่อมาชมการสู้รบราวกับมีงานเทศกาล

    ฝ่ายใต้ทราบล่วงหน้าถึงการเคลื่อนพลของฝ่ายเหนือและได้จัดกำลังทหารจำนวน 22,000 นายไว้เพื่อรอรับมือ อย่างไรก็ตามด้วยความเหนือกว่าทางด้านจำนวน กองกำลังฝ่ายเหนือสามารถรุกคืบได้ในยกแรก ในขณะที่ฝ่ายใต้ต้องถอยร่นท่ามกลางการโจมตีอย่างหนัก แต่ทว่ากองพลน้อยจากรัฐเวอร์จิเนียภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลโทมัส เจ แจ๊คสัน กลับปักหลักสู้อย่างมั่นคง บรรดาทหารฝ่ายใต้ที่กำลังถอยร่นอยู่นั้นต่างชี้มือไปยังนายทหารหนุ่มบนหลังม้าผู้หนึ่งที่กำลังบัญชาการรบอย่างไม่เกรงกลัวห่ากระสุน แล้วพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดูท่านนายพลแจ๊คสันซิ ท่านยืนหยัดอยู่ได้ยังกะกำแพงหิน” และนี่จึงเป็นที่มาของฉายานาม สโตนวอลล์ แจ๊คสัน สำหรับนายทหารผู้หาญกล้าคนนี้

    ความเด็ดเดี่ยวของแจ๊คสันถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรบ ทหารฝ่ายใต้มีแรงใจฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และเมื่อได้รับกำลังเสริมทางรถไฟก็สามารถตีโต้จนกองทัพฝ่ายเหนือแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทำเอาเหล่าชนชั้นสูงที่มาชุมนุมต้องแตกตื่นหนีตายกันอย่างโกลาหล การรบในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนามสมรภูมิแห่งบูลรันครั้งที่หนึ่งหรือ First Battle of Bull Run



    ทันทีที่เวอร์จิเนียประกาศเข้ากับฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ รัฐบาลกลางได้สั่งเคลื่อนย้ายกองเรือทั้งหมดออกจากฐานทัพเรือนอร์ฟอล์คที่เมืองท่าปอร์ตสมัธ เพื่อมิให้ตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่ามีเรือจักรไอน้ำอยู่ลำหนึ่งที่กำลังจอดซ่อมอยู่ในอู่แห้งและเหลือรอดจากการถูกทำลายมาได้ นั่นคือยูเอสเอส เมอร์ริแมค และเพื่อเป็นการตอบโต้การปิดล้อมทางทะเลโดยฝ่ายรัฐบาลกลาง ฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเรือรบที่ทรงอานุภาพเหนือกว่าเรือรบทุกลำของรัฐบาลกลาง ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเรือเมอร์ริแมคมาดัดแปลง โดยการเสริมแผ่นเกราะเหล็กเพิ่มทับตัวเรือเดิมที่เป็นไม้และติดปืนใหญ่ขนาดหนักจำนวนหลายกระบอกลงไป เกิดเป็นเรือรบลำใหม่ที่มีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดขึ้นมา โดยได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่าซีเอสเอส เวอร์จิเนีย

    ทันทีที่ทราบข่าวการสร้างเรือรบรุ่นใหม่ของฝ่ายใต้ ทางรัฐบาลกลางก็มิได้นิ่งนอนใจ ด้วยเหตุนี้จึงว่าจ้างให้จอห์น อีริคสัน นักประดิษฐ์ชาวสวีดิช ดำเนินการออกแบบเรือรบรุ่นใหม่ของฝ่ายตนขึ้น แนวคิดของอีริคสันนั้นจัดได้ว่าล้ำสมัยมาก คือแทนที่จะเป็นการติดปืนใหญ่ขนาดเล็กจำนวนหลายๆกระบอกในตำแหน่งการยิงที่ตายตัว อีริคสันกลับออกแบบให้ลดจำนวนปืนลง แต่ขยายขนาดปากลำกล้องขึ้นและติดลงบนตัวป้อมที่สามารถหมุนไปมาได้ จึงได้ออกมาเป็นเรือรบที่แปลกประหลาดไม่แพ้กัน โดยได้รับการตั้งชื่อว่ายูเอสเอส มอนิเตอร์



    รุ่งเช้าของวันที่ 8 มีนาคม 1862 ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย แล่นขึ้นมาตามลำน้ำยังสถานที่ซึ่งมีชื่อเรียกว่าแฮมป์ตัน โรด นอกอ่าวเชสตันพีค รัฐเวอร์จิเนีย ที่ซึ่งกองเรือรบของฝ่ายรัฐบาลกลางจำนวนห้าลำกำลังจอดทอดสมออยู่ โดยไม่รอช้าเวอร์จิเนียรีบแล่นตรงเข้าไปหา และเปิดฉากโจมตีก่อนทันที ด้วยความตกตะลึงกับเรือประหลาดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เรือรบของรัฐบาลกลางจึงเปิดฉากยิงสกัด แต่ทว่าลูกกระสุนปืนใหญ่กลับกระเด็นกระดอนออกจากแผ่นเกราะที่เป็นเหล็กหนาของเวอร์จิเนีย เหมือนกับแรดที่ไม่เกรงกลัวกับห่ากระสุน เวอร์จิเนียแล่นตรงรี่ด้วยความเร็วสูงสุดและพุ่งเข้าชนยูเอสเอส คัมเบอร์แลนด์ จนลำเรือขาดเป็นสองท่อนและจมลงในทันที จากนั้นจึงหันมาเล่นงานยูเอสเอส คองเกรส ด้วยการยิงถล่มจนไฟลุกท่วมและจมลงในอีกหลายชั่วโมงต่อมา หลังจากที่เรือคองเกรสหมดสภาพและต้องออกจากการรบ เวอร์จิเนียจึงหันมาเล่นงานเป้าหมายถัดไปคือ ยูเอสเอส มินิโซต้า และไล่ต้อนจนเรือรบฝ่ายตรงข้ามแล่นไปเกยตื้นและกำลังจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะ

    ก่อนที่เวอร์จิเนียจะเผด็จศึกต่อเพื่อกวาดล้างกองเรือรบของฝ่ายตรงข้ามให้หมดและเปิดเส้นทางการเดินเรือ ก็ย่างเข้าเวลาโพล้เพล้พอดี จึงจำเป็นต้องถอนตัวจากการรบ ทิ้งให้ทหารเรือของอีกฝ่ายต้องตื่นตะลึงกับความพ่ายแพ้แบบหมดรูป ทว่าโชคของฝ่ายรัฐบาลกลางยังไม่นับว่าเลวร้ายจนเกินไปนัก เมื่อเรือรบหุ้มเกราะของฝ่ายตน ยูเอสเอส มอนิเตอร์ เดินทางมาถึงยังที่เกิดเหตุพอดี และในรุ่งเช้าของวันถัดมายุทธนาวีที่แปลกประหลาดที่สุดก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเวอร์จิเนียต้องมาเผชิญหน้ากับคู่ปรับที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันอย่างมอนิเตอร์ เรือทั้งสองลำเข้าแลกหมัดกันในระยะประชิดเป็นเวลาสามชั่วโมง หมดลูกกระสุนไปเป็นร้อยๆนัด แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดทำอะไรอีกฝ่ายหนึ่งได้เนื่องจากกระสุนที่เตรียมมาไม่สามารถเจาะทะลุแผ่นเกราะที่เป็นเหล็กหนาเข้าไปได้ ในที่สุดเวอร์จิเนียก็ถอนตัวกลับไปยังที่ตั้งเดิมของตนที่นอร์ฟอล์ค ยุทธนาวีในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม Battle of Hampton Roads และถือว่าเป็นจุดกำเนิดของเรือรบรุ่นใหม่ที่ส่งผลให้มีการแข่งขันทางนาวีครั้งใหม่ของบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก นั่นก็คือเรือรบหุ้มเกราะหรือ Ironclads หมดยุคแล้วสำหรับเรือลำตัวไม้ ยุคต่อไปคือยุคของเรือรบที่หุ้มด้วยแผ่นเกราะที่ทำจากเหล็กหนาอย่างเวอร์จิเนียและมอนิเตอร์เท่านั้น



    <ยังมีต่อ>

    สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=piras&date=24-09-2009&group=1&gblog=6

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×