ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #67 : วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา วันที่โลกหยุดหมุน ตอนที่สอง

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา วันที่โลกหยุดหมุน ตอนที่สอง

    พิรัส จันทรเวคิน

    บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง THIRTEEN DAYS

    หลายศาสนาได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์วันสิ้นโลกเอาไว้ในพระคัมภีร์ แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่อารยธรรมของมนุษยชาติจะเข้าใกล้กาลอวสานเท่ากับสิบสามวันอันตรายในช่วงเดือนตุลาคมปี 1962 ห้วงเวลาที่โลกต้องหยุดหมุน

    นอกเหนือจากการขับเคี่ยวกันในการหาประเทศบริวารมาไว้ในอาณัติแล้ว สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตยังแข่งขันกันในการเป็นจ้าวแห่งการสำรวจอวกาศอีกด้วย รัสเซียได้เคยทำให้สหรัฐฯต้องตกตะลึงมาแล้วในยุคของไอคค์ ด้วยการส่งดาวเทียมสปุนิกขึ้นสู่วงโคจรนอกโลกได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี 1957 และในยุคของเคนเนดี้ก็เช่นกัน รัสเซียตัดหน้าสหรัฐฯด้วยการส่งมนุษย์อวกาศคนแรกของโลก ยูริ กาการิน ขึ้นไปกับยานวอสตอค 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี 1961 ทำให้สหรัฐฯต้องแก้เกมส์ด้วยการส่ง อลัน เชฟเพิรดต์ ขึ้นไปกับยานเมอร์คิวรี่ 3 ในอีกสองอาทิตย์ต่อมา

    25 พฤษภาคม 1961 ในสุนทรพจน์พิธีเปิดตัวโครงการอพอลโล เคนเนดี้ได้กล่าวถึงความตั้งใจที่จะส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษที่ 60 นับเป็นภาระกิจที่ท้าทายมากเมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีในยุคนั้น และในอีกแปดปีต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969 ความฝันของเคนเนดี้ก็กลายเป็นความจริงเมื่อ นีล อาร์มตรอง นำยานอีเกิ้ลของอพอลโล 11 ร่อนลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ และหลังจากที่เขาได้ทำการประทับรอยเท้าแรกของมนุษย์โลกลงบนผิวดวงจันทร์แล้ว ก็ได้กล่าวประโยคประวัติศาสตร์ว่า “นี่เป็นก้าวเล็กๆของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” น่าเสียดายที่ท่านประธานาธิบดีผู้ที่จุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้กับโครงการนี้มิได้มีชีวิตอยู่ที่จะชื่นชมมัน




    หลังจากความอัปยศด้านนโยบายต่างประเทศจากวิกฤติการณ์อ่าวหมูในกลางเดือนเมษายน เคนเนดี้ดูเหมือนจะเป็นมวยรองบ่อนในเวทีโลกเมื่อเทียบกับผู้นำที่เขี้ยวลากดินอย่าง นิกิต้า ครุสเชฟ ด้วยเหตุนี้สายตาทุกคู่จึงจับจ้องมาที่การประชุมสุดยอดที่เวียนนาในเดือนมิถุนายน ปี 1961 เมื่อผู้นำหนุ่มแห่งโลกเสรีผู้อ่อนประสพการณ์จำต้องโคจรมาพบกับไอ้เฒ่าสารพัดพิษจากค่ายหลังม่านเหล็ก

    4 มิถุนายน 1961 เวียนนา ออสเตรีย และแล้วในที่สุดผู้นำโลกทั้งสองก็ได้มาพบปะกันเป็นครั้งแรก เคนเนดี้ที่เพิ่งพลาดท่ามาสดๆร้อน ตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะไม่แสดงความอ่อนด้อยให้เป็นที่ประจักษ์กับศัตรูที่น่ากลัวอย่างครุสเชฟ ในขณะที่ครุสเชฟเองก็จ้องที่จะใช้โอกาสนี้หักหน้าเคนเนดี้ต่อหน้าสายตาชาวโลก อย่างไรก็ตามการประชุมดำเนินไปด้วยอัธยาศัยไมตรี มีการถกกันในหลายประเด็น ทั้งปัญหาในลาวและเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่หัวข้อสำคัญที่บดบังเรื่องอื่นๆคือปัญหาเรื่องเยอรมันตะวันออก เคนเนดี้ต้องตกตะลึงเมื่อครุสเชฟแจ้งให้ทราบว่า สหภาพโซเวียตจะเซ็นสัญญาสันติภาพกับเยอรมันตะวันออก เพราะนั่นหมายถึงการสูญสียเส้นทางเข้าถึงกรุงเบอร์ลินตะวันตกให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ไป ณ.จุดนี้เองที่เคนเนดี้ตระหนักว่าเขาจำเป็นที่จะต้องหันมาใช้ไม้แข็งบ้างแล้ว และเมื่อครุสเชฟ กล่าวว่า “การใช้กำลังจะได้รับการตอบโต้ด้วยกำลัง นั่นเป็นปัญหาของสหรัฐอเมริกาที่จะตัดสินใจเอาเองว่าต้องการสงครามหรือสันติภาพ” เคนเนดี้จึงได้ตอบกลับไปว่า “ถ้าหากจะมีสงครามจริง มันคงจะเป็นฤดูหนาวที่ยาวนานมาก”



    ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทวีความตึงเครียดถึงขีดสุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ปี 1962 เมื่อครุสเชฟมีความคิดที่จะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางบนเกาะคิวบา นัยว่าเพื่อเป็นการป้องกันคิวบาจากการรุกรานของสหรัฐฯ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วคือเพื่อเป็นการลดช่องว่างทางขีปนาวุธระหว่างสหรัฐฯกับโซเวียตที่ยังคงเป็นรองอยู่ ข้ออ้างของครุสเชฟคือเมื่อสหรัฐฯสามารถติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในตุรกีที่ถือเป็นสนามหลังบ้านของโซเวียตได้ โซเวียตก็มีสิทธิ์ที่จะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในสนามหลังบ้านของสหรัฐฯได้เช่นกัน และเนื่องจากเศรษฐกิจของคิวบาต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากโซเวียต ดังนั้นสำหรับ ฟิเดล คาสโตร แล้ว คิวบาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากร่วมลงเรือลำเดียวกันกับรัสเซีย ด้วยการยอมให้ประเทศของตนเป็นฐานยิงขีปนาวุธตามความต้องการของครุสเชฟ

    กันยายน 1962 ขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นเอสเอส 4 พร้อมฐานยิงจำนวน 24 ชุดได้ถูกลำเลียงมายังคิวบา ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถติดตั้งหัวรบขนาด 3 เมกะตัน มีอานุภาพการทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างภายในรัศมี 5 ไมล์ หรือคิดเป็น 66 เท่าของระเบิดปรมณูที่ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา และมีพิสัยการยิง 1,020 ไมล์ ครอบคลุมเมืองแถบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเกือบทั้งหมดรวมถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี และด้วยความเร็วกว่า 5,600 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยรวมแล้วสหรัฐฯมีเวลาในการเตรียมตัวเพียงแค่ไม่ถึงสิบนาทีในกรณีที่มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากคิวบา



    <ยังมีต่อ>

    สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×