ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #68 : วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา วันที่โลกหยุดหมุน ตอนที่สาม

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา วันที่โลกหยุดหมุน ตอนที่สาม

    พิรัส จันทรเวคิน

    บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง THIRTEEN DAYS

    หลายศาสนาได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์วันสิ้นโลกเอาไว้ในพระคัมภีร์ แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่อารยธรรมของมนุษยชาติจะเข้าใกล้กาลอวสานเท่ากับสิบสามวันอันตรายในช่วงเดือนตุลาคมปี 1962 ห้วงเวลาที่โลกต้องหยุดหมุน

    14 ตุลาคม 1962 เวลาเช้าตรู่ เครื่องบินสอดแนมยู 2 ของซีไอเอที่บินตรวจการณ์เหนือน่านฟ้าคิวบา ได้ทำการถ่ายภาพความเคลื่อนไหวผิดปรกติทางภาคพื้นดิน รูปที่ถ่ายได้ถูกนำไปวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญในเช้าวันต่อมา และถูกระบุว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางของโซเวียต รายงานถูกนำเสนอขึ้นไปตามลำดับชั้นจนถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แมคจอร์จ บันดี้ ในตอนเย็นวันเดียวกัน

    16 ตุลาคม 1962 8.45 น. แมคจอร์จ บันดี้ แจ้งให้เคนเนดี้ทราบถึงหลักฐานภาพถ่ายขีปนาวุธโซเวียตในคิวบา หลังจากที่ได้รับรายงาน เคนเนดี้สั่งเรียกประชุมคณะกรรมาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือเอ็กซ์คอมในเวลา 11.45 น. การประชุมดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากไม่เคยมีการวางแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวมาก่อน เพราะสหรัฐฯไม่เคยเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะกล้ามาลูบจมูกถึงถิ่นเช่นนี้ ที่ประชุมแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ สายเหยี่ยวที่นำโดยฝ่ายทหารอันมี พลเอกเคอร์ติส เลอเมย์ ร่วมกับคณะเสนาธิการผสม กับสายพิราปที่นำโดยฝ่ายพลเรือนอันได้แก่ โรเบิรตต์ แมคนามาร่า และ บ๊อบบี้ เคนเนดี้ มีนายพลเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ได้อยู่ในสายเหยี่ยวคือ พลเอกแม๊กซ์เวลล์ เทเลอร์ ประธานคณะเสนาธิการผสมที่เคนเนดี้เป็นคนแต่งตั้งด้วยตนเอง และเป็นฝ่ายทหารเพียงคนเดียวที่เคนเนดี้ให้ความไว้วางใจมากที่สุด

    สายเหยี่ยวต้องการให้มีการใช้กำลังเข้าจัดการกับคิวบาก่อนที่พวกโซเวียตจะทำการติดตั้งขีปนาวุธแล้วเสร็จและมีสภาพพร้อมยิง ในขณะที่สายพิราปต้องการให้มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนจากเบาไปหาหนัก เริ่มด้วยการปิดล้อมทางทะเลที่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “การจำกัดเส้นทางการเดินเรือ” เพื่อเป็นการรักษาหน้าโซเวียต ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปเป็นแนวทางปฏิบัติสามประการคือ หนึ่ง ทำการโจมตีทางอากาศต่อฐานยิงขีปนาวุธเหล่านั้นโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า สอง ปฏิบัติการทางทหารต่อคิวบาอย่างเต็มรูปแบบ และ สาม การปิดล้อมทางทะเลด้วยการตรวจค้นเรือทุกลำที่จะมุ่งหน้ามายังเกาะคิวบา ในระหว่างการประชุม ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ปล่อยให้ลูกน้องของเขาระดมสมองกันอย่างเต็มที่ โดยยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางปฏิบัติในข้อใด



    เมื่อเปรียบเทียบข้อเสนอของทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราป แมคนามาราวิเคราะห์ว่าการโจมตีทางอากาศเฉพาะจุดต่อฐานยิงขีปนาวุธเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะที่สุดแล้วสถานการณ์ก็จะต้องขยายวงกลายเป็นปฏิบัติการทางทหารต่อคิวบาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียต ดังนั้นเขาจึงเสนอทางเลือกอื่นที่เบากว่า นั่นก็คือการปิดล้อมทางทะเล และนั่นเท่ากับเป็นการโยนลูกกลับไปให้กับครุสเชฟว่าจะเลือกเอาอะไร ระหว่างการเสียหน้าต่อสายตาชาวโลกกับการเป็นผู้เริ่มก่อสงครามนิวเคลียร์ ในขณะที่ ดีน แอดชิสัน หนึ่งในสายเหยี่ยวแย้งว่า การปิดล้อมทางทะเลจะไม่ส่งผลใดๆต่อขีปนาวุธที่กำลังติดตั้งในคิวบาและจะมีสภาพพร้อมยิงภายในเวลาไม่ถึงสองอาทิตย์ ตรงกันข้ามฝ่ายโซเวียตอาจตอบโต้ด้วยการปิดล้อมกรุงเบอร์ลินตะวันตก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสหรัฐฯไปจากคิวบา และสำหรับบ๊อบบี้ เคนเนดี้แล้ว การโจมตีโดยที่ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้านั้น เป็นการกระทำที่ลอบกัดและผิดหลักศีลธรรม เปรียบได้กับการโจมตีแบบลอบกัดของฝูงบินญี่ปุ่นต่อกองเรือสหรัฐฯที่เพิรล์ฮาเบอร์ เขาถึงกับส่งโน๊ตให้กับพี่ชายในระหว่างการประชุม ในนั้นมีข้อความเขียนว่า “ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าโตโจรู้สึกยังไงตอนที่เขาวางแผนถล่มเพิรล์ฮาเบอร์”

    เคนเนดี้เก็บเรื่องราวการค้นพบนี้เป็นความลับ ล่วงรู้กันเฉพาะคนวงในเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะเขาต้องการจะใช้ข้อได้เปรียบนี้คิดแผนการณ์ตอบโต้ของสหรัฐฯต่อการกระทำอันบ้าระห่ำของโซเวียต และในวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 17.00 น.เขาก็ได้ให้การต้อนรับ อังเดร โกรมิโก รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียที่ห้องทำงานรูปไข่ โกรมิโกซึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าสหรัฐฯรู้ถึงความเคลื่อนไหวทั้งหมดของโซเวียตในคิวบา แจ้งให้เคนเนดี้ทราบว่าสหภาพโซเวียตมีความประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนทางทหารแก่คิวบาเฉพาะอาวุธในเชิงรับเท่านั้น และจะไม่มีการส่งอาวุธเชิงรุกให้กับรัฐบาลคิวบาโดยเด็ดขาด และนั่นเท่ากับเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าทางฝ่ายโซเวียตยังไม่ทราบเรื่อง ซึ่งเคนเนดี้เองก็แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและไม่ได้แจ้งให้กับโกรมิโกทราบ จนกว่ารัฐบาลของเขาจะได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่าจะเลือกใช้มาตรการใดในการตอบโต้ แต่สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ชัดสำหรับเคนเนดี้จากการประชุมในครั้งนี้ก็คือ คำพูดของฝ่ายโซเวียตเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป



    19 ตุลาคม 1962 และแล้วในที่สุดการโต้แย้งระหว่างสายเหยี่ยวกับสายพิราปก็ได้ข้อยุติ ที่ประชุมเอ็กซ์คอมมีมติให้ดำเนินการปิดล้อมทางทะเลต่อคิวบา และมอบหมายให้ ทีโอดอร์ ซอเรนเซน ที่ปรึกษาพิเศษประจำทำเนียบประธานาธิบดีเป็นคนร่างสุนทรพจน์ให้เคนเนดี้อ่านออกอากาศ แจ้งต่อประชาชนอเมริกันในวันที่ 22 ตุลาคม เวลา 19.00 น. และในช่วงเวลาระหว่างนั้น ทีมงานเอ็กซ์คอมได้หารือเรื่องแผนสำรองในกรณีที่การปิดล้อมทางทะเลไม่ได้ผล ซึ่งเคนเนดี้ได้สั่งการลงไปว่าจะต้องเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบต่อคิวบา ไม่ใช่เฉพาะการโจมตีทางอากาศต่อฐานยิงขีปนาวุธเพียงอย่างเดียว ในระหว่างการประชุม แอตลี สตีเฟนสัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำองค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯควรยื่นข้อเสนอถอนขีปนาวุธจูปิเตอร์ออกจากตุรกีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ฝ่ายโซเวียตถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา ข้อเสนอนี้ได้รับการโจมตีอย่างหนักจากทุกคนรวมถึงตัวเคนเนดี้ ว่าเป็นการโอนอ่อนมากเกินไป อย่างไรก็ตามเคนเนดี้รับที่จะพิจารณาทางเลือกนี้ หากว่าฝ่ายโซเวียตได้ยื่นข้อเสนอมา

    แม้ว่าที่ประชุมเอ็กซ์คอมจะได้ข้อสรุปเรื่องมาตรการปิดล้อมทางทะเลต่อคิวบา แต่เคนเนดี้ในฐานะผู้นำสูงสุดยังคงสงวนสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าจะใช้ทางเลือกในข้อใด จุดเปลี่ยนที่สำคัญมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ในการประชุมที่ห้องทำงานรูปไข่ภายในทำเนียบประธานาธิบดี เคนเนดี้ถึงกับไล่ถามผู้เข้าร่วมประชุมเป็นรายบุคคลว่าเห็นชอบกับมาตรการตอบโต้ในข้อใดระหว่างการปิดล้อมทางทะเลกับการเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับคิวบา จากนั้นจึงฟังรายงานสรุปจากนายพล วอร์เตอร์ สเวนนีย์ ผู้บัญชาการกองกำลังยุทธวิธีทางอากาศหรือแทคติคัลแอร์คอมมานด์ โดยในแผนปฏิบัติการได้มีการกำหนดจำนวนเที่ยวบินโจมตีเอาไว้ที่ 1,080 เที่ยวบินในวันแรกของการรบ และเมื่อเคนเนดี้สอบถามถึงเปอร์เซนต์ความเสียหายของคิวบาจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ก็ได้รับคำตอบจากสเวนนีย์ว่า ทางแทคติคัลแอร์คอมมานด์ไม่สามารถให้การรับประกันได้ว่าจะสามารถกำจัดหัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียตได้หมด คำตอบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของเคนเนดี้ในการเลือกใช้มาตรการตอบโต้ด้วยวิธีการปิดล้อมทางทะเล



    <ยังมีต่อ>

    สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×