ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #66 : วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา วันที่โลกหยุดหมุน ตอนที่หนึ่ง

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา วันที่โลกหยุดหมุน ตอนที่หนึ่ง

    พิรัส จันทรเวคิน

    บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง THIRTEEN DAYS

    หลายศาสนาได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์วันสิ้นโลกเอาไว้ในพระคัมภีร์ แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่อารยธรรมของมนุษยชาติจะเข้าใกล้กาลอวสานเท่ากับสิบสามวันอันตรายในช่วงเดือนตุลาคมปี 1962 ห้วงเวลาที่โลกต้องหยุดหมุน

    พฤศจิกายน 1960 ด้วยชัยชนะอย่างฉิวเฉียดเหนือคู่แข่งที่เจนสนามกว่าอย่างอดีตรองประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน วุฒิสมาชิก จอห์น ฟิตเจอรัล เคนเนดี้ แห่งมลรัฐเมสซาจูเซทท์ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่สามสิบห้าของสหรัฐอเมริกา ด้วยวัยเพียงแค่สี่สิบสามปี เคนเนดี้นับเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ การเข้ารับตำแหน่งของเขานับเป็นการเริ่มศักราชของคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มาพร้อมกับความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าถึงอนาคตข้างหน้าที่ดีกว่า หรือที่เรียกกันติดปากในยุคนั้นว่า “เคนเนดี้ แคนดูสปิริต” แต่ทว่าการณ์กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ สงครามเย็นกำลังอยู่ในห้วงร้อนระอุ สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ นิกิต้า ครุสเซฟ กำลังแผ่ขยายอธิพลไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งสนามหลังบ้านของอเมริกาเอง บนเกาะเล็กๆในเขตร้อนทางตอนใต้ของทะเลแคริบเบียนที่มีชื่อว่า “คิวบา”

    8 มกราคม 1959 ฟิเดล คาสโตร นำกองโจรติดอาวุธเคลื่อนพลอย่างสง่างามเข้าสู่ใจกลางกรุงฮาวานา อันเป็นการประกาศชัยชนะเหนือจอมเผด็จการบาติสต้าที่สหรัฐฯให้การสนับสนุน การยึดอำนาจของคาสโตรทำให้สหรัฐฯไม่พอใจเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์ถึงกับปฏิเสธการขอเข้าพบอย่างเป็นทางการของผู้นำคนใหม่จากคิวบา ด้วยเหตุนี้คาสโตรจึงจำต้องสอดส่ายสายตามองหาพันธมิตรใหม่ที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลปฎิวัติของเขา และการค้นหานี้ก็ช่างง่ายดายนัก เพราะคู่ปรับของสหรัฐฯอย่างสภาพโซเวียตเองก็กำลังมองหาประเทศเล็กๆมาไว้ในอาณัติเพื่อแผ่ขยายอธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ ครุสเชฟยินดีต้อนรับคาสโตรมาไว้ในอ้อมอก และส่งความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่คิวบาเป็นจำนวนมหาศาลทั้งเมล็ดข้าวสาลีและน้ำมันดิบ การสูญเสียอธิพลในคิวบาให้กับสหภาพโซเวียตทำให้รัฐบาลสหรัฐฯในยุคนั้นริเริ่มแผนปฏิบัติการลับทางทหารที่จะโค่นอำนาจคาสโตรลง แต่รัฐบาลของประธานาธิบดี ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวน์ ได้หมดวาระลงก่อนที่จะมีการลงมือปฏิบัติการตามเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ภาระนี้จึงตกอยู่กับประธานาธิบดีคนใหม่ผู้ยังไม่ประสาอะไรในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่าง แจ๊ค เคนเนดี้



    เมษายน 1961 ปฏิบัติการที่อ่าวหมูหรือ “เดอะเบย์ออฟพิคอินเวชั่น” เริ่มขึ้นหลังจากที่เคนเนดี้เข้ารับตำแหน่งได้เพียงแค่สามเดือน แผนการณ์นี้เป็นมรดกบาปที่ไฮเซนฮาวน์ทิ้งเอาไว้แก่เคนเนดี้ เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้วประธานาธิบดีไฮเซนฮาวน์ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯหรือซีไอเอทำการร่างแผนปฏิบัติการทางทหารเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐบาลใหม่ของคาสโตร หลักใหญ่ของแผนการณ์นี้คือการติดอาวุธให้กับผู้ลี้ภัยชาวคิวบาเพื่อปฎิบัติการยกพลขึ้นบก โดยรัฐบาลสหรัฐฯจะให้การสนับสนุนในทางลับ

    15 เมษายน 1961 เวลาเช้าตรู่ เครื่องบินบี 26 ไม่ปรากฎสัญชาติจำนวนแปดลำได้บินขึ้นจากฐานลับในนิคารากัว แยกย้ายกันเข้าโจมตีฐานบินสามแห่งในคิวบา ทว่าด้วยประสพการณ์อันน้อยนิดของนักบินฝึกหัดชาวคิวบาที่บังคับเครื่อง การโจมตีครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับกองทัพอากาศคิวบาเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำลายศักยภาพทางอากาศของคิวบาลงได้ เพราะยังมีเครื่องบินที 33 และ บี 26 ของกองทัพอากาศคิวบาเหลือรอดมาได้จำนวนหนึ่ง ในขณะเดียวกันกระแสกดดันในเวทีสหประชาชาติก็เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการกลบกลื่อนความเกี่ยวพันกับปฎิบัติการในครั้งนี้ เคนเนดี้จึงได้สั่งยกเลิกการโจมตีทางอากาศครั้งที่สอง ซึ่งนั่นหมายถึงหายนะที่กำลังรอคอยกองกำลังยกพลขึ้นบกอยู่นั่นเอง



    เป้าหมายของปฏิบัติการในครั้งนี้คือการส่งกองกำลังติดอาวุธชาวคิวบาพลัดถิ่นจำนวน 1,400 นายขึ้นฝั่งที่อ่าวหมู เพื่อเข้าโจมตีกองกำลังรัฐบาลของคาสโตร โดยสอดประสานกับการลุกฮือขึ้นของมวลชนนับแสนทั่วเกาะคิวบา ปฏิบัติการเริ่มต้นขึ้นในเข้าตรู่ของวันที่ 17 เมษายน ปี 1961 แต่ทว่ากลับได้รับการตอบรับจากฝูงบินบี 26และที 33 ของกองทัพอากาศคิวบาที่ถลาลงมาถล่มด้วยระเบิดและห่ากระสุนในขณะที่กำลังลำเลียงพลขึ้นฝั่ง และในเช้าวันต่อมากองกำลังพลัดถิ่นที่ทำการยึดหัวหาดได้สำเร็จก็ต้องเผชิญกับทหารประจำการของกองทัพบกคิวบาที่มาพร้อมกับขบวนรถถังที 34 การสู้รบดำเนินไปสองถึงสามวัน และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายปลดปล่อย มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 104 นาย ส่วนที่เหลือถูกจับเป็นเชลย

    ปฏิบัติการครั้งนี้กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม คือทำให้ ฟิเดล คาสโตร สามารถควบคุมอำนาจภายในคิวบาได้อย่างเบ็ดเสร็จ จากการกวาดล้างจับกุมมวลชนฝ่ายตรงข้ามกว่า 100,000 คน นับเป็นความอัปยศครั้งยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลเคนเนดี้ นอกจากนี้ยังได้สร้างรอยแค้นที่ฝังลึกให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในเพนตากอนหลายคน อาทิเช่น นายพล เคอร์ติส เลอเมย์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ และหลังจากความล้มเหลวในครั้งนี้ไม่นาน อลัน ดัลเลส ผู้อำนวยการซีไอเอคนแรกที่เป็นพลเรือนก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง

    ปี 1961 – 1962 ในขณะที่สงครามเย็นกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นอยู่นั้น สหรัฐอเมริกาก็กำลังหลงเสน่ห์กับประธานาธิบดีหนุ่มที่มาจากชนชั้นสูงเชื้อสายไอริชกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้เลอโฉมอย่าง แจ๊คกาลีน เคนเนดี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและสวยสดงดงาม จนมีการเปรียบทำเนียบขาวในยุคนั้นเป็นเสมือนกับปราสาท “คาเมลอต” ของกษัตริย์อาเธอร์ ที่รายล้อมไปด้วยเหล่าอัศวินโต๊ะกลมฝีมือเลิศ หมดยุคแล้วสำหรับคนแก่อย่างไอคค์ ยุคของเคนเนดี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับฉายาว่า “เดอะนิวฟรอนเทียร์” อย่าง โรเบิรตต์ แมคนามารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตศาสตราจารย์จากฮาวาร์ดบิสเนสสกูลและอดีตประธานบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่ามนุษย์จักรกลไอบีเอ็ม เพราะการคิดอย่างเป็นระบบของเขา และ โรเบิรตต์ เคนเนดี้ อัยการสูงสุด น้องชายผู้ชาญฉลาดและหัวรั้นของท่านประธานาธิบดี

    เคนเนดี้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯที่ใช้สื่อโทรทัศน์ออกรายการพบปะกับประชาชน และทำให้ผู้ชมต้องมนต์สะกดกับภาพของครอบครัวที่แสนอบอุ่นในไวท์เฮาส์ ในขณะที่ท่านประธานาธิบดีกำลังพูดคุยกับประชาชนอย่างออกรสทางโทรทัศน์อยู่นั้น จอห์น-จอห์น ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัยขวบกว่าของท่านก็กำลังคลานต้วมเตี้ยมอยู่ที่ใต้โต๊ะทำงานตัวใหญ่ในห้องทำงานรูปไข่ของท่านประธานาธิบดี นับเป็นภาพอันน่ารักที่ประทับในใจคนยุคนั้นสืบมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน



    <ยังมีต่อ>

    สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยขน์ในเชิงพาณิขย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×